ชุบชีวิตชุมชนไร้ป่า เป็นป่ากาแฟ จนได้เป็น ‘กาแฟป่า’

Highlights

  • จากชุมชนที่ชาวบ้านหวาดระแวงว่าถ้าฟื้นฟูป่าแล้วเจ้าหน้าที่ป่าไม้จะไปยึด สู่การถางป่าเปิดพื้นที่ทำการเกษตรเพื่อไม่ให้ป่าไม้ถูกยึด
  • จากแนวคิดของมูลนิธิวนเกษตรอินทรีย์ สู่การโน้มน้าวชาวบ้านให้ปลูกพืชที่มีมูลค่าทางการเกษตรสูง จนออกมาเป็นกาแฟพืชที่มีมูลค่าอันดับ 2 ของโลกรองจากน้ำมัน
  • จากมูลนิธิไม่แสวงหาผลกำไรที่ต้องพึ่งพาเงินทุนสนับสนุน สู่วิสาหกิจชุมชนวนเกษตรอินทรีย์เชียงรายที่รับซื้อผลผลิตในราคาที่เป็นธรรมกับชาวบ้าน

หลายคนชอบว่าชาวบ้านปลูกข้าวโพด ใช้สารเคมี ตัดไม้ทำลายป่า เราต่อว่าเขาแต่เราไม่เคยมีทางออกให้เขาเลยสุภาชัย เตชนันต์ บอกขณะที่รถเคลื่อนตัวไปบนท้องถนนจากตัวเมืองเชียงราย มุ่งหน้าสู่บ้านแม่หาง ตำบางป่างิ้ว อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย หมู่บ้านในผืนป่าต้นน้ำแม่ลาว ป่าที่ยังคงสมบูรณ์ที่สุดของจังหวัดเชียงรายและเป็นพื้นที่ทำงานของมูลนิธิวนเกษตรอินทรีย์

ผมเริ่มต้นจากสมัยเรียนหนังสือ ได้ไปเจอพี่ๆ นักศึกษามหาวิทยาลัยมาออกค่ายในชนบทก็ติดตาม เห็นเขาทำกิจกรรมกันก็รู้สึกมีความสุข เราก็สนใจในเรื่องเหล่านี้มากขึ้นสุภาชัยผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิฯ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำงานกับชุมชน

พอมาเรียนมหาวิทยาลัย ผมก็ไปทำค่ายอาสา แต่มันไม่ตอบโจทย์เราอย่างที่คาดฝันไว้ มันแค่เปลี่ยนสถานที่กินข้าว เปลี่ยนสถานที่ท่องเที่ยว เปลี่ยนสถานที่กินเหล้า อาคารเสร็จแล้วแต่ว่ามันคืออะไร? มันคืองานสร้างอาคาร?” เขาเล่าถึงจุดพลิกผันที่ทำให้เริ่มตั้งคำถามกับการทำงานเพื่อชุมชนที่ไม่ใช่การทำค่ายสร้างเท่านั้น และหันมาหาแนวทางการวิเคราะห์ปัญหา จึงได้เริ่มจัดตั้งชมรมขึ้นมาเองในมหาวิทยาลัยโดยเริ่มจากการสร้างโมเดลกิจกรรมนักศึกษาให้สอดคล้องกับการเรียนรู้พัฒนาตัวเองและช่วยเหลือชุมชนด้วยการเกษตรไปพร้อมกัน และนำมาสู่การทำงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมจนถึงปัจจุบัน

ต้นไม้ดูแลดิน ต้นไม้ดูแลคน

รถหักเลี้ยวจากถนนใหญ่สู่เส้นทางสายเล็กลึกเข้าไปเพียง 40 กิโลเมตรแต่เราใช้เวลาเดินทางกว่า 2 ชั่วโมง พี่สุภาชัยเล่าให้ฟังว่าด้วยระยะทางนี้เองที่ทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคของชาวบ้านแพงกว่าราคาทั่วไปถึง 20 เปอร์เซ็นต์ และการรับซื้อผลผลิตก็ถูกกดราคาลงอีก 20 เปอร์เซ็นต์ จึงทำให้ชาวบ้านมีตัวเลือกไม่มากนักนอกจากการเปิดป่าขยายที่ทำกินให้มากขึ้น เพื่อให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นและรายได้ก็จะเพิ่มขึ้นตาม

