ย้ง ทรงยศ และวิธีคิด ‘เลือดข้น คนจาง’ ละครเข้มข้น ที่ความเป็นคนไม่จืดจาง

Highlights

  • 'เลือดข้น คนจาง' คือละครเรื่องแรกของย้ง–ทรงยศ สุขมากอนันต์ ผู้กำกับ ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น ซีซั่น 1, I Hate You I Love You และหนังอีกหลายเรื่องที่เป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ทั้งสิ้น
  • คราวนี้ย้งเล่าเรื่องราวดราม่าเข้มข้นของตระกูลจิระอนันต์ เจ้าของโรงแรมจิรานันตรามูลค่าหลายพันล้าน ที่พี่น้องฆ่าฟันกันเพื่อแย่งชิงมรดกของตระกูล
  • แม้จะเป็นละครเรื่องแรกที่ย้งกำกับ แต่หลังจากทำโปรเจกต์นี้ เขาพบว่าละคร ซีรีส์ และหนัง ล้วนมีองค์ประกอบของ 'ความเป็นมนุษย์' ที่ทำให้เขาสนใจไม่แพ้กัน

‘ใครฆ่าประเสริฐ’

คือคำถามที่โผล่ขึ้นมาซ้ำๆ บนไทม์ไลน์ตลอดอาทิตย์ที่ผ่านมาพร้อมทฤษฎีร้อยแปดพันเก้าเพื่อตามหาฆาตกรที่ฆ่าประเสริฐ พี่ชายใหญ่ของตระกูลจิระอนันต์ เจ้าของโรงแรมจิรานันตา กรุงเทพฯ โรงแรมจิรานันตา พัทยา และกิจการครอบครัวที่ตีมูลค่าออกมาได้หลักพันล้านบาท

ด้านบนคือพล็อตจากสองตอนแรกของ ‘เลือดข้น คนจาง’ ละครดราม่าเล่าเรื่องความสัมพันธ์เฉือนคมในครอบครัวเลือดจีน โดย ย้ง–ทรงยศ สุขมากอนันต์ ผู้กำกับผู้อยู่เบื้องหลังซีรีส์ทอล์กออฟเดอะทาวน์ อย่าง ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น ซีซั่น 1, I Hate You I Love You และหนังอีกหลายเรื่องที่ก่อให้เกิดกระแสในสังคมไม่ต่างกัน

กลับมาคราวนี้ ย้งลองเปิดประตูสู่โลกของ ‘ละคร’ ที่เขาไม่เคยย่างเท้าเข้าไป ก่อนจะพบว่าโลกที่ไม่คุ้นเคยแห่งนี้กลับมีสิ่งที่เขาสนใจ ไม่ต่างกับโลกของภาพยนตร์และซีรีส์ที่เขาช่ำชอง

สิ่งที่เรียกว่า ‘ความเป็นมนุษย์’

 

จากใครฆ่านานะ สู่ใครฆ่าประเสริฐ

2 ปี คือระยะเวลาระหว่าง I Hate You I Love You มินิซีรีส์เรื่องสุดท้ายที่ย้งลงมือกำกับด้วยตัวเอง สู่ เลือดข้น คนจาง ละครดราม่าเข้มข้นที่ใครๆ ก็พูดถึง แต่หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่า I Hate You I Love You เกือบจะเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายในจอทีวีของย้งมาแล้ว ก่อนเขาจะพักยาวๆ กลับไปทำหนังที่ไม่ได้แตะมานาน

“ตอนทำ I Hate You I Love You เสร็จ เรากะว่าจะกลับไปทำหนังเพราะเราห่างจากหนังมานาน การทำหนังมันได้คราฟต์ ได้ค่อยๆ ปั้น ให้เวลากับมัน แต่เวลาทำซีรีส์ วันหนึ่งเราถ่ายกัน 12 ซีน คราฟต์ยังไงก็คราฟต์ไม่ได้ (หัวเราะ)

“ตอนนั้นพี่วุธ (อนุวัติ วิเชียรณรัตน์ ประธานบริษัท 4nologue) กำลังทำโปรเจกต์ 9 by 9 เป็นโปรเจกต์รวมนักแสดงวัยรุ่นที่มีแพสชั่น ตั้งใจอยากจะพัฒนาตัวเองในสกิลที่หลากหลาย เขาก็เลยลองชวนนาดาวว่าส่งเด็กไปออดิชั่นไหม สุดท้ายพวกเด็กๆ ไปออดิชั่นผ่าน 5 คน ถึงตอนนั้น พี่วุธเขาก็มาปรึกษาว่าเขาพัฒนาศิลปินเรื่องดนตรี เพลง เต้น ได้ แต่เรื่องการแสดงเขาอยากจะชวนนาดาวทำซีรีส์วัยรุ่นเพื่อพัฒนาเด็กเหล่านี้”

 

จากซีรีส์วัยรุ่น สู่ละครสำหรับผู้ชมทุกเพศทุกวัย

ใครเคยดูงานเก่าๆ ของย้งคงคุ้นกับซีรีส์ที่ลงลึกไปสำรวจอารมณ์ว้าวุ่นของวัยรุ่นหลากหลายแบบ แต่คราวนี้ เขากลับมาพร้อมละครที่นอกจากจะใช้นักแสดงถึง 3 รุ่นแล้ว ย้งยังหวังจะพาละครเรื่องนี้ไปแตะผู้ชมกลุ่มที่ใหญ่กว่าวัยรุ่นด้วย

“เราคิดว่าในเมื่อทาง 4nologue จะพาน้องๆ 9 คนไปหาวัยรุ่นอย่างที่ปกตินาดาวก็พาไป เราจะพาไปที่เดียวกันทำไม เดี๋ยวเราจะพาไปหาแมสให้ เราเลยลองไปคุยกับพี่บอย (ถกลเกียรติ วีรวรรณ) ว่าถ้าเราจะทำละครช่วงไพรม์ไทม์ได้มั้ย พี่บอยก็ตกใจ เพราะเขาไม่เคยให้ช่วงเวลาไพรม์ไทม์กับใคร เขาเลยบอกว่าย้งต้องลงไปเข้าใจคนดูก่อนว่าคนดูทีวีเป็นคนกลุ่มไหน

“กลุ่มคนดูทีวีหลักๆ คือผู้ใหญ่ หรือครอบครัวที่กลับบ้านแล้วเปิดทีวีทิ้งไว้ นั่นหมายความว่าถ้าเราทำคอนเทนต์อะไรที่ดูเด็กมากๆ มันไม่ใช่ว่าคอนเทนต์นั้นไม่ดี แต่เขาจะรู้สึกว่ามันไม่ใช่คอนเทนต์ของเขา พอคิดอย่างนี้เราก็รู้ว่าถ้าเราทำซีรีส์วัยรุ่นเราไม่รอดหรอก เราก็เลยคิดว่าถ้างั้นเราจะไม่ทำซีรีส์ เราจะทำละคร

“แล้วจะทำละคร ละครคืออะไร ถ้าตีโจทย์จากคนดูมันน่าจะเป็นเรื่องที่คนดูได้ทุกเพศทุกวัย แปลว่าตัวละครหลักน่าจะมีตัวละครผู้ใหญ่ด้วย ไม่ใช่มีแต่วัยรุ่น แต่ตัวละครวัยรุ่นเราก็ทิ้งไม่ได้เพราะเป็นโจทย์”

 

เขียนบทให้นักแสดงต่างรุ่นด้วยแนวคิดต่างกัน

เพราะอยากให้ เลือดข้น คนจาง มีตัวละครครบสามรุ่น นักแสดงที่ถูกแคสต์มาร่วมในเรื่องนี้จึงต่างทั้งอายุ ต่างประสบการณ์ ต่างความสามารถ วิธีเขียนบทให้นักแสดงแต่ละคนจึงต่างกันตามไปด้วย

