เมื่อเอ่ยชื่อ กระเบนราหู เราอาจจะนึกไปถึงปลากระเบนชนิดหนึ่งซึ่งนึกหน้าตาลำบากจนอาจต้องไปเสิร์ชหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต แต่ กระเบนราหู (Manta Ray) ที่เรากำลังจะกล่าวถึงนี้คือชื่อของภาพยนตร์ขนาดยาวสะท้อนปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ของมนุษย์ ผ่านความสัมพันธ์ของตัวละครผู้อพยพชาวโรฮิงญาและแรงงานชาวประมงไร้ชื่อ
กระเบนราหูได้แหวกว่ายตระเวนฉายในหลายประเทศมาเป็นเวลากว่าหนึ่งปี จนถึงวาระที่กลับมาสู่อ่าวบ้านเกิดอย่างประเทศไทย เกิดอะไรขึ้นบ้างกับเจ้าสัตว์ชนิดนี้ และผู้ที่เป็นหางเสือให้มันอย่าง ป้อม–พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง ผู้กำกับภาพยนตร์ กระเบนราหู ที่ได้พามันไปถึงเวนิสและคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในสาย Orizzonti ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส ครั้งที่ 75 ซึ่งหากนับรวมรางวัลทั้งหมดในตอนนี้ กระเบนราหู ถือเป็นตัวแทนภาพยนตร์ไทยที่ได้รับการตอบรับในเวทีนานาชาติมาแล้วถึง 11 รางวัล
“แด่โรงฮิงญา” คือประโยคเริ่มต้นของหนัง แต่กระนั้นพุทธิพงษ์บอกกับเราว่า “อยากให้กระเบนราหูเป็นภาพยนตร์ภาษาสากล เพราะมันเล่าเรื่องผู้อพยพกับเจ้าบ้านที่ไหนก็ได้ สิ่งนี้เป็นเหมือนกันทั่วโลก”
หากจะพูดถึงที่มาความสำเร็จของตัวภาพยนตร์ คงต้องย้อนกลับไปที่โปรเจกต์ Departure day ที่พุทธิพงษ์เป็นคนเขียนบทขึ้น กระเบนราหูเคยเป็นหนึ่งในสองพาร์ตของโปรเจกต์นี้ โดยครึ่งแรกเป็นเรื่องของผู้หญิงพม่าที่จะข้ามแม่น้ำมาคลอดลูกที่ฝั่งไทย และได้ถูกพัฒนาจนกลายเป็นภาพยนตร์สั้นเรื่อง ชิงช้าสวรรค์ (Ferris Wheel, 2015) ส่วนครึ่งหลังเป็นเรื่องเกี่ยวกับชายแปลกหน้าที่ลอยมาติดชายฝั่งทะเล และต่อยอดเป็น กระเบนราหู (Manta Ray) ที่ขณะนี้กำลังเข้าฉายโรงภาพยนตร์ในบ้านเรา
จาก Departure Day ภาพยนตร์ขนาดยาวที่มีเนื้อเรื่องสองพาร์ต สุดท้ายทำไมถึงกลายเป็นกระเบนราหูที่หยิบเอาเฉพาะเนื้อเรื่องครึ่งหลังมาอย่างเดียว