แรกๆ การเข้าหาชุมชนมันยากมาก ความเชื่อใจเป็นเรื่องสำคัญ เขาหวาดระแวงว่าถ้าฟื้นฟูป่าแล้วเจ้าหน้าที่ป่าไม้จะไปยึด การจะไม่ให้ป่าไม้ยึดต้องเปิดพื้นที่ทำการเกษตรให้โล่ง ซึ่งเป็นแนวคิดคลาสสิกของชาวบ้านบทสนทนาของเราค่อยขลุกขลักขึ้นตามสภาพเส้นทาง เช่นเดียวกับการทำงาน

โจทย์ของมูลนิธิวนเกษตรอินทรีย์คือการหาพืชที่ปลูกใต้ร่มเงาของต้นไม้ (shed grow) ให้ได้และมีมูลค่าทางการเกษตรสูง ส่วนโจทย์ที่ใหญ่กว่านั้นคือกระบวนการสื่อสารให้ชาวบ้านเข้าใจและยอมรับแนวทางนี้ 

กาแฟ’ คือทางออก เพราะกาแฟเป็นพืชที่มีมูลค่าอันดับ 2 ของโลกรองจากน้ำมัน และกาแฟเป็นพืชที่ต้องการแสงในการเจริญเติบโตน้อย กาแฟที่ปลูกใต้ร่มเงาไม้ยังให้กลิ่นหอม มีรสชาติที่พิเศษ และคงเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละพื้นที่ การปลูกกาแฟจึงเป็นการปลูกต้นไม้สร้างผืนป่าด้วย

ในยุคนี้กาแฟใต้ร่มเงาอาจจะเป็นคำที่เราได้ยินกันบ่อย แต่ในช่วงของการบุกเบิกและเปลี่ยนทัศนคติให้ชาวบ้านหันมาปลูกกาแฟใต้ร่มเงาไม้คือความท้าทาย เพราะกว่าต้นกาแฟจะออกผลต้องใช้เวลาถึง 3 ปี และมีรายละเอียดมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกพันธุ์ที่เหมาะสม การเก็บผลสุกให้ได้คุณภาพ การคัดแยก การแปรรูปให้ได้คุณภาพ การเก็บผลผลิตกาแฟกะลา การนำมาคั่วหาเอกลักษณ์ และการสื่อสาร แต่ละกระบวนการล้วนมีโอกาสที่จะทำให้กาแฟเจ๊งได้ทุกเมื่อ

ไร่สวนสองข้างทางที่หัวถนนเต็มไปด้วยไร่ข้าวโพด ยิ่งรถไต่ระดับความสูงไปบนถนนคดเคี้ยว ต้นไม้ใหญ่ค่อยๆ หน้าทึบขึ้น และถนนดินในหน้าฝนก็ทำให้รถทำความเร็วได้ไม่มากนัก

บางคนบอกให้เขาปลูกแล้วเอาไปขายออนไลน์สิ เราจะให้เขาไปขายได้ไงครับ เพราะว่าแค่สัญญาณโทรศัพท์ก็ไม่มีแล้ว” …และแล้วเราก็มาถึงหมู่บ้านที่ไม่มีนักท่องเที่ยวและไม่มีแม้แต่สัญญาณโทรศัพท์

อินทรีย์อย่างเดียวไม่พอ ต้องมีป่าด้วย

นี่ ต้นกาแฟที่พี่นำกล้าเข้ามาเมื่อ 5 ปีก่อนสุภาชัยชี้ให้เราดูต้นกาแฟสูงท่วมหัวที่ขึ้นแน่นอยู่ระหว่างทาง กาแฟในป่ามีจำนวนหนาแน่นและมากกว่าที่ฉันคิดไว้มากน่าจะเป็นแสนต้นได้แล้วนะชายหนุ่มว่าพลางจอดรถชวนเราดูรายละเอียดของกาแฟ

