Cities Heidelberg : วรรณกรรมและวิทยาศาสตร์ ในบรรยากาศเมืองมหาวิทยาลัย

Highlights

  • นอกจากจะขึ้นชื่อในความโรแมนติก ไฮเดลแบร์กยังเป็น ‘เมืองมหาวิทยาลัย’ อันหมายถึงเมืองที่มีเศรษฐกิจหลักเป็นการศึกษา เมื่อรวมความรู้เข้ากับความโรแมนติก จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเมืองแห่งนี้ถึงได้รับเลือกจากยูเนสโกให้เป็นเมืองวรรณกรรม (City of Literature) ในปี 2014
  • แต่ในความโรแมนติก ไฮเดลแบร์กยังหัวก้าวหน้า โดยเฉพาะการเป็นเมืองแรกของเยอรมนีที่เริ่มใช้แนวคิดการปกป้องสภาพอากาศมาตั้งแต่ปี 1992 และสานต่อเรื่องนี้ด้วยการเก็บรางวัลอย่างต่อเนื่อง แถมในปัจจุบัน ยังเป็นที่ตั้งของ Bahnstadt โครงการอาคารประหยัดพลังงานและลดมลพิษ (Passive House) ในลักษณะคอมเพลกซ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย

แม้จะอยู่นอกเส้นทางสายโรแมนติกซึ่งเป็นเส้นทางการค้าเก่าในยุคกลางของเยอรมนี แต่หลายคนก็ลงความเห็นว่า ‘ไฮเดลแบร์ก’ คือเมืองเยอรมนีที่โรแมนติกที่สุด

นั่นคือสาเหตุที่ทำให้เมืองขนาดไม่ใหญ่ไม่โต แต่มีทั้งปราสาทที่ยังคงความสมบูรณ์ แม่น้ำไหลผ่ากลางเมือง และบ้านเรือนในเขตเมืองเก่าที่สร้างจากหินทรายสีแดง ซึ่งเมื่อมองลงจากปราสาทแล้วเป็นภูมิทัศน์งดงามคุมโทนเดียวกันกับตัวปราสาท ต้องต้อนรับนักท่องเที่ยวหลายล้านคนในแต่ละปี

นอกจากจะขึ้นชื่อในความโรแมนติก เมืองแห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดของเยอรมนีและหนึ่งในมหาวิทยาลัยเก่าแก่ของยุโรปอย่างมหาวิทยาลัยไฮเดลแบร์กอีกด้วย มหาวิทยาลัยแห่งนี้ไม่เพียงผลิตนายกรัฐมนตรีเยอรมนีมาแล้วหลายคน แต่ยังผลิตเจ้าของรางวัลโนเบลมาแล้วหลายสิบคน

แม้จะทำเงินได้ไม่น้อยจากการท่องเที่ยว แต่ตัวตนของไฮเดลแบร์กก็คือการเป็น ‘เมืองมหาวิทยาลัย’ อันหมายถึงเมืองที่มีเศรษฐกิจหลักเป็นการศึกษาโดยเฉพาะการศึกษาระดับสูง ผู้คนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในเมืองเป็นนักศึกษาหรือผู้คนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ที่สำคัญคือผู้อยู่อาศัยราวร้อยละ 40 มีอายุต่ำกว่าสามสิบปี

ในความเป็นเมืองมหาวิทยาลัย หมายถึงการมีสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องกับความรู้และรองรับวิถีชีวิตของนักศึกษา นั่นรวมถึงร้านหนังสือ สำนักพิมพ์ ไปจนถึงห้องสมุดที่มีให้เห็นอยู่ทั่วไปโดยเฉพาะห้องสมุดมหาวิทยาลัยไฮเดลแบร์กที่ถือเป็นแลนด์มาร์กสำคัญในเขตเมืองเก่า

เมื่อรวมความรู้เข้ากับความโรแมนติก ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเมืองแห่งนี้ถึงได้รับเลือกจากยูเนสโกให้เป็นเมืองวรรณกรรม (City of Literature) ในปี 2014

“ในไฮเดลแบร์ก วรรณกรรมนั้นอยู่ทุกหนแห่ง…ไม่มีวันใดที่ปราศจากกิจกรรมด้านวรรณกรรม ไม่มีฤดูร้อนใดที่ปราศจากเทศกาลวรรณกรรม ไม่มีปีใดที่ปราศจากผู้ชนะรางวัลด้านวรรณกรรม” แม้จะเป็นคำกล่าวอ้างของเมืองเอง แต่ก็คงยากที่จะปฏิเสธได้ว่ามันไม่จริง

ทางสายปรัชญา

ไม่ต่างจากเมืองเกียวโตที่มีบรรยากาศงดงาม มีสถานศึกษาขึ้นชื่อ และมีถนนสายปรัชญา ไฮเดลแบร์กก็มี Philosophenweg (Philosopher’s way) ถนนสายเล็กๆ ที่เหมาะแก่การเดินใช้ความคิดเช่นกัน

