อัปเลเวลแกลบที่ไร้ค่า สู่พลังงานไฟฟ้ายุค EV

แกลบ คือ เปลือกแข็งที่หุ้มด้านนอกของเมล็ดข้าว ซึ่งมันเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการสีข้าวและมักจะถูกมองว่าเป็น ‘ของเหลือทิ้ง’

แต่แท้จริงแล้ว แกลบเป็นหนึ่งในพืชที่สามารถทำเป็นเชื้อเพลิงจากการนำมาแปรรูปด้วยการเผา และทำให้เกิดพลังงานไฟฟ้าได้ หรือเรียกว่า ‘พลังงานชีวมวล’ (Biomass Energy)

หากอธิบายให้เข้าใจง่าย สำหรับกระบวนการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลจะเริ่มจากการนำพืชเชื้อเพลิงมาเผา ซึ่งพืชเชื้อเพลิงนอกจากแกลบแล้ว ยังมีฟางข้าว ชาน ใบ ยอดอ้อย เศษไม้ เส้นใย กะลาปาล์ม กากมันสำปะหลัง ซังข้าวโพด กาบและกะลามะพร้าว โดยความร้อนที่ได้จากการเผาจะนำไปสู่หม้อไอน้ำ (Boiler) เพื่อผลิตไอน้ำที่มีอุณหภูมิและความดันสูง หลังจากผ่านขั้นตอนนี้ ไอน้ำจะถูกนำไปหมุนกังหันไอน้ำ (Turbines) ซึ่งต่ออยู่กับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator) เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า

ดังนั้นพลังงานไฟฟ้าจากข้าวเปลือก 1 ตันสามารถสีเป็นข้าวสารได้ 650-700 กิโลกรัม และแกลบประมาณ 220 กิโลกรัมสามารถแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า 90-125 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ซึ่งเทียบเท่ากับการเปิดแอร์ได้ถึง 48 ชั่วโมง หรือชาร์จรถไฟฟ้าได้ประมาณ 3 คัน 

และต่อไปในปี 2566-2568 ประเทศไทยจะมีจำนวนข้าวเปลือกประมาณ 34 ล้านต้น สีเป็นข้าวสาร และเหลือแกลบที่สามารถแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ 3-4.2 เมกะวัตต์-ชั่วโมง ซึ่งเป็นปริมาณที่ใช้ได้ถึง 1,000 ครัวเรือน/วัน

อย่างไรก็ตาม บางโรงไฟฟ้าชีวมวลยังคงใช้รูปแบบการเผาไหม้ ที่อาจเกิดปัญหามลพิษทางอากาศ จึงต้องมีเทคโนโลยีที่นำมาแก้ปัญหา เช่น เทคโนโลยีการดักจับฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิตย์ (ESP) เพื่อดักจับฝุ่นละอองมีประจุไฟฟ้าขั้วหนึ่ง และถังเก็บละอองที่มีประจุไฟฟ้าอีกขั้วหนึ่ง หรือเทคโนโลยีการดักจับฝุ่นด้วยหยดน้ำ (Wet Collector) ใช้พ่นน้ำจากด้านบนให้เกิดการจับกับฝุ่นที่ลอยขึ้นตกลงเป็นน้ำ และนำน้ำที่ได้ไปบำบัดให้สะอาด โดยการนำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาใช้ เพื่อให้เกิดการเผาไหม้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดนั่นเอง

สนใจอยากรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม เข้าไปดูเรื่องน่าสนใจอีกมากมายที่: NetZeroCarbon


ที่มา

http://reca.or.th/biomass/

https://shorturl.asia/DEgpz

https://shorturl.asia/hFK1V

https://shorturl.asia/Fz6O1

AUTHOR