14 ปีของ PUCK ศิลปินที่ใช้สีสันฉูดฉาด ตัวประหลาด และป๊อปคัลเจอร์ถ่ายทอดปัญหาสังคม

เมื่อเอ่ยถึงชื่อ PUCK หรือ หมู–ไตรภัค สุภวัฒนา นักวาดการ์ตูนและนักวาดภาพประกอบรุ่นใหญ่ เชื่อว่าศิลปินและคนในวงการศิลปะเกือบทุกคนจะต้องร้องอ๋อ กระทั่งหลายคนก็คารวะเป็นไอดอลในดวงใจด้วยซ้ำ 

ด้วยงานภาพขนาดใหญ่ที่มีรายละเอียดยิบย่อยแอบแฝง สื่อสารปัญหาทางการเมืองและสังคมด้วยสีสันจัดจ้านบาดตา แทรกด้วยป๊อปคัลเจอร์เข้าถึงง่ายชวนขำ มองปราดเดียวก็รู้สึกต้องตาต้องใจจนต้องเข้าไปเพ่งให้รู้ว่าภาพนี้ต้องการสื่ออะไรกันแน่

ไม่แปลกเลยที่องค์ประกอบความเป็น PUCK เหล่านี้จะทำให้งานของหมูโดดเด่นเสมอมา แม้ว่าเขาจะอยู่ในวงการนี้มานานถึง 14 ปีแล้ว

แต่จะแปลกเสียอีกหากบทสนทนาว่าด้วยเส้นทางชีวิตศิลปินที่ผ่านมาของหมูครั้งนี้จะไม่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ศิลปะในไทยกำลังตื่นตัวอีกครั้งเพราะวงการเหรียญดิจิทัลอย่าง NFT กำลังได้รับความนิยม และหมูเองก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับการยอมรับในตลาด NFT แถมเขายังทดลองตลาดนี้ในหลายแพลตฟอร์มอีกด้วย

ว่าแต่เส้นทางการเป็นศิลปินของหมูจะเป็นยังไง จะหมูสมชื่อหรือไม่ ไปสำรวจกัน 

นักเขียนการ์ตูน

“สภาพแวดล้อมในชุมชนที่เราเติบโตมาเต็มไปด้วยเด็กโต เราจึงถูกเลี้ยงในบ้านมาตลอดและโตมากับบรรยากาศที่พี่ชายวาดรูป พ่อก็วาดรูป รอบตัวจึงเต็มไปด้วยเครื่องเขียนซึ่งถือเป็นของเล่นไม่กี่ชิ้นที่เราเล่นได้ตลอดเวลา ไม่เหมือนการเล่นเกมที่เรามักจะโดนแม่ดุหากเล่นนานเกินไป” หมูเปิดบทสนทนาด้วยการย้อนเล่าให้ฟังถึงเด็กชายหมูผู้รักการวาดเขียนด้วยเสียงสดใส 

“ต้นแบบการวาดช่วงนั้นคือการ์ตูนที่เราเสพทั้งจากโทรทัศน์และหนังสือ จำได้ว่าเริ่มอ่านหนังสือการ์ตูนตอน ป.4 ซึ่งก็ทำให้เราอยากเป็นนักเขียนการ์ตูนเดี๋ยวนั้นเลยด้วยนะ”

เมื่อวาดฝันอย่างนั้นหมูจึงเริ่มฝึกปรือฝีมือเรื่อยมา วาดเล่นบ้าง วาดจริงจังบ้าง และเริ่มส่งการ์ตูนของตัวเองเข้าประกวดตามสำนักพิมพ์ต่างๆ ที่เปิดพื้นที่ให้นักเขียนการ์ตูนหน้าใหม่ตั้งแต่ชั้น ม.3 

“เราตกรอบหลายครั้งจนท้อ แต่ก็ต้องยอมรับว่างานคนอื่นมันดีจริงๆ ดังนั้นก็เลยฝึกมาเรื่อยๆ ทำอย่างนั้นอยู่ 3-4 ปี จนช่วงปี 1 ที่เข้าเรียนที่คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เราถึงชนะการประกวดและได้ตีพิมพ์การ์ตูนครั้งแรก และหลังจากนั้นอีกประมาณ 2 ปีถึงจะมีการ์ตูนรวมเล่มเป็นของตัวเอง” 

