เสื้อประท้วง : เครื่องมือแสดงออกถึงอุดมการณ์ความเชื่อที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกแฟชั่น

Highlights

  • เสื้อยืดเกิดขึ้นตั้งแต่ยุคอียิปต์โบราณ โดยเป็นรูปแบบแนวคิดของเสื้อชั้นในผู้ชาย ก่อนจะถูกพัฒนาอย่างช้าๆ จนเป็นแบบที่เราเห็น กระทั่งในช่วงศตวรรษที่ 19 ที่มีการอ้างอิงต้นกำเนิดของมันว่ามาจากอังกฤษและสหรัฐอเมริกาในช่วงราวๆ ปี 1913-1948
  • ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เหล่าทหารอเมริกันนิยมใส่เสื้อยืดเป็นเสื้อชั้นในเพื่อซับเหงื่อ จนกลายมาเป็นหนึ่งในเครื่องแต่งกายในกองทัพสหรัฐอเมริกาและได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงานต่างๆ เพราะสวมใส่สบาย เหมาะกับสภาพอากาศร้อน ทำความสะอาดง่าย แถมราคาไม่แพง
  • จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี 1950 เมื่อดารานักแสดงชื่อดังอย่าง Marlon Brando สวมใส่เสื้อยืดสีขาวในภาพยนตร์เรื่อง A Streetcar Named Desire ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูงในปีนั้น รวมไปถึง James Dean ที่ใส่เสื้อยืดเวลาออกงาน ทำให้เสื้อยืดกลายเป็น streetwear ที่ได้รับการยอมรับมากขึ้นและเป็นที่นิยมในวงกว้าง
  • ด้วยความที่เสื้อยืดมีราคาต้นทุนต่ำ ทำให้มันถูกใช้เป็นเครื่องมือแสดงออกทางการเมืองมากขึ้น นับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เสื้อยืดได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมทางการเมืองมากมาย

แฟชั่นเครื่องแต่งกายคือการแสดงออกอย่างหนึ่งทางสังคมที่แตกต่างกันไปในแต่ละวัฒนธรรม ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในเครื่องแต่งกายที่ง่ายและได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกก็คือ ‘เสื้อยืด’

จากเครื่องนุ่งห่มที่สวมใส่เอาไว้ด้านในเพื่อซับเหงื่อในรูปแบบของเสื้อชั้นใน กลายมาเป็นเครื่องมือในการส่งสารและแสดงออกในเรื่องราวต่างๆ มากมายที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลกแฟชั่น โดยถูกนำมาเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้ในการนำเสนอเรื่องราวต่างๆ มากมาย ไม่เว้นแม้กระทั่งการแสดงออกถึงจุดยืนทางสังคมและการเมืองผ่านข้อความหรือรูปภาพบนเสื้อยืด

ว่ากันว่าแนวคิดของเสื้อยืดนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ โดยเป็นรูปแบบแนวคิดของเสื้อชั้นในผู้ชาย ก่อนจะถูกพัฒนาอย่างช้าๆ แต่ก็ยังไม่เป็นรูปร่างชัดเจนแบบที่เราเห็นในปัจจุบัน จนกระทั่งในช่วงศตวรรษที่ 19 ที่มีการอ้างอิงต้นกำเนิดของมันว่ามาจากอังกฤษและสหรัฐอเมริกาในช่วงราวๆ ปี 1913-1948

โดยมีแนวคิดที่ว่าสหรัฐอเมริกาเป็นต้นกำเนิดเสื้อยืดจากช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อเหล่าทหารอเมริกันสังเกตเห็นทหารจากฝั่งยุโรปสวมใส่เสื้อชั้นในซับเหงื่อที่ทำมาจากผ้าฝ้ายขนาดเบาซึ่งระบายอากาศได้ดี ในขณะที่ทหารอเมริกันประสบความลำบากเพราะสวมใส่เสื้อที่ทำมาจากขนสัตว์ หลังจากนั้นเสื้อชั้นในที่ทำมาจากผ้าฝ้ายจึงกลายมาเป็นหนึ่งในเครื่องแต่งกายในกองทัพสหรัฐอเมริกาและได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนที่มาของชื่อ T-shirt นั้นไม่มีความเป็นมาอย่างชัดเจน แต่ส่วนใหญ่ลงความเห็นเอาไว้ว่ามาจากรูปทรงของเสื้อยืดที่เป็นตัว T และค่อนข้างชัดเจนมากขึ้นเมื่อกองทัพสหรัฐอเมริกาเรียกรูปแบบเสื้อสำหรับฝึกดังกล่าวว่า training shirt และใช้เป็นเสื้อซับเหงื่อที่ใส่ทับด้านในเครื่องแบบทหารจนกลายมาเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในการใส่เครื่องแบบโดยเฉพาะบรรดาทหารเรือและกะลาสีเรือ ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนชื้นบวกกับการทำงานที่ต้องการความคล่องตัว พวกเขาสามารถถอดเครื่องแบบเพื่อปฏิบัติงานได้ทันที แต่ในเวลานั้นคนทั่วไปยังมองว่าเสื้อยืดยังเป็นเสื้อชั้นใน (underwear) อยู่ดี 

 

หลังจากนั้นเสื้อยืดก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในกลุ่มคนชนชั้นอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เพราะสวมใส่สบาย เหมาะกับสภาพอากาศร้อน สวมใส่และทำความสะอาดง่าย แถมมีราคาที่ไม่แพง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เสื้อยืดได้รับความนิยมมากขึ้น ในขณะเดียวกันมันก็ถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นแรงงานและควรใส่ไว้ข้างในเพียงอย่างเดียวเท่านั้น 

จุดเปลี่ยนที่สำคัญเกิดขึ้นในปี 1950 เมื่อดารานักแสดงชื่อดังอย่าง Marlon Brando สวมใส่เสื้อยืดสีขาวในภาพยนตร์เรื่อง A Streetcar Named Desire ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูงในปีนั้น รวมไปถึง James Dean ที่ใส่เสื้อยืดเวลาออกงาน และนั่นเองทำให้เสื้อยืดได้รับการยอมรับมากขึ้นและเป็นที่นิยมในวงกว้าง ไม่ได้เป็นเพียงเสื้อสวมซับเหงื่อภายในอีกต่อไป


เสื้อยืดเริ่มพัฒนาและได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นสัญลักษณ์ในการแสดงออกในเรื่องต่างๆ ผ่านลายสกรีนบนตัวเสื้อที่เริ่มมีให้เห็นตั้งแต่ปี 1942 โดยว่ากันว่ามีจุดเริ่มต้นมาจากเสื้อพิมพ์ลายชื่อโรงเรียนกองทัพอากาศในสหรัฐอเมริกา จนกลายมาเป็นพื้นที่โฆษณา ประชาสัมพันธ์ ของที่ระลึก รวมไปถึงกลายเป็นเครื่องมือที่แสดงออกทางการเมืองด้วยเช่นกัน

 

สำหรับเสื้อยืดที่เกี่ยวข้องกับการเมืองนั้นมีบันทึกระบุเอาไว้ว่าเริ่มต้นครั้งแรกในปี 1948 โดย Thomas E. Dewey ผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกันที่ใช้เสื้อยืดในแคมเปญโฆษณาของตัวเอง ด้วยการพิมพ์ข้อความ ‘Dew-it-with-DEWEY’ ถือเป็นครั้งแรกในโลกที่เสื้อยืดถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณาประชาสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมือง

 

ด้วยความที่เสื้อยืดมีราคาต้นทุนต่ำ ทำให้มันถูกใช้เป็นเครื่องมือแสดงออกทางการเมืองมากขึ้น นับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เสื้อยืดได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมทางการเมืองมากมาย เช่น ในปี 1968 ที่นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดสวมใส่เสื้อ Anti War ในการประท้วงต่อต้านสงครามเวียดนาม หรือในปี 1971 ที่กลุ่ม Black Panther Party และองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพสำหรับคนผิวสีก็สวมใส่เสื้อยืดเพื่อประท้วงและแสดงจุดยืนทางการเมือง โดยสกรีนลายใบหน้าของผู้ก่อตั้งกลุ่ม Bobby Seale ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ

 

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ขณะที่ฝั่งสหรัฐอเมริกาใช้เสื้อยืดเป็นเครื่องมือในการแสดงออกทางการเมืองเป็นส่วนใหญ่ อีกฟากที่อังกฤษกลับแตกต่างกันออกไป 

