Illustration in The Digital Age วาดภาพประกอบอย่างไรให้อยู่รอดในยุคดิจิทัล

ในยุคที่คอนเทนต์ย้ายจากหน้ากระดาษไปสู่โลกออนไลน์มากยิ่งขึ้น แล้วนักวาดภาพประกอบจะปรับตัวยังไงให้อยู่รอด

ก่อนจะตอบคำถามนั้น เราอยากชวนให้ย้อนกลับมาใคร่ครวญถึงประโยคคำถามข้างต้นก่อนว่า จริงหรือเปล่าที่งานวาดภาพประกอบค่อยๆ เฟดหายตามจำนวนสิ่งพิมพ์ เพราะในปัจจุบันมีนักวาดภาพประกอบหน้าใหม่ๆ ผุดขึ้นมามากมาย มีนักวาดฝีมือดีในวงการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และไม่ว่าคอนเทนต์จะอยู่บนออนไลน์หรือแพลตฟอร์มใด งานวาดภาพประกอบก็ยังคงเป็นงานอีกแขนงที่สำคัญเสมอ

เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปีนิตยสาร a day และส่วนหนึ่งใน a day 20th Anniversary Collaboration Project 28 กันยายนที่ผ่านมา a day จึงจับมือกับ ThaiGa เพื่อจัดทอล์กเกี่ยวกับงานวาดภาพประกอบในโลกสมัยใหม่ ให้ผู้สนใจได้มาฟังกลเม็ดเคล็ดลับจาก 3 อิลลัสเตรเตอร์มืออาชีพ ซึ่งโดดเด่นในแนวทางของตัวเอง เริ่มตั้งแต่ ‘เหนือ–จักรกฤษณ์ อนันตกุล’ อิลลัสเตรเตอร์เจ้าของตำแหน่ง Designer of the Year 2019 สาขา Illustration Design ผู้เคยร่วมงานกับแบรนด์ดังทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกูเกิล, เฟซบุ๊ก, KFC, Uniqlo, Freitag หรือกระทั่งวงดนตรีอย่าง POLYCAT

คนต่อมาคือ ‘จั๊ก–น้ำใส ศุภวงศ์’ กราฟิกดีไซเนอร์ที่นอกจากจะฝากฝีมือทำภาพประกอบให้กับสื่อหลายหัวทั้ง a day และ The MATTER แล้ว เธอยังเป็นมือหนึ่งในเรื่องข้อมูล ด้วยเก่งกาจในด้านการจัดการเนื้อหา ออกแบบอินโฟกราฟิกและภาพที่สื่อสารเนื้อหาในบทความออกมาได้อย่างเฉียบขาด และคนสุดท้าย ‘ซัน–อภิชาต ธีรวิทยานิพนธ์’ เจ้าของสติกเกอร์ไลน์ลายเส้นสุดกวนอย่าง ‘ดึ๊บ ดึ๊บ’ ที่สร้างเสียงหัวเราะให้ทั้งผู้ใช้และผู้ได้รับ แถมการันตีความตลกด้วยรางวัลสติกเกอร์สายฮา

ทั้ง 3 ได้มาแชร์ประสบการณ์การทำงานให้กับแบรนด์เล็กใหญ่ทั้งไทยและเทศ วิธีการทำภาพให้สวยและสื่อสาร รวมทั้งเคล็ดลับการทำงานให้อยู่รอดในยุคดิจิทัลกันอย่างสนุกสนาน

ใครพลาดไปคงน่าเสียดาย a day จึงเก็บเคล็ดลับบางส่วนจากวิทยากรทั้ง 3 คนมาฝากกัน

 

เหนือ–จักรกฤษณ์ อนันตกุล

  • ถ้ารักในสายนี้จริงๆ การค้นหาสไตล์ของตัวเองสำคัญมาก เหนือเคยเป็นนักวาดภาพประกอบอยู่ช่วงหนึ่ง และหยุดไป 7 ปีเพราะหาสไตล์ตัวเองไม่เจอ ก่อนจะกลับเข้าสู่วงการอีกครั้งเมื่อสไตล์นิ่งแล้ว
  • มองงานให้สนุก ถ้ามีประโยชน์กับคนอื่นยิ่งดี อย่าเพิ่งคิดว่าความคิดเล่นๆ นั้นไม่สำคัญ มีครั้งหนึ่ง เหนือเคยเข้าไปเล่าเรื่องให้เด็กในสถานพินิจฟังเล่นๆ ด้วยรูปวาด นั่นทำให้เขาได้ฝึกออกแบบคาแร็กเตอร์ในลายเส้นตัวเอง และเจอสไตล์ของตัวเองในที่สุด
  • เปิดโอกาสให้ตัวเองอยู่เสมอ เหนือนำงานไปลงในเว็บไซต์ bahance.net เว็บไซต์สำหรับฟรีแลนซ์สายอิลลัสเตรเตอร์ที่ได้รับความนิยม การเผยแพร่งานทำให้เขาเจอกับผู้ว่าจ้างหลายคน
  • งานที่ยิ่งใหญ่เริ่มจากจุดเล็กๆ ที่เราสร้างโอกาสให้ตัวเอง เหนือจะไม่มีทางถูกจ้างโดยกูเกิลหรือเฟซบุ๊กได้เลย ถ้าเขาไม่ได้เริ่มต้นทำงานเล็กๆ หรืองานที่มีการแก้หลายครั้ง
  • เพราะเมื่อเวลาผ่านไป บริษัทจะเลือกเราเพราะสไตล์ของเราเอง จะไม่ค่อยมีงานแก้เพราะอาร์ตไดเรกเตอร์ของบริษัทนั้นเลือกเรามากับมือ

  • นักวาดภาพประกอบที่ดีต้องนำเสนอให้เป็นนะ พรีเซนต์ให้ลูกค้าเข้าใจว่าเขาใช้ภาพที่เราวาดไปทำอะไรได้บ้าง
  • อย่าคิดว่าภาพประกอบจะต้องผูกติดกับสื่อสิ่งพิมพ์เท่านั้น คาแร็กเตอร์สามารถแปรเป็นสินทรัพย์ได้ เช่น ไปอยู่บนผนัง ทำเป็นมาสคอต ไปอยู่บนถุงผ้า
  • หนึ่งในวิธีการทำงานที่เหนือแนะนำ คือก่อนเริ่มงานออกแบบอะไรสักอย่างให้ย่อยข้อมูลทั้งหมดแล้วสรุปมาหนึ่งประโยค ได้คีย์เวิร์ดอะไรแล้วค่อยวาดเพื่อสื่อสาร
  • การค้นหาตัวเองนั้นสำคัญ อยากให้นักวาดภาพประกอบทุกคนค้นหาสไตล์ของตัวเอง เมื่อเจอแล้วให้ยึดมั่น อย่าเพิ่งไปยึดติดกับยอดไลก์หรือฟีดแบ็กมาก
  • คนไม่ชอบไม่เป็นไร แต่เราได้เรียนรู้อะไร นั่นคือสิ่งที่สำคัญ
  • แบ่งเวลาอย่างไร เหนือบอกว่าการแบ่งเวลาทำงานที่ดีที่สุดคือการทำงานออนไลน์โดยไม่ต้องออนไลน์ (หมายถึงจำกัดเวลาเล่นโซเชียลให้ตัวเองแค่ตอนโปรโมตงาน และเวลานอกจากนั้นเอาไปทำงานดีกว่านะ)

 

จั๊ก–น้ำใส ศุภวงศ์

  • การทำภาพประกอบสำหรับคอนเทนต์ที่ลงในสื่อใดๆ ก็ตามควรคำนึงถึงการสื่อสารว่าตรงกับเนื้อหาที่คนเขียนได้เขียนไว้ไหม
  • การสร้างภาพที่จะสื่อสาร เริ่มจากการอ่านจนจับประเด็นสำคัญได้ จากนั้นจึงคิดต่อยอด
  • ถ้าคิดอะไรไม่ออก ให้กลับไปอ่านบทความซ้ำๆ พยายามหาคีย์เวิร์ด เป็นคำที่ปิ๊งออกมาเป็นภาพได้
  • ภาพประกอบที่ดีคือภาพประกอบที่ขยี้ใจความหลักของบทความ
  • คอนเทนต์ที่ยากสำหรับจั๊กคือคอนเทนต์ที่พูดถึงสิ่งที่คนอื่นเคยพูดมาแล้วในมุมมองที่แตกต่างกัน (ซึ่งเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้) อย่างเช่นคอนเทนต์เกี่ยวกับหนังสือที่มาทุกปี เพราะงานหนังสือมีทุกปี ถ้าเจอสิ่งนี้จั๊กจะเริ่มคิดจากว่า “จะทำยังไงให้ต่าง ไม่วาดเป็นรูปหนังสือได้ไหม”

  • กระบวนการคิดเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของการวาดภาพประกอบ หากเรามีเวลาเยอะ เราก็จะได้คิดเยอะ ทบทวนไอเดียซ้ำๆ หลายครั้งนั้นกลับไปเอาไอเดียแรก ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้บ่อยๆ แต่ข้อดีคืออย่างน้อยเราก็ได้ทบทวนมัน
  • การออกแบบภาพประกอบให้สื่อต่างๆ นั้นแตกต่างกัน เช่น หากออกแบบปกหนังสือ เธอจะคิดถึงรูปที่ครอบคลุมใจความทั้งเล่ม หากเป็นออนไลน์จะเป็นรูปที่ดูง่าย เข้าใจง่าย เลื่อนผ่านแล้วเข้าใจเลย และหากเป็นนิตยสาร เธอจะเลือกใส่สิ่งที่อยู่ในออนไลน์ไม่ได้ มีกราฟิกที่เล่นกับเลย์เอาต์ เช่น การใส่กราฟิก transparency (โปร่งแสง) ให้ตัวหนังสือทับอยู่ ซึ่งออนไลน์ทำไม่ได้
  • วินัยในการทำงานและการทำงานส่งตรงเวลาก็สำคัญไม่แพ้องค์ประกอบไหน เพราะคือหนึ่งปัจจัยที่ผู้ว่าจ้างจะจ้างเราต่อ

 

ซัน–อภิชาต ธีรวิทยานิพนธ์

  • การสร้างสติกเกอร์ไลน์ของเขาเกิดจากความคิดเล่นๆ ที่ทำตอนเครียดจากงานประจำ
  • การสร้างสติกเกอร์ไลน์ให้น่าจดจำคือการทำให้แตกต่างจากคนอื่น
  • การทำให้แตกต่างจากคนอื่นที่ว่าคือ “ไม่ต้องทำสวย แต่ส่งให้เพื่อนแล้วโดนด่ากลับมา”
  • เหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวันเป็นปัจจัยสำคัญของการสร้างสติกเกอร์ไลน์ที่คนเข้าถึงได้ เช่น สติกเกอร์ดึ๊บ ดึ๊บ จะมีท่าเด้งเอว ซึ่งเขาได้แรงบันดาลใจมาจากการไปเห็นคนเต้นหน้าเวทีหมอลำ
  • การทำสติกเกอร์ที่ดี คุณไม่จำเป็นต้องวาดรูปสวย จะทำเป็นบอลลูนคำพูดก็ได้

  • การเข้าใจกลุ่มลูกค้าเป้าหมายว่าจะขายให้ใคร และคนกลุ่มนั้นชอบอะไร คือสิ่งที่ควรทำ อย่างดึ๊บ ดึ๊บนั้นเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นวัยรุ่น เพราะฉะนั้นท่าทางหรือกิมมิกของสติกเกอร์ต้องเป็นสิ่งที่วัยรุ่นทำหรือเข้าถึงได้
  • เมื่อทำงานเสร็จแล้ว ซันแนะนำให้ไม่คาดหวัง แม้จะทำได้ยากมากก็ตาม
  • เริ่มแรกซันโปรโมตโดยการโพสต์ลงโซเชียล ทำแคมเปญใน Line และจัดโปรโมชั่นกับแม่ค้าขายสติกเกอร์ไลน์
  • แต่การโปรโมตที่ดีที่สุดคือการบอกปากต่อปาก ปล่อยให้สติกเกอร์ได้ทำงาน ส่งต่อตัวมันเองไปเรื่อยๆ
  • เปรี้ยงแล้วกินรายได้จากตัวเก่าๆ นั้นไม่ยั่งยืน การขยันทำงานออกมาอย่างสม่ำเสมอเป็นเรื่องที่สำคัญ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

วริทธิ์ โพธิ์มา

รักหมูกรอบ และข้าวมันไก่