พรจากฟ้า : ไล่ลำดับขั้น 7 โน้ตดนตรีก่อนจะมาเป็นหนังรักของขวัญปีใหม่ให้คนไทยโดยค่ายหนัง GDH

เราเห็นเทรเลอร์และเรื่องย่อภาพยนตร์เรื่องใหม่จาก
GDH ในเวลาที่เมืองไทยเพิ่งผ่านพ้นเหตุการณ์ความสูญเสียครั้งใหญ่ไปพอดี
พรจากฟ้า คือโปรเจกต์หนังรัก 3 เรื่องราวจาก 4 ผู้กำกับที่หยิบเอาบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาเป็นหัวใจสำคัญ
ด้วยความตั้งใจจะมอบดนตรีเป็นของขวัญปีใหม่ให้ชาวไทยทุกคน เหมือนอย่างที่ในหลวงรัชกาลที่
9 เคยพระราชนิพนธ์เพลง ‘พรปีใหม่
เป็นของขวัญชิ้นใหญ่ให้ชาวไทยมาแล้ว

ในโอกาสพิเศษนี้ เราแวะไปพูดคุยกับ เก้ง-จิระ
มะลิกุล
หนึ่งในผู้กำกับของเรื่องซึ่งเป็นคนต้นคิดโปรเจกต์นี้ และ วรรณ-วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ โปรดิวเซอร์คนเก่งของค่าย ถึงที่มาที่ไป เบื้องหลังความคิด
และความทุ่มเทแบบสุดตัวทุกขั้นตอน เพื่อให้
พรจากฟ้า เป็นเหมือนของขวัญล้ำค่าที่มีความหมายมากที่สุดสำหรับคนไทย

โน้ตตัวที่หนึ่ง : จากติโตสู่บทเพลงพระราชนิพนธ์

พรจากฟ้า
ไม่ได้เป็นหนังที่คิดและถ่ายทำขึ้นหลังจากเหตุการณ์ความสูญเสียครั้งใหญ่อย่างที่ใครบางคนเข้าใจ
แต่ความคิดว่าอยากจะทำภาพยนตร์เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอยู่ในความคิดของจิระมานานกว่า
3 ปีแล้ว แรกเริ่ม เขาตั้งใจหยิบพระราชนิพนธ์แปลเรื่อง
ติโต มาดัดแปลงเป็นแอนิเมชัน
แต่เนื่องจากมีเนื้อหายากต่อการตีความและปรับให้เป็นบริบทสังคมไทย โครงการนั้นจึงล้มพับไป
แต่ความตั้งใจยังมีอยู่

จิระ: ปลายปีที่แล้ว ผมอ่านบทความเจอว่าเพลง พรปีใหม่
เป็นเพลงที่ในหลวงพระราชทานให้เป็นของขวัญประชาชนเมื่อปี 2495 นี่เป็นไอเดียที่สร้างสรรค์มากของพระองค์ ตอนแรกผมก็คิดว่าให้เพลงเป็นของขวัญกันได้ด้วยเหรอ แต่มันได้นะ ในเนื้อเพลง ‘ข้าวิงวอนขอพรจากฟ้า ให้บรรดาปวงท่านสุขศรี โปรดประทานพรโดยปราณี
ให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัย’
ก็เขียนชัดเจนว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 กำลังตรัสกับคนไทยว่า
เอาน่ะ ปีหน้าจะโชคดีแล้ว
ผมว่าดีกว่าการที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เอาเงินของประเทศมาหารให้ประชาชนอีก
กำลังใจของคนไทยที่จะมีกับการทำงานไปตลอดทั้งปี มูลค่ามันมากกว่ากันเยอะ

พอไอเดียนี้มากระทบใจก็ทำให้พบว่าจริงๆ
แล้วเพลงพระราชนิพนธ์ไม่ได้อยู่บนหิ้งนี่นา เป็นเพลงฮิตของประชาชน ก็คุยกับวรรณว่าเรามาทำหนังว่าด้วยการให้เพลงเป็นของขวัญในต่างวาระกันดีกว่า

