e-sports : เมื่อเกมไม่ใช่ผู้ร้าย แต่อาจเป็นอนาคตใหม่ของวงการกีฬาและโลกธุรกิจ

หนึ่งในสิ่งที่คนที่โตมากับการเล่นเกมจะบ่นแขวะกันอยู่บ่อยๆ
คือการที่สื่อและผู้ใหญ่
(บางคน) มองว่าเกมคือสาเหตุของเรื่องร้ายต่างๆ
นานา เอะอะอะไรเกี่ยวกับเด็กไม่ว่าจะเป็นความรุนแรง ผลการเรียนตก นิสัยก้าวร้าว ฯลฯ
เกมจะกลายเป็นจำเลยที่ถูกเพ่งเล็งอยู่เสมอ

แต่ดูเหมือนว่าในยุคสมัยนี้ เกมได้ก้าวไปสู่อีกจุดหนึ่งที่หลายๆ
คนต้องปรับทัศนคติเสียใหม่
เพราะตอนนี้วงการธุรกิจเริ่มเพ่งเล็งตลาดของเกมในอีกมุมมองหนึ่งว่ามันคือโอกาสมหาศาล
เช่นเดียวกับการเล่นเกมที่กลายเป็นเรื่องจริงจังของหลายๆ คนจนแปรเปลี่ยนเป็นกีฬาที่มองข้ามไม่ได้เสียแล้ว

ผมมักพูดแซวในวงเพื่อนบ่อยๆ ว่าถ้าพูดเรื่องการแข่งขันเกมนั้น
คนไทย
(หรือเด็กไทยในสายตาคนบางคน) นั้นไม่ได้แพ้ใคร
ยิ่งในช่วงเดือนที่ผ่านมา เราเห็นข่าวดังๆ ไม่ว่าจะเป็นทีมชาติไทยของเกม Overwatch สามารถเข้ารอบการแข่งขันระดับนานาชาติ สู้กับคนที่ว่ากันว่าเก่งสุดๆ ได้อย่างสูสี ไหนจะทีม ROV ของไทยก็ไปคว้าแชมป์ในต่างประเทศมาอีก ทีม FIFA Online ก็ได้แชมป์กวาดเงินรางวัลชนิดที่ผู้ใหญ่ทำงานทั้งปีอาจจะได้ไม่ถึงด้วยซ้ำ

นอกจากการไปคว้าแชมป์แล้ว บรรดากองเชียร์ไทยที่นั่งดูการแข่งขันออนไลน์นี้ไปพร้อมกันก็มีนับหมื่นคนที่ลุ้นและเชียร์กันเต็มนิวส์ฟีด

เรื่องนี้คงเป็นเรื่องน่าแปลกใจสำหรับผู้ใหญ่หลายคน
แต่กับคนที่โตมากับการเล่นเกมอาจจะไม่แปลกอะไร ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าวันนี้เกมไม่ใช่เรื่องของเด็กอีกต่อไป
หากแต่เป็นเรื่องของคนที่อยากได้ความบันเทิงผ่านการแข่งขันและต่อสู้ผ่านตัวเกมต่างๆ
และนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า e-sports ที่นับวันจะถูกยกมาพูดถึงเรื่อยๆ ตั้งแต่การบรรจุเข้าไปเป็นหนึ่งกีฬาของมหกรรมกีฬาอย่างเอเชี่ยนเกมส์
และตอนนี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาก็ผ่านวาระในการบรรจุ e-sports เป็นหนึ่งในชนิดของกีฬาเรียบร้อยแล้ว เรียกว่าตบหน้าผู้ใหญ่หลายคนที่ออกมาพูดว่าเกมทำลายอนาคตเด็กกันเลยทีเดียว

