27 กรกฎาคม 2017 เป็นวันสำคัญของวงการ eSports ไทย เพราะนี่คือวันที่ eSports ได้รับบัญญัติให้เป็น ‘กีฬา’ ตามมติของคณะกรรมการกีฬาแห่งประเทศไทย แน่นอนว่าคนรักเกมและผู้ติดตามวงการอีสปอร์ตเฮกับเหตุการณ์นี้ แต่หากคนที่ไม่รู้จักหรือไม่อินคงไม่รู้ว่ามันสำคัญแค่ไหน
อันที่จริง วงการอีสปอร์ตในไทยมีจัดแข่งอยู่ตลอด แต่งานเหล่านี้โลดแล่นอยู่เฉพาะในอินเทอร์เน็ต ข่าวสารการแข่งมักรับรู้กันในพื้นที่เฉพาะกลุ่มเท่านั้น ไม่มีใครได้เห็นหน้านักกีฬาตัวจริงนัก
อย่างไรก็ดี ตอนนี้ eSports เริ่มถ่ายทอดทางโทรทัศน์เพิ่มเติม ทำให้คนนอกวงการเข้าถึง eSports ได้มากขึ้น รายการที่บุกเบิกคือ E-Warriors
E-Warriors เป็นรายการจัดแข่งอีสปอร์ต ฉายทางช่อง 5 และในเพจเฟซบุ๊ก ผลิตโดย 8 Media Production ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการผลิตรายการกีฬา เพิ่งออกอากาศไปเมื่อปลายปี 2017 เกมที่ใช้แข่งคือ Dota 2 แข่งในระดับมหาวิทยาลัย
ปัจจุบัน รายการ E-Warriors ได้ขยับขยายการแข่ง Dota 2 เป็นระดับประเทศ และยังเล็งการจัดแข่งเกมอื่นๆ ในอนาคต ถือเป็นรายการจัดแข่งอีสปอร์ตที่ฉายทางโทรทัศน์อย่างเป็นทางการครั้งแรกของประเทศไทย
สำหรับคนไม่รู้จักเกม Dota 2 เกมนี้แข่งกัน 2 ทีม ทีมละ 5 คน แต่ละคนต้องเลือกตัวละครในเกมที่ถนัดมาสู้กัน แบ่งตำแหน่งการเล่นชัดเจนเหมือนวางตำแหน่งนักบาสหรือนักฟุตบอล เป้าหมายของเกมคือทำลายฐานทัพของอีกฝ่ายให้ราบ
ปัจจัยที่รายการ E-Warriors มาฉายทางโทรทัศน์ได้ ต้องขอบคุณ 2 ปัจจัยหลักที่เกิดขึ้นถูกจังหวะพอดี คือ
- การฉายการแข่งเกม Realm of Valor (RoV) ระดับภูมิภาคเอเชีย (ชื่อรายการ Arena of Valor International Championship: Asia 2017) รอบ 4 ทีมสุดท้ายทางช่อง Workpoint 23 ทำให้คนได้เห็นและเข้าถึงการแข่ง eSports เห็นความสามารถของนักกีฬาไทยที่เล่นเกมจนคว้ารางวัลมาได้จริงๆ นี่อาจเป็นข้อพิสูจน์หลักอย่างหนึ่งว่า eSports สามารถเล่นเป็นกีฬาแข่งขันกันได้จริง ทำให้ eSports ได้รับบรรจุเป็นกีฬาในที่สุด
- eSports กำลังมีภาพลักษณ์และกระแสที่ดีขึ้น สถานีโทรทัศน์ช่อง 5 กำลังต้องการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของช่องให้ดูทันสมัยมากขึ้นพอดี ทาง 8 Media Production เองก็สนใจจัดรายการแข่ง eSports อย่างเต็มรูปแบบทางโทรทัศน์ จึงนำไอเดียนี้ไปเสนอทางช่อง 5 และได้รับไฟเขียวกลับมา E-Warriors เลยได้โลดแล่นบนจอโทรทัศน์อย่างที่เราเห็นกันทุกคืนวันอังคาร
แล้วจะทำรายการยังไงให้สนุก? E-Warriors ไม่ได้จับนักกีฬามานั่งหน้าคอมพิวเตอร์ แต่แบ่งช่วงรายการอย่างละเอียด เช่น ก่อนเริ่มแข่งจะสอนคำศัพท์เฉพาะในเกมให้ผู้ชมเข้าใจก่อน นักพากย์จะไม่เพียงบอกว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่จะย้อนภาพช็อตสำคัญให้ดูเหมือนเวลาแข่งฟุตบอล วิเคราะห์การแข่งอย่างละเอียดว่าแต่ละคนทำอะไรลงไป แนะนำแต่ละตัวละครที่นักกีฬาเลือกเล่นโดยยึดหลักว่าต้องทำให้คนดูทุกคนเข้าใจ ที่สำคัญคือการวางลำดับว่าจะจัดแข่งระดับมหาวิทยาลัยก่อนและจะสัมภาษณ์นักกีฬาก่อนแข่งเสมอ