โน้ตตัวที่สอง : ใช้บทเพลงเป็นหัวใจสำคัญของเรื่อง

ภาพยนตร์ที่ว่าด้วยแรงบันดาลใจจากเพลงพระราชนิพนธ์ก็มีมาหลายเรื่อง
อย่างล่าสุดคือ
คีตราชนิพนธ์ บทเพลงในดวงใจราษฎร์ ซึ่ง GTH ก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วมด้วย
แต่กับ
พรจากฟ้า วรรณฤดีตั้งใจว่าจะพูดถึงดนตรีและบทเพลงพระราชนิพนธ์โดยตรง
ซึ่งสิ่งที่จิระและวรรณฤดีทำตั้งแต่เริ่มต้นโปรเจกต์นี้กลับไม่ใช่การคิดบท แต่คือไปลงสมัครเรียนดนตรีกับโครงการศึกษาดนตรีสำหรับบุคคลทั่วไป
วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลกันเลย!

วรรณฤดี: พอเราเข้าไปสู่โลกของดนตรี ลองหัดเล่นดนตรี เล่นเพลงพระราชนิพนธ์
ก็เหมือนว่าเราได้ใกล้ชิดในหลวงรัชกาลที่ 9 ขึ้นไปอีกนิด การที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงรักดนตรีมากขนาดที่ไม่ได้เป็นแค่คนฟัง
ไม่ใช่แค่ทรงดนตรี แต่พระราชนิพนธ์เพลงด้วย นี่คือในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับดนตรีในชีวิตคนเรามากเลยนะ
เราเลยตั้งใจว่าหนังต้องตั้งใจพูดถึงเพลงจริงๆ เล่าว่าเพลงพระราชนิพนธ์อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา
แต่เราไม่รู้ว่าสามารถนำมาเล่น มาร้องได้นะ พยายามจะเล่าทั้งในระดับว่าเพลงพระราชนิพนธ์อยู่ในชีวิตคนไทยอย่างไร
ไปจนถึงระดับสากลว่าดนตรีมีอิทธิพลยังไงกับชีวิตมนุษย์เรา

โน้ตตัวที่สาม : เลือกผู้กำกับจากความรักในดนตรี

จากจุดเริ่มต้นในเดือนธันวาคม 2558
ทีมงานทั้งหมดตั้งใจว่าจะจัดฉายในเดือนธันวาคมปีนี้ นั่นทำให้ระยะเวลาในการทำบท
ถ่ายทำ ตัดต่อ มีเพียง 1 ปีเท่านั้น ซึ่งสั้นมากหากเทียบกับผลงานของ GDH เรื่องอื่นๆ

วรรณฤดี: วิธีที่เหมาะคือต้องช่วยกันทำเป็น 3 ตอน ก็คุยกันว่าผู้กำกับน่าจะต้องเป็นคนที่รักดนตรี
เล่นดนตรีได้บ้าง จริงๆ ผู้กำกับที่เล่นดนตรีได้มีเยอะกว่านี้แต่ที่เลือกมาเพราะเรารู้สึกว่าน่าจะหลากหลายดีถ้าอยู่ในหนังเรื่องเดียวกัน
อย่างพี่เก้งมือใหม่ หัดเล่นดนตรี แต่ว่าฟังเพลงเยอะ ต้น (นิธิวัฒน์ ธราธร)
ก็รักดนตรีและหนังเขาเกี่ยวกับดนตรีมาหลายเรื่อง ส่วนหมู (ชยนพ บุญประกอบ) และปิง
(เกรียงไกร วชิรธรรมพร) นี่เก่งเลย เล่นเครื่องดนตรีได้หลายอย่าง ที่จับเขามากำกับร่วมกันคงเพราะเรานึกออกมั้งว่าถ้าแต่ละคนทำคนเดียวจะออกมาเป็นยังไง
ถ้าคู่กันน่าจะตื่นเต้นกว่าทั้งในฐานะเราที่เป็นคนทำด้วย
คนดูก็น่าจะรู้สึกเหมือนกัน ซึ่งพอมารวมกัน เราก็สามารถพาทั้งสองคนไปทำในสิ่งที่ไม่เคยทำได้จริงๆ”

