01
หนังสือเรียน
“ถ้าใครสักคนเพียงแค่สามารถจดจำสิ่งที่เคยเห็น
เขาจะไม่มีวันขาดแคลน อาหารสำหรับความคิด หรือรู้สึกว้าเหว่เลย ไม่โดดเดี่ยวเลย”จดหมายบันทึกความของ
Vincent van Gogh ถึง Theodorus ‘Theo’ van Gogh
ผมอ่านข้อความสำนวนแปร่งปร่าในกระดาษที่ได้รับซ้ำไปซ้ำมา
อ่านไปคิดไปว่าประโยคนี้หมายความว่าอะไร และเกี่ยวข้องอย่างไรกับวิชา ‘วิชาชีพบรรณาธิการ’ ที่ผมขออนุญาตเข้ามานั่งสังเกตการณ์ด้วย
มกุฏ อรฤดี คือผู้สอนวิชานี้ และเป็นผู้ร่วมก่อร่างสร้างหลักสูตรวิชาโทบรรณาธิการศึกษา
ของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
แล้ว มกุฏ อรฤดี คือใคร
คนที่คลุกคลีกับวงการวรรณกรรมมาเนิ่นนาน
รู้จักเขาในฐานะนักเขียนชื่อดังเจ้าของนามปากกา นิพพานฯ และ วาวแพร
ออกหนังสือมาแล้ว 17 เล่ม ทั้งรวมเรื่องสั้น นวนิยาย
และวรรณกรรมเยาวชน มีผลงานขึ้นหิ้งอย่าง ผีเสื้อและดอกไม้ ปีกความฝัน
พราวแสงรุ้ง เพลงดวงดาว และ เด็กชายจากดาวอื่น
หนังสือของเขาได้รับรางวัลวรรณกรรมระดับประเทศมากมาย แปลไปแล้ว 4 ภาษา ติด 1 ใน 100
หนังสือดีที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่าน เป็นหนังสืออ่านนอกเวลา
รวมถึงมีคนนำไปแปรรูปเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์หลายต่อหลายครั้ง
คนที่เพิ่งเข้าสู่วงการวรรณกรรม
รู้จักเขาในฐานะบรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อ
ผู้ผลักดันสุดตัวให้รัฐบาลตั้งสถาบันหนังสือแห่งชาติเพื่อพัฒนาวงการหนังสืออย่างเป็นระบบ
และบทบาทเด่นชัดที่สุดเห็นจะเป็นการลงแรงจนเกิด ‘วิชาบรรณาธิการ’
ในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เขายินดีรับเป็นครูผู้สอนวิชาที่เกี่ยวกับบรรณาธิการ การตรวจแก้ต้นฉบับ รวมถึงการประเมินและตรวจแก้งานแปล ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
เขาสอนหนังสือมาราว 10
ปี ขับรถไปกลับกรุงเทพฯ – บางแสน อย่างน้อยๆ
ก็หนึ่งแสนกิโลเมตร และทำงานสอนไม่น้อยไปกว่างานสำนักพิมพ์
จนสังคมเรียกขานเขาโดยมีคำนำหน้าว่า ‘ครู’ หรือไม่ก็ ‘อาจารย์’
คนในแวดวงหนังสือและนิตยสารจำนวนไม่น้อยเป็นลูกศิษย์ของเขา
ผู้ที่นั่งเรียนพร้อมผมขณะนี้กว่าครึ่งเป็นคนที่อยู่ในแวดวงหนังสือ ทั้งบรรณาธิการ
นักเขียน นักแปล คนทำสำนักพิมพ์ และกองบรรณาธิการนิตยสาร ที่อยากเรียนกับครูผู้ทำหนังสือมาทั้งชีวิต
“อ่านประโยคนี้พร้อมกัน” ศิลปินแห่งชาติ
สาขาวรรณศิลป์ ปี 2555 บอกทุกคนให้อ่านข้อความในกระดาษที่แจก
เมื่อสิ้นเสียงนักเรียน เขาก็พูดต่อ “ลองดูสิว่า ถ้าตรวจทานต้นฉบับจะแก้เรื่องเคาะวรรคยังไง”
นี่คือวิธีที่เขาสอนหนังสือ
เอาตัวอย่างมาวางให้ผู้เรียนลองคิด ลองแก้ ใครคิดอย่างไรก็แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน
ถ้าในห้องเรียนไม่มีคำตอบน่าพอใจ เขาก็เอาประสบการณ์ที่ได้อ่าน ได้เห็น ได้ทำ
มาบอกกล่าว
“แล้วถ้ามองในมุมบรรณาธิการต้นฉบับล่ะ
จะปรับแก้ต้นฉบับนี้ยังไง” บรรณาธิการใหญ่ชวนทุกคนคิดอีกครั้ง
