ศิลปะหล่อหัวใจ และศิลปะก็เลี้ยงปากท้อง หลากชีวิตหลายเรื่องเล่าของมนุษย์หอศิลป์

Highlights

  • หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หรือหอศิลปกรุงเทพฯ คือตึกสีขาวสูง 9 ชั้นใจกลางแยกปทุมวันที่เปิดพื้นที่ให้งานศิลปะมากมายตั้งแต่ศิลปินรุ่นใหญ่ยันศิลปินหน้าใหม่ นอกจากนี้ ที่นี่ยังเป็นที่ตั้งของร้านค้าที่เป็นตัวแทนวัฒนธรรมย่อยอันหลากหลายในสังคมด้วย
  • ที่ผ่านมา หอศิลป์ได้รับงบประมาณจาก กทม.ทุกปีเพื่อเป็นค่าดำเนินการ กระทั่งเร็วๆ นี้ที่หอศิลป์ถูกตัดงบประมาณ ซึ่งทำให้หอศิลป์ต้องบริหารจัดการงบประมาณอย่างรัดกุมมากขึ้น โดยพื้นที่แห่งนี้จะเปลี่ยนไปในรูปแบบไหนก็ยังไร้บทบาทชัดเจน
  • ในช่วงเวลานี้ เราถือโอกาสไปคุยกับ 'มนุษย์หอศิลป์' ทั้งภัณฑารักษ์ ศิลปิน แม่บ้าน ไปจนถึงเด็กนักเรียนที่ใช้พื้นที่นี้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ เพื่อเป็นตัวแทนบอกเล่าชีวิตของหอศิลป์ ชีวิตที่เกิดขึ้นเพราะมีผู้คนเหล่านี้เข้ามาสัมพันธ์

เป็นเวลากว่าสิบปีแล้วที่ ‘หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร’ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่าง ‘ศิลปิน’ กับ ‘คนสนใจงานศิลปะ’ ผ่านงานศิลปะร่วมสมัยจำนวนมาก ทั้งภาพวาด ภาพถ่าย งานปั้น งานจัดวาง ละครเวที ภาพยนตร์ ดนตรี ฯลฯ ที่ปรากฏตัวต่อสายตาผู้คนมาครั้งแล้วครั้งเล่า

หอศิลป์ ตั้งอยู่ใจกลางเมืองบริเวณแยกปทุมวัน จากช่วงแรกที่น้อยคนจะรู้จัก ภายในอาคารจึงเงียบเหงาร้างผู้คน กาลเวลาได้สร้างลมหายใจให้พื้นที่มีชีวิตขึ้นมา ปัจจุบันที่นี่จึงเต็มไปด้วยนิทรรศการที่จัดแสดงอย่างต่อเนื่อง เปิดพื้นที่ให้ศิลปินหน้าเก่า-ใหม่ ร้านค้าที่คัดสรรสินค้าให้สอดคล้องกับพื้นที่ และที่สำคัญคือผู้คนจำนวนไม่น้อยที่เดินเข้า-ออกอย่างคึกคัก

แน่นอนว่า ‘งานศิลปะ’ คือหัวใจสำคัญของพื้นที่แสดงงาน แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ชีวิตของหอศิลป์เกี่ยวพันอย่างยิ่งกับชีวิตของผู้คนอันหลากหลาย ซึ่งบางส่วนอาจตกหล่นไปจากการรับรู้ของคนทั่วไป

หลังจาก ‘หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร’ ถูกตัดงบประมาณจาก กทม. มาระยะหนึ่ง อีกทั้งข่าวว่าจะถูกดึงกลับไปให้สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวมาบริหาร (ปัจจุบันบริหารโดย มูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร) ซึ่งอาจเปลี่ยนบทบาทของพื้นที่ไปอย่างมาก ก็ยังไร้คำตอบที่ชัดเจน เราสนทนากับผู้จัดการโครงการและภัณฑารักษ์ฝ่ายนิทรรศการ ศิลปิน เจ้าของร้านกาแฟ คนดูแลร้านหนังสือ คนทำเครื่องประดับมาวางขาย คนมาเดินดูงาน ไปจนถึงแม่บ้านที่ดูแลความสะอาด เพื่อเป็นตัวแทนบอกเล่าชีวิตของหอศิลป์

ชีวิตที่กำลังเติบโต แต่ต้องมาเจอกับความไม่แน่นอน

 

