“บางคนบอกว่าเสพติด spotlight เหรอ ต้องให้ตัวเองเป็นจุดสนใจหรืออยากเป็นที่หนึ่งตลอดก็เลยต้องมาเป็น CEO เปิดบริษัทตัวเองต่อเหรอ คำพูดพวกนี้มันทำให้เราต้องมาคิดทบทวนตัวเองว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้เรายังยืนอยู่ตรงนี้” แม็ก เด็กหนุ่มวัย 22 ปีผู้ก่อตั้ง แทคท์ โซเชียล คอนซัลติ้ง กล่าว
ฉันกับ แม็ก–ชยุตม์ สกุลคู เจอกันในกิจกรรมต่างๆ อยู่หลายครั้ง ทุกครั้งเขาจะแนะนำเพื่อนใหม่ๆ ในทีมให้รู้จักอยู่เสมอพร้อมกับโครงการที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ จนอดคิดไม่ได้ว่าทำไมทีมนี้มีทีมงานเพิ่มขึ้นเร็วขนาดนี้ เรามักแลกเปลี่ยนมุมมองในปัญหาต่างๆ ตามแต่เวลาจะอำนวยก่อนที่จะแยกย้ายกันไป
แต่น่าแปลกที่พอให้มาอธิบายเข้าจริงๆ ฉันกลับไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเด็กกลุ่มนี้กำลังพยายามทำอะไรกันอยู่ ฉันเพียงแค่เชื่อมั่นว่าเขากำลังทำสิ่งที่ดีให้กับสังคม
แม้โครงการของ Tact จะถูกบอกเล่าผ่านสื่อต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นโครงการ Waste Runner ที่แก้ไขปัญหาขยะภายใต้การร่วมมือกับบริษัท PTTGC, โครงการ Watch Your Food ที่ส่งเสริมอาหารยั่งยืนกับบริษัท Betagro, โครงการ Anacoach ที่ทำเรื่องการศึกษาในจังหวัดสระบุรี หรือ Localscape ที่พัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนจังหวัดระยอง แต่วัยรุ่นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จทั้งหมดกลับไม่ได้ถูกพูดถึงมากนัก
ช่วงเวลาแห่งการลองผิดลองถูก
“Tact มาจากคำว่า tact team ที่เราชวนเพื่อนมาทำประเด็นต่างๆ ในสังคมด้วยกัน และมันก็ยังซ่อนคำว่า t-act หรือ teen act อยู่ด้วย เพราะเราต่างจากที่ปรึกษาอื่นๆ ตรงที่เราลงมือทำ” แม็กเล่าถึงที่มาของชื่อองค์กร และนอกจากเขายังมีทีมงานอีกหลายคนที่มาคุยกับเรา
“ตอนผมอยู่ปี 3 เราไปทำค่ายอาสากัน แต่พอกลับมาแล้วเราไม่รู้ว่าผลลัพธ์ของมันจะยั่งยืนหรือเปล่า กิจกรรมสมัยนั้นก็ให้เด็กไปทาสีสร้างบ้านแล้วอาจารย์คนหนึ่งก็คุยว่าเด็กรุ่นนี้จะทำอะไรได้มากกว่าทาสีบ้านหรือเปล่า”
คำถามนั้นชวนให้เด็กหนุ่มไฟแรงฉุกคิดและเริ่มก้าวแรกของเขาในชื่อชมรมว่า STEPS แม็กรวบรวมเพื่อนๆ มาทำงานร่วมกันโดยมุ่งหวังที่จะช่วยพัฒนาเด็กและช่วยเหลือชุมชนโดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชน
“ตอนนั้นเราเปิดเว็บ อบต.เลย แล้วก็โทรไปถามที่ต่างๆว่ามีอะไรให้ช่วยไหม ผลิตภัณฑ์ของชุมชนคืออะไร มีจุดเด่นอะไรบ้าง เขาบอกว่าทำพวงหรีด พอโทรไปแต่ละ อบต. สรุปว่าทั้งจังหวัดก็ทำพวงหรีดกันหมดเลย อีกจังหวัดหนึ่งก็ทำน้ำยาปรับผ้านุ่มกันทั้งจังหวัดเลย ตามที่รัฐเข้าไปส่งเสริม” แม็กเล่าติดตลกถึงการจัดพลัดจับผลูในตอนนั้น แต่โชคดีที่ได้คำแนะนำจากอาจารย์ในมหาวิทยาลัยจึงได้ลงพื้นที่ทำงานกับมหาวิทยาลัยในจังหวัดสระบุรี
“ตอนแรกเราตั้งใจจะไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนเขาอย่างเดียว เพราะว่าตอนนั้นไม่รู้อะไรก็เจอผู้นำชุมชนและอะไรเต็มไปหมด เราก็ค่อยๆ เรียนรู้จากตรงนั้นว่าการทำงานชุมชนมันคือการระเบิดจากข้างในไม่ใช่ว่าเรามีอะไรแล้วเอาไปยัดให้เขา” ชายหนุ่มเล่าถึงจุดเปลี่ยนการทำงานที่สำคัญที่ทำให้เขาเรียนรู้การทำงานกับชุมชน โดยเริ่มเข้าไปทำงานกับเด็กนักเรียนก่อนและขยายวงกว้างสู่ผู้ใหญ่ให้ได้พัฒนาอาชีพและความภาคภูมิใจในชุมชน
“ตอนนั้นถึงมันจะไม่ได้สำเร็จมากแต่การทำพื้นที่เดียวให้มันยั่งยืนมันค่อยๆ เปลี่ยนทัศนคติของน้องในชมรมมากขึ้น เราค้นพบ 2 อย่างคือศักยภาพของเด็กรุ่นเรามีสูงมากที่เราสามารถเอาไปพัฒนาให้เกิดผลกระทบทางบวกทางในสังคมได้ อีกอย่างคือการช่วยเหลือสังคมทำให้ชีวิตของน้องๆ พัฒนาไปในทิศทางที่เขาสนใจและคิดถึงปัญหาสังคมด้วยเมื่อเขาเติบโตไปเป็นภาครัฐหรือภาคธุรกิจเขาก็จะมีสิ่งนี้อยู่ในใจ” แม็กเล่าถึงอีกก้าวเล็กๆ ในการเรียนรู้
ลองให้ดูว่าถ้ามันทำไม่ได้ก็ให้มันทำไม่ได้
จากการเติบโตของชมรมในมหาวิทยาลัยทำให้เขาตัดสินใจออกมาตั้งบริษัทกับเพื่อนๆ เพื่อขยายผลกระทบเชิงบวกนี้ให้กว้างมากยิ่งขั้น จาก STEPS จึงกลายเป็น Tact บริษัทที่มุ่งมั่นพัฒนาเยาวชนไทยผ่านการทำกิจกรรมเพื่อสังคม
“บางคนทำพัฒนาเด็กอย่างเดียวยังทำไม่ได้เลย บางคนเป็นที่ปรึกษาอย่างเดียวยังทำไม่ได้เลย บางคนทำพัฒนาชุมชนอย่างเดียวยังทำไม่ได้เลย แล้วมึงเป็นใครมาทำ 3 อย่าง” แม็กเล่าถึงเสียงทัดทานตอนเริ่มต้น
“เราก็ไม่ได้เก่งนะ แต่เราพยายามดึงคนที่เก่งที่สุดในรุ่นนี้มารวมกันให้ลองดูว่าถ้าทำไม่ได้ก็ให้ได้ลองว่ามันทำไม่ได้ ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ตั้งแต่ยังไม่เริ่มทำ และผมเชื่อลึกๆ มาตลอดว่าผมจะทำได้”
ด้วยความที่เป็นประธานจัดงานจุฬาวิชาการของคณะ แม็กจึงชวนเพื่อนอีกหลายคนมาทำงานร่วมกัน โดยที่แต่ละคนจะได้รับเงินมากน้อยแตกต่างกันออกไป เขาย้ำว่าการจ่ายเงินเพื่อให้เข้าใจกันว่าทุกคนมาทำงานไม่ได้มาเป็นอาสาสมัคร แต่ในส่วนของอาสาสมัครที่เป็นน้องๆ เราอยากให้เขาเข้ามาเพราะสนใจปัญหาสังคมจริงๆ ไม่ได้คิดที่จะมาสร้างรายได้จากพื้นที่เรียนรู้แห่งนี้