“กับนักแสดงเด็กใหม่ เราทำแบบ ฮอร์โมนส์ คือเขียนบทจากคาแร็กเตอร์เขา แปลว่าเขาไม่ได้เล่นคาแร็กเตอร์ห่างจากตัวเองมาก แต่กับต่อ เจเจ เจมส์ เราพาไปยังบทอีกแบบหนึ่งเลย เพราะถ้าเราจะไปกำกับในบทแบบเดิมเราจะไม่สนุก พอไม่สนุกแล้วตัวเราเองจะไม่มีแพสชั่น เราจะไปกำกับแบบเบื่อๆ ก็เลยโยนความยากให้ตัวเองกับน้อง

“ถ้าเป็นนักแสดงผู้ใหญ่ เราเขียนบทจากตัวละครหมดเลยว่าเขาควรเป็นคนแบบไหน และมีนักแสดงรุ่นใหญ่คนไหนที่เราอยากทำงานด้วย ไม่ได้พยายามลบภาพจำอะไร เพราะเราเชื่อว่าเราทุกคนไม่เหมือนกัน ผู้กำกับแต่ละคนก็มีตัวตน ทัศนคติไม่เหมือนกัน ดังนั้นตัวละครภัสสรในสายตาเรารวมกับความเป็นแหม่ม คัทลียาในสายตาเรา ต้องไม่เหมือนกับเวลาคนอื่นเอาพี่แหม่มไปเล่นบทแม่อยู่แล้ว สมมติผู้กำกับแฟนฉันหกคนเอาบทแฟนฉันแยกกันไปกำกับมันจะออกมาไม่เหมือนกัน”

“เราโชคดีมากที่เราสนใจความเป็นคน แล้วนักแสดงรุ่นผู้ใหญ่แต่ละคนเขามีประสบการณ์ชีวิตที่จะมาเป็นตัวละครตัวนั้นให้มากกว่าตอนที่เป็นบทได้ทุกคน เราไม่มีทางเข้าใจความเป็นแม่เท่าพี่แหม่ม แคทลียา หรือพี่เจี๊ยบ เขามีลูกกันหมดแล้ว บางอย่างเราก็จูนกับเขานะ เราได้จากพี่แหม่มเยอะมาก เพราะฉะนั้นตัวละครภัสสรมันเป็นตัวที่เรา ทีมเขียนบท และพี่แหม่มทำงานร่วมกัน คือถ้าเปลี่ยนนักแสดงมันก็จะเป็นภัสสรอีกแบบหนึ่ง

“บางทีนักแสดงเขาก็จะตั้งคำถามว่าทำไมเขาถึงพูดประโยคนี้ ทำไมเขาถึงทำแบบนี้ หลายครั้งเราก็เปลี่ยน เพียงแต่ว่าเวลาปรับแล้วประโยคต้องเป๊ะ เราไม่ค่อยชอบการอิมโพรไวส์ มันน่าสนใจ แต่ต้องไปทำในเวิร์กช็อปที่เราทำแบ็กสตอรี่ตัวละครกัน ลองเวิร์กช็อป แล้วอิมโพรไวส์ แล้วเราจะเลือกว่ามีอะไรน่าสนใจใส่ลงไปในบท หลังจากนั้นก็ไม่อยากให้เปลี่ยนแล้ว ยกเว้นออกไปเล่นแล้วมันมีอะไรน่าสนใจจริงๆ เพราะเวลาอิมโพรไวส์มันจะไหลไปเรื่อยๆ จนไม่คม เรารู้สึกว่าเวลาที่เล่า ประโยคที่พูดมันควรจะมีแต่เนื้อ ไม่อยากให้พูดอะไรที่ไม่มีก็ได้

