สิงโต ปราชญา นักแสดงไทยคนแรกที่มี Official Fanclub ในญี่ปุ่น กับประสบการณ์ต่างวัฒนธรรมชวนยิ้ม

สิงโต-ปราชญา เรืองโรจน์ นักแสดงหนุ่มหน้าใสก้าวเข้าสู่วงการบันเทิง (และดังเปรี้ยง) ด้วยบทก้องภพ จากละคร SOTUS the Series พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง เขาไม่ได้มีชื่อเสียงแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ดังไกลไปถึงประเทศญี่ปุ่นเลยทีเดียว

แม้ละคร โซตัสฯ จะเพิ่งออนแอร์ที่ญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการเมื่อต้นปี 2022 แต่แฟนคลับละครวายชาวญี่ปุ่นแอบหาช่องทางติดตามผลงานของหนุ่มสิงโตมาหลายปีแล้ว ก่อนโควิดก็ยังแวะมาจัดแฟนมีตติ้งอยู่เป็นระยะ แม้จะรู้ว่ามีแฟนๆ ติดตามอยู่บ้าง แต่เจ้าตัวก็ไม่คาดคิดว่าจะได้เป็นศิลปินคนแรกของไทยที่มี Official Fanclub ในญี่ปุ่น ซึ่งมีชื่อว่า Samoonjaopa JAPAN

ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เราพอรู้มาบ้างว่าละครไทยเริ่มเป็นที่นิยมในญี่ปุ่น แต่ไม่เคยรู้เลยว่าแฟนคลับของสิงโต ปราชญา มีมากขนาดไหน แอบไปส่องไอจีน้องก็พบว่าเพื่อนต่างชาติของเราหลายคนทั้งญี่ปุ่น จีน มาเลเซีย ฯลฯ ต่างเป็นแฟนคลับของเจ้าป่าผู้น่ารักคนนี้ และเมื่ออัพรูปคู่ที่ถ่ายกับน้องวันสัมภาษณ์ลงสตอรี่ในอินสตาแกรม เพื่อนต่างชาติที่ไม่เคยคุยกันมานับสิบปีก็ทักมาว่า

“ฉันอิจฉาเธอมาก!”

โอเค ดาเมจแรงมาก ยอมแล้ว

โอกาสดีที่สิงโตแวะมาทำงานและจัด Fan Meeting ที่โตเกียวและโอซาก้า เราเลยขอยืมตัวมาคุยเกี่ยวกับบทบาทและการทำงานร่วมกับญี่ปุ่น รวมไปถึงความต่างทางวัฒนธรรมที่ชวนยิ้มอาโนเนะ อยากรู้ว่าเจ้าป่าหน้าใสผู้ทำให้สาวกรี๊ดแตกกลางชิบุย่าแบบไม่อายใครเป็นคนยังไง ตามไปอ่านได้เลย

ก่อนมาทำงานที่ญี่ปุ่น ชอบอะไรเกี่ยวกับญี่ปุ่นบ้างไหม

สิ่งที่ชอบมากๆ ในญี่ปุ่นคืออนิเมะ ผมดูเยอะมากตั้งแต่เด็กๆ ตั้งแต่ยังไม่รู้ว่านี่การ์ตูนญี่ปุ่นหรือของประเทศไหน โตมาหน่อยที่ชอบและรักมากๆ คือ อินุยาฉะ เทพอสูรจิ้งจอกเงิน ต่อให้มีเรื่องอื่นมากมาย เนื้อเรื่องดีกว่าหรืออะไรก็ยังชอบเรื่องนี้ เพราะว่าเป็นความประทับใจแรกของการดูอนิเมะ โตมาอีกหน่อยก็คิดว่าไม่อินกับอนิเมะแล้ว ปรากฏว่าไม่เลย เรายังดูและอ่านอยู่เรื่อยๆ อย่างล่าสุดก็ One Piece, Demon Slayer: Kimetsu no Yaiba (ดาบพิฆาตอสูร), Jujutsu Kaisen (มหาเวทย์ผนึกมาร) ผมเลยมองว่าเราผูกพันกับความเป็นญี่ปุ่นเยอะมาก อะไรที่เป็นญี่ปุ่นแฝงในอนิเมะ เราก็ซึมซับมา มาญี่ปุ่นแรกๆ เราก็ติดมาเหมือนกัน เช่น การพูดคำว่า เห— อยู่ๆ ก็เปลี่ยนตัวเองเป็นคนญี่ปุ่น (หัวเราะ)

