ใครๆ ในวงการเกมมักจะเรียกชายที่เรากำลังจะสนทนาด้วยว่า ‘พี่แว่น’
ถ้าสนิทกับเขาหน่อย บางคนอาจจะเรียกเขาว่า ‘พี่บาส’
แต่ไม่ว่าจะใช้คำไหน เราจะเห็นคำว่า ‘พี่’ นำหน้าชื่อของเขาอยู่เสมอ
เปล่าเลย ไม่ใช่แค่เรื่องของอายุ แต่สำหรับวงการเกมไทยในปัจจุบัน ถ้าจะหาใครสักคนที่เป็น ‘พี่ใหญ่’ เราคิดว่าบาสเหมาะสมกับคำนี้มากกว่าใคร
เป็นเวลาเกือบ 20 ปีแล้ว ที่ บาส–ชนิกนันท์ ทิพย์ไพโรจน์ เริ่มต้นชีวิตการทำงานในสายอาชีพที่เกี่ยวกับเกม ตั้งแต่บทบาทการเป็น GM หรือ game master ของเกมในตำนานอย่าง Ragnarok การเป็นผู้ริเริ่มการจัดแข่ง e-sports คนแรกๆ กระทั่งได้มาเป็นเจ้าของทีม MiTH (Made in Thailand) ทีม e-sports ที่มีชื่อเสียงที่สุดของไทย รวมถึงบทบาทการเป็นเจ้าของเว็บไซต์ FPSThailand เว็บคอมมิวนิตี้สำหรับคอเกม FPS (First-Person Shooter) ชาวไทยที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน
ในมุมมองของคนในวงการ ‘พี่แว่น’ เปรียบเสมือนไอดอลผู้ประสบความสำเร็จและเป็นแรงบันดาลใจให้กับเหล่าเกมเมอร์หลายคน แต่ในมุมมองของคนนอกวงการ บาสเป็นเกมเมอร์คนหนึ่งที่พิสูจน์ได้ว่าเกมสามารถกลายเป็นอาชีพได้ แถมยังส่งให้เขากลายเป็นที่รู้จักในฐานะบุคลากรแถวหน้าของวงการเกมไทย
ถ้าเปรียบชีวิตบาสเป็นเกม แต่ละช่วงชีวิตของเขาคงเปรียบเสมือนเควสต์ที่ต้องเก็บเลเวลอย่างยากลำบากกว่าจะผ่านมาได้ รางวัลที่เขาได้รับในแต่ละด่านค่อยๆ พัฒนาตัวเขาให้กลายเป็นพี่แว่นอย่างทุกวันนี้
ในช่วงหนึ่งของการพูดคุย บาสบอกกับเราว่า สำหรับเขา สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่ความสำเร็จ แต่มันคือการทำตัวเองให้เป็นเหมือนไกด์บุ๊ก เพื่อช่วยให้คนที่เดินตามมา ผ่านแต่ละด่านได้ง่ายขึ้น
ดังนั้นในหน้ากระดาษต่อจากนี้ ถ้อยคำของเขาไม่ใช่สูตรโกงเกมแต่อย่างใด
แต่นี่คือคำแนะนำจากคนที่เคยผ่านเกมชีวิตในระดับยากที่สุดมาแล้ว
QUEST 0 : TUTORIAL
ก่อนเริ่มเกม ขั้นตอนแรกที่สำคัญที่สุดสำหรับเหล่าเกมเมอร์คือต้องรู้จักและเข้าใจพื้นฐานเกม และสำหรับการเรียนรู้ชีวิตของบาสที่เปรียบเสมือนเกมเกมหนึ่ง คงไม่มีสถานที่ใดเหมาะสมไปกว่า Arena+ FPSThailand Stadium
ที่นี่คือหนึ่งในสนามแข่งขัน e-sports ไม่กี่แห่งในประเทศไทย และเป็นอีกหนึ่งโปรเจกต์ที่เกิดจากการริเริ่มของบาสเอง โดยมีที่มาจากประสบการณ์การจัดแข่งขัน e-sports ในอดีต