หอศิลป์

หอศิลป์

ณรงค์ศักดิ์ นิลเขต

ผู้จัดการโครงการและภัณฑารักษ์ฝ่ายนิทรรศการ

“ผมเรียนจบคณะโบราณคดี (ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ) มหาวิทยาลัยศิลปากร ช่วงที่เรียนรู้ว่าตัวเองชอบอะไร ผมชอบงานร่วมสมัยมากกว่างานประเพณี อาชีพที่มองๆ อยู่ คือนักจัดการศิลปะ นักเขียน หรืออาจารย์ งานแรกที่ทำคือเป็นฟรีแลนซ์เขียนคอลัมน์เกี่ยวกับศิลปะให้นิตยสารต่างๆ ผ่านไปปีสองปี เริ่มรู้สึกว่างานไม่ตอบโจทย์ความตั้งใจ ผมต้องการสื่อสารกับคนทั่วไปว่างานศิลปะร่วมสมัยไม่ได้ยากขนาดนั้น เลยเปลี่ยนมาทำงานที่หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สมัยผมเรียน ที่นี่แสดงงานร่วมสมัยค่อนข้างเยอะ แต่เกิดการเปลี่ยนนโยบายมาเน้นงานประเพณี ทำไปได้หนึ่งปีเลยย้ายมาหอศิลปมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล้วยน้ำไท ชอบนะ ชัดเจนมากขึ้นว่าตัวเองเหมาะกับงานร่วมสมัย แต่ที่นั่นหนึ่งคนทำหลายบทบาท ผมอยากทำงานเป็นวิชาชีพมากขึ้น มีโครงสร้างการทำงานชัดเจน เลยมาสมัครที่หอศิลป์

“หน้าที่ของผมคือดูแลภาพรวมของชั้น 7-9 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่หอศิลป์ คิวเรตนิทรรศการขึ้นมาเอง หรือเป็นคนร่วมจัด สำหรับคนทำงาน ความท้าทายคือทั้งสามชั้นมีพื้นที่ขนาดใหญ่ ไม่ใช่ห้องสี่เหลี่ยมทั่วไป มีทั้งเหลี่ยม โค้ง กลม เราจะออกแบบนิทรรศการยังไงให้ต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่เอางานมาแปะๆๆ ทั่วผนัง แต่ต้องคิดว่าจากซ้ายไปขวา หรือขวาไปซ้าย ทำยังไงให้คนดูไม่เบื่อ แน่นอนว่าตัวพื้นที่มีเสน่ห์ แต่ก็เป็นเสน่ห์ที่ยาก (หัวเราะ) งานที่ผมประทับใจคือนิทรรศการ ‘Imply Reply – สนามตรึก’ คนคิวเรตเป็นหัวหน้าฝ่ายในตอนนั้น เป็นผลงานหวง หย่ง ผิง เป็นศิลปินจีนที่ย้ายไปอยู่ฝรั่งเศสตอนปฏิวัติวัฒนธรรม งานมันบียอนด์คำว่าปรัชญามาก และผลงานของสาครินทร์ เครืออ่อน อารมณ์จะละมุนมาก กลายเป็นงานอภิปรัชญามารวมกับอารมณ์ความรู้สึก พอมาปะทะกัน มันให้ความรู้สึกดีมาก ตอนนั้นจำนวนงานไม่เยอะ พื้นที่ค่อนข้างโล่ง เป็นงานแรกๆ ที่ทำ แล้วต้องดีลกับพิพิธภัณฑ์ต่างประเทศด้วย ยืมงานจากพิพิธภัณฑ์ปอมปิดูที่ฝรั่งเศส ถือเป็นงานที่ท้าทายพอสมควร

“ถ้าไม่มีหอศิลป์ ตอบในมุมส่วนตัว ผมคงเปลี่ยนไปทำงานด้านอื่น ที่นี่เป็นโครงสร้างสำคัญของวงการศิลปะ โดยเฉพาะศิลปะร่วมสมัย ซึ่งเป็นงานที่ผมมีอุดมการณ์ เมื่อเสาหลักหายไป บ้านหลังนั้นก็ไม่น่าอยู่ ตอบในมุมของประเทศไทย มันอธิบายยากนะ คนมีอำนาจบางคนอาจคิดว่า จะมีไปทำไม แต่พื้นที่แบบนี้คือหน้าตาของประเทศ แล้วที่สำคัญคือ แทบทุกมหาวิทยาลัยมีสอนศิลปะ คุณสร้างบัณฑิตด้านศิลปะขึ้นมา แต่ไม่มีพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจ ไม่มีพื้นที่รองรับเมื่อเขาจบไป คุณจะสร้างหลักสูตรนั้นขึ้นมาทำไม ซึ่งผมไม่รู้จะบอกให้เด็กเรียนศิลปะไปทำไมด้วย”

 

หอศิลป์

หอศิลป์

นัทธมน เปรมสำราญ

ศิลปิน

“เราสอบตรงเข้าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ตอนนั้นยังไม่ได้เลือกว่าจะเรียนอะไร จำได้ว่าครูป้อม (ผศ.ปวิตร มหาสารินันทน์ หนึ่งในอาจารย์ภาควิชาศิลปการละคร ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร) มาประกาศในห้องเรียนรวมว่าอยากได้คนมาช่วยทำละคร ใครสนใจให้ลงวิชา Theater Workshop เราสนใจเลยเข้าไป แม้ตัวเองเป็นส่วนเล็กมากๆ อารมณ์เด็กเดินตั๋วเลย คอยรับแขก จัดเก้าอี้ แต่ช่วงที่ได้ดูนักแสดงซ้อม วางแผนเรื่องต่างๆ เราสนุกกับบรรยากาศในโรงละคร ชีวิตไม่ได้อยู่แต่ในห้องเรียน เลยตัดสินใจเลือกเอกละคร