กาแฟสามารถปลูกใต้ร่มไม้แล้วก็ฟื้นฟูป่าได้และยังสร้างเศรษฐกิจให้กับชุมชนได้ด้วย ต้นไม้ที่ให้ร่มเงากับกาแฟควรจะเป็นต้นไม้ชนิดไหน มันก็ควรจะเป็นต้นไม้ที่ให้ประโยชน์กับชาวบ้าน โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจด้วย และต้นไม้ต้องให้ประโยชน์กับกาแฟ ให้ธาตุอาหารในดิน และต้องให้ประโยชน์กับระบบนิเวศในพื้นที่ พวกนก หนู แมลง ด้วยด้วยแนวคิดนี้ป่าจึงไม่ได้มีแต่ต้นกาแฟเท่านั้น

ต้นไม้ที่สูงขึ้นมาเป็นลูกพลับ อะโวคาโด ลูกไหน และมะขามป้อม ที่ชาวบ้านสามารถเก็บผลไปขายได้ และยังมีพืชตระกูลถั่ว พวกกระถิน ขี้เหล็ก ทองหลางป่าออกดอกสีสด ที่ช่วยเสริมแร่ธาตุในดิน สุภาชัยอธิบายการเลือกพืชต่างๆ มาปลูกแซมกับกาแฟ จนฉันอดถามไม่ได้ว่าแล้ววนเกษตรอินทรีย์แตกต่างจากการปลูกพืชผสมผสานยังไง

การเกษตรหมายความว่าอะไรฉันโดนถามกลับ

ตอนแรกฉันตั้งใจจะตอบว่าคือการปลูกต้นไม้ แต่ก็ชะงักไปเพราะมาคิดดูให้ดีต่อให้ฉันปลูกกระบองเพชรที่บ้านก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการเกษตร สุภาชัยจึงเฉลยว่าการเกษตรคือระบบผลิตอาหารที่มีการจัดการ เกษตรระบบผสมผสานจะมองแค่ความหลากหลายของชนิดพืช แต่วนฯ เนี่ยคือเรามีไม้ป่าเป็นหลักด้วย มันไม่ได้มีเฉพาะไม้ที่เราไปเก็บผลผลิตอย่างเดียว

พ่อหลวงและชาวบ้านพาฉันไปเดินเที่ยวสวนรอบหมู่บ้าน กาแฟติดผลเป็นลูกสีเขียวทั้งกิ่งก้าน แต่อีก 3 เดือนจึงจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ส่วนลูกพลับก็ออกผลสีเหลืองอมส้มมองเห็นแต่ไกล พอเก็บลูกพลับแล้วชาวบ้านก็จะเอาไปบ่มให้สุกก่อนที่จะส่งขายที่ร้านเลมอนฟาร์ม

อย่างนี้ปลูกให้เยอะๆ ก็รวยแย่เลยสิฉันแกล้งถาม

ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำมากได้น้อย เกษตรแบบแผ้วถางต้องใช้ที่เป็นสิบๆ ไร่เสฐียรพงษ์ แก้วสด หนึ่งในกรรมการมูลนิธิวนเกษตรอินทรีย์อธิบายพื้นที่มันมีจำกัด ถ้าเขาอยากรวยขึ้นก็ต้องทำให้พื้นที่มีคุณภาพมากขึ้น ชั้นบนสุดของป่า เรามีน้ำผึ้งป่า ระดับล่างลงมาเป็นมะขามป้อม ลูกพลับ อะโวคาโด ล่างลงมาอีกเป็นกาแฟ ชาใบเมี่ยง ที่ดินก็มีเห็ดป่า พอเราอธิบายให้เขาฟังเรื่องอินทรีย์ว่ามีอะไรบ้าง เขาก็เห็นว่าเขาจะต้องอนุรักษ์ธรรมชาติให้ดี ให้ความรู้ความเข้าใจร่วมกับเขาให้เขาได้พัฒนาขึ้นทำน้อยแต่ได้มาก

