สังคมประชาธิปไตยย่อมเข้าใจดีว่าการประท้วงคือสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนพึงทำได้ ในวันที่เสียงความเดือดร้อนดังไปไม่ถึงหูผู้มีอำนาจ
แต่อย่างที่เราเห็นในข่าวช่วง 2 ปีมานี้ ยังคงมีบางประเทศอ้างการใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมในการสั่งห้ามชุมนุมทางการเมือง โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชีย
ที่น่าสนใจคือประชาชนในประเทศเหล่านี้พยายามหาทางต่อกรกับเจ้าหน้าที่ด้วยวิธีการที่หลากหลายและสร้างสรรค์ เพื่อให้เสียงในการต่อต้านความอยุติธรรมดังนานที่สุด แม้จะใช้เพียงแค่อุปกรณ์เล็กๆ ที่ไม่สามารถหยุดอาวุธและความรุนแรงในมือเจ้าหน้าที่ได้ทั้งหมด แต่ก็สามารถชะลอการสลายการชุมนุมได้
ไม่นานนี้นวัตกรรมที่ผู้ประท้วงชาวฮ่องกงเอาอิฐมาเรียงขัดขวางตำรวจเพิ่งได้รับรางวัล People’s Choice ใน Beazley Designs of the Year 2020 เราจึงอยากรวบรวมและมอบรางวัลให้กับกลยุทธ์ในการแก้ปัญหาแบบสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ ที่พบเห็นในแต่ละการประท้วงต่อต้านอำนาจเผด็จการที่จ้องจะคุกคามอนาคตของพวกเขา
Hong Kong
ประติมากรรมอิฐสโตนเฮนจ์ขวางตำรวจ
ในบรรดาการประท้วงที่เกิดขึ้นทั้งหมดทั่วโลก ฮ่องกงน่าจะเป็นต้นกำเนิดกลยุทธ์และแรงบันดาลใจให้หลายประเทศหยิบเอาไปใช้มากที่สุด
หนึ่งในนั้นคือการวางอิฐขวางรถตำรวจและรถฉีดน้ำแรงดันสูงที่เจ้าหน้าที่ใช้สลายการชุมนุม
เทคนิคคือการวางอิฐ 2 ก้อนในแนวตั้งให้เป็นฐาน จากนั้นวางอิฐก้อนที่ 3 เป็นแนวนอนทับไว้ด้านบน เมื่อรถขับผ่านจะทำให้อิฐด้านบนล้ม ส่วนอิฐอีก 2 ก้อนที่เป็นฐานจะค้ำให้ล้อเคลื่อนตัวยาก ด้วยหน้าตาของมันที่ละม้ายคล้ายคลึงก้อนหินปริศนาในอังกฤษ สื่อหลายสำนักจึงพากันเรียกนวัตกรรมนี้ว่าสโตนเฮนจ์ขนาดจิ๋ว
แม้ตำรวจฮ่องกงจะรู้ทันผู้ประท้วงด้วยการเดินเก็บอิฐออกก่อน แต่สโตนเฮนจ์ขนาดจิ๋วก็ยังใช้ได้ผลในการชะลอให้เจ้าหน้าที่เคลื่อนไหวได้ช้าลง เพราะอย่างที่รู้ว่าคนฮ่องกงถือคติการเคลื่อนไหวแบบ be water คือทำตัวเป็นน้ำให้ย้ายสถานที่ชุมนุมได้เร็วที่สุด
Maria McLintock คิวเรเตอร์ประจำ The Design Museum พิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมงานดีไซน์จากทั่วโลกมาไว้ที่ Kensington ประเทศอังกฤษ และเป็นผู้จัดเวทีประกวด Beazley Designs of the Year วิเคราะห์ว่าการนำอิฐมาแก้ปัญหาของชาวม็อบฮ่องกงถือว่าทรงพลัง เพราะใช้เพียงอุปกรณ์ง่ายๆ แต่มีไอเดียดีไซน์อย่างชาญฉลาด และยังเป็นผลงานที่คิดโดยประชาชน ซึ่งทำให้ได้รับรางวัลในเวที Beazley Designs of the Year 2020 จากแรงโหวตของประชาชนด้วย
Myanmar
ผ้าถุง ชุดชั้นใน และผ้าอนามัย วัดใจความเชื่อชายเป็นใหญ่ของตำรวจ
นับตั้งแต่การรัฐประหารในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ การประท้วงต่อต้านรัฐประหารของคนพม่าพิสูจน์ให้คนทั่วโลกได้เห็นพลังของการต่อต้านเผด็จการอันทรงพลัง
