‘Anthropause’ เมื่อโลกมนุษย์กดปุ่ม pause ธรรมชาติจึงได้กด play

ช่วงที่ทั่วโลกอยู่ในภาวะล็อกดาวน์ เราได้อ่านข่าวฝูงปลาที่กลับคืนมาในคลองเวนิสเมื่อน้ำใสขึ้นเพราะจราจรเรือที่ลดลง สัตว์ป่าก้าวเท้าเข้ามาเยือนเมืองใหญ่ ฝูงแพะเดินเล่นในเมืองเวลส์ สัตว์บางกลุ่มกลับคืนสู่บริเวณที่เคยถูกยึดครองและรบกวนจากมนุษย์ มลภาวะทางเสียงและอากาศลดลงในหลายพื้นที่ทั่วโลก

เราจะเรียกปรากฏการณ์เช่นนี้ว่าอะไรดี?

 

ขอต้อนรับสู่ภาวะมนุษย์หยุดชะงัก

วารสาร Nature Ecology & Evolution พาดหัวปกเดือนกันยายน 2020 ว่า “Welcome to the anthropause”–“ขอต้อนรับสู่ภาวะมนุษย์หยุดชะงัก”

เมื่อปีที่แล้ว โควิด-19 ทำให้กลุ่มนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยต้องมาแลกเปลี่ยนหารือถึงผลกระทบของโรคระบาดที่มีต่อโลกและธรรมชาติ และหาคำอธิบายปรากฏการณ์ใหม่ต่างๆ จนอุบัติคำว่า Anthropause ขึ้นมา

คำนี้ประกอบขึ้นจากคำว่า “anthropo-” (เกี่ยวข้องกับมนุษย์) + pause (หยุด, ชะงัก) หมายถึงการชะลอช้าลงของการท่องเที่ยวและกิจกรรมอื่นๆ ของมนุษย์ในระดับโลก (global slowdown of travel and other human activities) เช่น การเดินทางหรือการเคลื่อนย้ายข้ามประเทศ 

คำคำนี้ไม่เพียงโผล่อยู่ในวารสารวิชาการวิทยาศาสตร์แบบเข้มข้น แต่ในปี 2020 William Gibson นักเขียนไซ-ไฟก็ทวีตถึงคำว่า anthropause เช่นกัน สมกับที่ได้เป็นหนึ่งใน ‘คำแห่งปี 2020’ ของ Oxford Languages (กิบสันนี่เองที่ริเริ่มใช้คำว่า ‘cyberspace’ ในปี 1982 โดยบรรจุคำนี้ในนิยาย Burning Chrome เพื่อจินตนาการถึงจินตภาพของระบบเครือข่าย จากนั้นคำนี้ก็ถูกใช้อย่างแพร่หลายเมื่อพูดถึงพื้นที่เครือข่ายของอินเทอร์เน็ต)

 

การรบกวนจากมนุษย์ลดลงฉับพลัน สรรพสัตว์โผล่กลับมา

บทความ The Coronavirus Quieted City Noise. Listen to What’s Left. จาก The New York Times พูดถึงการสำรวจบันทึกเสียงต่างๆ ในเมืองนิวยอร์กและพบว่าหลังจากโรคระบาดเมืองก็เงียบลงจนฟังแล้วแยกความแตกต่างได้อย่างชัดเจน 

เมื่อมนุษย์ต้องหยุดชะงัก พักจากกิจกรรมชั่วคราว ผู้คนออกจากบ้านเมื่อจำเป็น เมืองก็เงียบงันไร้เสียงรบกวน ในหลายๆ เมืองทั่วโลกจึงมีสัตว์หลากชนิดแอบย่องเข้ามาเยี่ยมเยือนเขตพื้นที่เมือง สำรวจถนนที่ว่างเปล่า กลายเป็นภาพน่าประหลาดใจ ในหลายๆ พื้นที่ของโลกยังพบว่าสัตว์ขยายพันธุ์ได้ดีขึ้นเมื่อนักท่องเที่ยวหายไป นกพันธุ์หายากปรากฏตัวในพื้นที่ใกล้สนามบินเพราะเที่ยวบินที่ลดลงอย่างมาก ถือเป็นโอกาสอันดีของนักวิจัยทางธรรมชาติที่จะเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตอื่นที่นอกเหนือไปจากเรา

เหมือนกับอาชีพอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ถ้วนหน้า นักวิจัยจำนวนมากก็ต้องปรับปรุงการศึกษาของตัวเองให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงกะทันหันและนำมาซึ่งการวิจัยใหม่ๆ เช่นที่วารสาร Science เล่าถึง Ari Friedlaender นักนิเวศวิทยาทางทะเลผู้ศึกษาผลกระทบของการท่องเที่ยวและการประมงที่มีต่อวาฬหลังค่อม เมื่อเกิดโควิด-19 เขากลับต้องหยุดการลงพื้นที่วิจัยในทวีปแอนตาร์กติกาเพราะการประมงและการท่องเที่ยวลดลง

ถึงอย่างนั้นเมื่อต้องกลับบ้านที่อเมริกา เขากลับพบว่าการลดลงของการจราจรทางเรือทำให้เขาสามารถศึกษาผลที่เกิดขึ้นกับวาฬเมื่อสิ่งรบกวนจากมนุษย์หายไปได้ เช่น เขาสามารถวัดค่าความเครียดของวาฬในช่วงเดือนที่เงียบสงบเทียบกับช่วงเดือนที่การจราจรพลุกพล่านได้ การศึกษาใหม่ๆ จึงเกิดขึ้นแทน

นิตยสาร Cosmos ระบุว่า เมื่อสิ่งรบกวนจากมนุษย์หายไป นักชีววิทยาที่ศึกษาสัตว์ทั่วโลกจึงติดเครื่องติดตามระบุตำแหน่งเพื่อทำความเข้าใจแพตเทิร์นการเคลื่อนตัวของสัตว์ป่าในธรรมชาติเมื่อไม่มีการรบกวนโดยคน จนได้ชุดข้อมูลใหม่ๆ มากมายมาศึกษาต่อเพื่อสร้างการปฏิสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างมนุษย์กับสัตว์ป่า ช่วงเวลาที่มนุษย์หยุดชะงักจึงเป็นโอกาสอันดีที่จะศึกษาความแตกต่างเพื่อเข้าใจสมดุลของธรรมชาติ และผลกระทบที่มนุษย์และเมืองมีต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่อาศัยร่วมโลกกับเรา

 

Anthropause สัมผัสและสะพรึงถึงเศษเสี้ยวของวันที่โลกไร้มนุษย์ยึดครอง

Anthropause ทำให้เราได้เห็นเมืองร้างว่างเปล่าเหมือนในหนังซอมบี้วันสิ้นโลก ชวนให้คิดถึงเมืองเชอร์โนบิลซึ่งเกิดอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ขั้นร้ายแรงเมื่อปี 1986 จนกลายเป็น Chernobyl Exclusion Zone (CEZ) พื้นที่ร้างขนาดกว่า 2,800 ตารางกิโลเมตรที่ถูกประเมินว่าไม่สามารถอยู่อาศัยได้เพราะปริมาณกัมมันตภาพรังสีที่ตกค้าง เมื่อเวลาผ่านไป 30 ปี เมืองร้างนี้ถูกยึดครองโดยสัตว์ป่าและกลายเป็นพื้นที่สำหรับศึกษาการ rewilding หรือการฟื้นฟูที่ดินและผืนป่าให้กลับสู่สภาพเดิม หรือการกลับคืนสู่แหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของสัตว์ป่า

มากไปกว่านั้น คำนี้ยังชวนให้เราคิดถึงบรรยากาศ post-apocalyptic ในนิยายวันสิ้นโลกอย่าง The Drowned World โดย J. G. Ballard นวนิยายเล่มนี้จินตนาการถึงโลกที่ร้อนขึ้นในปี 2145 เมืองลอนดอนกลายเป็นหนองน้ำ พืชและสัตว์กลับมายึดครองพื้นที่อีกครั้งหลังดินแดนมนุษย์ล่มสลาย ส่วนเมืองแถบศูนย์สูตรก็ถูกทิ้งร้าง ไม่สามารถอาศัยอยู่ได้อีกด้วยอุณหภูมิที่สูงเกินไป