ดูเยอะๆ แล้วอยากไปเที่ยว อยากกินอะไรไหม

อยากครับ เรื่องที่ทำให้อยากเที่ยวญี่ปุ่นมากๆ คือ Your Name และ 5 Centimeters per Second ภาพสวยมาก ภาพแบ็กกราวนด์อนิเมะเรื่องอื่นไม่ทำให้เราอินกับวิวด้านหลังตัวละครขนาดนั้น แต่ 2 เรื่องนี้ นำเสนอความเป็นญี่ปุ่นได้ดีมากๆ

แล้วได้อะไรจากการ์ตูนมาใช้ทำงานบ้างรึเปล่า

ไม่ถึงกับติดความเป็นการ์ตูนนะครับ แต่ละครบางเรื่องมันจะต้อง overacting นิดหนึ่ง เราก็จะนึกภาพในหัวง่ายๆ จากอนิเมะที่เคยดู อย่างเช่น อินุยาฉะ ตัวเอกมีความโวยวายนิดหนึ่ง เราก็เก็บมาคิดว่าถ้าเป็นตัวละครในชีวิตจริง คาแรกเตอร์จะประมาณไหน

รู้สึกอย่างไรบ้างที่ได้บทบาทเป็นศิลปินคนแรกที่มี Official Fanclub ในญี่ปุ่น

เอาจริงๆ แอบกลัวนะครับ (หัวเราะ) เพราะมันทิ้งช่วงจากผลงานแรก 5-6 ปี แล้วเราก็ไม่รู้ว่าแฟนๆ ที่ติดตามผลงานเรา ณ ปัจจุบันมีมากน้อยแค่ไหน เพราะดูจากทวิตเตอร์ก็ไม่รู้ว่ามีมากน้อยแค่ไหน มันก็ทำให้คิดว่า ถึงกับต้องเปิดออฟฟิเชียลแฟนคลับเลยเหรอ

Credit: KONNECT Co., Ltd.

โปรเจกต์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

เริ่มจากการที่ซีรีส์มาออนแอร์ช่วงโควิด ทำให้มีคนได้ดูผลงานผมเยอะขึ้น จำนวนแฟนคลับเลยเยอะขึ้น พอกระแสดีแต่บินมาจัดแฟนมีตติ้งไม่ได้เลย ทาง eplus (บริษัทจัดจำหน่ายตั๋วคอนเสิร์ตเจ้าใหญ่ในญี่ปุ่น) เลยอยากทำ Official Fanclub ขึ้นมาเพื่อเป็นช่องทางให้ผมกับแฟนคลับได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น เพราะไม่ได้เจอกันสักพักแล้ว แต่ผมยังมีผลงานที่ไทยออกมาเรื่อยๆ เลยลองทำเป็นระบบสมาชิกดูเพื่อใช้เป็นช่องทางติดต่อกัน

เรามีส่วนร่วมอย่างไรบ้างในการทำ Official Fanclub

ผมคุยกับผู้จัดการตั้งแต่แรกว่าเรากลัว แล้วก็อยากรู้ว่าการมีออฟฟิเชียลแฟนคลับต้องทำอะไรบ้าง ควรจะปล่อยคอนเทนต์แบบไหนบ้าง บางอย่างอาจจะไม่ตรงกับตัวตนของเรามั้ย เช่น ผมชอบถ่ายรูปคนอื่น ถ้าไม่ใช่งาน เลยจะไม่ค่อยชอบถ่ายรูปตัวเอง ทำให้ไม่ค่อยมีรูปตัวเองลงโซเชียล เรื่องนี้ก็ต้องมาคุยกับเขาตั้งแต่แรก เขาก็จะบอกว่าอย่างน้อยมันควรมีรูปแบบไหนบ้างเพื่อแฟนคลับ หรือลงโพสต์ให้แฟนคลับช่วงพิเศษบ้าง เช่น คริสมาสต์ และการอวยพรวันเกิดแฟนคลับในแต่ละเดือน เราต้องคุยกันเพื่อหาจุดตรงกลาง เพราะเราก็ไม่รู้ว่าแฟนๆ ชาวญี่ปุ่นต้องการอะไร ทางอีพลัสก็จะเสนอมา ถ้าเราทำได้ก็ไม่ติดเลย แต่บางอย่างอาจจะขัดกับตัวตนของเรา หรือต้องแคร์แฟนคลับที่อื่นด้วยก็อาจจะมีขอไว้บ้างเฉพาะโอกาสพิเศษอะไรแบบนี้ครับ