โน้ตตัวที่สี่ : เล่าเรื่องราวแต่ละเพลงด้วยวิธีที่หลากหลาย

วรรณฤดี: พอพี่เก้งได้แรงบันดาลใจมาจากในหลวงพระราชนิพนธ์เพลงเป็นของขวัญให้ประชาชน
ก็ล็อกไว้แล้วว่าต้องมีเพลง
พรปีใหม่ ประกอบกับพี่เก้งเรียนทรอมโบนไปได้สักพัก
ครูเขาก็คะยั้นคะยอให้เราไปเรียนคลาสรวมเพื่อจะได้เข้าใจการเล่นดนตรีเป็นวง
เลยเป็นความประทับใจว่าเรื่องนี้เราอยากเล่าถึงวงที่มีนักดนตรีเล่นรวมๆ กัน
และเป็นคนหลากหลาย

ส่วนของต้นเขาชอบเพลง Still on my mind พอดี มันก็เหมาะกับเปียโนคลาสสิก
แล้วพอดีต้นมีไอเดียเรื่องดนตรีบำบัด (Music Therapy) อยู่แล้ว
แต่เรื่องนี้เราอยากทำในแง่ว่าดนตรีก็บำบัดคนที่ต้องดูแลคนป่วยเหมือนกัน
เนื้อหาของเพลงก็พูดเรื่องสิ่งที่อยู่ในใจ ความทรงจำพอดี ทั้งหมดก็ดูจะเข้ากันอย่างลงตัว

ส่วนหมูกับปิงเขาเลือกเพลง ยามเย็น
ตั้งแต่แรก พอฟังเพลงนี้แล้วเขาเห็นภาพพระอาทิตย์ตกดินซึ่งเป็นเมจิกโมเมนต์สำหรับคนทำหนัง
เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ เหมือนกับการตกหลุมรักในช่วงเวลาสั้นๆ เหตุการณ์เดียว วันเดียว
และพอดีพี่เองมีไอเดียเรื่องการพบรักกันโดยเล่นบทสแตนด์อินซึ่งเราเห็นเขาซ้อมกันตามงานพิธีการต่างๆ
ในเรื่องคือเป็นบทท่านทูตกับภรรยาท่านทูต ก็ตลกดีว่าเราไม่รู้จักกันแต่ฉันต้องมาเป็นภรรยาเธอเหรอ
มันเอื้อให้เป็นหนังรักมั้งคะ

โน้ตตัวที่ห้า : ไม่ใช่แค่แสดงหนัง
แต่ต้องเล่นดนตรีด้วย

ผู้กำกับก็เลือกจากคนที่รักดนตรี นักแสดงของเรื่องก็ต้องใช้เงื่อนไขเดียวกันคือต้องหัดซ้อมเครื่องดนตรีที่เล่นในหนังจริงๆ
เพื่อให้อินกับตัวละครที่สุด ไม่ว่าจะเป็น เต๋อ-ฉันทวิชช์ ธนะเสวี ที่ต้องไปเรียนแซกโซโฟน
(ซึ่งเก่งมากระดับที่ครูสอนดนตรีเอ่ยปากชม) หนูนา-หนึ่งธิดา โสภณ ยอมเจียดเวลาจากการแสดงละครเวทีมาซ้อมทรัมเป็ต
หรือแม้แต่ มิว-นิษฐา จิรยั่งยืน ก็ทุ่มเทหาเวลาซ้อมเปียโนแม้ว่าจะมีคิวถ่ายละคร 7
วันเต็ม จนสามารถเล่นเพลง
Still
on my mind
ได้จนจบ