ทั้งหมดนี้ แบงค์-เหมวัต เปี่ยมสมบูรณ์ แอดมินเพจ E-Warriors เล่าเหตุผลให้เราฟังว่า “รายการเราอยากลบภาพเก่าๆ ของเกมออก ถ้าเอานักกีฬาจริงๆ มาแข่ง กลัวว่าจะเป็นภาพที่ไม่ค่อยดี กลัวจะดูเป็นคนหมกมุ่นกับเกมมาแข่งกัน เลยอยากให้เป็นนักศึกษาก่อนดีกว่า จะได้ดูเป็นคนที่เล่นเกมเก่งแต่ก็ไม่ทิ้งการเรียน และถ้าเป็นนักกีฬาสายล่ารางวัลเลยก็กลัวว่าจะดูไกลตัวคนนอกวงการ eSports เกินไป ถ้าเป็นนักศึกษาจะโยงกลับมาหาคนดูได้ง่ายกว่า นอกจากนี้ ทางรายการก็พยายามคุยหยอกล้อนักกีฬาด้วย จะได้ไม่สร้างภาพลักษณ์ที่เป็นเด็กติดเกมมานั่งเล่นเกม พอเราสร้างภาพลักษณ์ขึ้นมา การแข่งถัดไปค่อยจัดเป็นระดับโปร เหมือนเป็นการเล่าเรื่องว่าถ้าเยาวชนที่สนใจ อยากเอาดีด้านการแข่ง eSports ต่อ มีความสามารถ เขาก็พัฒนามาเป็นแบบนี้ได้”
อีกหนึ่งตัวละครสำคัญของรายการคือนักพากย์ ข้อมูลที่นักพากย์อธิบายเป็นมิตรต่อคนดูมาก พวกเขาช่วยสลายช่องว่างระหว่างคนในคอมมูนิตี้ eSports กับคนนอกให้ดูแล้วสนุกได้เหมือนกัน ซึ่งนี่เป็นบรีฟจากทางทีมจัดรายการของแบงค์เอง
“นักพากย์จะไม่พากย์ฮาร์ดคอร์หรือใส่แต่ศัพท์เทคนิค แต่พูดให้คนทั่วไปเข้าใจด้วย อาจจะโดนบ่นจากพวกฮาร์ดคอร์เกมเมอร์ว่าทำไมต้องอธิบายอะไรมากมาย ไม่อย่างนั้นเราก็จะไม่ต่างจากรายการในโลกออนไลน์ที่พากย์โดยไม่ได้อธิบายรายละเอียด”
“มีผู้ชมหลายคนชมว่าพากย์ดี สนุก บางคนไม่รู้จักเกมนี้มาก่อน แต่พอได้มาดูก็บอกว่าสนุกดี ถือว่ารายการประสบความสำเร็จเพราะเราอยากให้คนนอกวงการรู้จัก eSports ด้วย”
คนรุ่นใหม่อาจจะเล่นโซเชียลมีเดียเป็นหลัก แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะไม่ดูทีวี ในกลุ่มคนไทยที่เล่นอินเทอร์เน็ตยังมีสัดส่วนการดูโทรทัศน์สูงถึง 93 เปอร์เซ็นต์ โทรทัศน์เริ่มกลับมาด้วยรายการที่เฉพาะกลุ่มขึ้นและละครสนุกๆ อีกเพียบ
การให้เด็กนักศึกษามาแข่งกันก่อนยังเป็นการเริ่มต้นที่ดี เพราะเมื่อเด็กเหล่านี้ออกโทรทัศน์ ได้เห็นตัวจริง ได้ยินเสียงจริง ก็ดึงดูดพ่อแม่ญาติพี่น้องให้มาดูการแข่งได้
วินเนอร์-ภูวิช จันทร์เจริญ นักกีฬาจากทีม Xavier.KU-Sotus ที่ได้แชมป์การแข่ง E-Warriors เล่าประสบการณ์ระหว่างรายการฉายว่า “พอออกทีวีปุ๊บ ครอบครัวนักกีฬาแต่ละคนก็สนับสนุนมากขึ้น รวมถึงเพื่อนๆ คนรอบข้าง แต่ก่อนไม่ว่าใครก็มองการเล่นเกมเป็นภาพลบหมด ไม่ว่าเราจะเล่นเกมอะไร เขาก็บอกว่าไม่ดี อย่าเล่นเยอะนะ แต่สิ่งที่เราต้องทำคือให้เขาเห็นว่าเราทำตรงนี้ได้ดีจริงๆ การออกทีวีก็เป็นเหมือนการแสดงให้เขาเห็นด้วยทางนึง”