ตอนปี 2009 เราเริ่มสนใจอยากทำหนังยาว เราสนใจถึงความต่างของบุคคล การแสดงอัตลักษณ์ของแต่ละบุคคล เราร่างโครงการส่งทุน Script Development ของปูซานแล้วก็ได้เงินมาก้อนหนึ่งที่พอสำหรับการรีเสิร์ช หลังจากนั้นเรากับแฟนก็เลยเริ่มออกเที่ยวไปตามตะเข็บชายแดน ตั้งแต่แม่สอด ระนอง ลงใต้ไปเรื่อยๆ ก็เริ่มเจอซับเจกต์ที่น่าสนใจคือผู้อพยพ และความต่างทางกายภาพของสองประเทศที่มองเห็นได้ชัดเวลาเราจะข้ามไปอีกประเทศหนึ่ง ทั้งๆ ที่มันคือพื้นที่ที่เชื่อมกันแต่โดนกั้นไว้นิดเดียว จนได้เป็นบทของโปรเจกต์ Departure Day ที่เนื้อเรื่องแบ่งเป็นสองพาร์ตชัดเจน ซึ่งในช่วงปี 2557-2558 มันมีทุนหนึ่งให้สำหรับคนทำหนังสั้น ตอนนั้นก็คิดว่าเอาหนังยาวมาแบ่งครึ่งดีกว่า ไหนๆ มันก็เป็นสองพาร์ต ก็กะว่าถ่ายอันนี้เสร็จก็เหลืออีกครึ่งหนึ่งค่อยไปทำแล้วมาประกอบกันเป็นหนังยาว
แต่หลังจากนั้นเราก็คิดว่ามันประหลาด เราไม่ควรทำอย่างนั้น มันขี้โกงไปหน่อย ก็เลยเอาพาร์ตแรกมาพัฒนาใหม่ เนื้อเรื่องยังคงเป็นผู้หญิงที่ข้ามแม่น้ำมาเหมือนเดิมแต่ไม่ได้ท้องแล้ว ซึ่งกลายเป็นภาพยนตร์สั้นเรื่องชิงช้าสวรรค์ พอตอนจะทำกระเบนราหูก็มีความคิดว่าจะทำสองพาร์ตเหมือนเดิมอีกครั้ง แต่ด้วยตัวเองเพิ่งไปถ่ายที่แม่สอดมา และความสำคัญมันเริ่มเทไปพาร์ตหลังมากกว่า เราจึงตื่นเต้นที่จะได้ถ่ายทะเลมากกว่า ก็เลยลองเขียนสคริปต์ใหม่ว่ามันเป็นไปได้ไหมถ้าเราใช้เฉพาะพาร์ตสอง จึงออกมาเป็นกระเบนราหู
ช่วงที่ไปลงพื้นที่เก็บข้อมูล ได้ไปเจออะไร หรือได้ประสบการณ์อะไรที่หยิบมาใช้ในภาพยนตร์
มันอาจจะไม่ใช่เนื้อเรื่องแต่เป็นความรู้สึกหลายๆ อย่างที่พอได้ไปอยู่ตรงนั้นแล้วมันรู้สึก เราเป็นคนกรุงเทพฯ เราไม่เคยใช้ชีวิตอยู่ตรงนั้น ไม่ค่อยรู้เรื่องมาก ภาพชายแดนของเราคือภาพของคนเมืองที่มองชายแดน มีด่านตรวจคนเข้าเมือง มีทหาร มีรั้วลวดหนาม มีบางอย่างที่ทำให้เราสองฝั่งข้ามกันไม่ได้ มีอันตราย แต่สิ่งที่เราไปเจอที่ชายแดนแม่สอดครั้งแรกมันไม่ใช่จุดท่องเที่ยว ห่างจากตัวแม่สอดไปนิดเดียวเราเห็นแม่น้ำเมย ตอนนั้นเรารู้สึกว่านี่คือแม่น้ำที่ข้ามไม่ได้นะ ข้ามไปอาจจะโดนยิงได้เลย เพราะมันผิดกฎหมายระหว่างประเทศนี่หว่า ไม่มีวีซ่า แต่ตอนนั้นเราเห็นคนข้ามไง เด็กข้ามไปมา มีเด็กมาเล่นกัน เราก็เริ่มคิดว่า เฮ้ย จริงๆ ไอ้ความอุปโลกน์ของการเป็นเส้นแบ่งเขตพวกนี้มันคือเรานี่หว่า เพราะคนที่อยู่ตรงนั้น เขาแทบจะเห็นเส้นตรงนั้นบางมาก
การเป็นคนเมืองที่เข้าไปศึกษาพื้นที่ชายแดนเพื่อทำภาพยนตร์ คุณต้องเอาตัวเองลงไปขนาดไหนเพื่อเล่ามุมมองนั้น
