ฟัง 6 บทเพลงประกอบหนังของธัญญ์ อ่อนวิมล คนเบื้องหลังผู้เชื่อในการทำงานเป็นทีม

ถ้าจะทำหนังดีๆ สักเรื่อง คุณคิดว่าต้องมีอะไรบ้าง?

พล็อตชวนติดตาม ไดอะล็อกคมคาย พลังของนักแสดง เอฟเฟกต์วูบวาบ อาร์ตไดเรกชั่นเนี้ยบๆ และอื่นๆ ที่ตามองเห็นน่าจะเป็นคำตอบที่ได้รับความนิยมมากที่สุด แต่ถ้าเราลองขอให้คุณปิดเสียงเพลงประกอบสัก 5 นาที คุณว่าหนังเรื่องนั้นจะยังเป็นหนังที่ดีได้อยู่มั้ย

แม้ใครบางคนจะกล่าวไว้ว่าเพลงประกอบคือครึ่งหนึ่งของภาพยนตร์ แต่เพราะคนดูมักไม่ได้ให้ความสนใจเพลงประกอบเท่ากับสิ่งที่ตาเห็นนัก ทำให้อาชีพในฝันของคนที่หลงใหลในภาพยนตร์มักไปจบอยู่ที่ตำแหน่งผู้กำกับ คนเขียนบท หรือผู้กำกับภาพเสียมากกว่า แต่นั่นอาจจะต้องยกเว้น
ธัญญ์ อ่อนวิมล เอาไว้คนหนึ่ง

เล่าแบบกดปุ่มฟาสต์ฟอร์เวิร์ด ธัญญ์คืออดีตนักศึกษาเอกภาพยนตร์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เลือกเบนเข็มเข้าสู่โลกดนตรีอย่างจริงจังจนถึงขั้นบินไปเรียนปริญญาตรีอีกใบในสาขา Film Scoring ที่ Berklee College of Music สถานที่ที่ทำให้เขาเติบโตเป็นนักทำเพลงประกอบหนังมืออาชีพ พร้อมพอร์ตโฟลิโอเป็นบทเพลงประกอบหนังหลากหลายสไตล์จนเรางงงวย

“เราถือว่าเราเป็นหนึ่งในทีมงานสร้างหนัง ทุกคนต้องไปด้วยกันหมด จะทำงานตามใจฉันไม่ได้เลยเพราะว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับผู้กำกับและโปรดิวเซอร์” ธัญญ์ให้เหตุผลถึงความหลากหลายในพอร์ต

เส้นทางสายดนตรีของธัญญ์เป็นยังไง บทเพลงของเขามีคำตอบ


เพลงที่ 1 : BLOODY TANGO
นักทำเพลงของเพื่อนสมัยมหาวิทยาลัย

เพราะการดูหนังคืองานอดิเรกของธัญญ์ตั้งแต่เด็กๆ เมื่อถึงช่วงวัยที่ต้องเลือกเส้นทางเดินของชีวิต เขาถึงเลือกเรียนภาพยนตร์อย่างไม่ลังเลด้วยความฝันจะเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ ส่วนอาชีพนักแต่งเพลงประกอบหนังนั้นไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาแต่อย่างใดเพราะตอนนั้นเขาไม่รู้จักอาชีพนี้ด้วยซ้ำ

“พอเข้ามาเรียนหนังจริงๆ เราได้ทำกิจกรรมดนตรีนอกห้องเรียนเยอะมาก จนกระทั่งเพื่อนเห็นภาพลักษณ์เราเป็นคนดนตรี พอถึงปีสี่เขาก็เลยบอกให้ไปทำเพลงละครคณะหน่อย ชื่อเรื่องว่า
Just Buried ด้วยรักและเกลียดชัง เราก็เลยลองดู ตอนนั้นยังไม่มีหลักการอะไรด้วย กดไปตามที่ใจต้องการเลย”

“ก่อนหน้านั้นเราเล่นแซ็กโซโฟน เล่นเปียโนอยู่แล้ว แต่นั่นเป็นครั้งแรกที่เราแต่งเพลงจริงๆ แล้วก็ทำได้ กลายเป็นว่าเพื่อนในเอกฟิล์มบอกว่ามาทำเพลงให้หนังกูหน่อย มันก็เลยได้แต่งเรื่อยมา เราแต่งให้หนังของเพื่อน แต่งให้หนังตัวเองด้วย แล้วก็เริ่มกระโดดไปแต่งเพลงให้เด็กมหิดล จนพอเรียนจบเราก็คิดว่า หรือจะลองดูสักตั้ง”