“สมัยก่อนเรามักไปจัดแข่งขันที่ร้านเกมของเพื่อนที่รู้จักกัน ไปบ่อยๆ ก็เกรงใจเขา ลูกค้าประจำเขาหายหมด ดังนั้นเราเลยหุ้นกับเพื่อนอีกสองคนสร้าง Arena+ FPSThailand Stadium ขึ้นมาเพื่อรองรับเกมเมอร์และใช้จัดแข่งขันโดยเฉพาะ”
มองภายนอกเราอาจไม่รู้เลยว่า บ้านสองชั้นขนาดกะทัดรัดที่แอบซ่อนตัวอยู่หลังตึกแถวบนถนนพระราม 2 ซอย 18 คือสนามแข่ง e-sports แต่เมื่อเปิดประตูเข้ามา เราจะพบกับคอมพิวเตอร์สำหรับเกมเมอร์ 10 เครื่องที่ถูกแบ่งเป็น 2 ฝั่ง ฝั่งละ 5 เครื่อง พร้อมยกพื้นสูงให้เหมือนกับสนามแข่งขันสำหรับนักกีฬาที่จะก้าวขึ้นไปโชว์ฝีมือ คอมพิวเตอร์ทุกตัวมีอุปกรณ์เสริมหรือ gaming gear คุณภาพระดับสากล หน้าจอของทุกเครื่องเชื่อมต่อกับทีวีขนาดใหญ่ที่พร้อมถ่ายทอดสดการแข่งขัน และในบริเวณเดียวกันยังมีอุปกรณ์สำหรับการพากย์ระหว่างแข่งขัน แบ็กดรอปสำหรับถ่ายรูป เก้าอี้จำนวนมากที่พร้อมรองรับคนดู รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ สำหรับนักกีฬา e-sports ทุกคนที่เข้ามา
ถ้าเปรียบเกมเมอร์เป็นนักแสดง ที่นี่คงเป็นโรงละครที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่พวกเขาสามารถออกมาวาดลวดลายอย่างสุดฝีมือ
“เรารีโนเวตบ้านหลังนี้ใหม่หมดเลยเพื่อให้มันตอบโจทย์ที่สุด ทุ่มเงินไปจนหมดหน้าตัก สุดท้ายเราก็ได้ใช้มันอย่างเต็มที่นะ” บาสเล่าให้เราฟังด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่น ประกอบกับข้อเท็จจริงที่สะท้อนว่าเขาจริงจังกับเรื่องเกมมากแค่ไหน
ตอนนั้นเองที่เราเหลือบไปเห็นหลักฐานความตั้งใจอีกชิ้นที่แขวนอยู่ในตู้โชว์มุมหนึ่งของบ้าน
ในตู้กระจกนั้นเป็นเสื้อสำหรับนักกีฬา e-sports บนหน้าอกปรากฏตัวอักษร 4 ตัวที่เป็นอีกหมุดหมายสำคัญในชีวิตของเขา
‘MiTH’
QUEST I : MiTH
“เราอยากทำเพราะเราคิดว่าเด็กไทยเล่นเกมเก่ง เราสู้เมืองนอกได้ ดังนั้นถ้าเรามีโอกาสได้ไปแข่งต่างประเทศบ่อยๆ ให้คนข้างนอกรู้ว่ามีทีม e-sports ในไทย มันก็น่าจะดี”
กว่าจะเป็นทีม e-sports แถวหน้าของประเทศได้อย่างทุกวันนี้ ย้อนกลับไปเมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว MiTH เป็นเพียงไอเดียที่ผุดขึ้นในหัวของบาสหลังจากได้ไปเห็นการจัดการทีม e-sports ระดับมืออาชีพที่ประเทศมาเลเซีย
