การผจญภัย 15 ปีบนเส้นทางการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมของท็อป-นุ่น ECOLIFE

กะคร่าวๆ เขาและเธอทำงานด้านนี้มาครบ 15 ปีพอดี 

ท็อป-พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร และ นุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา น่าจะเป็นนักแสดงคู่แรกๆ ที่พูดและทำเรื่องสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ข่าวบันเทิง ทำอย่างหนักแน่น ต่อเนื่อง ถึงขั้นพิมพ์คำว่า คู่รักรักษ์โลก ใน Google ภาพของพวกเขาสองคนจะโผล่ขึ้นมาโดยไม่ต้องใส่ชื่อสกุล พร้อมกับข่าวกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมเรียงให้อ่านยาวหลายหน้า

ทั้งสองคนเริ่มต้นจากกิจการเล็กๆ ชื่อ ECOSHOP ร้านขายสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมแห่งแรกในสยามสแควร์ การทำธุรกิจในวันที่คนไม่เข้าใจว่าทำไมต้องซื้อสินค้าแพงๆ เพื่อสิ่งแวดล้อมนั้นไม่ง่าย โชคดีที่พวกเขาไม่ยอมแพ้ งานหลักของท็อปและนุ่นปัจจุบันคือการทำ ECOLIFE แอปพลิเคชั่นบันทึกกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม แลกเปลี่ยนเป็นผลตอบแทนจากผู้สนับสนุน นอกจากนี้ยังรับเป็นที่ปรึกษา ออกแบบ และผลิตสื่อเพื่อสิ่งแวดล้อมในนามบริษัท คิด คิด จำกัด พวกเขามีส่วนในกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมของหลายองค์กร ทั้งออกหน้าทำเองและอยู่หลังฉากคอยแนะนำ ผลักดัน ให้สิ่งที่เขาเชื่อมาตลอดสิบกว่าปีผลิดอกออกผลยิ่งขึ้น

คนใกล้ตัวที่เคยเห็นพวกเขาในอดีต คงไม่เชื่อว่าจากกิจการเล็กๆ จะเติบโตกลายเป็นธุรกิจที่ทำเพื่อเลี้ยงชีพและเพื่อสังคมแบบพอดีๆ วันนี้ท็อปและนุ่นเป็นเหมือนพี่ใหญ่ในแวดวงคนทำคอนเทนต์สายสิ่งแวดล้อม เราชวนพวกเขามาอัพเดตชีวิตเบื้องหลัง ECOLIFE ในวาระที่ทำงานนี้มายาวนาน และมุมมองที่พวกเขามีต่องานสายสิ่งแวดล้อมที่ดูจะเป็นคำยอดฮิตที่ต้องมีในทุกกิจกรรมของทุกองค์กร 

ในวันที่โลกกำลังวิกฤต พวกเขาเชื่อมั่นว่า หากทำให้คนหมู่มากอินเรื่องนี้ แม้เล็กน้อยแต่ต่อเนื่อง ทุกอย่างก็ยังไม่สายเกินไป 

ถ้าทำให้คนบนฐานพีระมิดเปลี่ยนพฤติกรรม อิมแพ็กต์ย่อมเยอะกว่าการสื่อสารกับคนตรงยอดพีระมิดที่รักษ์โลกอยู่แล้ว

ท็อป: ปีนี้เราทำ MOU กับมหาวิทยาลัยผ่านกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เอา ECOLIFE ให้เด็กๆ 157 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศได้ใช้ 

เด็กในมหาวิทยาลัยอินเรื่องสิ่งแวดล้อมแตกต่างกัน บางคนอินมาก บางคนอินน้อย ผมก็เลยทำแคมเปญนี้ขึ้นมาชื่อว่า ‘อินมาก อินน้อย’ เรามองว่าเด็กที่อินน้อยๆ ก็สามารถที่จะทำกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ จะอินมากหรือน้อยก็ได้ ก็เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้เหมือนกัน ไม่ใช่แค่นิสิตนักศึกษา มันขยายไปสู่คนอื่นได้ และแผนเราไม่จบที่มหาวิทยาลัยอย่างเดียว 

