ไปเที่ยว Bangkok Design Week หรือยังครับ?
ช่วงอาทิตย์กว่าๆ ที่ผ่านมา หลายหน่วยงานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ นำโดยศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ TCDC จัดงาน Bangkok Design Week ที่ไม่ได้อยู่แค่ในตึกไปรษณีย์กลาง แต่กระจายตัวไปตามตรอก ซอย ร้านเล็กๆ พื้นที่สาธารณะ ทำให้คนเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ว่าการออกแบบไปอยู่ในย่านชุมชนและใกล้ชิดผู้คนได้มากแค่ไหน
แต่เป้าหมายของการจัดดีไซน์วีค ไม่ใช่การจัดอีเวนต์ให้คนไปเที่ยว แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการพากรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองออกแบบโลก
อย่าเพิ่งรีบเบือนหน้าหนี แม้ว่ากรุงเทพฯ จะถูกโปรโมตให้เป็นเมืองแห่งอะไรสักอย่างมาหลายครั้ง แต่ TCDC ตั้งเป้าว่าต้องการทำให้คนมีชีวิตที่ดีขึ้นโดยใช้การออกแบบเป็นอาวุธสำคัญ การจะทำอย่างนั้นได้ก็ต้องโชว์ให้เห็นว่าคนในเมืองนี้มีศักยภาพแค่ไหน มีสตูดิโอออกแบบเก่งๆ มากแค่ไหน เราจึงได้เห็นสตูดิโอตั้งแต่เล็ก กลาง ใหญ่ ออกมาร่วมงานนี้เยอะมาก มีกิจกรรมแน่นเอี้ยดทุกวัน
เราชวน กิตติรัตน์ ปิติพานิช รักษาการผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ มาเล่าเรื่องดีไซน์วีค เพราะอยากให้คนรู้ว่าภารกิจของดีไซน์วีคยิ่งใหญ่กว่าที่คิด และเป้าหมายสุดท้ายของงานนี้นั้นล้วนเกี่ยวข้องกับคนเมืองทุกคน
เป้าหมายของการจัดงาน Bangkok Design Week คืออะไร
เป้าหมายเรามีหลายส่วน เป้าแรกคือแสดงศักยภาพทางด้านความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบของกรุงเทพฯ ออกมาให้คนเห็น หลายครั้งคนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ก็ยุ่งกับการทำงานของตัวเอง ไม่ได้มีโอกาสออกมาแบ่งปัน คนที่อยู่อุตสาหกรรมอื่นก็ไม่เห็นว่าคนกลุ่มนี้ทำอะไรอยู่
เรื่องนี้สำคัญมากเพราะรัฐเองพูดถึงการเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการ การสร้างเศรษฐกิจให้ GDP เติบโตยิ่งขึ้น หนึ่งในเรื่องไทยแลนด์ 4.0 ก็มีเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วย หัวใจของมันไม่ใช่แค่คนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สร้างงานและสร้างมูลค่าของตัวเอง แต่เขาต้องไปทำงานร่วมกับคนในอุตสาหกรรมอื่นเพื่อไปเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมนั้นๆ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์มีคาแรกเตอร์ที่เฉพาะอย่างหนึ่งคือตัวมันเองมีมูลค่า แต่เมื่อไหร่ที่ได้ไป cross over กับธุรกิจอื่น มันยิ่งเพิ่มมูลค่าให้กับคนอื่นด้วย อุตสาหกรรมสร้างสรรค์จึงเป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจซึ่งทำงานทางแนวราบร่วมกับอีกหลายๆ เครื่องจักรทางเศรษฐกิจของประเทศ