“ย้อนกลับไปคิดแล้วมันโคตรบ้าเลย เราใช้เงินเก็บก้อนสุดท้ายไปจัดแข่งเกมเพื่อหาเด็กไปแข่งที่มาเลเซีย เราออกเงินให้น้องๆ หมดตั้งแต่ค่าเข้าแข่งขัน ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าโรงแรม รวมแล้วประมาณเจ็ดหมื่นบาท แต่สุดท้ายกลายเป็นว่าเราได้ไปเห็นทีม e-sports ที่นั่นซึ่งจริงจังมาก เขามีเสื้อแข่งสวยๆ ใส่ มีการจัดการแบบมืออาชีพ ในขณะที่ตอนนั้นเรายังใช้เสื้อสกรีนง่ายๆ อยู่เลย มันเปิดโลกเรามาก พอกลับมาถึงไทยเราจึงคิดจะสร้างทีม e-sports ขึ้นมาบ้าง เราอยากเอาจริงเอาจังกับมัน”
จากวันนั้นเป็นต้นมา MiTH ถือกำเนิดขึ้นและก้าวเดินบนเส้นทางแห่งการแข่งขันมาเกือบสิบปี พวกเขาตั้งทีมขึ้นมาสำหรับหลากหลายเกม และเริ่มเป็นที่รู้จักจากผลงานที่ฝากไว้หลายครั้งในต่างประเทศ อย่างการเป็นแชมป์โลกเกม Point Blank ที่ประเทศเกาหลีใต้เมื่อ พ.ศ. 2554 ไปจนถึงการคว้าอันดับ 7 ของโลกจากการแข่งขันเกมโคตรฮิตอย่าง Dota 2 ในรายการ The International ในปีเดียวกัน ชื่อของ MiTH เริ่มเป็นที่คุ้นหูของหมู่คนทั้งในและนอกวงการเกม ก่อนจะมาโด่งดังสุดๆ จากทีม MiTH.PUBG ทีมความหวังของไทยจากเกม PLAYER-UNKNOWN’S BATTLEGROUNDS ที่คว้าอันดับ 7 ในรายการชิงแชมป์โลก PUBG Global Invitational ในปีที่ผ่านมา
ดูเหมือนว่าการลงทุนเริ่มนับหนึ่งอย่างโคตรบ้าในเวลานั้นจะเริ่มคืนทุนในรูปแบบของความฝันที่กลายเป็นจริงในที่สุด
“เราโตขึ้นไปทีละขั้น ช่วงแรก MiTH อาจมีชื่อเสียงเฉพาะในกลุ่มนักเล่นเกม แต่ปัจจุบันเราค่อนข้างก้าวกระโดด จากตอนแรกที่เราไปขอสปอนเซอร์แล้วโดนปฏิเสธบ่อยมาก ปัจจุบันมีพาร์ตเนอร์หลายเจ้าเข้ามา แต่เราก็ยังคงยึดหลักการเดิม”
หลักการเดิมที่ว่าอาจทำให้หลายคนเลิกคิ้วสงสัยเมื่อได้ฟัง เพราะตั้งแต่เริ่มแรก บาสทำทีม e-sports ด้วยความตั้งใจว่า เขาจะไม่เอาเงินจากทีมแม้สักบาทเดียว ด้วยรายได้หลักจากเว็บไซต์ FPSThailand ที่เรียกได้ว่ามากพอ บาสจึงมอง MiTH เป็นเหมือนความฝันที่เกื้อหนุนตัวเองมากกว่า ดังนั้นรูปแบบของ MiTH จึงไม่ใช่ทีมที่ขับเคลื่อนด้วยธุรกิจ ถึงแม้ในต่างประเทศทีม e-sports จะทำเงินได้เป็นหลักล้านบาท แต่บาสยังคงยืนยันให้ MiTH เป็นทีมที่ดูแลง่ายและมีจุดเด่นในด้านอื่นมากกว่า
