เราหยิบหนังสือ ‘โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง’ ขึ้นมาอ่าน เมื่อรู้ว่าจะได้พูดคุยกับอาจารย์ผุสดี นาวาวิจิต ผู้แปลหนังสือเล่มนี้เป็นภาษาไทย แม้จะเป็นวรรณกรรมเยาวชน เรื่องราวของเด็กหญิงโต๊ะโตะในโรงเรียนโทโมเอกลับจับใจผู้ใหญ่อย่างเราจนต้องพลิกอ่านต่อบทแล้วบทเล่า
“ผู้ใหญ่ก็อ่านวรรณกรรมเยาวชนได้ทั้งยังอ่านได้อย่างมีความสุขด้วย” อาจารย์ผุสดีบอกเราเมื่อพบกัน “เราทุกคนมีความเป็นเด็กอยู่ในตัวไม่เคยหายไปไหนแต่พอโตขึ้นเราต้องใช้ชีวิตแบบผู้ใหญ่และมีหลายอย่างที่ต้องรับผิดชอบเราก็จะลืมความสุขหรือความพอใจง่ายๆ เหมือนที่เด็กเห็นเช่นเห็นดอกไม้ดอกเล็กๆ น่ารักดอกหนึ่งก็มีความสุขเพราะฉะนั้นเวลาที่เราเจอสิ่งที่ทำให้รำลึกถึงความเป็นเด็กอย่างการอ่านวรรณกรรมเยาวชนความเป็นเด็กของเราก็จะกลับคืนมา”
การที่ตัวตนในวัยเด็กยังอยู่กับเราถึงตอนนี้สิ่งที่เราเรียนรู้ช่วงแรกเริ่มของชีวิตจึงสำคัญมาก
“ผู้ใหญ่จะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับว่าเขาผ่านพ้นช่วงวัยเด็กมาอย่างไรประสบการณ์วัยเด็กเปลี่ยนนักบุญเป็นคนบาปได้ในทันที” อาจารย์ผุสดีผู้จบปริญญาตรีสาขาวรรณกรรมเยาวชนจากมหาวิทยาลัยโอชาโนมิสึประเทศญี่ปุ่นอธิบาย “เพื่อจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีเด็กต้องเรียนรู้เรื่องกฎเกณฑ์ของสังคมต้องมีความรู้มีการศึกษาและมีสุนทรียะเพื่อให้เขามีจิตใจละเอียดอ่อนไม่ว่าจะเป็นเรื่องของดนตรีหรือศิลปะอย่างที่ญี่ปุ่นเขาจะให้เด็กฟังดนตรีคลาสสิกตั้งแต่อยู่ในท้องในโรงเรียนก็มีการสอนดนตรีทุกระดับชั้นทำให้เด็กรู้จักรักเสียงดนตรีตั้งแต่เล็ก”
เมื่อเอ่ยมาถึงตอนนี้อาจารย์ผุสดีก็เล่าเรื่องแดนอาทิตย์อุทัยให้เราฟังต่ออย่างผู้รู้จริงทั้งเรื่องการศึกษาสภาพสังคมและนิสัยผู้คนเพราะอาจารย์ผุสดีเคยพำนักอยู่ที่ญี่ปุ่นถึง 10 ปีและเมื่อกลับมาเมืองไทยก็ทำงานเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นมากมายตั้งแต่แปลหนังสือเป็นล่ามไปจนถึงเคยดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานบริษัทในเครือสถานีโทรทัศน์ NHK ประจำประเทศไทย
“บอกไม่ได้หรอกว่าญี่ปุ่นดีกว่าไทยหรือไทยดีกว่าญี่ปุ่น” หลังเล่าเรื่องไปพักใหญ่อาจารย์ผุสดีก็เอ่ยประโยคนี้กับเรายิ้มๆ “แต่ถ้าจะเอาอะไรจากญี่ปุ่นมาใช้ มันก็อาจเป็นประโยชน์ สิ่งแรกที่เราน่าจะรับมาจากญี่ปุ่นคือเรื่องระเบียบวินัย ถ้าเปรียบเทียบกัน คนไทยไม่รักษากฎเกณฑ์อะไรเลย ขณะที่ญี่ปุ่นค่อนข้างเข้มงวด เพราะว่าประชากรเยอะ พื้นที่น้อย ภัยพิบัติเยอะ เลยต้องมีกฎเกณฑ์มากมาย ต้องรักษากฎเสมอเพื่อให้อยู่ด้วยกันได้อย่างสันติสุข ถ้าเอาญี่ปุ่นมาบวกไทยแล้วหารสองน่าจะกำลังดี” อาจารย์หัวเราะ
“อีกเรื่องที่เราน่าจะรับมาจากญี่ปุ่นคือเรื่องทำงานเป็นทีม เพราะคนไทยไม่ค่อยคุ้นกับการทำงานด้วยกัน เรามีอีโก้จัด เสนอความเห็นไป ถ้าคนอื่นไม่เอาก็จะไม่ยุ่ง ไม่ช่วยแล้ว ขณะที่คนญี่ปุ่นเวลามีด็อกเตอร์ 10 คนมาทำงานด้วยกัน พอที่ประชุมตกลงว่าจะทำยังไง ถึงแม้จะใช้ข้อสรุปหรือใช้ความเห็นของด็อกเตอร์คนใดคนหนึ่ง คนอื่นก็ยอมรับมตินี้แล้วทำงาน เพราะเขาให้ความสำคัญกับคนอื่นด้วย”
หลังฟังเรื่องญี่ปุ่นจนจุใจ บทสนทนาก็ดำเนินมาถึงช่วงท้าย เราเอ่ยถามอาจารย์ผุสดีถึงสิ่งที่อยากฝากบอกแก่คนรุ่นใหม่ ผู้แปลโต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง นิ่งคิดไปนาน แล้วจึงกล่าวว่าอยากให้อดทนและตั้งใจเรียนรู้
“คนไทยเปลี่ยนงานกันง่ายมาก บางคนเข้าไปทำงาน 1 เดือนบอกไม่เอาแล้ว ทำให้ทำอะไรไม่เป็นสักที แต่คนญี่ปุ่นมีคำพังเพยเปรียบเทียบความสามารถของคนกับการปลูกต้นไม้ บอกว่าต้นท้อต้องใช้เวลา 3 ปีถึงจะมีลูก ถ้าเป็นต้นพลับต้องใช้เวลาถึง 8 ปี หมายความว่า ให้เรียนรู้และทำงานอย่างอดทน เพราะฉะนั้นไปทำงานที่ไหนก็อย่าเบื่อ อย่าท้อง่าย”
นอกจากได้รู้ว่าความเป็นเด็กแสนสดใสไม่ได้หล่นหายระหว่างการเป็นผู้ใหญ่ คำพูดทิ้งท้ายของอาจารย์ผุสดียังบอกเราว่า หากเข้มแข็งมากพอ เราทุกคนจะเติบโตอย่างงดงาม