เพลงที่ 2 : DRAGON FLIGHT
นักเรียนเอก Film Scoring ผู้ไม่มีพื้นฐานด้านทฤษฎีมาก่อนเลย

หลังเรียนจบ ธัญญ์ลองรับงานเพลงประกอบหลากหลายแนว ทั้งทำเพลงประกอบสารคดีของ ThaiPBS และเพลงประกอบละครเวทีจนมั่นใจว่านี่คืองานที่อยากทำจริงๆ นั่นคือจุดเริ่มต้นของการบินข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนสาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ถึงอเมริกา

“เราแค่เล่นดนตรีได้ อ่านโน้ตเป็น แต่เราไม่รู้พื้นฐานดนตรีแบบจริงๆ จังๆ พอไปเรียนที่นั่น ช่วงแรกๆ เขาสอนเรื่องทฤษฎี เช่น โครงสร้างเพลงแบบนู้นแบบนี้ เราเลยค่อนข้างช็อก แต่สองปีหลังนี่แหละที่ยากกว่าเพราะเริ่มเข้าเรื่องการทำเพลงประกอบหนังแล้ว ครูจะลองโยนฉากจากหนังหลายๆ แนวแบบปิดเสียงมาให้เราแต่งเพลง อย่างหนังตลก หนังแฟนตาซี หรือ
How to Train Your Dragon ก็เคยทำ จุดนั้นเราก็ช็อกอีกเพราะเรารู้สึกว่าเรายังไม่รู้อะไรมากแต่ก็ต้องลองแต่งดู

“นี่ยังไม่นับว่าเราจะต้องลองอัดเพลงจริงๆ กับวงออร์เคสตรา เรื่องนี้ก็ค่อนข้างกดดันเพราะลองนึกภาพว่าเราไปยืนอยู่หน้านักดนตรี 50 กว่าคนสิ มันเป็นอีกโลกหนึ่งจากที่เราเคยแต่งแค่เพลงละครคณะเลย แล้วเพลงสกอร์จะไม่มีการซ้อมก่อน เพราะว่าเวลาในสตูดิโอมันเป็นเงินเป็นทอง ถ้าเลยเวลาไปนักดนตรีเขาอาจจะเรียกเก็บเงินเพิ่มเป็นร้อย เป็นพันดอลลาร์ เพราะฉะนั้นการเขียนเพลงสำหรับหนังมันจะต้องง่าย แต่ในขณะเดียวกันมันก็ต้องฟังดูว่ามันไม่ง่ายด้วย”


เพลงที่ 3 : THE DARK FOREST
หนังผีคือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด

นอกจากงานในห้องเรียน ธัญญ์ยังมีพลังพอจะรับงานแต่งเพลงอื่นๆ ด้วย อย่างเพลงประกอบสารคดี
Tipitaka the Living Message ที่เล่าเรื่องพระไตรปิฎก สารคดี National Park of Thailand ที่ทำให้องค์การวิทยาศาสตร์แห่งชาติ หรือทำเพลงประกอบละครเวทีเรื่อง ซ้อน A New Musical ซึ่งแสดงไปเมื่อเดือนกรกฎาคมและจะรีสเตจใหม่ในเดือนกันยายนนี้ แต่น่าแปลกที่การเรียนรู้ที่เขาชอบที่สุดกลับมาจากหนังประเภทที่เขาไม่ชอบดูเท่าไหร่นัก

“วิธีคิดสำหรับงานแต่ละประเภทก็ต่างกันนะ เช่น หนังจะมีความดรามาติก ต้องตีความเพลงให้เข้ากับภาพ เช่น ถ้ามีผีโผล่มาเพลงก็จะต้องดัง ตึ้ง! ตรงนั้นพอดี แต่พอเป็นสารคดีหรือการนำเสนอความจริง เพลงก็ต้องลดความดราม่าลง ละครเวทีนี่แตกต่างที่มีเนื้อร้อง เพลงจะต้องส่งนักร้องที่สุด และต้องซ้อมหนักๆ เพราะเล่นดนตรีสดทุกรอบ ช่วงหลังๆ นี้เราก็ได้แต่งเพลงประกอบเกมด้วย จะเป็นเพลงแบบ interactive music เช่น มีเพลงตอนชนะ ตอนแพ้ ก็ต้องทำหลายๆ เลเยอร์ให้โปรแกรมเมอร์เอาไปมิกซ์ได้