ในดราฟต์แรกๆ ของสคริปต์ เราไปเจอความยากลำบากของคนที่อยู่ตรงนั้น คนที่โดนกดขี่เพราะไม่มีสัญชาติ เราสะเทือนใจและพยายามเอาความยากลำบากเหล่านั้นมาเขียนเป็นบท เราพยายามศึกษาเขา เราเริ่มกลายเป็นอีกฝั่งหนึ่ง แต่มันมีช่วงหนึ่งที่เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เราสนใจตั้งแต่ต้น เราสนใจความต่างของอัตลักษณ์ ความที่วัฒนธรรมสองแบบมันมาเจอกันมันจะมีแรงต่อต้านหรือแรงที่จะกลืนกันไป หนังกระเบนราหูเลยดึงกลับมาใหม่หมด เป็นเรื่องของคนที่มองคนเหล่านั้นอยู่ ก็คือแทนตัวเองที่ไปเจอความรู้สึกเหล่านั้นมา
เราเข้าไปคุย เข้าไปสัมภาษณ์ แทนที่เราจะเอาเนื้อเรื่อง เอาประวัติเขามาอยู่ในหนัง เราบอกว่าเราขอเก็บเสียงเขาหน่อยได้ไหม ให้เขาออกเสียงอืมมมมในลำคอ เจอมาประมาณ 40-50 คน ก็เอาไมโครโฟนไปให้เขาทำเสียงให้หน่อย แล้วเราก็เก็บเสียงเหล่านั้นมาคอมโพสเรียบเรียงใหม่ให้กลายเป็นเสียงสกอร์ประสานในตอนจบ เสียงเหล่านั้นมันเปล่งมาจากตัวมนุษย์ เราแยกไม่ออกหรอกว่าเสียงนั้นมาจากใคร ชนชาติใด พูดภาษาอะไร เพราะสุดท้ายมันคือเสียงมนุษย์เท่าๆ กัน
กระเบนราหู เป็นภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของคุณ ซึ่งการทำหนังยาวเรื่องแรกแล้วได้กระโดดไปร่วมทุนกับหลายที่ในเวทีนานาชาติ ความรู้สึกเป็นอย่างไร
ตอนเริ่มโปรเจกต์นี้เราคิดอยู่แล้วว่ามันต้องเอาเงินจากเมืองนอก เพราะไม่รู้ว่าจะไปหาใครในเมืองไทยมาสนับสนุนเราได้ กระทรวงวัฒนธรรมอาจช่วยเราได้ ซึ่งเขาก็ช่วยจริงๆ เราได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรมมาตลอดเลย แต่ก็ตั้งเป้าอยู่แล้วว่าเราต้องหาพาร์ตเนอร์ต่างชาติด้วย เป็นอีกทางให้คนทำหนังได้สร้างหนัง ก็เลยไม่ตกใจมากที่มันได้ทุนจากหลายเวที แต่สิ่งที่เกินความคาดหมายคือ หลังจากที่มันทำเสร็จแล้วมีคนชอบ มีฟีดแบ็ก มีรางวัลเข้ามา ได้ไปฉายหลายเทศกาล อันนี้เกินความคาดหมายเรา
เทศกาลหนังต่างประเทศ รางวัล และคำวิจารณ์เชิงบวก มีส่วนในการส่งเสริมภาพยนตร์ให้ไปทำอะไรต่อได้ง่ายขึ้นไหม
ก็ต้องยอมรับว่าการได้รางวัลจากเวทีใหญ่อย่างเวนิส ทำให้เทศกาลอื่นๆ สนใจและอยากเอาหนังไปฉายในเทศกาลเขาบ้าง ความเป็นผู้กำกับหน้าใหม่ ทำหนังเรื่องแรก ก็ทำให้เขาสนใจ คงอยากลองให้ผู้กำกับหน้าใหม่ที่ทำอะไรแปลกๆ ได้ออกมาบ้าง ก็ช่วยสนับสนุนให้หนังมีโอกาสไปไกล รวมทั้งเรามีบริษัทที่เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายอยู่ที่ปารีส ชื่อว่า Jour2Fête เขาชอบหนังเรามาก ชอบตั้งแต่ก่อนไปประกวดที่เวนิสอีกนะ เราตัดไฟนอลคัตให้เขาโดยที่ยังไม่ได้เกรดสี ยังไม่มิกซ์เสียงเลย ตอนนั้นพยายามหาเซลล์เอเจนต์ตัวแทน แล้วที่นี่เขาขอจัดจำหน่ายให้ตั้งแต่ตอนนั้นเลย ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้เลยว่าหนังจะได้ฉายที่ไหน เราก็เลยให้เขามาเป็นพาร์ตเนอร์ที่ร่วมหัวจมท้ายด้วยกันตั้งแต่ต้น
จริงๆ พอเขาจ่ายเงินให้หนังเราแล้ว หนังไม่ต้องได้ไปฉายที่ไหนก็ได้นะ เขาก็ยอมเสี่ยงกับเรา แสดงว่าเขาก็เป็นพาร์ตเนอร์ที่เป็นมิตรกับเรามาก และผลักดันหนังเราให้ไปฉายเทศกาลต่างๆ ได้เยอะจนตกใจเลย วันแรกที่หนังได้รางวัลที่เวนิส Jeus de Face ก็ส่งอีเมลมาบอกเราว่าเขาไม่เคยได้รับอีเมลจากเทศกาลหนังเยอะขนาดนี้มาก่อน เพราะหลังจากได้รางวัลก็มีอีกกว่า 50 เทศกาลติดต่อ Jour2Fête ว่าขอดู กระเบนราหู หน่อย ก็ประจวบเหมาะโชคดีพอดี ที่มีทีมงานดี มีพาร์ตเนอร์ดี
แล้วคุณไปเจอนักแสดงหลักได้อย่างไร เขามีส่วนในการช่วยพัฒนาคาแร็กเตอร์ของตัวละครไหม
เริ่มจากตัวละครแรกที่เป็นชาวประมงไม่มีชื่อ นักแสดงคือ อุ้ม (วัลลภ รุ่งกำจัด) เราเคยเจอเขาเล่นภาพยนตร์ มหาสมุทรและสุสาน ที่เราเป็นช่างภาพ ประมาณปี 2554 ระหว่างที่เรากำลังพัฒนาบท เราอยากถ่ายไพลอตตัวอย่างหนังไปขอทุน ก็เลยคุยกับอุ้ม ตอนนั้นไม่ได้ซีเรียสมาก คิดแค่ว่าชาวประมงคนหนึ่ง ใครก็ได้ขอให้คนนั้นเป็นนักแสดงและมาเล่นให้เราหน่อย หลังจากนั้นพอเปิดไพลอตดู ทำสคริปต์ไปเรื่อยๆ เราก็จำหน้าอุ้มไว้ตลอด สุดท้ายแล้วชายประมงก็เลยต้องเป็นอุ้ม
ส่วนคนที่เป็นชายแปลกหน้าชื่อธงไชยในเรื่อง ตอนแรกเราอยากได้ผู้อพยพจริงๆ เหมือนกัน เพราะหนังมันไม่มีบทพูดสำหรับคนแปลกหน้า เราอยากได้ความรู้สึกในตาเขา การแสดงมูฟเมนต์ต่างๆ ที่ไม่ใช่คนเมืองมาเล่นหนัง แต่ด้วยกฎหมายที่เราไม่สามารถเอาคนที่ไม่มีบัตรทำงานมาเล่นหนังได้ สุดท้ายก็ลอง open call เปิดให้ใครก็ได้มาออดิชั่นจากทางเฟซบุ๊กนี่ล่ะ ปรากฏว่าได้เจอ ฟรี (อภิสิทธิ์ หะมะ) เขาเป็นคนปัตตานี อำเภอสายบุรี เป็นอำเภอที่มีการปะทะกันระหว่างคนในพื้นที่และเจ้าหน้าที่ มีการยิงกัน ถล่มโรงพัก ฆ่าทหาร แต่ปัจจุบันฟรีย้ายไปอยู่กรุงเทพฯ แล้ว แต่เขาบอกเสมอว่ารู้สึกแปลกถิ่น มีบางอย่างเปลี่ยนไปเวลาเขาเล่าว่าผมเป็นคนปัตตานี เป็นคนสายบุรี เป็นคนมุสลิม เพื่อนเขาที่โตมาในกรุงเทพฯ เริ่มมองเขาประหลาดๆ พอเขาเล่าให้เราฟังเราก็คิดว่ามันมีความรู้สึกร่วมบางอย่างที่น่าจะเป็นคาแร็กเตอร์ของเราได้ และหนังของเราได้รับแรงบันดาลใจมาจากเคราะห์กรรมของชาวโรฮิงญา เราได้แรงบันดาลใจจากตรงนั้นมาเยอะ แต่เราไม่อยากให้หนังพูดถึงเฉพาะโรฮิงญา แม้จะเขียนว่าแด่โรฮิงญาในตอนต้นก็ตาม เราเลยเลือกฟรีมาเล่นบทนี้
ส่วนบทสายใจเป็นนักร้องที่ชื่อคุณรัศมี อีสานโซล ไอเดียแรกเราอยากได้คนที่จะมาเป็นเมียของชาวประมง แล้วเราอยากให้เขาดูเรียลลิสติก เป็นคนธรรมดาสามัญ คนต่างจังหวัด แต่เราอยากให้เขามีเสียงที่เพราะจนคนดูตกใจว่า เฮ้ย คนนี้ทำไมเสียงเพราะขนาดนี้ ตอนนั้นเปิดยูทูบไปเรื่อยๆ แล้วเจอรัศมีร้องเพลง ก็ลองให้คนไปคุยทาบทามดู เขาสนใจ ก็เลยได้รัศมีมาเล่นบทนี้
ด้วยความที่มันเล่าเรื่องมุสลิม เล่าเรื่องโรฮิงญา อย่างน้อยก็จั่วหัวมาว่า แด่โรฮิงญา คุณได้รับแรงปะทะจากการทำหนังเรื่องนี้ไหม หรือความคิดเห็นจากคนที่ได้ดูเป็นอย่างไร
ถ้าวงกว้างเราไม่แน่ใจ เพราะตอนทำหนังก็ทำกันแบบเงียบๆ ไม่ค่อยมีใครรู้ว่าทำเกี่ยวกับโรฮิงญา ก็มีเพื่อนส่งเมสเซจเข้ามาหาเราว่า “มึงจะไปทำหนังให้พวกมันทำไม” หรือไม่ก็ “ไม่เห็นต้องทำหนังเลย ไปช่วยดิ เอามาเลี้ยงที่บ้านสักตัว”
ตอนแรกที่ได้ยินเราเกิดอคติอย่างท่วมท้นในหัวเลย ว่าทำไมคนชนชั้นกลางมันแย่ขนาดนี้ เวลาด่าคือตัวเขาอยู่กรุงเทพฯ รู้ข่าวสารรอบโลกจากอินเทอร์เน็ต จากไอโฟน อยู่ในสตาร์บัค ชอบไปต่างจังหวัด ชอบไปร้านกาแฟต่างจังหวัดที่มองเห็นวิวทุ่งนา ตัวเองอยู่ในเซฟโซนมาก อยู่ในห้องแอร์ ฟีดแบ็กนี้เลยทำให้เราอคติมาก แต่ตอนนี้เราพยายามลดอคติในใจลงด้วยการพยายามเข้าใจเขาเหมือนกัน พยายามเฉลี่ยตรงกลางกัน เราคิดแบบนี้ เขาคิดแบบนี้
ทุกวันนี้ถ้ามีเพื่อนที่เห็นต่างกับเรามากๆ เราก็จะเข้าไปคุยกับเขา อย่างเพื่อนที่ไม่ชอบมุสลิม เราจะบอกว่า เราเคยไปทำงานที่ประเทศมุสลิมอย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คนที่นั่นนิสัยดีมากและเราก็ไม่คิดว่ามุสลิมกลุ่มนั้นกับมุสลิมบางคนจะเป็นคนเดียวกัน มันต้องแยกกัน สุดท้ายถ้าเขาไม่ฟังเราก็จบลงตรงนั้น อย่างน้อยเราก็พยายามคุย เป็นประสบการณ์ของเขา อย่าไปโกรธเขาต่อ นี่คือสิ่งที่เราฝึกอยู่