“สิ่งที่ได้จากการเรียนละคร คือการได้รู้จักตัวเอง เราพยายามจะเข้าใจคนอื่น แต่ทุกครั้งในการทำงาน ต่อให้เป็นการสร้างตัวละครขึ้นมา หรือกำกับให้ใครไปเป็นตัวละคร สิ่งที่ได้มากที่สุดคือ เรารู้ว่าตัวเองเป็นคนยังไง ทั้งผ่านการทำงานกับตัวละคร และผ่านกระบวนการต่างๆ เช่น เราเขียนบทขึ้นมา คนแสดงห้ามพูดผิดแม้แต่คำเดียว หรือผู้กำกับที่เป็นเผด็จการมากๆ ก็สะท้อนว่าเป็นคนแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ผิดอะไรนะ

“พอเรียนจบ เราตัดสินใจต่อปริญญาโทที่คณะจิตรกรรมฯ สาขาวิชาทฤษฎีศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พร้อมกับทำงานแปลไปด้วย ทั้งแปลเอกสารทั่วไปและแปลซับไตเติลซีรีส์ ขณะเดียวกัน ตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว เราทำละครกับกลุ่มข้างนอก ซึ่งก็ทำมาเรื่อยๆ จนกระทั่งได้ทำเองครั้งแรกเมื่อปี 2561 เรื่อง ‘MAKE LOVE, NOT WAR รักและ/หรือรบ’ เป็นทุนจากเทศกาลละครหอศิลป์ เราเขียนบท กำกับ และดูโปรดักชั่นด้วยตัวเอง ธีมคือการข้ามศาสตร์ ละครต้องเกี่ยวข้องกับศาสตร์อื่นๆ ด้วย เรายืมงานของโต๋ (กมลรส วงศ์อุทุม) มาเป็นฉาก ละครเลยล้อมรอบด้วยนิทรรศการของเขา

“งานต่อมากำลังจัดแสดงอยู่ อยู่ในโครงการ EARLY YEARS PROJECT เป็นงานของศิลปินรุ่นใหม่ ปีที่แล้วเราเสียป้าไป เขาเส้นเลือดในสมองแตก เป็นครั้งแรกที่ญาติสนิทเสียชีวิต แต่เราร้องไห้น้อยมาก เหมือนค้างในตัวเอง แล้วเราไปเจอบทความเกี่ยวกับการอุ้มหายของหลายๆ เคส เนื่องในวาระครบรอบ 15 ปีทนายสมชาย (สมชาย นีละไพจิตร) ปกติเห็นใจคนที่เจอเรื่องเหล่านี้อยู่แล้วนะ แต่ครั้งนั้นรู้สึกว่า เราคงรู้สึกเหมือนกัน อยู่ดีๆ ก็ถูกเอาเศษเสี้ยวในตัวเองออกไป โดนดึงออกไปโดยไม่ได้ยินยอม เลยอยากทำงานศิลปะเกี่ยวกับเรื่องนี้ เริ่มจากเปิดเป็นนิทรรศการ แล้วค่อยๆ พัฒนางานไป เดือนนี้เป็นห้องเขียนบท เดือนที่สองเป็นห้องซ้อม เดือนที่สามเป็นวิดีโอการแสดง

“เราลองทุกอย่างตามโอกาสที่ได้มา พอได้รู้จักละคร เราเลยเรียนละคร พออยากรู้จักศิลปะในเชิงทัศนศิลป์ก็เลยเรียนปริญญาโท ปีที่แล้วได้ทำละครครั้งแรก ส่วนปีนี้ค่อนข้างออกจากคอมฟอร์ตโซนเพราะทำงาน installation art แล้วที่ผ่านมายังมีงานเขียนหนังสือด้วย ในอนาคตก็คงต้องค้นหาต่อว่าทำอะไรได้บ้าง ซึ่งทั้งหมดคงยึดโยงกับสิ่งที่ตัวเองเขียน

“พ่อแม่ชอบแซวว่า ‘อยู่เฉยๆ ไม่ได้หรอก ต้องคิดทำอะไรตลอดเวลา’ เอาจริงๆ พ่อแม่ไม่ได้เก็ตตั้งแต่เราเรียนละครแล้ว ไม่ได้ห้าม แต่ต้องอธิบายเยอะหน่อย พวกเขาไม่กล้ามาดูละครที่โรงละครนะ เคยถ่ายวิดีโอไปให้ดู พวกเขาก็ไม่เข้าใจ (หัวเราะ) เราไม่รู้ว่าทำงานศิลปะไปทำไม คงเพราะเป็นคนอยากเล่าสิ่งที่คิด การทำละครช่วยให้เรารู้จักตัวเอง ซึ่งบางคนก็สงสัยอีก จะอยากรู้จักตัวเองไปทำไม (หัวเราะ) ถ้าเราไม่เอาตัวเองไปเจอประสบการณ์บางอย่าง ก็คงไม่รู้ว่าตัวเองเป็นคนแบบไหน บางคนอาจเจอจากกิจกรรมอื่นๆ แต่เราเจอได้จากการทำละคร”   

 

หอศิลป์

หอศิลป์

ปิยชาติ ไตรถาวร

เจ้าของร้าน Gallery กาแฟดริป

“ร้าน Gallery กาแฟดริป เป็นความตั้งใจของผมกับหุ้นส่วน พวกเราอยากสร้างชุมชนกาแฟขึ้นมา เพื่อให้คนชอบกาแฟแบบจริงจังได้พบปะพูดคุย ตอนนั้นหอศิลป์ เปิดมาได้ 3-4 ปี เขากำลังหาคนอยากทำร้านที่มีแนวคิดเชื่อมโยงกัน เราเลยส่งเรื่องราวให้พิจารณาจนได้มาเปิดร้าน ถือเป็นร้านกาแฟแห่งแรกที่จริงจังกับการชงแบบดริป เมื่อก่อนผมทดลองซื้อกาแฟมาชงกินกับเพื่อนๆ ขนอุปกรณ์ติดตัวไปที่ต่างๆ เหมือนคนบ้าเลย (หัวเราะ) พอมาเปิดร้านขายกาแฟของตัวเอง ทำให้ได้เจอผู้คนที่คิดเหมือนกัน ชอบกาแฟดีๆ อยากให้กาแฟดีๆ ได้รับการพัฒนา โดยเฉพาะกาแฟของไทย เราได้สื่อสารและให้ข้อมูลกัน ลูกค้าหน้าเก่าไปต่อยอดสั่งกาแฟมากินเอง ลูกค้าหน้าใหม่ก็เพิ่มมา เกิดเป็นกลุ่มคนที่กินกาแฟดีๆ กินอย่างมีความรู้

“คนทั่วไปอาจกินกาแฟจากรสชาติหรือต้องการความตื่นตัว ซึ่งไม่ได้ผิดอะไรนะ แต่เวลาพูดถึง ‘กาแฟดี’ ผมมองว่าเป็นกาแฟที่รู้ที่มาที่ไป รู้วิธีการทำ รู้ว่ารสชาติแบบนี้เกิดจากอะไร ดีตั้งแต่พื้นที่ปลูก ต้นกาแฟ เกษตรกรมีรายได้ที่ดี คนคั่วกาแฟ มาจนถึงคนชง และคนดื่ม ทุกๆ คนมีความสุขกับกาแฟ นั่นคือดีตั้งแต่ต้นทางจนปลายทาง เรากินแล้วเกิดความสงสัยต่อ รสหวานเพราะอะไร กลิ่นหมักๆ เกิดจากอะไร สงสัยแล้วหาคำตอบ มันช่วยให้เห็นว่ากาแฟที่ดีมีขั้นตอนยังไงบ้าง ตอนเปิดร้านผมไม่ได้รู้เยอะหรอก ค่อยๆ สะสมความรู้เพิ่ม ทั้งหาคำตอบเรื่องรสชาติใหม่ๆ เหมือนเรากำลังวิจัยกาแฟผ่านประสบการณ์จากผู้คน ผมรู้จักรสชาติกาแฟ รู้ว่ากลุ่มหนึ่งชอบแบบนี้ อีกกลุ่มชอบแบบนี้ ผมได้เชื่อมโยงต้นทางกับปลายทาง ทำให้เกษตรกรมีชีวิตดีขึ้นจริงๆ เขายั่งยืนในด้านอาชีพ เกิดการปลูกกาแฟที่มีคุณภาพ ทำให้ได้รักษาป่าไปด้วย หรือบางคนไม่ได้ปลูกกาแฟ อยากแค่โพรเซสกาแฟ ก็ไปรับแล้วมาทำ เพิ่มความหลากหลายในวงจร ส่งผลกลับไปกลับมา   

“พื้นที่ของหอศิลป์ก้ำกึ่งระหว่าง ‘ธุรกิจ’ กับ ‘ศิลปะ’ ผมชอบบรรยากาศแบบนี้นะ มันยืดหยุ่นกว่าในห้างสรรพสินค้า ตัวพื้นที่ดึงดูดคนจำนวนมากเข้ามา ซึ่งก็มีบางกลุ่มที่เข้ากับร้านเราด้วย บางคนตั้งใจมาร้านเรา แล้วเลยไปดูงานศิลปะ หรือบางคนตั้งใจมาดูงานศิลปะ แล้วหากาแฟกิน ทำให้ได้เจอกัน เมื่อก่อนผมไม่เก่งเรื่องสื่อสารกับผู้คน เดี๋ยวนี้ได้สื่อสารทุกวันเลย ผมเหมือนเจอโลกใหม่ ร้านกาแฟดริปทำให้ ‘สิ่งที่ชอบ’ กับ ‘สิ่งที่ต้องทำ’ เกิดขึ้นพร้อมกัน กาแฟกลายเป็นอาชีพที่หารายได้ ผมได้ทำงานที่รักทุกวัน แล้วผมเป็นคนถ่ายภาพ ตอนเริ่มร้านตั้งใจทำเป็นแกลเลอรีแสดงงานด้วย เมื่อก่อนก็มีนะ แต่ตอนนี้ไม่มี เร็วๆ นี้ร้านจะมีการรีโนเวต คงจะเอาส่วนแสดงภาพกลับมาอีกครั้ง”

 

หอศิลป์

หอศิลป์

ปนิธิตา เกียรติ์สุพิมล

ผู้จัดการร้าน Bookmoby

“ความแตกต่างระหว่างร้านหนังสือใหญ่ๆ กับร้านหนังสืออิสระคือ ร้านใหญ่ๆ มีหนังสือเยอะและหลากหลายประเภท เยอะจนบางครั้งเข้าไปแล้วงง แต่ด้วยพื้นที่จำกัด ร้านหนังสืออิสระต้องคัดสรรหนังสือ ทั้งตามใจเจ้าของร้าน คนดูแล และคนอ่าน แต่ละร้านก็มีบุคลิกแตกต่างกัน ซึ่งถือว่าเป็นเสน่ห์ ร้าน Bookmoby คัดสรรหนังสือเกี่ยวกับศิลปะ สังคม การเมือง และวรรณกรรม ทั้งวรรณกรรมคลาสสิกและร่วมสมัย ทั้งของต่างประเทศและของไทย แม้ว่าการซื้อหนังสือออนไลน์จะง่าย แต่คนอยากซื้อแบบออฟไลน์ก็ยังมี บางทีนึกไม่ออกว่าจะซื้อเล่มไหนแล้วอยากถามคนขาย หรือต้องการเดินเล่นเรื่อยๆ ในร้านจนกระทั่งเจอหนังสือที่เหมาะกับตัวเองในตอนนั้น

“การอยู่รอดของร้านหนังสืออิสระมีผลต่อสำนักพิมพ์ขนาดเล็กและขนาดกลาง เพราะเวลาส่งหนังสือไปร้านใหญ่ๆ ก็มักถูกเอาไปหลบมุม หรือคนฝันอยากเป็นนักเขียนแล้วพิมพ์งานด้วยตัวเองก็เข้าร้านหนังสือใหญ่ๆ ได้ยาก เพราะต้องผ่านระบบหลายๆ อย่าง เรามองว่างานของคนเล็กๆ เหล่านั้นช่วยจุดแรงบันดาลใจให้คนอื่น แน่นอนว่าในสังคมมีคนรุ่นใหม่ที่ความคิดนอกกรอบ มันคือการสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ว่าเขาไปทางนี้ได้ เช่น ถ้าคุณได้อ่านหนังสือของโอ๊ต มณเฑียร ซึ่งเป็นคนชอบวาดรูป ก็อาจกลับไปวาดบ้าง แล้วสำนักพิมพ์ขนาดเล็กและขนาดกลางมีมุมมองในการทำหนังสือแตกต่างกัน สุดท้ายมันคือการสร้างความหลากหลายให้กับคนอ่าน

“เรามองว่าหอศิลป์ ทำหน้าที่เหมือนเป็นห้องรับแขกของประเทศ นักท่องเที่ยวไปประเทศไหนก็อยากไปพิพิธภัณฑ์หรือแกลเลอรีของเมืองเพื่อสำรวจความสนใจของคนในประเทศนั้น ขณะเดียวกันก็เป็นห้องนั่งเล่นของเมืองด้วย พื้นที่สาธารณะในกรุงเทพฯ ไม่ได้เยอะ บางคนอยู่คอนโดที่พื้นที่จำกัด หอศิลป์อยู่ในตำแหน่งที่มาง่าย มี 4 ห้าง แต่เราไม่ได้อยากเข้าห้างทุกวันไง คุณสามารถใช้เวลาที่นี่ทั้งวันโดยไม่เสียเงิน เดินดูงานไปเรื่อยๆ หรือถ้าเสียเงินก็ไม่ได้แพง อย่างร้านหนังสือก็ใช้เงินไม่มาก หรือจะยืนอ่านในร้านก็ได้ แค่อย่าเสียงดังก็พอ ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เสียงดังหรอก

“เรามองว่างานเขียนเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง มันพึ่งพาอาศัยระหว่างตัวหอศิลป์กับร้านหนังสือ คนมาดูงานศิลปะเกิดความคิดสร้างสรรค์ หลังจากนั้นก็ต่อยอดไปประเด็นอื่นๆ อาจหาหนังสือสักเล่มอ่านต่อก็ได้ หรือเข้าร้าน Happening ที่ขายซีดีเพลงและงานแฮนด์เมด หรือเข้าร้าน IceDEA ที่ขายไอเดียผ่านไอศครีม มีรสแปลกใหม่อย่างรสขนมเปียกปูน ฯลฯ การได้เจอกับประสบการณ์หลายๆ อย่างก็อาจเชื่อมโยงให้เกิดความรู้สึกพิเศษขึ้นมาได้นะ”

 

นฤภร สรรพากิจวัฒนา

ผู้ก่อตั้งแบรนด์เครื่องประดับ MIGNONIE

“เราเรียนจบปริญญาตรีและโทด้านการตลาด ทำงานเป็นพนักงานออฟฟิศ โดยรู้อยู่ตลอดว่าตัวเองชอบงานออกแบบ แต่ไม่มีทักษะการวาดรูป ช่วงไปเรียนภาษาที่เมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา เราทำงานร้านอาหารไทยด้วย แต่ยังมีเวลาว่างพอสมควร ช่วงนั้นเลยไปดูงานศิลปะที่พิพิธภัณฑ์หลายแห่ง ดูแล้วก็อยากทำอะไรสักอย่าง ถ้าออกแบบเฟอร์นิเจอร์หรือทำกระเป๋า ตัวเองไม่มีทักษะมากพอ งั้นลองทำเครื่องประดับละกัน เลยซื้อลูกปัดกับลวดมาถักเป็นสร้อยยาวๆ เสนอให้ร้านขายของดีไซน์ที่มีชื่อเสียงของโตรอนโต เขาไม่เคยเห็นงานลวดแบบนี้ เลยยินดีรับไว้ขาย แต่ขอให้ปรับเรื่องปมเล็กน้อย เพราะมีจุดที่คม เราหาข้อมูลจากยูทูบว่าแก้ไขยังไง แล้วเอาไปส่งให้ขาย ตอนนั้นก็รู้สึกดีนะ

“พอกลับมาไทย เราอยากทำสิ่งนี้เป็นอาชีพ ช่วงนั้นมีงานปล่อยแสงของ TCDC เลยทำเครื่องประดับไปขาย คุณแม่เป็นช่างเย็บผ้า เครื่องประดับเลยใช้ผ้าเป็นส่วนประกอบ ทำไปหลายสิบชิ้น ปรากฏว่าขายเกือบหมด ดีใจมาก แต่พอจะทำเป็นอาชีพจริงๆ จังๆ พ่อแม่ไม่เห็นด้วย เรียนจบตรี จุฬาฯ โท ธรรมศาสตร์ แล้วเรียนภาษาอังกฤษจากต่างประเทศอีก ทำไมไม่ทำงานบริษัทใหญ่ๆ เงินเดือนเยอะๆ ชีวิตจะได้มั่นคง เรามีความสุขนะ แต่ไม่รู้ว่าจะยังไงต่อ ตอนนั้นหอศิลป์เพิ่งเปิดได้ไม่กี่เดือน พื้นที่ยังร้างเลย เขากำลังหาร้านเล็กๆ มาขายงานแฮนด์เมด เรามาติดต่อ เอาผลงานมานำเสนอ เลยได้มาขายตอนต้นปี 2008 ขายอยู่ตรงนี้ (ชั้น 3 ใกล้กับบันไดเลื่อน) มาตลอด

“ช่วงนั้นรู้สึกว่ามีพลังมาก ทำเอง ขายเอง วันหยุดก็ไปซื้อของ มีความสุขที่ได้เป็นเจ้าของกิจการเล็กๆ แต่ก็เหนื่อยพอสมควร พอขายได้แล้วเห็นเงิน พ่อแม่เลยอ่อนลง เราขายอยู่สองสามปี เริ่มจับทิศทางได้ วัสดุซื้อยังไง ชุบร้านไหน ถักอยู่มือมากขึ้น เริ่มเห็นว่าลูกค้าชอบแนวไหน และงานได้รับการยอมรับประมาณหนึ่งด้วย พอปี 2011 เราไปประกวดนักออกแบบกับกรมส่งเสริมการส่งออก ปรากฏว่าเข้ารอบ ภูมิใจในตัวเองนะ ไม่เคยเรียนออกแบบ ดรอว์อิ้งก็ไม่ได้ วาดหมาหมูเป็ดไก่เหมือนกันหมด แต่สามารถทำเครื่องประดับมาได้ถึงขนาดนี้  

“พอร้านไปได้ดี เราเลยอยากหาคนมาช่วย ตัวเองเป็นคนปฏิบัติธรรมอยู่แล้ว เลยให้ญาติที่อุดรฯ แนะนำคนที่ไว้ใจได้ มีศีลมีธรรม มีสัจจะ ถ้ารับปากว่าจะส่งของก็ได้ตามนั้น งานไม่มีปัญหา เขาก็แนะนำคนมาให้ หอศิลป์ปิดวันจันทร์ เย็นวันอาทิตย์เราขึ้นรถทัวร์ไปเลย ถึงที่นั่นเช้าวันจันทร์ ทำความรู้จักกัน โอเค ใช้ได้ ตอนเย็นนั่งรถทัวร์กลับมาขายของต่อ แล้วก็ไปแบบนั้นอีกหลายครั้ง สอนจนทำเป็น แล้วค่อยเริ่มทำงานจริง ผ่านไปสักระยะ เราไปพักผ่อนที่นครนายกแล้วถูกจริตกับพื้นที่ เลยให้หลวงพ่อที่วัดแถวนั้นช่วยแนะนำคน ท่านให้เบอร์นายกฯ อบต.ตำบลพรหมณี ก็นัดเจอกัน เขาเรียกรองนายกฯ เลขาฯ มาสัมภาษณ์เลยนะ เป็นใครจากไหน มาทำอะไร จ่ายจริงหรือเปล่า เหงื่อตกเล็กน้อย (หัวเราะ) พอกลับมาอีกที เขาเปิดห้องประชุมจุร้อยคน ชาวบ้านมาหกสิบกว่าคน ทุกวัยเลย ด้วยความที่งานละเอียด จากหกสิบก็ค่อยๆ ลดลง คัดไปคัดมาเหลือประมาณ 5 คน ทำๆ ไปก็เหลือแค่ 2 คน รวมกับที่อุดรฯ เลยมีคนทำงานทั้งหมด 4-5 คน

