bully insurance ทำประกันก่อนลูกโดนแกล้งคือเทรนด์ใหม่ในญี่ปุ่น

Highlights

  • ตัวเลขจำนวนเคสบุลลี่ในโรงเรียนญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลสำรวจของกระทรวงศึกษาฯ ในปี 2017 มีเคสบุลลี่ในโรงเรียนประถมและมัธยมประมาณ 410,000 เคส
  • เมื่อลูกถึงวัยเข้าโรงเรียน สิ่งที่พ่อแม่ไทยเป็นกังวลคือจะให้ลูกเข้าโรงเรียนไหนดี ส่วนพ่อแม่ชาวญี่ปุ่นเครียดเรื่อง 'ลูกฉันจะโดนแกล้งไหม' มากกว่า
  • เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บริษัทประกันภัยของญี่ปุ่นผุดไอเดียประกันภัยการกลั่นแกล้ง หรือ bully insurance ให้พ่อแม่ทำไว้ก่อนลูกโดนแกล้ง
  • ประกันภัยนี้ไม่ใช่การได้รับเงินชดเชยเมื่อลูกถูกแกล้ง แต่เป็นการให้ความช่วยเหลือทางการเงินในการจ้างทนายเพื่อดำเนินการทางกฎหมายกับคนแกล้งหรือโรงเรียน

ช่วงก่อนหน้านี้มี #แกงกะหรี่ไม่ผิด เป็นแฮชแท็กฮิตติดเทรนด์ของทวิตเตอร์ญี่ปุ่น

เรื่องมีอยู่ว่า มีคุณครูผู้ชายในโรงเรียนแห่งหนึ่งโดนเพื่อนครูรุมแกล้ง ถูกจับล็อกคอ บังคับให้ทานแกงกะหรี่รสเผ็ดจัด จนกลายเป็นคลิปไวรัลไปทั่วญี่ปุ่น

fnn.jp

แน่นอนว่า ครูทีมบุลลี่ในคลิปโดนไล่ออกยกแก๊ง

พอเรื่องเป็นข่าวดังถึงได้รู้ว่าคุณครูคนดังกล่าวโดนแกล้งสารพัดมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เช่น โดนเอาแกงกะหรี่ป้ายตัว, บังคับให้ส่งข้อความลามกให้ครูผู้หญิง, โดนตีก้นด้วยแกนกระดาษ, โดนทำให้หน้าจอมือถือล็อกใช้ไม่ได้, เรียกด้วยถ้อยคำหยาบคาย ดูถูก, บังคับให้ขับรถไปส่ง แล้วยังจงใจทำน้ำหกในรถอีก ฯลฯ

โรงเรียนประถมเป็นสถานที่ที่มีปัญหาเด็กบุลลี่กันเองเยอะอยู่แล้ว นี่อาจารย์ฟอร์มทีมทำโชว์เองเลย ไม่แปลกใจเลยที่ปัญหาบุลลี่ในญี่ปุ่นยังไม่ดีขึ้น

และมีเรื่องที่แย่กว่านั้นอีกคือ ครูไม่ได้รุมแกล้งกันเองอย่างเดียว เพราะครูผู้หญิงวัย 40 ปียุให้เด็กนักเรียนช่วยแกล้งด้วย

สาเหตุที่เริ่มแกล้งนั้นชวนสะเทือนใจมาก คือครูคนนี้เล่นมุกล้อเลียนท่าทางครูคนนั้นแล้วเขาไม่ขำ หลังมีข่าวออกมา ครูผู้ริเริ่มแกล้งจึงโดนขุดว่าเคยทำแบบนี้กับครูคนอื่นที่ตัวเองไม่ชอบหน้ามาหลายคนแล้ว แต่ไม่มีใครกล้าทำอะไร รอบนี้เมื่อโดนจับได้คาคลิปเลยเปิดการ์ดรู้เท่าไม่ถึงการณ์ บอกว่าไม่ได้ตั้งใจ หยอกเล่นเฉยๆ แล้วมันเลยเถิดไปเอง

สิ่งที่ทำให้สะเทือนใจสูงสุดขอมอบให้กับการที่ทางโรงเรียนเลือกรับมือปัญหานี้ด้วยการเลิกขายแกงกะหรี่เมนูสุดคลาสสิกที่อยู่คู่โรงอาหารในโรงเรียนญี่ปุ่นมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยเหตุผลประมาณว่าเห็นแกงกะหรี่ตอนนี้คงทำให้คนสะเทือนใจ

แฟนซีรีส์ หนัง และการ์ตูนญี่ปุ่น คงคุ้นเคยกันดีกับสตอรีเด็กโดนแกล้ง บางเรื่องเก็บกด บางเรื่องฆ่าตัวตาย หรือวี้ดแตกไล่ฆ่าเพื่อนแทน เนื้อหาในบทบาทสมมติเหล่านั้นสะท้อนปัญหาการกลั่นแกล้งที่เกิดขึ้นจริงในโรงเรียนญี่ปุ่น และเป็นปัญหาสังคมที่เรื้อรังมานานและยังไม่มีทีท่าว่าจะได้รับการแก้ไขไปในทางที่ดีขึ้น ตัวเลขจำนวนเคสบุลลี่ในโรงเรียนประถมและมัธยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เท่าที่รู้จากการสำรวจของกระทรวงศึกษาฯ ในปี 2017 มีเคสบุลลี่ในโรงเรียนประถมและมัธยมประมาณ 410,000 เคส ซึ่งมากกว่าปีก่อนถึง 90,000 เคส

แม้ไม่รู้ว่าเป็นเพราะจำนวนเด็กร้ายกาจหรือเด็กที่กล้าออกมาสู้เยอะขึ้น แต่ตัวเลขเหล่านี้ก็นับว่าเยอะมากในระดับโลก สอดคล้องกับจำนวนเด็กฆ่าตัวตายที่สูงมากจนน่าเป็นห่วง

เมื่อลูกถึงวัยเข้าโรงเรียน สิ่งที่พ่อแม่ไทยเป็นกังวลคือจะให้ลูกเข้าโรงเรียนไหนดี ส่วนพ่อแม่ชาวญี่ปุ่นเครียดเรื่องลูกฉันจะโดนแกล้งไหมมากกว่า

ยิ่งสมัยนี้โซเชียลเน็ตเวิร์กแพร่หลาย เด็กๆ ขยับขยายการบุลลี่ไปในโลกออนไลน์ด้วยการปล่อยข่าวลือเสียๆ หายๆ, เล่าความลับที่น่าอายของเพื่อน, ก่นด่ากันด้วยคำหยาบคายตามสื่อออนไลน์ เช่น ทวิตเตอร์ ไลน์ หรือเว็บบอร์ดต่างๆ ในปัจจุบันเราจึงพบข้อความบ่นว่าอยากตาย ชวนกันไปฆ่าตัวตายมากขึ้นเช่นกัน และเมื่อไม่นานมานี้ก็มีข่าวเด็กวัยรุ่นนัดไปเจอคนในทวิตเตอร์ที่เสนอจะช่วยฆ่าคนที่อยากตาย

ด้วยความที่เกิดและโตในประเทศไทย เราอาจไม่เข้าใจบริบทสังคมของญี่ปุ่นว่าทำไมปัญหานี้ถึงมีมากและรุนแรง ทำไมโรงเรียนไม่แก้ปัญหาด้วยวิธีที่ดูจะมีประโยชน์กว่านี้ แต่กลับเลือกปิดข่าวหรือไม่ยอมรับความจริงเพราะกลัวเสียชื่อเสียงขนาดนั้น ทุกวันนี้เวลาเห็นเด็กญี่ปุ่นตัวน้อยแสนน่ารัก ในใจเราคิดอยู่แค่ 2 อย่างคือ ‘โตมาต้องสู้คนนะน้อง’ กับ ‘โตไปไม่แกล้งเพื่อนนะ’

แต่นี่อาจจะถึงเวลาที่สังคมคนชอบบุลลี่จะต้องสะเทือน เพราะเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ฝ่ายโดนแกล้งได้เครื่องมือเพิ่มเติมในการต่อสู้กับแก๊งเด็กเกเรและโรงเรียนที่พยายามปิดหูปิดตา

นั่นคือ ‘bully insurance’ ทำประกันให้ลูกไว้ก่อนเลย

bully insurance ไม่ใช่การได้รับเงินชดเชยเมื่อลูกถูกแกล้ง แต่เป็นการให้ความช่วยเหลือทางการเงินในการจ้างทนายเพื่อดำเนินการทางกฎหมายกับคนแกล้งหรือโรงเรียน ราคาเริ่มต้นประมาณ 1,200 เยนต่อเดือน คุณพ่อคุณแม่สามารถโทรปรึกษาทนายเรื่องนี้ได้ฟรีตลอดเมื่อกังวล เช่น การรวบรวมหลักฐาน, ประเด็นสำคัญที่ต้องคุยกับทางโรงเรียน และถ้าตัดสินใจจะเอาเรื่องจริงจัง ประกันนี้ก็ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการจ้างทนายสูงสุด 70 เปอร์เซ็นต์ รวมไปถึงค่าเสียหายจากการโดนแกล้ง เช่น ค่ารักษาพยาบาล ทรัพย์สินที่ถูกทำลาย

