ประธาน ธีระธาดา : หัวเรือ art4d ที่อยากสร้างโลกดีๆ ด้วยเทคโนโลยี ดีไซน์ และคนเก่งหลายแวดวง

Highlights

  • art4d คือนิตยสารเรื่องงานสถาปัตยกรรม ดีไซน์ และศิลปะที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1995 โดยมี ประธาน ธีระธาดา เป็นบรรณาธิการบริหาร ในปี 2007 พวกเขาขยับขยายจัดเทศกาล Bangkok Design Festival หรือเทศกาลออกแบบบางกอกขึ้นเพื่อโชว์ผลงานและสร้างบทสนทนาเรื่องงานดีไซน์
  • ปีนี้ Bangkok Design Festival กลับมาอีกครั้งในชื่อใหม่ว่า DesignNation ในวันที่ 7-24 พฤศจิกายน 2562 โดยมีหัวใจเดิม เพิ่มเติมคือเนื้อหาสนุกๆ ที่คนทั่วไปเข้าถึงได้มากขึ้น
  • นอกจากนิตยสารและเทศกาลงานออกแบบ ประธานยังมีเป้าหมายจะเป็นองค์กร social enterprise ที่สร้างสิ่งดีๆ ให้โลกผ่านเทคโนโลยี งานดีไซน์ และการใช้ความรู้ข้ามศาสตร์ ที่เขามองว่าคือทิศทางที่งานออกแบบควรมุ่งไป

ย้อนกลับไปในปี 1995 นิตยสารดีไซน์หน้าตาโฉบเฉี่ยวชื่อ art4d ปรากฏตัวขึ้นบนแผงหนังสือเมืองไทย ด้านในเล่าเรื่องดีไซน์อย่างเข้าใจง่าย ตั้งแต่ฟากฝั่งโลกสถาปัตยกรรม ออกแบบตกแต่งภายใน กราฟิกดีไซน์ ไปจนถึงแวดวงโลกศิลปะโดยมีเบื้องหลังเป็นกลุ่มสถาปนิกและนักออกแบบ และมีชายชื่อ ประธาน ธีระธาดา นั่งตำแหน่งบรรณาธิการบริหารจนถึงปัจจุบัน

ปีนั้น ระบบปฏิบัติการวินโดว์สเพิ่งพัฒนาถึงรุ่น Windows 95 แมคอินทอชยังไม่เปิดตัว iMac และ Adobe CS เวอร์ชั่นแรกก็ยังไม่ถือกำเนิดด้วยซ้ำ

หลังจากเล่าเรื่องผ่านหน้ากระดาษมากว่า 10 ปี ในปี 2007 ประธานก็ริเริ่มโปรเจกต์ใหม่อย่าง Bangkok Design Festival หรือเทศกาลออกแบบบางกอก อีเวนต์ใหญ่ที่รวมงานดีไซน์หลายแขนงของไทยไว้ในที่เดียว และแม้จะขลุกขลักจากเหตุการณ์น้ำท่วมบ้าง หรือการชุมนุมบ้างจนต้องปรับขนาดงาน แต่เทศกาลนี้ก็เดินหน้าโชว์เคสงานดีไซน์ไทยอย่างต่อเนื่องมาได้ถึง 10 ปี

ประธาน ธีระธาดา

ปีนี้ Bangkok Design Festival กลับมาอีกครั้งในชื่อใหม่ว่า DesignNation ระหว่างวันที่ 7-24 พฤศจิกายน 2562 โดยมีหัวใจคือการโชว์ผลงานและสร้างบทสนทนาเรื่องงานดีไซน์ในสังคมเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือเนื้อหาสนุกๆ ที่คนทั่วไปเข้าถึงได้มากขึ้น เช่น ทอล์กที่เชื่อมงานดีไซน์เข้ากับการสร้างแบรนด์​ หรือตลาดนัด Design Market ที่ชวนเจ้าของแบรนด์ดีไซน์ทั้งเล็กใหญ่มาออกร้านกันอย่างคึกคัก

ผ่านมา 24 ปีนับจากวันก่อตั้ง art4d โลกงานดีไซน์หมุนมาไกลทั้งในเบื้องหน้าและเทคโนโลยีเบื้องหลัง เรามีโปรแกรมที่สามารถสร้างภาพเสมือนจริงแบบที่ตาแยกไม่ออก มี AI ที่สามารถดีไซน์ได้ดีไม่แพ้มนุษย์ และมีตัวจริงจากศาสตร์อื่น เช่น มีวิศวกรข้ามสายมาจับงานดีไซน์มากขึ้น

ความเปลี่ยนแปลงทำให้ DesignNation ตั้งใจเล่าเรื่องข้ามสาขา จากงานดีไซน์ เทคโนโลยี ไปจนถึงอาหารแนวทดลอง และเป็นเหตุผลที่ประธานตั้งเป้าหมายใหม่ให้ art4d คือไม่ใช่แค่การเป็นสื่อถ่ายทอดเรื่องราวดีๆ แต่ยังเป็นผู้ ‘สร้าง’ โปรเจกต์ดีๆ เพื่อโลกอีกด้วย

และการทำสิ่งดีๆ เช่นนี้นี่แหละ อาจเป็นสิ่งที่มนุษย์ยังทำได้ดีกว่า AI

ประธาน ธีระธาดา

ทั้งๆ ที่คนก็รู้จัก Bangkok Design Festival ดีอยู่แล้ว ทำไมคุณถึงเปลี่ยนชื่องานเป็น DesignNation

คนรู้จัก Bangkok Design Festival ก็จริง แต่คนจะคิดว่ามันเหมือน Bangkok Design Week ของ TCDC ที่ผ่านมาคนทั่วไปจะเรียกงาน Design Festival ทั่วโลกว่า Design Week เป็นชื่อเล่นอยู่แล้ว ผมแค่ขี้เกียจตอบคำถามเวลา TCDC จัดงานแล้วคนโทรมาถามรายละเอียดกับเรา ผมต้องคอยบอกว่าเราไม่ได้จัด ผมก็จะไปดูงานเนี่ย (หัวเราะ) หรือผมเดินๆ ในตลาดน้อยคนก็เดินมาบอกว่างานจัดดีมากเลย ผมก็อาย ต้องบอกว่าผมไม่ได้จัด เราเลยแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนชื่อซะเลย (หัวเราะ) 

Bangkok Design Festival จัดครั้งสุดท้ายในปี 2017 แล้วเว้นไปหนึ่งปี คุณได้ไอเดียจัดงาน DesignNation ตั้งแต่ตอนไหน

จริงๆ เราก็อยากจัดอยู่ตลอดเวลานะ เพียงแต่ว่าเราไม่ค่อยมั่นใจว่าเราพร้อมหรือเปล่า พอดีกับที่บริษัท Rightman มาชวนเราทำ e-Commerce ขึ้นมา เราก็คิดว่าน่าสนใจดีและอาจจะเป็นช่องทางทำธุรกิจอีกหนึ่งอย่าง เพราะว่าช่วงนี้ก็เป็นช่วงที่ธุรกิจสิ่งพิมพ์กำลังเจอ disruption แต่พอทำจริงๆ มันก็ยาก แพลตฟอร์มก็เลยไม่เสร็จสักที นำไปสู่ความคิดว่าเราน่าจะมีอีเวนต์ด้วย จะได้เปิดตัวแพลตฟอร์มออนไลน์ในงาน On ground ครั้งนี้ เราได้คุยกับทางสยามตั้งแต่ปีที่แล้ว พอเขารู้ว่าเราจะจัดงานเขาก็บอกว่าร่วมกันกับ Siam Synergy (สมาคมการค้าพลังสยาม) เลยดีกว่า  เราเลยจัดงานในพื้นที่ทั้งสยามเลย

e-Commerce ของ DesignNation จะต่างจากตลาดออนไลน์เจ้าอื่นๆ ยังไง

อันนี้เป็นโจทย์ที่ผมยังไม่มีคำตอบแน่ชัด แต่ที่แน่ๆ เรามี On ground ที่เราจะทำทุกเดือน หรือเดือนเว้นเดือน และในอนาคตเราจะชวนแบรนด์ต่างๆ มาทำสินค้า Limited Edition ให้เราโดยเฉพาะ เช่น Design Nation x PDM หรือ x PDM แล้ว x โรงงานด้วย คนอาจจะเรียกมันว่ามาร์เก็ตหรือตลาด แต่จริงๆ ผมเรียกว่ามันคือ selected shop​ ซึ่งเราจะเอาไปขายในแพลตฟอร์มอื่นๆ ด้วย

ประธาน ธีระธาดา

คุณเคยพูดว่า DesignNation ต่างจาก Bangkok Design Festival ตรงที่เน้นไลฟ์สไตล์มากขึ้น ช่วยอธิบายเพิ่มเติมหน่อยว่าทำไม

ความหมายของผมคือมันจะสื่อสารกับผู้บริโภคโดยตรงมากขึ้น Bangkok Design Festival เริ่มต้นจากการสื่อสารระหว่างดีไซเนอร์กับดีไซเนอร์ ทั้งดีไซเนอร์รุ่นใหม่กับดีไซเนอร์รุ่นเก่า ดีไซเนอร์จากต่างประเทศกับดีไซเนอร์ไทย แต่ปีนี้เราพยายามจะสื่อสารกับสาธารณะมากกว่าถึงบอกว่ามีความเป็นไลฟ์สไตล์มากขึ้น โดยเฉพาะ trade fair หรืองานออกร้านซึ่งเราให้ผู้บริโภคมาซื้อของเลย เพราะสิ่งที่เราอยากให้มีมากที่สุดก็คือภาพการค้าขายจริงมากกว่าโชว์งานอย่างเดียว

เรายังมีงานสัมมนาที่บริษัท Wazzadu ทำรูปแบบคล้ายๆ กับการหา business solution ที่มีดีไซน์เข้าไปเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นเรื่องแบรนดิ้งหรือสังคมผู้สูงอายุ เมื่อก่อนนี้เรามักจะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับภาคธุรกิจ จะให้ความสำคัญกับภาคดีไซเนอร์ ส่วนใหญ่ก็คุยกันเรื่องทฤษฎีออกแบบ ให้นักออกแบบมาคุยกันเหมือนล็อกตัวเองอยู่ในห้อง คนอื่นเข้ามาก็ฟังไม่รู้เรื่อง ซึ่งครั้งนี้จะเปิดกว้างขึ้น เอาเข้าจริงแค่เรื่องดีไซเนอร์ก็พูดกันไม่จบแล้วเพียงแต่ว่าถ้าเราต้องการทำงานกับภาครัฐหรือเอกชนที่ต้องการกลุ่มคนฟังที่แมสขึ้น ทำแบบเดิมเราก็อาจจะอยู่ลำบากก็เลยขยายตัว

