ความสุขจากวรรณกรรมที่ขีดเขียนชีวิตของ ‘สุมาลี บำรุงสุข’ นักแปลผู้แนะนำแฮร์รี่ พอตเตอร์ ให้ชาวไทยรู้จัก

ความสุขจากวรรณกรรมที่ขีดเขียนชีวิตของ ‘สุมาลี บำรุงสุข’ นักแปลผู้แนะนำแฮร์รี่ พอตเตอร์ ให้ชาวไทยรู้จัก

Highlights

  • สุมาลี บำรุงสุข คือนักแปลผู้พา แฮร์รี่ พอตเตอร์ มาแนะนำตัวกับนักอ่านชาวไทย บางคนจำเธอได้ในฐานะผู้เขียน เรื่องของม่าเหมี่ยว, ม่าเหมี่ยวและเพื่อน, ม็อกซ์ แมวมหัศจรรย์ และวรรณกรรมเยาวชนอีกหลายเรื่อง
  • ไม่ว่าคุณจะคุ้นเคยกับบทบาทไหนมากกว่าก็คงเห็นได้ชัดเจนว่าชีวิตของสุมาลีคลุกคลีอยู่กับตัวบรรจงและหยดหมึกมาตลอด เราถือโอกาสที่ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ฉบับภาษาไทย อายุครบ 20 ปี ชวนสุมาลีคุยเรื่องวรรณกรรมที่ขีดเขียนชีวิตเธอมากว่า 64 ปี และสิ่งที่เธอได้เรียนรู้จากวรรณกรรมเยาวชนแฟนตาซีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งของโลก

สุมาลี

หากพูดว่า ไม่มีเธอนักอ่านชาวไทยคงไม่รู้จัก แฮร์รี่ พอตเตอร์ ก็คงเกินจริงไปนิด

แต่ถ้าพูดว่า เพราะเธอนักอ่านชาวไทยจึงหลงรัก แฮร์รี่ พอตเตอร์ แบบทุกวันนี้ คงมีคนจำนวนไม่น้อยที่พยักหน้าเห็นด้วย

สุมาลี

สำหรับหลายคน สุมาลี บำรุงสุข คือนักแปลเจ้าของสำนวนภาษาอ่านสนุกผู้แปล แฮร์รี่ พอตเตอร์ ถึง 5 เล่มจาก 7 เล่ม เด็กบางคนรู้จักเธอก่อนหน้านั้นในฐานะผู้เขียน เรื่องของม่าเหมี่ยว วรรณกรรมเด็กที่ติด 1 ใน 100 หนังสือดีที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่าน รวมทั้งวรรณกรรมในใจเด็กไทยอีกหลายเรื่อง

ใครเคยอ่านประวัติในหน้าเกือบสุดท้ายของหนังสือที่เธอเขียนและแปลคงรู้ดีว่าสุมาลีคือคนไทยที่ย้ายไปอยู่สหราชอาณาจักรมาหลายสิบปี ตั้งแต่ปี 2539 จนถึงวันนี้เธอย้ายบ้านมาแล้ว 3 เมือง จากเดอรัม แมนเชสเตอร์ และล่าสุดคือลอนดอน เธอทำงานพาร์ตไทม์เป็นอาจารย์พิเศษวิชาการเมืองเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้นักศึกษาปริญญาโทอยู่ระยะหนึ่ง ปัจจุบันเธอทำงานเขียนและแปลเป็นงานประจำ และแอบไปสวมบทเป็นนักท่องพิพิธภัณฑ์ในบางเวลา

สิ่งที่หลายคนอาจไม่รู้คือเธอย้ายไปสหราชอาณาจักรเพื่อสานฝันของ William A. Callahan สามีชาวอเมริกัน ทั้งคู่พบรักกันตอนสุมาลีไปเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเรียนจบสุมาลีต้องกลับมาประเทศไทยเพื่อทำงานใช้ทุน ทำให้ สามีของเธอต้องตามกลับมาด้วย เขาเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยในไทยอยู่หลายปีก่อนจะเรียนรู้ความจริงที่ว่า การเติบโตทางวิชาการในประเทศไทยคือเรื่องยากลำบากสำหรับชาวต่างชาติ แม้ตอนนั้นสุมาลีจะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่กำลังไปได้สวย แต่เธอก็ตัดสินใจย้ายตามเขาไปยังดินแดนที่มีโอกาสมากกว่าอย่างสหราชอาณาจักร

ไม่ใช่การเสียสละเสียทีเดียว เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมาสุมาลีเฝ้ารอวันที่จะได้ทำงานหนังสือที่ตนเองรัก เธอเขียนหนังสือเล่มแรกตอนอายุ 15 ปี และตั้งแต่เข้าเรียนปริญญาตรีที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เธอแทบไม่ได้เล่าเรื่องผ่านตัวอักษรอย่างจริงจัง สุมาลีเคยทำงานให้วารสารสำหรับเด็กชื่อ สวิตา พักหนึ่ง แปลหนังสือให้นานมีบุ๊คส์ไม่กี่เล่ม แต่สุดท้ายเธอก็ต้องกลับมาจดจ่อกับงานประจำ สุมาลีจึงมองว่านี่คือโอกาส

