คุยกับ แดน ปฐมวาณิชย์ แห่ง NRF ที่ลุยเรื่อง Plant-based Food เพราะเชื่อว่าต้องทำสิ่งที่ดีต่อโลก และภูมิใจที่จะบอกลูก

คุยกับ แดน ปฐมวาณิชย์ แห่ง NRF ที่ลุยเรื่อง Plant-based Food เพราะเชื่อว่าต้องทำสิ่งที่ดีต่อโลก และภูมิใจที่จะบอกลูก

“ในฐานะคนทำธุรกิจ เราต้องทำในสิ่งที่ดีต่อโลก และภูมิใจที่จะบอกลูกได้ว่าพ่อทำดีที่สุดแล้ว”

คำพูดที่ยืนยันหนักแน่นถึงความเชื่อดังกล่าว คือสิ่งที่ คุณแดน ปฐมวาณิชย์ CEO แห่ง NRF หรือ บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในสมาชิกของสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UNGCNT) ลงมือทำมาโดยตลอด หลังจากที่ปักหมุดหมายที่ชัดเจนให้กับองค์กรแล้วว่า NRF จะเป็นบริษัทผลิตอาหารที่ทำให้โลกนี้ดีขึ้นด้วยการลดการปล่อยคาร์บอนไปจนถึงจุดที่คาร์บอนเป็นลบ หรือ Carbon Negative

โดยผ่านการทำธุรกิจที่กำลังเป็นที่ต้องการของโลกใบนี้ เช่น การผลิตอาหารโปรตีนทางเลือกที่ทำมาจากพืช (Plant-based Food) ซึ่งถือว่าเป็นเทรนด์อาหารมาแรงและได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นอาหารแห่งอนาคต (Future Food) เพราะอาหารที่ผลิตจากพืชนั้น ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 1 ใน 10 เมื่อเทียบกับอาหารที่ผลิตจากเนื้อสัตว์ ที่สำคัญ NRF ยังเป็นบริษัทที่ขยับตัวทำอาหารประเภทนี้เป็นรายแรกๆ ของเมืองไทยด้วย 

วันนี้พวกเราก็นัดพูดคุยกับคุณแดนที่ร้าน alt.Eatery ย่านทองหล่อ ร้านอาหารที่เป็นอีกหนึ่งธุรกิจในการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับ Plant-based ได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมที่สุด จะบอกว่านี่เป็นอีกหนึ่งบทสนทนาที่อร่อยมากก็ไม่ผิดนัก 

“อยากให้ลองโดนัทที่ทำจาก Plant-based อร่อยมากนะครับ” เจ้าตัวเชิญชวนอย่างกระตือรือร้น และแน่นอนว่าพวกเราย่อมไม่พลาด 

อาหารว่าอร่อยแล้ว แต่ที่มาที่ไปของการหันมามุ่งมั่นในการผลิตอาหาร Plant-based อย่างจริงจังก็เป็นเรื่องที่ ‘ออกรสออกชาติ’ ไม่แพ้กัน เพราะเส้นทางนี้ต้องแลกมากับการตระเวนเดินทางไปดูงานใน 10 ประเทศ และพูดคุยลงลึกกับร้านค้าปลีกและซูเปอร์มาร์เก็ตกว่า 500 แห่งทั่วโลก ที่รับสินค้าจาก NRF ไปขาย จนกระทั่งเขาเริ่มเห็นโอกาสในธุรกิจนี้

“ช่วงก่อนปี 2017 เรื่องของความยั่งยืนยังเป็นเรื่องที่ภาคธุรกิจพูดถึงน้อยมาก หรือแทบไม่มีคนพูดถึงเลยก็ว่าได้ ส่วนเรื่องโลกร้อนก็มีทั้งคนเชื่อและไม่เชื่อ แต่ผมมองดูเทรนด์ของการพัฒนาแล้ว มันมีประเด็นที่บริษัทเราต้องปรับตัว ผมเลยใช้เวลาประมาณ 6 เดือนในการทำแผนแม่บทของบริษัท ทำไปล่วงหน้าเลยประมาณ 15 ปี เพราะผมอยากจะให้ทุกคนเห็นว่า NRF จะก้าวไปถึงตรงจุดไหน และจุดมุ่งหมายของเราคืออะไร ผมก็เลยเดินทางไปทั่วโลกเลย ต้องบอกว่าตอนนั้นยอดขายของเรามาจากการที่เราเป็นบริษัทที่รับผลิตอาหาร หรือ OEM ถึง 70% อีก 30% เราทำแบรนด์เอง