“พอเราเริ่มถ่าย เริ่มจูนกับนักแสดงมากขึ้น ตอนจบมันไม่เป็นแบบเดิมแล้วนะเพราะเราไม่เชื่อว่ามันจะเกิดขึ้นได้ บางทีเราเขียนบทเราเขียนจากที่เราคิด ไม่ได้เขียนจากการที่เรามีชีวิตแบบนั้น แต่พอเราออกไปถ่ายเราจะเริ่มเห็นมันมีชีวิต ประโยคบางประโยคที่เรารู้สึกว่าเขียนแล้วมันดูเป็นประโยคทะเลาะกันธรรมดามากๆ แต่พอเขาไปเล่นทำไมมันแรงวะ หรือบางประโยคเรารู้สึกว่าเขียนแล้วมันแรงมากเลยแต่พอเอาไปเล่นแล้วทำไมมันเบา เราไม่เชื่อว่าความเบาแค่นั้นมันจะส่งผลให้เขาทำอะไรที่ใหญ่โต ข้อดีของการที่เราทำเรื่องนี้ตอนที่เราแก่แล้วคือเรากล้าเปลี่ยน ทีมงานกับนักแสดงก็จะเหนื่อยหน่อยเพราะต้องแก้กันตลอดเวลา แต่มันสนุกสำหรับเราเพราะเราเห็นตัวละครไปข้างหน้าเรื่อยๆ มันก็เลยเป็นละครที่ทำให้เราได้เรียนรู้คนผ่านตัวละครเหล่านี้ไปด้วย ทั้งเรื่องชีวิต เรื่องการเขียนบท”

 

สำรวจเหตุผลและตัวตนของมนุษย์สามรุ่น

แม้ที่ผ่านมา งานของย้งมักพาเราไปแอบฟังความในใจของวัยรุ่นยุคนี้ แต่กับ เลือดข้น คนจาง แกนหลักกลับเป็นครอบครัวจีนตระกูลใหญ่ที่มีสมาชิกครบสามรุ่น เพื่อตอบโจทย์คนดูที่หลากหลายมากขึ้น และเพื่อตอบโจทย์ในใจของตัวผู้กำกับเอง

“เราสนใจความเป็นมนุษย์ สนใจว่าทำไมเขาคิดแบบนี้ ตัดสินใจทำแบบนี้ ความเป็นมนุษย์และความรู้สึกนึกคิดของแต่ละคนที่มันไม่เหมือนกันมันมีเสน่ห์ ที่ผ่านมาเราทำแต่ตัวละครวัยรุ่น แต่มันยังมีความเป็นมนุษย์ของผู้ใหญ่ที่เราสนใจ ซึ่งความเป็นมนุษย์ที่เล่าแล้วเข้าใจง่ายที่สุดคือความสัมพันธ์ และความสัมพันธ์ของคนที่แมสที่สุดคือความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว”

‘ครอบครัวจิระอนันต์’ ครอบครัวใหญ่สายเลือดจีนจึงเกิดขึ้นนับแต่นั้น แต่นอกจากพล็อตหักเหลี่ยมเฉือนคมจะสะกดให้เราละจากหน้าจอไม่ได้แล้ว เรื่องราวรายทางยังเต็มไปด้วยอินไซต์ที่ชวนให้คนไทยเชื้อสายจีนตั้งคำถามกับขนบธรรมเนียมที่สืบต่อกันมาว่าอะไรคือสิ่งที่ควรทิ้งไป และอะไรคือสิ่งที่ควรเก็บ

“เราอยากทำละครเรื่องครอบครัวที่ตัวละครหลักเป็นคนทั้งสามรุ่น ทั้งรุ่นอากง อาม่า คือรุ่นก่อร่างสร้างทุกอย่าง ทั้งครอบครัว ฐานะ รวมถึงสร้างขนบของครอบครัว เช่น ความเป็นกงสี การให้ความสำคัญกับลูกชายมากกว่าลูกสาว ในวันนี้เราโตแล้วเราจะเล่าในฐานะของหลานก็ได้ ในฐานะของรุ่นพ่อแม่ก็ได้ ส่วนรุ่นอากง อาม่า เรายังไม่เข้าใจ แต่เราคิดว่าอยากจะไปตั้งคำถาม ลงไปขุดดูว่าเขาคิดอะไร

