เมื่อเห็ดราดูน่ารัก! รู้จัก Microbial Art ศิลปะจากเห็ด รา และสารพัดแบคทีเรีย

เมื่อพูดถึง ‘เห็ดรา’ ภาพในหัวของคุณเป็นยังไง ?

ผมนึกถึงขนมปังที่เคยลืมทิ้งไว้ในตู้และเมื่อเปิดมาอีกทีมันก็ปกคลุมไปด้วยราสีเขียวอมฟ้าแซมด้วยสีดำน่าขนลุก ผมนึกถึงกองไม้ในบ้านที่ไม่ค่อยมีใครไปแตะต้องและพอหน้าฝนทีไร เห็ดสีขาวหน้าตาประหลาดก็งอกขึ้นมาทักทายชวนอี๋ทุกครั้งที่เห็น ผมนึกถึงชื่อน่ากลัวๆ ที่แบบเรียนวิชาสุขศึกษาตั้งให้เห็ดบางพันธุ์ที่มีฤทธิ์หลอนประสาท ไปจนถึงเห็ดตัวร้ายในมาริโอ้ที่วิ่งชนเมื่อไหร่ก็เกมโอเวอร์ทันที

หลายคนอาจมีมุมมองและภาพจำที่ไม่สวยงามนักต่อเห็ดรา ผมเองก็เช่นกัน แต่ทันใดที่ได้ดูภาพยนตร์สารคดี Fantastic Fungi ภาพนั้นก็เปลี่ยนไปทันที การเดินทางไปในโลกลี้ลับของเห็ดราผ่านภาพที่สวยชวนตะลึงเป็นเวลาชั่วโมงกว่าๆ ทำให้เห็นเรื่องราวของมันในอีกมุม และได้รู้ว่าจุลชีวิตเหล่านี้ไม่ใช่แค่ตัวประกอบ แต่ถือบทเด่นในระบบนิเวศในฐานะ ‘nature’s recycler’ หรือผู้หมุนเวียนสารอาหารของธรรมชาติ แถมยังมีคุณประโยชน์มากมายโดยเฉพาะในทางการรักษาเยียวยา ทั้งในด้านการบำบัดรักษาโรคมะเร็ง เยียวยาอาการซึมเศร้า และบาดแผลทางใจจากภาวะ PTSD ทว่าก่อนหน้านี้วงการแพทย์กลับไม่เคยชายตามอง 

เมื่อได้ลองมองมันใกล้ๆ จากที่เคยรู้จักแต่มุมน่าขนลุก รู้ตัวอีกทีผมก็เห็นมุมน่ารักของมันและเปลี่ยนเป็นเอ็นดูตัวละครลับแห่งโลกนิเวศวิทยาตัวนี้ไปซะแล้ว ใครยังไม่เคยดู ผมขอแนะนำเป็นอย่างยิ่งครับ

ขณะที่สารคดี Fantastic Fungi เป็นเหมือนสปอตไลต์ดวงใหญ่ ฉายแสงให้คนทั่วโลกหันมาสนใจเห็ดราและเปลี่ยนภาพจำที่คนมีต่อพวกมัน ยังมีนักสร้างสรรค์อีกหลายคนที่ยืนอยู่ระหว่างพรมแดนของวิทยาศาสตร์และศิลปะ ผู้ทำหน้าที่คล้ายสปอตไลต์ดวงเล็กๆ เปิดอีกหลายมุมมองของเห็ดราผ่านโปรเจกต์ศิลปะที่สนุก งดงาม น่าเอ็นดู ไปจนถึงเกาหัวว่าคิดได้ไง

จุดกึ่งกลางระหว่างศิลปะและเห็ดราอยู่ตรงไหน เราจะพาไปดูกัน

โลกอีกใบในจานเพาะเชื้อ

เวลาเราเห็นราในชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่มันจะดูน่ากลัวด้วยสีและรูปทรงชวนหยึย แต่สำหรับนักจุลชีววิทยา Tracy Debenport ผู้เฝ้ามองการเติบโตของราในห้องแล็บพยาธิวิทยาพืช มหาวิทยาลัยคอร์เนล ภาพที่เธอเห็นนั้นต่างออกไป

เห็ดรา

หากมองผ่านๆ ภาพถ่ายใบนี้คงดูคล้ายภาพทิวทัศน์ทุ่งหญ้ากับดอกไม้ที่ผ่านกระบวนการปรับสีให้ดูแปลกตา หรือดูคล้ายภาพกราฟิกที่สร้างขึ้นด้วยโปรแกรมสามมิติ แต่จริงๆ แล้วมันคือภาพถ่ายเห็ดราส่วนหนึ่งที่ผ่านตาเทรซี่ทุกวัน

เทรซี่เล่าว่ากิจวัตรประจำวันของเธอคือการส่องกล้องเข้าไปมองราในจานเพาะเชื้อเพื่อวิจัยและค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการใช้เห็ดราเพื่อเยียวยารักษา สิ่งที่เธอพบในนั้นไม่ใช่แค่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ แต่กลับเป็นมุมมองความงามที่น้อยคนจะได้เห็น ภาพราที่เห็นผ่านเลนส์ขยายนั้นราวกับเป็นโลกอีกใบ ราแต่ละชนิดมีรูปทรง สีสัน การเคลื่อนไหว และแพตเทิร์นการเติบโตที่แตกต่างกัน นอกจากนี้พวกมันยังเติบโตตลอดเวลา ทำให้แต่ละวินาทีมีจังหวะและองค์ประกอบที่ชวนเซอร์ไพรส์

โลกใบนั้นทำให้เทรซี่ตกหลุมรัก จนวันหนึ่งเธอตัดสินใจหยิบกล้องถ่ายรูปมาติดตั้งเข้ากับกล้องจุลทรรศน์และเริ่มถ่ายภาพสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละวันเอาไว้ 

พอดีกับที่แพสชั่นส่วนตัวของเทรซี่คือการเล่าเรื่องเห็ดราให้คนรู้สึกตื่นตา เปลี่ยนภาพจำของมันที่เคยถูกพูดถึงแต่ในด้านลบ และทำให้คนอยากรู้จักโลกของพวกมันมากขึ้น เธอจึงเริ่มโพสต์คอลเลกชั่นโลกใบจิ๋วในอินสตาแกรมชื่อ under.the.scope จนปัจจุบันมีผู้ติดตามมากกว่าสี่หมื่นคน และภาพถ่ายราในนั้นคว้ารางวัลภาพถ่ายจุลทรรศน์จาก Nikon Small World มาแล้วถึง 2 ครั้ง

เห็ดรา

หลังจากเริ่มมีคนทยอยเข้ามารู้จักโลกของเห็ดราของเทรซี่มากขึ้น นักวิจัยสาวก็ต่อยอดงานศิลปะให้กลายเป็นเว็บไซต์และคอมมิวนิตี้ชื่อ The Microbe Institute เพื่อเป็นพื้นที่เรียนรู้เรื่องของเห็ดราผ่าน ‘ศิลปะ’ หลากหลายแขนง ไม่ใช่แค่เฉพาะภาพถ่าย แต่ยังมีผลิตภัณฑ์มากมายที่ได้แรงบันดาลใจจากรา ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าและชุดเดรสพิมพ์ลายเซลล์ของยีสต์, เสื้อยืดสกรีนลายโครงสร้างโมเลกุลของรา หรือต่างหูที่มาจากรูปทรงของไวรัส! นอกจากนี้มันยังเป็นคอมมิวนิตี้ที่เป็นพื้นที่ให้คนรักการส่องกล้องจุลทรรศน์มาเจอกันด้วย

ที่สำคัญ เธอไม่ติดว่าใครจะนิยามสิ่งที่เธอทำว่ายังไง จะเรียกมันเป็นโครงการวิทยาศาสตร์หรือโปรเจกต์ศิลปะก็ได้ เพราะในมุมของเทรซี่วิทยาศาสตร์และศิลปะไม่เคยแยกขาดจากกัน แต่ตั้งอยู่บนสเปกตรัมที่ไร้เส้นแบ่ง และหลายต่อหลายครั้งการสร้างแรงบันดาลใจด้านวิทยาศาสตร์ให้ผู้คนก็ทำได้ผ่านการใช้ศิลปะ เช่นที่เธอทำ

ศิลปินที่ชวนรู้จักราในมุมฟรุ้งฟริ้ง

ในมหาวิทยาลัยศิลปะ British Higher School of Art and Design ที่กรุงมอสโก สตูดิโอทำงานของนักเรียนคนอื่นๆ อาจระเกะระกะไปด้วยอุปกรณ์ศิลปะ แต่สตูดิโอของ Dasha Plesen กลับเป็นเหมือนห้องทดลองของนักวิทยาศาสตร์เพราะมันประกอบไปด้วยโต๊ะหนึ่งตัว หลอดทดลอง ชั้นวางจานเพาะเชื้อ กล้องจุลทรรศน์ และหากแวะเข้าไปดูอินสตาแกรม dashaplesen ของเธอ แทนที่จะได้เห็นภาพที่เที่ยว อาหาร หรือชีวิตประจำวันเหมือนอย่างวัยรุ่นวัยเดียวกัน ในนั้นกลับมีแต่รา รา และรา!

เห็ดรา

ดาชาเรียกตัวเองว่าเป็น Bio Artist งานศิลปะของเธอใช้ ‘จานเพาะเชื้อ’ เป็นเหมือนเฟรมผ้าใบ และแต่งแต้มสีสันลงไปด้วย ‘เชื้อรา’ ชนิดต่างๆ ในกระบวนการทำงาน เธอต้องเฝ้าสังเกตว่าเชื้อราเติบโตแบบไหน เพราะเชื้อราแต่ละตัวให้สีและรูปร่างที่แตกต่าง นอกจากนี้ยังต้องหมั่นทดลองว่าการเติบโตของราจะเปลี่ยนไปยังไงภายใต้เงื่อนไขและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันเพื่อควบคุมให้ ‘งานศิลปะ’ ชิ้นนี้เป็นอย่างใจคิด 

กระบวนการของดาชาคงคล้ายๆ ศิลปินภาพเขียนที่ต้องผสมสีที่ใช่ ค้นหาฝีแปรงที่ชอบ ทดลองเทคนิคการเพนต์ที่เป็นตัวเอง ต่างกันตรงที่ว่า เชื้อรามีชีวิตของมันเองที่หลายครั้งก็อยู่เหนือการควบคุม ตรงนี้แหละที่ทำให้ ‘ไดอารีรา’ ในอินสตาแกรมของดาชาน่าสนใจ เพราะวันนี้งานของเธอเป็นสีหนึ่ง พอกลับมาดูอีกวันสีก็เปลี่ยนไปแล้ว วันนี้รูปร่างแบบหนึ่ง อีกวันมีรูปร่างใหม่เพิ่มขึ้นมา บางครั้งดาชาจะใช้การร่างเส้นทับลงไป เพื่อบันทึกรูปร่างของราในแต่ละวันเอาไว้เปรียบเทียบ

เห็ดรา

ถ้าใครย้อนดูภาพราของดาชากลับไปสักระยะหนึ่งจะเห็นสไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลา จากแรกๆ ที่สีสันยังเป็นโทนตุ่นๆ มาจนถึงช่วงที่เล่นสีสดใสอย่างสนุกสนาน มีการทดลองใส่เนื้อวัสดุอื่นๆ อย่างกากเพชร เกล็ดสายรุ้ง ผสมกับการเพนต์สีจริง หรือเพาะราซ้อนลงบนภาพถ่าย คงเหมือนศิลปินทุกแขนงที่เมื่อเวลาผ่านไปลายเส้นก็เจดจัด สไตล์ก็ชัดขึ้น

สิ่งที่ผมสงสัยมีอย่างเดียวคือเมื่องานเสร็จ นอกจากชื่อดาชา เราต้องใส่ชื่อราในฐานะศิลปินผู้ร่วมสร้างงานด้วยหรือเปล่า

บทเพลงจากชีวิตเล็กๆ ในตัวเรา

จากงานศิลปะที่ทำให้เราต้องมองราในมุมใหม่ คราวนี้เรามาลองฟังเสียงของมันดูบ้าง

ตอนเช้าที่เรายืนส่องกระจก เราคงคิดว่าภาพสะท้อนที่เห็นตรงหน้ามีเพียงแค่ตัวเราใช่ไหมครับ แต่ถ้าคิดตามไอเดียของ Ani Liu ศิลปินและนักวิจัยจาก MIT Media Lab อาจไม่ใช่แบบนั้น เพราะหลิวบอกว่าบนเนื้อตัวของเราเต็มไปด้วยแบคทีเรียและจุลชีวิตนับล้านล้าน

ความสนใจของเอนี หลิว อยู่ตรงจุดที่ทาบกันของเทคโนโลยี ชีววิทยา การเมือง และตัวตนของมนุษย์ นำพาให้หลิวสนใจจุลชีวิตในร่างกาย ในฐานะสิ่งที่อยู่กับเราทุกวันแต่เรากลับไม่เคยรับรู้การมีอยู่ของมัน เธอตั้งคำถามว่า หากแบคทีเรียในร่างกายของเราสามารถส่ง ‘เสียง’ ให้เราได้ยินได้ จะเป็นยังไง? และคิดต่อว่า หากจะมีภาษาอะไรสักอย่างที่จุลชีวิตเหล่านี้ใช้สื่อสารกับเรา มันควรเป็นภาษาอะไร?

