มนุษย์ต่อสู้กับอาการเมารถเมาเรือมาเป็นพันๆ ปี แต่ทำไมถึงไม่ชนะสักที

Highlights

  • อาการเมารถหรือภาวะป่วยจากการเคลื่อนไหวนั้น หลักๆ มีความเชื่อมโยงระหว่างการเคลื่อนไหวของร่างกายและระบบต่างๆ ในสมอง
  • ในช่วงแรกนักวิทยาศาสตร์คาดว่าอาการป่วยจากการเคลื่อนไหวเกิดจากระบบการทรงตัวถูกกระตุ้นมากเกินไป แต่ทฤษฎีนี้ก็ยังตอบบางปริศนาได้ไม่หมด
  • ทฤษฎีของ Michel Treisman จากมหาวิทยาลัย Oxford อธิบายความต่างของเพศในการต้านทานอาการเมารถว่าอาจมาจากสาเหตุของ 'มวลร่างกาย' (body mass)

ผมยังจำความรู้สึกขณะนั่งแถวหลังของรถแวนเก่าๆ ได้ รถที่อัดแน่นไปด้วยสัมภาระนักท่องเที่ยวกำลังวิ่งบนเส้นทางผ่านหุบเขาสลับซับซ้อนของแคว้นแคชเมียร์ ประเทศอินเดีย เพื่อมุ่งตรงไปยังภูเขา ‘กุลมาร์ค’ ในช่วงฤดูหนาวปีที่แล้ว เส้นทางนี้เป็นดินกรวดปนโคลนและชิดขอบเหวน่าหวาดเสียวพอสมควร แต่คงไม่มีอะไรแย่ไปกว่าการนั่งข้างหลังในพื้นที่แคบๆ จนต้องชันเข่าขึ้นมาแนบชิดลำตัว

ช่วง 10 นาทีแรกเต็มไปด้วยความตื่นเต้นของกลิ่นอายการผจญภัย สมองเบิกบานเห็นนู่นเห็นนี่ก็เป็นแรงบันดาลใจไปทั้งหมด จากนั้นไม่นานเมื่อรถบุโรทั่งของคนท้องถิ่นบดถนนและขยี้ก้อนดินก้อนโคลนไปเรื่อยๆ สมองของผมเริ่มงงงวย ดวงตาพร่าเบลอราวกับลูกตาทั้งสองข้างเคลื่อนหนีไปอยู่ที่หลังหัว ลำไส้ปั่นป่วนเหมือนงูเลื้อย เหงื่อแตกเต็มใบหน้าแม้อากาศจะหนาวเหน็บ ทุกครั้งที่มองไปข้างนอกก็อยากจะกระโดดหนีออกไปจากรถเสีย แม้รู้ว่ามันจะทำให้คุณตกเขาตายก็ตาม

อาการเมารถ หรือภาวะป่วยจากการเคลื่อนไหว (Motion Sickness) เปลี่ยนทริปในฝันของคุณให้เป็นนรกบนดิน นี่คือการต่อสู้แสนปริศนาของมนุษย์ที่เราพยายามจับต้นชนปลายและพยายามแก้ไขมานานนับร้อยศตวรรษ แต่ก็เหมือนเราไขไม่ตรงจุดเสียที 

โชคดีที่ทริปสู่กุลมาร์คไม่ได้ทำให้ผมอ้วกแตกในรถ ซึ่งอาจจะทำให้ได้รับคำแซ่ซ้องจากผู้ร่วมทริปจนถึงวันตาย ผมเชื่อว่ายังไงคุณก็ต้องเคยมีอาการเมารถ เมาเรือ เมาเครื่องบินหนักๆ สักครั้งในชีวิต หรืออาจจะเมา VR เวลาเล่นเกม ภาวะนี้เป็นอุปสรรคที่นักเดินทางแทบทุกคนเคยเผชิญ อาการจะมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับบุคคล บางคนพอวิงเวียนเป็นพิธี แต่บางคนอาจคายของเก่าในท้อง ชักเกร็ง หรือหมดสติไปเลยก็มี

น่าสนใจที่มนุษย์พยายามแก้ปัญหานี้กันทุกแวดวง วิศวกรด้านรถยนต์ก็พยายามออกแบบช่วงล่างให้มีความนุ่มนวลเพื่อลดอาการเมารถให้มากที่สุด อุตสาหกรรมเกมกำลังพัฒนาระบบ VR ใหม่ที่ทำให้คนส่วนใหญ่สวมใส่ได้โดยไม่ทำให้วิงเวียน และอุตสาหกรรมต่อเรือที่ออกแบบไจโรสโคปห้องโดยสารไม่ให้โคลงเคลงรุนแรงไปตามคลื่นลม