กลุ่มต่อไปที่อยากจะไปคุยเพิ่มคือเด็กที่เรียนระดับมัธยมศึกษา ผมจะไปคุยกับทางกระทรวงศึกษาธิการ หรือไม่ก็อาจจะคุยกับกรุงเทพมหานคร เพื่อให้เด็กในโรงเรียนมัธยมช่วยกันทำเรื่องสิ่งแวดล้อม เราอยากให้เขาเข้าใจเรื่องนี้แล้วโตไปด้วยกัน สมมติว่าเด็กคนนี้ลงทะเบียนในแอปตอนอยู่ ม.2 พอเขาเรียนจบมหา’ลัย ไปทำงาน เราก็จะโตกับเขาไปเรื่อยๆ กระตุ้นให้เขาได้ทำกิจกรรมเรื่องสิ่งแวดล้อมได้อย่างต่อเนื่อง

นุ่น: ตอนนี้พี่ท็อปจะดูภาพรวมของแอปพลิเคชั่นกับทิศทาง เราไม่ได้ดูแค่แอป แต่ดู customer journey ร่มใหญ่ นุ่นจะมาเติมเต็มในส่วนของโซเชียลมีเดียที่เพิ่งเริ่มทำกันมา ถ้าให้พูดตามตรง เมื่อก่อนพอพูดเรื่องสิ่งแวดล้อม คนก็จะเห็นเราสองคนเป็นเหมือนคู่รักรักษ์โลก แล้ววันหนึ่ง เราก็รู้สึกว่ามันจะหยุดอยู่แค่นุ่นกับท็อป คนสนใจแค่คำว่าคู่รัก แต่ไปไม่ถึงคำว่ารักษ์โลก 

พอเราเจอเป้าหมายที่อยากจะสื่อสาร คือเด็กรุ่นใหม่ วิธีการสื่อสารจากเราสองคน อาจจะได้ในเชิงพี่ใหญ่แนะนำน้อง แต่เราคิดว่าการสื่อสารกับเด็กยุคนี้ควรให้เขาเป็นคนคุยเหมือนภาษาของเขามากกว่า เราเลยก็ฟอร์มทีมโซเชียลจะสื่อสารกับเขาแบบไหน อันนี้คืองานที่นุ่นดูแล 

คนที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมจริงๆ ไม่ต้องไปบอกอะไรหรอก เขาทำอยู่แล้ว แต่สิ่งที่จุดประกายเราคือ ถ้าคนที่เป็นฐานของพีระมิดไม่ได้สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก ถ้าเราสามารถทำให้คนกลุ่มนี้เห็นประโยชน์ เปลี่ยนพฤติกรรมคนละนิด คนละหน่อย อิมแพ็กต์ที่เกิดขึ้นย่อมเยอะกว่าคนที่อยู่ตรงยอดพีระมิดที่รักษ์โลกอยู่แล้ว ประจวบกับที่พี่ท็อปบอกว่า เขาได้เด็กมหา’ลัยที่แบบเป็นกลุ่มสื่อสาร มันเลยต่อจิ๊กซอว์ว่างั้นเราพูดแค่อินมากอินน้อยแล้วกัน ไม่ได้อยากบังคับใคร ไม่ได้อยากตีหน้าว่า เธอเป็นคนไม่ดีนะ เธอแบบไม่ได้รักโลก คือจริงๆ ใครๆ ก็ทำเพื่อสิ่งแวดล้อมได้ 

ท็อป: เราคิดว่าทุกคนมีสิทธิในการที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี เราเลยทำ ECOLIFE หลังจากนั้น เราพัฒนา ECOMAP ขึ้นมา เป็น destination ที่ทำให้รู้ว่าเราจะไปทำกิจกรรมเรื่องสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่ไหนบ้าง เช่น จะไปกินข้าว แยกขยะ ไปสวนสาธารณะ เติม EV ทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมได้ที่ไหนบ้าง 