“เรามองว่าความชอบคือแรงผลักดัน หลังจากนั้นคือการลงมือทำ เราดูงานออกแบบเยอะ ค่อยๆ ซึมซับสิ่งเหล่านั้น พอลงมือทำด้วยตัวเอง ภาพในหัวก็เกิดขึ้น ช่วงที่ทำเองขายเอง เราภูมิใจที่เปลี่ยนจากงานออฟฟิศมาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวด้วยงานออกแบบ แล้วมีความสุขมากกว่านั้นอีกตอนได้สอนชาวบ้าน เคยมีคนที่ทำงานด้วยกันบอกว่า ‘ขอบคุณมากเลยคุณมน พี่มีที่นาไม่กี่ไร่ หน้าฝนก็ไปทำนา พอไม่ใช่หน้านาก็ต้องไปรับจ้างปลูกมัน ซึ่งรายได้ไม่มาก ลูกสาวเพิ่งเข้ามหาวิทยาลัย ค่าเช่าหอ ค่ากิน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเทอม จะไปหามาจากไหน พอมีงานของคุณมน พี่เอางานใส่ถุง ถือคู่กับกระติ๊บข้าวเหนียว พอถางหญ้าไถนาเสร็จ พี่มานอนถักที่เถียงนา ดูท้องฟ้า ลมพัดเบาๆ ได้เงินและมีความสุข ส่งจนลูกเรียนจบเลย’ ตอนเราได้ยินแบบนั้น มีกำลังใจมากเลยนะ”

 

ภัทรวดี เขมะภาตะพันธ์ และ ศิริรินทรัตน คลิ้งเคล้า

นักเรียนมัธยมปลายที่มาดูงานในหอศิลป์

-คนซ้าย-

“หนูมาหอศิลป์ทุกอาทิตย์ บางอาทิตย์มาทุกวันเลย เป็นคนชอบเดินในที่เงียบๆ ฟังเพลง ดูงาน อยู่กับตัวเอง ใช้ความคิด ด้วยบรรยากาศของหอศิลป์ทำให้ได้คิดอะไรมากขึ้น แล้วพื้นที่เป็นโทนสีขาว อยู่แล้วสบายใจ ด้วยนิสัยหนูเป็นคนทำอะไรต้องเพอร์เฟกต์ บางครั้งทำไม่ได้ตามนั้น กลายเป็นความเครียด การได้อยู่เงียบๆ นิ่งๆ ทำให้ตัวเองผ่อนคลาย ได้มองเรื่องไม่สบายใจในมุมใหม่”

-คนขวา-

“เคยดูนิทรรศการที่จัดแสดงกระเป๋านักเรียนญี่ปุ่น รอบเดียวกับงานที่ติดโพสต์อิท น่ารักดี เห็นความสร้างสรรค์ของเด็กที่สื่อออกมาผ่านงานศิลปะ กระเป๋าเหมือนเป็นลักษณะนิสัยของแต่ละคน อีกงานที่เคยดูเป็นหนังสั้น นานมากแล้ว จำเนื้อหาไม่ได้ แต่ความรู้สึกตอนดูยังติดในใจ ตัวเองไม่ใช่คนโลกกว้างมาก แต่หนังสั้นเรื่องนั้นเล่าชีวิตผู้คนที่แตกต่าง เป็นชีวิตที่ไม่รู้จักมาก่อน มันเปิดมุมมองให้กว้างขึ้น มาหอศิลป์แล้วสบายใจ ถึงคนจะเยอะ แต่รู้สึกปลอดโปร่ง พื้นที่มันกว้าง และไม่เสียงดังเหมือนที่อื่น ศิลปะจะยากหรือง่ายขึ้นอยู่กับงาน บางงานก็ง่าย บางงานก็งงๆ ถ้างงก็คิดลอยๆ ไป ไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร มันเป็นงานที่สื่อจากตัวศิลปิน อย่างน้อยดูงานแล้วรู้สึกว่าสวย แค่นี้ก็พอแล้ว

 

ไพวรรณ์ อรัญทม

แม่บ้าน

“ป้าเป็นคนศรีสะเกษ เรียนจบแค่ ป.3 ก็ออกมาทำนา แค่พออยู่พอกิน พออายุ 20 ก็อยากหาเงิน เริ่มจากทำงานบ้านแถวมหาชัย เงินเดือน 600 บาท ทำไปได้สักพักพี่สาวมาเยี่ยม ด้วยความเป็นเด็ก ก็คิดถึงบ้าน เลยลาออกกลับไปอยู่บ้าน แต่อยู่ได้เดือนเดียวก็มาทำงานอีก ครั้งนี้ทำงานโรงงานกระดาษไหว้เจ้าที่กรุงเทพฯ พี่สาวทำอยู่เลยชวนมา รับเป็นงานเหมาได้ 1,500-2,000 บาทต่อเดือน ทำอยู่หลายปีเลย แล้วเปลี่ยนมาทำงานบ้านและเลี้ยงเด็ก เงินเดือน 4,500 บาท ทำอยู่หลายปี งานบ้านไม่เหนื่อยมาก กินอยู่ด้วยกันเลย แต่ไม่อิสระเท่างานโรงงาน พอลูกบ้านนั้นโต ก็ลาออกมาทำงานอยู่ร้านอาหารตามสั่ง เงินเดือน 5,500 บาท อยู่ๆ ไปแล้วได้แฟน เขามากินข้าว เจอหน้ากันบ่อยๆ ไม่รู้ว่าใครจีบใครนะ (หัวเราะ) ทำที่นั่นหลายปี เหนื่อย เพราะเลิกงานดึก วันหนึ่งแม่บ้านหอศิลป์มากินข้าว เป็นคนอีสานด้วยกัน เลยชวนไปสมัคร

เวลาเปลี่ยนงานแต่ละครั้ง เราอยากได้เงินเยอะขึ้น อย่างหอศิลป์จะมีประกันสังคมด้วย เจ็บป่วยแล้วรักษาฟรี เราเป็นพนักงานของบริษัทที่ทำงานกับหอศิลป์แต่ก็เหมือนพนักงานหอศิลป์แหละ อยู่มา 7 ปีแล้ว ช่วงแรกๆ ได้วันละสองร้อยกว่าบาท ตอนนี้เพิ่มมาเป็นสามร้อยกว่าบาท ไม่ค่อยพอใช้หรอก เมื่อก่อนกับข้าวหาบมาขายถุงละ 10-15 บาท เดี๋ยวนี้กับข้าว 40-50 บาท น้ำพริก 20 บาท เมื่อก่อนข้าวเหนียว 5 บาทอิ่มแล้ว เดี๋ยวนี้ 10 บาทยังไม่ค่อยอิ่มเลย จ่ายค่าเช่าบ้านอีกสามพันบาท แฟนรับจ้างทั่วไปได้เดือนละหมื่นกว่าบาท เราได้แปดพันกว่า ถ้าเดือนไหนหยุดเยอะก็ไม่ถึงด้วย ทุกเดือนต้องส่งเงินให้ลูกที่ฝากพี่สาวเลี้ยงอยู่นครปฐม อายุ 6 ขวบแล้ว มามีลูกตอนแก่น่ะ (ยิ้ม) ช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ค่อยดีนะ แต่ละเดือนต้องพยายามประหยัด เดือนไหนใช้ไม่พอต้องเอาเงินเก็บมาใช้ ตัวเองอายุก็เยอะ ไม่อยากเปลี่ยนงานแล้วล่ะ ถ้าไม่ได้ทำที่นี่คงย้ายกลับไปอยู่บ้านนอก หรือถ้ายังไหวก็อาจหางานแม่บ้านแบบเดิม

“เมื่อก่อนตัวเองประจำชั้น 8 เวลามีงานศิลปะมาแสดงยังได้ดูบ้าง ตอนคนมาอธิบาย เราเดินเช็ดนั่นเช็ดนี่แล้วแอบฟังไปด้วย (ยิ้ม) บางครั้งคนใหญ่คนโตมาที่นี่ก็เอาไปเล่าให้ลูกฟัง ตอนนี้ย้ายมาประจำชั้น 4 ไม่ได้ดูงานชั้น 8 แล้ว เราต้องประจำจุดตัวเอง อาศัยดูงานติดผนังของชั้น 4 แต่เอาจริงๆ งานชั้น 8 ดีกว่านะ มีงานใหญ่ๆ มาแสดงเยอะ มีคนมาบรรยาย บางงานดูด้วยตัวเองแล้วไม่เห็นมีอะไร แต่พอได้ฟังบรรยาย พอกลับมาดูอีกรอบ ภาพต้นข้าว ภาพผ้าถุง วิทยุเก่าๆ เออ สวยอยู่ มันจริงอย่างที่เขาว่า งานศิลปะมีประโยชน์ทั้งนั้นเลย

 

“คิดว่าศิลปะคืออะไร”

 

“ไม่รู้ (หัวเราะ) ก็คือศิลปะไง”  

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พิชย์ สุนทโรสถ์

ช่างภาพหน้าหมี ผู้ชอบเพลงแจ๊สเป็นชีวิตจิตใจ