วาระสุดท้ายในตำแหน่ง ผอ.หอศิลป์ และชีวิตหลังตกงานของ ผศ.ปวิตร มหาสารินันทน์

Highlights

  • คุยกับ ผศ.ปวิตร มหาสารินันทน์ ถึงเบื้องหลังการออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และทิศทางของพื้นที่ศิลปวัฒนธรรม

เช้าตรู่วันที่ 24 กันยายน หลายคนคงเห็นข่าวผ่านสื่อในโลกโซเชียลว่า ผศ.ปวิตร มหาสารินันทน์ ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (bacc) ไม่ผ่านการประเมินผล หรือที่ในสื่อใช้คำที่กระชับ เข้าใจง่ายว่า ‘ถูกไล่ออก’

ก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน ชายผู้กำลังจะเป็นอดีตผู้อำนวยการส่งข้อความมาหาผมตอนเช้าก่อนจะนัดพบกันในช่วงเย็นเพื่อพูดคุยถึงสถานการณ์ล่าสุดในชีวิตเขา

“23 วันที่ผ่านมาเป็น 23 วันที่เลวร้ายที่สุดในชีวิตผม” ผศ.ปวิตรบอกผมในร้านกาแฟที่เรานัดพบเจอ

23 วันที่เขาว่า เขาเริ่มนับจากวันแรกที่รู้ว่าตัวเองจะไม่ได้ทำงานที่นี่ต่อโดยไม่รู้สาเหตุที่แท้จริง

“มันเหมือนกับเวลาที่คุณตั้งใจทำอะไรอย่างหนึ่ง คุณมองเห็นทางข้างหน้า 4 ปีคุณอยากให้มันเป็นแบบนี้ 8 ปีคุณอยากให้มันเป็นแบบนี้ แล้วอยู่ดีๆ คุณทำได้แค่ปีครึ่งเขาก็บอกว่า คุณไม่ต้องทำแล้ว”

นับจากวันที่ตัดสินใจทิ้งการงานอันมั่นคงที่ปักหลักมา 25 ปี อย่างหัวหน้าภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาเริ่มงานใหม่ที่หอศิลป์ ชื่อของ ผศ.ปวิตรก็ปรากฏผ่านหน้าสื่อบ่อยครั้งในฐานะผู้ที่คอยเปิดเผยสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของหอศิลป์ที่ใครหลายคนเป็นห่วง

อย่างที่รู้กันตั้งแต่ปีที่แล้วว่าแหล่งศิลปวัฒนธรรมใจกลางเมืองแห่งนี้กำลังเจอวิกฤตครั้งสำคัญ เมื่อ กทม.หยุดให้เงินสนับสนุน ซึ่งคล้ายเป็นการตัดเส้นเลือดใหญ่ที่ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงหอศิลป์แห่งนี้ ส่วนค่าน้ำค่าไฟที่ทาง กทม.เคยบอกว่าจะออกให้ก่อนก็ถูกทวงย้อนหลัง ยังไม่นับข่าวก่อนหน้าที่ว่า กทม.ขอทวงคืนพื้นที่ไปบริหารเอง ซึ่งอาจเปลี่ยนโฉมหน้าของสถานที่นี้ไปเป็นอย่างอื่น

แม้จะเผชิญกับปัญหา แต่ที่ผ่านมาเขาและทีมงานทุกคนก็ก้มหน้าก้มตาทำหน้าที่ของตัวเองอย่างแข็งขัน ตัวเลขผู้มาเยือนหอศิลป์ปีนี้มีแนวโน้มจะกลายเป็นสถิติใหม่สวนทางกับงบประมาณที่ลดลง หลายสิ่งหลายอย่างกำลังดำเนินไปอย่างน่าพอใจจนกระทั่งเขารับทราบว่าตัวเองไม่ผ่านการประเมินและต้องเป็นฝ่ายเดินออกไป

หลังบทสนทนาผมพบว่าสิ่งที่น่าสนใจนอกจากเหตุผลของการสิ้นสุดตำแหน่ง คือมุมมองที่เขามีต่อสิ่งที่ทำและทิศทางของพื้นที่ศิลปวัฒนธรรมในบ้านเรา และเหมือนกับทุกครั้ง เขายังคงบอกเล่าทุกเรื่องด้วยรอยยิ้ม แม้ว่าบทสนทนาจะว่าด้วยวาระสุดท้ายของหน้าที่การงาน