ถ้ามันเป็นไปได้ ในแง่ของกลยุทธ์การหารายได้ เรามองว่าอยากที่จะทำให้มันสอดคล้องกับแนวคิด people wealth planet health เราอาจทำเป็น blockchain ถ้าวันนี้เราทำงานเพื่อแลกกับเงิน ต่อไปเราทำเพื่อสิ่งแวดล้อมแลกกับ coin ซึ่งสามารถสะสมและแลกเปลี่ยนกันได้ นั่นคือภาพที่เราอยากทำให้ถึง 

ตอนนี้สิ่งที่เราทำคือ ให้คนได้เข้ามาใช้แพลตฟอร์มของเรา แล้วก็ทำให้แพลตฟอร์มเติบโตขึ้น แน่นอนว่าเรื่อง user ก็สำคัญ เราเลยเจาะกลุ่มเป็นกลุ่มๆ ไป ตอนนี้เราได้กลุ่มนิสิตนักศึกษา เราก็จะไปกลุ่มอื่นๆ ต่อ ขยายความร่วมมือสำหรับ destination ใหม่ที่จะดึงคนเข้ามา เช่น ร้านขายสินค้าออร์แกนิก Plant based ร้านกาแฟที่ต้องการอยากจะลด Single-use plastics มูลนิธิที่รับของบริจาค ฯลฯ ผมจะเก็บข้อมูลเพื่อเอามาพัฒนาแอปให้ดีขึ้นเรื่อยๆ

ตอนนี้คนใช้ ECOLIFE ส่วนใหญ่เป็นพนักงานออฟฟิศ เพราะว่าช่วง 3 ปีก่อนที่เราพัฒนาแอปนี้ เรามีกลุ่มผู้ใช้เป็นนิสิตนักศึกษา 3 ปีผ่านไปเขากลายมาเป็น first jobber กลุ่มที่สองที่เรากำลังเอาเข้ามาในระบบ end user คือนิสิตนักศึกษาที่เรากำลังทำงานอยู่ ณ ตอนนี้ รวมประมาณ 80,000 ดาวน์โหลด ทำกิจกรรมได้ประมาณ 2,000,000 แอ็กชั่น 

เราไม่ได้เข้าไปด้วยภาพสวยว่าทำเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้วดี เรามาเพื่อช่วยแก้ปัญหา 

นุ่น: คนเปิดรับและต้อนรับเรามากขึ้น ก่อนโควิดประเทศไทยเพิ่งประกาศว่าจะไม่ใช้พลาสติกในร้านสะดวกซื้อ มันกำลังจุดติด พอโควิดมา มันก็มาพร้อมกับการตระหนักเรื่องความสะอาด เราต้องกักตัว อยู่บ้าน ใช้บริการเดลิเวอรี่สั่งอาหาร Single-use plastics กลับมา แต่มันก็เปิดช่องทางใหม่ๆ สำหรับเรื่องสิ่งแวดล้อมสำหรับเราเหมือนกัน เพราะว่ามันทำให้เรื่องของคนที่ พอผ่านเวลาไปสักพัก เขาเริ่มพบว่าพลาสติกเต็มห้องเลย คนก็จะเริ่มหันมาสนใจเรื่องเกี่ยวกับขยะและการกำจัดขยะที่ถูกวิธีซึ่งเมื่อก่อนการจัดการขยะที่ถูกวิธีมันเป็นเรื่องที่แบบไม่ค่อยถูกพูดถึงเท่าไหร่ ในแอปเราก็จะเริ่มมีจุด drop point สำหรับการเอาขยะที่เกือบครึ่งไปจัดการเขาได้ถูกวิธี มันก็เหมือนเปิดเส้นทางสำหรับเรื่องสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ของเราเหมือนกัน 