“พ่อแม่ผมไม่ค่อยดูโซเชียลมีเดีย ไม่ค่อยได้ติดตามเยอะ แต่ถ้าออกทีวี ทีวีเข้าถึงผู้ปกครองได้ง่ายกว่า แล้วพอจบรายการในโทรทัศน์ก็ให้พี่ผมเปิดในเฟซบุ๊กให้ดูต่อ ถึงดูไม่รู้เรื่องก็ดูๆ ไป ตอนนี้ก็พอรู้แล้วว่าต้องตีฐานทัพของอีกฝ่ายให้แตก”
นอกจากนี้ ในไทยเรายังมีสังกัดทีม eSports อยู่มากมายคล้ายๆ กับทีมฟุตบอล ต่างกันตรงที่นักแข่ง eSports ไม่สามารถยึดการแข่งเกมเป็นอาชีพหลักได้ เพราะเงินเดือนและจำนวนสปอนเซอร์ที่สนับสนุนยังน้อย การแข่ง eSports จึงเป็นเพียงอาชีพพาร์ตไทม์ แล้วทีมเหล่านี้จะได้รับอะไรจากการฉายการแข่ง eSports ทางโทรทัศน์
เวลาดูการแข่งกีฬา เรามักจะเห็นโลโก้สปอนเซอร์บนเสื้อนักกีฬา พอนักกีฬาได้ใส่เสื้อทีมที่มีโลโก้สปอนเซอร์อยู่ออกโทรทัศน์ ก็เหมือนได้โฆษณาแบรนด์นั้นๆ ไปในตัว ด้วยหลักการเดียวกัน ถ้านักกีฬา eSports ได้ออกโทรทัศน์บ่อยขึ้น ก็สามารถนำโลโก้แบรนด์ต่างๆ ออกสู่สายตาคนดูได้มากขึ้น เพิ่มโอกาสที่จะมีสปอนเซอร์ลงทุนสนับสนุนวงการ eSports สูงขึ้น แต่ละสังกัดทีมก็จะมีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ดีขึ้นให้นักกีฬาใช้ซ้อม (คีย์บอร์ดสำหรับเล่นเกมอันละหลายพันบาทก็มีนะ) และมีเงินสนับสนุนให้นักแข่งในทีมเปลี่ยนจากนักกีฬา eSports พาร์ตไทม์เป็นฟูลไทม์ได้ในที่สุด ถือเป็นการอัพเกรดวงการ eSports ให้นักกีฬาได้ทุ่มสุดตัวกับการแข่ง
การมีรายการแข่ง eSports ทางโทรทัศน์และออนไลน์มากขึ้นจะส่งผลเสียอย่างไร?
เวลาดูการถ่ายทอดสดทางออนไลน์ เราจะได้เห็นคอมเมนต์แบบทันใจ ทั้งทางสร้างสรรค์และเสียหาย การเพิ่มช่องทางเผยแพร่การแข่งย่อมเพิ่มโอกาสที่คอมเมนต์เชิงลบจะแพร่กระจายไป
นักพากย์หรือแอดมินเพจจะช่วยกันคัดกรองคอมเมนต์ที่เป็นพิษต่อสังคมออกไปอยู่แล้ว ยิ่งมีคนรู้จัก eSports และรักวงการนี้มากเท่าไหร่ เรายิ่งช่วยกันลดการปะทะฝีปากผ่านคีย์บอร์ดได้มากขึ้น
การได้ออกอากาศทางโทรทัศน์คือหลักฐานการยอมรับมากขึ้นจากสังคม และเป็นการแพร่กระจายเรื่องราวของ eSports สู่คนนอกคอมมูนิตี้ วงการ eSports เองก็มีภาพลักษณ์และอนาคตที่สดใสขึ้น นักกีฬาก็มีโอกาสเฉิดฉายมากขึ้น
นอกจากรายการ E-Warriors แล้ว รายการแข่ง eSports ในปัจจุบันยังมีรายการ King of Gamers ทางช่อง PPTV และที่กำลังจะฉายอีกรายการหนึ่งคือ Thai eSports Pro League (TEPL) ทางช่องไทยรัฐ TV 32 เรายังรอดูการเติบโตของวงการ eSports อยู่ และหวังว่าสักวัน เราจะได้เห็นนักกีฬาบ้านเราไปแข่งในเวทีที่ใหญ่ขึ้น มีแฟนๆ นั่งรอชมการแข่งทางโทรทัศน์พร้อมหน้าพร้อมตา ส่งเสียงเชียร์และร่วมลุ้นไปกับนักกีฬาและนักพากย์
และการเติบโตนั้น เริ่มจากรายการทางโทรทัศน์เหล่านี้เอง
facebook | E-Warriors
อ้างอิง
https://www.brandbuffet.in.th/2017/01/media-outlook-and-trends-2017/
https://www.marketingoops.com/reports/research/thai-broadcast-tv/
https://www.khaosod.co.th/sports/news_611683
ภาพ E-Warriors
ภาพประกอบ ฟาน.ปีติ, พนิดา มีเดช