“ล่าสุดเราชอบทำเพลงประกอบหนังทริลเลอร์กับหนังสยองขวัญ จริงๆ เวลาดูเราก็กลัวแหละแต่เพลงประเภทนี้จะใช้เทคนิคประหลาดๆ ที่หลุดจากกรอบการเล่นที่สวยงามปกติ เช่น ให้ไวโอลินสีเอี๊ยดดด เอี๊ยดดดดด หรือเล่นโน้ตนอกเหนือจากโน้ตมาตรฐาน มันส่งให้หนังมีโทนที่น่าสนใจขึ้น เราก็ได้ทดลองอะไรหลายๆ อย่าง ได้รู้เทคนิคเครื่องดนตรีมากขึ้นด้วย ดังนั้นหนังผีนี่แหละเป็นแบบฝึกที่ดีที่สุด (หัวเราะ)”


เพลงที่ 4 : CAIRO
ความเอ็กซอติกคือจุดแข็งในฮอลลีวูด

ท่ามกลางงานมากมายที่ผ่านมา นอกจากธัญญ์จะได้ทำเพลงให้ซีรีส์หรือละครในไทยแล้ว เขายังมีผลงานทำเพลงให้สื่อจากจีนอีกจำนวนหนึ่ง เช่น
Yolk Man ซีรีส์จีนแนวไซ-ไฟ เอเลี่ยน ที่เขากำลังทำเพลงให้ เรื่องนี้ต้องยกประโยชน์ให้การเป็นคนเอเชีย ทำให้เข้าใจแนวเพลงตะวันออกได้ดีกว่าฝรั่งมาก

“เราคิดว่ามันเป็นข้อได้เปรียบของเรานะเพราะเรารู้จักความเป็นเอเชียอยู่แล้ว แต่เราไปเรียนรู้งานที่เป็นตะวันตกเพิ่มเราเลยทำได้ทั้งสองอย่าง จะงัดอะไรขึ้นมาก็ได้ จะให้คนตะวันตกทำงานตะวันออกได้ดีเท่าเราคงยากเพราะเราจะรู้วัฒนธรรม รู้จังหวะ เป็นข้อได้เปรียบและจุดเด่นที่น่าสนใจ แต่จริงๆ แล้วเราก็ทำให้ได้ทุกอย่าง (หัวเราะ)

“คนดูตะวันตกกับตะวันออกก็ต่างกัน อย่าง
Yolk Man เป็นซีรีส์ไซ-ไฟ ธีมเอเลี่ยนของจีน ซึ่งพอเริ่มทำเราก็คิดในหัวว่าเราจะทำเพลงแนว Stranger Things จะดึงแนวมาร์เวลมาใส่ แต่หลังจากลองทำแล้วส่งให้เขา สิ่งที่ได้กลับมาก็คือคอมเมนต์ว่า ก็ดีนะ แต่มันเอเชียไม่พอ (หัวเราะ) เราเลยต้องกลับมานั่งคิดถึงสมัยมัธยมที่เราดูหนังผี ดูหนัง GDH ไปรีเสิร์ชเพิ่ม แล้วก็พยายามคิดดนตรีให้นุ่มลง”


เพลงที่ 5 : THE VALLEY OF LIGHT
ฟังเยอะ ดูเยอะ เพิ่มแสงสว่างให้การทำงาน

เช่นกันกับหลายๆ อาชีพที่ต้องเพิ่มความรู้ให้ตัวเองอยู่เรื่อยๆ การเป็นนักแต่งเพลงก็ทำให้เขาต้องฟังให้เยอะ ดูให้เยอะ เพื่อเพิ่มความสามารถอยู่เสมอ และเพื่อไม่ให้งานของตัวเองไปซ้ำกับของเก่าที่ใครเคยทำไว้แล้วด้วย