ก่อนจะรู้ว่าตัวเองไม่ผ่านการประเมิน ชีวิตการทำงานของคุณเป็นยังไง พึงพอใจไหม

ผมกำลังมีความสุขนะครับ ถ้าเป็นฝรั่งจะพูดว่า I’m on a roll. (หัวเราะ)

 

ท่ามกลางปัญหามากมายของหอศิลป์อย่างที่หลายคนรู้ ทำไมคุณยังบอกว่ามีความสุข

สิ่งหนึ่งที่ผมได้ทำและรู้สึกว่ามันเริ่มที่จะเข้าที่เข้าทางแล้วคือการสนทนาระหว่างศิลปะหลายๆ สาขา ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ที่ห้องนิทรรศการ ชั้น 7 คนเยอะมากเลยนะครับ เสาร์-อาทิตย์ตอนนี้คนมา 4,000 คน (เน้นเสียง) คนสนใจเรื่องศิลปะบำบัดที่เราจัดมาก ซึ่งมีการแสดงที่จำลองสถานการณ์จริงในห้องบำบัด มีทั้งการบำบัดด้วยการเคลื่อนไหว การบำบัดด้วยละคร การบำบัดด้วยการวาดภาพ การบำบัดด้วยดนตรี ซึ่งคณะ B-floor มาจัดในส่วนนี้ มันเริ่มเห็นแล้วว่าการแสดงสามารถขึ้นไปอยู่ชั้น 7, 8, 9 ได้

อย่างที่ผมเคยพูดว่าชั้น 7, 8, 9 เราไปใส่ชื่อมันเองว่าเป็น main gallery แต่จริงๆ มันก็คือห้องเปล่าๆ มันทำอะไรได้ตั้งหลายอย่าง เพราะฉะนั้นมันเริ่มที่จะมีบทสนทนาซึ่งกันและกันแล้ว เราเห็นอยู่แล้วว่าหอศิลป์มีหลายประเด็น แต่เราอยากให้เกิดบทสนทนาระหว่างศิลปะแขนงต่างๆ แล้วก็เกิดการข้ามสาขา ผมขอใช้คำของอาจารย์เจตนา นาควัชระ ที่ว่า ‘ศิลปะส่องทางให้แก่กัน’ คือศิลปะแต่ละสาขาส่องทางให้แก่กัน คุณจะเห็นว่าโดยธรรมชาติของมนุษย์แล้วเราทำงานศิลปะได้หลายสาขา คำถามก็คือว่า ใครที่มาจัดว่าแกวาดรูปไป แกปั้นไป แกถ่ายรูปไป หรือแกไม่ต้องมาวาดรูป มันคือการฝืนธรรมชาติหรือเปล่าที่บอกว่าแกเต้นไป ไม่ต้องมาวาดรูป

ที่สำคัญคือปีนี้เราบอกประชาชนว่าธีมของเราคือ inclusivity เราจะให้ทุกคนมาสร้างงานศิลปะได้ ซึ่งบางคนอาจจะไม่เรียกว่างานศิลปะ จะเรียกว่างานสร้างสรรค์ก็ได้ แล้วเราให้ทุกคนมาดูงานศิลปะนี้ได้ อย่างเมื่อวันศุกร์ที่แล้วผมไปดูละครเรื่อง เกือบสุข: Sunny Side Up ที่นั่น ซึ่งเป็นละครที่อยู่ในโครงการ Open Call ที่เราเปิดรับการแสดงเรื่องใหม่ๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นละครก็ได้ เป็นการเต้น เป็นนาฏศิลป์ เป็นดนตรี หรือว่าเป็นอะไรก็ได้ แต่ว่าเราให้โจทย์เป็นเรื่องความพิการ แล้ว สตางค์–ภัทรียา พัวพงศกร ก็ชวนเพื่อนที่เป็นคนตาบอดอย่าง พลอย–สโรชา กิตติสิริพันธุ์ มาร่วมเขียนบทและแสดงละครกับเพื่อนอีกคนที่เป็นไบโพลาร์