ภาวะป่วยจากการเคลื่อนไหวนั้นหลักๆ มีความเชื่อมโยงระหว่างการเคลื่อนไหวของร่างกายและระบบต่างๆ ในหัวของคุณ เมื่อเข้าสู่ยุคที่ประสาทวิทยากำลังเจริญงอกงามทำให้เราเห็นภาพกิจกรรมทางสมอง (brain imaging) ได้เหมือนจริง และความก้าวหน้าด้านพันธุศาสตร์ที่เรากลับพบว่าอาการเมารถเมาเรือมีความซับซ้อนมากกว่าที่คิด ละเอียดลึกไปถึงระดับยีน ความต่างของเพศ ล้วนมีความเชื่อมโยงที่ทำให้เราอ่อนไหวง่ายหรือต้านทานอาการเมารถเมาเรือได้มากกว่าคนอื่นๆ

คำว่าคลื่นไส้ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า nausea มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกที่แปลว่า ‘เรือ’ แต่จริงๆ อาการคลื่นไส้มีมานานกว่าที่มนุษย์จะค้นพบนวัตกรรมเดินเรือเสียอีก แต่ต้องยอมรับว่าอาการนี้เด่นชัดจนถูกเรียกตามเรือ เพราะการเดินเรือนั้นเปลี่ยนประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติอย่างถาวร ทำให้เราค้นพบทวีปและดินแดนใหม่ๆ ไม่จำเป็นต้องเท้าติดดินเสมอไป สายน้ำและมหาสมุทรเป็นเส้นทางขนาดมหึมา ทำให้มนุษย์นักผจญภัยหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเมาเรือเป็นของแถม และยุทธการทางสงครามต่างๆ ที่รบพุ่งกันด้วยเรือก็มักระบุคำว่าเมาเรือแทบทั้งสิ้น

คำถามคือมีมนุษย์เท่านั้นหรือที่เมารถเมาเรือ? นักวิทยาศาสตร์พบว่า แมว สุนัข นก หรือแม้กระทั่งปลา ก็ล้วนมึนงงได้ทั้งหมด (แต่อาจไม่แสดงอาการเหมือนมนุษย์) สัตว์ที่ไม่มีอาการเมาการเคลื่อนไหวคงมีเพียงสัตว์ที่ไม่มีระบบการทรงตัว (vestibular system) ในร่างกายเท่านั้น ระบบละเอียดอ่อนนี้อยู่ในหูชั้นใน มีไว้สำหรับระบุตำแหน่งและองศาการเคลื่อนไหวของร่างกาย

มีท่อครึ่งวงกลม 3 วง (semicircular canals) โค้งอยู่ในหูชั้นใน ซึ่งภายในมีของเหลวบรรจุอยู่ ท่อทั้งหมดอยู่ในองศาที่พอดิบพอดีกัน น้ำที่ขลุกขลิกไปมาส่งสัญญาณ 2 ชนิดไปยังสมองที่ควบคุมการเคลื่อนไหว คือ สมองส่วนซีรีเบลลัม (cerebellum) และอีกที่คือก้านสมอง (brainstem) อันเป็นไฮเวย์เชื่อมสมองไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย เจ้าระบบการทรงตัวนี้ยังเชื่อมโยงไปยังดวงตาด้วย เมื่อคุณหมุนเร็วเท่าไหร่ ภาพรอบตัวก็จะยิ่งเบลอมากเท่านั้น

ความขัดแย้งในการรับรู้

ในช่วงแรกนักวิทยาศาสตร์คาดว่าอาการป่วยจากการเคลื่อนไหวเกิดจากระบบการทรงตัวถูกกระตุ้นมากเกินไป แต่ถ้าเป็นตามนั้นจริง ทำไมนักเดินเรือทั้งหลายถึงเวียนหัวจากกิจกรรมอื่นๆ ได้อีกโดยไม่จำเป็นต้องอยู่กลางทะเล ทำไมผู้โดยสารรถแถวหลังถึงเวียนหัวมากกว่าคนขับรถ ทำไมเวลาเราดูคนอื่นเล่นเกมแล้วปวดหัวมากกว่าตอนที่เราเล่นด้วยตัวเอง

อาการเมาการเคลื่อนไหวจึงอาจเกิดจากความขัดแย้งในการรับรู้ผัสสะต่างๆ ที่สับสนของสมองที่เตรียมตัวไม่ทัน เช่น เวลาคุณอ่านหนังสือบนรถแล้วเริ่มเวียนหัว เพราะดวงตาพยายามเพ่งหนังสือและดวงตาส่งข้อมูลไปยังสมองว่าหนังสือนั้นนิ่งอยู่กับที่ ขณะเดียวกันที่รถส่ายไปมาโยกซ้ายโยกขวา ระบบการทรงตัวกลับบอกสมองของคุณว่ากำลังเคลื่อนที่อยู่ ตาบอกสมองอย่างหนึ่งระบบทรงตัวบอกสมองอีกอย่างหนึ่ง ข้อมูลที่ทับซ้อนกันทำให้สมองสูญเสียการควบคุมสมดุลร่างกายและทำให้คุณรู้สึกป่วย

