ปีนี้คืออีกปีหนึ่งที่เทรนด์การกินอาหารแบบลดเนื้อสัตว์กำลังเปลี่ยนแปลงวิถีใหม่ของการใช้ชีวิตในโมงยามโรคระบาด เราจึงเห็นความเป็นไปได้อีกมากในการรังสรรค์เมนูอาหารจากผักและนวัตกรรม Plant-Based Meat ต่างๆ ทำให้เราได้เมนูที่ทั้งสนุกและมีคุณค่าทางโภชนาการและการช่วยโลกให้ดีขึ้นได้เพียงแค่เริ่มจากการกิน
SAMATA (สมถะ) คือร้านอาหารมังสวิรัติเล็กๆ ในเชียงใหม่ของริบบิ้น-นิชาภา นิศาบดี ที่เปิดมากว่า 2 ปีแล้ว พื้นที่เล็กๆ นี้คลาคล่ำไปด้วยผู้คนมากมายทั้งลูกค้าขาประจำ หรือผู้คนที่อยากลองเริ่มทานอาหารปราศจากเนื้อสัตว์ด้วยเมนูที่เรียบง่าย แต่อัดแน่นด้วยคุณค่าแบบเต็มๆ จนตอนนี้สมถะมีลูกค้าประจำทั้งชาวไทยและเทศ รวมถึงบริการ ‘ผูกปิ่นโต’ ที่มีลูกค้าใช้บริการกว่า 20 รายอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่าครึ่งปีแล้ว!
“เราเคยเจอกันแล้วนะ” หญิงสาวตรงหน้าพูดเมื่อเราแนะนำตัว
ใช่ อะเดย์เคยคุยกับเธอแล้วในวันที่เธอลงหลักปักฐานเปิดร้านในบาร์ที่เธอร้องเพลงอยู่ จนถึงวันนี้ที่เธอย้ายเขตคามร้านสมถะมาซ่อนตัวอยู่ในหลืบเล็กๆ ของถนนหนองฮ่อ ตำบลช้างเผือก เรานั่งคุยกับริบบิ้นในระหว่างที่สมถะเปิดรับลูกค้ามากหน้าหลายตา ทั้งประจำ ขาจร และพี่ๆ ไรเดอร์ที่เข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง เธอพักการสัมภาษณ์เป็นระยะๆ เพื่อทักทายลูกค้าที่เป็นเสมือนมิตรสหายที่ดีของเธอ และเมื่ออาหารที่เธอจัดให้เราลงโต๊ะ มันก็ถูกบรรจุเข้าไปในกระเพาะของเราพร้อมๆ กับบทสนทนาบนโต๊ะอาหาร
เราถึงเข้าใจในความเรียบง่ายของอาหารมื้อนี้ ที่มีทั้งประโยชน์จากสารอาหารที่ได้รับ และเรื่องราวการเติบโตของสมถะที่ริบบิ้นแบ่งปันให้เราฟัง
ว่ามันมีคุณค่ามากแค่ไหน
หักดิบจากการกินเนื้อสัตว์เพื่อเป็นมังสวิรัติเต็มรูปแบบ
ย้อนกลับไปในวันที่ริบบิ้นยังทำงานเบื้องหลังของสารคดีที่ได้เจอผู้คนหลากหลายรูปแบบ วิถีการกินของเธอก็เหมือนเราๆ ทั่วไปที่กินทั้งเนื้อสัตว์ ของทอด อาหารอร่อยแบบเต็มสูบ จนเมื่อริบบิ้นในฐานะนักทำสารคดีที่ได้ทำความรู้จักทั้งผู้คนและเรื่องราวใหม่ๆ
การกินอาหารโดยปราศจากเนื้อสัตว์ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เธอเริ่มเรียนรู้จากการทำสารคดี
“ตอนที่นั่งสัมภาษณ์คนอื่นเรื่องวีแกน Plant-Based สิ่งแวดล้อม ชีวิตสัตว์ และก็ผลกระทบที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้ ทำให้เราต้องมาทำข้อมูลต่อว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้คนกินมังสวิรัติ หลังจากนั้นเราก็เริ่มไม่อยากรู้แค่ข้อมูล อยากรู้เป็นสัมผัส ไปทดลองหากินมังสวิรัติในเชียงใหม่ หูย (ลากเสียง) มันอร่อย มันหาง่าย แล้วก็ไม่แพงมาก แล้วร่างกายเรากลับรู้สึกดีขึ้นในช่วงนึงที่เรากิน” ริบบิ้นอธิบายถึงความฟินในครั้งแรกๆ ที่เธอได้ทานอาหารที่ปราศจากเนื้อสัตว์
แล้วหลังจากนั้นเธอก็ตัดสินใจ ‘หักดิบ’ เลิกทานเนื้อสัตว์ในแทบจะทันที
ทำไมการตัดสินใจเลิกทานเนื้อสัตว์มันถึงง่ายขนาดนั้น
“จริงๆ การตัดสินใจแบบนี้มันง่าย เพราะเราย้ายจุดโฟกัสในชีวิตเรา จาก What is it. เป็นความรู้สึก เราย้ายจุดโฟกัสการกินของเราจากการที่ ‘วันนี้เรากินหมู เรากินเนื้อ’ ไปเป็น ‘การกินของเราคือความอิ่ม อร่อย’ เพราะฉะนั้นมันเลยเป็นอะไรก็ได้ที่อิ่ม อร่อย แล้วเมื่อเราได้ข้อมูลมาตลอดชีวิตว่าที่เรากินเนื้อสัตว์มาโดยไม่รู้ บางทีในเชิงอุตสาหกรรมที่เราเติบโตมาในยุคนี้ มันส่งผลกระทบที่ยิ่งใหญ่กว่าสิ่งที่เราเห็น เราเลยคิดว่าถ้าเราไม่สามารถเปลี่ยนโลกทั้งใบนี้ได้ ก็เปลี่ยนชีวิตตัวเองเล็กๆ พอ” ริบบิ้นตอบคำถามของเรา
เธอแอบเล่าเพิ่มอีกนิดหน่อยว่า แซลมอนโรล 2 กิโลกรัมคืออาหารที่มีเนื้อสัตว์อย่างสุดท้ายที่เธอกิน ก่อนจะบอกเพื่อนๆ และครอบครัวของเธอว่าตอนนี้เธอไม่ได้ทานเนื้อสัตว์อีกต่อไป
ในเมื่อหากินเองมันยาก ก็เปิดร้านซะเลยสิ!
เมื่อริบบิ้นตัดสินใจจะทานมังสวิรัติอย่างเต็มตัว เธอจึงตระเวนกินอาหารเมนูมังสวิรัติแทบจะทุกร้านในจังหวัดเชียงใหม่เท่าที่จะทำได้ แต่เนื่องจากเธอประกอบอาชีพนักดนตรีเป็นอาชีพเสริมที่ต้องใช้มือเป็นอาวุธสำคัญในการประกอบอาชีพ ทำให้เธอถูกห้ามปรามบ่อยๆ จากครอบครัวว่าอย่าเข้าครัว และอย่าจับมีด
แต่สิ่งที่เธอเรียนรู้ได้หนึ่งอย่างจากการทานอาหารมังสวิรัตินอกบ้านเป็นปีๆ และเริ่มเปลี่ยนวิธีคิดให้เธออยากเข้าครัวเพื่อทำอาหารทานเองมีสองอย่าง คือราคาอาหารที่สิริรวมกันแล้วไม่ใช่มูลค่าน้อยๆ และอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน
นั่นคือ Carbon Footprint หรือผลกระทบทางมลภาวะจากการขนส่งสินค้า
“ร้านอาหารวีแกนหลายๆ ที่เขาเลือกวัตถุดิบที่ดีมาก แต่มันคือการเพิ่มมูลค่าเกี่ยวกับการขนส่งที่ค่อนข้างสูงในจานอาหารของเรา ที่สำคัญถ้าพูดในมุมสิ่งแวดล้อม มันก็อาจจะต้องเสียคาร์บอนฟุตพริ้นท์มากขึ้น อุตส่าห์ลดการกินเนื้อสัตว์ไปแต่ว่ามาเสียค่าขนส่ง มีคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากการขนส่ง เราก็เลยเกิดความคิดว่า ถ้าเราสามารถกินง่ายกว่านั้นได้อีก ถ้าเราลองเปลี่ยนเป็นกินมังสวิรัติแบบชาวบ้านๆ ไปซื้อผักบุ้ง กำละ 5-10 บาท มาผัดใส่โปรตีน ใส่ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วเหลืองง่ายๆ เราก็เลยคิดว่า งั้นเราลองทำพื้นที่ที่มันเป็นอาหารมังสวิรัติจากวัตถุดิบท้องถิ่นในราคาที่คนไทยกินสบายนิดนึงมั้ย ก็เลยเป็นที่มาว่าถ้าจะสมบูรณ์แบบจริงๆ ต้องกินแบบที่สามารถสนับสนุนของท้องถิ่นได้ รู้สึกดีกับตัวเอง สบายกระเป๋าตังค์ จบเป็นไลฟ์สไตล์ได้เลย” ริบบิ้นอธิบาย
