ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ ในชีวิตเราทุกคนล้วนต้องเกี่ยวข้องกับความตาย เนื่องจากเป็นสัจธรรมที่ไม่เห็นต้องบอกกันให้เสียเวลา
แต่กับความตายในภาพยนตร์เหมือนจะแตกต่าง เพราะไม่ว่าจะเป็นชีวิตจากจินตนาการหรือดัดแปลงจากชีวิตจริงก็ไม่จำเป็นต้องมีความตายกันทุกเรื่อง เมื่อใครพูดถึงความตายในหนังขึ้นมา มันจึงอาจเป็นการ ‘สปอยล์’ เนื้อหาขั้นร้ายแรง หากเป็นความตายของตัวละครสำคัญ หรือพระ-นางในเรื่อง ซึ่งมักเป็น ‘ไคลแม็กซ์’ อีกต่างหาก ใครขืนทำแบบนั้นมันก็น่าเคืองอยู่
แต่ก็คงเป็นข้อห้ามเฉพาะหนังในโปรแกรมหรือเพิ่งลาโรงไปมากกว่า เพราะถ้ามัวกังวลด้วยการบอกเนื้อหาที่มีใครตาย เมื่อจะยกตัวอย่างความดีงามของหนังสยองคลาสสิกอย่าง ‘Psycho’ (2503) อาจกลายเป็นเรื่องยากไปได้ เพราะส่วนหนึ่งที่ได้รับการยกย่องจนจำเป็นต้องกล่าวถึง ก็เพราะกลวิธีพิเศษที่ผู้กำกับ อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก จับผู้ชมให้ติดไปกับตัวละครที่แสดงโดย เจเน็ท ลีห์ ตั้งแต่ต้น แล้วจู่ๆ ก็กำจัดทิ้งเสียดื้อๆ อย่างโหดเหี้ยม
เป็นความกล้าในการช็อกอารมณ์ผู้ชมตั้งแต่ตอนครึ่งเรื่องจนทำให้ได้รับการยกย่อง และถึงผู้ชมยุคหลังจะรู้มาก่อนจากบทความมากมายที่เขียนถึงสืบเนื่องกันมา แต่ความตายที่ว่าก็ไม่ได้เป็นบ่อนทำลายความดีงามของหนัง ความคลาสสิกจึงยังถูกกล่าวขานกันเรื่อยมาจนถึงวันนี้
สำหรับหนังไทยกับความตายของตัวละคร ค่านิยมของผู้สร้างและผู้ชม หากไม่ใช่คนชั่วตัวละครร้ายมักไม่อยากให้ใครตาย เพราะหนังคือความบันเทิงและควรแฮปปี้เอนดิ้ง ยกเว้นจะสร้างมาจากวรรณกรรมเก่าแก่อย่าง ‘แผลเก่า’ หรือ ‘คู่กรรม’ ซึ่งเป็นความตายที่จำเป็นต้องมี ไม่ใช่เพียงเพราะใครก็รู้กันว่า ‘ไอ้ขวัญ’ กับ ‘อีเรียม’ ต้องตายคู่อยู่ในคลองแสนแสบ ส่วน ‘โกโบริ’ ก็ต้องตายอยู่ในอ้อมแขน ‘อังศุมาลิน’ อยู่แถวสถานีรถไฟบางกอกน้อย แต่ถ้าไม่มีความตายแบบนั้น ประเด็นความรักที่พยายามสื่อสารคงไม่สมบูรณ์ เป็นโศกนาฏกรรมที่มักถูกนำมาใช้เพื่อให้ไปถึงความโรแมนติกมาตั้งแต่โบราณกาลเช่น ‘โรมิโอกับจูเลียต’ ของเชกสเปียร์เป็นตัวอย่าง
แต่นอกจากความตายเพื่อบูชารัก ถ้าลองย้อนสำรวจในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา ในหนังไทยชั้นดีหรือหนังฮิตจากทศวรรษก่อนเก่าก็มีความตายที่น่าประทับใจแบบนั้นอยู่หมือนกัน และเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้หนังเหล่านี้เป็นที่จดจำ นอกจากนั้นยังทำหน้าที่สะท้อนความจริงหรือสัจธรรมบางประการของบ้านเมืองนี้เอาไว้เหมือนกันทุกเรื่อง
ภายหลังความตายของ มิตร ชัยบัญชา ในปี 2513 กับการเปลี่ยนแปลงจากระบบ 16 มม. มาเป็น 35 มม. ไปจนถึงเนื้อหาที่หลากหลายมากขึ้นของหนังไทย ‘เขาชื่อกานต์’ เมื่อปี 2516 ของผู้กำกับ ‘นิวเวฟ’ อย่าง ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ก็คือหนึ่งในหัวหอกแห่งยุค ท่านมุ้ยหยิบบทประพันธ์มีรางวัลการันตีของ สุวรรณี สุคนธา มาสร้างและตั้งแต่ซีนแรก-เปิดเรื่อง ในผลงานเรื่องที่ 2 ของผู้กำกับก็ทำในสิ่งที่ผู้ชมไม่ค่อยได้เห็นสำหรับหนังไทยในยุคนั้นที่จะปล่อยให้ตัวละครสำคัญ ถูกยิงตายตั้งแต่ยังไม่รู้จักกับผู้ชมเลยด้วยซ้ำ
“เขาเป็นหมอ เขาเป็นคนดี” ชายขับเรือตอบใครคนหนึ่งในหมู่ไทยมุงกลางสายฝน ในอ้อมแขนประคองร่างชายหนุ่มที่เพิ่งโดยมือปืนยิงจนตกเรือ ก่อนพวกมันจะหนีไป “หมอกานต์ใช่ไหมนั่น?” ใครอีกคนถาม “ใช่…เขาชื่อกานต์” ชายขับเรือตอบปนสะอื้น
หลังจากนั้นบทหนังก็พาให้ผู้ชมได้รู้จักกับ ‘กานต์’ (สรพงศ์ ชาตรี) ชายที่เลือกจะเป็นหมอในชนบทห่างไกลมากกว่าจะสุขสบายอยู่ในเมือง แต่การเลือกความต้องการนี้ กลับขัดความต้องการของคนรัก (นัยนา ชีวานันท์) เธอรังเกียจชีวิตคู่ในถิ่นกันดาร อยากมีชีวิตสุขสบายตามประสาคนเมือง ชีวิตครอบครัวจึงสั่นคลอน ส่วนความเป็นคนดีมีอุดมการณ์ ยึดความถูกต้องไม่คิดคอร์รัปชัน ผลลัพธ์ของคนประพฤติแบบนั้นก็คือเหตุการณ์ตอนเปิดเรื่อง
ความตายในลักษณะคล้ายกันยังมีให้พบในอีก 5 ปีให้หลัง กับชีวิตของ ‘ครูปิยะ’ จาก ‘ครูบ้านนอก’ หนังดังอีกเรื่องที่ออกฉายในยุคปฏิรูปเมื่อปี 2521 ซึ่งจัดว่าเป็นหนังม้ามืด ทำเงินถล่มทลาย ทั้งที่ไม่มีใครมีชื่อเสียง เป็นหน้าใหม่กันทั้งนักแสดงนำและผู้กำกับ เพราะทั้ง ปิยะ ตระกูลราษฎร์ หรือ สุรสีห์ ผาธรรม ต่างเคยมี ‘มนต์รักแม่น้ำมูล’ (2520) เป็นผลงานก่อนหน้ามาเรื่องเดียวเท่านั้น และก็ไม่ใช่หนังทำเงิน
เช่นเดียวกับหมอกานต์ ครูปิยะเป็นเด็กหนุ่มที่มีความใฝ่ฝันบางประการที่แตกต่างจากใคร ในขณะปาร์ตี้จบการศึกษาที่เพื่อนฝูงกำลังดื่มกินกันอย่างสนุกสนาน เขากลับหวนคิดไปถึงอีกฟากของแผ่นดินเดียวกันที่ผืนดินแห้งแตก ปิยะจึงเลือกไปเป็นครูที่ภาคอีสาน ในหมู่บ้านห่างไกลและแล้งนัก เด็กแถวนั้นขาดทุกอย่างในการเติบโตอย่างสมบูรณ์ เพราะลำพังผู้ปกครองเองก็ทุกข์ยากมากโข ครูปิยะจึงไม่ได้ทำหน้าที่แค่ให้ความรู้แก่ศิษย์ แต่ยังพยายามช่วยเหลือชาวบ้านทุกทางอย่างเต็มกำลัง
และด้วยลักษณะแบบนี้ของตัวละคร ซึ่งดัดแปลงมาจากนิยายของครูคำหมาน คนไค เมื่อเขาเห็นความไม่ถูกต้อง อิทธิพลเถื่อนกำลังทำลายป่า แทนที่จะนิ่งเฉย มันจึงกลายเป็นจุดจบ-จากไปก่อนวัยอันควรด้วยการฆาตกรรม
‘Butch Cassidy and the Sundance Kid’ (2512) เป็นเรื่องหนึ่งซึ่งนำช็อตสุดท้ายของหนังมาใช้เป็นโปสเตอร์ ด้วยภาพของ พอล นิวแมน กับ โรเบิร์ต เรดฟอร์ด ควงปืนวิ่งตรงเข้ามา แลดูเหมือนช็อตแอ็กชันหนังคาวบอยทั่วไป แต่มากกว่านั้นหลังจากได้ชมก็จะรู้ว่ามันคือจุดจบของเรื่องราวกับช่วงเวลาสุดท้ายในชีวิตของเพื่อนสองคน ส่วนหนังไทยก็เคยมีโปสเตอร์ลักษณะนี้เหมือนกัน และออกจะแสดงความจะแจ้งของความตายเสียยิ่งกว่า ด้วยภาพของชายคนหนึ่งกำลังนอนคว่ำหน้าอยู่บนพื้นในมุมมองพระเจ้า พร้อมกับชื่อ ‘คนแซ่ลี้’ หนังไทยเมื่อปี 2536 ของผู้กำกับ ชูชัย องอาจชัย
จากบทหนังของ วิไลลักษณ์ พูลประเสริฐ เล่าเรื่องของ ‘แจ็ค’ (จักรกฤษณ์ อำมรัตน์) ตำรวจหนุ่มที่จำต้องหนีไปใช้ชีวิตที่ประเทศเล็กๆ ในยุโรป เพื่อให้พ้นการตามล่าเอาชีวิต จากการเข้าไปทำคดีที่มีผู้มีอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้อง และเขาก็ทำได้แค่หนีตาย ก่อนจะได้พบพยานหลักฐานสำคัญเพื่อเอาผิดคนที่ตามไล่ล่า แจ็คจึงตัดสินใจกลับเมืองไทยเพื่อตอบโต้เปิดโปง แต่ไม่ทันจะได้ทำอย่างคิด เขาก็พบกับเหตุการณ์ที่ทำให้อยู่ในสภาพแบบที่ผู้ชมได้เห็นตั้งแต่บนโปสเตอร์หรือใบปิด
หากดูจากพล็อตอาจจะรู้สึกคุ้น เพราะเหตุการณ์ที่คล้ายกันแต่เป็นเรื่องจริงของนายตำรวจคนหนึ่งที่ต้องหนีไปอยู่ออสเตรเลียจนบัดนี้เพราะไปขัดแย้งกับผู้มีอำนาจจากการทำคดีโรฮิงญา แถมยังเกิดขึ้นห่างจากวันที่หนังเรื่องนี้ออกฉายร่วม 30 ปี เป็นเรื่องเดิมๆ ที่ไม่มีแต่ในหนัง ไม่ต่างจากปัญหาคอร์รัปชันกับอิทธิพลมืดที่ทำให้ความยุติธรรมของไทยกลายเป็นกฎของชนเผ่าหนึ่งเท่านั้น
น่าเสียดายที่เรื่องนี้ไม่ใช่หนังทำเงิน แต่ก็ได้รับเสียงวิจารณ์ในแง่ดี นับเป็นหนังเด่นเรื่องหนึ่งในทศวรรษที่หนังไทยตกต่ำ อย่างไรก็ดี ถ้าเทียบกันระหว่าง ‘เขาชื่อกานต์’ กับ ‘ครูบ้านนอก’ หนังไทยที่ให้ความสำคัญกับความตายและน่าจะเป็นหนังทำเงินมากที่สุดคงเป็น ‘น้ำพุ’ เมื่อปี 2527 ของ ยุทธนา มุกดาสนิท อดีตผู้ช่วยผู้กำกับของท่านมุ้ย ที่นำ ‘เรื่องของน้ำพุ’ ของ สุวรรณี สุคนธา กับ ‘พระจันทร์สีน้ำเงิน’ นิยายอีกเรื่องของเธอมาทำเป็นบทหนัง
ยุทธนาเลือกเปิดเรื่องเหมือนกับ ‘เขาชื่อกานต์’ ของท่านมุ้ย ด้วยความตายของ ‘น้ำพุ’ (อำพล ลำพูน) ลูกชายคนเดียวของอดีตบก.นิตยสารลลนา ก่อนเรื่องราวจะพาย้อนกลับไปตั้งแต่เขาเกิดจนเติบโตเข้าสู่วัยรุ่น กระทั่งหวนกลับมายังจุดเริ่มต้นอีกครั้ง
“แม่: พุ แม่ขอโทษ…แม่ผิดเอง ผิดที่เลี้ยงลูกไม่เป็น…(ก้มลงกระซิบข้างหู) หลับให้สบายนะลูก…
แม่สั่งเสียลูกเป็นครั้งสุดท้าย…น้ำตาแม่หยดลงผสมกับคราบน้ำตาศพลูก…”
คัตสุดท้ายในบทหนังเขียนไว้แบบนั้น สำหรับความตายของเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งซึ่งอาจเป็นสมาชิกในครอบครัวของใครก็ได้ ไม่ใช่ความตายจากการรักษาความเชื่อบางอย่างแบบหมอกานต์ ครูปิยะ หรือ แจ็ค แต่เป็นมรณกรรมที่ถูกนำเสนอเพื่อเป็นอุทาหรณ์ถึงการเข้าไปข้องเกี่ยวกับยาเสพติด ภัยมืดที่สามารถเข้าทุบทำลายทุกจิตใจที่บอบบาง
และปัญหานี้ก็เหมือนกับทุกความตายในหนังไทยทั้งหมดที่ยกมา มันยังวนเวียนมาทำร้ายชีวิตแล้วชีวิตเล่า ซ้ำดูจะรุนแรงขึ้นด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นการคอร์รัปชัน อำนาจเหนือกฎหมายที่ถูกปล่อยปละ กับปัจจุบันที่ยาเสพติดไม่ได้มีแค่แลกเกอร์ กัญชา หรือผงขาวเหมือนในหนังไทยวันวานอีก ความตายจากทุกเรื่องจึงเป็นความตายโดยไม่จำเป็น แต่กลับมีอยู่รอบตัวเรามาช้านาน จนเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของสัจธรรมในแบบที่ไม่ควรจะเป็น
เป็นทั้งความเสื่อมและความเสี่ยงที่ทำให้เราต้องรู้จัก-จำใจยอมรับการ “อยู่ให้เป็น” กันเรื่อยมา