มันไม่ใช่ละครที่ดีที่สุดในชีวิตที่ผมเคยดู แต่การที่คนพิการทางสายตาคนหนึ่ง ไม่เคยเรียนวิชาการละครมาก่อน แต่เขากล้าที่จะทำละคร เขาไม่เคยเรียนการแสดงมาก่อน แต่เขากล้าที่จะแสดง นี่มันคือ art brut (ศิลปะที่สร้างสรรค์โดยกลุ่มศิลปินนอกกระแสนิยม เช่น ผู้พิการ ผู้ต้องขัง ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาผ่านสถาบันศิลปะ) แล้วในรอบนั้นและรอบอื่นก็มีคนตาบอดมาดูละครด้วย บางรอบน่าจะมีคนหูหนวกด้วยเพราะมี surtitle ผมมีความรู้สึกว่า เฮ้ย ที่เราพูดว่า inclusivity ทีมงานของเราทุกคนเข้าใจ หรือศิลปินที่เราทำงานด้วยเข้าใจ ว่า inclusivity มันคืออะไร มันไม่ใช่แค่คำเก๋ๆ แต่มันตอบโจทย์ปณิธานของหอศิลป์ ที่บอกว่าเราจะต้องเป็นหอศิลป์ของประชาชน ผมก็เลยมีความสุข

 

ที่ผ่านมาทำไมคุณมักย้ำเสมอว่าสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ของศิลปะและวัฒนธรรม ไม่ใช่ศิลปะอย่างเดียว

หอศิลปกรุงเทพฯ ชื่อเต็มมันคือ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หรือ Bangkok Art & Culture Centre ไม่ใช่ art อย่างเดียว เพราะฉะนั้นบางคนจะเข้าใจว่าหอศิลปกรุงเทพฯ ก็เหมือนหอศิลป เจ้าฟ้า หรือหอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน หรือ MOCA (Museum of Contemporary Art–พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย) ซึ่งจริงๆ แล้วมันต่างกันเยอะมาก สิ่งที่ต่างที่สำคัญสุดคือเรามีศิลปะแขนงอื่นๆ ด้วย

จริงๆ แล้วผมมองว่าศิลปะมันอยู่ในทุกอย่าง ผมมองว่าการชงกาแฟก็เป็นศิลปะ การเลือกเมล็ดกาแฟก็เป็นศิลปะ แล้ววัฒนธรรมก็เป็นเรื่องใหญ่มากซึ่งมีหลากหลายอยู่ในตัวหอศิลป์อยู่แล้ว ผมไม่เคยมองว่าร้านค้า ห้องออดิทอเรียม หรือคนที่มาจัดกิจกรรมที่หอศิลป์ คือการเลี้ยงดูหอศิลป์ แต่ผมมองว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างกิจกรรม งานศิลปะ และกิจกรรมทางวัฒนธรรม ให้กับที่นี่

แล้วในแง่ตัวเลขรายได้หรือผู้เข้าชมโดยรวมมันเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นด้วยไหม

ช่วงเดือนที่แล้วมันมีปรากฏการณ์หนึ่งที่น่าสนใจมาก ปกติที่ผ่านมา คนที่มาหอศิลป์แล้วขึ้นไปดูงานข้างบนจะมีประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ว่าเดือนที่แล้ว (สิงหาคม) มี 62 เปอร์เซ็นต์ หลายคนที่ดูมางานข้างล่าง มาดื่มกาแฟ มากินส้มตำ เสร็จแล้วเขาขึ้นไปข้างบนด้วย ซึ่งมันเป็นแนวโน้มที่ดีมาก รวมแล้วเดือนที่ผ่านมามีคนเข้ามา 160,000 กว่าคน และผมว่าปีนี้จำนวนคนที่เข้ามาหอศิลป์จะเป็นสถิติใหม่ ตอนปี 2561 คนเข้ามาน้อยกว่าปี 2560 ประมาณ 4,000 คน แต่ปีนี้คนที่เข้ามาน่าจะมากกว่าปี 2560 มันคือการพิสูจน์ว่า เราไม่จำเป็นต้องมีนิทรรศการขนาดใหญ่ที่ทุกคนสนใจ ไม่ต้องมีเบียนนาเล่ คนก็มาหอศิลป์ได้ นี่คือสิ่งที่เรากำลังพิสูจน์อยู่ตอนนี้ แล้วมันกำลังจะปรากฏผลตอนปลายปี