งานในช่วงวัยเด็กจนถึงมหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 1 ของหมูเป็นงานการ์ตูนที่มีลายเส้นและแนวคิดแบบการ์ตูนญี่ปุ่นที่เล่าเรื่องราวการผจญภัย มิตรภาพ ความไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค และความดี-ความชั่ว เพราะช่วงนั้นการ์ตูนญี่ปุ่นมีอิทธิพลกับเด็กอย่างมาก

กระทั่งได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ความชอบกับเพื่อนๆ และอาจารย์ในมหาวิทยาลัย รวมถึงได้ศึกษาทฤษฎีศิลปะอย่างจริงจัง ความเป็น PUCK อย่างในปัจจุบันจึงค่อยๆ ก่อตัวขึ้น

นักวาดภาพประกอบ

“โห ช่วงมหาวิทยาลัยทำให้แนวทางการวาดภาพของเราเปลี่ยนไปมาก” หมูเน้นเสียงก่อนอธิบายต่อว่า ทั้งสภาพแวดล้อมที่เขาได้พบเจอ หนังสือที่ได้อ่านเพิ่ม และทฤษฎีศิลปะที่ได้เรียน ส่งอิทธิพลต่องานของเขายังไง

“เราเรียนด้านภาพประกอบเป็นหลัก จึงได้เรียนเกี่ยวกับงาน Fine Art ได้ศึกษางานภาพประกอบของนักวาดภาพประกอบต่างชาติ มุมมองของเราจึงกว้างขึ้น 

“เราชอบเปรียบตัวเองเป็นเครื่องปั่นน้ำผลไม้ที่จะหยิบเอาข้อดีของงานศิลปะประเภทต่างๆ ของศิลปินที่พบเจอมาโยนรวมกันเพื่อปั่นเป็นเครื่องดื่มชนิดใหม่” 

หนึ่งในศิลปะประเภทหนึ่งที่หมูจำขึ้นใจและเก็บมาใช้กับงานของเขาคือ หลักการของภาพประกอบหนังสือเด็ก ซึ่งภายในภาพหนึ่งๆ จะมีจุดโฟกัสใหญ่ๆ ที่นำสายตาเราในจังหวะแรก แต่เมื่อสังเกตต่อไปในมุมอื่นๆ ของภาพ เราจะได้เจอกับรายละเอียดอีกมากมายหลายสิบจุดที่ซุกซ่อนอยู่ เป็นกลไกที่ช่วยกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นและจินตนาการของเด็กๆ ได้เป็นอย่างดี

“เราว่ามุมมองเล็กๆ ในภาพใหญ่มันน่าสนุกดีจึงอยากใส่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ลงไปในงาน เพื่อให้ทุกครั้งที่คนกลับมามองภาพนี้เขาจะเจอรายละเอียดที่ไม่เคยสังเกตมาก่อน ซึ่งไอ้ลูกเล่นแบบนี้ก็เกิดกับเราเองด้วย เพราะทุกครั้งที่กลับมาดูภาพตัวเองเราก็จะตกใจว่าเราวาดตัวละครนี้ตอนไหน เพราะเวลาทำงานเราจะเริ่มจากการสเกตช์ภาพและไอเดียคร่าวๆ ไว้ แต่ถ้าระหว่างทางนึกสนุกอยากเติมอะไรก็จะเติมลงไปเลย” เขาอธิบายให้ฟังพลางหัวเราะ

แม้ความเป็นนักวาดภาพประกอบของเขาจะชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ผ่านสิ่งที่เสพ แต่วิญญาณความเป็นนักเขียนการ์ตูนที่สั่งสมมาตั้งแต่สมัยตัวเล็กจ้อยของเขาก็ไม่จางหายไปเสียทีเดียว ยืนยันได้จากภาพของเขาที่มักแฝงเรื่องราวและตัวละครมากมายในนั้น

“มันอดไม่ได้ที่จะสร้างตัวละครขึ้นมาสักตัวเพื่อเล่าอะไรบางอย่าง ต้องคิดว่าจะเล่าเรื่องยังไงที่คนเห็นแล้วเก็ต ซึ่งแตกต่างจากงาน Fine Art ที่ต้องมีชั้นเชิงในการเล่า เพราะเราอยากให้คนดูภาพแล้วเกิดอารมณ์บางอารมณ์ขึ้นทันที ไม่ว่าจะกวนดี สนุกดี หรือตลกร้ายจัง แล้วเมื่อดูนานๆ เข้าถึงจะเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าเราจะสื่ออะไร นี่คือกลไกที่วางไว้ในทุกๆ ภาพ”