แล้วทำไมวันนี้เกมถึงกลายเป็นกีฬา? คำถามนี้คงเป็นเรื่องที่หลายคนสงสัยหากไม่ได้อยู่ในวงการเกม
แต่ถ้าเรามองกันแบบเปิดใจจะเห็นว่าทุกวันนี้ การเล่นเกมไม่ใช่แค่การแข่งขันกับตัวเอง
เล่นให้จบคนเดียวเหมือนสมัยเราเล่นเกม Super Mario แต่เกมสมัยใหม่ออกแบบมาให้ต้องแข่งขันกับผู้เล่นคนอื่นๆ เช่นเดียวกับการร่วมมือและสร้างทีมเพื่อเอาชนะฝั่งตรงข้าม ต้องอาศัยทักษะและไหวพริบมากมาย คนเล่นเกมจะรู้ดีว่าการจะเอาชนะเกมได้ต้องวางกลยุทธ์ ปรับแผนการเล่น และประสานงานระหว่างคนในทีมที่จริงจังไม่แพ้การแข่งขันกีฬาอย่างฟุตบอลเลย
(ถ้าคุณอยากรู้ว่าเป็นไง ลองเล่นเกมดังๆ อย่าง ROV หรือ Overwatch จะรู้ดีว่าต่อให้คุณเก่งขนาดไหน แต่ถ้าไม่ร่วมมือกับคนอื่นๆ
ก็แพ้เอาได้ง่ายๆ เช่นกัน)

มากไปกว่านั้น การชมการแข่งขันเกมยังกลายเป็นความบันเทิงที่เผลอๆ
จะโดนใจคนบางกลุ่มมากกว่านั่งดูกีฬาปกติเสียอีก เพราะต้องยอมรับว่าตัวเกมมีคอนเทนต์ที่หลากหลายและผู้พัฒนาก็ทำให้น่าตื่นตาตื่นใจอยู่ตลอดเวลา
ประกอบกับการแข่งขันเหล่านี้เผยแพร่ด้วยช่องทางออนไลน์เป็นวงกว้างจนทำให้วงการ
e-sports เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

และถ้าว่ากันจริงๆ การแข่งขันกีฬาทั่วไปยังมีข้อจำกัดหนึ่งที่อาจทำให้หลายคนรู้สึกว่า ‘ไม่แฟร์’ คือข้อจำกัดด้านเชื้อชาติที่มีผลต่อโครงสร้างร่างกายมนุษย์
เช่น รูปร่าง ส่วนสูง แต่ข้อจำกัดเหล่านั้นจะหายไปเมื่ออยู่บนหน้าคอมพิวเตอร์และหน้าจอมือถือ
เรียกว่าไปวัดกันที่สมองและไหวพริบกันแทน จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นว่าชาติที่เก่งด้าน
e-sports อาจจะไม่ใช่ประเทศมหาอำนาจเหมือนในกีฬาปกติ แต่จะเป็นทีมจากประเทศไหนก็ได้

อย่างไรก็ตาม เราก็รู้อย่างหนึ่งว่าคนเล่น e-sports ไม่เหมือนกับคนเล่นเกมทั่วๆ ไปที่เราเรียกว่าเกรียนเล่นเกมตามร้านอินเทอร์เน็ต เพราะคนเหล่านี้เล่นกันจริงจัง ฝึกเล่นเกมกันไม่ต่างจากนักกีฬาฝึกร่างกายจริงๆ
เพื่อให้ได้ทีมที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

ทั้งหมดส่งผลให้อนาคตของ e-sports ในแวดวงธุรกิจและการตลาดนั้นเริ่มเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่ามันคือวงการที่ต้องให้ความสนใจ
หลายแบรนด์เริ่มลงทุนเป็นสปอนเซอร์กับทีม e-sports หลายๆ ทีม เพราะทีมเหล่านี้กลายเป็นทีมดังที่มีกองเชียร์ติดตามหลายหมื่นหลายแสนคน
เงินรางวัลในการแข่งขันก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องก็มีเม็ดเงินเพิ่มเข้ามาอีกเช่นกัน

จนถึงวันนี้ เราคงต้องยอมรับกันแล้วว่า e-sports ที่มาจากเกมนั้นไม่ใช่แค่แฟชั่นหรือเรื่องเล่นๆ อย่างที่หลายคนเคยมอง มันกลายเป็นเรื่องจริงจังของทั้งคนเล่นและคนทำธุรกิจไปแล้ว

และผมว่าเราควรเลิกอคติกับเกมและเปลี่ยนมาภาคภูมิใจกันด้วยซ้ำ เมื่อทีมชาติ e-sports ของเราได้รับการยอมรับในเวทีโลก หรือมีคนไทยของเรากลายเป็นหนึ่งในผู้เล่นทีม
e-sports ระดับโลก เพราะพวกเขาทำชื่อเสียงให้ประเทศชาติต่างหาก

ภาพ Helena Kristiansson

AUTHOR