เมื่อเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งความรู้ และห้อมล้อมด้วยภูมิทัศน์โรแมนติกไม่เป็นสองรองเมืองใด ไม่แปลกที่ไฮเดลแบร์กจะเป็นเมืองที่นักคิด-นักเขียนชื่อดังตกหลุมรัก ไม่ว่าจะเป็นเกอเธ่, แมกซ์ เวเบอร์ หรือมาร์ก ทเวน ที่ต่างเคยมาอาศัยอยู่ในเมืองแห่งนี้

โดยเฉพาะมาร์ก ทเวน นั้นดูจะผูกพันกับเมืองนี้ไม่น้อย เขาถึงกับจารึกความทรงจำต่อไฮเดลแบร์กไว้ในหนังสือ A Tramp Abroad หลายบท และนิยามเมืองแห่งนี้ไว้ว่ามันคือ “ปลายทางความเป็นไปได้ของความงาม” (The last possibility of the beautiful)

อาจเพราะเหตุนี้ ผู้มาเยือนหลายคนจึงมีกิจกรรมโปรดเป็นการตามรอยนักคิดที่ชื่อดัง ไม่ว่าจะเป็นการเยี่ยมชมโรงแรมที่ทเวนเคยพักอาศัยอย่างโรงแรม Schloss และโรงแรม Schrieder ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนเป็น Crowne Plaza รวมถึงสถานที่ที่เขาชอบไปอย่างสถานที่กักขังนักศึกษาในอดีตหรือการไปนั่งสังเกตการณ์ชั่วโมงเรียนในมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังมีสวนในปราสาทที่เกอเธ่ชอบไปวาดรูป และบ้านของเวเบอร์ซึ่งในปัจจุบันใช้เป็นที่เรียนภาษาและวัฒนธรรมเยอรมันสำหรับนักศึกษาต่างชาติ

ทางสายวิทยาศาสตร์

เรื่องมีอยู่ว่าเมืองมหาวิทยาลัยแห่งนี้ไม่ได้โดดเด่นเฉพาะในด้านวรรณกรรม แต่แท้จริงแล้ว นี่คือเมืองมหาวิทยาลัยที่โดดเด่นในการเป็นศูนย์กลางความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นด้านการแพทย์หรือด้านอื่น คำว่าศูนย์กลางความรู้หมายถึงการมีสาธารณูปโภคที่รองรับการพัฒนาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะสถาบันวิจัย และความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน

ดังนั้นหากจะบอกว่าไฮเดลแบร์กคือเมืองโรแมนติก ก็อาจต้องเติมไปด้วยว่าเป็นโรแมนติกหัวก้าวหน้า โดยเฉพาะการเป็นเมืองแรกของเยอรมนีที่เริ่มใช้แนวคิดการปกป้องสภาพอากาศมาตั้งแต่ปี 1992 และสานต่อเรื่องนี้ด้วยการเก็บรางวัลอย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องบอกก็รู้ว่ารางวัลคือเครื่องมือชั้นดีในการสร้างความมั่นใจให้กับผู้คน เพื่อแลกกลับมาเป็นความร่วมไม้ร่วมมือ

ไล่ตั้งแต่การชนะรางวัล ‘เมืองยั่งยืนยุโรป’ ในปี 1997 (และอีกครั้งในปี 2003) จนถึงรางวัล ‘เมืองสีเขียวโลก’ จากที่ประชุมสหประชาชาติในปี 2015

ในปัจจุบัน เมืองแห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของ Bahnstadt โครงการอาคารประหยัดพลังงานและลดมลพิษ (Passive House) ในลักษณะคอมเพลกซ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก สร้างบนที่ดินซึ่งเคยเป็นพื้นที่ขนถ่ายตู้รถไฟเก่า ด้านหลังสถานีรถไฟกลางของเมือง โดยใช้เงินลงทุนราวสองล้านยูโร และมีกำหนดเสร็จสมบูรณ์ในปี 2022

โครงการดังกล่าวได้รับรางวัล Passive House Award ของสหภาพยุโรปในปี 2014 และพื้นที่ทั้งหมดนับเป็นพื้นที่เขตใหม่ของเมือง

คิดแล้วก็อดอิจฉาชาวเมืองไฮเดลแบร์กไม่ได้ แต่มันก็ควรจะเป็นอย่างนี้มิใช่หรือ เมืองที่มีสินค้าสำคัญคือการศึกษา ควรผลิตความรู้ที่สามารถเปลี่ยนเป็นผลลัพธ์ได้อย่างเป็นรูปธรรม

นี่เป็นอีกหนึ่งเมืองที่ย้ำกับเราว่า แม้จะห้อมล้อมด้วยประวัติศาสตร์และบรรยากาศที่เอื้อต่อการรังสรรค์บทกวี แต่ก็เดินไปข้างหน้าอย่างมีจุดหมายได้ด้วยเช่นกัน

 

อ้างอิง

The Local, Heidelberg,Vaillant,Compelo, Culture Trip

AUTHOR

ILLUSTRATOR

Louis Sketcher

นักวาดภาพที่มีพื้นฐานจากวิชาสถาปัตย์ฯ ทำให้มีความสนใจมากมายในศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิต และอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับเมือง