มนุษย์เราอยู่ที่ไหนในเอกภพ?

ในมุมมองของบรรพบุรุษมนุษย์ เผ่าพันธุ์ของเรามีสภาพคล้ายทารกที่ถูกนำมาปล่อยทิ้งไว้บนโลกอันกว้างใหญ่ไพศาล
เต็มไปด้วยความลึกลับ โหดร้าย และสวยงามไปพร้อมๆ กัน

อย่างไรก็ตาม ‘พวกเรา’ ซึ่งเป็นมนุษย์ในปี 2017 นั้นคงรู้สึกอุ่นใจอยู่ลึกๆ ในตำแหน่งแห่งที่ของพวกเรามากกว่าเพื่อนสมัยก่อนอย่างมหาศาล
เนื่องจากความรู้หลายอย่างที่ทุกวันนี้เรารู้กันเป็นเรื่องปกติ เกิดจากการสะสมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านั้นอย่างยากเย็นโดยบรรพบุรุษของเรา
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรู้ที่ช่วยบอกว่ามนุษย์เราอยู่ที่ไหนกันแน่?

ลองจินตนาการว่าคุณเกิดมาบนโลกเมื่อ 5,000 ปีก่อนสิครับ

สมัยนั้นมนุษย์ในหลายวัฒนธรรมเชื่อว่าโลกเป็นแผ่นดินแบนๆ ที่หากเดินทางไปจนสุดแล้วอาจตกขอบได้
นอกจากนี้บนท้องฟ้ายังเต็มไปด้วยเทพเจ้าที่เปล่งประกายและโคจรไปมาในแต่ละวันคืน

บรรพบุรุษของเราสังเกตว่ากลุ่มดาวต่างๆ บนท้องฟ้าแม้จะเปลี่ยนตำแหน่งไปในแต่ละคืน
แต่พวกมันไม่เคยแตกกลุ่มเลย กล่าวคือ
กลุ่มดาวเหล่านั้นมีรูปร่างอย่างไรก็ยังคงมีรูปร่างอย่างนั้นตลอดช่วงชีวิตของคนคนหนึ่ง แต่ยังมีดาวอีกประเภทที่เคลื่อนที่ไปบนกลุ่มดาวเหล่านั้นอีกที หากรอเวลาผ่านไปราวสัปดาห์ เราจะสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงนั้นได้ไม่ยากเย็น
ชาวกรีกโรมันโบราณเรียกดาวเหล่านั้นว่าผู้พเนจร หรือ Planet ซึ่งในภาษาไทย เราเรียกดาวเหล่านั้นว่าดาวเคราะห์

ในสมัยกรีกโบราณ ดาวเคราะห์ที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่ามีทั้งหมด 7 ดวง ได้แก่ ดวงจันทร์ ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดวงอาทิตย์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ ซึ่งทั้งหมดตรงกับวันในหนึ่งสัปดาห์นั่นเอง

ส่วนโลกของเราเป็นสถานที่พิเศษที่ถูกสร้างขึ้นมาสำหรับมนุษย์โดยเฉพาะ
ส่วนดาวเคราะห์จะโคจรไปรอบๆ และที่ห่างไกลออกไปอย่างยิ่งคือดาวฤกษ์ที่เรียงรายเป็นกลุ่มดาวครอบอยู่อีกที

แนวคิดนี้แม้จะดูน่าเชื่อถือ แต่ก็มีปัญหาสำคัญอยู่นั่นคือ
หากโลกอยู่ตรงกลางโดยมีทุกอย่างโคจรไปรอบๆ
วงโคจรของดาวเคราะห์จะซับซ้อนจนน่าปวดหัว และชวนให้รู้สึกสงสัยว่าเหตุใดวัตถุบนสรวงสวรรค์จึงเต็มไปด้วยความซับซ้อนเช่นนั้น
นอกจากนี้ เส้นทางการโคจรของดาวเคราะห์ยังไม่ได้ยึดตามกฎเกณฑ์แบบเดียวกันทั้งหมดด้วย

ในปี 1543 หนังสือเล่มหนึ่งที่เขียนโดย นิโคลัส
โคเปอร์นิคัส (Nicolaus Copernicus)
พระชาวโปแลนด์เปิดเผยให้มนุษย์เราได้เห็นตำแหน่งที่ถูกต้องของโลกเราเป็นครั้งแรก แนวคิดหลักในหนังสือเล่มนั้นเรียบง่ายจนเราสรุปออกมาได้เป็นประโยคสั้นๆ ว่า ‘โลกมิใช่ศูนย์กลางการโคจรอย่างที่เชื่อถือกัน
แต่มีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางการโคจร’

แนวคิดนี้สะเทือนความเชื่อและมุมมองที่มนุษย์มีต่อเอกภพอย่างรุนแรงใน 2 แง่ อย่างแรกคือ
มันทำให้วงโคจรของดาวเคราะห์กลายเป็นวงกลมรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งเรียบง่ายขึ้นมาก

และอย่างที่สองคือ โลกใบนี้ของเรากลายเป็นดาวเคราะห์ ไม่ต่างจากดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ

การเปลี่ยนแปลงสถานะของโลกนั้นเท่ากับการถอนรากถอนโคนกระบวนทัศน์ที่ว่า
โลกใบนี้มีความพิเศษ ซึ่งแนวคิดนี้ผูกติดกับแนวคิดเรื่องผู้สร้างอย่างแยกจากกันไม่ออก

ความคิดของโคเปอร์นิคัสจึงนับเป็นความคิดที่ก้าวพ้นสิ่งที่ฝังแน่นอยู่ในใจของคนยุคนั้นอย่างยิ่ง

แน่นอนว่าแนวคิดนี้ส่งผลต่อนักสังเกตการณ์ท้องฟ้าคนต่อๆ มาจนมีความคิดใหม่ๆ ต่อยอดขึ้นมามากมาย
ซึ่งในสมัยต่อมา ตำแหน่งของมนุษย์เราในเอกภพนั้นยิ่งได้รับการตอกย้ำให้ชัดเจนยิ่งขึ้นโดยเซอร์ไอแซค นิวตัน (Isaac Newton) นักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะผู้กลายเป็นตำนานมาจนถึงทุกวันนี้

ส่วนนิวตันค้นพบตำแหน่งใดในเอกภพให้มนุษย์เรานั้น คงต้องมาฟังกันต่อในครั้งหน้า

AUTHOR