ตอนนั้นผมต้องเดินทางไปเยี่ยมชมซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าปลีกของคนเอเชียเกือบ 500 สาขา ซึ่งผมไปเองเลย ก็ไปถามเลยว่า ทำยังไงให้เราสามารถมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งคำตอบก็คือ บริษัทเราต้องมี Value ที่ตรงกับ Value ของเขา หรือประเทศที่เราไปค้าขายด้วย ซึ่ง Value นั้นก็คือการขับเคลื่อนด้วยความยั่งยืน เรื่องการลดการปล่อยคาร์บอนในภาคธุรกิจ ตามกรอบ SDGs Goal ขององค์การสหประชาชาติ เรียกว่าตอนนั้นเป็นครั้งแรกเลยที่ผมได้ยินคำว่า SDGs”

“ดังนั้น เมื่อเรารู้ว่าบริษัทเหล่านี้เขามีเป้าหมายแบบไหน ถ้าเราอยากจะทำการค้ากับเขา เราต้องทำอย่างไรให้เป้าหมายและ Value ตรงกัน ผมว่าตรงนี้แหละที่มันเป็นโอกาสในการทำธุรกิจ ถ้าเราสามารถเข้าสู่โหมด Net Zero หรือปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ได้ในฐานะบริษัทและระดับผลิตภัณฑ์ได้ เราจะเป็น First Mover ในอุตสาหกรรมนี้ หลังจากชัดเจนในเป้าหมายของการทำธุรกิจแล้ว การเข้าลงนามใน UN Global Compact หรือ Road to Zero ไม่เพียงเพื่อประกาศจุดยืนและตั้งเป้าให้องค์กร แต่เราเห็นถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนในภาคเอกชน ที่นับว่าเป็นบทบาทที่สำคัญเช่นกัน

เมื่อยิ่งเอาจริงเอาจังและศึกษาลึกลงไปเรื่อยๆ เขาก็พบว่าตัวเองตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารที่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมอย่างเห็นได้ชัด

“ภาคอุตสาหกรรมอาหาร มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 30% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก โดยเฉพาะเรื่องการเลี้ยงสัตว์ อาหารสัตว์นี่ถือว่าปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 1 ใน 3 เลยก็ว่าได้ แล้วยิ่งช่วงการเกิดโควิดเป็นต้นมา ทำให้เห็นแล้วว่า อุตสาหกรรมอาหารเป็นสิ่งที่บอบบางมาก สิ่งที่เราไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้นก็สามารถเกิดขึ้นได้ พูดเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารนะ ใครจะไปคิดว่าคนสิงคโปร์ที่กินข้าวมันไก่ทุกวันอยู่ดีๆ จะไม่มีไก่กิน เพราะปกติเขาเลี้ยงไก่กันที่มาเลเซีย แล้วมาเลเซียหยุดส่งออกไก่ หรือใครจะไปคิดว่าเวียดนามจะหยุดส่งออกข้าวในเวลานั้น แต่สิ่งเหล่านี้ได้เกิดขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่โควิดได้ให้บทเรียนแก่พวกเรา ทำให้เราได้รู้เกี่ยวกับเสถียรภาพในการกินมันเปราะบางมาก นี่แค่ช่วงโควิด แล้วสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอีก 30 ปีข้างหน้าล่ะ? พูดกันตามความจริงเลยนะก็คือว่าโลกเราจะร้อนขึ้น 2 องศา นี่คือสิ่งที่มันจะเป็นจริง แล้วใน 2 องศาที่ว่ามันจะทำให้ฤดูกาลเก็บเกี่ยวในบ้านเราหายไปหนึ่งฤดู พี่น้องประชาชนคนไทยจะเอาอะไรกินในช่วงเวลานั้น เพราะว่าความชื้นมันจะมากขึ้น เกษตรกรจะเหมือนทำงานในซาวน่า ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ที่จะทำงานแบบนั้น เราก็ต้องไปเร่งเก็บเกี่ยวในฤดูอื่น ซึ่งมันก็จะไม่ดีเท่าไหร่ ราคาอาหารก็จะพุ่งกระฉูด สิ่งที่เราเคยเอ็นจอยก็จะหายไป แล้วเราจะทำยังไง?”

