เบื้องหลังการทำดนตรีประกอบ ‘มะลิลา’ ที่ผสมผสานระหว่างดนตรีไทยและสากล

ใครที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่อง มะลิลา (Malila : The Farewell Flower) ผลงานของ นุชี่–อนุชา บุญยวรรธนะ ที่เล่าเรื่องความรักและความตายไว้อย่างงดงามแล้ว คงปฏิเสธไม่ได้ว่านอกจากงานภาพที่ละเมียดละไม งานเสียงและดนตรีในเรื่องก็เป็นอีกองค์ประกอบที่ขับเน้นให้มะลิลาโดดเด่นออกมา

ในขณะที่พิช ช่างทำบายศรีกำลังบรรจงเย็บใบตองและร้อยเรียงดอกไม้เพื่อสร้างงานศิลปะของเขา เราจะได้ยินเสียงใบตองถูกพับ เสียงเข็มที่กำลังเย็บ หรือเสียงดอกมะลิที่ถูกร้อยลงเป็นมาลัย รวมไปถึงเสียงบรรยากาศต่างๆ ชัดแจ่มแจ้ง นอกจากนั้นแล้วดนตรีประกอบยังถูกพูดถึงในวงกว้างว่าได้ถ่ายทอดความโรแมนติกและความรู้สึกอาลัยของหนังออกมาได้อย่างถึงแก่น แถมยังมีกลิ่นอายความเป็นไทยที่ผสมผสานเสียงไวโอลินและพิณเปี๊ยะลงไปจนเกิดเป็นเอกลักษณ์ให้ติดหู เรียกได้ว่าพอออกจากโรงมาแล้ว เราเองยังถึงกับฮึมฮัมตามเลยทีเดียว

คนที่จะให้คำตอบเราได้ถึงการสร้างสรรค์บทเพลงและเสียงดนตรีที่เสริมรับกับเนื้อเรื่องได้ คือ ฟิว–ชัพวิชญ์ เต็มนิธิกุล คอมโพสเซอร์ฝีมือดีผู้รับหน้าที่แต่งดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้หลังจากเคยฝากฝีมือไว้กับเพลงประกอบในภาพยนตร์เรื่อง อนธการ (The Blue Hour) ของอนุชามาก่อนหน้านี้แล้ว

01 จากบทภาพยนตร์สู่บทเพลงประกอบ

ปกติแล้วการแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์มักเกิดหลังหนังเริ่มตัดต่อ แต่ฟิวบอกเราว่าเขาเริ่มเขียนธีมเพลงตั้งแต่ มะลิลา เป็นแค่บทที่ยังไม่ได้ถ่าย ความพิเศษคืออนุชาได้เขียนบอกเอาไว้ในบทเลยว่าตรงไหนของเรื่องที่อยากให้มีเพลง

“ปกติการทำฟิล์มสกอร์เขาจะตัดดราฟต์คัตมาพร้อมกับดนตรีชั่วคราวแล้วให้มาทำตาม เรื่องนี้พิเศษหน่อยตรงที่เราได้เขียนก่อน ซึ่งเป็นเรื่องยากเพราะไม่รู้ว่าเพลงที่เขียนจะลงตัวกับภาพที่ถ่ายมาหรือเปล่า แต่จริงๆ เราชอบเขียนเพลงก่อนเพราะมันทำให้เพลงเป็นงานต้นฉบับ ไม่ติดกับเรฟเฟอร์เรนซ์ที่เขาวางไว้ในหนังที่ตัดต่อแล้ว”

“พี่นุชี่ให้บทมาอ่าน พอเราอ่านเสร็จเขาก็บรีฟว่าอยากได้สไตล์ไหน หนังจะมีมู้ดโทนแบบไหน พี่นุชี่ค่อนข้างจะรู้เรื่องดนตรีด้วยประมาณนึง ไม่ใช่ในทางทฤษฎีนะ แต่ว่าเป็นประสบการณ์การฟังและรู้จักดนตรีหลากหลาย ทำให้จูนกันง่าย แล้วเขาก็รู้ว่าตัวเองอยากได้แบบไหน และก็ยังให้อิสระเรา ถ้าฟังจากในหนัง เพลงจะดูโรแมนติกเพราะๆ แต่เราเองก็ยังอยากให้โมเดิร์นเลยผสมเทกซ์เจอร์เป็นซาวนด์แอมเบี้ยนลงไป”