โดยเฉพาะการใช้ความคิดสร้างสรรค์หลอกล่อ หาช่องโหว่ของกฎอัยการศึกที่สั่งห้ามชุมนุม สัปดาห์แรกๆ เราจึงเห็นการเปิดฝากระโปรงรถทำทีว่ารถเสียเพื่อปิดถนนชุมนุม ขับรถช้าๆ เพื่อไม่ให้คนไปทำงานแล้วไปชุมนุมแทน เทกระจาดหอมกลางถนนเพื่อให้คนมารุมเก็บ หรือทำท่าผูกเชือกรองเท้ายืนขวางบนถนน เป็นต้น
ช่วงหลังเมื่อเจ้าหน้าที่เริ่มใช้ความรุนแรงมากขึ้นในการสลายการชุมนุม ประชาชนก็ไม่ยอมแพ้ แต่กลับใช้ความคิดและหาจุดอ่อนของตำรวจมาหลอกล่อ เช่น การท้าทายความเชื่อชายเป็นใหญ่ด้วยการแขวนผ้าถุง ชุดชั้นใน หรือเอาผ้าอนามัยมาห้อยเป็นแนวป้องกัน เพราะสังคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความเชื่อว่าถ้าผู้ชายเดินผ่านของเหล่านี้จะทำให้ความเป็นชายเสื่อมมนต์ขลังและราวกับว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างไร้ศักดิ์ศรี
แม้ตอนนี้การใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจพม่าจะอยู่ในระดับป่าเถื่อน แต่ขอแสดงความนับถือใจคนพม่ามา ณ ที่นี้ ที่ยังคงเชื่อมั่นในเสรีภาพของมนุษย์ และยืนหยัดต่อสู้เพื่อให้สังคมประชาธิปไตยที่เห็นทุกคนเท่ากันกลับคืนมาในสังคมพม่า
USA
Sleeping dragon มังกรนอนหลับที่ทำให้ตำรวจปลุกยาก
ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าวิธีนี้เริ่มต้นจากที่ไหน แต่ข่าวส่วนใหญ่รายงานว่ามีชาวอเมริกันจำนวนหนึ่งใช้อุปกรณ์อย่าง Sleeping dragon ล็อกแขนกันไว้แล้วนอนกลางถนน ทำให้ตำรวจในซีแอตเทิลขัดขวางการชุมนุมได้ยากขึ้น และทำให้รถติดนานกว่า 6 ชั่วโมง
วิธีการคือผู้ประท้วงจะจับมือกันแล้วเอาตาข่ายหรือเชือกมามัด หรือถึงขั้นใส่กุญแจมือคล้องกันไว้ แล้วยัดแขนเข้าไปในท่อพีวีซี จากนั้นล็อกไว้ด้วยหลายวิธี บางคนที่อยากให้ทำลายยากๆ ก็ใช้ปูนมาโบกไว้เลย
เหตุผลที่พวกเขาเรียกยุทธวิธีนี้ว่า Sleeping dragon เพราะในการแยกผู้ชุมนุมออกจากกัน บางกรณีตำรวจอาจจะต้องใช้เครื่องมือแยกท่อออก ทำให้เกิดประกายไฟคล้ายไฟจากปากมังกร ในรายงานของตำรวจซีแอตเทิลระบุว่าทุกกระบวนการเจ้าหน้าที่จะต้องค่อยๆ ทำเพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมบาดเจ็บ พวกเขาถึงขั้นทวีตลงทวิตเตอร์เลยว่า “ความปลอดภัยของผู้ชุมนุมเป็นสิ่งสำคัญมาก” นี่แหละคุณสมบัติสำคัญของ Sleeping dragon คือการทำให้ตำรวจเสียเวลาอย่างถึงที่สุด
ตอนหลังตำรวจซีแอตเทิลถึงขั้นมีแผนก Apparatus Removal Team หรือทีมกำจัดเครื่องมือเหล่านี้โดยเฉพาะด้วย
Belarus
โซ่มนุษย์ต้านการใช้ความรุนแรงของตำรวจ
หนึ่งในวิธีป้องกันการสลายการชุมนุมที่ง่ายแต่วัดใจเจ้าหน้าที่รัฐที่สุดคือการสร้างโซ่มนุษย์
ปี 2019 ผู้ชุมนุมฮ่องกงสร้างโซ่มนุษย์ด้วยคนจำนวนมหาศาล ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์เมื่อ 30 ปีที่แล้วที่ประชาชนกว่า 2 ล้านคนในกลุ่มประเทศสหภาพโซเวียตลุกขึ้นมาคล้องแขนกันและประจันหน้าตำรวจเพื่อประท้วงสหภาพโซเวียต กลยุทธ์นี้มีชื่อเรียกว่า The Baltic Way
ในการเลือกตั้งเบลารุสปี 2019 เกิดข้อครหาว่ามีการทุจริตเลือกตั้งเพราะไม่มีการเชิญผู้สังเกตการณ์อิสระเข้าร่วม และมีหลักฐานว่าเกิดความผิดปกติในการนับคะแนน จนทำให้ประธานาธิบดี Alexander Lukashenko ผู้ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จมายาวนานชนะเลือกตั้งอีกครั้ง
ประชาชนชาวเบลารุสที่ไม่พอใจจึงออกมาชุมนุม ทำให้ตำรวจสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตาและกระสุนยางจนมีผู้เสียชีวิตและถูกจับเป็นจำนวนมาก สร้างความเดือดดาลให้ผู้คนออกมาประท้วงมากกว่าแสนคน และผู้หญิงจำนวนหนึ่งก็ได้แรงบันดาลใจจากกลยุทธ์โซ่มนุษย์ที่ฮ่องกง จึงนัดกันใส่ชุดสีขาวถือดอกไม้เดินคล้องแขนเป็นโซ่มนุษย์เผชิญหน้ากับตำรวจเพื่อต่อต้านการใช้ความรุนแรง
นอกจากนี้ยังมีประเทศเพื่อนบ้านของเบราลุสอย่างโรมาเนีย โปแลนด์ ยูเครน และรัสเซีย ร่วมชุมนุมสนับสนุนประชาชนเบราลุสในเขตประเทศตัวเองด้วย
Thailand
แกงหม้อใหญ่ให้ตำรวจ
ถ้าให้ยกตัวอย่างเหตุการณ์ประกอบประโยคที่ว่า ‘You messed with the wrong generation.’ การประท้วงของคนรุ่นใหม่ในไทยช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมาน่าจะทำให้เห็นภาพได้มากที่สุด
หลังการสลายการชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อรุ่งเช้าของวันที่ 15 ตุลาคม 2563 เจ้าหน้าที่จับกุมแกนนำ ประกาศใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และสั่งห้ามชุมนุมในเขตกรุงเทพมหานคร แต่ประชาชนยังคงยึดมั่นประกาศชุมนุมอยู่ ช่วงแรกเป็นการรวมตัวใจกลางเมืองที่แยกราชประสงค์ ซึ่งมีผู้คนนับหมื่นมาร่วมเต็มถนน วันต่อมาตำรวจจึงนำแบร์ริเออร์และลวดหนามวางขวางถนนแยกราชประสงค์ไว้ แต่ด้วยวิถีของคนเจนฯ Z ที่ผู้มีอำนาจตามไม่ทัน ผู้ชุมนุมจึงใช้โซเชียลมีเดียประกาศเปลี่ยนสถานที่ในเวลานัดหมายพอดีก่อนที่ตำรวจจะใช้ความรุนแรง
ลูกล่อลูกชนของคนรุ่นใหม่คือการหลอกล่อตำรวจด้วยโซเชียลมีเดีย ประกาศรวมตัวที่ BTS และ MRT แล้วจึงประกาศสถานที่ชุมนุมแบบใกล้เวลานัดหมายเพราะรู้ดีว่ากรุงเทพฯ รถติดพอที่จะทำให้ตำรวจตามไปขัดขวางไม่ทัน ผู้ชุมนุมบางคนถึงกับบอกว่าหนึ่งในตำราพิชัยสงครามคือการเลือกสถานที่ที่รถติดเยอะๆ เช่น แยกลาดพร้าว เพื่อไม่ให้รถน้ำและตำรวจไปถึงได้ทัน
แม้ผู้ชุมนุมบางคนจะคอมเมนต์ว่าวิธีนี้ทำให้บางคนเสียเวลาและเสียเงิน เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่รออยู่ที่ BTS หรือ MRT ซึ่งไม่ได้อยู่ใกล้สถานที่นัดหมาย แต่ในช่วงเวลากระชั้นชิดและผู้ชุมนุมต้องแก้สถานการณ์เฉพาะหน้าทุกวัน ยุทธวิธีนี้ก็พิสูจน์ให้เห็นถึงการใช้เทคโนโลยีของคนยุคนี้ ทั้งยังเป็นวิธีการชุมนุมที่ไม่ได้ก่อให้เกิดความรุนแรง และสามารถส่งเสียงสะท้อนความต้องการของผู้คนได้อย่างทรงพลัง
แหล่งข้อมูล
bbc.com
dezeen.com
seattletimes.com
Thai PBS
theatlantic.com