แม้คำอธิบายค่อนข้างเข้าท่า แต่ทฤษฎี sensory conflict นี้ก็ยังตอบบางปริศนาได้ไม่หมด เช่น หากนักเดินเรือผู้มากประสบการณ์และนักเดินทางที่ไม่ค่อยประสีประสามาอยู่ในเรือลำเดียวกัน ฝ่าฟันพายุคลื่นลมไปด้วยกัน เจอ sensory conflict พร้อมๆ กัน แต่ทำไมนักเดินทางมือใหม่ถึงเมาเรือง่ายกว่าคนที่เดินทางเป็นประจำ เหตุนี้จึงมาสู่คำอธิบายถัดไปว่า สมองของเรานั้นมีความสามารถในการคาดคะเนรูปแบบการเคลื่อนไหวได้ไม่เท่ากัน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์และการเรียนรู้ที่สั่งสมมานั่นเอง

ทฤษฎีนี้นำเสนอโดย Charles Oman จากสถาบัน MIT ในปี 1990 เขายกตัวอย่างง่ายๆ ว่า ขณะที่คุณขับรถอยู่ สมองจะตีความถนนที่อยู่ตรงหน้า เมื่อตาเห็นโค้ง สมองจะบอกให้เตรียมหักพวงมาลัยเพื่อเข้าโค้ง แรงเหวี่ยงของรถเป็นสิ่งที่สมองพอคาดเดาได้ ตรงกันข้ามกับคนที่นั่งหลังรถ สมองของเขาอาจจดจ่อกับสิ่งอื่น เมื่อรถเลี้ยวทันทีสมองก็ไม่ทันตั้งตัว ในขณะที่ร่างกายพยายามรักษาสมดุล เหตุการณ์เช่นนี้สร้างความขัดแย้งระหว่างสมองกับผัสสะซ้ำแล้วซ้ำเล่า สะสมไปเรื่อยๆ ระหว่างการเดินทางหลายชั่วโมง อาการเมารถจะค่อยๆ ทำให้คุณเสียสมดุล หน้ามืดและอาเจียน

แต่ถ้าชีวิตของคุณคือการนั่งรถ สมองได้จดจำรูปแบบการเคลื่อนไหวและการส่ายอย่างฉับพลันอยู่เป็นประจำ คุณก็ไม่รู้สึกอะไรมาก แถมอาจอ่านหนังสือเป็นเล่มๆ จบได้อย่างสบาย

ทฤษฎีของชาร์ลส์ฟังดูน่าสนใจ แต่จนแล้วจนรอดเขาก็บอกไม่ได้ว่าตรงไหนของสมองที่ขัดแย้งกัน

กระทั่งนักประสาทวิทยา Kathleen Cullen จาก Johns Hopkins University ค้นพบว่าน่าจะมีเซลล์ประสาท (neurons) ที่ส่งอิทธิพลต่ออาการเมารถเมาเรือ โดยทีมวิจัยได้ทดลองกับลิง สอนให้มันเดินในเส้นทางที่กำหนด จากนั้นติดอุปกรณ์ทดลองไว้บนหัวลิงที่ค่อนข้างมีน้ำหนัก อุปกรณ์นี้จะส่ายไปมาจนลิงต้องพยายามทรงตัวขณะเดิน เพื่อให้เกิดความขัดแย้งกันระหว่างทิศทางเคลื่อนไหวกับสิ่งที่ลิงคิดจะไปข้างหน้า

สรุปง่ายๆ คือ นี่เป็นกลวิธีทำให้ลิงเดินมึนงงเหมือนคนเมา (ผู้อ่านคงถามว่าทำไมไม่จับลิงเหวี่ยงไปรอบๆ ล่ะ? อันนั้นก็ทรมานเกินไปไหม) ทีมวิจัยพบว่าเซลล์ประสาทกลุ่มหนึ่งบริเวณซีรีเบลลัมและก้านสมองของลิงมีกิจกรรมขึ้นๆ ลงๆ เดี๋ยวพุ่งสูง เดี๋ยวหยุด น่าจะเป็นจุดที่ส่งผลให้เมารถเมาเรือในมนุษย์ได้เช่นกัน

แล้วทำไมบางคนถึงต้านทานอาการเมารถได้มากกว่า

มีรายงานว่าผู้หญิงที่ตั้งครรภ์นั้นเมาการเคลื่อนไหวง่าย หรือเพศหญิงมักเมารถง่ายกว่าเพศชาย มีหลายทฤษฎีพยายามตอบคำถามนี้ แต่ที่ผู้เขียนคิดว่าน่าสนใจคือทฤษฎีของ Michel Treisman จากมหาวิทยาลัย Oxford ที่อธิบายความต่างของเพศในการต้านทานอาการเมารถว่าอาจมาจากสาเหตุของ ‘มวลร่างกาย’ (body mass) ที่ผู้หญิงจะรับน้ำหนักช่วงล่างไว้ที่สะโพกโดยมีฐานคือส่วนเท้าที่เล็กกว่า ทำให้มีจุดศูนย์ถ่วงต่ำแต่ฐานแคบ ทรงตัวยากกว่าผู้ชาย

นอกจากนั้นความต่างอาจอยู่ในระดับยีน โดยบริษัท 23andMe ที่มีความเชี่ยวชาญการศึกษาด้านพันธุศาสตร์ในเชิงพาณิชย์ เก็บตัวอย่าง DNA ของคนกว่า 80,000 ตัวอย่าง พบว่ามียีนราว 35 ชนิดที่มีอิทธิพลต่อการเติบโตของดวงตา หู ช่องภายในหู และระดับการควบคุมน้ำตาลในเลือดที่มีสาเหตุให้คุณอาจเมารถง่ายกว่าเพื่อนของคุณ

ถ้าเมารถเกิดจากความขัดแย้งของผัสสะและสมอง เราสามารถมียารักษาให้ตรงจุดได้หรือไม่?

มีสารเคมีที่แพทย์ใช้อยู่แพร่หลายคือ scopolamine เป็นยาที่ใช้ในการรักษาอาการเมารถและอาการคลื่นไส้อาเจียนหลังผ่าตัด บางครั้งใช้ก่อนการผ่าตัดเพื่อลดน้ำลาย ตัวสารเคมีนี้จะไปบล็อกสารสื่อประสาทระหว่างระบบการทรงตัวกับสมองส่วนกลาง แต่ปัญหาที่ตามมาคือสารเคมีนี้มีผลข้างเคียงทำให้ง่วงซึม ตาแห้ง ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว และปัสสาวะขัด ทำให้ไม่ควรนำมาใช้พร่ำเพรื่อและจัดเป็นยาอันตราย

แต่ถ้าคุณไม่ต้องการพึ่งพาสารเคมีใดๆ นักวิจัยแนะนำว่าการมองไปยังจุดที่เห็นเป็นเส้นระนาบ เช่น สุดทะเล สุดขอบป่า หรือเนินภูเขา ก็ช่วยให้สมองรับรู้ทิศทางได้ง่ายขึ้นและลดภาวะความขัดแย้งให้กับสมองได้

อาการเมารถที่ดูพื้นฐาน เผยให้เห็นความซับซ้อนของกลไกสมองมากกว่าที่เราคิด แม้สมองจะเต็มไปด้วยความมหัศจรรย์มากมาย แต่ก็ยังมีข้อจำกัดน่าหงุดหงิดใจที่ติดตัวมนุษย์มาเป็นล้านๆ ปี 

หากคุณเป็นนักเดินทางแต่ดันเมารถง่ายก็น่าหัวเสียไม่น้อยที่อ่านหนังสือฆ่าเวลาสักเล่มไม่ได้เลย หรือไม่รื่นรมย์กับการเดินทางเป็นเวลานานๆ ตัวผมเองก็จัดว่าเป็นคนเมารถง่ายและต้องเดินทางบ่อย ก็ยังไม่มีวี่แววว่าสมองจะรับมือภาวะนี้ได้สักที

ยิ่งต่อไปมนุษย์จะเดินทางด้วยความเร็วสูง ก็ยิ่งน่าสงสัยว่าสมองของพวกเราจะรับมือได้ยังไง จากการเดินเรือในท้องทะเลสู่จรวดความเร็วเสียง สมองมนุษย์จะปรับทันไหมในโลกที่เปลี่ยนแปลง

อ้างอิง

Brainstem processing of vestibular sensory exafference : implications for motion sickness etiology
ncbi.nlm.nih.gov

Cerebellar Prediction of the Dynamic SensoryConsequences of Gravity
cell.com

AUTHOR

ILLUSTRATOR

banana blah blah

นักวาดภาพประกอบ ที่ชอบกินอาหารสุกๆดิบๆ เป็นชีวิตจิตใจ ส่วนชีวิตนั้นก็สุกๆดิบๆไม่ต่างกัน