วิธีคิดที่พบท่ามกลางวัตถุของ อธิษว์ ศรสงคราม ศิลปินผู้ชวนตั้งคำถามกับภาพถ่าย

คำเตือน : สิ่งที่คุณเห็นตลอดบทความนี้ อาจไม่ได้เป็นแบบที่คุณเห็น

แท่นแผ่นหิน โครงเหล็กสี่เหลี่ยมคางหมู ก้อนหินขรุขระสีแดง แท่นปูนวางซ้อนกัน เสาที่ก่อจากอิฐ โครงเหล็กทรงสามเหลี่ยมพีระมิด ฐานทรงกลมที่วางหน้าพุ่มไม้ อะไรเหล่านี้คือวัตถุที่หากเราหรือคุณมองเห็นแล้วอาจปล่อยผ่านไป 

แต่สำหรับ อ้วน-อธิษว์ ศรสงคราม ศิลปินผู้ทำงานกับภาพถ่ายซึ่งครั้งหนึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะ ‘อ้วน Armchair’ กลับหยุด และยกกล้องลั่นชัตเตอร์

“ผมว่าวัตถุมันสวยด้วยรูปทรง และยังสามารถมองในบริบทของศิลปะได้อีก” นี่คือสิ่งที่เขาคิดเมื่อสะดุดตากับวัตถุสักชิ้น 

“อย่าเชื่อภาพถ่ายที่เห็นเสมอไป” นี่คือสิ่งที่เขาเตือนเมื่อเปลี่ยนวัตถุที่เห็นเป็นภาพถ่าย 

อะไรคือสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังวัตถุและคำกล่าวเตือนของอ้วน อธิษว์ เราชวนค้นหาคำตอบผ่านบทสนทนาครั้งนี้ ซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางภาพถ่ายวัตถุหลายสิบชิ้นในนิทรรศการ ‘OBJECTS’ ของเขา ร่วมกับภัณฑารักษ์อย่าง กิตติมา จารีประสิทธิ์ และ Waiting You Curator Lab ที่ HOP-Hub of Photography 

อ้วน Armchair

วัตถุ

“เวลาเห็นวัตถุชิ้นหนึ่ง ผมจะมองรูปทรงแล้วคิดถึงฟังก์ชัน นึกถึงว่ามันถูกผลิตขึ้นมาทำไม ด้วยเหตุใด เวลาไหน เลยทำให้ผมยิ่งสนใจ และผมมองว่า ยังสามารถมองวัตถุต่างๆ ในบริบทของศิลปะได้อีก ตัวมันคล้ายกับประติมากรรมชิ้นหนึ่งที่มีหลายความหมาย หลายบริบท” 

อ้วนเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการถ่ายภาพวัตถุ ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยเรียนต่อด้านศิลปะการถ่ายภาพที่ Kunstakademie Düsseldorf สถาบันศิลปะที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลกที่ประเทศเยอรมนีในปี 2555 หลังจากนั้นก็ถ่ายภาพวัตถุเก็บสะสมเรื่อยมาในหลากสถานที่ หลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโครงเหล็กทรงพีระมิดที่กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย กำแพงท่ามกลางชายหาดที่เกาะลันซาโรเต ในมหาสมุทรแอตแลนติก ประเทศสเปน รวมไปถึงโครงเหล็กสี่เหลี่ยมคางหมู ที่ตั้งอยู่ในบ้านของเขาซึ่งเป็นโรงพิมพ์ และอีกมากมาย

ทว่าเมื่อกลับมาไทย และถ่ายภาพต่อได้อีกราว 2 ปี การถ่ายภาพวัตถุของอ้วนกลับหยุดชะงัก เพราะเขารู้สึกว่า วัตถุไทยมีกลิ่น

“ภาพถ่ายชุดแรกๆ ของผมจะมีความเรขาคณิตมากๆ ซึ่งเกิดจากความสนใจ สิ่งที่พบเจอ และสถานที่ที่อยู่อาศัยช่วงเรียน ทำให้เมื่อกลับไทย มีช่วงหนึ่งที่ไม่ได้ถ่ายภาพวัตถุเลยครับ เพราะรู้สึกว่าวัตถุในไทยมีกลิ่น หมายถึงว่าวัตถุส่วนใหญ่มีความ free-form มีความออร์แกนิก มากกว่าจะเป็นรูปทรงเรขาคณิตตามความสนใจของเรา”

อ้วน Armchair

ค้นพบ

ปริมาณภาพถ่ายวัตถุที่อ้วนเก็บสะสมไม่ได้เพิ่มขึ้น กระทั่งตัดสินใจลงมือทำนิทรรศการ ‘OBJECTS’ การลั่นชัตเตอร์ให้เหล่าวัตถุจึงเริ่มอีกครั้งในช่วงต้นปี 2564 ซึ่งมาพร้อมกับการค้นพบมุมมองใหม่ผ่านกาลเวลาที่ผันแปร

เขาค้นพบการโอบรับความหลากหลาย

“พอคิดว่าจะกลับมาถ่ายภาพวัตถุอีกครั้ง ผมก็เริ่มมองวัตถุใหม่ และเริ่มที่จะเปิดรับความหลากหลายทางรูปทรงของวัตถุที่เกิดขึ้นตามวัฒนธรรม และบริบททางสังคมมากขึ้น นิทรรศการครั้งนี้จึงมีความหลากหลายทางรูปทรงอยู่ครับ” เขาอธิบายให้ฟังถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของวิธีคิดที่มีต่อการมองวัตถุ ก่อนชี้ชวนให้เราดูภาพก้อนหินสีแดงไร้รูปทรง 

“อย่างรูปก้อนหินนี้ ผมเจอที่สระบุรี ซึ่งแถวนั้นมีหินเยอะ ขายหินอ่อน หินแกรนิต ทั้งยังมีการระเบิดหิน ซึ่งมันค่อนข้างมีรูปทรงที่ต่างกันออกไป เพราะฉะนั้นผมก็ต้องยอมรับกับรูปทรงของมัน ต้องปรับตัวเองไปตามสิ่งนั้น”

เขาค้นพบการเดินทางครั้งใหม่

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะตามถนนมิตรภาพคือจุดหมายที่อ้วนปักธงว่าจะเดินทางไปถ่ายภาพวัตถุ 

“ภาพถ่ายเกือบ 80% ในนิทรรศการ ผมถ่ายต่อจากที่ทำมา 2 ปีแล้วหยุดไป พอตัดสินใจทำนิทรรศการก็เริ่มเก็บภาพต่อ เลยเดินทางไปภาคอีสาน ตามถนนมิตรภาพ ซึ่งผมตั้งใจมุ่งไปที่นั่น เพราะส่วนตัวสนใจเรื่องหัวเมืองต่างๆ ของไทยด้วย เลยมีโอกาสไปทางใต้และเชียงใหม่บ่อยแล้ว ครั้งนี้เลยเลือกภาคอีสาน เพราะรู้สึกว่ามีความน่าสนใจทางภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ แน่นอนว่ามันส่งผลต่อวัตถุในที่นั้นๆ ด้วย 

“แล้วเวลาเดินทางไปเก็บภาพ ผมค่อนข้างมีแหล่งประจำ นอกจากตามข้างทางถนนหลวง ก็จะมีวัด มหาวิทยาลัย โรงเรียน และพื้นที่ชุมชนครับ เพราะจะมีสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่มีกลิ่นอายของสิ่งที่ถูกทิ้ง หรือถูกทำลายอยู่ บางชิ้นอาจไม่สมบรูณ์ บางชิ้นถูกทิ้งหลังจากถูกใช้งานแล้ว แต่ถึงแม้ที่ที่ไปจะมีความชัดเจนของวัฒนธรรม ผมก็พยายามเลือกถ่ายวัตถุที่ไม่ได้มีบริบททางวัฒนธรรมติดมา ไม่ได้สะท้อนภูมิหลัง หรืออัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมออกมาด้วย เพื่อให้ทุกคนสามารถดูภาพแล้วเกิดการตีความได้ นอกจากนี้ผมยังไปถ่ายภาพวัตถุในกรุงเทพฯ และชลบุรีอีกด้วยครับ” 

อ้วน Armchair

(อาจ) ใช่สิ่งนี้

จากเยอรมนีสู่เมืองไทย ภาพถ่ายวัตถุที่อ้วนสะสมตลอดสิบปีก็ถูกเผยแพร่สู่การมองเห็น หากแต่เป็นการเห็นที่เขาเกริ่นถึงคำเตือนไว้แต่แรกว่าอย่าเชื่อภาพที่เห็น เพราะความจริงของวัตถุในภาพไม่ได้เป็นเช่นในภาพ มันมีความคลุมเครือซ่อนอยู่ผ่านความตั้งใจ และวิธีการถ่ายภาพในแบบฉบับของเขา

โดยวิธีการที่อ้วนใช้ถ่ายภาพวัตถุนั้น ได้อิทธิพลมาจากการถ่ายภาพแบบภววิสัย (Objective Photography) ซึ่งเป็นการถ่ายภาพเชิงสารคดีโดยไม่ใส่ความรู้สึกของผู้ถ่ายเข้าไป แล้วเน้นที่ตัวแบบเป็นหลัก หากยกตัวอย่างให้เห็นภาพคงต้องบอกว่าคล้ายกับการถ่ายภาพลงสารานุกรม ที่เมื่อหยิบวัตถุมาหนึ่งชิ้น ก็จะถ่ายให้ครบทุกด้านนั่นเอง

“ผมไม่ได้ถ่ายภาพด้วยวิธีการ Objective Photography เต็มร้อย สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เคยศึกษามา แล้วเอามาปรับ กลายเป็นผมใช้วิธี Post-Objective Photography ในการถ่ายภาพ คือมันดูเหมือน แต่ไม่ใช่

“เพราะรูปที่เห็น จริง ๆ แล้วมีการจัดวางตามที่ผมคิดอยู่ บางรูปผมจับมันมาเปลี่ยนพื้นหลัง บางรูปเซ็ตขึ้นมาใหม่ บางรูปเปลี่ยนพื้นผิวให้วัตถุ มีลดทอน มีเพิ่ม เลยออกมาเหมือนเป็นภาพของวัตถุทั่วไปในแลนด์สเคปที่สามารถเจอได้ตามปกติ แต่มันมีกระบวนการแต่งรูปให้ออกมาคล้ายว่าเสมือนจริงอยู่ครับ”

อ้วน Armchair

หลังอธิบายถึงวิธีการถ่ายภาพจบ เขายกตัวอย่างภาพที่ผ่านกระบวนการคิดและถ่ายภาพให้ฟัง ซึ่งเป็นภาพเดียวกันกับภาพที่เราพยายามอ่านคำที่ปรากฏจางๆ บนวัตถุอยู่นานสองนาน

“อย่างรูปแท่นแผ่นหินสีขาว คำจางๆ ก็ไม่ได้อยู่ในนี้ตั้งแต่แรก คือวัตถุอยู่ในรูปทรงที่เราเห็นครับ แต่พื้นผิวไม่ใช่แบบนี้ ซึ่งวัตถุชิ้นนี้ ผมขับรถไปเจอ แต่มันเลอะเทอะ มีรอยสนิม ก็ขับรถวนแถวนั้นเพื่อหาตัวหินอ่อน ซึ่งเป็นแมททีเรียลที่ใกล้เคียงกัน แล้วถ่ายเก็บมาอินเสิร์ทอีกที 

“หรือชิ้นนี้ ผมเจอตัวโกลฟุตบอลที่ข้างสนามกีฬา จังหวัดชลบุรี ก็ถ่ายรูปมาแล้วคิดว่าอยากให้ฉากหลังเป็นอะไร ก็ขับรถวนหาไปเรื่อยๆ แล้วก็ได้ฉากหลังเป็นป่ามาครับ”

“รู้ได้ยังไงว่าวัตถุชิ้นนี้ต้องอยู่กับพื้นหลังแบบนี้” เราถาม

“ก็ต้องดูว่าวัตถุที่เป็นแบบของเราเป็นยังไง เป็นเส้น หรือมีความเป็นกราฟิกไหม เพราะฉะนั้นก็ต้องหาฉากหลังที่ค่อนข้างแน่นหน่อย มืดหน่อยหรือเปล่า มันคือการดูตามบริบทของวัตถุชิ้นนั้นๆ”

เขายังเสริมต่อว่า ความแตกต่างของสถานที่สำหรับการสร้างภาพขึ้นมานั้นไม่ได้สำคัญอะไร เพราะตั้งใจไว้แล้วว่าอยากให้ภาพวัตถุ เป็นภาพที่ดึงตัวเองออกมาจากบริบททางวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ เพราะฉะนั้นมาที่ไหนไม่สำคัญ แต่สิ่งสำคัญคือรูปทรงแบบนี้จะเข้ากับลักษณะบรรยากาศของพื้นหลังแบบไหน หรือสีแบบไหนที่จะขับให้วัตถุโดดเด่นมากยิ่งขึ้น 

ไม่เพียงเท่านั้น ความพิเศษของศิลปะภาพถ่ายวัตถุครั้งนี้ ยังมีเรื่องของการเลือกสีกรอบภาพให้เป็นสีเดียวกับวัตถุ เพื่อเสริมความแข็งแรงให้วัตถุในภาพ และขับเน้นให้ภาพถ่ายกลายเป็นวัตถุอีกชิ้นหนึ่ง เรียกได้ว่าเป็นวัตถุในวัตถุที่ดูจริงแต่กลับไม่จริงทั้งหมด เพราะเขาหวังไว้ว่ามันจะช่วยกระตุ้นต่อมขี้สงสัย จนเกิดการตั้งคำถามจากการดูภาพไม่มากก็น้อย

“สิ่งที่ผมอยากให้เกิดเมื่อคนมาดูภาพถ่าย คือความสงสัย และการตั้งคำถามกับภาพที่เห็น ซึ่งตัวผมเองไม่ได้กำหนดกรอบไว้ว่าวัตถุที่ถ่ายมานั้นคืออะไร แต่อยากให้ผู้ชมตีความจากประสบการณ์ของแต่ละคนมากกว่าว่าสิ่งนี้คืออะไร เคยเป็นอะไร และใช้ทำอะไร”

เปลี่ยน ไม่เปลี่ยน

เป็นเวลากว่า 20 ปีที่อ้วนโลดแล่นอยู่ในกระแสศิลปะ เขาขมวดความเปลี่ยนแปลงของวงการถ่ายภาพในทัศนะ และการเปลี่ยนแปลงของตัวเองฉบับย่อให้ฟังว่า

“ตัวผมเองจากเมื่อก่อนมองภาพถ่ายเป็นเรื่องของความสวยงาม แต่พอโตขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มสนใจงานศิลปะด้วย ก็มองภาพถ่ายอยู่ในบริบทของศิลปะมากขึ้น มองว่ามันมีความเป็นประติมากรรมมากขึ้น แต่ก็ยังชอบดูรูปสวยๆ ชอบดูโฟโต้บุ๊กของศิลปินเก่งๆ อยู่นะครับ

“การเปลี่ยนจากยุคแอนะล็อกมาเป็นดิจิทัล ผมว่ามันทำให้มีอิสระในกระบวนการสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังคงถ่ายภาพความจริงตรงหน้าเหมือนเดิม ซึ่งบางครั้งผลลัพธ์อาจไม่ใช่สิ่งที่ถ่ายมา

“ผมยังรู้สึกดีที่หลายคนรวมถึงผมสนใจเรื่องเทคนิคน้อยลง แล้วให้ความสำคัญกับเรื่องไอเดียมากขึ้น รู้สึกดีไปกับมัน ซึ่งต้องยอมรับว่าถ้ายังอยู่ในโลกแอนะล็อก ผมคงทำงานยากกว่านี้

“และตลอดการถ่ายภาพที่ผ่านมา ผมว่าผมเป็นคนช่างสังเกตมากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับผมมันคล้ายกับการที่เรานั่งอยู่ที่ไหนก็ได้ แล้วส่องกล้องส่องทางไกล ดูนก ดูไม้ ในเซนส์นี้มันเหมือนกับภาพถ่ายตรงที่ เมื่อถ่ายรูปจากกล้องดิจิทัล แล้วเอามาซูมดูความละเอียด จะเป็นอีกมิติหนึ่ง ยิ่งทำรูปใหญ่ ยิ่งต้องละเอียดมาก เรายิ่งต้องสังเกตให้มากขึ้น สังเกตความจริง และทำความเข้าใจสิ่งที่เห็นเสมอ”

อย่างไรก็ตามยังคงมีสิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนไปสำหรับเขา นั่นคือความคิดที่ว่า ‘ไม่ควรเชื่อภาพถ่ายที่เห็น แต่ควรตั้งคำถามกับภาพถ่ายว่าจริงหรือไม่จริง’ เหมือนกับที่เขาเลือกถ่ายวัตถุเหล่านี้จริง แต่การมีอยู่ของวัตถุในภาพอาจล่อหลอกคุณอยู่ก็เป็นได้

สุดท้ายนี้เราคงไม่เฉลยว่าภาพถ่ายวัตถุที่คุณได้เห็นตลอดบทความคืออะไรบ้าง เพราะอยากชวนให้คุณลองมองมันอย่างลึกซึ้ง ลองตีความจากประสบการณ์ที่ผ่านมา เพราะภาพที่คุณเห็น อาจไม่ใช่สิ่งที่คุณคิดเสมอไป

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย