ปริศนาลับของสองมือ – ทำไมคนส่วนมากถึงถนัดมือขวา?

ปริศนาบางอย่างที่นักวิทยาศาสตร์ยังตอบไม่ได้นั้น บางครั้งก็อยู่ใกล้ตัวเรามากเสียจนลืมไปว่าเราอาศัยอยู่กับเรื่องลึกลับที่ดูธรรมดามาโดยตลอด

หนึ่งในนั้นคือปริศนาที่ว่า ‘ทำไมคนส่วนมากถึงถนัดมือขวา’

จริงๆ แล้วการเก็บข้อมูลมือข้างที่ถนัดมีความลำบากหลายอย่าง อย่างแรกคือการถนัดมือซ้ายหรือมือขวาไม่ได้มีนิยามชัดเจน อีกอย่างคือสังคมวัฒนธรรมก็เป็นปัจจัยส่งผลต่อความถนัดของมือได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น สมัยก่อนโรงเรียนบางแห่งจะบังคับให้เด็กนักเรียนเขียนหนังสือด้วยมือขวาเหมือนกันหมด

เท่าที่มีการเก็บข้อมูล มนุษย์ที่ถนัดมือขวามีสัดส่วนราวๆ 70 – 95 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่ถนัดมือซ้ายมีสัดส่วนราว 5 – 30 เปอร์เซ็นต์

ที่เหลืออยู่เล็กน้อยเป็นประเภทถนัดสลับข้าง (mixed-handedness) ยกตัวอย่างเช่น พอเขียนหนังสือจะถนัดมือข้างหนึ่ง แต่พอขว้างบอลจะถนัดมืออีกข้างหนึ่ง และสุดท้ายเป็นประเภทที่หายากมากคือ ถนัดทั้งสองมือเท่ากัน (ambidexterity)

นักวิทยาศาสตร์เองก็สงสัยมานานแล้วว่าอะไรทำให้แต่ละคนถนัดมือที่แตกต่างกันออกไป

ค.ศ. 1860 Paul Broca แพทย์ชาวฝรั่งเศสเสนอทฤษฎีว่าการถนัดขวาเกิดจากการที่สมองซีกซ้ายที่คอยควบคุมร่างกายซีกขวาทำงานได้ดี ส่งผลให้คนเหล่านั้นมีความถนัดทางภาษามากกว่าคนที่ถนัดซ้าย แต่ราวสิบปีต่อมา นักวิจัยพบว่าสมองซีกซ้ายส่วนภาษาของผู้ที่ถนัดซ้ายไม่ได้ต่างอะไรกับคนทั่วไปที่ถนัดขวา ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์พบว่าความถนัดมือซ้ายหรือมือขวาไม่ได้เชื่อมโยงกับความสามารถด้านอื่นอย่างชัดเจนขนาดนั้น

นักวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่งจึงพยายามมองหาคำตอบนี้ในสัตว์ ด้วยการตั้งคำถามว่า ‘สัตว์อื่นๆ ถนัดซ้ายถนัดขวาแบบมนุษย์เราหรือไม่’

อย่างไรก็ตาม การสังเกตพฤติกรรมสัตว์ว่าถนัดซ้ายหรือขวานั้นเป็นเรื่องยากมาก (เผลอๆ น่าจะยากกว่าการเก็บข้อมูลในมนุษย์) ส่วนหนึ่งเพราะนักวิทยาศาสตร์ไม่รู้ว่าควรสังเกตพฤติกรรมแบบไหน อย่างมนุษย์เราไม่ว่าจะถนัดมือข้างไหนก็ใช้มือเปิดประตูได้ทั้งสองข้าง แต่ความถนัดซ้ายขวาจะปรากฏชัดเจนในงานบางอย่าง เช่น การเขียนหนังสือ

ที่ผ่านมามีการทดลองด้วยแมว 42 ตัวโดยให้มันพยายามเขี่ยเอาปลาทูน่าของโปรดออกจากภาชนะที่เล็กเกินกว่าจะเอาหัวสอดเข้าไปกินได้ ผลปรากฏว่าแมวตัวเมียชอบใช้เท้าขวา ส่วนแมวตัวผู้ชอบใช้เท้าซ้าย แต่เวลามันต้องการตะปบของที่ห้อยต่องแต่งมันจะใช้เท้าทั้งสองข้าง

