ไม่ว่าคุณจะเชื่อหรือไม่ คนญี่ปุ่นก็เชื่อว่ากล่องข้าวนี้ทำให้ข้าวอร่อยขึ้น
ไม่เพียงเพราะข้าวสวยร้อนๆ ได้รับการบรรจุในกล่องข้าวหน้าตามีระดับเท่านั้น แต่เพราะมันยังเป็นกล่องที่ทำจากไม้ซีดาร์ ซึ่งนอกจากจะมีคุณสมบัติควบคุมความชื้นได้ดี ยังช่วยให้ข้าวนั้นหอมกว่าบรรจุในกล่องประเภทไหนๆ
กลิ่นหอมลึกสไตล์ไม้สนซีดาร์นั้นคือหนื่งในกลิ่นที่เราพบบ่อยครั้งในน้ำมันหอมระเหย ทั้งยังมักใช้เป็น ‘เบสโน้ต’ หรือกลิ่นพื้นฐานของน้ำหอมส่วนใหญ่ ไม่ใช่กลิ่น ‘ท็อปโน้ต’ หรือกลิ่นแรกที่อาจหอมแรงเตะจมูกจนกลบความหอมของข้าว แต่เป็นกลิ่นละเอียดอ่อนที่ช่วยให้รู้สึกสงบและผ่อนคลาย พูดง่ายๆ ว่าเป็นแบ็กอัพที่ดีนั่นเอง
กล่องข้าวที่ว่านี้เรียกว่า “มะเงะวัปปะ” ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นขึ้นชื่อระดับประเทศของเมืองโอดะเตะ ในจังหวัดอากิตะ ทางภูมิภาคโทโฮกุของญี่ปุ่น
Cedar Story
คงกล่าวไม่ผิดหากจะบอกว่า มะเงะวัปปะของโอดะเตะคือสิ่งที่สะท้อนหัตถศิลป์ญี่ปุ่นร้อยเปอร์เซ็นต์
มันทั้งเรียบหรูและเรียบง่าย โดยเป็นการอาศัยทักษะช่างฝีมือเพื่อเปลี่ยนวัสดุในท้องถิ่น โดยท้องถิ่น และเพื่อท้องถิ่น ให้เป็นข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่มีคุณสมบัติพิเศษ ไม่ต่างจากการส่งต่อมรดกทางธรรมชาติ วัฒนธรรม ไปจนถึงเรื่องราวจากรุ่นสู่รุ่น
ไม่ต้องสงสัยว่ามันทั้งมีค่าและมีราคา เมื่อเป็นของมีราคาก็ไม่ต้องไปแข่งกับกล่องข้าวพลาสติก ไม่เพียงเศรษฐกิจท้องถิ่นอยู่ได้แต่ธรรมชาติก็อยู่ได้ไปพร้อมๆ กัน ขอเพียงเคารพกติกาการใช้ธรรมชาติเท่านั้น
ในความเป็นจริงมะเงะวัปปะไม่ได้ใช้เรียกแค่กล่องข้าว แต่ยังเป็นชื่อเรียกผลิตภัณฑ์ที่ทำด้วยเทคนิคดัดไม้ให้โค้งเป็นวงอื่นๆ ด้วย โดยไม้ที่ใช้ก็คือไม้ซีดาร์อากิตะ แน่นอน ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นพันธุ์ไม้ท้องถิ่น
เรื่องราวของโอดะเตะกับมะเงะวัปปะเริ่มต้นราว 400 ปีก่อน หลังจากสงครามกลางเมืองอันยาวนานนำความอดอยากแร้นแค้นมาสู่ผู้คนในวงกว้าง ขุนนางผู้ดูแลเมืองในเวลานั้นเห็นว่าคนงานตัดและเลื่อยไม้ต่างนำแผ่นไม้ซีดาร์มาทำกล่องข้าว จึงมองเห็นไอเดียที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมให้ซามูไรชั้นล่างๆ นำเอาซีดาร์อากิตะซึ่งเป็นไม้ในพื้นที่มาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อหารายได้เสริม ถือเป็นจุดเริ่มต้นของหัตถอุตสาหกรรมที่สร้างทั้งเศรษฐกิจและอัตลักษณ์ท้องถิ่นนับแต่นั้น
และอันที่จริงแล้วข้าวของเครื่องใช้ที่ทำขึ้นด้วยการไสไม้เป็นแผ่นบาง นำไปแช่ในน้ำเดือด และดัดให้โค้งงอในขณะที่ยังเปียกนั้น ถือเป็นภูมิปัญญาที่พบได้ทั่วไปในญี่ปุ่น แต่สิ่งที่ทำให้มะเงะวัปปะของโอดะเตะพิเศษกว่าชาวบ้านก็คือ ไม้ซีดาร์อากิตะนั้นไม่เพียงมีคุณสมบัติชั้นดีในการเก็บรักษาความชื้นของอาหาร (ทั้งดูดซับความชื้นที่มากเกินไปและคายความชื้นเมื่ออาหารแห้งเกินไป) หรือให้กลิ่นที่ช่วยส่งรสชาติของอาหาร หรือฆ่าเชื้อแบคทีเรียซึ่งทำให้อาหารยังคงความสดและเก็บได้นานขึ้นเท่านั้น แต่ที่สำคัญคือไม้สนที่ขึ้นในพื้นที่หนาวเย็นอย่างในจังหวัดอากิตะนี้จะเติบโตอย่างช้าๆ และมีวงปีที่มีความหนาแน่น ทำให้เนื้อไม้แข็งแรง มีลายไม้งดงาม รวมถึงมีความยืดหยุ่นสูงจนเหมาะต่อการนำมาดัดนั่นเอง