ยุคสมัยที่กระแสของขบถสังคมอย่างบรรดาพังก์เริ่มเติบโตและขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาเริ่มสื่อสารหรือแสดงออกความไม่พอใจต่างๆ ผ่านทางเสื้อยืด โดยว่ากันว่าริเริ่มบุกเบิกโดยคู่รักวัยรุ่นที่กลายมาเป็นตำนานในวงการแฟชั่นอังกฤษอย่าง Vivienne Westwood และ Malcolm McLaren โดยทั้งคู่เลือกนำเสนอความขบถของพังก์ผ่านงานกราฟิกภาพพิมพ์บนเสื้อยืดที่พิมพ์ขึ้นมาเอง ด้วยข้อความที่โจมตีทั้งเรื่องความไม่เสมอภาคทางสังคม ศาสนา ไปจนถึงเรื่องต่อต้านลัทธิชาตินิยม (fascism) ยกตัวอย่างเช่น เสื้อ Two Cowboys ในปี 1975 ที่เป็นเสื้อพิมพ์ลายคาวบอยเปลื้องผ้าส่วนล่าง หรือในปี 1977 ที่ทั้งคู่ออกแบบเสื้อยืดสกรีนลายพระเยซูตรึงกางเขนกลับหัว พร้อมเครื่องหมายสวัสดิกะและคำว่า Destroy ตามมาด้วยอื่นๆ อีกมากมายที่นำเสนอเรื่องราวความขบถในรูปแบบของพังก์ และที่กลายมาเป็นไอคอนสำคัญในวงการแฟชั่นอังกฤษคือ เสื้อลาย God Save The Queen ที่ออกแบบให้กับวง Sex Pistols ซึ่งกลายมาเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญของวง

ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่เวสต์วูดและแมคลาเรนทำได้จุดประกายสังคมในเรื่องการแสดงออกทางความคิดผ่านรูปแบบใหม่บนเสื้อยืดด้วย 

 

อีกคนที่มีอิทธิพลต่อวงการแฟชั่นอังกฤษในช่วงเวลานั้นคือ Katharine Hamnett ดีไซเนอร์ชาวอังกฤษที่อาจจะเป็นที่รู้จักไม่มากนักในวงการแฟชั่นเมื่อเทียบกับเวสต์วูด แต่กลับสร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ในการแสดงจุดยืนทางการเมืองผ่านเสื้อยืด เมื่อครั้งที่เจ้าตัวได้พบกับนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ Margaret Thatcher ในปี 1984 และสวมใส่เสื้อยืดที่สกรีนประโยค “58% DON’T WANT PERSHING” ซึ่งเป็นการส่งข้อความประท้วงสหราชอาณาจักรที่อนุญาตให้สหรัฐอเมริกาติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลาง Pershing บนดินแดนสหราชอาณาจักรในช่วงสงครามเย็น 

สไตล์ของเฮมเนตต์อย่างประโยคตัวหนังสือหนาขนาดใหญ่สีดำบนเสื้อยืดสีขาวล้วนนั้นกลายมาเป็นลายเซ็นในการออกแบบของเธอที่ทุกคนจดจำได้ ตามมาด้วยแบบอื่นๆ อีกมากมาย เช่น CHOOSE LIFE, SAVE THE WORLD และ WORLDWIDE NUCLEAR BAN NOW และกลายมาเป็นต้นแบบที่หลายๆ คนเริ่มทำตามและทำให้การแสดงออกทางการเมืองผ่านข้อความบนเสื้อยืดเริ่มแพร่หลายอย่างรวดเร็ว 

แม้กระทั่งปัจจุบันเธอก็ยังเคลื่อนไหวและแสดงออกทางการเมือง อย่างเช่นเสื้อ ​CANCEL BREXIT ที่เพิ่งออกล่าสุด

 

ช่วงกลางถึงปลายยุค 80s เสื้อผ้าได้กลายเป็นเครื่องมือในการแสดงออกทางการเมืองและจุดยืนทางสังคม รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์หรือรณรงค์ในกิจกรรมต่างๆ มากมาย นอกจากนี้เสื้อยืดยังได้กลายเป็นแพลตฟอร์มที่ไม่เพียงแต่แฟชั่นดีไซเนอร์หรือกราฟิกดีไซเนอร์ใช้เพียงเท่านั้น แต่ยังดึงดูดผู้คนในอาชีพแขนงอื่นๆ ด้วยเช่นกัน 