อย่างโปรเจกต์ WORLD BOY ที่ประกอบด้วยตัวละคร WORLD BOY จำนวน 555 ตัวนั้น เกิดจากไอเดียที่หมูอยากให้คนดูได้ตระหนักว่ามนุษย์เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่ใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบใหญ่ และโลกใบนี้จะเป็นยังไงก็ขึ้นกับแว่นตาที่มนุษย์คนนั้นๆ ใช้มองโลกด้วย คนที่มองโลกในแง่ร้าย โลกที่เห็นก็อาจจะดาร์กสักหน่อย แต่หากใครมองโลกในแง่ดี ดวงตาของเขาก็จะเห็นแต่วันที่สดใส

“ที่เราวาดมากขนาดนี้เพราะหนึ่ง–ถ้าเราสนใจอะไรเราก็จะหมกมุ่นกับสิ่งนั้น สอง–เรามองว่ายิ่งเราวาดตัวละครมากเท่าไหร่เราก็ยิ่งเข้าใจตัวละครนั้นๆ มากขึ้น อย่างการจะวาด WORLD BOY แต่ละตัวที่แตกต่างกันขึ้นมาได้ เราก็ต้องทำความเข้าใจใหม่ทุกครั้งว่าทำไมตัวนี้เราถึงวาดฉากหลังแบบนี้ ทำไมถึงใส่องค์ประกอบนี้เข้ามา”

หมูยังยกตัวอย่างให้ฟังว่าตัวละครส่วนใหญ่ของเขามักเป็นสัตว์ประหลาดเพราะเขาชอบความไม่สมบูรณ์แบบ ชอบเหล่าตัวร้ายที่อาจเคยเป็นคนดีมาก่อน แต่กลับถูกหักหลังหรือทำร้ายจนจิตใจบิดเบี้ยวและต้องระบายความอัดอั้นออกมาในทางที่ไม่ดี 

“PUCK planet เป็นภาพขนาด A2 ที่เล่าถึงความวุ่นวายของจักรวาล สัตว์ประหลาดต่างๆ ในภาพนี้เหมือนเป็นสัตว์ประหลาดในฝันร้ายที่เคยเกิดขึ้นในหัวของเรา ซึ่งหยิบมาจากไดอารีที่เราใช้จดไอเดียและความฝันที่เกิดขึ้น และที่มันดูวุ่นวายแบบนี้เพราะเราเชื่อว่าความสมบูรณ์แบบไม่มีจริง แม้ว่าหน้าฉากจะเห็นว่ามันสมบูรณ์ แต่หลังฉากเต็มไปด้วยร่องรอยความวุ่นวายบางอย่าง” เขาอธิบายให้ฟังถึงไอเดียจักรวาลไตรภัค

นักสื่อสารปัญหา

ในช่วงเดียวกับที่สไตล์การวาดภาพของหมูเปลี่ยนไปนี้เอง แนวคิดหรือแก่นที่อยากนำเสนอในงานศิลป์ก็ยังเปลี่ยนไปตามอายุที่มากขึ้น หนังสือที่ได้เสพ และสภาพแวดล้อมที่ได้เห็นด้วย

“ช่วงนั้นเราเริ่มอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับสังคม มนุษย์ และการเมืองมากขึ้น หนึ่งในหนังสือที่ชอบคือหนังสือของอาจารย์วสันต์ สิทธิเขตต์ ที่เขียนกวีและทำงานศิลปะเรียกร้องสิทธิและสะท้อนความเหลื่อมล้ำของผู้คน

“อีกอย่างคือมหาวิทยาลัยเราอยู่ตรงสนามหลวง ตอนอยู่ในรั้วก็เห็นนักศึกษาที่กินดีอยู่ดีประมาณหนึ่ง พอเดินออกไปไม่ถึงสิบนาทีดันเจอคนไร้บ้าน เดินไปอีกนิดเจอพ่อค้า อีกนิดเจอลูกคุณหนูขับรถเบนซ์มา เรารู้สึกว่าทำไมมันถึงตัดอารมณ์ได้รวดเร็วจังเลย และทำไมสังคมไทยถึงเหลื่อมล้ำได้ขนาดนี้ การได้วาดรูปเกี่ยวกับสิ่งที่ค้างอยู่ในใจก็เหมือนการระบายออกที่ดี งานของเราเลยค่อยๆ มีเรื่องพวกนี้มากขึ้นเรื่อยๆ”

งานที่เริ่มสื่อสารเรื่องสังคมมากขึ้นในช่วงนั้นคือการ์ตูน ที่แม้ไม่ได้กบฏกับโลกและทุนนิยมเท่าปัจจุบันเพราะเป็นงานที่ทำร่วมกับสำนักพิมพ์ แต่ก็เริ่มตั้งคำถามกับชีวิตและสังคมมากขึ้น อย่างรวมเล่มการ์ตูนครั้งแรกของเขาที่ชื่อ Someting ก็เริ่มเล่าถึงนิยามความสุข การตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิตและสังคม จากการเขียนการ์ตูนครั้งนั้นงานของเขาก็ยังคงสื่อสารประเด็นทางสังคมจนถึงปัจจุบัน

“ไม่ใช่ว่าเราอยากจะสื่อสารอะไรหรอกนะ แต่เราเชื่อว่าศิลปินทุกคนหยิบเอาสิ่งที่ตัวเองสนใจมาเล่าเพราะมันง่ายที่สุดแล้วมากกว่า การทำงานศิลปะของเราก็ไม่ได้ต่างจากการเขียนไดอารี เพราะถ้าช่วงนั้นเราสนใจอะไรเราก็อยากจะชวนให้คนอื่นๆ สนใจด้วย

“ประเด็นหนึ่งที่เราสนใจและจะวาดแทรกลงไปในเกือบทุกงานคือประเด็นคนไร้บ้าน มีหลายครั้งที่เราไปเดินแถวสนามหลวง คลองหลอด ฯลฯ เพื่อไปสำรวจชีวิตเขา พูดคุยกับเขาว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้คนคนหนึ่งเลือกที่จะอยู่แบบนี้” หมูยกตัวอย่าง

แม้ใจความสำคัญของงานนั้นหนักขึ้นมากเมื่อเปรียบเทียบกับงานยุคแรกเริ่ม แต่หมูก็ไม่ได้นำเสนออย่างหนักๆ ออกไป เขากลับใช้ความเป็นป๊อปคัลเจอร์และสีสันฉูดฉาดแบบยุค 90s มานำเสนอ ซึ่งเป็นความชอบส่วนตัวของเขาอยู่แล้ว 

“เรานำเสนอผ่านป๊อปคัลเจอร์ช่วง 90s เพราะเราสื่อสารกับวัยรุ่น ซึ่งมันน่าจะทำให้เขาเข้าถึงงานที่มีแก่นหนักๆ ของเราได้ง่ายกว่า ส่วนการใช้สีฉูดฉาดก็มาจากรสนิยมส่วนตัวที่อาจจะดูผิดทฤษฎีสีที่ว่าต้องผสมหรือเบรกให้สีซอฟต์ลงหน่อย แต่เราเชื่อว่าทุกสีสวยงามขึ้นกับว่าจะนำไปสื่อสารในบริบทไหน

“ความลงตัวอยู่ที่ข้อจำกัดในการพิมพ์ สิ่งพิมพ์ในช่วง 90s นั้นมีสีฉูดฉาดเหมือนกัน ความฉูดฉาดที่เราชอบเลยเข้ากันได้กับป๊อปคัลเจอร์ช่วงนั้นพอดี”

นักทดลอง

นอกจากหมูจะมีความเป็นศิลปินหลากหลายแนวทาง อีกสิ่งหนึ่งที่เราคิดว่าเขาก็สนุกไม่แพ้กันคือการเป็นนักทดลอง เพราะหากเข้าไปเยี่ยมเยียนโซเชียลมีเดียและช่องทางแสดงผลงานของหมู เราจะพบว่าเขาสร้างสรรค์โปรเจกต์ใหม่ๆ ขึ้นมานับไม่ถ้วน 

ทั้งโปรเจกต์เล็กๆ อย่างหนังสือภาพที่พิมพ์ด้วยเทคนิคซิลก์สกรีนซึ่งทำร่วมกับ The Archivist ที่หมูบอกว่าไม่ได้มีคอนเซปต์อะไรชัดเจน เพียงแค่อยากผสานความสนุกของตัวเองเข้ากับเทคนิคนี้ หรือโปรเจกต์ Screen Tone lovers ที่ใช้แผ่นสกรีนโทนแบบนักวาดการ์ตูนมาวาดงานอีกครั้ง 