“สำหรับเรา e-sports มันต้องใช้เวลาครับ บางทีเราใช้เงินหล่อเลี้ยงเขาอย่างเดียวไม่พอ มีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้ทีม e-sports ทีมหนึ่งมีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับ สิ่งหนึ่งที่ MiTH แข็งแรงมากคือเราสนิทกันเหมือนครอบครัว เราทำกันเอง คุยกันได้ง่ายๆ สบายๆ ส่วนอีกปัจจัยที่ MiTH เน้นมากคือภาพลักษณ์ เรามองว่าเรื่องนี้สำคัญเพราะทีม e-sports เป็นตัวอย่างให้เด็กรุ่นใหม่ ทั้งการเล่นเกม การทำงาน และไลฟ์สไตล์ เราต้องบาลานซ์ชีวิตตัวเองให้เป็นแบบอย่าง เราต้องทำเรื่องครอบครัวหรือชีวิตให้ดูดี ชนะคำที่คนสบประมาทให้ได้ ทั้งหมดนี้เราทำ เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ให้กับทั้งนักกีฬาและวงการเกม ทุกคนต้องมีปัจจัยที่ดีรอบด้านในตัวเอง”
เมื่อมองให้ดีเราจะเห็นว่า ทีม MiTH มีเคมีบางอย่างตามที่บาสอยากให้เป็นจริงๆ น้อยครั้งที่เราจะเห็นนักกีฬา e-sports ของ MiTH ประพฤติตัวไม่เหมาะสม และในโซเชียลมีเดียเราก็มักพบเจอเรื่องราวของนักกีฬาในทีม MiTH ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้กับเด็กรุ่นใหม่ได้
ถ้าจะมีใครสักคนที่ควรได้รับเครดิตเหล่านี้รองจากเหล่านักกีฬา เราคิดว่าบทเรียนของบาสเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวที่ช่วยดูแลน้องๆ ให้เข้าที่เข้าทางเสมอมา
บทเรียนเมื่อครั้งอดีตที่เขาฝ่าฟันมาเพื่อพิสูจน์ว่า ‘เด็กติดเกม’ สามารถมี ‘เกม’ เป็นชีวิตได้
QUEST II : GAME SAVED MY LIFE
ถ้าชีวิตของบาสคือเกม เราคงต้องย้อนกลับไปเมื่อกว่าสามสิบปีที่แล้ว ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในอำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน เพื่อดูการผ่านด่านแรกของเขา
เปล่าเลย มันไม่ใช่ภารกิจที่ยากอะไร มันเป็นเพียงวีรกรรมของเด็กคนหนึ่งที่ขโมยกุญแจห้องคอมพิวเตอร์จากพ่อผู้เป็นอาจารย์เพื่อไปเล่มเกมในช่วงเลิกเรียนของทุกวันเท่านั้นเอง
“สมัยนั้นเราไม่มีเครื่องเล่นเกมส่วนตัว เราเลยอาศัยวิธีนี้เพื่อเล่นเกม ตอนแรกพ่อแม่ก็ห้ามนะ แต่หลังๆ เขาก็ไม่ว่าแล้ว เขาบอกเราด้วยซ้ำว่า ไหนๆ ไปแล้วก็กวาดห้องให้ด้วยแล้วกัน (หัวเราะ)” ความทรงจำในอดีตของบาสทำเราหัวเราะครืนใหญ่ แม้จะฟังดูเหมือนเด็กไม่เอาไหนที่ไม่สนใจการเรียน แต่เรื่องราวที่เขาเล่าต่อบอกเราว่า เกมนี่แหละที่ช่วยชีวิตเขาไว้ในตอนนั้น