เห็นปฏิทินตัวแรกที่ทำกับ Official Fanclub ภาพดูญี่ปุ่นมากๆ

ตอนแรกก็แบบ ผมหน้าไทย จะถ่ายสไตล์ญี่ปุ่นได้เหรอ ฟีดแบ็กจะดีใช่มั้ย ทีมงานญี่ปุ่นก็บอกว่าได้เลย คนญี่ปุ่นชอบแบบนี้ อย่างบางรูปที่ส่งมาให้เราเช็ก เราไม่โอเคเลย แต่เขาบอกว่าคนญี่ปุ่นกรี๊ดมาก เราก็ อ๋อเหรอ ถ้าเขากรี๊ด ก็ลองดู เวลาที่ทำงานด้วยกัน มีอะไรแบบนี้เยอะเลยครับ

Credit: Chikako Nakanishi 
Credit: Chikako Nakanishi 

รูปแบบการทำงานของไทย-ญี่ปุ่นต่างกันไหม

ถ่ายรูปสไตล์ญี่ปุ่นจะเน้นธรรมชาติ ละมุนๆ ใสๆ ไม่แต่งเยอะ ทุกอย่างดูเรียบง่ายแต่น่ารัก ดูเรียล วิธีละลายพฤติกรรมของช่างภาพที่เพิ่งเจอกันครั้งแรกก็แตกต่างกันครับ ปกติที่ไทย เราก็แนะนำตัวแล้วก็เริ่มงานเลย ค่อนข้างเป็นทางการ แต่คุณอะระกิ ช่างภาพผู้รับผิดชอบการถ่ายโฟโต้บุ๊กรอบนี้มาถึงก็บอกเลยว่า อย่าคิดว่าผมคืออะระกินะ ผมคืออะระโกะ หมายถึงให้มองเขาเป็นผู้หญิง เป็นแฟน เพราะธีมการถ่ายรูปคือฟีลแฟน เป็นวิธีสร้างความคุ้นเคยที่ขำมากครับ

อุปสรรคในการทำงานล่ะ

เวลาทำงานที่ไทย ถ่ายเสร็จผมจะไปดูหลังมอนิเตอร์ว่าเราโอเคมั้ย ควรจัดท่าทางแบบไหน การถ่ายของญี่ปุ่นก็ลำบากอีกแบบตรงที่ผมไปดู ผมว่าไม่โอเค แต่เขาบอกดีแล้ว คนญี่ปุ่นชอบแบบนี้ แต่ในความรู้สึกเรา เรามองว่าเราทำให้มันดีกว่านั้นได้อีกนะ เขาก็บอกว่าดีแล้ว คนญี่ปุ่นชอบ เราก็จะลังเลว่าได้จริงเหรอ ต้องปรับตัวเรื่องนี้ครับ

ประสบการณ์การทำงานในไทยและญี่ปุ่นเกื้อกูลกันอย่างไรบ้าง

ที่ไทยเรามีประสบการณ์มากพอที่จะทำงานได้ลื่นไหลได้ระดับหนึ่ง เราก็พยายามเอาประสบการณ์นั้นมาปรับใช้ที่นี่ด้วย ตั้งแต่เรื่องการแต่งหน้าไปจนถึงเรื่องถ่ายงาน แอบนำเสนอการทำงานแบบไทยๆ ไปบ้าง เช่น ท่าโพสที่ผมชอบ เขาก็ซื้อ เราก็ขายไปเรื่อยๆ ว่าที่ไทยชอบแบบนี้ หรือการแต่งหน้าแบบที่เรามั่นใจ เราอาจจะขอเติมนิดนึง เขาจะโอเคมั้ย หลุดความญี่ปุ่นเขามั้ย เราก็แอบขอปรับในสิ่งที่เรารู้สึกมั่นใจ คำที่ได้ยินทุกวันในการทำงานคือ kakkoii–คักโคอี้—(แปลว่า เท่) (หัวเราะ)

ส่วนประสบการณ์จากญี่ปุ่นที่ผมอยากเอาไปลองใช้ที่ไทยคือ อยากจะพูด arigato (ขอบคุณ) ตลอดเวลา ปกติที่ไทยเราไม่มีพูดขอบคุณกันเยอะขนาดนี้ คือผมเป็นคนติดพูดสวัสดี ขอบคุณ ขอโทษอยู่แล้ว แต่ที่นี่ยิ่งกว่านั้นอีก ไม่ว่าจะไปที่ไหน ทุกคนจะพูดตลอด ทีมงานทุกคนทั้งขอบคุณและเอาขนมของฝากมาให้ เป็นวัฒนธรรมที่น่ารักมากๆ เลยคิดว่าเอาไปลองทำที่ไทยจะเป็นยังไงนะ