การทำหนังเรื่องนี้ก็เปลี่ยนคุณไปด้วยใช่ไหม
เปลี่ยนเยอะมาก ตอนแรกเราทำด้วยความเกรี้ยวกราด ด้วยความอคติว่าทำไมคนไทยคิดแบบนี้ ตอนหลังเราเริ่มทำความเข้าใจว่าอะไรทำให้มนุษย์เชื่อแบบนี้ เราเริ่มสนใจประวัติศาสตร์มากขึ้น กลับไปเรียนรู้สิ่งเหล่านี้มากขึ้น และมันนอกเหนือจากอารมณ์ มันมีบางอย่างสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ ถึงตอนนี้เราไม่ได้รู้หมดแต่เราเรียนรู้สิ่งเหล่านี้อยู่
การได้กลับไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์สำหรับคุณคิดว่ามันช่วยอะไรได้บ้าง
มันช่วยมากเลยในการรู้จักสังคม ตอนเด็กๆ เราอาจวิพากษ์วิจารณ์เพื่อน นินทากัน ด่ากัน ไม่ค่อยวิพากษ์วิจารณ์สังคมเท่าไหร่ ตอนนี้มันกว้างขึ้น เราวิพากษ์วิจารณ์สังคม ตอนนี้มันมีสื่อเยอะมาก แล้วเราไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าอันไหนเป็นจริง ซึ่งถ้าหากเราไม่รู้ประวัติศาสตร์เลยมันจะเชื่อมโยงยากมาก เราไม่ได้เก่งประวัติศาสตร์ เราเรียนรู้อยู่ ประวัติศาสตร์จึงช่วยเราเชื่อมโยงองค์ความรู้ที่มันกระจัดกระจายอยู่ ทำให้เราเข้าใจมากขึ้น ไม่ได้พูดว่าเราฉลาดขึ้นนะ แค่เราจะเข้าใจทุกอย่างมากขึ้น
แต่มนุษย์เราก็ศึกษาประวัติศาสตร์กันมานานมาก และพบว่ามันก็กลับมาซ้ำรอยอยู่ดี มีผู้อพยพกลุ่มใหม่เกิดขึ้นซ้ำๆ มีความเกลียดชังเกิดขึ้นตามมา
อคติในใจของบุคคลมันส่งผลเหล่านั้นได้ ยิ่งอคติเหล่านั้นเกิดในผู้มีอำนาจมันก็อาจส่งผลไปสู่กลุ่มคนของเขา อย่างฮิตเลอร์ที่ไม่ชอบคนยิว เราก็เห็นว่ามันสร้างโศกนาฏกรรมที่ร้ายแรงมาก เหมือนกัน ถ้าเกิดวันนี้ผู้มีอำนาจในบ้านเราเห็นว่า มุสลิม พม่า ในบ้านเราเป็นปัญหาก็อาจจะเกิดอะไรก็ได้
ตอนที่ทำเรื่องโรฮิงญา ซีเรียก็อพยพเหมือนกันช่วงปี 2558-2559 แล้วมันเกิดเหตุการณ์คล้ายกันอย่างหนึ่งในยุโรปกับเมืองไทย คือการกระแนะกระแหนผู้อพยพ ภาพของโรฮิงญาที่อยู่ฝั่งบ้านเรามีโทรศัพท์มือถือ แล้วที่หนักกว่านั้นหนังสือพิมพ์หัวหนึ่งลงข่าวว่าพกหนังสือโป๊อยู่ในแคมป์ มีเครื่องอำนวยความสะดวก มีอินเทอร์เน็ต มีคอมพิวเตอร์ เหมือนกันเลย ครั้งที่ชาวซีเรียอพยพไปยุโรปมีภาพเขาถ่ายเซลฟี่กันริมหาดหลุดมา แล้วก็โดนคนด่าหมดเลย ยุโรปด่าซีเรีย ไทยด่าโรฮิงญา คือจะพูดว่านี่ไง ผู้อพยพไม่ได้รันทดนี่