“ช่วงนั้นที่ที่เราอยู่มียาบ้าระบาดหนักมาก เราสามารถหาซื้อในโรงเรียนได้ในราคาเม็ดละ 20-30 บาทเท่านั้นเอง เพื่อนเราที่เกเรหน่อยก็พกมาขายเป็นคอก พอนึกย้อนกลับไป เราค้นพบว่าสิ่งที่ทำให้เราไม่ออกไปยุ่งกับเรื่องพวกนี้เลยคือเกม อย่างเวลาเพื่อนชวนไปไหน เราจะบอกเพื่อนตลอดว่า ‘กูไม่ไป กูจะเล่นเกม’ ” แม้บาสจะทำเราหัวเราะได้อีกครั้ง แต่นัยในคำพูดของเขาเปี่ยมด้วยความจริงจัง เกมกลายเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตเขาตั้งแต่ตอนนั้นเอง
จากจังหวัดน่าน ชีวิตของบาสเคลื่อนตัวสู่การเป็นนักศึกษาในกรุงเทพฯ พอดีกับที่เกมวิวัฒนาการอย่างก้าวกระโดด จากเกมคอนโซลที่ได้รับความนิยมเปลี่ยนผ่านไปสู่เกมคอมพิวเตอร์ออนไลน์ และถ้าพูดถึงยุคนั้น ไม่มีเกมไหนจะได้รับความนิยมเท่ากับเกมในตำนานที่ถูกนำเข้ามาโดยบริษัท Asiasoft อย่าง Ragnarok อีกแล้ว
และแน่นอน คอเกมตัวจริงอย่างบาสมีเหรอที่จะพลาด
หลังจากผลการเรียนที่มหาวิทยาลัยการันตีได้ว่าเขาเรียนจบแน่ๆ จิตวิญญาณความเป็นเกมเมอร์ของบาสทำให้เขาเริ่มต้นเล่นและใส่สุดกับเกม Ragnarok เขาเล่าติดตลกว่า ชีวิตช่วงนั้นกินอยู่ในร้านเกมจนเรียกได้ว่ารู้ทุกซอกทุกมุมของเกม ไม่ว่าจะความยากระดับไหน เขาผ่านมาหมดแล้ว แต่เมื่อเพื่อนๆ ที่เคยเล่นเกมกับเขาเริ่มทยอยหางานทำ บาสเริ่มคิดว่า ปล่อยไว้แบบนี้คงไม่ได้การ เขาต้องหางานทำและเริ่มเลี้ยงดูตัวเองได้แล้ว แต่อีกเสียงในใจก็แย้งว่ายังอยากเล่นเกมอยู่
งานอะไรล่ะที่จะตอบโจทย์ชีวิตได้ขนาดนั้น
คำตอบของบาสนั้นง่ายนิดเดียว ก็ทำงานที่เกี่ยวกับเกมซะเลยสิ
QUEST III : GAME IS MY JOB
เรียกว่าจุดเริ่มต้นในการทำงานจริงจังเกี่ยวกับเกมของบาสนั้นไม่ต้องมองไปไหนไกล ในตอนนั้นบริษัท Asiasoft เปิดรับสมัครงาน GM ในเกม Ragnarok พอดี ด้วยความรู้เปี่ยมล้นเพราะเป็นผู้เล่นมาก่อน ไม่นานเขาจึงได้ทำงานเป็นผู้ดูแลความเรียบร้อยให้กับผู้เล่นในเกม Ragnarok เมื่อรู้อย่างนี้ เราจึงอดสงสัยไม่ได้ว่า เมื่อเกมที่เคยเล่นสนุกกลายเป็นงาน เขายังคงเอนจอยกับมันอยู่หรือเปล่า
“สนุกกว่าเดิมอีกครับ” เขาตอบเราพร้อมรอยยิ้ม
“พอได้ทำงานมันยิ่งทำให้เราค้นหา หน้าที่เราคือการแก้ปัญหาให้กับผู้เล่นคนอื่น ซึ่งเราเองก็เล่นอยู่แล้วเลยมีข้อมูลที่ลึก ดังนั้นเราเลยเข้าถึงความต้องการทุกคนได้ แถมเวลาพี่ที่แผนกไม่รู้อะไรก็จะถามเรา ตอนนั้นเรารู้สึกพิเศษและมีตัวตนขึ้นมาเหมือนกันนะ”