yell-lpi.co.jp

บริษัท Yell ผู้ริเริ่มประกันรูปแบบนี้บอกว่า จริงๆ แล้วเขามีประกันที่ครอบคลุมเรื่องค่าใช้จ่ายทางกฎหมายที่เกี่ยวกับการถูกแกล้งอยู่แล้ว แต่ที่เพิ่งมาชูคำว่าบุลลี่ให้ชัดๆ เพราะอยากส่งเสริมให้คนใช้กฎหมายจัดการปัญหานี้กันมากขึ้น ที่ผ่านมาค่าใช้จ่ายในการจ้างทนายสูงมากจนพ่อแม่ไม่พร้อมควักเงินก้อนโตมาสู้คดีที่อาจค้างคาเป็นปีและแพ้ในที่สุด แต่เมื่อจ้างทนายได้ง่ายขึ้นก็น่าจะมีคนออกมาทำอะไรมากขึ้น

ตอนนี้มีคนสนใจสอบถามเข้ามาเยอะมาก ผู้ปกครองหลายคนที่มาปรึกษาเคยโดนแกล้งตอนเด็กๆ แล้วโรงเรียนไม่ยอมช่วยอะไร ตอนนี้เลยอยากใช้กฎหมายในการรับมือสถานการณ์แบบนี้เจ้าหน้าที่ของ Yell เคยให้สัมภาษณ์ไว้อย่างนั้น

ผ่านมาเกือบครึ่งปี แม้ยังไม่มีตัวเลขแน่ชัดว่ามีคนซื้อประกันกี่คน แต่น่าจะขายดีแน่ๆ เพราะมีบริษัทประกันหลายเจ้าทีเดียวออกแพ็กเกจประมาณนี้ บางเจ้าขยายการคุ้มครองไปถึงพ่อแม่ด้วย เช่น การโดน sexual harassment หรือ power harassment ในที่ทำงาน

หลายคนออกมาบอกว่ายิ่งซื้อประกัน ยิ่งทำให้ลูกตกเป็นเป้าโดนแกล้ง พอมีทนายเข้ามาเป็นบุคคลที่ 3 ยิ่งทำให้เด็กหมดโอกาสคืนดีกัน หรือคนที่ได้ประโยชน์จริงๆ คือบริษัทประกันกับเหล่าทนาย ไม่ใช่เด็ก เพราะคดีแบบนี้ชนะยาก ระหว่างสู้คดีเด็กอาจโดนแกล้งหนักกว่าเดิมและอาจต้องย้ายโรงเรียนอยู่ดี

ความเห็นส่วนตัวของคนที่ไม่มีประสบการณ์นี้คิดว่า เพื่อนไม่ต้องรู้ก็ได้นี่นาว่าเรามีประกัน และถ้าโดนแกล้งรุนแรงระดับที่พ่อแม่จะฟ้อง เราไม่ต้องสนิทกันก็ได้ การที่ประกันรูปแบบนี้ฮิตและเป็นกระแสขึ้นมาก็น่าจะทำให้ฝ่ายแกล้งคิดมากขึ้นก่อนลงมือ โรงเรียนก็น่าจะกลัวโดนฟ้องและเตรียมหาวิธีรับมือปัญหาที่ยั่งยืนมากขึ้น

ที่สำคัญ อย่างน้อยๆ ก็เป็นพื้นที่ให้ผู้ถูกกระทำมีทางเลือกลุกขึ้นมาสู้ อย่างน้อยความรู้สึกน่าจะต่างกับการต้องเอาแต่อดทนแบบไม่รู้จะหันไปพึ่งใคร อยู่แบบเดิมเด็กอาจเครียดและเก็บกด พ่อแม่ก็เป็นกังวลแต่ทำอะไรมากไม่ได้ ถ้าตัดสินใจจะลุย อย่างน้อยยังได้จับมือกับคนในครอบครัวเผชิญปัญหาไปด้วยกัน สมัยนี้เทคโนโลยีทันสมัย น่าจะเก็บหลักฐานได้ง่ายขึ้น และหากมีใครสักคนชนะคดีขึ้นมา น่าจะเป็นการส่งต่อความหวังให้เพื่อนที่ถูกกลั่นแกล้งคนอื่นๆ ได้ด้วยเช่นกัน

คงต้องรอดูว่าหากมีคนใช้ประกันนี้จริงๆ จะเป็นยังไง ระหว่างที่ยังไม่มีทางแก้ที่ดีกว่านี้ ขอให้น้องๆ มีหัวใจที่เข้มแข็ง

AUTHOR

ILLUSTRATOR

Kanith

นักเขียนภาพประกอบอิสระที่ติดเกม