เหตุผลที่เราสร้างความร่วมมือสำเร็จ หนึ่งคือเรามักจะได้เจอคนที่เห็นงานเราแล้วเก็ตว่ากำลังทำอะไร สอง การที่เราพูดสะท้อนความจริงว่าคนทั่วไปเวลาจะทำเรื่องสิ่งแวดล้อม ปัญหาที่เขาเจอคืออะไร เราไม่ได้เข้าไปด้วยภาพสวยว่าทำเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้วดี เรามาเพื่อช่วยแก้ปัญหา นุ่นว่าสองปัจจัยนี้ทำให้เราได้ความร่วมมือจากหลายๆ ที่ คือต้องบอกว่าหลายๆ ที่เขาสนใจเรื่องนี้นะคะ เพียงแต่ภาพที่เขาเห็น กับภาพที่เราเป็น บางทีไม่สอดคล้องกัน เลยทำให้ไม่เกิดโปรเจกต์อะไร หรือไม่เขาอาจจะมีนโยบายสิ่งแวดล้อมในวิถีของเขา ซึ่งอาจจะไม่สอดคล้องกับเรา แต่นุ่นคิดว่าวันหนึ่งเดี๋ยวมันก็จะทำให้เราเจอกันไม่ว่าวิธีการใดวิธีการหนึ่ง 

ท็อป: ECOLIFE ในช่วงแรกใช้วิธีการทำธุรกิจ 2 รูปแบบ หนึ่งคือเราใช้วิธีการแบบ Social Enterprise อีกอันนึงเราใช้วิธีการแบบ Start up เอาสองอย่างนี้มาผสมกัน ลงรายละเอียดก็คือ การลงทุนเริ่มต้นจากการที่ผมเคยทำ ECOSHOP ขายสินค้า ผมไปทำโปรเจกต์ มีเงินในบริษัทก้อนนึง ในระบบ SE จะต้องแบ่ง 30 เปอร์เซ็นต์กลับคืนสู่สังคมและสิ่งแวดล้อม หลังจากนั้นผมเห็นว่ามันมีโอกาสในการเติบโต ก็ลงทุนเพิ่ม ณ เวลานี้ผมไม่จำเป็นต้องใส่เงินของผมหรือนุ่นลงไป แต่ใช้วิธีขายเป็น project base 

ผมยกตัวอย่างลูกค้าบางท่านให้เห็นภาพมากขึ้น กฟผ. หรือ EGAT ต้องการปลูกป่าเพื่อช่วยลดคาร์บอนให้ครบ 1 ล้านไร่ เราเลยคิดแคมเปญใหญ่ชื่อ ‘ปลูกป่า ล้านไร่’ โดยทำตั้งแต่คิดชื่อ การออกแบบทั้งหมด จัดงานบันทึกความร่วมมือ แต่งเพลง ทำคลิปโปรโมต และที่สำคัญคือใช้ ECOLIFE เป็นเครื่องมือในการให้คนไทยร่วมถ่ายรูปต้นไม้จากแอปเรา คุณจะถ่ายมากเท่าไหร่ก็ได้ ต้นเดิมซำ้ๆก็ได้ เพราะทุกต้นที่คุณถ่าย เราจะแจ้งจำนวนไปที่ กฟผ. แล้วเราจะเอาไปปลูกในพื้นที่จริง อีกไม่นานก็จะพานิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ นั่งรถไฟไปปลูกป่ากันที่ชุมพรด้วย เราจะไปปลูกป่ากันทั่วประเทศจนครบ 1 ล้านไร่ในที่สุด (สามารถเข้าดูได้ที่ www.ecolifeapp.com)

นุ่น: การเป็นท็อปและนุ่นคือประตูบานนึง เปิดโอกาสให้เราเข้าไปเจอกับลูกค้าระดับองค์กร แต่ถ้าตอบคำถามว่าทำไมลูกค้าถึงเลือกที่จะใช้เรา หนึ่งคือเราเป็น technology เรามาเจ้าแรกๆ สองคือการที่เรามีข้อมูล สามเราเป็นเหมือน third party ในเรื่องสิ่งแวดล้อม ถ้าสังเกตจากสิ่งที่พี่ท็อปเล่าเมื่อกี้ ลูกค้านับเองก็ได้ ไม่ยาก แต่พอเราเป็น third party ข้อมูลหลายอย่างถูกติดตามได้ เป็นข้อมูลที่สะท้อนความเป็นจริง แล้วเราก็มี เราเป็นเหมือน community สำหรับคนที่สนใจเรื่องนี้แทนที่เขาจะไปพูดกับใครๆ ก็ได้ ส่วนหนึ่งเสียงของเขาจะถูกนำมาพูดกับคนที่สนใจเรื่องนี้ 