บาสทำงานอยู่ที่ Asiasoft เป็นเวลา 5 ปี จากการทำงานเป็น GM เลื่อนขั้นขึ้นสู่การเป็น chief หัวเรือใหญ่ที่ดูแลเกมอีกหลายเกม ยุคนั้นเป็นยุคที่วงการเกมออนไลน์รุ่งเรืองถึงขีดสุด อินเทอร์เน็ตคาเฟ่กลายเป็นจุดนับพบของเด็กหลายคน บริษัท Asiasoft เองก็เติบโตอย่างรวดเร็วพร้อมกับโบนัสที่พนักงานได้รับเพิ่มขึ้นระดับหกหลัก
ฟังดูเหมือนเกมสามารถกลายเป็นอาชีพที่มั่นคงของเขาได้จริงๆ แต่ในขณะเดียวกันเกมหลายเกมก็สอนผู้เล่นเสมอว่า เมื่อทุกอย่างกำลังราบรื่น จงระวังไว้ เรื่องไม่คาดคิดพร้อมเกิดขึ้นได้เสมอ
“พอถึงยุคหนึ่งที่บริษัทโตไวกว่าคน พนักงานคนหนึ่งต้องดูแลหลายเกมจนเราไม่สามารถดูแลเกมใดเกมหนึ่งได้เต็มที่ บวกกับพอบริษัทเข้าตลาดหุ้น ไดเรกชั่นก็เปลี่ยน ปีท้ายๆ เราเริ่มรู้สึกไม่ค่อยอินกับการทำงานแล้ว พอดีตอนนั้นเราก็เริ่มทำเว็บไซต์ FPSThailand และคิดว่ามันน่าจะทำรายได้ได้ ไม่มีอะไรการันตีหรอก แต่เราก็ลาออกมาเมื่อ พ.ศ. 2552
“ตอนนั้นเงินเก็บเราแทบไม่มีเลย ก้อนสุดท้ายก็เอาไปใช้พาทีม e-sports ไปมาเลเซียอย่างที่บอก มันทำให้เรารู้ว่าถ้าไม่เต็มที่ เราจะไม่มีกิน ดังนั้นจากปกติที่ทำงานหนักอยู่แล้วก็ทำ 200 เปอร์เซ็นต์ ในเว็บไซต์ FPSThailand เราสร้างเว็บบอร์ดให้คนเล่นเกม FPS มาคุยกัน อัพเดตและแปลข่าวหรืออีเวนต์จากต่างประเทศ ถ่ายรีวิวอุปกรณ์ gaming gear ด้วยตัวเอง ในช่วงเริ่มแรกเราทำทั้งหมดนี้ด้วยตัวคนเดียว เขียนเอง ทำเอง ถ่ายเอง รีวิวของไปเกือบ 200-300 ชิ้น รวมถึงเริ่มถ่ายทอดสดการแข่ง e-sports จากต่างประเทศเป็นเจ้าแรกของไทย เว็บเลยเริ่มเป็นที่รู้จักและมีแบรนด์ขึ้นมาจนถึงตอนนี้”
ตอนนี้เว็บไซต์ FPSThailand กลายเป็นรายได้หลักของบาสจากทั้งค่าโฆษณาและงานจ้างรีวิว gaming gear ของแบรนด์ต่างๆ จากวันแรกที่ไม่มีคนดูการถ่ายสดของเขาเลย ปัจจุบันเว็บไซต์นี้กลายเป็นฐานที่มั่นสำหรับเขา ความตั้งใจทั้งหมดที่ทุ่มลงไปตอบแทนเขาอย่างคุ้มค่า FPSThailand กลายเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ประจำตัวที่หลายคนจำบาสได้
“ไม่เคยคิดว่าอะไรที่เคยทำจะพาเรามาถึงจุดนี้ ประสบการณ์จากทั้งเว็บไซต์และที่ Asiasoft ทำให้เรามีสกิลและความรู้ในวงการเกมมากขึ้นมาก ด้วยอินพุตที่เรามี มันเลยพร้อมระเบิดออกมาตอนที่เราทำ MiTH อาจเป็นเพราะเราไม่ได้มองอะไรไกลด้วย เราค่อยๆ ทำและมักน้อย ขอแค่ไม่ขาดทุน ที่เหลือให้มันเป็นประโยชน์ต่อภาพรวมวงการเกมไทยดีกว่า”
สิ้นเสียงของเขา เรารู้สึกว่าวงการเกมไทยช่างโชคดีที่อย่างน้อยก็มีชายคนหนึ่งที่รักและพยายามเพื่อมันมามากขนาดนี้
ความพยายามที่ตอนนี้ออกดอกออกผลแล้ว
QUEST IV : GAME STARTS NOW
ช่วง 2-3 ปีหลัง หลายคนคงรับรู้ว่า เกมเริ่มกลายเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมที่ถูกพูดถึงมากขึ้นในสังคมไทย ผู้หลักผู้ใหญ่หลายคนเริ่มมองเกมว่าไม่ใช่พิษภัยสำหรับเด็กอีกต่อไปและอาชีพเกี่ยวกับเกมเริ่มกลายเป็นที่พูดถึง สำหรับบาส ช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้เป็นเหมือนกับการโค่นบอสใหญ่ที่อยู่ท้ายสุดของเกมนี้ได้สำเร็จสักทีหลังจากพยายามมาเนิ่นนาน
บอสที่มีชื่อว่า ‘การยอมรับจากสังคม’
“ปัจจุบันวงการเกมบ้านเรามีทิศทางที่ดีขึ้นมากๆ ทุกคนเริ่มพูดถึงเกม ถ้าเทียบกับตอนแรกที่เราเริ่มต้น พ่อแม่เรายังไม่ยอมรับเลย เวลาไปอธิบายกับใครว่าทำงาน GM คนจะไม่เข้าใจ แต่ตอนนี้เราเห็นพ่อแม่ภูมิใจ คนรอบข้างท่านเริ่มพูดถึง ‘พี่แว่น’ ท่านเห็นเราไปปรากฏตัวอยู่ในหนังสือพิมพ์ เราไม่ได้คาดหวังว่าเกมจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตใครหรอก แต่เราขอแค่การยอมรับ ภาพรวมมันก็ดีขึ้นมากๆ แล้ว”
มีอะไรที่น่าเป็นห่วงไหมในวงการเกมที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วแบบตอนนี้ เราโยนคำถามให้เขา
“เราไม่ปฏิเสธว่าเกมเป็นสีเทานะ แต่เราก็เชื่อว่าทุกอย่างในโลกเป็นสีเทา แน่นอนว่าพอวงการเกมได้รับความนิยม คนก็จะมาแย่งซีน มันจะมีกลุ่มที่รักเกมจริงๆ กับกลุ่มที่เข้ามาเพื่อธุรกิจ มันเป็นเรื่องปกติของทุกวงการอยู่แล้ว แต่เวลาหลายคนเข้ามาแล้วคาดหวังว่ามันจะดีอย่างนั้นอย่างนี้ เราคิดว่าเขาโฟกัสผิดจุด สมัยก่อนนักกีฬาทุกคนลงแข่งเพราะอยากชนะ พออยากชนะก็ต้องซ้อม พอชนะแล้วชื่อเสียงเงินทองมันถึงจะตามมา แต่สมัยนี้บางคนเขาดูที่ตัวเงิน มันขาดแพสชั่น ขาดความอยากไป ถึงแม้ปัจจุบันข้อมูลต่างๆ จะหาง่าย แถมตัวเลือกเยอะ แต่เราว่าความสำเร็จก็ชี้วัดกันที่ความอดทนอยู่ดี ดังนั้นภาวนาให้สุดท้ายเหลือกลุ่มที่รักวงการไว้สักหน่อยก็พอ วงการจะได้เติบโตขึ้นตามทางของมันเองได้”
ถ้าวงการเกมเป็นเด็กคนหนึ่ง บาสคงเป็นเหมือนพ่อที่เฝ้าดูลูกคนนี้ตั้งแต่หัดเดินจนถึงวันนี้ที่เริ่มก้าวเดินด้วยตัวเองได้ วันนี้ที่ลูกคนนี้เริ่มโผบินและเป็นที่ยอมรับในคนหมู่มาก ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าพ่ออย่างเขาภูมิใจปนเป็นห่วงขนาดไหน เรียกได้ว่าทั้งชีวิตของเขาผูกพันกับเกมมากจนทำให้เราอดสงสัยไม่ได้ว่า เขาจะอยู่กับเกมไปจนถึงเมื่อไหร่
“เราขาดเกมไม่ได้หรอก เราคงเล่นเกมไปจนตาย”
บาสบอกกับเราแบบนั้น
QUEST V : LIFE IS A GAME
“ชีวิตเรามันเป็นจังหวะที่ไม่รู้ตัวเลย เกมติดตัวเรามาจนเลิกไม่ได้แล้วล่ะ เหมือนเราถูกขีดมาทางนี้แล้วตั้งแต่วันที่ขโมยกุญแจพ่อมานั่งเล่นเกม”
ในวันนี้ นอกจากชายวัย 37 ปีเบื้องหน้าเราจะเป็น ‘พี่แว่น’ ที่รักของใครหลายคน เขายังเป็นแรงบันดาลใจให้เหล่าเกมเมอร์รุ่นใหม่ในหลายๆ เรื่อง ทุกสิ่งที่บาสทำกลายเป็นหลักฐานอ้างอิงให้กับเด็กไทยที่พยายามบอกกับพ่อแม่ว่า เกมสามารถเป็นอาชีพและชีวิตได้จริงๆ
“ในยุคของเรามันหาแรงบันดาลใจในวงการเกมได้ยากมาก แต่ตอนนี้เรากลับเป็นแรงบันดาลใจให้น้องๆ เราดีใจมากๆ นะ เกมให้ทุกอย่างกับเรา เกมให้ชีวิตแบบที่เราแทบนึกไม่ออกด้วยซ้ำว่าถ้าไปทำอย่างอื่น เราจะกลายเป็นใคร เราไปสุดทางกับมัน สุดกำลังของเราแล้ว เราไม่เสียใจเลยที่ได้ลงแรงไป เพราะผลตอบรับของมันคือสิ่งที่เป็นอยู่
“ตอนนี้เราคิดว่าเราน่าจะใกล้เลเวล 99 แล้วล่ะ” บาสเล่นมุกสไตล์เกมเมอร์ เรียกเสียงหัวเราะได้ชุดใหญ่
ณ เวลานี้ถ้าเทียบกับสมัยก่อน บาสปรากฏตัวในพื้นที่สื่อน้อยลงมากและลดบทบาทในวงการ e-sports ลง เขาค่อยๆ ส่งไม้ต่อให้กับน้องๆ ที่เขารัก ทั้งบทบาทการจัดการทีม MiTH การพากย์เกม รวมถึงการบริหาร Arena+ FPSThailand Stadium ด้วย จากการเป็นเบื้องหลังในวงการเกมมาเป็นสิบปี ตอนนี้เหมือนเขาจะถอยหลังไปไกลกว่านั้นโดยการเป็นคนเฝ้ามองอยู่ห่างๆ คอยแนะนำเมื่อจำเป็น และปล่อยให้น้องๆ ได้เติบโตจากการลงมือทำ เหมือนที่เขาเคยผ่านมา
เกมเมอร์ทุกคนคงรู้ว่า ความสุขอย่างหนึ่งของการเล่นเกมคือการปั้นตัวละครของเราให้เก่ง แต่สิ่งที่บาสทำได้พิสูจน์ความจริงอีกข้อว่า ความสุขอีกอย่างหนึ่งของเกมคือการช่วยให้คนในทีมของเราเก่งขึ้นไปพร้อมกันต่างหาก
ก่อนจากกัน เรายิงคำถามสุดท้ายที่คิดว่าคงไม่มีใครตอบได้ดีเท่ากับเขาอีกแล้ว
สำหรับบาส เกมคืออะไร
บาสนิ่งคิดพร้อมรอยยิ้ม ก่อนจะเอ่ยคำตอบที่เป็นดั่งการสรุปบทเรียนจากเกมชีวิตที่ผ่านมาของเขาทั้งหมด
“เกมคือทุกสิ่งสำหรับเรา มันจะอยู่ในตัวเราตลอดไป”
TO BE CONTINUED…