ยกตัวอย่าง Keith Haring ที่ออกแบบเสื้อยืดให้กับกลุ่ม ACT UP (AIDS Coalition to Unleash Power) เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่รณรงค์ต่อต้านโรคเอดส์ ก่อนที่เธอจะเสียชีวิตลงด้วยโรคเอดส์ในปี 1990 หรือในปีเดียวกันนั้นที่สภาแห่งชาติแอฟริกัน (The African National Congress) และกลุ่มผู้ต่อต้านการเหยียดผิวสีสวมใส่เสื้อยืดที่สกรีนภาพของวีรบุรุษของชาวแอฟริกันอย่าง Nelson Mandela เพื่อแสดงจุดยืนและสนับสนุนเขา หลังจากถูกคุมขังอยู่นานถึง 27 ปีและได้รับการปล่อยตัวในปีดังกล่าว ซึ่งลายเสื้อนั้นมีแรงบันดาลใจมาจากเสื้อยืดที่กลุ่ม Black Panther เคยจัดทำขึ้นในปี 1971

 

ทุกวันนี้เสื้อยืดได้กลายมาเป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการแสดงออกถึงเรื่องราวต่างๆ มากมาย และด้วยความที่ราคาต้นทุนต่อตัวไม่ได้สูงและสามารถขายในราคาที่รับได้และผู้ผลิตยังคงมีรายได้จากการขาย เสื้อยืดจึงกลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการหารายได้หรือเป็นแหล่งระดมทุนเพื่อสนับสนุนกิจกรรมนั้นๆ ด้วยเช่นกัน เช่น Maison Martin Margiela แบรนด์แฟชั่นจากสวีเดนถือเป็นแบรนด์แรกๆ ที่ใช้เสื้อยืดในการรณรงค์และระดมทุนในปี 1994 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Fall/Winter 1994 Collection โดยจัดทำขึ้นเพื่อระดุมทุนสนับสนุน AIDES ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลจากฝรั่งเศสเพื่อช่วยเหลือและต่อสู้กับโรคเอดส์ ผู้ติดเชื้อ HIV และโรคตับอักเสบ ซึ่งผลิตขึ้นมาเพื่อจำหน่ายสมทบทุนในทุกๆ ปี จนเสื้อยืดดังกล่าวได้กลายเป็นอีกหนึ่งไอคอนชิ้นสำคัญของ Martin Margiela ด้วยเช่นกัน

อีกหนึ่งกรณีที่น่าสนใจก็คือในปี 2006 ที่แฟชั่นดีไซเนอร์ชาวสหรัฐ Marc Jacobs ออกแบบซีรีส์เสื้อยืดที่ชื่อ Protect Your Skin โดยเชิญบรรดาเซเลบริตี้ชื่อดังมากมายมาเปลื้องผ้าถ่ายแบบนู้ด เพื่อระดมทุนและรณรงค์ให้ตระหนักถึงภัยของโรคมะเร็งผิวหนัง ซึ่งนอกจากแคมเปญจะประสบความสำเร็จอย่างสูงแล้วยังทำให้สังคมหันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวอีกด้วย นอกจากนั้นเจคอบส์ยังเป็นตัวตั้งตัวตีและรณรงค์เรื่องเกี่ยวกับกลุ่ม LGBTQ+ ผ่านเสื้อผ้าที่เจ้าตัวออกแบบด้วยเช่นกัน

หันมาดูฝั่ง streetwear กันบ้าง ตัวอย่างที่ชัดเจนคือแบรนด์ Supreme ในปี 2001 ที่วางขายเสื้อยืด Box Logo ลายพิเศษเพื่อระลึกถึงเหตุก่อการร้ายที่ตึก World Trade Center เมื่อวันที่ 11 กันยายนปีเดียวกัน โดยรายได้ทั้งหมดจะมอบให้กับองค์กรการกุศลเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์ดังกล่าว ต่อมาปี 2011 Supreme วางขายเสื้อยืด Box Logo ลายพิเศษเพื่อนำรายได้จากการขายไปช่วยเหลือผู้ประสบเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น รวมไปถึงล่าสุดในปี 2020 นี้ที่วางขายเสื้อยืด Box Logo ที่ออกแบบโดยศิลปินแนว contemporary ชาวญี่ปุ่นชื่อดัง Takashi Murakami เพื่อนำรายได้ไปช่วยเหลือองค์กร HELP USA ที่เป็นองค์กรการกุศลเพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้และเร่ร่อนที่ประสบภัยจากโควิด-19 โดยสามารถระดมทุนได้สูงถึง 1,052,040 เหรียญสหรัฐจากการขายเสื้อยืดเพียงลายเดียวเท่านั้น