วรรณฤดี: พอเล่าแบ่งเป็นตอนๆ
ถ้านักแสดงเขาคิดมากว่าทุ่มเทไปแต่ก็เป็นแค่ตอนเดียวของหนังเองก็อาจไม่อยากทำ
เราเลยต้องชวนคนที่ชอบบทมากๆ อยากทำงานที่เกี่ยวข้องกับเพลงพระราชนิพนธ์
และที่สำคัญ คืออยากจะลองเล่นดนตรีหรือพยายามดู
ทำได้ไม่ได้ยังไม่สำคัญเท่ากับความพยายามอยากจะซ้อมเอง เล่นเองโดยไม่ใช่สแตนด์อิน เราชวนทุกคนด้วยเงื่อนไขแบบนี้
และก็ไม่น่าเชื่อว่าทุกคนก็ตอบรับอย่างดี

ส่วนที่เลือกนาย (ณภัทร
เสียงสมบุญ) มาเล่นเรื่อง ยามเย็น ส่วนหนึ่งเพราะเรื่องนี้เราเขียนบทให้พระเอกหลุดออกมาจากซีรีส์เกาหลี
หยอดแล้วสาวเหลวเลย เป็นคาแรกเตอร์พระเอกที่ GDH ยังไม่เคยมีและคิดว่านายน่าจะทำได้ ซึ่งนายและวี
(วิโอเลต วอเทียร์) เล่นดนตรีได้ทั้งคู่ แต่เราเปลี่ยนให้เรื่องนี้เป็นการร้องเพลงประสานเสียงแทน
กลายเป็นว่าวีต้องร้องเพลงพระราชนิพนธ์ และทั้งคู่ต้องมาหัดซ้อมบอดี้เพอร์คัสชันซึ่งยากไม่ต่างจากคนอื่นๆ

โน้ตตัวที่หก : รวมพลังคนดนตรีมืออาชีพ

เพลงพระราชนิพนธ์ที่ใช้ในหนังแต่ละตอนจะถูกเรียบเรียงใหม่ให้แตกต่างไปจากเวอร์ชันที่เราเคยได้ยินได้ฟังกันเพื่อให้คนดูได้ลองฟังเนื้อร้องอย่างตั้งใจจริงๆ
รวมไปถึงสกอร์เพลงประกอบของหนังทั้งเรื่องยังได้ รศ. ดร.สุกรี เจริญสุข
คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ซึ่งคุ้นเคยกันดีอยู่แล้วตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่อง
Seasons Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย มาช่วยเหลือโดยให้วงดนตรี Thailand Philharmonic Orchestra (TPO) มาบรรเลงเพลงประกอบให้ฟรีๆ แถมยังให้ใช้หอประชุมมหิดลสิทธาคารที่มีระบบเสียงดีที่สุดแห่งหนึ่งในอาเซียนเป็นสถานที่อัดเสียงด้วย

วรรณฤดี: เดี๋ยวนี้หนังไทยยกระดับขึ้นมาทุกด้าน ทั้งเรื่องบท
การกำกับ การถ่ายภาพ แต่ด้านดนตรีเป็นด้านที่ไม่เคยถูกยกระดับเสียที
ไม่ใช่ว่าคอมโพสเซอร์ไม่เก่งนะ แต่เขาทำงานอยู่คนเดียวในเวลาที่จำกัด ซึ่งเราเองอยากทำอยู่แล้วแต่ที่ผ่านมาไม่มีโอกาสเพราะเรื่องของเงินทุน

ขั้นตอนคือเราต้องให้พี่โหน่ง
หัวลำโพงริดดิม (วิชญ วัฒนศัพท์) ทำเพลงทั้งหมดแล้วส่งไปให้คุณใหญ่ (ณรงค์
ปราณเจริญ) คอมโพสเซอร์ไทยมือหนึ่งซึ่งทำงานอยู่ที่ลอสแองเจลิส นำเพลงไปกระจายเป็นเครื่องดนตรี
92 ชิ้น ส่งกลับมาให้นักดนตรีเล่นและอัดเสียง
ซึ่งทุกกระบวนการใช้เวลาเพิ่มขึ้นมา 2 เท่า

จิระ: ตอนที่เขาอัดเพลงสกอร์กันอยู่ ผมก็ไปนั่งฟังด้วย
ดนตรีไม่ได้ถูกเล่นผ่านเครื่องขยายเสียงเลยแต่เป็นด้วยธรรมชาติของมัน อาศัยจำนวนคนเยอะและการสะท้อนที่ดี
มันเพราะมากด้วยตัวของมันเอง พวกเราฟังเสร็จก็ได้แต่พูดว่าอยากจะกลับไปถ่ายหนังใหม่
อยากให้งานด้านภาพ การแสดง มันดีทัดเทียมพอกับสกอร์จริงๆ
มันยังไปได้อีกเยอะมากๆ

โน้ตตัวที่เจ็ด : ดูจบแล้วอยากให้รู้สึกกับดนตรีเปลี่ยนไป

เชื่อว่าองค์ประกอบเรื่องเพลงที่สมบูรณ์แบบของ
พรจากฟ้า น่าจะมีผลต่ออารมณ์คนดูไม่น้อย เช่นกันกับทีมงานที่ระหว่างคลุกคลีกับโปรเจกต์นี้ก็หลุดเข้าไปในโลกของดนตรีและเพลงพระราชนิพนธ์กันสุดตัว
เปลี่ยนความรู้สึกนึกคิดที่เคยมีต่อดนตรีไปทีละน้อย
สมความตั้งใจที่อยากจะทำให้ดนตรีอยู่ในชีวิตทุกคน

จิระ: เวลาทำหนัง
คนทำหนังก็เหมือนจะเข้าไปในโลกของแต่ละเรื่องอยู่แล้ว
แต่เรื่องนี้เรารู้สึกว่าโลกนี้มันใหญ่มาก มันถีบเราไปไกลมาก
หวังว่าคนดูจะได้ความรู้สึกนี้เหมือนที่เราได้ ผมดีใจนะตอนที่ทำ
รัก 7 ปี ดี 7
หน
แล้วมีคนออกมาวิ่งมาราธอนกัน เรื่องนี้ผมก็อยากให้คนซาบซึ้งกับดนตรี
มาเล่นดนตรี จริงๆ แล้วทุกคนควรจะเล่นดนตรีสักอย่างเพื่อให้ห้วงเวลานั้นมีสมาธิและเสียงที่เกิดขึ้นจากตัวเอง
ให้ตัวเองได้ฟัง

วรรณฤดี: เราแค่ขอให้คุณรู้สึกอะไรบางอย่างเปลี่ยนไปกับดนตรีก็พอแล้ว
จะรักมากขึ้น อินมากขึ้น อยากลองเล่น ฟัง หรือเชียร์ให้คนรอบตัวไปเล่นอะไรก็ได้ ก่อนหน้านี้ความรู้สึกของหนังที่เกี่ยวกับดนตรีโดยตรงอาจจะเข้มข้นกว่า
แต่พอหลังเกิดเหตุการณ์วันที่ 13 ตุลาคม อาจจะทำให้คนดูหนังคิดถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นอันดับแรกเพราะเป็นเพลงของพระองค์ด้วย
ก็ไม่เป็นไร เป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ ถ้าคิดถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ฟังเพลงพระราชนิพนธ์แล้วอาจทำให้เขาคิดถึงดนตรีด้วยก็ได้

เราอยากเลียนแบบพระองค์แหละ
อยากลองดูบ้างว่าถ้าทำหนังเป็นของขวัญให้คนดูแล้วเราจะรู้สึกดีเหมือนพระองค์หรือเปล่า
ซึ่งเราก็รู้สึกดีนะ ดีที่สุดเท่าที่เราทำได้ ณ ตอนนี้แหละ

พรจากฟ้า
เข้าฉายทุกเครือโรงภาพยนตร์วันที่ 1 ธันวาคมนี้ ราคาบัตร 99
บาททุกที่นั่งและรายได้ส่วนหนึ่งจะนำไปสมทบมูลนิธิชัยพัฒนาเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล

ภาพ สลัก แก้วเชื้อ และ GDH

AUTHOR