สรุปว่าเปี่ยมทั้งประสิทธิภาพและสุนทรียภาพ สวยทั้งรูปจูบก็หอม
แน่นอนว่าของดีนั้นมีราคา ใช่ว่าซีดาร์อากิตะทุกต้นจะนำมาทำกล่องข้าวได้หมด เงื่อนไขพื้นฐานก็คือซีดาร์ที่จะนำมาดัดโค้งได้นี้ต้องเป็นต้นที่มีอายุหลักร้อย
ผ่านเวลาเป็นร้อยปีมาได้ก็หมายความว่าผ่านสภาพอากาศทรหดหลากหลายมาได้ด้วยนั่นเอง
สมมติว่าปลูกไว้หลายร้อยต้น อาจมีเพียงไม่กี่สิบต้นที่นำมาใช้ได้ ต้นที่ตะปุ่มตะป่ำนั้นใช้ไม่ได้ ต้นที่มีสีแปลกไปก็ใช้ไม่ได้เช่นกัน
นั่นหมายความว่าตลอด 400 ปีที่ผ่านมา นอกจากจะนำไม้ซีดาร์มาทำกล่องข้าวแล้ว คนในพื้นที่จะต้องปลูกและดูแลรักษาต้นซีดาร์ไว้สำหรับลูกหลานของพวกเขาตลอดมา โดยกฎหมายของญี่ปุ่นในปัจจุบันไม่อนุญาตให้ตัดต้นซีดาร์ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม้ซีดาร์ที่นำมาใช้ทำกล่องข้าวในวันนี้จึงมาจากต้นไม้ที่ตัดไว้ก่อนที่กฎหมายจะเริ่มบังคับใช้ ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุกว่าสองร้อยปี
Good Story
สำหรับคนทั่วไป โอดะเตะอาจเป็นเมืองที่รู้จักกันในฐานะบ้านเกิดของ ‘ฮาจิโกะ’ สุนัขอากิตะยอดกตัญญูที่มีรูปปั้นอยู่ใจกลางความวุ่นวายของโตเกียวอย่างย่านชิบูยะ
แต่สำหรับผู้ที่สนใจงานหัตถศิลป์ โอดะเตะเป็นเมืองแห่งมะเงะวัปปะที่ควรค่าแก่การเยี่ยมเยือนเมื่อเหยียบย่างไปยังภูมิภาคอีสานของญี่ปุ่นอย่างโทโฮกุ
อย่าแปลกใจหากเดินเข้าร้านขายสินค้ามะเงะวัปปะในโอดะเตะแล้วเห็นป้ายสัญลักษณ์ตัว ‘G’ อยู่เต็มไปหมด ตัว G ที่ว่าก็คือโลโก้ Good Design Award สัญลักษณ์ที่บอกว่ามันคืองานที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นงานออกแบบชั้นเลิศของญี่ปุ่น
อาจเพราะเป็นงานออกแบบที่มีพื้นฐานแข็งแกร่ง นั่นคือการทำจากวัสดุทรงคุณค่า กระบวนการที่บ่งบอกถึงภูมิปัญญา จนได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติเหนือกว่าผลิตภัณฑ์ทั่วไป ดังนั้นเพียงแค่ออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ให้สะท้อนสุนทรียภาพญี่ปุ่นและใช้งานได้อย่างไม่มีที่ติมันก็พร้อมจะเป็นงานออกแบบที่ได้รับการยอมรับ
ที่สำคัญคือเรื่องราวที่ช่วยขับเน้นทุกอย่างให้โดดเด่น จนไม่รู้ว่าเป็นเพราะคนญี่ปุ่นมีทักษะในการใช้ชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งแวดล้อม หรือเชี่ยวชาญในการสานต่อมรดกบรรพบุรุษ หรือว่าพวกเขาเป็นนักเล่าเรื่องชั้นเซียนกันแน่
เพราะเหตุนี้ญี่ปุ่นจึงไม่ค่อยมีเมืองธรรมดาที่ควรค่าแก่การปล่อยผ่าน แต่ทุกเมืองต่างมีเรื่องเล่า เรื่องราว ที่พัฒนาเป็นสัมผัสแห่งถิ่น หลายครั้งมันก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ผ่านกาลเวลาจนกลายเป็นความไม่ธรรมดา หลายครั้งของสูงค่าก็เริ่มต้นจากอุบัติการณ์เรียบง่าย ไม่ต่างจากกล่องข้าวจากไม้ซีดาร์ท้องถิ่นนี้
ที่แน่ๆ มันทำให้ผู้มาเยือนจำนวนไม่น้อยรีบจับจองเวลาในโรงเวิร์กช็อป ที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ทดลองทำกล่องข้าวจากไม้ซีดาร์อากิตะนี้เพื่อเป็นที่ระลึกกลับบ้าน
ไม่ว่าใครก็คงตกหลุมรักกล่องข้าวของตนเอง ถึงตอนนี้โปรดเชื่อเถิดว่าข้าวกล่องนี้อร่อยที่สุด
อ้างอิง