“ความชอบธรรมตรงนี้เราโดนถามตั้งแต่แรกๆ แล้วว่าคุณคือบริษัทที่ใช้งานเด็กฟรีหรือเปล่า” ซึง–ปวรรัตน์ ลิสกุลรักษ์ นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ ที่ร่วมทำงานมาด้วยกันเล่าให้ฟังว่า “สิ่งสำคัญที่สุดก็คือเราทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร ถ้าเราตอบตัวเองได้แล้วเราจะตอบคำถามสังคมได้ เรากำลังทำ project-based Learning หรือการเรียนรู้ผ่านการทำงานจริงว่าเด็กคนหนึ่งจะได้เรียนรู้จากอะไรบ้าง”
เพราะฉะนั้นการทำงานจึงไม่ใช่แค่การตอบโจทย์บริษัทที่ว่าจ้างเป็นที่ปรึกษาเท่านั้น แต่ยังต้องออกแบบการทำงานที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของนักศึกษาที่เข้ามาร่วมกิจกรรมด้วย ไม่ว่าจะเป็นการจัดอบรม การสอนเนื้อหาเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับปัญหานั้นๆ หรือสร้างโอกาสให้เกิดเครือข่ายความช่วยเหลือระหว่างองค์กร และที่สำคัญคือ growth mindset แนวคิดที่เชื่อว่าเขาทำได้และเขาจะเปลี่ยนแปลงโลกนี้
“เราตั้งใจจะทำงานระยะยาว หนึ่งโครงการอาจกินเวลา 3-5 ปี แต่น้องๆ ที่เข้ามาในช่วงสั้นๆ เราต้องให้เด็กได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของจิ๊กซอว์ในการแก้ไขปัญหาสังคมในระยะยาวด้วย และเขารู้ว่าเขาอยู่จุดไหนในโครงการนี้” พลอย–ดลพร พิทักษ์สิทธิ์ นักบัญชีของทีมเล่าให้เราฟังอย่างละเอียดถึงกระบวนการคัดเลือกน้องที่จะมาทำงานด้วย ทีมงานหลักต้องผ่านทั้งการสัมภาษณ์เดี่ยว สัมภาษณ์แบบกลุ่ม นำเสนองาน และแสดงออกถึงความตั้งใจแน่วแน่ที่จะร่วมงาน แน่นอนว่าการทำงานต่อเนื่องหลายเดือนด้วยระบบอาสาสมัครเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายเลย แต่นี่ถือเป็นความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการทีมของ Tact
“ส่วนทางด้านธุรกิจเอง เราก็เพิ่งตระหนักหลังจากลงมือทำจริงๆ ว่านอกจากช่วยเหลือสังคมแล้วเราอาจจะต้องดันเรื่องแบรนด์ของเขาให้ตอบโจทย์ด้วย ต่อให้เขาอยากช่วยเหลือสังคมมากแค่ไหนแต่ทุกการลงทุนก็จะต้องมีผลประโยชน์กลับมาในทางใดทางหนึ่ง แต่ก็ดีกว่าที่เขาจะไปทำโฆษณาอย่างเดียวหรือช่วยเหลือสังคมแบบขาดความรู้ความเข้าใจ” พลอยเล่าบทเรียนจากการทำงานในมุมมองของเธอด้วย
เราต่างมีความฝัน และนี่คือพลังของคนรุ่นใหม่
“ในเมื่อทุกคนช่วยโลกใบนี้ได้ ทำไมถึงต้องเป็นเด็กวัยรุ่น” ฉันอดถามไม่ได้ เพราะเชื่อว่าหลายคนที่อ่านมาถึงตรงนี้ก็อยากมีโอกาสได้ร่วมกิจกรรมดีๆ แบบนี้บ้าง
“มันไม่ใช่แค่เด็ก ทุกคนสามารถคิดถึงสังคมได้เหมือนกัน แต่ทุกคนเหมือนถูกบังคับให้อยู่ในระบบที่ต้องเอาตัวรอด แล้วก็หลงลืมความฝันไป พอไปอยู่ในจุดที่ใหญ่มากแล้วจะถูกระบบครอบไว้ พอผู้ใหญ่ไปเป็น CEO แล้วอยากช่วยเหลือสังคมแบบที่เคยฝันไว้มันก็ไม่ได้แล้วเพราะมีผู้ถือหุ้นจับตามอง มีภาระ มีลูก มีครอบครัวที่ต้องดูแล เราคิดว่าช่องว่างระหว่างเปลี่ยนจากเด็กเป็นผู้ใหญ่ยังมีพื้นที่ว่างมีความฝันแล้วก็มีแรงที่ทำได้” ซึงตอบคำถามนี้อย่างไม่ลังเล จนทำให้ฉันหยุดกลับมาคิดว่าเราเคยมีความฝันอะไรบ้าง
ซึงยังย้ำด้วยว่า “สิ่งที่เราทำอยู่อาจไม่ได้ส่งผลยิ่งใหญ่ ณ ตอนนี้ แต่การที่เราเปลี่ยนเด็กรุ่นนี้ก่อนที่เขาจะเข้าไปสู่สังคม ก่อนที่เขาจะโตขึ้นไป มันจะทำให้เขาคิดถึงสังคมมากขึ้น”
ปณิธานแน่วแน่นี้จึงเป็นหัวใจหลักในการทำงานของ Tact คือ Build Sustainability Toward Next Generation หรือองค์กรที่สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนให้กับสังคมผ่านพลังของคนรุ่นใหม่
ป้อง–เชาวนะ วิชิตพันธุ์ หนุ่มที่ตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาทำกับ Tact บอกว่า “แต่ก่อนผมทำงานในบริษัท ทำไปวันๆ แต่ก็ไม่รู้ว่าทำไปเพื่ออะไร แต่พอมาทำงานตรงนี้เราพบตัวเองทุกวันว่าเราทำไปเพื่ออะไรหรือเพื่อใคร”
คำถามที่ป้องถามตัวเองในวันนั้น คล้ายกับมาย้ำเตือนเราวันนี้ด้วย
“ผมเห็นผู้ใหญ่หลายๆ คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตแล้วเขากลับบอกว่าไม่ได้รู้สึกประสบความสำเร็จในชีวิตเพราะมันก็เป็นแค่ยอดเขา เมื่อเขาหันกลับมามองครอบครัว หันกลับมามองสังคมแล้วเขายังอยากทำอย่างอื่นอีกมากมายที่มีคุณค่าในชีวิตของเขา แล้วถ้าเรามีโอกาสให้เพิ่มคุณค่าชีวิตในทุกๆ วันแล้วทำไมเราจะไม่ทำล่ะ”
หลังจากจบบทสนทนา ฉันรู้สึกอุ่นใจที่เราจะมีเด็กรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยความฝันที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม และหลายคนอาจรู้สึกมีไฟอยากลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างหนึ่ง
“มันไม่ใช่เรามาบอกว่า เราทำสำเร็จแล้ว ทุกคนออกมาเป็นกิจการเพื่อสังคมสิ หรือบางคนอาจคิดว่าการทำเพื่อสังคมเราต้องลุยทั้งชีวิตให้สุดทาง แต่จริงๆ การทำเพื่อสังคมมันอาจเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตก็ได้ แค่ลองทำดู ให้คุณรู้ว่าการทำสิ่งเหล่านี้แล้วมันมีความสุขขนาดไหน” แม็กบอกด้วยรอยยิ้ม และฉันก็รับรู้ได้ถึงพลังความฝันและความสุขในตัวของพวกเขาด้วย