มาทำงานที่ญี่ปุ่น 12 วันทั้งให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างๆ ทำโฟโต้บุ๊ก จัดแฟนมีตติ้ง ได้เรียนรู้อะไรบ้าง

การทำงานครับ สิ่งที่เรารู้จักคือการทำงานแบบบ้านเรา แต่จริงๆ แล้วยังมีรูปแบบการทำงานอีกหลากหลายมากเลยที่เราเอาบรรทัดฐานของเราไปวัดไม่ได้ ซึ่งเราเอามาตรฐานบ้านเราเป็นตัววัดมาโดยตลอดว่าเราต้องทำให้ได้ประมาณนี้ แต่ความต้องการของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน

อยากชวนคุยเรื่องการจัดงานแฟนมีตติ้งที่ญี่ปุ่นด้วย งานนี้สิงโตต้องทำอะไรบ้าง

หลักๆ คือมาพบปะแฟนๆ มาใช้เวลาร่วมกันครับ เล่นเกมด้วยกัน แฟนคลับอยากรู้อะไรก็ถามได้เลย แต่คุยกันอย่างเดียวกลัวจะนิ่งไป ผมก็มีสลับร้องเพลงบ้าง

การเตรียมตัวก่อนมาล่ะ

ส่วนใหญ่การเตรียมตัวจะเป็นเรื่องการร้องเพลงครับ ที่เหลือคือเตรียมตัวมาเจอ มาใช้เวลาด้วยกัน

มีปัญหาทางภาษามั้ย

มีบ้างครับ ผมค้นพบว่าในการมาเจอกันแบบนี้ ถ้าคุยภาษาเดียวกันจะสนุกไปด้วยกันง่ายกว่า เล่นมุกอะไรก็รับส่งกันได้เลย พอเป็นคนละภาษา อาจจะมีความคลาดเคลื่อนในการแปล มีบางคำที่ภาษาไม่เหมือนกัน ก็ เอ๊ะ นิดนึง พอมันทิ้งช่วงประโยค ผมก็กลัวคนจะไม่สนุก

รูปแบบการจัดงานแฟนมีตติ้งที่ไทยกับญี่ปุ่นเหมือนหรือแตกต่างกันยังไงบ้าง

รูปแบบโดยทั่วไปคล้ายๆ กันครับ ที่ต่างคือวัฒนธรรมของแฟนๆ ซึ่งแต่ละประเทศจะไม่เหมือนกันอยู่แล้วครับ

แฟนคลับญี่ปุ่นแตกต่างจากประเทศอื่นอย่างไรบ้าง

เท่าที่สัมผัสมา แฟนญี่ปุ่นน่ารักมาก ถ้าพูดตามตรงคือ เราเจอแฟนหลายประเทศ และมีคนหลายแบบ ในทุกประเทศก็จะมีบางกลุ่ม ประเทศละคนสองคนที่เขาเข้ามาใกล้เกิน ทำให้ทีมงานทำงานลำบาก ต้องคอยเตือนเสมอ แต่แฟนญี่ปุ่นที่ผมเจอตั้งแต่ตอนมาครั้งแรกที่ โซตัสฯ ยังไม่บูมที่นี่ คือเขาเจอเราโดยบังเอิญ แต่อยู่ห่างมากๆ เขาทำหน้าเหมือนจะร้องไห้ คือโบกมือจากที่ไกลๆ อยู่ตรงนั้น น่ารักมากๆ ผมเข้าใจนะว่าวัฒนธรรมญี่ปุ่นเคารพพื้นที่ส่วนตัวของศิลปิน แต่เข้ามาใกล้อีกนิดก็ได้นะครับ (ยิ้ม) ผมสายตาสั้น (หัวเราะ) เรื่องนี้เป็นความประทับใจที่กลับไปเล่าให้เพื่อนฟังถึงความน่ารักของคนญี่ปุ่นเลยครับ

อีกอย่างคือ ผมชอบความน่ารักของคนญี่ปุ่น ‘สวัสดี ขอบคุณ ขอโทษ’ เป็นคำที่ผมพูดอยู่เสมออยู่แล้ว คนญี่ปุ่นก็ให้ความสำคัญกับการพูด 3 คำนี้เหมือนกันเลยทำให้ผมรู้สึกว่า เราเข้ากันได้ ทัศนคติไปในทิศทางเดียวกัน

Credit: KONNECT Co., Ltd.
Credit: KONNECT Co., Ltd.