อีกสิ่งหนึ่งที่เราพิสูจน์อยู่ก็คือว่า ใน 6 เดือนแรกของปีนี้เราใช้จ่ายเงินไป 23 เปอร์เซ็นต์ของรายจ่ายที่ตั้งไว้ 6 เดือน และผมมั่นใจว่าทั้งปีเราจะใช้เงินไม่ถึงที่ตั้งไว้ เพราะเรามีคนมาช่วยทำงาน ช่วยออกเงิน ช่วยสนับสนุนอะไรต่างๆ มากขึ้น แล้วก็มีรายได้จากส่วนต่างๆ ทั้งค่าเช่าสถานที่ ค่าให้บริการสถานที่ เงินบริจาคต่างๆ ผมมั่นใจว่าปีนี้รายได้จะสูงกว่าที่เราประมาณการไว้ ส่วนรายจ่ายจะไม่ถึงที่เราตั้งไว้

แต่แน่นอน เมื่อรวมทั้งปีแล้วมันคงยังเป็นตัวเลขสีแดง เพราะเรายังไม่มีเงินพอที่จะจ่ายค่าน้ำค่าไฟที่ทาง กทม.ทวงย้อนหลังมาแน่นอน แต่มันเป็นทิศทางที่ดี อย่างที่เคยบอกว่าปี 2560 หอศิลป์ใช้จ่ายไป 69 ล้าน พอปี 2561 เราใช้ไป 63 ล้าน และปีนี้ผมคาดการณ์ว่าเราใช้ไม่ถึง 50 ล้าน แต่จำนวนกิจกรรมที่เราทำเองเท่าเดิม และมีจำนวนกิจกรรมที่คนอื่นเข้ามาทำในหอศิลป์มากขึ้นด้วย เราได้พิสูจน์แล้วว่าใน 1 ปี เงิน 40 กว่าล้านก็ทำให้หอศิลป์มีคุณภาพได้

 

เท่าที่เล่ามาทุกอย่างเหมือนจะเป็นไปในทิศทางที่ดี แล้วทำไมคุณไม่ผ่านการประเมิน

ผมก็ยังไม่ทราบเหตุผลที่แท้จริง เพราะผมก็ได้ขอรายงานการประเมินกับทางคณะกรรมการฯ ไปแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับรายงานอย่างเป็นทางการ ผมบอกเขาว่าผมขออ่านสรุปผลรายงานการประเมินได้ไหมครับ เพื่อที่ว่าจะได้เอาไปพัฒนาปรับปรุงการทำงานของผมต่อไป ซึ่งผมก็รอตรงนั้นอยู่ แต่ก็มีเหตุผลหนึ่งที่มีกรรมการประเมินบอกด้วยวาจาอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกก็คือท่านใช้คำว่า “คุณไปด่าเขา” ซึ่งหมายถึง ผมไปด่าผู้ว่าฯ

ผมก็พยายามทบทวนสิ่งที่พูดไปทั้งหมด คำว่าด่ามันอาจจะไม่ใช่คำที่ตรงนัก เพราะคำว่าด่ามันค่อนข้างรุนแรง ผมทบทวนสิ่งที่ผมพูดกับสื่อมวลชนทั้งหมด ผมไม่เคยใช้คำรุนแรง ผมแค่บอกว่า ตอนที่ทาง กทม.ส่งบันทึกมาเพื่อทวงค่าน้ำค่าไฟย้อนหลัง 15 เดือน ผมก็บอกว่าท่านรองผู้ว่าฯ ในขณะนั้นเคยพูดเมื่อตอนเดือนตุลาคมว่า “เรื่องค่าน้ำค่าไฟ กทม.จะจัดการให้ แล้วค่อยว่ากัน” แล้วผมก็พูดติดตลกว่า แล้วค่อยว่ากันก็คือเดี๋ยวค่อยมาทวง