งานวิจัยหนึ่งพบว่าจิงโจ้แดง (red kangaroo) และจิงโจ้เทาตะวันออกมักใช้เท้าหน้าซ้าย เด็ดใบไม้หรือโน้มกิ่งไม้ และมีงานวิจัยพบว่ากอริลลาภูเขา ชิมแปนซี และลิงบางชนิดถนัดซ้ายขวาแตกต่างกันออกไปตามแต่ละตัว แต่นักวิจัยยังคงถกเถียงเพราะบางส่วนพบว่าสัตว์ประเภทชิมแปนซีและกอริลลานั้นใช้มือขวาและซ้ายพอๆ กัน โดยไม่แสดงความถนัดข้างใดข้างหนึ่งเป็นพิเศษ

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าในระดับประชากรสัตว์ชนิดหนึ่งๆ พวกมันถนัดซ้ายหรือขวามากกว่ากัน ในขณะที่มนุษย์เราถนัดขวามากกว่าถนัดซ้ายอย่างชัดเจน

ปัจจุบันเลยยังไม่มีใครฟันธงได้ชัดเจนว่าความถนัดซ้าย-ขวาของมนุษย์เราเกิดจากอะไร แต่เท่าที่รู้คือมีความเป็นไปได้และปัจจัยหลายอย่าง

ปัจจัยแรกคือ ยีน ซึ่งเป็นมรดกตกทอดทางพันธุกรรมคอยควบคุมการถนัดซ้าย-ขวาของเราโดยมีทฤษฎีหนึ่งเชื่อว่ายีนที่ควบคุมการถนัดซ้ายขวาคือยีน C และ ยีน D โดยยีน D นั้นกระจายตัวในประชาการมนุษย์มากกว่า นักวิจัยพบว่าใครที่มียีน D จะถนัดขวา ส่วนใครที่มียีน C นั้นจะมีโอกาสถนัดขวาและถนัดซ้ายแบบสุ่มอย่างละครึ่ง อย่างไรก็ตาม ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ปักใจว่าการถนัดซ้ายหรือขวานั้นเป็นผลจากยีนเพียงยีนเดียว

ปัจจัยที่สองไม่เกี่ยวกับยีน แต่เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่เกิดขึ้นในร่างกายของทารกในครรภ์ เพราะมีงานวิจัยศึกษาฝาแฝดจำนวนมากก็พบว่าพันธุกรรมนั้นน่าจะมีผลเพียง 24 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

บางทฤษฎีที่อ้างอิงจากปัจจัยที่สองเชื่อว่าความถนัดของมือเป็นผลมาจากสมองช่วงที่เรายังเป็นตัวอ่อนในครรภ์มารดา แต่ทฤษฎีล่าสุดในปี 2018 นี้เชื่อว่าเป็นผลมาจากไขสันหลัง โดยนักวิจัยจากประเทศเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และแอฟริกาใต้ ศึกษาการพัฒนาของกระดูกสันหลังของตัวอ่อนในครรภ์ที่มีอายุราว 8 – 12 สัปดาห์หลังจากเริ่มตั้งครรภ์ พบว่าไขสันหลังมีการส่งสัญญาณประสาทไปยังมือ แขน และขา ซึ่งส่งผลให้เกิดความไม่สมมาตรของความถนัดซ้าย-ขวา แต่นักวิจัยยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นเหตุให้สัญญาณที่ส่งไปนี้ไม่สมมาตร

ปริศนาในเรื่องธรรมดาเหล่านี้น่าจะย้ำเตือนให้มนุษย์เราตระหนักว่ายังมีเรื่องที่เราไม่รู้อีกมากมาย อย่าเพิ่งถึงขั้นไปอ่านอนาคตจากการมองเพียงหนังหุ้มฝ่ามือเลย

อ้างอิง iflscience.com, elifesciences.org, bbc.com, scienticicamerican.com, wikipedia.org, scienctificamerican.com, wikipedia.org, amazon.com, sci-news.com, newscientist.com, sciencedirect.com

ภาพประกอบ faan.peeti

AUTHOR