เท่าที่รู้มาคนญี่ปุ่นไปคอนเสิร์ต เขาไม่ค่อยกรี๊ด ไม่ค่อยแสดงออกเท่าไหร่ แฟนคลับที่ไปงานแฟนมีตติ้งของสิงโตเป็นสไตล์ไหน

ใช่ครับ เขาจะค่อนข้างนิ่งๆ ซึ่งบางทีก็เกร็งครับ เพราะในฐานะศิลปิน สิ่งที่เราอยากรู้คือแฟนๆ สนุกหรือเปล่า แล้วพอแฟนญี่ปุ่นสำรวม เราก็จะ เอ๊ะ เราพูดอะไรไม่โอเคหรือเปล่า เราควรปรับปรุงอะไรมั้ย ในฐานะเอนเตอร์เทนเนอร์มันเลยเป็นเส้นบางๆ ที่มีความยากครับ ซึ่งผมก็เคยพยายามบอกให้เต้นแล้วนะครับ ตั้งแต่ครั้งแรกๆ ที่จัดแฟนมีต (หัวเราะ) ผมก็เกรงใจเขา เขาก็เกรงใจเรา เราเกรงใจกันไปมา (หัวเราะ) นี่ก็เป็นสิ่งที่ผมประทับใจมาก

สื่อสารกับแฟนต่างชาติยังไง ในเมื่อเขามาตามเราไม่ได้

ส่วนมากเป็นสื่อโซเชียลครับ เช่น ทวิตเตอร์ มีแฮชแท็ก #SingtoPrachya ที่ทุกประเทศใช้ร่วมกัน ผมก็จะเข้าไปดู เราตอบไม่ไหวทุกคน เลยไม่ตอบ จะได้ไม่มีคนน้อยใจ แต่เข้าไปอ่านครับ

งานอื่นๆ ที่ไม่ใช่ละครวาย แฟนๆ ยังติดตามไหม

แฟนญี่ปุ่นดูเรื่อง เฟรนด์โซน ก่อนประเทศอื่นอีกนะครับ เขาคงหาทางดูกันเอง เรื่องอื่นๆ ก็เห็นตามไปดูนะครับ

รู้ไหมว่าทำไมแฟนๆ ชาวญี่ปุ่นรักเรา ทั้งๆ ที่ประเทศเขามีสื่อวายมากมาย

ผมไม่รู้ตั้งแต่แฟนคลับไทยแล้วครับผม (หัวเราะ) ผมเคยพูดกับแฟนๆ ตลอดว่า ผมไม่รู้หรอกว่าคุณชอบผมตรงไหน แต่ผมเข้าใจได้เพราะว่าบางครั้งเราก็ชอบศิลปินที่คนอื่นไม่ได้อินไปด้วยเหมือนกัน มันบอกไม่ถูกว่าทำไม แต่เราคลิกกับคนนี้ เราจะตามผลงานเขา มันบรรยายเป็นคำพูดไม่ได้ว่าเพราะอะไร

จริงๆ แล้วผมเป็นหนึ่งในคนที่ติดตามอนิเมะญี่ปุ่นเยอะมาก จนวันนึงได้มีโอกาสมาทำงานกับทางญี่ปุ่นด้วยตัวเองจริงๆ ก็ดีใจมากๆ ขอบคุณทุกคนที่ติดตามและซัพพอร์ตผลงาน ผมดีใจที่สามารถทำให้ทุกคนมีความสุขได้ครับ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณิชมน หิรัญพฤกษ์

นักศึกษาเอกภาษาญี่ปุ่นที่คิดเลขไม่ได้ อ่านแผนที่ไม่ออก แต่รักการเดินทาง / ผู้ประสานงานใน a day และ HUMAN RIDE ฉบับญี่ปุ่น / เจ้าของคอลัมน์ made in japan และ หนังสือ 'ซะกะ กัมบัตเตะ!' กับ 'Kyoto Selected' / ปัจจุบันใช้เวลาว่างจากการหาร้านคาเฟ่กรุบกริบไปนั่งเรียนปริญญาเอกที่โตเกียว และโดนยัดเยียดความเป็นไกด์เถื่อนให้อยู่เป็นระยะ