“ขนบบางอย่างมันก็เริ่มต้นจากเจตนาที่ดีนะ เช่น ระบบกงสีก็เริ่มจากการที่ผู้นำครอบครัว เช่น อากง รู้สึกว่าลูกหลานแต่ละคนเก่งไม่เท่ากัน ก็เลยให้ทำธุรกิจของครอบครัว หาเงินมากองตรงกลาง มันก็คือการเลี้ยงคนในครอบครัวให้คนเก่งได้เงินเยอะกว่าคนไม่เก่ง แต่คนไม่เก่งก็มีเงินเลี้ยงชีพ แต่อะไรที่ทำให้ความตั้งใจดีดำเนินไปแล้วเกิดปัญหา

“หรือทำไมแต่งงานแล้วต้องใช้นามสกุลผู้ชาย ทำไมลูกต้องใช้นามสกุลพ่อ แปลว่าคนสืบสกุลมันสืบสกุลผู้ชายเลยกลายเป็นขนบว่าลูกสะใภ้สำคัญกว่าลูกสาว เพราะว่าลูกสะใภ้จะมีลูกชายที่เป็นหลานที่สืบสกุล เจตนาเริ่มต้นมันอาจจะเข้าใจได้แต่มันนำไปสู่ปัญหาอะไรบางอย่าง เช่น ลูกสาวก็จะรู้สึกว่าทำไมเขาเป็นลูกพ่อแม่แต่เขาสำคัญน้อยกว่าคนอื่นที่แต่งงานเข้ามา สิ่งเหล่านี้แหละที่อยู่ใน เลือดข้นฯ เรารู้สึกว่าถ้าเราเล่าเรื่องนี้เราจะได้ลงไปทำความเข้าใจกับมันมากขึ้น

“เราโตมาในครอบครัวคนจีนที่ขนบมันชัด แล้วคนรุ่นก่อนๆ รุ่นอากงอาม่าก็จะพูดสิ่งที่เขาเชื่ออย่างมั่นใจ โดยที่ไม่ตั้งคำถามมัน เอาจริงๆ รุ่นเราก็ไม่ตั้งคำถามเพราะพอเราโตมากับขนบเราก็เชื่อตามขนบ มีแต่เด็กรุ่นนี้แหละที่เริ่มตั้งคำถามกับขนบ ซึ่งเราว่ามันน่าสนใจ

“เราเป็นพี่ชายคนโต มีน้องสาวสองคน และน้องชายคนเล็ก สมมติเวลากินข้าวแม่เราก็จะคีบก้ามปูให้เรากับน้องชายคนเล็ก เราเห็นสิ่งนี้มาตลอดชีวิต เราไม่รู้นะว่าน้องสาวเราจะคิดอะไร แต่อยู่ๆ เราก็เอ๊ะ น้องสาวเราสองคนมันจะน้อยใจมั้ยที่มันไม่ได้กินของดีๆ เรารู้สึกว่ามันน่าสนใจที่เราไม่เคยตั้งคำถามกับม้าว่าทำไมม้าไม่ให้ไอ้หมวยมันบ้าง พอวันนี้ สิ่งนี้มันอยู่ในความทรงจำของเรา เราก็ใส่ลงไปในเรื่องเลย ทำให้อินเนอร์นั้นมันเป็นแบ็กสตอรี่ของตัวละครพี่แหม่ม แคท ว่าเขาก็โตมากับสิ่งนี้ ดังนั้นวิธีคิดของภัสสรคือเมื่อวันนี้ความเป็นผู้หญิงของเขาทำให้เขาไม่อยู่ในสายตาป๊ากับม้า เขาก็จะเป็นผู้หญิงที่เก่งเพื่ออยู่ในสายตา

“ตอนที่ทำบท ถ้ามีเรื่องคนจีนที่เรายังไม่เข้าใจเราก็โทรหาแม่ คือเรื่องบางเรื่องบางทีเราไม่เคยคุยกับแม่จนกระทั่งเรามาทำหนัง ทำละคร มันก็ทำให้เราเข้าใจเขามากขึ้น แต่มันไม่ได้แปลว่าเราจะเห็นด้วยกับสิ่งที่เขาคิดนะ”