ถ้านี่เรียกว่าการด่าก็แสดงว่าผมด่าคนทุกวัน ใช่ไหมครับ เพราะผมก็แค่ชี้ให้เห็นประเด็นนี้ ซึ่งเป็นการตัดสินใจของผม เพราะผมคิดว่าถ้าเรามาทำงานในพื้นที่ที่เป็นสาธารณะแบบนี้ ประชาชนทุกคนต้องมีส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัยนี้เป็นยุคของข้อมูลข่าวสาร คุณจะมาปิดบังไม่ได้ มันไม่ใช่ยุคสมัยนั้นแล้ว มันคือยุคสมัยที่ยังไงคนก็ลงข่าว ลงโซเชียลมีเดีย ถ้าจะมาเล่นการเมืองกันแบบเดิมๆ คงไม่ได้แล้ว สุดท้ายมันก็คือการบอกความจริงกับประชาชน เพราะว่าหอศิลป์ก็คือภาษีของประชาชน มันคือที่ของประชาชน ถ้าเราพูดความจริงกันไม่ได้ในสังคมนี้ แล้วจะมีคนที่ต้องเป็นเหยื่อหรือเป็นคนซวยเพราะการพูดความจริงแบบนี้ ประเทศเราก็เจริญไม่ได้นะครับ ผมก็เป็นคนธรรมดาสามัญคนหนึ่ง ผมก็ทำตรงนี้อย่างเต็มที่ ผมก็มีทีมงานที่ต้องรับผิดชอบ

ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าทีมงานจะรู้สึกยังไง บางคนอาจจะดีใจก็ได้ที่ผมไม่อยู่ เพราะสภาพมันแย่มาก แต่เดิมเขามีความคิดสร้างสรรค์ แล้วก็มีงบประมาณต่างๆ ที่สามารถจะสร้างสรรค์โครงการอะไรต่างๆ นานาได้ ได้โบนัสเดือนครึ่งติดต่อกันมา 3-4 ปี แต่พอผมเข้ามาปุ๊บปีที่แล้วโบนัสเหลือ 10,000 บาท บางคนถ้าทำไม่ครบ 10 เดือนก็ได้แค่ 5,000 บาท เงินเดือนก็ไม่ขึ้น เพราะฉะนั้นสภาพมันแย่มาก ที่สำคัญคือเงินที่จะทำกิจกรรมมันก็น้อยลง ระหว่างที่ว่างแต่ละคนก็ต้องโทรศัพท์หาคนนั้นคนนี้ อีเมลหาคนนั้นคนนี้ คอยถามว่ามีกิจกรรมอะไรมาทำด้วยกันได้ไหม พนักงานทุกคนเขาทำงานหนักมากเพื่อที่จะให้หอศิลป์อยู่ได้ ถ้าผมได้มีโอกาสเข้าไปพูดกับกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งผมคงไม่มีโอกาสแล้วแหละครับ ผมก็จะบอกว่าทีมงานของผมทุกคนทำงานหนักมาก คุณจะให้ผมออกก็ได้ แต่ว่าปลายปีนี้ผมขอนะครับ ขอให้ทีมงานของผมได้ขึ้นเงินเดือนทุกคน และขอให้เขาทุกคนได้โบนัส เพราะผมรู้ว่าทุกคนทำงานหนักมาก ทุกคนเหนื่อยมาก

ที่ผมต้องออกมาพูดตลอดเวลาก็เพราะว่า หลายคนที่เข้ามาหอศิลป์อาจจะนึกว่าปัญหาต่างๆ มันจบแล้ว กิจกรรมก็เยอะดี คนร่าเริงแจ่มใส ผมก็หัวเราะได้ ต่างๆ นานา ทั้งที่จริงแล้วไม่ใช่อย่างนั้นเลย

นั่นคือเรื่องแรกที่ท่านใช้คำว่า “ก็คุณไปด่าเขา”

 

แล้วอีกเรื่องคืออะไร

เรื่องที่สองก็คือเขาบอกว่า คุณเรียนรู้งานช้าไปหน่อย คือท่านไม่ได้พูดอย่างเป็นทางการ แต่ผมก็มีหลักฐานว่าท่านพูดว่าผมเรียนรู้งานช้าไปหน่อย แน่นอนว่าผมเคยบริหารจัดการโรงละครมาก่อน เหมือนเคยทำสนามเทนนิส แล้ววันหนึ่งต้องมาบริหารศูนย์กีฬาที่มีอะไรหลายๆ อย่างที่ผมไม่เคยรู้จักมาก่อน ผมก็ใช้เวลาเรียนรู้ แต่ทีนี้ระหว่างที่ผมเรียนรู้มันเจอปัญหาใหญ่เข้ามาก็คือเรื่องงบประมาณ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