นี่เป็นจินตนาการที่น่าสะพรึงแต่อาจใกล้ตัวกว่าที่เราคิด

anthropause
The Drowned World โดย J. G. Ballard (1962)

แน่นอนว่าการอุบัติขึ้นของ Anthropause ไม่ได้หมายความว่าโควิด-19 จะเป็นสิ่งสวยงามที่ช่วยทำความสะอาด กวาดล้างมนุษย์อันสกปรก เบื้องหลังกิจกรรมมนุษย์ที่หยุดชะงัก ไม่ว่าจะเป็นเรือประมงที่หายไปจากมหาสมุทรหรือหาดทรายไร้นักท่องเที่ยว ในอีกมุมก็คือภาพของเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ชีวิตคนตกงาน ธุรกิจขนาดเล็กที่ล้มลง คนขาดรายได้จุนเจือครอบครัว เผยช่องว่างของความเหลื่อมล้ำที่เคยถูกซุกเอาไว้ให้ได้เห็นชัดๆ กับตา

อย่าลืมว่าไม่ใช่แค่สัตว์ป่าที่ได้รับผลกระทบจากการรบกวนของมนุษย์ ประชากรโลกจำนวนมหาศาลเองก็กำลังเผชิญภัยพิบัติเพราะมนุษย์ด้วยกันเอง ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตขาดแคลนน้ำ ขาดความมั่นคงทางอาหาร พืชผลที่สูญเสียจากความไม่แน่นอนของฤดูกาล มลภาวะทางน้ำและอากาศ กลุ่มคนที่เปราะบางกำลังถูกทารุณและถูกคุกคามจากภาวะสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงโดยไม่มีทางหนี และสถานการณ์ก็กำลังแย่ลงเรื่อยๆ เมื่อแผ่นดินถูกเปลี่ยนแปลงโดยน้ำมือมนุษย์มากกว่าปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเสียอีก

เหตุการณ์ไม่ปกติเช่นนี้ช่วยย้ำเตือนว่าเราต่างกำลังอาศัยอยู่ในยุค Anthropocene ยุคสมัยใหม่ทางธรณีวิทยาที่มนุษย์ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในระดับใหญ่ ซึ่งทั้งน่าตกตะลึงและสะพรึงกลัวในเวลาเดียวกัน สารคดีเรื่อง Earth โดย Nikolaus Geyrhalter เล่าถึง ‘ผืนดิน’ ที่ถูกมนุษย์ขุดและขนย้ายปีละหลายพันล้านตัน จากที่ตามธรรมชาติ ในแต่ละวันดินจำนวน 60 ล้านตันจะถูกเคลื่อนย้ายผ่านแม่น้ำ สายลม และพลังงานธรรมชาติอยู่แล้ว แต่มนุษย์เคลื่อนที่ดินและหินมากถึงวันละ 156 ล้านตัน ทำให้พวกเราเป็นปัจจัยกำหนดสภาพธรณีวิทยามากที่สุดในยุคนี้ 

ที่สำคัญใน interconnected world หรือโลกที่เชื่อมต่อกันอย่างแยกได้ยาก ทุกการกระทำของเราส่งผลต่อคนอื่นเสมอ การบริโภคของเราล้วนใช้ทรัพยากรและทิ้งขยะไว้เบื้องหลัง หรือปล่อยเป็นมลภาวะไปในอากาศ ซึ่งแม้จะดูเหมือนพ้นตัวเราแต่ที่จริงมันแค่ลอยไปอยู่ที่ไหนสักแห่งในโลกและอาจกระทบคนอื่นไม่เร็วก็ช้า เราในยุคสมัยนี้จึงเป็นผู้กำหนดอนาคตของมนุษยชาติรุ่นต่อไป 

การหยุดพักครั้งนี้อาจเป็นเวลาอันดีที่มนุษย์จะได้ทบทวนกิจกรรมที่เราทำ สิ่งที่เราสร้าง นโยบายที่เราสนับสนุน มองให้รอบว่ามันกระทบกลุ่มคนที่เปราะบางหรือสิ่งแวดล้อมหรือไม่ เพราะนี่คือโลกที่เราต้องใช้ร่วมกับระบบนิเวศและร่วมกับผู้คนในยุคถัดจากเราอีกหลายร้อย หลายพันปี