 

เรียนรู้จากความเป็นมนุษย์

หลังจากพาตัวเองไปสำรวจตัวตนของมนุษย์แทบทุกเพศทุกวัยมาแล้ว ยังมีคนแบบไหนอีกไหมที่ย้งอยากทำความรู้จัก เราสงสัย

“จริงๆ ก็มีเยอะนะ แต่เราแค่สนใจ เราไม่อยากตัดสินเขา เพราะทุกวันนี้คนมันหลากหลายขึ้น เช่น ในยุคของเรา เด็กที่ตีกันต้องเป็นเด็กช่างกล สมัยนี้เด็กที่ตีกันอาจเป็นเด็กบ้านรวย ไม่มีปัญหาก็ได้ เหมือนกับสมัยนี้ เด็กผู้ชายที่ชอบแต่งหน้าไม่จำเป็นต้องเป็นเกย์ กะเทย อีกต่อไปแล้ว เราเลยชอบยุคสมัยนี้มากเพราะมันเปิดกว้าง เป็นยุคที่สนุกที่สุดแล้ว

ฮอร์โมนส์ มันเปิดทัศนคติเรา คือก่อนทำ ฮอร์โมนส์ เราอาจจะตัดสินคนมากกว่านี้ แต่วันหนึ่งเรามาทำ ฮอร์โมนส์ เราก็ตัดสินเด็กวัยรุ่นน้อยลง ซึ่งก็ดีเหมือนกัน มันทำให้เราเปิดกว้างกับคน แล้วไอ้การทำบทเรื่องนั้นแหละที่มันเริ่มทำให้เรารู้สึกว่าเราอยากเล่าเรื่องเด็กที่ทำอะไรผิดพลาด แต่เราไม่มีทางเล่าได้ถ้าเราไม่ทำความเข้าใจ ไม่ใช่การไปบอกว่าเขาทำผิดทำถูก คือเขาอาจจะทำผิดก็ได้แต่ถ้าไม่มีผู้ใหญ่เข้าใจ เราว่ามันน่าจะแก้ได้ด้วยวิถีของเขา และวิถีของแต่ละคนก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันด้วยนะ

“อย่างในเรื่อง เลือดข้น คนจาง พอเราเล่าเรื่องขนบ ครอบครัว ความเป็นผู้ใหญ่ ตัวละครรุ่นพ่อรุ่นแม่มันก็ยังต้องเป็นตัวละครที่มีคาแร็กเตอร์แบบที่เรารู้จัก แต่พอเป็นตัวละครเด็ก มันก็มีตัวละครแบบเวกัส (รับบทโดย เจมส์–ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ) ที่มีคาแร็กเตอร์เป็นเด็กตรรกะ ไม่ค่อยใช้ความรู้สึกในการตัดสินใจ แต่ว่าพอวันหนึ่งดันมีคนที่ทำให้มันใช้ความรู้สึกได้ มันก็จะกลายเป็นคนมากขึ้น อะไรแบบนี้มันไม่ใช่คาแร็กเตอร์ตามขนบ แต่เป็นตัวละครที่บอกยุคสมัย เราจะไม่บอกเลยว่ายุคไหนดีหรือไม่ดี เพราะอากงอาม่าเขาก็มีเหตุผลของเขา รุ่นพ่อแม่เขาก็มีเหตุผลของเขา เราแค่เข้าใจไหม ปัญหาใน เลือดข้นฯ มันลากทุกคนให้ได้มาเจอ มาคุยกัน ทำความเข้าใจกัน”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐปคัลภ์ ทัศนวิริยกุล

นักเรียนฟิล์มที่มาฝึกงานช่างภาพ รักการถ่ายรูป ชอบกินของอร่อย และชอบใช้เวลากับครอบครัว เพื่อนสนิท คนรัก