สิ่งสำคัญที่สุดของผมในช่วงเวลาที่ผ่านมาก็คือ damage control คือการควบคุมให้ความเสียหายมันน้อยที่สุดในทุกเรื่อง ทั้งการดำรงอยู่ของมูลนิธิฯ เงินที่ยังอยู่ในบัญชี พนักงานที่ยังอยู่กับเรา แล้วก็จิตใจของพนักงาน คือคนที่เข้ามาทำงานตรงนี้หลายๆ คนเขาไม่ได้กะจะเข้ามาทำงานแค่ 1-2 ปีนะครับ โอเค บางคนอาจจะคิดว่ามันเป็นทางผ่านเพื่อไปทำงานที่ดีกว่า ซึ่งผมก็ยอมรับว่ามีหลายงานที่ดีกว่า แต่ก็มีบางคนเขาต้องการที่จะทำงานที่นี่ไปตลอด

 

อย่างคุณเองต้องการทำงานที่นี่ไปตลอดไหม

อย่างที่ผมเคยบอกว่าปกติผู้อำนวยการมีวาระ 4 ปี และผมรู้ว่ามันต่อได้ครั้งหนึ่ง ผมก็วางแผนไว้แล้วว่าผมจะทำงาน 8 ปี เพราะว่าสิ่งที่ผมพยายามจะทำมันยาก ไอ้เรื่องการที่พยายามจะเชื่อมโยงศิลปะอะไรต่างๆ นานา

คุณรู้ตอนไหนว่าตัวเองไม่ได้รับการต่อสัญญา

ผมทราบอยู่แล้วว่าเดือนสิงหาคมต้องมีการประเมิน เพราะเป็นเดือนสุดท้ายของสัญญาฉบับที่ 2 ของผม ผมก็ได้แบบฟอร์มการประเมิน ได้รับคำถามต่างๆ นานา แล้วผมก็ส่งให้วันที่ 17 สิงหาคม พอวันที่ 20 สิงหาคมก็มีการประชุมคณะกรรมการประเมินครั้งแรก คณะกรรมการประเมินก็คุยกับหัวหน้าและทีมงานฝ่ายต่างๆ ของหอศิลป์ แล้วก็เรียกผมเข้าไปคุย คุยกันอยู่ประมาณ 25 นาที เขาก็ถามว่าผมอยากจะทำอะไรต่อไป อยากพัฒนาอะไรต่อ เป็นคำถามกว้างๆ ซึ่งผมยังไม่ได้รู้สึกว่าเขาจะประเมินผมไม่ผ่าน พอวันที่ 31 สิงหาคมซึ่งเป็นวันสุดท้ายของสัญญาจ้างงานของผม ผมก็เดินอยู่ในหอศิลป์แล้วก็คิดว่าน่าจะมีคณะกรรมการมูลนิธิฯ สักคนมาบอก ก็เดินหาแล้วบังเอิญไปเจอเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ เอาจดหมายที่บอกว่าเลิกจ้างผมมาให้กรรมการมูลนิธิฯ เซ็น ผมก็นั่งอยู่ตรงนั้นเลย รับทราบว่าโดนไล่ออกตรงนั้นเลย

หลังจากนั้นวันพุธที่ 4 กันยายน กรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการประเมินด้วยก็มาคุยกับผมว่า มันน่าจะสวยกว่า ถ้า ผอ.ลาออก เขาก็ยื่นข้อเสนอให้ผมลาออก แล้วเดี๋ยวทางมูลนิธิฯ ก็จะมีเงินชดเชยให้ ซึ่งเราก็คุยกันด้วยวาจาในตอนนั้น แต่ผมไม่ได้ตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร ยังสรุปกันไม่ชัดเจนว่าตกลงผมจะลาออกหรือผมจะบอกทีมงานว่ายังไง เพราะทีมงานก็ไม่มีทางเชื่อว่าผมจะลาออก คือถ้าผมจะลาออกคือผมได้งานที่ดีกว่า ซึ่งอันนั้นคือผมเลวมาก มาทิ้งคนอื่นเขาตอนนี้ ซึ่งผมไม่ใช่คนแบบนั้นอยู่แล้ว