Design Week จำเป็นต้องคลี่เอามาให้คนเห็นว่าในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และออกแบบ เขาทำอะไรกันอยู่ งานนี้เราไม่ได้โชว์แต่งานออกแบบ โชว์อีกหลายงานซึ่งมีการครอสโอเวอร์ เช่น เรามีงานซึ่งทำกับกลุ่มผู้สูงอายุ จัดนิทรรศการชื่อ Dear Elders พูดว่าอีก 20 ปีข้างหน้าเมื่อเราแก่ไปแล้ว เราอยากมีอะไรให้กับผู้สูงอายุบ้าง นิทรรศการ Active Play ที่ทำร่วมกับ สสส. ดูว่าเด็กที่ติดเกม อยู่แต่ในบ้าน ดูแต่ทีวี ไม่ออกกำลังกาย จะทำอย่างไรและพื้นที่สาธารณะควรเป็นอย่างไรถึงจะดึงน้องๆ เหล่านี้ออกมาข้างนอกได้ รวมไปถึงนิทรรศการที่รวมความคิดภาคการศึกษาว่าถ้าคุณจะสร้างย่านสร้างสรรค์ มันมีความเป็นไปได้กี่ทาง
เราไม่ได้เป็นเจ้าของ Bangkok Design Week เจ้าของคือคนกรุงเทพฯ และงานของกลุ่มสร้างสรรค์ที่อยู่ในกรุงเทพฯ เรามีกิจกรรมที่เรียกว่า open house ปกติออฟฟิศหรือสตูดิโอที่ทำงานสร้างสรรค์ส่วนมากไม่มีเวลามาทำอะไรกับคนอื่น เราเชื่อว่าองค์ความรู้ที่เอามาใช้จริงได้ทุกวันนี้ส่วนใหญ่อยู่ในที่ทำงาน ไม่ได้อยู่กับสถานศึกษา ช่วงดีไซน์วีคเราไปเคาะประตูบ้านเขา ให้เขาเปิดประตูบ้านแล้วก็แชร์ความรู้หรือ know how ในการทำงานกับผู้คนในรูปแบบของการสัมมนา นิทรรศการ เวิร์กช็อป เป้าหมายทั้งหมดคือการแสดงศักยภาพ
ถ้าเราเห็นแล้วว่าเมืองมีศักยภาพด้านความคิดสร้างสรรค์ แล้วมันเอาไปต่อยอดทำอะไรได้บ้าง
เราจะเอาหลักฐานที่ค้นพบความแข็งแกร่งทางด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของกรุงเทพฯ ไปผลักดันให้เป็นเมืองออกแบบโลกหรือ World Design Capital ในปี 2022 ซึ่งก็คืออีก 4 ปีข้างหน้า
ดีไซน์วีคเป็นเหมือนการทดสอบอะไรบางอย่างว่ากรุงเทพฯ มีความพร้อมขนาดไหนในการที่จะขึ้นมาเป็นเมืองออกแบบโลกได้ เมืองออกแบบโลกเป็นเหมือนโอลิมปิกทางด้านการออกแบบ ทุกๆ 2 ปีก็จะมีองค์กรชื่อ World Design Organization หรือสมาคมออกแบบโลกมาประชุมแล้วคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมที่จะเข้าไป biding ออกมาเป็นเมืองออกแบบโลก เราหวังว่าจะได้เป็นเจ้าภาพจัดงานนั้น แต่ไม่ใช่แค่จัดงานให้เสร็จแล้วจบไป คนจะได้เป็นเจ้าภาพต้องพิสูจน์ได้ว่าเมืองเมืองนั้นเอาความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบมาพัฒนาคุณภาพชีวิตคนได้จริงๆ นี่ก็เป็นตัวอย่างเหตุผลของการจะได้รับเลือก
ถึงแม้เราจะใช้คำว่า ออกแบบ แต่ตั้งแต่เริ่มสัมภาษณ์มาผมไม่ได้พูดคำว่าสวยงามเลย ถึงจุดนี้การออกแบบมันได้พัฒนาตัวเอง เปลี่ยนรูปแบบไปเป็นการพัฒนาสิ่งซึ่งจับต้องไม่ได้มากขึ้นเรื่อยๆ เป้าหมายสูงสุดของเราคือพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน
ก่อนหน้านี้ TCDC จัดงาน Design Week ที่เชียงใหม่หลายครั้ง คุณได้เอาประสบการณ์หรือบทเรียนอะไรมาปรับใช้กับงานครั้งนี้บ้าง
เราจัดมา 3 ครั้ง มันจะมีองค์ประกอบหลายๆ อย่างที่คล้ายกับดีไซน์วีคที่ต่างประเทศ คือมีนิทรรศการ เสวนา โชว์เคส เวิร์กช็อป แต่ว่าเราจะต้องค้นหาให้ได้ว่าอะไรเป็นประเด็นของเมืองนี้ ที่เชียงใหม่มีกลุ่มสร้างสรรค์หลายกลุ่ม กลุ่มใหญ่ๆ ทำงานด้านหัตถกรรม เอาของพื้นบ้านมาตีความใหม่ ใช้เทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ ที่เชียงใหม่ตัวงานจะมีรูปแบบลักษณะนั้น
เรามาค้นหาเหมือนกันว่าอะไรคือรูปแบบของกรุงเทพฯ ธีมปีนี้เราพูดถึง The NEW-est Vibes หรือการออกแบบไปข้างหน้า ซึ่งมองได้ 2 มุม คือเรามองว่าสิ่งที่นักสร้างสรรค์กรุงเทพฯ กำลังทำอยู่ คือการวิ่งไปข้างหน้าจริงๆ หลายคนออกไปสร้างชุมชนใหม่ สร้างกลุ่มลูกค้าใหม่ ไม่ได้ยึดโยงกับกลุ่มลูกค้าเก่ามากนัก เราคิดว่ากรุงเทพฯ คือตัวอย่างที่ดีของการวิ่งไปข้างหน้า
ที่น่าสนใจคือไม่ได้มีแค่คนไทยหรือคนกรุงเทพฯ เท่านั้นที่อยู่ในกลุ่มนี้ เราเริ่มเห็นคนต่างชาติซึ่งเป็น expat ที่อยู่ในกรุงเทพฯ เริ่มดึงคนที่เป็นครีเอทีฟ ถ้าเป็นศัพท์ของ Richard Florida (นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน) จะเรียกว่ากลุ่ม Creative Class กลุ่มสร้างสรรค์นี้เริ่มไหลจากต่างประเทศเข้ามาพำนักในกรุงเทพฯ และอีกหลายๆ เมือง บางครั้งก็เข้ามาทำงานร่วมกับคนในพื้นที่ ไม่ก็สร้างงานขึ้นมาเป็นของตัวเองเลย ประเภทงานที่เยอะที่สุดน่าจะเป็นกลุ่มของอาหาร
กลุ่มของธุรกิจสร้างสรรค์มีความหลากหลายมาก การสรุปแนวทางเดียวในกรุงเทพฯ นั้นลำบาก เพราะกรุงเทพฯ มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความคิดสูงมาก ถ้าเราบอกว่าอยากให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งการโฆษณาหรือเมืองแห่งอะไรสักอย่างที่เฉพาะเจาะจง จะมีคนออกมาค้านเยอะ การคิดธีมงานเราจะทำให้หลายคนสามารถมีส่วนร่วมได้ ดึงคนที่หลากหลายเข้ามามีส่วนร่วมได้ไม่ยากนัก
ที่ผ่านมา TCDC ทำงานเกี่ยวกับย่านเยอะ โดยเฉพาะย่านเจริญกรุง สิ่งนี้มีผลกับวิธีคิดในการออกแบบ Design Week อย่างไร
มีผลมากครับ งานดีไซน์วีคไม่ได้เป็นงานที่อยู่ใน exhibition hall อาคารเดียวจบ เน้นความสะดวกสบายกับผู้ที่เข้ามาชม งานของเราไม่สะดวกสบายเลย คนที่มาต้องเข้ามา engage ต้องเข้ามาเหนื่อย เดิน ค้นหา แต่ผมคิดว่ามันเป็นหนทางเดียวที่ทำให้เราเห็นเมืองจริงๆ แล้วสามารถหยิบจับอะไรบางอย่างไปสร้างแรงบันดาลใจทำให้เกิดสิ่งใหม่ได้
ถ้าดูชีวิตคนกรุงเทพฯ ทุกวันนี้ ช่วงเสาร์-อาทิตย์เขาไม่ควรต้องไปได้แค่ห้าง การไปห้างไม่ผิด แต่เราอยากให้ผู้คนเริ่มไหลกลับเข้ามาสู่เมือง กลับเข้ามาสู่ตรอกซอกซอย ได้เห็นชีวิต เห็นสิ่งที่มันเป็นความจริงที่เป็น raw material ให้หยิบจับไปสร้างสรรค์ต่อไปได้ ในโปรแกรมของ Design Capital สิ่งซึ่งเราจะนำเสนอออกไปก็ต้องไม่ใช่เป็นเมืองหลวงของการออกแบบที่เหมือนกับเมืองอื่น แต่ได้แรงบันดาลใจมาจากตัวเราเองจริงๆ เราจึงจำเป็นต้องไปทำงานในพื้นที่หน่วยย่อย ดีไซน์วีคจึงกระจัดกระจายอยู่ในเมือง เนื่องจากว่าเรามีศูนย์กลางที่เจริญกรุงตรงตึกไปรษณีย์กลาง อาจจะเริ่มโฟกัสตรงพื้นที่นี้แล้วก็ขยายไล่ไปตลอดจนถึงย่านเยาวราช นานา พระโขนง
ปกติ TCDC ชอบทำงานกับนักออกแบบกลุ่มเล็กๆ เยอะ เขาคิดอย่างไรกับเราและงาน Design Week บ้าง
เราค่อนข้างมีอิมเมจที่เป็นมิตรกับทุกคน (หัวเราะ) เราเป็นหน่วยงานรัฐที่ไม่ได้เข้าไปจุ้นจ้านกับชีวิตคนมากนัก ไม่ได้ไปชี้แนะหรือทำในสิ่งซึ่งค้านกับสิ่งที่เขาทำอยู่จนสุดขั้ว เราพยายามจะเข้าใจ หลังๆ เราใช้คำว่า ‘ส่งเสริมการคิดเชิงออกแบบ’ หรือ ‘การคิดเชิงสร้างสรรค์’ มากขึ้น เพราะเราเชื่อว่าความคิดเป็นเทคโนโลยีประเภทหนึ่งเหมือนกัน เวลาคิดถึงเทคโนโลยีเราอาจนึกถึงวิทยาศาสตร์ เคมี ชีวะ แต่จริงๆ วิธีการคิดก็เป็นเทคโนโลยีประเภทหนึ่งซึ่งมันไม่ได้รับการพัฒนามากนักในไทย เราเรียนหนังสือในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ส่วนมากเราเรียนเนื้อหา แต่ไม่ใช่ทุกครั้งที่ครูหรืออาจารย์จะมาสอนว่าคุณต้องคิดด้วยระบบเป็นขั้นตอนเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีขึ้น
หลายปีที่ผ่านมา TCDC ใช้เรื่องของ design thinking และ service design มาสร้างธีม สร้างโปรแกรมใหม่ๆ ขั้นตอนเหล่านี้ศูนย์กลางของมันคือมนุษย์ เรียกง่ายๆ เป็นภาษาอังกฤษคือ user center approach ก็คือการที่เราจะทำอะไรก็ตามต้องเข้าใจผู้ใช้ เขาคือใคร ต้องการอะไร สิ่งเหล่านี้เป็น value perception ที่เราจะต้องเข้าไปค้นหา เราคิดเรื่องนี้ในการทำงานของ TCDC ช่วงปีหลังๆ รวมถึงในงานดีไซน์วีคด้วย
ถ้ากรุงเทพฯ ได้เป็นเมืองออกแบบโลกจริงๆ มันจะทำให้เมืองดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง
เมืองออกแบบโลกต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ามีความพร้อมที่จะใช้ความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนเมืองนั้นได้ ไม่ได้เป็น event base คือไม่ได้จัดกิจกรรมที่มาแล้วก็หายไป แต่มันควรเป็นกิจกรรมที่ทิ้งอะไรบางอย่างให้เมือง
ในเอเชียจะมีอยู่ 2 เมืองที่ได้รับเลือกมาก่อนหน้านี้ คือโซลในปี 2010 โซลจัดงานดีไซน์วีคตลอด 2 ปี จัด 200 – 300 กิจกรรมต่อปี ปลายทางเขาทิ้ง infrastructure ทางปัญญาไว้กับเมือง ทำให้เกิดพิพิธภัณฑ์ขึ้นมา 3 แห่ง ด้านงานศิลปะ การออกแบบ และการแสดง ซึ่งเมืองก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าหลังจากที่กิจกรรมจบไปแล้ว สาธารณูปโภค 3 แห่งนี้จะรันต่อไปได้ยังไงด้วย
ปีที่แล้วเมืองไทเปของไต้หวันได้รับเลือก เขาไปแปลงโรงงานยาสูบให้กลายเป็นพื้นที่ที่จะผลิตนักสร้างสรรค์ ผลิตนวัตกรรม เป็นพื้นที่เรียนรู้การทำงานร่วมกัน อยู่กลางเมืองไทเปเลย พอจบงานตัวเทศบาลก็มาจัดการพื้นที่และรันต่อ ให้กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และเมกเกอร์มาใช้พื้นที่ในการแสดงความสามารถ เป็นโชว์เคสของตัวเองในการทำงานต่อเนื่องถึงทุกวันนี้
เมืองสร้างสรรค์ที่โลกกำลังมองหาอยู่คือเมืองที่ช่วยแก้ปัญหา มองเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนเป็นเรื่องใหญ่ ส่วนเรื่องของความสวยงามที่เราไม่พูดถึงไม่ได้แปลว่าไม่สำคัญ แต่มันเหมือนการขับรถ ทุกวันนี้เราซื้อรถ เราเคยถามมั้ยว่ารถคันนี้ปลอดภัยหรือเปล่า มันต้องปลอดภัยไงเราถึงไม่ถาม เช่นเดียวกันกับที่เราพูดถึงการสร้างสรรค์ การออกแบบ สุนทรียภาพของรูป รส กลิ่น เสียง ก็ต้องดี แต่เหนือไปกว่านั้นคือมันตอบโจทย์อะไร แก้ปัญหาอะไร มันทำให้คุณภาพชีวิตคนดีขึ้นมาได้จริงหรือเปล่า มันสร้าง value ได้จริงมั้ย นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่า
ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์