“งานเขียนการ์ตูนไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ขนาดนั้น เราจึงทำโปรเจกต์ส่วนตัวเล็กๆ มาตั้งแต่ช่วงที่เป็นนักเขียนการ์ตูนแรกๆ แล้ว เช่น ทำแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเอง ซึ่งทำให้คนได้เห็นว่านอกจากงานการ์ตูนเราก็ทำงานคอมเมอร์เชียลได้นะ หรืออย่างช่วงก่อนหน้าเราก็ทำสเกตบอร์ดลายวาดของเราขึ้นมา พอแบรนด์เห็นเขาก็ชวนไปทำ มันคือการขยายโอกาสการสร้างงานให้ตัวเองและยังทำให้เราได้ทดลองทำงานหลายๆ แบบ 

“อีกอย่างคือเราต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย เราจึงทดลองอะไรอยู่บ่อยๆ อย่างเวลาว่างๆ ก็จะซื้อบรัชใหม่ๆ ใน Photoshop มาลองวาดงานดูด้วย” 

อย่างล่าสุดหมูก็สร้างโปรเจกต์ส่วนตัวขึ้นมามากมาย เพราะเขาเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวงการ NFT ด้วยคำเชื้อเชิญจากเพื่อน

“ตอนแรกเราไม่เข้าใจว่าจะเป็นไปได้ยังไงที่คนจะซื้อไฟล์ดิจิทัลของเรา เลยยังไม่ได้กระโดดลงไปเล่นทันทีที่เพื่อนมาชวน แต่เฝ้ารอดูการเปลี่ยนแปลงและกระแสต่างๆ ก่อน แต่พอเพื่อนมาตื๊อเข้าเรื่อยๆ ก็เลยลองลงงานดู” หมูขอบคุณเพื่อนและคนที่มีส่วนร่วมในการผลักดันเขาเข้าสู่วงการนี้ให้เราฟังซ้ำแล้วซ้ำเล่า

“พอขายได้งานหนึ่งมันก็เริ่มเห็นโอกาส เริ่มรู้สึกว่าเป็นความภูมิใจเล็กๆ เพราะแต่ก่อนเราแค่วาดรูปเล่นๆ เพื่อกระจายความชอบออกไปและให้คนได้มีความสุขไปกับงานของเรา เลยรู้สึกว่าช่องทางนี้ก็เป็นช่องทางในการสนับสนุนศิลปินที่ดีเหมือนกัน” หมูว่าอย่างนั้น และเล่าต่อว่าปัจจุบันเขามีช่องทางการปล่อยผลงานหลายแพลตฟอร์มเพื่อทำการทดลองบางอย่าง

“มันไม่เชิงกระจายความเสี่ยง แต่เราอยากทดลองมากกว่าว่าแพลตฟอร์มที่ต่างกันจะเข้ากับรูปแบบงานที่ต่างกันไหม อย่าง WORLD BOY ซึ่งมีตัวละครมากถึง 555 ตัวเราจะลงใน OpenSea ที่ดูเข้ากับการสะสม ส่วน Foundation จะเน้นลงงานที่ดูจริงจังขึ้นมาหน่อยและงานที่มีรายละเอียดค่อนข้างสูง และยังมีอีกสองแพลตฟอร์มคือ ENTER ART และ KnownOrigin ที่เราจะลงงานเล็กๆ เพื่อให้ซื้อง่ายขายคล่อง” หมูอธิบายถึงการทดลองให้ฟัง

แม้ NFT จะเป็นโอกาสสำคัญที่หมูมองว่าทำให้ศิลปินได้เผยแพร่งานของตัวเองมากขึ้น แต่เขาบอกว่าในอีกมุมหนึ่งก็อาจทำให้ศิลปินโฟกัสผิดทาง

“ภาพ NFT Overdose คือภาพที่เรากลั่นกรองความรู้สึกช่วง 2 เดือนแรกที่ได้เข้าวงการ NFT กิจวัตรช่วงนั้นคือตื่นเช้าเข้าไปเช็กค่าเหรียญว่าอยู่ที่เท่าไหร่หรือเข้าไปดูว่าวันนี้มีใครลงงานบ้าง เรียกว่าจับจดจนเหมือนคนติดยา ซึ่งเราไม่ชอบความรู้สึกนี้เลย เพราะแต่ก่อนเราเคยสนุกกับการสร้างงานโดยไม่ได้คาดหวังว่ามันจะดังหรือได้เงินเท่าโน้นเท่านี้ แต่พอมันเริ่มได้ก็อดไม่ได้ที่จะคาดหวัง

“เราจึงพยายามบาลานซ์ตัวเอง และอยากบอกอีกหลายคนว่าอยากให้มีความสุขกับการวาดรูปมากกว่า วงการจะได้สนุกกว่านี้ และไม่ค่อยชอบพูดว่างานเราขายได้เท่าไหร่เพราะมันจะทำให้ศิลปินและคนอื่นๆ หลงประเด็นการทำงานศิลปะไป อาจทำให้ศิลปินรุ่นใหม่ๆ โฟกัสว่าจะทำยังไงให้ขายงานได้แพงที่สุด ทั้งที่สำหรับเราแล้วศิลปินควรโฟกัสว่าจะถ่ายทอดสิ่งที่รู้สึกออกมาให้ตรงกับสิ่งที่ต้องการได้ยังไง ส่วนเรื่องราคาควรเป็นความพึงพอใจของนักสะสม”

นักสร้างแรงบันดาลใจ

“จริงๆ ช่วงมัธยมเราเป็นเด็กสายวิทย์นะ” หมูเอ่ย

“พ่อแม่เราอยากให้เป็นหมอฟัน เราจึงรู้สึกขัดแย้งในใจมาตลอด เพราะขณะที่เรียนสายวิทย์อยู่เราก็เป็นเด็กที่ครูศิลปะจะพาไปประกวดตามสนามแข่งอยู่เรื่อยๆ สุดท้ายเลยไปทางศิลป์ พ่อแม่ก็กังวลว่าจะไปหากินได้ยังไง แต่เราก็พยายามทำให้ผู้ใหญ่เชื่อว่ามันเป็นอาชีพได้ อย่างเวลาไปแข่งแล้วได้เงินมาเราก็จะแบ่งส่วนหนึ่งให้แม่ด้วย จนทุกวันนี้เขาไม่ว่าอะไรแล้วเพราะเราก็กลายเป็นเสาหลักของบ้านไป” เขาบอกอย่างขำๆ ถึงเส้นทางชีวิตที่ต้องพิสูจน์ 

สำหรับหมู แม้ปัจจุบันหลายคนจะมองว่าเขาคือศิลปินที่ประสบความสำเร็จ แต่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ความล้มเหลวและความรู้สึกแย่ๆ ก็ยังเจือปนอยู่ในทุกช่วง

“เราก็ยังคงมีเรื่องที่เฟลทุกเดือนๆ ยังมีโปรเจกต์ที่คาดหวังกับมันไว้มากแต่กลับไม่ได้รับผลตอบรับที่ดีเท่าไหร่ หรืออย่างช่วงที่เขียนการ์ตูนจริงจังเมื่อหลายปีที่แล้วเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันจะประสบความสำเร็จไหม เพราะการ์ตูนของเราไม่ได้มียอดพิมพ์มาก เงินที่ได้ก็ไม่ได้ทำให้สำนักพิมพ์รวยขนาดนั้น แค่ไม่ทำให้เขาขาดทุนและยังคงมีแฟนคลับบางส่วนติดตาม” เขาบอกถึงสิ่งที่หลายคนอาจไม่นึกถึง

“แล้วคุณรู้สึกยังไงบ้างที่ได้อยู่ในวงการนี้มานานตั้ง 14 ปี” เราสงสัย

“มันเดินทางมาไกลกว่าฝันมากเลยนะ เพราะตอนแรกเรามักน้อยมาก ขอแค่มีการ์ตูนรวมเล่มของตัวเองสักเล่มก็ถือว่าตายตาหลับแล้ว แต่ทุกวันนี้เรามีการ์ตูนตั้ง 23 เล่ม ไหนจะอาร์ตบุ๊กอีก 2 เล่ม เอาเข้าจริง 14 ปีที่ผ่านมามีหลายช่วงที่เรากลับมาทบทวนตัวเองนะ ว่าหรือเราจะอยากทำอย่างอื่นบ้าง แต่คิดไปคิดมาก็คิดไม่ออกว่าถ้าไม่วาดรูปแล้วจะไปทำอะไร 

“เราว่าสิ่งสำคัญของทุกวงการคือคนในวงการนั้นๆ ต้องหมั่นเติมเชื้อไฟให้กันและกัน เหมือนตอนเด็กๆ ที่เราพอจะรู้ว่าจะเดินไปในวงการนี้ได้ยังไงด้วยการมองพี่ที่เราเคารพและศรัทธาเป็นไอดอลเป็นหนทางในการก้าวต่อไป 

“สิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกดีและภูมิใจที่ได้เป็นนักเขียนการ์ตูนและนักวาดภาพประกอบจึงเป็นการที่เราได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครหลายคน” หมูทิ้งท้าย


ขอบคุณภาพจาก PUCK

AUTHOR