วิธีตรวจต้นฉบับของเขาหลากหลาย ไร้กระบวนท่า
แต่น่าสนใจ อย่างการตรวจโดย ‘ฟัง’ เสียงของคำว่าให้ความรู้สึกอย่างที่ต้องการไหม
หรือดูว่าคำนั้นให้ ‘ภาพ’ อย่างที่อยากให้เห็นหรือเปล่า
“คำว่า ‘พุ่งมาที่เรา’ กับ ‘พุ่งมาหาเรา’ ต่างกันอย่างไร” นี่คือตัวอย่างคำถามง่ายๆ ที่อาจารย์มกุฏชวนคิด
“อย่าใช้ความเคยชินในการตรวจแก้ต้นฉบับ
และไม่มีทฤษฎีตายตัว” เจ้าของรางวัลบรรณาธิการดีเด่น ปี 2555 จากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ พูดประโยคนี้อยู่หลายครั้ง
…
มกุฏ อรฤดี
เติบโตในครอบครัวที่รับซื้อขายยางพารา ในจังหวัดสงขลา เขาเคยอยากเรียนแพทย์
แต่แม่ห้ามไว้ด้วยเห็นตัวอย่างคนในตำบลที่อยากเป็นหมอแล้วเรียนหนักจนกลายเป็นบ้า
ลูกชายคนสุดท้องของบ้านจึงเลือกเรียนครูแทน
แต่เขาไม่เคยเห็นภาพตัวเองยืนสอนหนังสือ
เพราะเป้าหมายชีวิตเพียงอย่างเดียวในตอนนั้นคือ ทำหนังสือ
“ผมคิดว่าตัวเองไม่ได้สอนนะ
ผมแค่ถ่ายทอดประสบการณ์ สิ่งที่ตัวเองรู้มา” ประธานรุ่นผู้จบจากวิทยาลัยครูสงขลาด้วยเกรด
2.08 พูดถึงการสอนที่เพิ่งจบลงไปเมื่อสักครู่
เจ้าของรางวัลผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น
จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เล่าที่มาของการรับบทบาทครูว่า
เดิมทีเขาแค่จัดอบรมวิชานี้ให้ผู้สนใจและอาจารย์ที่จุฬาฯ
ด้วยความหวังว่าจะให้อาจารย์และบุคคลเหล่านั้นนำไปถ่ายทอดต่อ
แต่อาจารย์ทั้งหลายบอกว่ายังรับช่วงสอนต่อไม่ได้
เพราะเนื้อหาเป็นการเก็บเล็กผสมน้อยจากประสบการณ์การทำหนังสืออย่างยาวนานในทุกมิติ
ด้วยความที่อยากเห็นวิชาที่ว่าด้วยทุกเรื่องเกี่ยวกับการทำหนังสือเกิดขึ้น
เขาจึงต้องรับหน้าที่สอนเอง
“หนังสือคือสิ่งที่จรรโลงมนุษย์ให้พัฒนาขึ้น
ทำไมเราจึงละเลยคนที่จะมารับผิดชอบหนังสือ ประเทศอื่นมีหลักสูตรสอนคนทำหนังสือ
เน้นให้เห็นว่าคุณต้องรู้อะไรบ้าง เข้าใจอะไรบ้าง นึกถึงอะไรบ้าง
ที่จีนเป็นถึงหลักสูตรปริญญาเอกนะ” ชายผู้ทำหนังสือเรื่อง ดอนกิโฆเต้ฯ ฉบับภาษาไทยงดงามจนทางสเปนยกย่องให้เป็นเวอร์ชันที่ดีที่สุดในรอบ 400 ปี เล่าถึงหัวใจของวิชานี้
นอกจากหลักสูตรในมหาวิทยาลัยแล้ว ชายวัย 64 ปีคนนี้ยังตั้งใจจะเปิด ‘โรงเรียนสอนวิชาหนังสือ’
สอนทุกเรื่องเกี่ยวกับหนังสือ สำหรับทุกคน
“เห็นพ่อแม่พาลูกไปเรียนบัลเลต์
เราก็อยากเปิดวิชาหนังสือให้เด็กห้าหกขวบเรียนบ้าง สอนว่าหนังสือคืออะไร ทำไมต้องมีหนังสือ
ถ้าต้องทำหนังสือเองจะทำอย่างไร
โรงเรียนที่อังกฤษสอนให้เด็กทำหนังสือเองเรื่องอะไรก็ได้ เขียนอะไรก็ได้
แล้วสอนเย็บเล่ม สอนให้เด็กรักหนังสือก่อน โตขึ้นมาค่อยสอนทฤษฎี”
อาจารย์มกุฏเล่าด้วยแววตาเป็นประกาย
“คนส่วนใหญ่จบไปไม่ได้ทำหนังสือหรอก”
เขาพูดถึงลูกศิษย์ “แต่อย่างน้อยทุกคนก็ได้รู้ว่าหนังสือคืออะไร
ประกอบด้วยอะไร ดีหรือไม่ดีด้วยอะไรได้บ้าง
ส่วนคนที่จบออกไปทำอาชีพนี้จะได้รู้ว่าเขาจะทำหนังสือดีๆ ออกมาได้อย่างไร
