มือซ้ายถือขยะ มือขวากดชัตเตอร์ เพื่อบอกว่า ‘It Doesn’t Belong Here’

จะขึ้นเหนือลงใต้ เดินป่าหรือเที่ยวทะเล ถ้าในสถานที่สวยๆ ที่ไปเที่ยวถ่ายรูปเซลฟี่มีขยะถูกทิ้งตรงนั้น ระหว่างเพิกเฉยและเก็บไปทิ้ง คุณจะเลือกทำแบบไหน อาจจะแย่สักหน่อยถ้าเราแอบสารภาพว่า เราเลือกคำตอบแรก และมั่นใจว่าใครหลายคนก็คงจะทำเหมือนกับเรา – ใช่ เพราะนั่นไม่ใช่เรื่องของเรา

แต่สำหรับ กานต์ สมานวรวงศ์ ที่คนในวงการถ่ายภาพน่าจะรู้จักชายคนนี้ดีในชื่อ LightCulture ช่างภาพหนุ่มที่หลงรักการดำน้ำเป็นงานอดิเรก กลับมองว่าขยะที่อยู่ตรงนั้นน่าหยิบขึ้นมาถ่ายรูปเสียจริงๆ จนนำมาสู่โปรเจกต์ It Doesn’t Belong Here ที่มีกิมมิคแปลกประหลาดอย่างการให้คนหยิบ ‘ขยะ’ ขึ้นมาถ่าย ล้อเลียนช็อตถ่ายรูปฮิปๆ ที่คนสมัยนี้ชอบทำกัน

กานต์ออกตัวกับเราว่าเขาไม่ใช่นักอนุรักษ์ เขาเป็นเพียงช่างภาพที่ชอบเที่ยว แต่ถ้าวันหนึ่งเขาไม่เริ่มทำอะไรสักอย่าง สิ่งแวดล้อมรอบตัวก็คงจะเน่าลงเรื่อยๆ – นี่คือสิ่งที่ชายคนนี้บอกเราอย่างอ้อมๆ ว่าขยะคือเรื่องของเราทุกคน

มาสำรวจความคิดและความเป็นมาของโปรเจกต์ #ItDoesntBelongHere ของกานต์ผ่านบนสนทนาด้านล่างนี้ไปด้วยกัน

คุณคิดยังไงกับขยะที่เห็นตรงหน้าบ้าง
“เราอยู่บนบก เห็นขยะถูกทิ้งตามรายทางจนชินตา เราอาจแค่รู้สึกว่ามันสกปรก แต่พอเราดำลงไปเจอขยะใต้น้ำ นึกออกมั้ยว่าที่ใต้น้ำตรงนั้นมันไม่มีคน แวบแรกเราคิดเลยว่าขยะมันไม่ควรมาอยู่ตรงนี้ บางที่ที่เราไปไกลจากชายฝั่งมากก็ยังเจอขยะ เพราะงั้นเวลาเราไปเที่ยวที่ไหน ขยะอันไหนหยิบได้เราจะหยิบขึ้นมานะ แต่ความเป็นจริงคือเราไม่สามารถให้ทุกคนช่วยกันเก็บขยะได้ เก็บยังไงก็คงเก็บไม่หมดหรอก เราเก็บขยะมาเป็นสิบปี ขยะก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราว่ามันต้องเริ่มที่คนหยุดทิ้งมากกว่า”

คุณเคยทิ้งขยะผิดที่ผิดทางมั้ย
“พูดได้เลยว่าเราไม่เคยทิ้งขยะโดยตั้งใจ เพราะเราโตมากับการถูกสอนให้เก็บขยะกลับมาทิ้งที่บ้าน ตั้งแต่อนุบาลเลย เวลากลับจากโรงเรียนกระเป๋ากางเกงของเราจะต้องมีขยะกลับมาบ้านทุกวัน เราเลยเป็นคนหงุดหงิดเวลาเห็นคนทิ้งขยะต่อหน้าต่อตา”

ที่มาที่ไปของ It Doesn’t Belong Here คืออะไร
“ยอมรับว่าถ้าเราไม่ดำน้ำ เราก็คงไม่ค่อยตระหนักเรื่องพวกนี้เท่าไหร่ ตอนนี้เราดำน้ำมาเข้าปีที่ 4 แล้ว วงการนี้ทำให้เรามีเพื่อนใหม่ๆ เข้ามาตลอดเวลา ฟีดเฟซบุ๊กเราจะมีแต่เรื่องราวจากเพื่อนนักดำน้ำเข้ามาเรื่อยๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาขยะที่ทำให้สัตว์น้ำอย่างพวกเต่า ปลา นก ที่กินขยะพวกนี้เข้าไปแล้วตาย เราเห็นสิ่งนี้เยอะขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เราฉุกคิดว่าการทิ้งขยะไม่ใช่เรื่องของความสกปรกแล้ว แต่มันคือการทำลายชีวิตเป็นห่วงโซ่”

“ทุกวันนี้ขยะรุ่นแรกในน้ำเริ่มย่อยสลายเป็นไมโครพลาสติกแล้วก็เข้าไปอยู่ในตัวสัตวน้ำ พวกปลา กุ้ง หอย กินไมโครพลาสติกเหล่านี้เข้าไปแบบไม่รู้ตัว จนสุดท้ายมันก็ย้อนกลับมาทำลายเราเพราะเราบริโภคสัตว์พวกนั้นต่อ เพราะงั้นสิ่งที่คนทำมันก็วนกลับมาที่ตัวคนอยู่ดี ถ้าเราไม่ช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม สุดท้ายก็คือเราเองที่จะอยู่ไม่ได้”

Location : Manta point, Komodo island.
Photo : @palmpacharas

“โปรเจกต์นี้เหมือนเป็นจิ๊กซอว์หลายๆ ชิ้นมาต่อรวมกันในช่วงเวลานี้พอดี ชิ้นแรกคือการที่เราเจอขยะในน้ำแล้วมองเห็นมันเป็นมากกว่าความสกปรก ชิ้นที่สอง ยุคนี้เป็นยุคบูมของบล็อกเกอร์ เรามีบล็อกท่องเที่ยวเป็นร้อยเป็นพัน แต่มีสักบล็อกมั้ยที่เขียนว่า ‘ไปเที่ยวแล้วช่วยเก็บขยะให้ถูกที่ด้วยนะครับ’ เหมือนทุกคนชวนกันออกไปเที่ยวโดยที่ไม่ได้คิดถึงผลกระทบจากปัญหาขยะพวกนี้ ส่วนชิ้นสุดท้าย การที่เราเห็นขยะในทะเลก็ทำให้เราเข้าใจได้อีกว่า ขยะส่วนใหญ่ก็มีที่มาจากที่เราทิ้งบนบกนั่นแหละ เวลาฝนตกน้ำก็พัดขยะลงแม่น้ำลำคลอง สุดท้ายก็กองรวมกันในทะเล ทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันหมด”

“เวลาคนเราไปเที่ยวตามสถานที่สวยๆ เราจะชอบหยิบใบไม้ หยิบอะไรมาถือถ่ายรูปกับวิวสวยๆ ลองนึกดูว่าถ้าข้างๆ ใบไม้ใบนั้นเป็นขยะอยู่เราจะกล้าเก็บมาถ่ายมั้ย แน่นอนว่าไม่ เพราะทุกคนคงอยากเลี่ยงสิ่งน่าเกลียดอยู่แล้ว เราเลยหยิบไอเดียนี้มาเป็นคอนเซปต์โปรเจกต์ #ItDoesntBelongHere คือแทนที่เราจะหยิบแต่สิ่งสวยงาม เราอยากให้คนตั้งใจหยิบมันขึ้นมาถ่ายกับฉาก ขัดกับสิ่งที่คนทั่วไปเขาทำกัน นี่เป็นสเตปแรกที่วางเอาไว้”

คนที่อยากสื่อสารด้วยหลักๆ เป็นคนกลุ่มไหน
“คนที่เล่นเฟซบุ๊ก ตอนแรกเราเริ่มจากอินสตราแกรมก่อน เพราะเราเชื่อว่ารูปถ่ายที่เล่าในอินสตาแกรมมีอิมแพกต์กว่า แล้วก็ใช้ภาษาอังกฤษเพื่อให้คนต่างชาติเข้ามาร่วมได้ด้วย ตอนนี้เราเปิดเพจเฟซบุ๊ก It Doesn’t Belong Here เพิ่มเข้ามาเพื่อสื่อสารกับทุกคนว่าตอนนี้เรามีปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นนะ และแชร์โปรเจกต์อื่นๆ ที่น่าสนใจ อย่างช่วงก่อนเราแชร์เรื่องเต่าที่ปกติพวกมันจะกลับมาวางไข่ที่หาดเดิมทุกปี แต่ทุกวันนี้บางหาดกลายเป็นที่ทิ้งขยะไปแล้ว เต่าก็เลยต้องมาวางไข่ใต้กองขยะ ลูกเต่าที่เกิดมาก็เกิดอยู่บนกองขยะ บางส่วนตายบนหาดตรงนั้น เราอยากให้คนได้เห็นปัญหาจากขยะไปพร้อมๆ กัน”

Location : Pink beach, Komodo island
Photo : @num_in2dive

Location : Khao Yai National Park, Thailand
Photo : @kiranar45

ตอนนี้ผลตอบรับของโปรเจกต์เป็นยังไงบ้าง
“เราเพิ่งเริ่มทำโปรเจกต์นี้เมื่อเดือนธันวาคม 2560 เอง รูปที่เราโพสต์ตอนนี้มีแต่รูปจากเพื่อนๆ ที่เราขอให้เขาถ่ายมาให้ คนทั่วไปที่ส่งรูปมาจะเป็นรูปขยะที่อยู่บนพื้นซะส่วนใหญ่ จริงๆ ต้องขอบคุณมากๆ เลยที่ส่งกันเข้ามา แต่รูปที่เราใช้ได้คือคุณจะต้องถือมันขึ้นมาแล้วถ่ายเพราะเราเชื่อว่าภาพขยะในมือมันอิมแพกต์กับคนที่เห็นมากกว่า บางทีการเห็นแค่พื้นมันสื่อสารไม่ได้เลยว่าคุณไปเจอขยะที่ไหน รูปที่ใช้ได้จริงๆ ตอนนี้ยังมีน้อยอยู่ ใครอ่านมาถึงตรงนี้ก็ส่งภาพมาได้นะครับ (หัวเราะ)”

ทำไมคุณถึงเลี่ยงไม่โพสต์รูปถ่ายฝีมือตัวเองเลยทั้งๆ ที่เป็นถึงช่างภาพมืออาชีพ
“เพราะเราอยากให้คนอื่นเข้ามามีส่วนร่วมมากกว่า บางทีการโพสต์แต่รูปสวยๆ แสงดีๆ ถ่ายจากโลเคชั่นที่ไปยาก ข้อเสียของมันก็คือคนธรรมดาเขาจะรู้สึกว่าเขาทำไม่ได้ โปรเจกต์นี้เราไม่ได้ต้องการความสวยงามเป็นหลัก เราอยากได้ ‘ข้อความ’ ที่อยู่ในรูปมากกว่า และข้อดีอีกอย่างก็คือ ถ้าเราใช้รูปจากคนอื่นๆ ที่เขาไปเที่ยวแล้วส่งเข้ามา อย่างน้อยโปรเจกต์นี้จะยังรันต่อไปได้ด้วยตัวมันเองแม้ว่าเราจะไม่ได้ออกไปเที่ยวไปถ่ายรูปที่ไหนเลย”

Location : Sagarmatha National Park, EBC -Nepal.
Photo : @cmcamel

Location : Bagan, Myanma.
Photo : @moonsalt125

คุณเชื่อในพลังของรูปถ่ายมั้ยว่าจะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงคนได้
“เชื่อสิ รูปภาพเป็นอะไรที่สื่อสารง่าย คนที่ได้มาเห็นเขาอาจจะสนใจ พอคนสนใจก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เริ่มจากการตั้งคำถาม คนจะเริ่มค้นหาว่าตอนนี้มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ทำไมคนถึงมาถ่ายรูปขยะเหรอ สุดท้ายแล้วเขาจะค่อยๆ รู้ว่าตอนนี้ปัญหามันเล็กใหญ่แค่ไหน เหมือนกับที่เรารู้สึกตอนแรก พอเราเริ่มอ่านข้อมูลพวกนี้เพิ่มขึ้น เราถึงจะรู้ว่าปัญหาพวกนี้มันใหญ่กว่าที่เราเคยคิดมาก”

คุณอยากเห็นโปรเจกต์ #ItDoseNotBelongHere ไปไกลได้แค่ไหน
“ตอนที่เริ่มทำเราไม่รู้หรอกว่าโปรเจกต์นี้จะเปลี่ยนแปลงใครได้หรือเปล่า เราไม่ใช่คนมีชื่อเสียงและไม่ใช่นักอนุรักษ์ด้วย เพราะงั้นสิ่งที่เราทำตอนนี้มันจะอิมแพกต์กับคนหรือประสบความสำเร็จแค่ไหน เรารู้แค่ว่าเราไม่อยากนั่งเฉยๆ แล้วเห็นโลกเราเน่าตายไป สมมติมีคนส่งรูปมาร่วมโปรเจกต์ครบร้อยรูปพันรูป เราอาจจะจัดนิทรรศการเล็กๆ ขึ้นมาก็ได้ อยากให้กลายเป็นนิทรรศการภาพถ่ายที่ทุกคนช่วยกัน”

“มีไอเดียหนึ่งถ้าทำได้ต้องพีคมากแน่ๆ เราอยากได้ขยะจากอวกาศ ในอนาคต ถ้ามีคนรู้จัก #ItDoesntBelongHere มากขึ้น เราอยากไปขอรูปจากนาซ่าก็ได้ (หัวเราะ) แต่ก็นั่นแหละ เราอยากให้โปรเจกต์เราขยายวงกว้างไปมากกว่านี้ เรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้ไม่ยากเลย เราอยากให้มันเป็นก้าวแรกให้คนสนใจและเห็นปัญหาก่อน ถ้าเรามีฐานกลุ่มคนที่สนใจปัญหาพวกนี้ อีกหน่อยถ้ามีโปรเจกต์เกี่ยวกับขยะอีกในอนาคตเราก็สามารถดึงคนเข้ามาร่วมได้ง่ายขึ้น”

ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของ #ItDoesntBelongHere ได้ทุกที่เมื่อเห็นขยะที่ไม่ควรอยู่ที่นั่น หยิบขึ้นมาถ่ายรูปแล้วติดแฮชแท็กบอกให้รู้กันนะ

ภาพ It’s Doesn’t Belong Here และ ธนวัฒน์ อัศวชุติพงษ์

AUTHOR