มันคือภาพที่คนมองว่าผู้อพยพมันต้องไม่ใช่เรา ต้องไม่มีสิทธิเสมอเรา ต้องต่ำกว่าเรา ผู้อพยพคือคนที่แบกลังเทินหัว เดินข้ามลำน้ำ นั่นคือผู้อพยพ วันใดที่มันมีไอโฟน มันไม่ใช่ผู้อพยพ มันคือคนที่อยากหาผลประโยชน์บางอย่างกับประเทศเรา มันคืออคติ คือมายาคติเกิดขึ้นมา ด่าว่ากัน ทำไมคนโรฮิงญาจะอ่านหนังสือโป๊ไม่ได้ ทำไมคนเมืองอ่านได้ ทำไมเขาจะมีโทรศัพท์ไม่ได้ มีไอโฟนไม่ได้ เขาไม่ใช่มนุษย์เหรอ เขาไม่มีสิทธิเท่ากันเหรอ แสดงว่าเรามองเขาต่ำกว่าตลอด วันใดที่เขาใกล้กับเรา เราก็เกลียดเขาแล้ว เพราะเขาไม่น่าสงสารอีกต่อไป
น่าสนใจที่ว่าภาพจำของผู้อพยพคือคนที่น่าสงสาร แล้วพอได้สิทธิที่ใกล้กับเราขึ้นมา เราก็พยายามผลักเขาออกไปในพื้นที่ของความเกลียดชัง
ที่เราอินมากตอนนี้คือเรื่องเพจแอนตี้มุสลิม เขาจะเขียนว่า ตอนนี้มี พรบ.อิสลาม มีการสนับสนุนเงินให้ธนาคารอิสลาม โดยเงินจากรัฐ ทำไมเราต้องไปช่วยมัน ข้อความมันประมาณนี้ แต่ก็แปลกใจว่าแล้วมุสลิมเหล่านั้นไม่ได้ถือบัตรประชาชนคนไทยเหรอ เขาก็ถือนี่นา แล้วทำไมเราต้องเอาแต่พุทธ เรามองโดยการเอาตรรกะของการแบ่งแยกมาครอบ คือฉันพุทธแล้วทำไมต้องให้มุสลิม คนมุสลิมก็ครอบว่าทำไมต้องให้พุทธ คนไทยก็ครอบด้วยการเป็นคนไทย ทำไมต้องไปให้พม่า พม่ามันมาแย่งงานเรา
เราเองก็ยังมีมายาคติในการมองคนบางกลุ่ม เรากำลังฝึกอยู่เหมือนกัน พยายามต่อสู้กับอคติ การทำหนังเรื่องนี้คือความพยายามที่จะย่อเรื่องผู้อพยพให้กลับมาแค่เรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์ นั่นล่ะคือสิ่งสำคัญ
จากการเป็นเจ้าบ้านที่มองคนแปลกหน้าเข้ามา คุณเคยมีประสบการณ์ที่กลายเป็นคนแปลกหน้าเองไหม
มีๆ อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราคิดได้ เราเคยไปอยู่นิวยอร์กแล้วกลายเป็นชนชั้นสอง แต่สิ่งหนึ่งที่เราเรียนรู้คือที่โน่นเขายอมรับกันมากกว่า ถึงแม้จะมีการเหยียดชนชาติ เหยียดผิว แต่ก็โอเค มันเกิดมานานแล้วและมันกำลังคลี่คลายไปในทางที่ดี แต่บ้านเรามันไม่มีมาก่อน หรือมีนิดๆ อย่างตอนเด็กๆ เราอาจจะไม่ชอบประเทศลาว ประเทศพม่า เพราะมาเผาบ้านเราอะไรไม่รู้ในประวัติศาสตร์ ก็มีนิดๆ ที่มันฝังมา แต่เราไม่เคยคิดว่าเราจะไปฆ่าเขานะ ไม่เคยเกลียดกันขนาดอยากล้างเผ่าพันธ์ุเขา แต่มาเดี๋ยวนี้มันเกิดแล้ว มันมีแล้ว เราเห็นโพสต์เฟซบุ๊กว่าจะทำลายกันขนาดนั้น เลยคิดว่าเมืองไทยกำลังกลับไปตกต่ำ ในขณะที่ประเทศอื่นเขาเริ่มยอมรับกันมากขึ้น
แล้วถ้าในด้านภาพยนตร์ จากโอกาสที่คุณได้ไปสัมผัสระหว่างต่างประเทศกับเมืองไทย มีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
ถึงแม้เราได้ไปหลายเทศกาลมาก เราก็ยังเป็นหน้าใหม่มาก เรายังไม่กล้าสรุปว่าต่างกันขนาดไหน แต่เท่าที่เห็นมีคนดูเยอะมาตลอด ดีใจมาก เราได้เจอคนดูหลากหลายและได้ฟีดแบ็กกลับมาเยอะ ซึ่งมันมีประโยชน์กับเรา อย่างตอนเราไปฉายที่เม็กซิโกสองรอบ คนดูเต็มสองรอบเลย ตกใจมาก มีคนดูที่มารอต่อแถวแล้วไม่ได้ดู และอีกหลายที่มากที่ไปฉายแล้วมีคนดูเต็มโรง แต่พอกลับมาเมืองไทยแทบไม่มีคนรู้จัก อย่างตอนเมเจอร์จะฉายหนังเราแล้วมีโพสต์ของเมเจอร์ที่บอกว่าเดือนกรกฎาคมมีหนังอะไรเข้าโรงบ้าง เราก็ไปตามอ่านคอมเมนต์ ไม่มีคนพูดถึงหนังเราเลย มีกระทั่งแบบตัดกำลังใจมาก ไอ้เรื่องนี้ไม่อยากดู มันก็รู้สึกเสียใจ จากที่เคยเห็นฝรั่งมาดูหนังเราเต็มโรง ตอนนั้นรู้สึกพองโต แต่พอกลับมาเมืองไทยมันดัน โอ่ยยยย (ถอนหายใจ)
รู้สึกเหมือนหนังเราเป็นคนแปลกหน้าในบ้านตัวเองไหม
นั่นสิ ก็เหมาะกับธีมหนังดีนะ (หัวเราะ) ทั้งเรื่องก็เล่าด้วยภาษาไทย ในประเทศไทยหมดเลย แต่กลับไม่ใช่หน้าหนังแบบที่จะขายในไทย
แล้วคิดอย่างไรกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในบ้านเรา
เศรษฐกิจมันซับซ้อนเกินไปสำหรับเรา แต่ก็มีกลุ่มหนังอินดี้ที่รวมกันตัวกันสร้างยูเนี่ยนจะได้มีเสียงใหญ่ๆ ไปต่อรอง หรือรวมกันเองเพื่อให้ทุกอย่างมันพัฒนาขึ้นไป แต่เราไม่ถนัดทางนั้น อย่างในทีมเรามีสี่คน คือ เรา, เก่ง จักรวาล ที่ทำ Vanishing Point, โก้ ชาติชาย ซึ่งเป็นโปรดิวเซอร์ให้เราทุกเรื่องมาโดยตลอด และ เมย์ วิทวัส พวกเราเห็นพ้องต้องกันว่าสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงแวดวงหนังได้คือการทำหนัง สิ่งที่มันจะทำให้เราไปต่อคือการทำต่อไป ไม่ซับซ้อนเลย ทำไป ทำไป ทำไป ซึ่งเราสนับสนุนอีกกลุ่มเต็มที่นะ เขาคิดถูกต้อง ต้องมีคนทำแบบนี้ เพียงแค่มันไม่ใช่วิธีการที่เราถนัด
จริงๆ จุดหมายเหมือนกันเลยนะ คือความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมหรือแม้แต่กระทั่งให้คนดูมีโอกาสดูหนังหลากหลายมากขึ้น จุดประสงค์เดียวกันนั่นล่ะ เราพร้อมสนับสนุนเลย จะให้ลงชื่ออะไรเราเอาด้วย