ถ้ามีสักคนในรุ่นออกไปทำหนังสือจริงๆ ผมว่าคุ้มแล้ว สร้างคนหนึ่งคนไปทำหนังสือดีๆ
ให้คนเป็นหมื่นเป็นแสนอ่าน
“ผมอยากบอกให้ทุกคนรู้ว่า
เราเป็นเฟืองอันหนึ่งที่ไม่ใช่แค่หมุนอยู่กับที่ตลอดเวลา แต่เราคือเฟืองตัวเล็กๆ
ที่อยู่ในนาฬิกาเรือนหนึ่ง เฟืองนาฬิกาไม่ได้หมุนบ้าหมุนบอไปเรื่อยๆ
แต่มันกำลังทำหน้าที่บอกเวลา”
วิชาที่เขาสอนไม่ใช้ตำราขณะบรรยาย แต่ตำราที่สำคัญคือหนังสือภาษาต่างๆ จำนวนนับพันนับหมื่นเล่มในห้องเรียนวิชาบรรณาธิการศึกษาที่จะหยิบขึ้นมาสอนเรื่องอะไรก็ได้เกี่ยวกับหนังสือ เนื้อหาหลักๆ มาจากคำถามของผู้เรียน บรรยากาศในห้องจึงเป็นการพูดคุยกันระหว่างครูกับศิษย์
อาจารย์มกุฏบอกว่า เขาจดจำสิ่งนี้มาจากครูสมัยเรียนวิทยาลัยครู
“อาจารย์ของผมแต่ละคนสอนหนังสือได้น่าทึ่งมาก
มีสักสองสามคนที่ไม่ใช้ตำราในการสอนเลย เดินเข้ามาก็คุยกัน สิ่งที่เราคุยกันนั้นวิเศษมาก
หลังจากพูดคุยกันแล้วเรารักสิ่งที่เราเคยไม่ชอบเลย เขาเก่งมาก”
อดีตนักศึกษาเจ้าของเกรดเอวิชาฝึกสอน 2 ครั้งบอก
ผมนึกถึงข้อความบนกระดาษที่อาจารย์หยิบยกมาสอนเมื่อต้นชั่วโมง และลงท้ายผมก็ได้ประโยคใหม่มาว่า
ผู้ใดจดจำสิ่งที่เคยได้เห็น เขาย่อมไม่ขาดแคลนอาหารของความคิด ไม่ว้าเหว่เป็นแน่ และมิอ้างว้างเลย
อาจารย์มกุฏจดจำอะไรได้มากมาย
ทั้งที่บันทึกไว้ในสมุดและสมอง นั่นคงเป็นหนึ่งในแหล่งอาหารทางความคิดของเขา
“คนเรียนและคนสอนต้องเคารพซึ่งกันและกัน”
อาจารย์มกุฏเล่าถึงอีกสิ่งที่เขาเรียนรู้จากครูบาอาจารย์
“ผมต้องเคารพนักเรียน เด็กไม่ใช่คนเล็กๆ
แต่เป็นคนซึ่งกำลังเติบโตและจะเติบใหญ่ เราต้องให้เกียรติเขาเสมือนคนคนหนึ่ง
เพราะคนเหล่านี้แหละที่จะมาทำงานแทนเราในอนาคต เราต้องฟังสิ่งที่เขาคิด
อย่าไปสบประมาทว่าเขาด้อยกว่าเรา ถ้าเขาแย่ก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะทำให้เขาดีขึ้น”
แล้วผู้เรียนจำเป็นต้องเคารพผู้สอนไหม
“เวลาไม่เคารพกัน
สิ่งที่ตามมาคือความก้าวร้าว อยากสำแดง ก็เกิดความไม่สงบ การสอนก็ชะงัก
ครูต้องคิดหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้เด็กที่ตั้งใจเรียนได้ความรู้โดยไม่ถูกพวกนี้รบกวน
ต้องแยกสมองไปคิด แต่ถ้าเคารพกัน ก็เกิดความสงบ มันก็ได้วิชาความรู้”
อาจารย์มกุฏยกแก้วน้ำขึ้นจิบแก้กระหาย
หลายคนสงสัยว่าทำไมเขาจึงทุ่มเทกับการสอนมากเพียงนี้
สอนหลายครั้งต่อสัปดาห์ และแต่ละครั้งก็ใช้พลังชีวิตหนักหน่วงเหลือเกิน
ทั้งที่ภาระงานสำนักพิมพ์ก็หนักหนาอยู่แล้ว
“เหมือนกับการปลูกต้นไม้”
อาจารย์มกุฏเปรียบเทียบ
“เอาเมล็ดใส่ลงไปในดิน ใส่ปุ๋ย ช่วงเวลา หนึ่งปี
สองปี สามปี ที่เริ่มปลูกเราไม่ได้อะไรตอบแทนกลับมาเลย
สิ่งที่ผมต้องการไม่ใช่ผลตอบแทนในช่วงสั้นๆ แต่ผมอยากให้เกิดวิชาที่ไม่เคยมี
ถ้าวิชานี้อยู่ได้ในระยะยาวก็เหมือนต้นไม้ใหญ่ จะมีดอกผลให้เก็บกินได้ตลอด”
(จากคอลัมน์ a day with a view – a day 170 ตุลาคม 2557)
อ่านบทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ได้ที่นี่
ภาพ นวลตา วงศ์เจริญ