“พอเรามาอยู่แอลเอ เราต้องคอยอัพเกรดตัวเองตลอดเวลา ว่างๆ ก็ต้องหาโน้ตเพลงประกอบหนังมาดู หรือลองศึกษาเทคนิคและโปรแกรมใหม่ๆ เพื่อเพิ่มลูกเล่น อยู่ที่นี่เราต้องแข่งขันกับคนอื่นตลอดเวลา ดังนั้นเราต้องทำงานไปเรื่อยๆ ทำให้เหนื่อย แล้วก็มีวินัยในตัวเอง เพราะในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซีรีส์ เกม อะไรก็แล้วแต่ เขาสั่งงานมาเราก็ต้องทำให้เสร็จ ไม่มีหยุดพัก เพลงมันเป็นงานศิลปะก็จริง แต่เราต้องทำตามเดดไลน์ให้ได้ ถ้าทำได้ ทุกอย่างก็จะง่ายขึ้น เราจะอยู่ในมาตรฐานที่คนฮอลลีวูดเขาทำกัน

“โน้ตเพลงในโลกนี้มีแค่ 12 ตัว มันมีโอกาสอยู่แล้วที่มันจะบังเอิ๊ญบังเอิญมาคล้ายกัน ซึ่งมันเคยเกิดขึ้นจริงๆ กับเราตอนทำงานที่โรงเรียน ตอนนั้นเราแต่งเพลงออกมา ครูก็บอกว่าขอโทษนะ รู้สึกผิดจริงๆ รู้ด้วยว่าไม่ได้ลอก แต่มันเหมือนคนอื่นอะ (หัวเราะ) ดังนั้นเราต้องฟังเพลงเยอะๆ ด้วยแหละ แล้วเราก็จะรู้เองว่ามันเหมือนคนอื่นหรือไม่เหมือน เป็นการบ้านที่นักแต่งเพลง นักดนตรีต้องทำ”


เพลงที่ 6 : THE FINAL BATTLE
นักทำเพลงประกอบหนังคือส่วนหนึ่งของทีม

แม้งานทำเพลงประกอบหนังจะเป็นงานที่หนัก เหนื่อย และหลายครั้งก็โดนคนดูมองข้าม แต่ธัญญ์ก็ไม่คิดจะย้ายไปทำงานเบื้องหน้า เพราะความเข้าใจว่างานทำเพลงประกอบคือการทำงานเป็นทีม เหนื่อยเป็นทีม และรับรางวัลเป็นทีม

“เพลงประกอบหนังที่ดีไม่ใช่เพลงที่เพราะอย่างเดียว แต่เพลงประกอบหนังที่ดีคือเพลงที่ทำให้คนดูไม่สังเกตว่ามีเพลงอยู่ตรงนั้น เพราะความหมายของเพลงประกอบหนังก็คือการช่วยเพิ่มมิติ เพิ่มอารมณ์ของหนัง ช่วยขยายการแสดงของนักแสดง ดังนั้นคนดูไม่ควรจะรู้ว่านี่มันเพลงของฉันนะ หน้าที่ของเราคือซัพพอร์ตหนังให้ดีที่สุด

“เราไม่คิดมากเรื่องการเป็นคนเบื้องหลังเพราะเรารักที่จะมีส่วนร่วมในการสร้างภาพยนตร์ เราไม่ได้ทิ้งความฝันที่จะทำหนังไป เราชอบที่เพลงที่เราแต่งได้เล่นสดโดยวงออร์เคสตรา ต่อให้เหนื่อยทำงานมาทั้งเดือน พอได้ยินออร์เคสตราเล่นสดในวันอัดจริงมันเหมือนเป็นรางวัลที่เราเหนื่อยมาทั้งหมด เราชอบเห็นหนังมีชีวิตขึ้นมาด้วยเพลงของเรา เป็นความสุขที่เราได้เอาดนตรีของเรา หัวใจของเราใส่ลงไปในหนัง มันคุ้มนะที่เราจะยอมเหนื่อยเพื่อสิ่งนี้”

บทเพลงประกอบภาพยนตร์เพราะๆ ของธัญญ์ยังมีอีกมาก ตามไปฟังและติดตามผลงานใหม่ๆ ได้ที่ tanonwimon.com

AUTHOR