วันนี้เราตกผลึกบางอย่าง เราเคยอยากลองเพิ่มความเป็นธุรกิจ เคยคิดว่าเรื่องส่ิงแวดล้อมหาตังค์ยากเนอะ แต่วันหนึ่งในอายุเท่านี้ นุ่นรู้สึกว่ามันคือคำว่า Social Enterprise ที่เราตั้งใจเป็นตั้งแต่เริ่มต้น มันคือจุดแข็ง ตอบ passion และการอยู่ได้ของเรา วันนี้นุ่นไม่ได้อยากบอกพี่ท็อปว่าไปขอระดุมทุนซีรีส์นี้ๆ เถอะ เพราะนุ่นรู้สึกว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่เป็นสมดุลที่ดี การได้ตังค์เยอะกับสิ่งที่เราทำอยู่ไม่ใช่เส้นทางเดียวกัน คนละ speed แล้วนุ่นก็รัก speed นี้ รักพลังงานของทีม ประมาณนี้ นุ่นโอเคแล้ว 

ท็อป: ในทุกๆ การสัมภาษณ์ เราจะปิดท้ายอยู่เสมอว่าเราก็ไม่ได้เป็นคนดี คือเราสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่เราสนใจแบบที่ยังมีกิเลสอยู่ ไม่ได้สามารถปั่นจักรยานไปได้ทุกที่ ไม่ได้กินอาหารออร์แกนิกหรือแพลนต์เบสด์ ได้ตลอดเวลา เราเรียกตัวเองว่าเป็น flexitarian ผมยืดหยุ่นมากขึ้น เมื่อก่อนผมจะตึงกับการทำงานมาก เพราะอยากให้คนเห็นว่า เวลาเราพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม แล้วถ้าเขาจ้างเรา เราจะยิ่งทำอะไรลวกๆ ให้ลูกค้าเราไม่ได้ ผมจะตึงมากกับกระบวนการ แต่ตอนนี้ผมผ่อนมากขึ้น 

นุ่น: ยกตัวอย่างการดูแลน้องๆ ในทีมโซเชียลมีเดีย พอเราเหมือนตั้ง BU ใหม่ขึ้นมา เรารู้ว่ากระแสดราม่าในโซเชียลมีเดียเดี๋ยวนี้ดราม่าง่ายมาก เมื่อก่อนเราจะซีเรียสมากว่า เฮ้ย ปล่อยไม่ได้นะ คำว่ายืดหยุ่นทำให้เราเปลี่ยนวิธีคิดทำงานกับทีม เพิ่มพื้นที่ให้เขาได้ลองผิดลองถูก เราชอบพูดว่า ลองเลย ผลเป็นไงไม่รู้เหมือนกัน ผิดเดี๋ยวกูขอโทษแทน มันเลยทำให้ทุกอย่างโตขึ้น แล้วเวลาที่เรายืดหยุ่น เราจะเห็นคนสนุก สุดท้ายงานออกมาดีเสมอในทุกมิติเลย

การทำเพื่อสิ่งแวดล้อมแค่วัน World environment day วันเดียว ไม่มีอิมแพ็กต์เท่ากับคนหนึ่งคนพกกระบอกน้ำไปเรื่อยๆ 

ท็อป: ผมว่าชีวิตและงานประจวบเหมาะกันพอดี เรามีแพสชั่นเรื่องสิ่งแวดล้อม วันหนึ่งเราทำให้มันเป็นธุรกิจได้ แล้วภรรยาผมก็สนใจเรื่องนี้ด้วย ดังนั้นก็สามารถทำควบคู่กันไปได้ โดยที่ไม่ได้รู้สึกว่าเวลามีปัญหาแล้วกูเลิกดีกว่า มันยังไม่ถึงจุดนั้น สิ่งที่เราทำตอบโจทย์ทั้งหมด เราก็เลยทำมันได้ต่อเนื่องยาวมาสิบกว่าปีแล้ว และคิดว่าคงทำเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ 