02 สองปีแห่งการทดลองที่หลากหลาย

หลายคนคงพอรู้ว่า มะลิลา เป็นโปรเจกต์ภาพยนตร์ของอนุชาก่อน อนธการ ด้วยซ้ำ บทของมะลิลาถูกเก็บไว้ 7 – 8 ปีก่อนที่จะได้มาทำจริง ฟิวบอกว่าเขาเองเริ่มเขียนธีมเพลงตั้งแต่ต้นปี 2016 ด้วยระยะเวลาการทำงานที่ค่อนข้างนาน ทำให้เขาได้ทดลองทำเพลงออกมาหลายแบบ

พอได้รับโจทย์มาว่าอยากให้มีกลิ่นอายเอเชีย หนึ่งในเพลงดราฟต์แรกๆ จึงเป็นทำนองสไตล์แอนิเมชั่นญี่ปุ่นที่มีเมโลดี้เยอะๆ แต่ก็ได้ความเห็นจากอนุชาว่าเยอะเกินไปเพราะมะลิลาเป็นหนังช้า ฟิวจึงลดทอนโน้ตให้น้อยลงเรื่อยๆ จนกลายมาเป็น 2 เพลงธีมหลักที่ใช้ในหนัง ธีมหนึ่งเป็นทำนองยาวๆ เรียบเรียงแบบเพลงคลาสสิก ส่วนอีกธีมเป็นทำนองสั้นที่มีโน้ตแค่สามตัวแต่มีจังหวะการเล่นที่ไม่เท่ากัน ในอัลบั้มซาวนด์แทร็กของมะลิลาจะมีแต่ละเพลงที่เอาทำนองสองธีมนี้มาผสมกัน

“พอสร้างทำนองสำเร็จ เราเริ่มสร้างเท็กซ์เจอร์โดยการเล่นเสียงสตริงที่เป็นเทคนิคสมัยใหม่ แต่ละไลน์จะเล่นคนละสไตล์ อย่างเช่น ไวโอลินจะเล่นแบบเทรโมโร่ (Tremolo) คือการสั่นสาย ไลน์ที่สองก็จะเล่นเสียงแบบครืดคราด แต่ละไลน์เป็นอิสระจากกันแต่เล่นด้วยกันหลายชิ้นจนเหมือนเป็นกลุ่มเท็กซ์เจอร์เสียงของวงสตริงขึ้นมาเป็นคอร์ด ซึ่งเป็นเทคนิคที่เราชอบมาก ได้แรงบันดาลใจมาจากดนตรีพวกไอซ์แลนดิกที่เริ่มมาใช้ไม่กี่ปีมานี้ แต่ว่าก็ยังไม่แพร่หลาย”

03 ส่งเสียงไปอัดออร์เคสตราไกลถึงยุโรป

เครื่องดนตรีที่ใช้ในโปรเจกต์นี้มี 2 ประเภท คือ สตริงและพิณเปี๊ยะ ส่วนของสตริงแยกเป็นเครื่องโซโล่สามชิ้น และออร์เคสตราซึ่งไปอัดไกลถึงประเทศบัลแกเรีย ซึ่งตัวฟิวถึงจะไม่ได้เดินทางไปแต่ใช้วิธีสื่อสารผ่านสไกป์ เขียนโน้ตและทำสกอร์ส่งไปและทางนั้นก็เล่นและอัดเพลงส่งกลับมา

“มีเพลงหนึ่งที่ยากซึ่งเป็นเพลงท้ายเครดิตของเรื่อง มันไม่มีเทมโป้ล็อก จังหวะ 1 2 3 4 อยู่ที่การตีความของคอนดักเตอร์เลย จะโบกช้าโบกเร็วก็ได้ ตอนอัดครั้งแรกยังไม่ผ่านเพราะเขาเล่นเร็วเกินไป ต้องบอกเขาให้เล่นช้าลง มันยากตรงที่ว่าต้องมานั่งปรับว่าจังหวะไหนถึงจะถูกต้อง แบบไหนจะเวิร์ก ซึ่งทำให้ได้จังหวะที่ไม่คงที่ ไม่เท่ากัน มีความไหลเหมือนสายน้ำตามคอนเซปต์ของหนังและก็เป็นสไตล์ที่พี่นุชี่ชอบ เราเลยทำเพลงนี้ให้ไหลๆ เป็นเทคนิคที่ได้แรงบันดาลใจจากดนตรีอิมเพรสชันนิสม์ของ Debussy ตัวดนตรีจะใช้ไวโอลินเล่นเด่นๆ ส่วนวงออร์เคสตราก็จะเล่นตามไวโอลินและคอนดักเตอร์ แต่เพลงอื่นที่มีกำหนดจังหวะไว้ไม่กี่เทคก็ผ่าน”

04 ใส่ความความเป็นไทยลงไปในดนตรี

เครื่องดนตรีสำคัญอีกชิ้นในดนตรีประกอบของมะลิลา คือ พิณเปี๊ยะ ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านของล้านนาที่เวลาเล่นต้องนำส่วนที่เป็นกะลามาครอบกับอกและขยับให้เป็นเสียงสั่น หว่อบ หว่อบ ผู้เล่นจึงต้องถอดเสื้อ ให้ความรู้สึกเซ็กซี่และมีความเป็นผู้ชาย

“พิณเปี๊ยะเป็นไอเดียหลังสุดเลย หลังจากที่เราแต่งทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย เราเพิ่มพิณเปี๊ยะเข้าไปเพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้ดนตรี เป็นความคิดของพี่นุชี่ที่อยากให้เราทดลองใส่ดู”

เพราะต้องการเสียงก้องกังวาลในเพลงที่ให้เท็กซ์เจอร์ต่างจากการใส่เอฟเฟกต์ในคอมพิวเตอร์ ทีมอัดเสียงจึงต้องเดินทางไปที่ถ้ำในจังหวัดสระบุรีเพื่ออัดเสียงพิณเปี๊ยะ ตั้งไมโครโฟน เล่น แล้วอัดรีเวิร์บเสียงทุกอย่างในถ้ำ แม้จะมีปัญหาเรื่องบันไดเสียงคนละคีย์ของดนตรีไทยและดนตรีสากลเมื่อนำมาใส่ด้วยกัน แต่ก็สามารถปรับแต่งในโปรแกรมให้เป็นคีย์เดียวกันได้ภายหลัง นอกจากพิณเปี๊ยะแล้วยังมีเครื่องดนตรีไทยอื่นๆ เช่น ฆ้อง ที่ให้เสียงหม่ง อยู่เป็นแบ็กกราวด์

05 หน้าที่สร้างสรรค์ในฐานะ ‘คนทำเพลง’

“เพลงที่เราชอบที่สุดคือเพลง Your Body Is Too Warm หรือ สนิทกาย ในฉากเลิฟซีนของมะลิลา ชอบเพราะเล่นซาวนด์ดีไซน์กับมันไปเยอะ เราเอาเสียงออร์เคสตรามาตัดหั่นเป็นชิ้นๆ คิดรีเวิร์บขึ้นมาเองแล้วก็ใส่ซาวนด์ที่เหมือนเสียงลม หลังจากสตริงเล่นจบทีละรอบจะมีเสียงลมทิ้งท้ายตลอด เป็นงานที่ต่อยอดความสร้างสรรค์มาจากออร์เคสตราอีกที เพราะปกติแล้วเวลาอัดออร์เคสตราก็จะเอามาวางผสมได้เลย แต่นี่เราเอามาแบ่งทำโพรเซสอีกทีนึง ซึ่งมันไปไกลกว่าการเป็นออร์เคสตราเฉยๆ”

ฟิวบอกเราว่าปกติแล้วงานดนตรีประกอบภาพยนตร์ส่วนใหญ่จะมีช่วงเวลาให้สร้างสรรค์ไม่มาก แต่โชคดีที่ผู้กำกับและทีมงาน มะลิลา ให้ช่วงเวลาทำงานค่อนข้างเยอะ ทำให้เขาได้เติมราย ละเอียดและทดลองสิ่งใหม่ๆ หลากหลายลงไปในทำนอง ซึ่งเราคิดว่ารายละเอียดเหล่านี้ควรค่าแก่การได้ไปสัมผัสในโรงภาพยนตร์ หรือจะตามมาฟังต่อได้ในอัลบั้มซาวนด์แทร็กของมะลิลาก็ได้

facebook | มะลิลา Malila The Farewell Flower

ภาพ G Village

AUTHOR