ข่าวนครสวรรค์ สำนักข่าวท้องถิ่นที่ชวนคนธรรมดาเห็นพลังในตัวเอง

เราคนเดียวอาจเปลี่ยนแปลงสังคมได้ไม่มาก แต่ถ้ารวมคนที่อยากเปลี่ยนแปลงสังคมไว้ด้วยกัน เราจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ไหม?

ที่จังหวัดนครสวรรค์ มีผู้ชายคนหนึ่งที่ใครๆ ก็รู้จักในฐานะคนที่กล้าลุกขึ้นมาตั้งคำถามและต่อสู้กับหน่วยงานในจังหวัดอย่างไม่ลดละ เขาคือ ชิ-อัสชิ ทิพย์เจริญพร ผู้ก่อตั้งสำนักข่าวออนไลน์ชื่อ ข่าวนครสวรรค์ เป้าหมายของเขาคือการเล่าเรื่องในสังคมที่คนอาจมองไม่เห็น โดยเฉพาะความอยุติธรรมที่เจ้าตัวเห็น รู้สึก และอยากเล่าให้คนทั่วไปได้รับรู้

ต่อจากนี้ ชิจะเป็นคนเล่าข่าวให้ฟัง ว่าเขาใช้สื่อโซเชียลมีเดียกระตุ้นหน่วยงานท้องถิ่นได้อย่างไร และมันส่งแรงกระเพื่อมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปยังประชาชนคนธรรมดามากมายแค่ไหน

เพจข่าวท้องถิ่นที่เกิดจากข่าวน้ำท่วม

ย้อนไป พ.ศ. 2554 มวลน้ำก้อนใหญ่ล้นท่วมหลายจังหวัดในไทย นครสวรรค์คือจังหวัดหนึ่งที่รับน้ำไปก่อนเพื่อน ระหว่างนั้น คนในจังหวัดไม่สามารถติดตามสถานการณ์น้ำท่วมได้เลยเพราะสื่อออฟไลน์ท้องถิ่นทุกชนิดถูกตัดขาด รวมถึงถนนหนทางทุกเส้นก็ถูกปิดตาย ผมยังจำภาพน้ำท่วมบ้านจนถึงระดับอกได้ติดตา หนทางเดียวที่จะติดตามข่าวน้ำท่วมได้อย่างทันท่วงที คือย้ายมาหาข่าวในโลกออนไลน์แทน

“ประชาชนที่ติดตามเคเบิลทีวี หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น หรือกระทั่งวิทยุก็ถูกตัดขาดหมด เหลือช่องทางออนไลน์ทางเดียว เราเลยคิดว่าน่าจะใช้ช่องทางนี้ติดต่อกับคนนครสวรรค์ ตอนนั้นเราเน้นแจ้งข่าวว่าน้ำจะทะลักเข้าตรงไหน มีพรรคพวกประมาณ 11 คน คอยดูแลตลอด 24 ชั่วโมง ต้องออกไปดูทุกคืนว่าน้ำจะท่วมตรงไหน”

“พอน้ำเริ่มลด ทีมเราคุยกันว่าจะลบกลุ่มนี้ แต่เห็นว่าเก็บไว้น่าจะเป็นประโยชน์กับคนนครสวรรค์ เช่น ถ้ามีอุบัติเหตุ คนต้องการเลือด เราน่าจะใช้กลุ่มนี้หาคนมาช่วยบริจาคเลือดได้ เลยทำกรุ๊ปนี้ต่อ”

ตอนนั้นอัสชิคงไม่คาดคิดมาก่อนว่ากรุ๊ป ‘แจ้งข่าวสถานการณ์น้ำนครสวรรค์ 24 ชั่วโมง’ จะกลายเป็นแหล่งรวมข่าวสารมากมายตั้งแต่น้ำประปาไม่ไหลจนถึงการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากหน่วยงานท้องถิ่น จนคนในกรุ๊ปเริ่มเยอะขึ้น มีข่าวสารมากมายหลั่งไหลเข้ามาจนคัดกรองได้ไม่หมด เพื่อทำให้การร้องเรียนข่าวเป็นทางการขึ้น เขากับเพื่อนอีกคนจึงตัดสินใจก่อตั้งแหล่งข่าวท้องถิ่น นั่นคือจุดเริ่มต้นของเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘ข่าวนครสวรรค์’ และเว็บไซต์ข่าวนครสวรรค์

เพจข่าวที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

หลังจากก่อตั้งหน่วยข่าวนครสวรรค์ ทีมของชิ (ที่เริ่มต้นกันแค่ 2 คน) ตั้งมั่นว่าจะทำข่าวเพื่อความถูกต้องในสังคม แม้ต้องปะทะกับหน่วยงานท้องถิ่นก็ตาม และนั่นทำให้พวกเขาต้องรับศึกหนักในช่วงแรก

“แรกๆ เราไม่มีคอนเนกชั่นเลย มีแค่ความมุ่งมั่น มีหัวใจ อะไรที่ไม่ถูกต้องกับประชาชน เราต้องช่วยเขา เพราะมันคือความจริง ถ้าตัดสินใจช่วยเคสไหนก็ต้องสืบให้ดีที่สุดว่าเหตุการณ์ที่ร้องเรียนมาเป็นจริง แล้วถึงลุย มองแค่เป้าหมายอย่างเดียวว่าเราทำสิ่งที่ถูก ไม่รู้ว่าระหว่างทางเจออะไรบ้างก็ชนหมด”

“ทำตรงนี้เหนื่อยนะ เราไปช่วยเหลือคนก็เคยโดนคดีความ ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล แต่ผลออกมาว่าเราไม่ผิด ผู้หลักผู้ใหญ่ในจังหวัดก็ถามว่าเราจะเอาตัวไปแลกทำไม คำตอบก็เพื่อความถูกต้องนะ ถ้าเราไม่ทำ เขาจะไปพึ่งที่ไหน มีบางเคสเหมือนกันที่เรารู้อยู่แล้วว่าเกิดอะไร จะกระทบผู้มีอิทธิพลคนไหน บางเรื่องเราแกล้งทำมองไม่เห็น แต่พอทำอย่างนั้นแล้วรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง เหมือนว่าเราอุทิศตัวเองให้เรื่องพวกนี้ไปแล้ว อะไรที่ดีแล้วเราพอทำได้ เราทำหมด” ชิเล่าให้เราฟังอย่างจริงใจ

หยัดยืนและเติบโตด้วยพลังจากคนท้องถิ่น

ในที่สุด การสู้ไม่ถอยของชิเริ่มออกผลให้เห็น การเอารัดเอาเปรียบจากหน่วยงานต่างๆ เริ่มลดลง พิสูจน์ให้ชาวนครสวรรค์เห็นฝีมือของทีมข่าวนครสวรรค์ จนตอนนี้สมาชิกประจำทีมของชิขยับขยายจาก 2 เป็น 5 คน มีเครือข่ายนักข่าวตามแต่ละพื้นที่อีกนับสิบคน “เดิมทีเราอยากหาคนในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเพิ่มอยู่แล้ว ไม่ได้เจาะจงว่าต้องเป็นระดับตำบลหรืออำเภอนะ อาจจะเป็นระดับหมู่บ้านก็ได้”

“ที่จริงมีคนนครสวรรค์ที่ไม่สนับสนุนการเอารัดเอาเปรียบเยอะ แต่การต่อสู้กับเรื่องนี้เสี่ยงจะเสียผลประโยชน์ ถูกริดรอนสิทธิ์ทางธุรกิจ ถูกกดดัน เขาเลยยอมจบปัญหาด้วยการจ่ายเงิน ยอมก้มหัว แต่พอเขาเห็นเรา เฮ้ย มันสู้ได้นี่ คนที่มีปณิธานหรือความคิดทิศทางเดียวกัน ทั้งที่เป็นนักศึกษาหรือประกอบอาชีพอื่นๆ มาขอเป็นเครือข่ายเราก็มี”

“พอทำมานานก็เจอคนที่เคมีตรงกับเราซึ่งมีบทบาทการตัดสินใจอยู่หลายที่ เราเชื่อว่าในหน่วยงานหรือกลุ่มคนหนึ่งจะแบ่งเป็นสองฝ่ายอย่างน้อย สมมุติเราจะปราบการทุจริตของหน่วยงานหนึ่ง จะมีคนในหน่วยงานนั้นที่อยู่คนละฝั่งกับกลุ่มคนทุจริต อยู่ที่ว่าจะดึงคนเหล่านั้นมาช่วยยังไง พอทำงานด้วยกันบ่อยๆ ก็จะเป็นพรรคเป็นพวกกัน คอนเนกชั่นเราเลยเหมือนโซ่ไม่มีปลาย ไปเรื่อยๆ ไม่รู้จุดจบ หรือบางคนก็แอบสนับสนุนเราแบบไม่เปิดเผย อย่างตอนเราป่วยเข้าโรงพยาบาลก็มีกระเช้าปริศนามาเยอะมาก สงสัยว่าขนาดจะให้กำลังใจกันยังไม่กล้าออกตัวเลยเหรอ (หัวเราะ) บางครั้งก็งงว่าทำไมบางเคสถึงคลี่คลายเฉยเลย เชื่อว่ามีคอนเนกชั่นที่ไม่เปิดเผยด้วย”

ชิ ย้ำ กลยุทธ์การทำงานเป็นเรื่องสำคัญ

ตอนนี้ เพจ ‘ข่าวนครสวรรค์’ มีอายุ 6 ขวบปีพอดี เพจเติบโตขึ้นจนกลายเป็นที่พึ่งของคนในสังคม ทุกวันนี้มีเรื่องร้องเรียนวันละประมาณ 10 เคส ตั้งแต่ขอคำแนะนำไปจนถึงขอความช่วยเหลือเพราะได้รับความไม่เป็นธรรมจริงๆ

แต่ตอนนี้ไม่เหมือนสมัยก่อนแล้ว ชิไม่ใช่นักสู้มือสมัครเล่นอีกต่อไป เขากลายเป็นนักสู้ที่มีพวกพ้องมากมาย ถ้าหน่วยงานไหนรู้ว่าเพจ ‘ข่าวนครสวรรค์’ กำลังจะเล่นประเด็นความผิดที่ตนมีเอี่ยว หัวหน้าของหน่วยงานนั้นจะรีบติดต่อมาหาชิเพื่อรีบจัดการแก้ไขความผิดทันที แต่ในกรณีที่ยังคงแข็งข้อ ยืนกรานให้ผิดเป็นถูก ชิก็มีกลยุทธ์รับมือดังนี้

มาตรการแรก – ตีข่าวสั้นๆ ให้ประชาชนคิดต่อ หรืออาจใช้วิธีป่าล้อมเมือง สร้างกระแสสังคมกดดัน

มาตรการที่สอง – นำเรื่องราวความไม่เป็นธรรมไปเผยแพร่ในเพจที่ชิและทีมไม่ได้แสดงตน การนำเสนอจะเข้มข้นยิ่งขึ้น

มาตรการขั้นเด็ดขาด – เชื่อมโยงคอนเนกชั่นเพจอย่าง Drama Addict หรือ ควีนแหม่มโพธิ์ดำ ช่วยกระจายข่าวให้กลายเป็นข่าวระดับประเทศ

“คุณเหมือนตำรวจเลยนะ” ผมเอ่ยทักหลังฟังแผนการกดดันหน่วยงานต่างๆ โดยอาศัยพลังจากหลายฝ่ายที่รวมเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน

“เราไม่ได้ตั้งตนเป็นศาลเตี้ยหรือตำรวจนะ แค่ทำสิ่งที่สมควรทำ คือบีบหน่วยงานให้ทำสิ่งที่เขาต้องทำ เราไม่ได้ไปตัดสินหรือลงโทษ แค่ชี้ว่าสิ่งที่คุณทำอยู่ผิดหรือเปล่า ผิดก็แก้ไข เราจะเน้นใช้พลังประชาชน เวลาเราลงข่าวประเด็นเดียวกัน เราจะคาดการณ์เลยว่าเวลาข่าวนี้ออนไลน์ไป ประชาชนเสพแล้วจะรู้สึกยังไง ปฏิบัติยังไงต่อ ถ้าเป็นข่าวที่หวังผลต้องคิดขนาดนั้นเลย แต่พวกข่าวที่ทำเลี้ยงเพจ เลี้ยงเว็บไซต์ก็มี”

“คนที่อยู่คนละฝั่งกับเรา ที่ฉ้อราษฎร์ เอาเปรียบประชาชน เขาก็ต้องปรับตัวสู้กับเรา แล้วเดี๋ยวนี้คนยิ่งคุ้นชินกับโลกออนไลน์มากขึ้น เราก็ต้องปรับวิธีนำเสนอ ในอนาคต เฟซบุ๊กแฟนเพจอาจใช้ไม่ได้ผล เราก็ต้องเปลี่ยนไปตามโลก นอกจากนี้เราก็ถือสื่อออฟไลน์อยู่ด้วย ทั้งวิทยุและหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เราทำควบคู่กันแต่ไม่ได้เป็นงานหลัก เพราะสื่อออฟไลน์แทบจะไม่ทำรายได้แล้ว อิทธิพลของสื่อออฟไลน์ก็แทบจะไม่มี แต่เราก็ยังไม่ทิ้ง เพราะยังมีกลุ่มคนที่อ่านและเชื่อตรงนี้อยู่ บางเคสสื่อออนไลน์แก้ไขปัญหาไม่ได้แต่สื่อออฟไลน์ทำได้ เพราะบางกรณีคนที่มีอำนาจตัดสินใจก็ไม่เล่นสื่อออนไลน์”

ชิ ยิ้มปลื้ม ‘ข่าวนครสวรรค์’ ส่งต่อพลังแห่งความถูกต้อง

จนถึงตอนนี้ ชิไม่เพียงพิสูจน์ตัวเองจนคนนครสวรรค์สนับสนุน แต่เขาจุดไฟให้คนท้องถิ่นอีกหลายคน ส่งต่อความมุ่งมั่นที่จะทำเพื่อความถูกต้องต่อไปในแบบที่แต่ละคนถนัด

ตัวอย่างล่าสุด ชิได้ออกมาตั้งคำถามเรื่องการจัดงานตรุษจีน เป็นเทศกาลที่จัดขึ้นทุกปีเพื่อแสดงความศรัทธาและความสามัคคีของคนท้องถิ่น เป็นเทศกาลดังที่เรียกนักท่องเที่ยวได้ดี แต่ชิมองว่าปีนี้เป้าหมายการจัดงานมุ่งเน้นเรื่องรายได้มากเกินไปจนสูญเสียเอกลักษณ์บางอย่าง

“สื่อมวลชนในท้องถิ่นหรือประชาชนทั่วไปเห็นตรงกับเราว่าต้องทำอะไรซักอย่างแล้ว ถึงขนาดรวมตัวจัดสัมมนาทิศทาง ทุกวันนี้ในนครสวรรค์มีแต่คนจะทำเรื่องพวกนี้เพื่อให้มันตกผลึกจริงๆ มีน้องสื่อมวลชนอยู่กลุ่มหนึ่ง ปกติทำสารคดีส่งช่องใหญ่ หิ้วกล้องมาสัมภาษณ์เราเรื่องตรุษจีน น้องบอกว่าไม่มีใครจ้างมา แต่ในฐานะลูกหลานนครสวรรค์ รู้สึกว่าน่าจะใช้ความสามารถที่มีช่วยเหลือบ้านเกิดได้ ได้ยินก็ดีใจนะ อย่างน้อยก็เป็นอีกเรื่องที่เราจุดติด”

“มีคนหลายกลุ่มที่รวมตัวกันทำอะไรเพื่อนครสวรรค์เยอะมาก เขาเจอเราก็คุยกันว่า ผมเห็นพี่เป็นไอดอลนะ กล้าลุกมาสู้กับความไม่ถูกต้อง ฟังแล้วรู้สึกภูมิใจกับตัวเอง แล้วก็รู้สึกดีทุกครั้งที่เรื่องร้องเรียนได้รับการแก้ไข”

ไม่รู้ว่าต่อไปจังหวัดบ้านเกิดของผมจะไปในทิศทางไหน อย่างน้อย ตอนนี้ชาวนครสวรรค์คงเห็นพ้องต้องกัน ว่าเราต่างมีพลังมากพอจะทำสิ่งที่ถูกต้อง ทำเพื่อสิทธิของพวกเรา ขอบคุณชิที่พิสูจน์และทำให้เราเชื่อ

ว่าความถูกต้องเริ่มต้นจากพวกเราทุกคน

ภาพ ข่าวนครสวรรค์, www.khaonakhonsawan.com
ภาพประกอบ
ณัชณิชา วงษา

AUTHOR