คำถามนี้ นำมาสู่การมี Plant-based Food และเป็นคำตอบที่แก้ปัญหาให้อุตสาหกรรมอาหารทั่วโลกได้ในเวลาเดียวกัน

“นอกจากจะเป็นคำตอบสำหรับคนที่เลี่ยงหรือไม่รับประทานเนื้อสัตว์ อาจด้วยเหตุผลทางความเชื่อหรือการนับถือและอื่นๆ แล้ว การลดปริมาณการกินและการเลี้ยงสัตว์แล้วเราหันไปพึ่งพาโปรตีนจากพืชแทน ซึ่งมันก็ดีในแง่สุขภาพ เพราะการทานเนื้อสัตว์มากไปก็ไม่ดี อย่างกรณีคนป่วยหนักๆ แพทย์ก็อยากให้ลดปริมาณการรับประทานเนื้อสัตว์ ส่วนระยะกลางและยาว เราก็ช่วยให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ และเมื่อถึงเวลาที่เกิดวิกฤติอาหาร เช่น ข้าวโพดแพงขึ้น น้ำตาลขึ้นราคา อะไรที่เคยชอบก็หายาก ราคาสูงอีก สิ่งที่เราจะทานได้ก็เริ่มจำกัด  แล้วยิ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่ Aging Society อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว ความมั่นคงทางการเงินจึงเป็นสิ่งสำคัญในการใช้ชีวิต ซึ่งแน่นอนว่าในอนาคตราคาสินค้าและอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นอีกอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งวัตถุดิบจะหาได้ยากขึ้นเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายลง ทั้งหมดนี้จะผสมโรงเข้ากันทำให้มนุษยชาติต้องเผชิญกับความลำบากในการดำรงชีวิต ดังนั้นแล้ว Plant-based จะเข้ามาเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ดีที่สุด ตอบโจทย์ผู้บริโภคในระบบอาหารได้ทั้งปัจจุบันและอนาคต

การที่ NRF ต้องเดินไปบนเส้นทางแห่งความยั่งยืน กระบวนการผลิตอาหารยิ่งต้องสำคัญ และสิ่งนี้เองที่ทำให้โรงงานผลิตอาหารของ NRF เป็นโรงงานผลิตอาหารในไทยที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ติดกันถึง 3 ปีซ้อน

“เราอยากลดปริมาณคาร์บอนมากกว่าการปล่อย และนวัตกรรมที่เราภูมิใจมากก็คือ ผลผลิตที่เหลือจากการเพาะปลูกเช่น ซังข้าวโพด ซึ่งปกติเขาจะไปเผากัน แล้วมันก็เกิด PM 2.5 เราก็ไปจ้างเขาเก็บกลับมาแปรรูปเป็นไบโอคาร์บอน คล้ายๆ ถ่านหินชีวมวล ซึ่งการแปรรูปก็ปล่อยมลพิษต่ำ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย พอได้ไบโอคาร์บอนก็เอาไปฝังในไร่ นำไปเพิ่มคาร์บอนในดินเพื่อให้ดินดูดซึมน้ำได้ดีขึ้น และช่วยเพิ่มผลผลิตในการเพาะปลูกได้อีก” 

ผลจากการกำจัดปริมาณคาร์บอนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ ทำให้เขาคาดว่า บริษัทจะปล่อยคาร์บอนติดลบได้ในปี 2050 และตั้งเป้าให้การผลิตในโรงงานปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ให้ได้ในอนาคต 

“ส่วนตัวผมมองว่าถ้าเราจะสร้างธุรกิจหรือเราจะทำอะไรก็ตาม อย่างน้อยการคำนึงถึงผลลัพธ์และคุณค่าที่จะได้เพื่อส่งต่อ เราก็รู้สึกภูมิใจ เพราะผมเองก็มีลูก ถ้าผมสามารถตอบได้ว่าวันที่โลกเกิดวิกฤตขึ้นมา ผมสามารถมองตาเขาแล้วพูดได้เต็มปากว่า พ่อทำสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว อย่างน้อยที่สุดเราก็ทำในสิ่งที่ไม่มีใครว่าได้ เพราะสิ่งที่จะเกิด ณ วันที่มีวิกฤติก็คือคนจะชี้หน้าด่าว่าเพราะคุณนี่แหละมันถึงเกิดปัญหา ซึ่งถ้าเราทำสิ่งที่ดีและคำนึงถึงคนรุ่นต่อไป มันจะไม่มีใครโทษเราได้ เราสามารถที่จะกล้าพูดได้ว่า เราคือหนึ่งในกลุ่มคนที่ผลักดัน ยืนหยัดต่อสู้ พร้อมหาทางออกให้กับปัญหาที่ในวันข้างหน้ามวลมนุษยชาติต้องเผชิญกับวิกฤตของโลกอย่างแน่นอน


เรื่อง: วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

กุลชนาฎ เสือม่วง

ปูนพร้อมก่อสุดหล่อพร้อมยัง IG: cozy_cream