นุ่น: ECOLIFE นำเสนอเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วยท่าทีเป็นมิตร นุ่นสนใจเรื่องอิมแพ็กต์ เรามีความเป็นศิลปินสูง เมื่อไหร่ที่ถูกบังคับ จะทำได้ไม่นาน แต่เมื่อไหร่ที่มันถูกจริตกับความชอบ เราจะทำได้เรื่อยๆ เหมือนกันค่ะ วิถีที่เราจะผสมผสานเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้ากับวิถีชีวิต เพราะเรารู้ว่าการทำอย่างละนิดละหน่อย คนหนึ่งทำแค่เรื่องเดียวก็ได้ แต่จำนวนมาก ทำได้นาน นั้นดีกว่า การทำเพื่อสิ่งแวดล้อมแค่วัน World environment day วันเดียว ไม่มีอิมแพ็กต์เท่ากับคนหนึ่งคนพกกระบอกน้ำไปเรื่อยๆ 

ท็อป: ผมทำคอนเทนต์สิ่งแวดล้อมก่อนก็จริง แต่มาก่อนไม่ได้แปลว่าเก่งกว่า หรือจริงๆ ผมอาจจะไม่ได้มาก่อนด้วยซ้ำ เป็นแค่คนที่อยู่ใน spotlight คนแรกๆ สิบกว่าปีที่แล้วเราเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่สนใจเรื่องนี้ มีรุ่นพี่ที่อินมากสอนเรา ได้ความรู้มามากมาย วันหนึ่ง สิบกว่าปีผ่านไป เราโตขึ้น มีน้องที่อายุน้อยกว่าเข้ามา เด็กตอนนี้เก่งมาก ผมเพิ่งเริ่มทำโซเชียลมีเดียขณะที่คนอื่นทำไปนานแล้ว ผมชื่นชมและเอาน้องมาเป็น reference ต้องขอความรู้จากเขาด้วยซ้ำว่าทำยังไงนะ 

นุ่น: สิบกว่าปีก่อนพี่ท็อปเปิด ECOSHOP ร้านเล็กๆ ตรงสยามฯ กว่านุ่นจะขายสมุดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเล่มนึง 240 บาท พูดชั่วโมงนึงยังขายไม่ได้เลย เพราะคนไม่เก็ตคำว่าอีโค่แปลว่าอะไร ทำไมต้องจ่ายแพงขนาดนั้น โคตรเหนื่อย มีอยู่ร้านเดียว แต่ตอนนี้เรามีเพื่อนที่ช่วยกันพูดเรื่องนี้ อีกอันที่อยากบอกจากใจคือ เราพยายามถอยตัวตนของเราออกมา ให้น้องๆ ในทีมก้าวเข้ามามีบทบาทเรื่องสิ่งแวดล้อม กับกลุ่มเป้าหมายที่เราอยากพูดด้วย เพราะสุดท้ายเราต้องพูดภาษาเดียวกับผู้ฟัง เด็กรุ่นใหม่ passion แรงมากๆ พลังแบบนี้จะไปขับเคลื่อนเป็นกลุ่มเป็นก้อน ซึ่งมันย่อมดีกว่าการพูดคนเดียว 

ท็อป: เราอยากทำให้สิ่งที่เราทำเด่นกว่าท็อป-นุ่น เอาฟังก์ชั่นที่มีมาสื่อสาร ต้องผลักดันทั้งงาน และผลักดันคนรุ่นใหม่ แนวความคิดใหม่ที่มาจากเด็กเจนใหม่ ผมเชื่อว่าพวกเขามีพลัง เขามีความรู้ ผลักทำให้เขามาอยู่แถวหน้า แล้วเราจะคอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง 

นุ่น: เรามองเรื่องความยั่งยืนของ ECOLIFE มากกว่า ไม่ได้มองเรื่อง branding ความเป็นท็อปนุ่นหรือคู่รักรักษ์โลก ถ้าอีโค่ไลฟ์จะยั่งยืน ต้องมีเราสองคนให้น้อยที่สุด แล้วให้ตัวมันเป็นตัวกระบอกเสียงที่ดีที่สุด 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

กุลชนาฎ เสือม่วง

ปูนพร้อมก่อสุดหล่อพร้อมยัง IG: cozy_cream