เป็นเรื่องการอยู่รอดทางธุรกิจด้วย

ใช่ครับ เป็นเรื่องสำคัญของบริษัทที่กำลังพยายามลองหลายๆ ทาง

โลกของสิ่งพิมพ์ถูก disrupt ด้วยดิจิทัล แล้วแวดวงดีไซน์ถูก disrupt ด้วยอะไรบ้าง

ในปีนี้ผมเพิ่งรู้ว่ามีดีไซเนอร์พันธุ์ใหม่เกิดขึ้นมากมาย เช่น องค์กร Data Wow นี่โคตรเท่เลย เขาใช้ data analytics มาทำงานดีไซน์ แล้วพวกนี้เป็นวิศวกรทั้งนั้นเลย มี AI เป็นดีไซเนอร์ซึ่งดีไซน์ได้เท่ากับดีไซเนอร์เลย มีกลุ่มที่ทำเรื่อง healthcare โดยเฉพาะ เรียกเป็นภาพกว้างๆ ว่า interactive designer หรือ creative technologist ผมเกรงว่าต่อไปเขาจะทำงานแทนดีไซเนอร์ทั้งหมดได้ เพราะเขามี AI แล้ว AI สมัยนี้มันดีไซน์ได้ ทำทุกอย่างได้ (หัวเราะ) ปรินต์ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ เป็นตึกยังได้เลย แต่ขณะเดียวกันดีไซเนอร์ที่มีพื้นฐานด้านดีไซน์ก็มีความรู้เทคโนโลยีกันสูงมาก เริ่มทำภาพที่เหมือนจริงขึ้นได้เรื่อยๆ หรือเริ่มทำงานกับ internet of things ได้มากขึ้น ต่อไปก็คอนโทรลทุกอย่างจากโทรศัพท์ได้หมด

ประธาน ธีระธาดา

แต่คนก็มักจะพูดว่า AI ไม่สามารถสร้างสุนทรียะได้

ผมก็เคยคิดอย่างนั้น แต่หลังๆ ผมเริ่มแยกไม่ออก น้อยคนเริ่มไม่ค่อยสงสัยแล้วว่าหุ่นยนต์ทำอะไรได้เท่ามนุษย์หรือหลายครั้งก็ทำได้ดีกว่าเพราะมันเป็นเรื่องของข้อมูล มันจับข้อมูลงานดีไซน์ที่สวยๆ แล้วสร้างงานออกมาให้สวยกว่าแค่นั้นเอง แต่ผมก็ไม่อยากจะไว้ใจเทคโนโลยีมาก

ดีไซเนอร์ควรจะปรับตัวยังไงกับเทคโนโลยีเหล่านี้

ในความเป็นจริงดีไซเนอร์ก็เป็นอาชีพที่ต้องปรับตัวตลอดเวลาอยู่แล้ว ยังไงเด็กรุ่นใหม่ๆ ก็เกิดมาพร้อมเทคโนโลยี ใช้กันคล่องอยู่แล้ว ผมไม่ได้กังวลอะไร แค่อยากรู้ว่าบทบาทของพวกเขาในอนาคตจะเป็นยังไงต่อไป สำหรับตอนนี้ผมคิดว่าวิศวกรที่มีความสนใจเรื่องครีเอทีฟจะมีบทบาทมากขึ้น เผลอๆ อาจจะมาแย่งงานดีไซเนอร์เพียวๆ เพราะว่าดีไซเนอร์เพียวๆ จะต้องการความรู้ของวิศวกรด้วย

สมัยก่อนมนุษย์ไม่ได้แยกศาสตร์กันแบบนี้ อย่างเลโอนาร์โด ดา วินชี เป็นทั้งหมอ วิศวกร ศิลปิน สถาปนิก ต่อมาในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมคนก็เริ่มแบ่งงานกันทำ เราก็เลยแยกองค์ความรู้เป็นส่วนๆ บอกว่าไอ้นี่ศิลปะ ไอ้นี่วิทยาศาสตร์ ในความเป็นจริงมันควรอยู่ในคนคนเดียวกัน สมองซีกซ้ายซีกขวาควรอยู่ด้วยกัน เพียงแต่ว่าคุณจะให้น้ำหนักไปทางด้านไหน ตอนนี้ผมว่าโลกกำลังจะกลับมาเป็นรวมศาสตร์แบบเดิม

สกิลอะไรบ้างที่ดีไซเนอร์ควรเรียนรู้จากวิศวกร

มากกว่า skill set มันคือเรื่อง mindset ผมว่ามันต้องเปิดกว้าง ต้องไม่ปฏิเสธสิ่งที่เราไม่รู้ สิ่งที่เราไม่ชอบ ยิ่งเปิดกว้างก็ยิ่งได้เปรียบ เรียนรู้มันทุกเรื่อง เรื่องที่เป็นคราฟต์ เรื่องที่เป็นเทคโนโลยี เรื่องที่เป็นมนุษยศาสตร์ เรื่องที่เป็นปรัชญา พวกนี้มีความสำคัญหมด จริงๆ คนควรจะรู้จักทุกอย่าง ทุกด้านนะ ไม่งั้นจะแพ้ AI เพราะ AI มันรู้ทุกเรื่องจะสู้มันได้ยังไง มันเรียนทุกวัน (หัวเราะ)

คุณบอกว่าตอนนี้ art4d กำลังลองปรับตัวหลายๆ ทาง มีอะไรบ้าง

หลักๆ เรามี art4d ซึ่งเป็นสิ่งพิมพ์ โดยธรรมชาติเราก็รู้กันอยู่ว่าเป็นช่วงพระอาทิตย์ตกดิน เราก็ขยับตัวอยู่ช้าๆ ทำเป็นดิจิทัลบ้างแต่ว่าหัวใจมันเป็นสิ่งพิมพ์ มันไม่ได้คิดแบบดิจิทัล ผมคิดว่ามันไม่ได้เป็นความผิดอะไร เพียงแต่เวลาเราผันตัวมาอยู่ในโลกดิจิทัล เราต้องมาพร้อมแผนธุรกิจที่รองรับกับเม็ดเงินที่อยู่ในภาคดิจิทัล ซึ่งเป็นอีกวัฒนธรรมหนึ่ง ทุกคนก็พยายามแก้โจทย์นี้อยู่ แต่ผมคิดว่ายังไม่มีใครแก้ได้จริงๆ

สิ่งที่ผมทำตลอดชีวิตเป็นเรื่องของการทดลอง เวิร์กก็ไปต่อ ไม่เวิร์กก็เปลี่ยนใหม่ แผนใหญ่ซึ่งกำลังคุยกันอยู่ที่เล่าให้ฟังก็เป็นงานกึ่งทดลอง กึ่งธุรกิจ คือเราอยากจะทดลองทำตลาดดีไซน์เป็น e-Commerce และในอนาคต เรากับบริษัท Wazzadu จะร่วมกันทำ AI ที่มีประสิทธิภาพในการติดตามผู้บริโภคของเรา เพื่อการประสานระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ หรือธุรกิจกับผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพด้วย

แต่แผนใหญ่ของเราจริงๆ เราอยากจะเป็น social enterprise ที่มีส่วนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของสังคมซึ่งตอนนี้กำลังพัฒนาอยู่ เราพยายามจะทำองค์กรที่มันมีความหมายมากกว่าแค่เป็นธุรกิจหรือเป็นแพสชั่นของคนทำงานดีไซน์โดยใช้บุคลากรหรือเครือข่ายที่เรามีมาร่วมทำกับภาคอื่นๆ เบ็ดเสร็จรวมกันมันน่าจะเป็นกลุ่มบริษัทหนึ่ง ซึ่งเราชวนอาจารย์ป้อม (ปวิตร มหาสารินันทน์ อดีตผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร) มาเพื่อเป้าหมายนี้โดยเฉพาะ 

คุณชวนอาจารย์ป้อมมาทำอะไร

ผมเรียกแกว่าเป็น Avenger คือมาเพื่อรวมคนจากหลายๆ ศาสตร์ไว้ด้วยกัน เพราะในอนาคตเราไม่สามารถจะอยู่แบบแยกศาสตร์ได้ คือเราไม่สามารถจะอยู่ด้วยศาสตร์หรือองค์ความรู้ใดองค์ความรู้หนึ่งเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นดีไซน์หรือศิลปะอย่างเดียว แต่เราต้องมีความรู้อื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะในโลกสมัยใหม่มันต้องมีเทคโนโลยี มีวิทยาศาสตร์

ตอนนี้ประเด็นที่อาจารย์ป้อมสนใจมากที่สุดเป็นเรื่องการบริหารขยะ เราก็ตั้งขึ้นมาเป็นโจทย์ให้ดีไซเนอร์หรือนักคิด นักสร้างสรรค์ เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการขยะของเมือง แม้กระทั่งเรื่องพลาสติก เรื่องของส่ิงแวดล้อมต่างๆ ผมคิดว่ามิสชั่นของเราน่าจะมากกว่าการประสบความสำเร็จทางธุรกิจหรือแค่ความอยู่รอด แต่เป็นแพสชั่นว่าเราอยากให้เมืองนี้ ประเทศนี้ หรือกระทั่งโลกนี้มีสุขภาพที่ดีขึ้นทั้งทางกายภาพและทางด้านจิตใจ

อะไรทำให้คนทำสื่ออย่างคุณลุกขึ้นมาทำโปรเจกต์ด้วยตัวเอง ไม่ใช่แค่ถ่ายทอดเรื่องราวของคนอื่น

ผมว่ามันมีคนอยากทำสิ่งดีๆ ให้กับโลกอยู่มาก ลองไปถามคนที่เดินตามถนน ขึ้นรถไฟฟ้า ต้องมีคนอยากทำ แต่จะทำที่ไหน ทำยังไง ผมโชคดีที่เป็นสื่อทำให้มีโอกาสเจอคนที่น่าสนใจมากๆ เต็มไปหมดเลย ได้รู้จักคนใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ไปฟังทอล์กก็เห็นคนมีพลังเต็มไปหมดเลย เราแค่รวบรวมพวกเขามาทำอะไรด้วยกัน

คือไม่ใช่แค่อยู่รอดแต่ต้องสร้างอะไรด้วย

ใช่ ที่ผ่านมาเราคุยกันเยอะ มีสัมมนาเรื่องปัญหาต่างๆ เหมือนมาบ่นกันแล้วก็จบกันไป แต่ผมคิดว่าเราน่าจะจริงจังกว่านั้น คือคุย รีเสิร์ช แล้วหาทางทำให้เกิดขึ้นจริงให้ได้ ลำพังเราซึ่งเป็นเน็ตเวิร์กของนักสร้างสรรค์มันไม่พอต้องมีนักคิดเข้ามาช่วย สุดท้ายผลมันก็จะออกมาเป็นคอนเทนต์ใน DesignNation ปีต่อๆ ไป ตอนนี้เราคุยกันว่าเราอยากจะทำ DesignNation ที่เป็นดีไซน์บวกเทคโนโลยี อาจจะมีชื่อใหม่เป็น Science Art Biannale แบบที่ประเทศฝรั่งเศสมี

โดยปรัชญาของมัน ถ้าเราสามารถเริ่มต้นคิดอะไรด้วยกัน เช่น เรื่องขยะ แล้วสามารถขยับมันต่อไปในระดับที่สามารถพัฒนาไปสู่แผนที่ปฏิบัติได้จริงได้จะดีที่สุดเลย ซึ่งผมพยายามทำให้มันเป็นอย่างนั้น หรืออย่างในงานสัมมนาต่างๆ ใน DesignNation ถ้ามีไอเดียหรือข้อคิดเห็นอะไรร่วมกันที่คิดว่ามันดีเราก็อยากนำมันไปต่อยอด

ไม่ได้จบแค่ใน DesignNation เท่านั้น

มันควรจะเป็นแค่จุดเริ่มต้นในการต่อยอดไอเดีย และผมเชื่อว่าคนที่ไปฟังเขาต่อยอดของเขาเองอยู่แล้ว

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย

วริทธิ์ โพธิ์มา

รักหมูกรอบ และข้าวมันไก่