หมูป่าและมื้อเย็นหน้าฝน

บ่ายแก่ๆ เราต้องเดินทางกลับไปยังที่พัก ระหว่างทางได้ยินเสียงดังขลุกๆ คล้ายเสียงขุดดิน ที่หัวโค้งหมูป่ากว่า 10 ตัวกำลังวิ่งไปบนเนินอย่างรวดเร็วเมื่อเห็นรถขับผ่านมาไปบ้านเลยพี่ ไปบ้านเลย!” ชาวบ้านตะโกน ถึงบ้านพี่เขาก็สะพายปืนกระบอกยาว ขี่มอเตอร์ไซค์ออกไปอย่างรวดเร็ว ผ่านไปเกือบ 2 ชั่วโมงจวนจะใกล้ค่ำ พี่เขาก็กลับมามือเปล่า มื้อเย็นวันนี้เราเลยได้กินสารพัดเห็ดเป็นกับข้าวแทนเนื้อหมูป่า

แล้วได้กินหมูป่าบ่อยไหม?” ฉันถามพวกผมเป็นชาวบ้านก็ต้องเข้าใจก่อนว่าไปซื้ออะไรก็ยาก เราอยู่กับตรงนี้ เราหากินตรงนี้ ไม่ได้ล่ามากมายอะไร เดือนหนึ่งทั้งหมู่บ้านก็ประมาณ 1-2 ตัวชาวบ้านเล่าให้ฟังถึงวิถีชีวิตที่พึ่งพิงกับธรรมชาติ ตั้งแต่ปลูกกาแฟก็ทำให้ดินร่วนซุย พื้นดินที่รกและชื้นทำให้ประชากรหมูป่าเพิ่มมากขึ้นด้วย

มูลนิธิสู่วิสาหกิจชุมชน

ปลูกแล้วจะไปขายที่ไหน เป็นคำถามแรกๆ เลยครับที่เราเจอในการทำงานส่งเสริมกับชาวบ้านสุภาชัยกล่าวเราเลยตัดสินใจจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนวนเกษตรอินทรีย์เชียงรายขึ้นเพื่อรับซื้อผลผลิตในราคาที่เป็นธรรมกับชาวบ้าน และวิสาหกิจฯ ก็จะเอาผลผลิตมาแปรรูปเอง รายได้ส่วนหนึ่งจะเก็บเอาไว้เป็นกองทุนซื้อกล้าไม้ให้ชาวบ้าน ขยายผลไปยังหมู่บ้านอื่นๆ ด้วย

ความจริงแล้วกิจการเพื่อสังคมอาจจะเกิดขึ้นในทุกยุคทุกสมัย แตกต่างกันก็เพียงชื่อเรียกเท่านั้น จากมูลนิธิไม่แสวงหาผลกำไรที่ต้องพึ่งพาเงินทุนสนับสนุน ก็ต้องปรับตัวให้มีรายได้เพื่อช่วยเหลือชุมชนได้อย่างยั่งยืน วิสาหกิจชุมชนอาจเรียกได้ว่าเป็นโครงสร้างของกิจการเพื่อสังคมในยุคแรกที่รวมกลุ่มกันช่วยเหลือชุมชนเฉพาะกลุ่มที่ห่างไกล แต่ปัจจุบันก็มีการขยายผลและวาดภาพใหญ่ให้สร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมมากยิ่งขึ้น

ก่อนจากลาเรากล่าวขอบคุณซึ่งกันและกัน แต่ครั้งนี้ฉันกลับรู้สึกพิเศษกว่าครั้งไหนๆ เพราะชาวบ้านรู้สึกดีใจจริงๆ ที่มีคนเข้ามาเห็นการฟื้นฟูป่าของเขา เข้ามาบอกเล่าเรื่องราวในพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล ถ้าใครอยากช่วยเหลือชาวบ้านและลิ้มรสกาแฟอินทรีย์อนุรักษ์ป่าต้นน้ำที่มีเอกลักษณ์พิเศษอย่าง ‘กาแฟป่า’ สามารถสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนวนเกษตรอินทรีย์เชียงรายได้ที่ร้านเลมอนฟาร์ม กรุงเทพฯ โทร.02-575-2222 และร้านกาแฟป่า ตำบลดงมะดะ อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย โทร.095-679-6128

AUTHOR