 

 

กรณีใหญ่ในปี 2020 นี้เกี่ยวกับการเสียชีวิตของชายผิวดำ George Floyd จากการกระทำเกินกว่าเหตุของตำรวจมินนิอาโปลิส กลายเป็นเรื่องลุกลามใหญ่โตไปทั่วสหรัฐอเมริกา ในขณะเดียวกันก็สร้างแรงกระเพื่อมใหญ่ ทำให้ประเด็นเรื่องของ Black Lives Matter (เรื่องของคนเอเชียและชาติพันธุ์ก็ถูกพูดถึงในบริบทเดียวกันเช่นกัน) ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นเรื่องหลักที่ถูกพูดถึงไปทั่วโลก บรรดาเซเลบริตี้ชื่อดังไม่ว่าจะเป็นดารา นักร้อง หรือนักกีฬา ต่างออกมาแสดงจุดยืนต่อประเด็นนี้ เช่นเดียวกับบรรดาแฟชั่นดีไซเนอร์ต่างๆ โดยเฉพาะดีไซเนอร์ผิวดำที่รวมตัวกันเพื่อซัพพอร์ตแคมเปญดังกล่าว

ยกตัวอย่างเช่น Jerry Lorenzo จากแบรนด์ Fear of God ที่ชักชวนเพื่อนๆ ในวงการสตรีทแฟชั่น เช่น Virgil Abloh จาก Off-White, Chris Gibbs จากร้าน Union Los Angeles, Brendon Babenzien จาก NOAH, Angelo Baque จาก ​Awake NY และอื่นๆ อีกมากมาย มาร่วมออกแบบเสื้อยืดพิเศษเพื่อระดมทุนและมอบรายได้ทั้งหมดให้ Gianna Floyd ลูกสาวของจอร์จ ฟลอยด์ เพื่อสนับสนุนทุนการศึกษาในอนาคตของเธอ เช่นเดียวกันในฝั่งเอเชียที่ประเทศญี่ปุ่น บรรดาแบรนด์แฟชั่นชื่อดัง เช่น UNDERCOVER, sacai, NEIGHBORHOOD, Hysteric Glamour, HUMAN MADE ฯลฯ ก็รวมตัวกันออกแบบเสื้อยืดเพื่อซัพพอร์ตแคมเปญดังกล่าวและมอบรายได้ให้กับองค์กร Black Lives Matter และ Equal Justice Initiative นอกจากนั้นยังมีแบรนด์อื่นๆ อีกมากมายที่สนับสนุนแคมเปญดังกล่าวในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป

สำหรับบ้านเราเอง เสื้อยืดถูกใช้เป็นสื่อที่แสดงออกในบริบทที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการระดมทุนบริจาค รณรงค์ในกิจกรรมต่างๆ หรือใช้เป็นสื่อโฆษณา รวมไปถึงแสดงจุดยืนทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเสื้อยืดที่ผลิตโดยองค์กรที่ขับเคลื่อนกิจกรรมทางการเมืองโดยตรง อย่างกลุ่มเยาวชนปลดแอก (Free YOUTH) ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองโดยไม่มีแกนนำอย่างเป็นทางการ เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านการบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยจุดประสงค์ที่ทำขึ้นเพื่อระดมทุนสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่ม ลวดลายบนเสื้อยืดจึงนำเสนอในลักษณะที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นจุดยืนและข้อเรียกร้องของกลุ่ม รวมไปถึงภาพวาดที่สะท้อนหรือสื่อให้เห็นถึงนัยต่างๆ

สื่อมวลชนเองก็ใช้เสื้อยืดเป็นเครื่องมือในการแสดงออกทางการเมืองเช่นกัน เช่น ประชาไท ที่ประกาศตัวอย่างชัดเจนว่าสนับสนุนการเรียกร้องประชาธิปไตย ด้วยความที่ประชาไทไม่ใช่สื่อที่มีกลุ่มทุนใหญ่สนับสนุน การผลิตสินค้าต่างๆ รวมถึงเสื้อยืดเพื่อจำหน่ายจึงเป็นช่องทางในการหาเงินสนับสนุนสื่อโดยตรงนอกเหนือไปจากการรับบริจาค ซึ่งเนื้อหาบนเสื้อยืดที่มุ่งนำเสนอจะเป็นเรื่อง Freedom of Speech หรือการรณรงค์ต่อต้านการคุกคามสื่อมวลชนและริดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