‘ดนตรี’ คือภาษาสากลที่หลิวคิดว่าเหมาะสมที่สุด ชิ้นส่วนไอเดียต่างๆ เหล่านี้ประกอบกันขึ้นมาเป็น ‘Biota Beats’ โปรเจกต์แปลงแบคทีเรียในร่างกายให้กลายเป็นเสียงดนตรี ที่หลิวสร้างสรรค์ร่วมกับกลุ่มคนที่รวมตัวกันทำโปรเจกต์ต่างๆ อย่าง EMW Street Bio iGem 

เห็ดรา

Microbial Record Player คือเครื่องเล่นเพลงหน้าตาเหมือนเทิร์นเทเบิลหรือเครื่องเล่นแผ่นไวนิล แต่สื่อที่ใช้เล่นเป็นสิ่งที่เรียกว่า Biota Record หรือแผ่นเพลงที่สร้างจากแบคทีเรียในตัวเรา วิธีการบันทึกเสียงอัลบั้มนี้ไม่ต้องไปไกลถึงห้องอัด แค่ ‘swab’ หรือใช้ไม้เก็บตัวอย่างแบคทีเรียจากส่วนต่างๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะช่องปาก เท้า สะดือ หรือรักแร้ แล้วป้ายลงบนแผ่นเสียง จากนั้นรอให้พวกมันเติบโตและสร้างชุมชนก่อนนำไปวางบนเครื่องเล่น จากนั้นก็รอโยกไปกับจังหวะของชีวิตเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่ในตัวเรา

กระบวนการเบื้องหลังบทเพลงคือเทคโนโลยีที่แปลงเชื้อราบนแผ่นเสียงให้กลายเป็นภาพ เธอแบ่งภาพที่เกิดขึ้นเป็นแพตเทิร์นต่างๆ แต่ละแพตเทิร์นจะเชื่อมกับชุดเสียงที่ออกแบบโดยนักดนตรี เมื่อกดเล่น แบคทีเรียจากแต่ละอวัยวะของเราที่อยู่ในส่วนต่างๆ ของแผ่นก็จะมอบจังหวะและทำนองที่แตกต่างกัน และแน่นอน เพลงของเราก็จะเปลี่ยนไปในแต่ละวัน ตามการเติบโตของจุลชีวิตเหล่านั้น

เห็ดรา

“หมู่มวลจุลินทรีย์และชีวิตเล็กๆ ที่อยู่รอบตัวเรา บนร่างกายเรา และข้างในตัวเรามีผลต่อพฤติกรรมของเราขนาดไหน?”

“เรามักเชื่อมโยงอารมณ์และนิสัยของเรากับความเป็น ‘ตัวเรา’ แต่ที่จริงมันเกิดจากการร่วมสร้างกับชีวิตอื่นๆ อีกมากมาย”

สองประโยคด้านบนนี้ ผมแปลแบบสรุปความจากงานศิลปะของ Ani Liu และจดลงสมุดด้วยความชอบเป็นพิเศษ อาจเพราะมันเป็นคำถามที่ผมไม่เคยถามและเป็นมุมมองที่ผมไม่เคยมอง หลายครั้งเราอาจคิดว่า ‘ตัวเรา’ ขับเคลื่อนจากแค่ ‘เรา’ แต่ไม่เคยคิดในมุมกลับกันที่ว่า หรือที่จริง สิ่งที่มีอิทธิพลต่อ ‘เรา’ มากที่สุดอาจเป็นสิ่งเล็กๆ ที่เราไม่เคยมองเห็น คงเหมือนกับที่สารคดี Fantastic Fungi พูดถึง Mycelium หรือ ‘ขยุ้มรา’ ที่แตกแขนงสร้างเครือข่ายอยู่ใต้ดินทุกตารางนิ้วที่เรายืนเพื่อสร้างสมดุลในธรรมชาติ แต่เรากลับไม่เคยรู้ว่ามันมีอยู่และไม่รู้ประโยชน์ของมัน

จุดราเล็กๆ ที่พาให้ Tracy Debenport ค้นพบอาณาจักรกว้างใหญ่หลังเลนส์กล้องจุลทรรศน์ สู่ศิลปะจากราที่เติบโตและเปลี่ยนแปลงสีสันตลอดเวลา จนถึงบทเพลงจากแบคทีเรียในตัวเรา ในโปรเจกต์ทั้งสาม ศิลปะยังคงทำหน้าที่อย่างที่เป็นมาเสมอ คือการติดเลนส์ขยาย ฉายไฟ เพิ่มเสียง เพื่อให้เราหันไปมองสิ่งเล็กๆ ที่ไม่เคยเหลียวมองหรือไม่คิดจะมอง เพื่อพบว่าทุกชีวิตไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ต่างมีความอัศจรรย์ในตัวมันเอง

อ้างอิง

ani-liu.com

biotabeats.com

dashaplesen.com

tracylovesfungi.com

AUTHOR