การมาอยู่สหราชอาณาจักรนี้เองทำให้เธอได้รู้จักหนังสือชื่อ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ซึ่งได้รับความนิยมในหมู่นักอ่านชาวอังกฤษอย่างสูงตั้งแต่เล่มแรก

“รู้ทันทีว่านี่คือหนังสือที่นานมีบุ๊คส์กำลังตามหาและเด็กไทยจะต้องชอบแน่ๆ” สุมาลีเล่าถึงหนังสือที่ทำให้เธออยากกลับมาทำงานแปลอีกครั้ง

หลายปีหลังจากเธอแปลประโยคแรกของ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ใครๆ ก็คงเดาออกว่าวรรณกรรมเรื่องนี้ทำให้ชื่อของเธอกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากแค่ไหน สิ่งที่เราสนใจมากกว่านั้นคือเส้นทางชีวิตก่อนและหลังการเป็นนักแปล แฮร์รี่ พอตเตอร์ ของเธอนั้นถูกเขียนขึ้นยังไง 

ยามบ่ายคล้อยตามเวลาประเทศไทยตรงกับยามสายของสหราชอาณาจักร เรานัดพบสุมาลีผ่านโปรแกรมวิดีโอแชตเพื่อสนทนาเรื่องวรรณกรรม 7 ชุดอันเปรียบเสมือนฮอร์ครักซ์ของชีวิตเธอ

สุมาลี

นานมีบุ๊คส์

1. เล่มแรกที่รู้จัก
นิทานเรื่องลูกหมูสามตัว

“ดิฉันเติบโตมาในบ้านที่รักการอ่าน คุณแม่ชอบเล่านิทานให้ดิฉันกับพี่สาววัยไล่เลี่ยกันอีกสองคนฟังก่อนนอน เรื่องแรกๆ ที่คุณแม่ชอบอ่านคือเรื่อง ลูกหมูสามตัว

“ดิฉันกับพี่สาวชอบมาก คะยั้นคะยอให้คุณแม่อ่านให้ฟังทุกคืน พออ่านซ้ำๆ รอบต่อมาคุณแม่เลยไม่ค่อยอ่านให้ฟังเท่าไหร่เพราะพวกเราที่จำขึ้นใจแล้วพากันเล่าแทรก จนในที่สุดคุณแม่ไม่ต้องอ่านเพราะเราสามคนช่วยกันเล่า บ้างก็เล่นละครเป็นหมูสามตัว 

“สำหรับดิฉันการได้ฟังนิทานก่อนนอนเสมอเป็นการปลูกฝังให้รักการอ่านตั้งแต่ยังเล็ก”

siambooks.net

2. เล่มแรกที่พ่อแม่ซื้อให้
หนังสือชุดบ้านเล็กในป่าใหญ่ ของ Laura Ingalls Wilder แปลโดยสุคนธรส

“ช่วงประถมดิฉันยืม บ้านเล็กในป่าใหญ่ มาจากเพื่อนที่โรงเรียน ชอบเล่มนี้เป็นพิเศษเพราะเขาเล่าเรื่องอาหารเก่งเหลือเกิน โดยเฉพาะตอนของเด็กชายชาวนาที่มีการบรรยายของกินแบบเห็นภาพ เบคอนทอดเกรียม แพนเค้กซ้อนเป็นชั้นๆ

“คุณแม่เห็นจึงถามว่ายืมของใครมา ดิฉันตอบว่ายืมเพื่อน หนังสือเล่มนี้ต้องต่อคิวกันทั้งห้องเลยนะ ท่านได้ยินดังนั้นจึงบอกว่า เอาอย่างนี้แล้วกัน เดี๋ยวแม่ซื้อให้ ดิฉันดีใจมาก อ่านเล่มที่คุณแม่ซื้อมาให้จนขาดรุ่งริ่งเลย”

siambooks.net

3. เล่มแรกของนักเขียนไทย
ในฝัน ของโรสลาเรน

“หลังจากแม่อ่านหนังสือให้ฟังจนอ่านเองได้ ดิฉันก็เริ่มอ่านหนังสือที่ท่านสะสม

“ที่บ้านมีหนังสือหลายประเภท ทั้งหนังสือเด็ก วารสาร การ์ตูน นิยาย และอีกมากมาย วรรณกรรมเรื่องแรกที่ดิฉันอ่านไม่ใช่วรรณกรรมเยาวชน แต่เป็นเรื่อง ในฝัน ของโรสลาเรน ดิฉันชอบทุกอย่างของเรื่องนี้ ทั้งตัวละคร ทั้งรูปแบบการเขียนที่เหมือนจดหมาย เรื่องก็น่าตื่นเต้นเพราะเป็นเรื่องที่ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย มันอ่านง่าย อ่านเสร็จแล้วเราสามารถร่วมวงสนทนากับผู้ใหญ่ได้ เป็นการฝึกนิสัยชอบวิเคราะห์ตั้งแต่เด็ก

ในฝัน ยังเป็นนิยายที่ส่งผลต่องานเขียนเรื่องสั้นเรื่องแรกของดิฉัน จำได้ว่าตอนนั้นคุณพ่อซึ่งชอบอ่านหนังสือมากเหมือนกันจัดประกวดการเขียนในบ้าน โดยให้ลูกหลานทั้ง 7 คนมาเขียนเรื่องสั้นแข่งกัน มีเวลาให้ 2 อาทิตย์ ดิฉันนี่เป็นนักเขียนอย่างแท้จริงเพราะคิดไม่ออกว่าจะเขียนอะไรจนถึงวันใกล้ส่ง ในที่สุดก็หยิบเรื่องใกล้ตัวอย่างแมวที่บ้านมาเขียนเล่า และด้วยความที่ชอบเรื่อง ในฝัน มาก จึงเลียนแบบสำนวนโรสลาเรน ตอนนั้นยังไม่รู้ว่านี่คือการฝึกหัดการเขียน เลยได้ซึมซับสำนวนการใช้คำโดยที่เราไม่รู้ตัว

“สุดท้ายเรื่องของเราชนะอันดับ 1 ได้เงินรางวัล 50 บาท คุณแม่ก็พาไปเปิดบัญชีธนาคาร ถือเป็นบัญชีออมทรัพย์แรกที่มี”

su-usedbook.com

4. เล่มที่เป็นต้นแบบการทำงาน
ดวงใจ ของ Edmondo De Amicis แปลโดยซิม วีระไวทยะ

“นอกจาก ในฝัน แล้ว อีกหนึ่งเล่มที่มีอิทธิพลสำคัญต่อการเขียนจนถึงปัจจุบันคือ ดวงใจ ที่แปลโดยคุณซิม วีระไวทยะ เป็นหนังสือเด็กที่รวมข้อความสั้นๆ เกี่ยวกับชีวิตและความสุข-ทุกข์ของมนุษย์ อ่านแล้วกระทบใจ เขามีเทคนิคการเล่าเรื่องที่เก่งกาจจนทำให้เราอยากเล่าเรื่องได้แบบนั้นบ้าง อยากพัฒนาตัวเองจากเรื่องนั้น”

lungkitti.com

5. เล่มที่ทำให้อยากเป็นคนทำหนังสือ
วารสารชัยพฤกษ์

“ดิฉันอ่านวารสาร ชัยพฤกษ์ มาตั้งแต่เด็กเพราะคุณแม่เป็นสมาชิก เรียกว่าเติบโตมาพร้อมกับวารสารเล่มนี้ก็ว่าได้ คอลัมน์ในเล่มมีทั้งเรื่องสั้น เรื่องวิทยาศาสตร์ เรื่องความรู้ เรื่องตลก อ่านแล้วทำให้ดิฉันอยากเป็นคนเขียนหนังสือบ้าง

“ตอนอายุ 14 จึงลองส่งบทความสั้นๆ ไปให้เขา ชิ้นแรกเกี่ยวกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ชิ้นที่สองเกี่ยวกับอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ซึ่งดัดแปลงจากรายงานที่ทำตอนเรียนสาธิตปทุมวัน สุดท้ายก็ได้ตีพิมพ์”

6. เล่มแรกที่ได้ตีพิมพ์
เรื่องของม่าเหมี่ยว ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารสตรีสาร ภาคพิเศษ ภายหลังรวมเล่มกับสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์

“สองเรื่องที่ส่งให้วารสาร ชัยพฤกษ์ เป็นเรื่องที่เกิดจากการค้นคว้า แต่เรื่องที่นับว่าเป็นเรื่องแต่งจริงๆ คือ เรื่องของม่าเหมี่ยว

“ตอนนั้น สตรีสาร ทำเล่มเยาวชนภาคพิเศษ มีการประกวดแต่งเรื่องจากภาพ และมีเงื่อนไขว่าผู้เข้าร่วมต้องอายุไม่เกิน 15 ปี ตอนนั้นดิฉันอายุเกินมาแล้ว 1 เดือนก็เลยเขียนไปถามบรรณาธิการว่าขอลงประกวดด้วยได้ไหมเพราะอยากแต่งมาก กองบรรณาธิการเขียนตอบมาว่าอย่าเลย อายุเกินเกณฑ์แล้ว ถ้าอยากเขียนเรื่องอะไรให้เขียนมา ดิฉันก็เลยเขียน เรื่องของม่าเหมี่ยว ส่งไป เป็นเรื่องราวของเด็กสองคนซึ่งเป็นเพื่อนบ้านกัน เอาเรื่องจริงจากชีวิตมาเล่าบ้าง ปั้นแต่งเองบ้าง

“การส่งเรื่องลงนิตยสารสมัยก่อนไม่มีการแจ้งผลล่วงหน้า เราต้องลุ้นเอาเองว่าเรื่องของเราได้ตีพิมพ์ไหม จำได้ว่าวันที่ สตรีสาร ลงให้ดิฉันดีใจเหลือเกิน พอได้เห็นว่านี่คือเรื่องของเรา มีภาพประกอบด้วยนะ ดิฉันปลาบปลื้มหน้าบานแฉ่งเลย คุณแม่กับคุณพ่อก็มีความสุข บอกว่าลูกประสบความสำเร็จแล้ว (หัวเราะ)

“อีกระยะหนึ่งเขาถึงตามตัวให้เราไปรับเงินค่าเขียนเรื่อง คุณแม่ช่วยรับแทนเพราะว่าเป็นเวลาเรียนหนังสือของเรา ได้ค่าเรื่องมา 15 บาท เยอะทีเดียวสำหรับเด็กคนหนึ่ง คุณแม่ก็พลอยสนิทสนมกับกองบรรณาธิการ สตรีสาร ไปด้วย”

7. เล่มที่มีความหมายมากที่สุด
หนังสือชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ ของ J.K. Rowling

“แน่นอนว่าต้องเป็น แฮร์รี่ พอตเตอร์ อยู่แล้ว เพราะวรรณกรรมเรื่องนี้ทำให้ดิฉันได้กลับมาทำงานหนังสืออย่างจริงจังหลังจากทำๆ หยุดๆ มาหลายปี เป็นการทำงานที่สนุกสนาน และทำให้ดิฉันกลายเป็นนักแปลที่หลายคนรู้จัก”

 

ย้อนกลับไปตอนแปล แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ ประสบการณ์ตอนนั้นเป็นยังไง

สนุกกับการแปลแต่ก็เหนื่อยและเครียดมาก เพราะต้องทำงานแข่งกับเวลา ช่วงนั้นดิฉันอยู่เมืองเดอรัมและรับงานสอนหนังสือนักศึกษาปริญญาโทไปด้วย สำนักพิมพ์ก็เร่งเอาต้นฉบับสุดๆ ทำให้ดิฉันต้องทำงานหนักแต่เช้าทุกวัน จำได้ว่าพอทำเสร็จทุกๆ 5 บทก็จะทยอยส่งไปให้นานมีบุ๊คส์ เพราะกองบรรณาธิการก็ต้องการอ่าน ต้องการทำต้นฉบับให้ไวที่สุด

 

กดดันไหมกับการแปลวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่และโด่งดังระดับโลก

ไม่ เพราะตอนนั้นยังไม่รู้ว่าจะโด่งดัง ดิฉันแปลด้วยใจรัก ถึงจะมีประสบการณ์น้อย แปลหนังสือมาแค่ 2-3 เล่มกับวิทยานิพนธ์แนววิชาการ แต่การแปลก็อยู่ในความสนใจเสมอ

ตอนแปล แฮร์รี่ พอตเตอร์ ต้องยอมรับตามตรงว่าเป็นการฝึกฝีมือครั้งใหญ่เพราะไม่เคยแปลเล่มใหญ่ๆ แบบนี้มาก่อน แต่ตอนนั้นเนื่องจากชอบเองจึงแปลแล้วสนุก บอกตามตรงว่า แฮร์รี่ แปลแล้วอายุยืนมาก อ่านแล้วก็ยังหัวเราะคิกคักชอบใจสำนวนที่เจ.เค. โรว์ลิ่ง ใช้ อ่านไปยิ้มไป มีความสุข แล้วไม่เคยคิดเลยว่าเด็กไทยจะมีปฏิกิริยาตอบรับยังไง จนกระทั่งตอนที่ดิฉันบินกลับไทยไปเข้าร่วมงานเปิดตัวหนังสือเล่ม 3 ได้เห็นเด็กกับพ่อแม่พากันมาซื้อหนังสือ ดิฉันตื่นตะลึงไปเลยว่าทำไมสังคมไทยเราถึงมีคนชอบหนังสือขนาดนี้

 

กลุ่มคนอ่าน แฮร์รี่ พอตเตอร์ มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ การแปลหนังสือให้คนทั้งสองกลุ่มอ่านสนุกเรียกร้องอะไรบ้าง

ดิฉันรู้ว่านี่เป็นหนังสือสำหรับคนหลายกลุ่ม แต่กลุ่มที่โฟกัสจริงๆ จะเป็นเด็กเสียมากกว่า เพราะเด็กรับรู้เรื่องภาษาและความเหมาะสมไม่เท่ากับผู้ใหญ่ ดิฉันจึงระมัดระวังการใช้ภาษา ไม่ใช่ศัพท์แสงที่เป็นศัพท์สูงแต่เป็นศัพท์ที่ตรงความหมาย ที่สำคัญไม่ให้มีคำหยาบคาย

บางครั้งอาจลดความแรงลง เช่น เครื่องรางยมทูต ฉากที่มอลลี วีสลีย์ ปกป้องลูกจากเบลลาทริกซ์ เลสแตรงจ์ เธอพูดว่า ‘Not my daughter, you bitch!’ ซึ่ง bitch เป็นคำด่า นักแปลทั้งหลายมักจะแปลว่านังหมาตัวเมีย อีเวร หรือนังตัวร้าย แต่ดิฉันคิดว่าในเมื่อนี่เป็นหนังสือที่มีผู้อ่านเป็นเด็กด้วย เลยแปลเลี่ยงไปใช้คำว่านังลูกหมาแทน เพราะต้องการให้คนอ่านเห็นว่ามอลลีมองยัยนี่เป็นหมาเด็กอะไรอย่างนั้น

แน่นอนว่าตอนเขียนหนังสือนักเขียนต้องใช้จินตนาการ แล้วกับคนแปลจินตนาการสำคัญแค่ไหน

สำคัญมาก เพราะเราก็ต้องจินตนาการตามเขาไปด้วย จินตนาการที่นักเขียนใช้เป็นจินตนาการที่เขาสร้างสรรค์เองเลย แต่จินตนาการของนักแปลคือการเลียนแบบตาม เพราะเราอ่านจากตัวอักษร ไม่ได้คิดอะไรที่ฟุ้งเฟ้อไปนอกเรื่องของเขา

 

เหมือนต้องจินตนาการภาพที่คนเขียนเห็นให้ได้

ใช่ หลายครั้งดิฉันต้องมานั่งคิดทีละระดับทีละขั้นว่าที่เจ.เค. โรว์ลิ่ง เขียนหมายความว่ายังไง บางทีต้องอ่านทวน 3-4 รอบเพื่อให้เข้าใจ ของมันตั้งอยู่อย่างนี้ มันอยู่ตรงมุมไหน เพราะถ้าไม่เห็นภาพเราจะแปลไม่ได้เลย

 

เห็นว่าคุณเคยเจอเจ.เค. โรว์ลิ่ง มาแล้วด้วย

ในงานเลี้ยงผู้จัดพิมพ์นานาชาติเมื่อหลายปีก่อนที่บริษัทตัวแทนของเจ.เค. โรว์ลิ่ง จัดขึ้นในลอนดอน โชคดีมากเลย ตอนแรกดิฉันไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมงานเพราะเป็นแค่นักแปล แต่คุณสุวดี ผู้บริหารนานมีบุ๊คส์เรียกให้ไปด้วยกัน สุดท้ายก็ได้เข้าร่วมงาน

งานจัดที่ตึก Goldsmiths ซึ่งสวยงามมาก เขาจัดโต๊ะเป็น 4 โซนตามบ้านในฮอกวอตส์ คือบ้านกริฟฟินดอร์ ฮัฟเฟิลพัฟ เรเวนคลอ และสลิธีริน แล้วก็มีเก้าอี้ว่างเพื่อให้เจ.เค. โรว์ลิ่ง ผลัดมานั่งคุยสังสรรค์กับเราได้ โดยมีกฎว่าห้ามนำหนังสือไปให้เธอเซ็นชื่อเท่านั้น

เท่าที่เห็น เธอเป็นสาวสวยรูปร่างสูงโปร่ง ผมทอง แต่งตัวดี ดิฉันคิดว่าเธอเป็นคนขี้อายนะ พอได้คุยกันเธอเล่าเรื่องตอนที่ไปทัวร์แจกลายเซ็นที่อเมริกาให้ฟังว่า มีเหตุการณ์แปลกๆ เกิดขึ้นขณะกำลังแจกลายเซ็น อยู่ดีๆ ก็มีผู้หญิงผมยาวสลวยมายื่นหนังสือให้เซ็นแล้วบอกว่า Thank you very much. You did great things for our kind. เจ.เค.ก็นิ่งไป เพราะประโยค ‘ขอบคุณที่ทำเรื่องดีๆ ให้พวกของเรา’ เท่านั้นก็รู้เลยว่าผู้หญิงคนนั้นเป็นแม่มด หรืออย่างน้อยก็คิดว่าตัวเองเป็นแม่มด ซึ่งในอเมริกามีคนที่เชื่อเรื่องพวกนี้อยู่ เธอบอกว่าเธอจำเรื่องนี้ได้ไม่เคยลืม

แต่ความจริงแล้วเจ.เค.ไม่ได้เชื่อเรื่องพ่อมดแม่มดนะ ถึงเธอจะเขียนเกี่ยวกับพวกเขา แต่เธอเป็นคริสเตียน เพราะฉะนั้น แฮร์รี่ พอตเตอร์ จึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของคริสเตียนที่เน้นเรื่องความรัก มิตรภาพ และการเสียสละ 

 

สุมาลี

นัดพบกับอาจารีย์ สุทธิโรจน์ บ.ก. นานมีบุ๊คส์ในลอนดอน ณ ร้านชานชาลาหมายเลข 9 เศษ 3 ส่วน 4 ที่สถานีรถไฟคิงส์ครอสส์

 

ถ้าให้นึกถึงประสบการณ์ที่ประทับใจระหว่างการแปล แฮร์รี่ พอตเตอร์ คุณจะนึกถึงอะไร

เรื่องแรกคือการทำงานกับบรรณาธิการนานมีบุ๊คส์ เพราะตอนดิฉันเป็นนักเขียนไม่ค่อยได้ใกล้ชิดกับบรรณาธิการเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะติดต่อกันตอนแก้ต้นฉบับนิดๆ หน่อยๆ หรือบางครั้งเขาแก้แล้วก็ไม่ได้ส่งงานกลับมาให้เราดู แต่กับ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ดิฉันตกลงกับบรรณาธิการตั้งแต่แรกว่า ถ้าแก้งานแล้วส่งมาให้ดูด้วยเพราะอาจแก้ผิดเพราะเข้าใจคลาดเคลื่อน บางครั้งที่เราแปลเยิ่นเย้อหรือไม่ตรงประเด็นเขาจะเสนอให้เราปรับภาษาหรือเปลี่ยนคำใหม่ ดิฉันถึงเห็นคุณค่าของบรรณาธิการที่เก่งและมีความชำนาญในการช่วยให้งานของนักเขียนและนักแปลดีขึ้นจากการแปลเรื่องนี้เลย

เรื่องที่สอง แฮร์รี่ พอตเตอร์ ทำให้ดิฉันได้เจอกับแฟนของ แฮร์รี่ พอตเตอร์ รุ่นใหม่ๆ มากขึ้น ได้เห็นความสนใจและความทุ่มเทเวลาที่เขาชอบอะไรจริงๆ แล้วเขาทำอะไรสร้างสรรค์ได้มากมาย ทำเว็บไซต์ก็ได้ ช่วยกันแปลเรื่องก่อนฉบับจริงจะวางขายก็ได้ เพราะว่าคอยสุมาลีนี่ไม่ทันใจ (หัวเราะ) บางคนกลายเป็นนักวาดภาพที่มีชื่อเสียง มีความชำนาญ หรืออย่างเด็กคนหนึ่งที่ดิฉันรู้จักคือน้องโจ้ (ปัณณ์พัฒน์ ตรีตรุยานนท์) แฟนพันธ์ุแท้ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ปี 2557 เจ้าของเว็บไซต์ Muggle-V เขาส่งผลงานภาพกราฟิกของตัวเองเข้าประกวดโปสเตอร์ภาพยนตร์ Fantastic Beasts: The Crimes of Grindelwald ซึ่งมีแฟนคลับ แฮร์รี่ จากทั่วโลกส่งประกวด แต่เขาได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 5 ภาพที่ดีที่สุด

จากหนังสือเล่มเล็กๆ สามารถจุดประกายให้เด็กไทยได้ทำอะไรที่มีชื่อเสียงระดับโลก การได้เห็นว่าความรักในหนังสือพาเขาไปได้ไกลแค่ไหนทำให้ดิฉันชื่นใจมาก

สุมาลี

สุมาลีและโจ้–ปัณณ์พัฒน์ ตรีตรุยานนท์ แฟนพันธุ์แท้ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ปี 2557

แล้ว แฮร์รี่ พอตเตอร์ มีอิทธิพลต่อคุณบ้างไหม

มี อย่างแรกคงเป็นอิทธิพลเรื่องการทำงาน การแปลฝึกให้ฉันเป็นคนละเอียดถี่ถ้วน บอกตามตรงว่าดิฉันเป็นคนเลินเล่อ ทำอะไรไวๆ ไว้ก่อน แต่การแปล แฮร์รี่ พอตเตอร์ ทำให้เราค่อยๆ ฝึกนิสัยให้เป็นคนละเอียดเพื่องานที่ดี เรื่องที่สองคือการเรียนรู้ความจริงของชีวิต แฮร์รี่ พอตเตอร์ ทำให้ดิฉันได้รู้ว่า การเป็นคนดีไม่ได้หมายความว่าดีพร้อม เราต่างมีข้อบกพร่อง แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือการเป็นคนจริงใจต่อผู้อื่น จริงใจต่อตัวเอง แฮร์รี่และตัวละครเด็กๆ ทั้งหลายคือตัวละครที่จริงใจต่อผู้อื่นและไม่เคยหลอกลวงใคร

สิ่งสำคัญอีกอย่างคือการมีความรัก เจ.เค. โรว์ลิ่ง ย้ำเสมอว่าไม่จำเป็นว่าผู้ที่เก่งกาจเวทมนตร์จะเป็นผู้ชนะเสมอไป ขนาดโวลเดอมอร์ยังต้องสยบแก่แฮร์รี่ที่ฝีมืออ่อนหัดกว่าหลายเท่า อย่างใน ภาคีนกฟีนิกซ์ ที่โวลเดอมอร์ควบคุมจิตใจแฮร์รี่ได้ แต่พอแฮร์รี่ยอมรับกับตัวเองว่าเขากำลังจะตาย และต้องพ่ายแพ้แก่โวลเดอมอร์ เมื่อเขาตายไปแล้วเขาจะได้ไปเจอคนที่เขารักอย่างซิเรียส ความรักที่ท่วมท้นในตัวแฮร์รี่ทำให้โวลเดอมอร์ไม่สามารถควบคุมแฮร์รี่ได้อีกต่อไป

 

อย่างที่ในเรื่องย้ำอยู่เสมอว่า ความรักคือมนตร์วิเศษ

ใช่ นี่คือพรวิเศษที่เจ.เค. โรว์ลิ่ง บอกไว้ตั้งแต่ต้น การมีความรักความเมตตาต่อผู้อื่นคือสิ่งที่จะค้ำจุนทุกอย่าง เป็นเหตุผลว่าทำไมถึงมีคนชอบ แฮร์รี่ พอตเตอร์ มาก เพราะเขาสอนสิ่งที่เป็นความหวังของมนุษยชาติ เขาไม่เห็นว่ามนุษย์เป็นสิ่งที่น่าชัง แม้จะมีส่วนเลวอยู่ในตัว แต่ความดีในตัวของมนุษย์ก็ยังสามารถเอาชนะความเลวในตัวเองได้ 