นอกจากนี้ยังมีบรรดาศิลปิน นักร้อง ที่โดยส่วนใหญ่เป็นศิลปินอิสระ ออกมาแสดงอุดมการณ์ในเรื่องประชาธิปไตยอย่างชัดเจนผ่านเสื้อยืด อย่างเช่นวง Solitude Is Bliss และ Zweed n’ Roll โดยผลิตเสื้อยืดที่มีเนื้อหาแสดงออกทางการเมืองอย่างชัดเจนมาขายในงาน CAT T-SHIRT ในปี 2020

และในช่วงที่บรรยากาศการชุมนุมเข้มข้นก็มีเสื้อยืดประท้วงที่ผลิตโดยพ่อค้าแม่ค้าที่มาร่วมชุมนุมวางขายมากมายในพื้นที่ชุมนุม โดยบางครั้งผู้ขายก็แจ้งว่าจะนำเงินรายได้ไปบริจาคเพื่อสนับสนุนการชุมนุม (แต่ก็มีบ้างที่ทำสินค้ามาขายตามกระแส) ข้อความบนเสื้อจึงมีความหลากหลาย บ้างอาจจะมีภาษารุนแรง ล้อเลียน หรือภาพที่สื่อถึงเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งที่กำลังเกิดขึ้น รวมไปถึงการโจมตีรัฐบาลโดยตรง

สำหรับแบรนด์ streetwear ของไทยที่ใช้เครื่องมือนี้แสดงออกทางการเมืองที่เห็นได้ชัดคือแบรนด์ V.A.C. Culture จากร้าน V.A.C. ซึ่งจริงๆ แล้วทางแบรนด์เองนำเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเมืองไทยมาตั้งแต่ช่วงปี 2016 ก่อนที่จะเริ่มมีการชุมนุมโดยคนรุ่นใหม่ โดยแบรนด์เลือกจะนำเสนอเนื้อหาผ่านการล้อเลียนประชดประชัน (parody) ด้วยการนำเสนอคอลเลกชั่น ‘กะลาแลนด์’ เสื้อผ้าคอลเลกชั่นพิเศษที่ล้อเลียนประชดประชันเรื่องราวๆ ต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในประเทศและการเมืองโดยเฉพาะ

ไฮไลต์ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือ V.A.C. x Narutu ที่ทำงานร่วมกับนักเขียนการ์ตูนนิรนามผู้ทำเพจการ์ตูนล้อเลียนทางการเมืองชื่อ Narutu โดยเป็นการนำเอาตัวละครจากมังงะนินจาญี่ปุ่นชื่อดังจากนิตยสาร SHONEN JUMP – Naruto Shippuden มาวาดใหม่ด้วยการสวมบทโดยบุคคลสำคัญทางการเมืองไทย และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี นอกจากนั้นทางแบรนด์เองยังมีเสื้อยืดที่แสดงจุดยืนทางการเมืองอย่างชัดเจนตามมาอีกมากมาย


จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันนี้แพลตฟอร์มอย่างเสื้อยืดถูกนำไปใช้ในบริบทต่างๆ มากมาย ทั้งเรื่องการโฆษณาประชาสัมพันธ์ การระดมทุนเพื่อช่วยเหลือในเหตุการณ์ต่างๆ การแสดงออกเพื่อรณรงค์สนับสนุนหรือต่อต้านจุดยืนทางสังคมและการเมือง จนเปรียบเสมือนเป็นเครื่องแสดงจุดยืนของผู้สวมใส่ เป็นสื่อโฆษณาเคลื่อนที่ชั้นดีที่มีราคาไม่แพง แต่สามารถส่งสารไปถึงผู้รับได้อย่างชัดเจนผ่านรูปภาพ ข้อความ หรือแม้กระทั่งสีของเสื้อที่สวมใส่ 

และด้วยคุณสมบัติต่างๆ ที่ว่ามา เสื้อยืดจะยังคงเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการแสดงออกต่อไปอีกยาวนาน

AUTHOR

ILLUSTRATOR

จักรกฤษณ์ อนันตกุล

นักวาดภาพประกอบ ผู้ที่เคยเป็นซึมเศร้า แต่ได้รับชีวิตใหม่จากการติดตามพระเยซู ชีวิตนี้จึงรักการอ่านไบเบิล