แล้วผมจะบอกคนอื่นว่ายังไง บอกว่าผมประเมินไม่ผ่านก็เลยต้องลาออกเหรอ มันไม่เกี่ยวนี่ อันนี้เขาเรียกไล่ออก เพราะฉะนั้นผมก็มานั่งคิดถึงคำที่พ่อผมบอกว่า ความจริงก็คือความจริง ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย คือผมยังไม่ได้คุยเรื่องนี้กับพ่อ แต่ถ้าพ่อรู้พ่อก็ต้องพูดแบบนี้ เพราะฉะนั้นถ้าความเป็นจริงเขาประเมินว่าผมไม่ผ่าน มันก็คือความจริง สุดท้ายก็คือผมไม่สามารถบอกกับตัวเองว่าผมจะลาออกจากตรงนี้ได้ เพราะผมไม่ได้คิดจะลาออก

 

แล้วอายุ 47 อยู่ดีๆ ก็…

ตกงาน (ชิงตอบ)

ชีวิตเป็นยังไง ตกงานตอนอายุ 47

23 วันที่ผ่านมาเป็น 23 วันที่เลวร้ายที่สุดในชีวิตผม คือปกติผมเป็นคนหลับง่ายมาก แต่ตอนนี้ผมนอนไม่หลับเลย แล้วทุกคืนผมก็จะคิดถึงแต่เรื่องหอศิลป์ คิดว่าผมจะทำอะไรต่อไป เวลาคนอายุ 47 ตกงานมันไม่ใช่เรื่องตลก

มันเหมือนกับเวลาที่คุณตั้งใจทำอะไรอย่างหนึ่ง คุณมองเห็นทางข้างหน้า 4 ปีคุณอยากให้มันเป็นแบบนี้ 8 ปีคุณอยากให้มันเป็นแบบนี้ คุณกำลังมั่นใจและมีคนที่เชื่อว่าจะได้ต่อสัญญา เชื่อว่ามันจะไปถึงตรงนั้นได้ แล้วทำสิ่งที่เป็นธรรมชาติของวงการศิลปะ คือการเชื่อมโยงหลากหลายสาขามามีบทสนทนาซึ่งกันและกัน มาส่องทางให้แก่กัน ตามคำพูดของอาจารย์เจตนา แล้วอยู่ดีๆ คุณทำได้แค่ปีครึ่งเขาก็บอกว่า คุณไม่ต้องทำแล้ว

มีกรรมการมูลนิธิฯ ท่านหนึ่งเขาบอกว่า เดี๋ยวครูป้อมก็มาช่วยเรื่องละครได้ แต่มันไม่ใช่ไงครับ ผมไม่ได้จะช่วยเรื่องละคร สิ่งที่ผมทำคือผมช่วยให้ละคร วรรณกรรม ภาพยนตร์ สิ่งแวดล้อม ทัศนศิลป์ มันคุยกัน แล้วก็นำไปสู่การสร้างสังคมที่ดีขึ้น ในแง่ของคนดูมันก็คือสังคมที่เข้าใจศิลปวัฒนธรรม สังคมที่เห็นคุณค่าของศิลปวัฒนธรรม แล้วต่อไปก็กลายเป็นสังคมที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ กล้าแสดงความเห็นจากการได้รับแรงบันดาลใจจากงานศิลปวัฒนธรรม

 

เมื่อไม่ได้ทำในสิ่งที่หวังแล้ว หลังจากนี้ชีวิตจะเป็นอย่างไร

ชีวิตผมเต็มไปด้วยความท้าทายอยู่แล้ว (หัวเราะ) คือผมเลือกเองที่จะออกจากคอมฟอร์ตโซน คนชอบถามผมว่า พอรู้ว่ามีปัญหาเรื่อง กทม. ถ้าย้อนเวลาได้ผมจะยังมาทำงานตรงนี้ไหม ผมก็ทำ แล้วตอนนี้ถ้าถามผมว่า ถ้ารู้ว่าจะโดนไล่ออกจะยังมาทำตรงนี้ไหม ผมก็ทำ ที่นี่มันคือ dream job ของผม มันไม่มีที่แบบนี้ที่อื่นในเมืองไทย มันไม่มีที่ไหนแล้วที่เราสามารถที่จะทำงานได้หลายๆ ด้านแบบนี้ แล้วก็เป็นการทำงานให้ประชาชน ถึงจะเครียด จะใกล้ความเป็นซึมเศร้ามากยังไงก็ตาม แต่ก็อย่างที่เคยบอก เราอยู่กับปัจจุบันและอนาคต นี่คือสิ่งที่ผมทำได้ ถ้าย้อนไปคิดถึงอดีต เราทำอะไรกับมันไม่ได้ไง

ผมก็มีความรู้สึกว่า เฮ้ย เราก็ทำอะไรมาตั้งเยอะแยะ ผมว่าผมเขียนหนังสือได้ ผมก็อยากจะใช้เวลาเขียนหนังสือ อาจจะรับงานแปลบ้าง คือด้วยความที่มันวุ่นวายมาหลายปีผมก็อยากจะใช้ชีวิตอยู่เงียบๆ บ้าง น่าจะเป็นการบำบัดที่ดีในบางช่วง เพราะจริงๆ แล้วในช่วง 19 เดือนที่ผ่านมามันก็มีหลายๆ เรื่องที่ยังไม่ได้เล่าให้ใครฟัง และจริงๆ มันน่าจะเป็นประโยชน์ ไม่ใช่กับคนที่สนใจศิลปวัฒนธรรมเท่านั้น แต่มันจะเป็นประโยชน์กับคนทั่วๆ ไปด้วย อาจจะเป็นเรื่องเล่าจากหอศิลป์ที่ผมจดหรือถ่ายรูปไว้ คือมีหลายอย่างที่ผมยังทำได้

 

ในวันที่ไม่ได้เป็นผู้อำนวยการแล้ว คุณฝันอยากเห็นหอศิลป์เป็นยังไง

คือผมว่าคำว่าหอศิลป์ของประชาชนสำคัญมากนะครับ ซึ่งคำว่าของประชาชนมันไม่ใช่ว่าประชาชน หรือศิลปินกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือสถาบันใดสถาบันหนึ่ง เป็นเจ้าของหรือมีสิทธิประโยชน์ในการใช้มากกว่าคนอื่น แต่มันคือหอศิลป์ที่งานทุกอย่างสื่อสารกับประชาชน ไม่ว่าจะบอกว่าเป็นงานที่หอศิลป์จัดเองหรือคนอื่นมาเช่าหอศิลป์จัด ซึ่งคำว่าสื่อสารคือคนเข้าใจว่าคุณต้องการจะสื่ออะไร แล้วก็มีพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้คนได้แสดงความคิดเห็น กระตุ้นความคิดเห็นที่แตกต่าง

เราเห็นว่า หอศิลป์กำลังพัฒนาไปในทางที่ดีท่ามกลางปัญหา อุปสรรค ความขัดแย้ง ความเห็นที่ไม่ตรงกัน อะไรต่างๆ นานา ที่สำคัญที่สุดคือมันพูดได้แล้วว่า หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครกลับมาเป็นหอศิลป์ของประชาชนอีกครั้งหนึ่ง แค่นี้ผมก็มีความสุขแล้ว ถึงแม้เวลาผมคิดเรื่องปัญหาส่วนตัวแล้วผมจะเครียดหรืออะไร แต่เมื่อคิดว่า เออ เดี๋ยวคนก็เข้ามา เดี๋ยวคนก็สนใจ เดี๋ยวก็มีนิทรรศการใหม่ ผมก็มีความสุข ซึ่งตอนนี้เรากำลังจะมีนิทรรศการ LGBTQ ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ซึ่งตอนนั้นผมจะไปทำอะไรอยู่ที่ไหนแล้วก็ไม่รู้

คือถ้าเราไม่ไปคิดเรื่องร้ายๆ สุดท้ายมันก็เป็นความทรงจำที่ดี ผมก็พูดกับพนักงานอยู่ตลอดเวลาว่า อย่างน้อยผมก็เป็น ผอ.ที่ผมยาวที่สุด (หัวเราะ)

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

เจ้าของเพจ T E 4 M ที่หลงใหลในมุกตลกคาเฟ่และชื่นชอบน้องหมาหน้าย่นเป็นที่สุด