คนที่เขาไม่มีสิทธิเลือกนอกจากรับมรดกระบบและโลกนี้จากคนรุ่นเรา

 

อ้างอิง

COVID-19 lockdown allows researchers to quantify the effects of human activity on wildlife

How Chernobyl has become an unexpected haven for wildlife – UN Environment

Oxford Word of the Year 2020

The ‘anthropause’ during COVID-19

The Coronavirus Quieted City Noise. Listen to What’s Left.

The pandemic stilled human activity. What did this ‘anthropause’ mean for wildlife?

เมื่อมนุษย์ต้องหยุดชะงัก พักจากกิจกรรมชั่วคราว ผู้คนออกจากบ้านเฉพาะเมื่อจำเป็น เมืองก็เงียบงันไร้เสียงรบกวน ในหลายๆ เมืองทั่วโลกจึงมีสัตว์หลากชนิดแอบย่องเข้ามาเยี่ยมเยือนเขตพื้นที่เมือง สำรวจถนนที่ว่างเปล่ากลายเป็นภาพน่าประหลาดใจ ในหลายๆ พื้นที่ของโลกยังพบว่าสัตว์ขยายพันธุ์ได้ดีขึ้นเมื่อนักท่องเที่ยวหายไป นกพันธุ์หายากปรากฏตัวในพื้นที่ใกล้สนามบินเพราะเที่ยวบินที่ลดลงอย่างมาก ถือเป็นโอกาสอันดีของนักวิจัยทางธรรมชาติที่จะเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตอื่นที่นอกเหนือไปจากเรา
เหมือนกับอาชีพอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ถ้วนหน้า นักวิจัยจำนวนมากก็ต้องปรับปรุงการศึกษาของตัวเองให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงกะทันหันและนำมาซึ่งการวิจัยใหม่ๆ เช่นที่วารสาร Science เล่าถึง Ari Friedlaender นักนิเวศวิทยาทางทะเลผู้ศึกษาหัวข้อผลกระทบของการท่องเที่ยวและการประมงที่มีต่อวาฬหลังค่อม เมื่อเกิดโควิด-19 เขากลับต้องหยุดการลงพื้นที่วิจัยในทวีปแอนตาร์กติกาเพราะการประมงและการท่องเที่ยวลดลง
ถึงอย่างนั้นเมื่อต้องกลับบ้านที่อเมริกา เขากลับพบว่าการลดลงของการจราจรทางเรือทำให้เขาสามารถศึกษาผลที่เกิดขึ้นกับวาฬเมื่อสิ่งรบกวนจากมนุษย์หายไปได้ เช่น เขาสามารถวัดค่าความเครียดของวาฬในช่วงเวลาช่วงเดือนเงียบสงบเทียบกับช่วงเดือนที่การจราจรพลุกพล่านได้ การศึกษาใหม่ๆ ขึงเกิดขึ้นแทน
Cosmos ระบุว่าเมื่อสิ่งรบกวนจากมนุษย์หายไป นักชีววิทยาที่ศึกษาสัตว์ทั่วโลกจึงติดเครื่องติดตามระบุตำแหน่งเพื่อทำความเข้าใจแพตเทิร์นการเคลื่อนตัวของสัตว์ป่าในธรรมชาติเมื่อไม่มีการรบกวนโดยคนจนได้ชุดข้อมูลใหม่ๆ มากมายมาศึกษาต่อเพื่อสร้างการปฏิสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างมนุษย์กับสัตว์ป่า ช่วงเวลาที่มนุษย์หยุดชะงักจึงเป็นโอกาสอันดีที่จะศึกษาความแตกต่างเพื่อเข้าใจสมดุลของธรรมชาติ และผลกระทบที่มนุษย์และเมืองมีต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่อาศัยร่วมโลกกับเรา

AUTHOR

ILLUSTRATOR

erdy

นักวาดภาพประกอบคนหนึ่งที่มีความใฝ่ฝันว่าจะรวย จะรวย จะรวย