ด้วยความฝันที่หนักแน่นก้อนนี้ ริบบิ้นจึงไปขอแชร์พื้นที่ในบาร์ที่เธอเล่นดนตรีเพื่อเปิดร้านอาหารวีแกนในแบบของเธอในช่วงกลางวัน ซึ่งจากการสำรวจตลาดผ่านการกินของเธอ ริบบิ้นพบว่าช่องว่างที่จะทำให้ร้านอาหารวีแกนในฝันของเธอเกิดขึ้นได้จริงคือ ราคาต้องน่ารัก จับต้องได้ เป็นอาหารที่เรียบง่าย ไม่ต้องหวือหวาแบบ Fine Dining จบในจานเดียว อิ่ม อร่อย ได้โปรตีน และราคาต้องไม่เกิน 100 บาท
ท้ายที่สุดแล้วสมถะในดราฟต์แรกจึงเกิดขึ้น แต่เป็นสมถะที่มีเมนูในร้านเพียงเมนูเดียว
นั่นคือข้าวแกงกะหรี่
“เราเริ่มทำข้าวแกงกะหรี่เพราะเป็นเมนูที่มั่นใจที่สุด เพราะก่อนหน้านี้เราไปญี่ปุ่นบ่อย แต่แกงของเรามันจะไม่เหมือนแกงกะหรี่ญี่ปุ่น เพราะของเขาจะใช้น้ำแกงที่ Based เนื้อวัวเยอะ เราก็เลยปรับสูตรว่าต้นฉบับแกงมันมาจากไหน ก็เจอว่าคือแกงอินเดีย แต่ใช้เป็นผักที่มีเท่าที่คิดออกให้มากที่สุด ให้คนไม่รู้เลยว่าในนั้นมีผักอะไรบ้าง แต่ที่รู้ๆ คือวันนี้เธอได้กินผักเยอะมาก และเราก็เพิ่มสีสันด้วยการให้เลือกท็อปปิ้งพิเศษวางข้างเคียงลงไป เราขายเมนูเดียวเท่านั้น 12 ท็อปปิ้งให้เลือก ขายแบบนั้นมาเรื่อยๆ” ริบบิ้นอธิบายถึงข้าวแกงกะหรี่ของเธอ
เราหยุดที่เมนูเดียวไม่ได้
หลังจากเปิดขายเมนูเรือธงของร้านได้สักพัก ริบบิ้นค่อยๆ ขยายฐานลูกค้าจากเพื่อนของเธอไปสู่ลูกค้าทั้งชาวไทยและเทศ จนเข้าถึงชุมชนคนกินอาหารวีแกนผ่านแอปพลิเคชั่นบนมือถือ สมถะจึงเริ่มเป็นที่พูดถึงมากขึ้นบนโลกออนไลน์
ตอนนั้นริบบิ้นจึงคิดได้ว่า สมถะจะมีแค่เมนูเดียวไม่ได้อีกแล้ว
ยิ่งประกอบกับการทำร้านสมถะในขวบปีแรกที่เธอได้เรียนรู้เรื่องหลังครัว ตั้งแต่การจัดการวัตถุดิบ อายุขัยของผักแต่ละชนิด หรือการบริหารจัดการต่างๆ ที่ค่อยๆ เติบโตตามอัตภาพ ริบบิ้นจึงตัดสินใจที่จะขยายพื้นที่ให้ใหญ่กว่าเดิม
“ร้านเก่ามันเป็นพื้นที่เปิด และตู้เย็นที่เก็บของสดของเราก็เล็กมาก เราทะเลาะกับผักบ่อยมาก ทำไมน้องไม่สู้ชีวิต ทำไมน้องเหี่ยวเร็ว (หัวเราะ) มันคือเริ่มต้นจากศูนย์ทั้งหมดเลย จนกระทั่งรู้แล้วว่าระบบการจัดการภายในของการดูแลวัตถุดิบเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับร้านอาหาร จุดนั้นเป็นจุดเดียวเลยที่ทำให้เราขยับขยายพื้นที่หลังบ้านของเราให้มีขนาดใหญ่ขึ้น และก็จัดการดูแลควบคุมไม่ให้เขาเปลี่ยนไปตามแดดลมฟ้าฝนมากยิ่งขึ้น แต่ว่าเรายังอยากเก็บความเป็นมิตรที่เพื่อนมานั่งแล้วสบาย ไม่ได้รู้สึกกดดันว่าจะกินอะไรดีไม่มีเนื้อสัตว์ แล้วพอมันมีโต๊ะเก้าอี้ขนาดที่ถูกต้อง เหมาะสมกับการกิน เราก็ดึงดูดกลุ่มผู้ใหญ่ ครอบครัวมากินที่นี่ได้มากยิ่งขึ้น การพัฒนาเมนูของเราสามารถปรับแต่งได้มากยิ่งขึ้น ให้เหมาะกับคนที่กินเจที่ไม่กินหอม กระเทียม คนที่เป็น Raw Vegan คนที่ควบคุมน้ำหนัก คนที่อาจจะเพิ่งถูกวินิจฉัยเป็นโรคเรื้อรังแล้วคุณหมอสั่งห้ามกินเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ คนที่มีปัญหาเรื่องการเคี้ยวต่างๆ มาหมดเลย ทำให้เราเจอคนย่อยๆ ที่ต้องการอาหารทางเลือกเยอะขึ้น แล้วร้านเราตอบโจทย์จุดนั้นได้” ริบบิ้นอธิบาย
เราฟังกระบวนการจัดการทั้งหมดนี้ก็เข้าใจว่า ริบบิ้นใช้เวลาเตรียมการมาอย่างดีแน่ๆ กว่าที่จะตัดสินใจย้ายร้านอย่างเต็มรูปแบบ
แต่เปล่าเลย เธอใช้เวลาแค่ 3 วันเท่านั้น และยิ่งอยู่ในช่วงเวลาที่โควิด 19 กำลังระบาดใหม่ๆ ด้วย
“เราย้ายของมา 3 วัน แล้วเปิดครัวเลย ประจวบเหมาะกับช่วงนั้นโควิด 19 ไม่ให้นั่งหน้าร้าน เราเลยมีเวลาประมาณ 1 เดือนในการจัดร้าน ในใจเราคิดว่าหยุดไปนานไม่ได้ เพราะอาหารมันเป็นสิ่งที่คนกินทุกวัน แล้วร้านเราไม่ใช่ร้านโอกาสพิเศษ เพราะเราวางตัวเองเป็นร้านสำหรับ Daily Life ก็คือคนกินได้ทุกวัน ถ้าเราจะปิดนาน คนที่พึ่งพาเราบ่อยๆ จะเป็นยังไง เขามาไม่มาไม่รู้ แต่เราต้องมีอยู่ อันนี้คือความตั้งใจของริบบิ้น ก็เลยใช้เวลาด่วนมาก ทุกอย่างเกิดขึ้นรวดเร็วมาก แต่ว่าต้องมีเลือดนักสู้นิดนึงนะคะ (หัวเราะ)”
ริบบิ้นเสริมอีกว่า จากร้านเดิมที่ขายแค่เมนูเดียว แต่มีท็อปปิ้งให้เลือก 12 อย่าง สมถะในร้านใหม่มีเมนูให้เลือกสรรอย่างจุใจกว่า 30 เมนู ทั้งคาว หวาน กาแฟ อย่างครอบคลุม ทำให้ไม่ว่าคุณจะเป็นคนทานอาหารวีแกนอยู่แล้ว หรืออยากลองทานอะไรใหม่ๆ เมนูของสมถะจะตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่มอย่างแน่นอน
เสียงดนตรีและพื้นที่ปลอดภัยของคนวีแกน
ริบบิ้นบอกเราว่า ฐานลูกค้าเกินครึ่งของสมถะคือลูกค้าที่ไม่ใช่คนทานอาหารวีแกน ซึ่งสำหรับเราแล้วมันเป็นสัญญาณดีที่การทานอาหารแบบปราศจากเนื้อสัตว์กำลังเป็นสิ่งที่ผู้คนสนใจมากขึ้น
และเธอบอกว่า วีแกนคืออาหารสำหรับทุกคน
“ลูกค้าร้านเราเกินครึ่งไม่ใช่วีแกน แต่เป็นคนที่อยากกินอาหารที่มีประโยชน์ มั่นใจว่าสะอาด บรรยากาศดี บ้านอยู่แถวนี้ มาเจอเพื่อนฝูงที่นี่ แต่คนเหล่านี้ไม่ปฏิเสธการกินมังสวิรัติ มันเลยกลายเป็นอาหารสำหรับทุกคน สำหรับริบบิ้น ริบบิ้นว่ามันทำหน้าที่ตรงกับใจริบบิ้น เพราะว่าริบบิ้นคิดว่าคนที่กิน Plant-Based ไม่จำเป็นต้องวีแกนตลอดชีวิตนะ แต่ว่าเป็นคนที่เข้าใจอาหารประเภทนี้ และยินดีที่จะกินมัน
“ริบบิ้นคิดว่าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ของคนที่กลัวคำว่ามังสวิรัติมากินทีไรก็จะเปลี่ยนความคิดว่ามันไม่ได้ยากอย่างที่คิด มันก็คืออาหารธรรมดา มันก็กินได้ แล้วก็อิ่มมื้อนี้ มันไม่ได้กินยากอย่างที่คิด บางคนอาจจะติดภาพความเขียวอื๋อ หรือผักจ๋า อย่างเมนูของริบบิ้นหลายๆ อย่างมันไม่เขียวนะ มันเป็นวัตถุดิบจากพืชจริงๆ เรามองเป็นมุมนั้นมากกว่า คือให้มันเฟรนด์ลี่ทั้งบรรยากาศร้านและก็จานอาหารจริงๆ มันง่ายต่อคนทุกคน” ริบบิ้นเสริม
อีกสิ่งหนึ่งของการเปิดร้านสมถะที่ริบบิ้นคาดหวัง และไม่คาดหวังให้เป็นคือ การเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนของคอมมูนคนทานวีแกน ซึ่งหลายครั้งลูกค้ามักแลกเปลี่ยนองค์ความรู้การสร้างสรรค์เมนูมังสวิรัติ หรือนำวัตถุดิบในครัวเรือนและผักต่างๆ มาให้ริบบิ้นลองสร้างสรรค์ และการเปิดพื้นที่ร้านให้เป็น Space ของนักดนตรีมาแจมกันแบบสบายๆ ทุกสุดสัปดาห์ในชื่อ Music Weekend
“คนที่จะมีชีวิตที่ดี อาหารมันทำให้ร่างกายเราดี ข้อมูลมันทำให้จิตใจเราดี แต่ว่าสิ่งอื่นๆ ที่ทำให้กายใจดีสมบูรณ์ก็เป็นเรื่องศิลปะ ตัวริบบิ้นเป็นคนชอบดนตรี เลยอยากจะให้พื้นที่นี้มันเป็นพื้นที่ค่อนข้างฟรีสไตล์สำหรับเสียงดนตรี ให้พื้นที่ลุงๆ ป้าๆ หรือว่าพี่น้องที่เป็นนักดนตรีมาแจมกัน มันก็จะเป็น Unplugged Jamming แบบไม่ใช้เครื่องเสียงเลย ใครมีเครื่องอะไรยกมา แล้วมันเซอร์ไพรส์มากทุกวันเสาร์ เพราะเดาไม่ได้ว่าใครจะมาบ้างแล้ววันอาทิตย์ก็เป็น Experimental Music เป็นเพื่อนๆ ที่อยากจะเล่นดนตรีเชิงทดลองในบรรยากาศร้านอาหาร
“ริบบิ้นเลยคิดว่าคนมากินข้าวก็ไม่ได้คาดหวังว่ามันจะมีดนตรี แต่เขาก็บอกว่าบรรยากาศกับการกินต่างๆ มันไปด้วยกันได้ ดนตรีกับตอนกลางวันก็ได้เหมือนกัน ดนตรีกับน้ำสกัดเย็นมันก็ได้ กลายเป็นว่าดนตรีมันไม่ต้องอยู่ตอนกลางคืนอย่างเดียว และมันก็ไม่ได้ผูกกับเครื่องดื่มบางชนิด ช่วงโควิด 19 ริบบิ้นเลยคิดว่าถ้าใครไม่รู้จะเล่นดนตรีที่ไหนก็ร้านอาหารได้ เล่นเถอะ” ริบบิ้นอธิบาย
เมื่อสิ่งแวดล้อมกับการกินเป็นเรื่องเดียวกัน
เพราะริบบิ้นเปิดร้านอาหารมังสวิรัติ และเมื่อย้อนกลับไปในวันแรกที่เธอหันหลังให้เนื้อสัตว์อย่างถาวร สิ่งที่เธอเห็นคือข้อมูลต่างๆ จากการทำรีเสิร์ชที่ทำให้เธอเห็นว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นส่งผลกับโลกมาก การเปิดร้านอาหารของเธอจึงพยายามช่วยโลกไปอีกทางหนึ่ง ตั้งแต่การลดใช้พลาสติกแบบ Single-Use ให้ได้มากที่สุด ซึ่งเธอบอกว่าในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา สมถะลดการใช้ขยะพลาสติกไปได้มากกว่า 5,000 ชิ้น รวมถึงการได้รับความร่วมมืออย่างดีจากลูกค้าที่ผูกปิ่นโต หรือพี่ๆ ไรเดอร์ทั้งหลาย
เราสงสัยนิดนึงว่าอะไรทำให้เธอลดขยะพลาสติกได้มากขนาดนี้
“ด้วยความที่การกินมันมีเหตุผลสำคัญมาจากเรื่องสิ่งแวดล้อม เรามองว่าจะทำให้มันตอบวัตถุประสงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมทั้งที ควรคิด-ทำให้รอบกว่านี้ มันจริงอยู่ที่การกินผักมากขึ้น ลดการกินเนื้อสัตว์ จะช่วยในการลดความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ ซึ่งส่งผลดีขึ้นนิดนึงต่อสิ่งแวดล้อม พอมันมีคำว่าสิ่งแวดล้อมนำมันต้องดูกระบวนการอื่นๆ ของเรา มีอะไรบ้างทำลายสิ่งแวดล้อมอยู่ จากที่เราทำแต้มบวกอยู่ จะถูกลบด้วยสิ่งนั้นมันใช่เหรอ เราก็เลยลองคิดให้รอบด้าน อย่างที่เขาบอกว่าจริงๆ ไอเดียของวีแกนมันไม่ใช่แค่เรื่องบริโภค แต่เป็นเรื่องของการอุปโภคด้วย
“เพราะฉะนั้นมันเลยมาสู่สิ่งของเครื่องใช้ด้วย เรื่องการใช้บรรจุภัณฑ์ต่างๆ เรื่องขยะ มันเลยเป็นสิ่งที่อยู่ในวงโคจรของการดูแลสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นถ้าเราทำได้ ปรับนิดนึงแล้วมันดีขึ้น หรือต้องจ่ายแพงขึ้นหน่อยแต่ลูกค้าเข้าใจ ริบบิ้นก็คิดว่ามันคุ้มค่ากับการเปลี่ยนแปลง และก็ใส่ใจกับมันนิดนึง ไหนๆ เราจะใส่ใจเรื่องอาหาร ก็ใส่ใจเรื่องอุปกรณ์ที่ใช้ด้วย” ริบบิ้นตอบคำถามของเรา
ท้ายที่สุดแล้วร้านอาหารวีแกนเล็กๆ แห่งนี้ยืนระยะเปิดร้านท่ามกลางการล้มหายตายจากในภาวะโรคระบาดได้ และยังสร้างสังคมเล็กๆ ของคนทานอาหารวีแกนในจังหวัดเชียงใหม่ได้
เราอยากรู้ว่าสมถะมีความหมายกับเธออย่างไร
“สมถะคือวิถีชีวิตของริบบิ้น และก็เป็นตัวแทนวิถีชีวิตของคนที่อยากจะค้นหาความหมายของชีวิตในแบบที่มันเรียบง่าย ใกล้ชิดกับโลกใบนี้ มันมีความหมายง่ายๆ ที่ริบบิ้นอยากจะยึดเป็นแนวทางการใช้ชีวิตเลยคือ มันง่าย ยิ่งเราอยู่ในไทยกินอะไรมันก็ง่ายไปหมด เราต้องถ่อมตัวให้กับสิ่งแวดล้อมใหญ่ๆ เราต้องน้อมรับความรู้ใหม่ๆ แล้วมันจะเจอความสงบสุขในใจ ในโลกที่มันวุ่นวายแต่ใจเรานิ่ง จะมีอะไรดีไปกว่านั้นอีก ก็เลยคิดว่ามันเป็นไลฟ์สไตล์ แต่ในหลายๆ มุมที่ริบบิ้นจิตเตลิดมาก หวั่นไหวไปกับอะไร เราย้อนกลับมาดูว่าสมถะให้อะไรเราในช่วงโควิด 19 สมถะก็ยังเปิด ความแข็งแรงในจุดนี้มันยิ่งใหญ่กว่าสิ่งอื่นใด มันก็เลยเป็นเรื่องของไลฟ์สไตล์และวิถีชีวิต” ริบบิ้นส่งท้าย