 

อีกอย่างที่เห็นได้ชัดมากคือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ สอดแทรกประเด็นหนักๆ ในเรื่อง ไม่ว่าจะสงครามและความตาย เหมือนอยากสอนให้เด็กมองว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องปกติ คุณเห็นด้วยกับเรื่องนี้ไหม

พวกนักจิตวิทยารุ่นเก่าๆ มักจะบอกว่าวรรณกรรมเยาวชนไม่ควรมีเรื่องเกี่ยวกับความตาย เรื่องหดหู่ เรื่องของเด็กจะต้องมีความหวังเสมอ อันนี้ดิฉันเห็นด้วยว่าวรรณกรรมเยาวชนทั้งหลายควร ‘จบ’ ลงด้วยความหวังเสมอ แต่การพูดถึงเรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เหมือนกัน

อย่าง ถ้วยอัคนี ที่มีฉากเด็กตาย คนก็ช็อกมาก ไปรุมว่าเจ.เค.ว่า ทำไมตัวละครเด็กต้องตาย แต่ดิฉันเห็นด้วย ทำไมล่ะ ในเมื่อชีวิตจริงของเด็กก็ต้องมีญาติพี่น้อง มีคนรอบตัวตายเป็นเรื่องธรรมดา และเด็กที่ยอมรับความจริงว่าชีวิตไม่เที่ยงได้ก็จะยอมรับเรื่องอื่นๆ ในชีวิตได้ง่ายขึ้น เพราะชีวิตจริงไม่มีอะไรผาสุกตลอดกาล

เด็กไม่ได้เปราะบาง พวกเขามีความยืดหยุ่นและความแข็งแกร่งสูงมาก เรื่องส่วนใหญ่ที่เป็นเรื่องเศร้า โศกนาฏกรรม เรื่องใครตายต่างๆ ไม่เป็นปัญหา ถ้ามันทำให้เข้าใจชีวิต อ่านแล้วต้องเข้าใจว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ ในขณะเดียวกันก็ไม่เน้นเรื่องความหดหู่ ชีวิตจะหมดหวังไปทั้งหมด

 

ในฐานะคนที่พาหนังสือเล่มนี้มาให้เด็กไทยรู้จัก ตอนคุณแปลประโยคสุดท้ายจบคุณคิดอะไร

โล่งอก (หัวเราะ) เพราะการแปล แฮร์รี่ พอตเตอร์ เป็นสิ่งที่หนักใจ ยิ่งตอนหลังๆ แฟนๆ เร่งเร้ามาก มีการแปลแข่งในเว็บไซต์ พอดิฉันแปลจบเลยโล่งอก มีความสุข ในขณะเดียวกันก็โหวงๆ นิดหน่อยว่าเราจะไม่ได้อ่าน แฮร์รี่ พอตเตอร์ อีกแล้วนะ โชคดีหน่อยที่หนังสือชุดนี้กลับมาอ่านซ้ำก็ยังสนุกสนานเหมือนเดิม

 สุมาลี

พอกลับไปอ่านอีกครั้ง คุณพบอะไรที่แตกต่างไปจากตอนอ่านครั้งแรกบ้าง

ดิฉันเข้าใจตัวละครบางตัวมากขึ้น อย่างป้าเพ็ตทูเนียตอนอ่านครั้งแรกดิฉันไม่ชอบเลย ทำไมเธอถึงร้ายกับแฮร์รี่ พอตเตอร์ เหลือเกิน แต่พอผ่านเล่มจบมาแล้วเราก็จะมองป้าเพ็ตทูเนียว่าเธอไม่ได้เลวร้ายอย่างที่เคยคิด ความช้ำใจบวกกับความกลัวสามีทำให้เธอปฏิบัติกับแฮร์รี่ไม่ดี หรืออย่างสเนปก็เหมือนกัน ตอนอ่านครั้งแรกรู้สึกว่าเขาเลวเหลือเกิน แต่ตอนกลับมาอ่านใหม่ก็เข้าใจเขามากขึ้น ตอนมองเห็นหน้าแฮร์รี่เขาเห็นทั้งเจมส์และลิลี คนหนึ่งรักสุดๆ คนหนึ่งเกลียดสุดๆ ถ้าดิฉันเป็นสเนปคงกระอักเลือดไปแล้วเพราะไม่รู้จะรู้สึกยังไง (หัวเราะ)

 

เหมือนทุกครั้งที่กลับไปอ่านจะได้มุมมองใหม่เสมอ

ถูกต้อง จะเห็นเลยว่าเจ.เค. โรว์ลิ่ง เก่งแค่ไหน การอ่านครั้งแรกจะได้ความสนุกสนานสดใหม่ พอกลับไปอ่านตอนรู้เรื่องแล้วก็ได้ความลึกซึ้งมากกว่าเดิม ดิฉันถึงคิดว่า แฮร์รี่ พอตเตอร์ คือวรรณกรรมชั้นเยี่ยม เพราะกลับไปอ่านกี่หนก็ไม่เบื่อ อ่านทวนแล้วจะได้เจออะไรใหม่ๆ ซึ่งสิ่งนี้แปรผันไปตามประสบการณ์ของคนอ่านด้วย

 

ตอนนี้ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ฉบับภาษาไทยอายุ 20 ปีแล้ว คุณคิดว่านักเขียนไทยเรียนรู้อะไรจาก แฮร์รี่ พอตเตอร์ ได้บ้าง

นักเขียนไทยเก่งเรื่องสำนวนภาษาอยู่แล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้คือการทำงานอย่างประณีตของเจ.เค. โรว์ลิ่ง เธอจินตนาการทุกอย่าง วาดภาพออกมาใส่สมุดเป็นตั้งๆ ทำพล็อตเรื่อง ทุ่มเทเสมือน แฮร์รี่ พอตเตอร์ คือลมหายใจ เป็นนักเขียนที่สร้างโลกเวทมนตร์ขึ้นมาได้

ลักษณะนี้คล้าย J.R.R. Tolkien ผู้แต่ง ลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์ เขาวาดแผนที่เรื่อง สร้างภาษาของเรื่องอย่างละเอียดถี่ถ้วนมากเหมือนกัน ทั้งสองจึงเป็นนักเขียนระดับโลกเพราะทั้งคู่ทุ่มเทสร้างโลกของตัวละครขึ้นมา ทำให้ผู้อ่านรับรู้เรื่องราวและอินตาม

สุมาลี

นอกจากความสนุกในการพาคนอ่านไปสำรวจโลกใหม่แล้ว วรรณกรรมเยาวชนมีความสำคัญในแง่มุมอื่นอีกไหม

ดิฉันคิดว่าวรรณกรรมทุกประเภทไม่ใช่เฉพาะวรรณกรรมเยาวชนมีความสำคัญทั้งนั้น แต่ด้วยความสามารถในการอ่าน การรับรู้ และประสบการณ์ของเด็ก การที่จะสอดแทรกบางเรื่องที่อยากให้พวกเขาเรียนรู้ต้องใช้เครื่องมือที่เข้าใจง่าย ซึ่งวรรณกรรมเยาวชนคือหนึ่งในเครื่องมือนั้น

การอ่าน การดูภาพยนตร์ดีๆ หรือการพูดคุยอย่างเข้าอกเข้าใจ ทำให้เราสามารถรับรู้และเข้าใจหัวอกคนอื่นอย่างลึกซึ้ง ซึ่งมันคือพื้นฐานของการเป็นมนุษย์ที่ดี การอ่านหนังสือโดยเฉพาะนิยาย บางครั้งมันทำให้เราเข้าใจคนเพราะเคยพบตัวละครลักษณะเดียวกันมาก่อน อย่างเด็กๆ ที่อ่าน แฮร์รี่ จะสามารถเข้าใจความรู้สึกคนอื่นๆ ที่มีเงื่อนไขบางอย่าง เช่น แฮร์รี่ที่ไม่มีพ่อแม่ รอนที่เป็นคนยากจน เพราะเขาเห็นว่าตัวละครต้องผ่านประสบการณ์เหล่านั้น แม้จะไม่มีประสบการณ์ร่วม แต่การอ่านจะสอนเขาเอง นี่คือสิ่งสำคัญที่หนังสือให้ได้

ดิฉันไม่เคยห่วงเลยว่าวรรณกรรมจะหมดไปจากโลกนี้ เพราะตราบใดที่มีมนุษย์อยู่ก็ต้องมีวรรณกรรม แต่จะออกมาในรูปแบบไหนก็อีกเรื่องหนึ่ง อาจเป็นตัวหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือเว็บไซต์ แต่มันคือวรรณกรรม วรรณกรรมคือเรื่องเล่าที่ดี ยืนยงคงทนต่อกาลเวลา และยังให้คำตอบบางอย่างในชีวิตไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ หลายครั้งที่เจอปัญหา การนึกถึงวรรณกรรมที่เคยซาบซึ้งตอนอ่านก็ช่วยให้ผ่านพ้นช่วงเวลายากลำบากไปได้ เหมือนคนที่หดหู่แล้วนึกถึงผู้คุมวิญญาณ นึกถึงแฮร์รี่ที่สู้กับมันด้วยคาถาผู้พิทักษ์แล้วเกิดแรงฮึดในใจ เพราะเข้าใจว่าเขาสามารถต่อสู้ความหดหู่ได้ นี่คือสิ่งที่วรรณกรรมให้

นี่คือคำตอบว่าทำไมวรรณกรรมถึงจะอยู่กับเราไปตลอดกาล เพราะมันคือการสร้างความเข้าใจมนุษย์ ทั้งกับผู้อื่นและกับตัวเราเอง

 

ภาพ

สุมาลี บำรุงสุข
นานมีบุ๊คส์
lungkitti.com
siambook.net


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ #aday239 ฉบับ 20 ปี แฮร์รี่ พอตเตอร์ ฉบับภาษาไทย วางแผงที่ร้านหนังสือทั่วประเทศแล้ววันนี้

สุมาลี

AUTHOR