วิธีคิดงานละเอียดยิบของสองหนุ่มสาวผู้เนรมิตให้ตัวการ์ตูนของ Sundae Kids มีชีวิตในใจเรา

ทุกครั้งที่นั่งไถฟีดเฟซบุ๊ก เรามักจะเห็นเพื่อนสักคนแชร์โพสต์รูปภาพคอมิกลายเส้นเรียบง่าย โทนสีหวานๆ พูดถึงความสัมพันธ์ของหนุ่มสาวที่ดูจบแล้วชวนให้นิ้วกดแชร์ไปโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องขึ้นไปดูชื่อเพจ เรารู้ทันทีด้วยลายเส้นที่เป็นลายเซ็นชัดเจนว่านี่แหละงานของ Sundae Kids

นอกจากคอมิกสั้น 3 ช่องจบที่เข้าใจง่าย งานภาพประกอบที่มีเรื่องราวในตัวเองที่ทำให้หลายคนรู้จักและกดติดตาม Sundae Kids ยังแวะไปจับกับแบรนด์และร้านค้าต่างๆ สร้างงานคอมเมอร์เชียลที่ดูไม่ยัดเยียดแถมชวนให้เราเป็นลูกค้าแบรนด์นั้นๆ เพิ่มขึ้นไปอีก หรือแม้แต่นิทรรศการเดี่ยว ‘Kid Within’ ที่จัดแสดงไปเมื่อกลางปี 2016 จนล่าสุด เราตื่นเต้นดีใจไม่น้อยเมื่อรู้ว่าจะได้อ่านการ์ตูนขนาดยาวเรื่องแรก ‘CLOSE TO YOU’ ที่ Sundae Kids ทยอยปล่อยให้อ่านกันฟรีๆ บนเว็บไซต์ readsundaekids.com ทุกเดือนต่อจากนี้ (มีประมาณสิบตอน)

ก่อนหน้าที่จะได้พูดคุยกัน เราคุ้นเคยว่า Sundae Kids เป็นผลงานฉายเดี่ยวของ โป๊ยเซียน-ปราชญา มหาเปารยะ หญิงสาวร่างเล็กที่มาพร้อมเสียงเล็กๆ แต่วันที่เรานัดเจอกัน เธอชวนเพื่อนหนุ่ม กวิน เทียนวุฒิชัย เพื่อนร่วมคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เป็นตัวตั้งตัวตีให้เกิดเพจ Sundae Kids และงานที่เราเห็นมากมายนี้มานั่งสนทนาด้วยกัน

Sundae Kids เลยเป็นผลลัพธ์จากความตั้งใจของสองหนุ่มสาวผู้อยากจะ ‘เล่าเรื่อง’ ผ่านลายเส้นและเรื่องราวที่สื่อสารกับทุกคนอย่างเป็นกันเอง ที่ทั้งคู่มองชัดตั้งแต่ 3 ปีก่อนว่าไม่ใช่แค่เพจเฟซบุ๊ก

แต่คือพื้นที่ที่บรรจุทั้งตัวตน ผลงาน และความฝันไว้ด้วยกัน


1

การเล่าเรื่อง (storytelling) และงานโฆษณา (advertising) คือสองทักษะที่โป๊ยเซียนและกวินถูกฝึกมาจนถนัดมือ พื้นฐานที่ถูกฝึกให้คิดอย่างละเอียดทุกขั้นตอนการออกแบบ ทำยังไงให้สื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้ชัด ทำให้งานของ Sundae Kids แตกต่างจากนักวาดภาพประกอบคนอื่น เมื่อเทคนิคไม่ได้หวือหวาเท่าศิลปินต่างชาติ เนื้อหาที่ชัดและไอเดียที่สดใหม่คืออาวุธที่โป๊ยเซียนและกวินขอเอาเข้าสู้และพาตัวเองออกมาให้โดดเด่น

“เราไม่ใช่แค่วาดรูปอย่างเดียว แต่เอาเนื้อเรื่องใส่เข้าไปให้งานเราฉีกออกจากนักวาดที่เก่งมากๆ ต่อให้เป็นแค่ภาพ ไม่มีคำพูด เราก็พยายามให้งานนั้นสื่อสารให้คนดูได้รับอะไรกลับไปตลอด” หญิงสาวบอก

งานของ Sundae Kids ที่เราคุ้นกันดีมีเนื้อหาว่าด้วยความสัมพันธ์ชวนอบอุ่นใจที่อ่านแล้วต้องเผลอกระตุกยิ้มขึ้นมาเสมอ โป๊ยเซียนเล่าว่าความสัมพันธ์เป็นเรื่องที่ทุกคนอินได้ง่ายและเข้าใจกันทุกวัย แต่นอกจากนั้น เรื่องเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน อาหารการกิน การลดความอ้วนของหญิงสาวคืออีกตัวอย่างเรื่องเล่าที่ใช้เป็นวัตถุดิบของ Sundae Kids ได้ทั้งนั้น “หลายเรื่องที่เพื่อนเล่ามาเอามาใช้ได้เลย บางเรื่องเราอาจถูกใจแค่คำพูดนี้คำเดียว ก็ต้องมาคิดเหตุการณ์ก่อนหน้าหรือหลังจากนั้นว่าเป็นยังไง”

แต่กว่าที่ภาพหนึ่งภาพ คอมิก 3 ช่องเข้าใจง่ายจะโพสต์ลงบนเพจ ทุกงานล้วนผ่านกระบวนการคิดที่โป๊ยเซียนกับกวินลงมือร่วมกันอย่างละเอียดและน่าสนใจ

เมื่อมีไอเดีย ทั้งคู่จะร่วมกันตีโจทย์แล้วแยกกันไปคิดมาคนละ 2-3 แบบก่อนมานำเสนอให้กันและกันฟัง คำพูดนี้ควรอยู่ในสถานการณ์แบบไหน ใครพูดกับใคร เลือกไอเดียที่ชอบตามเสียงโหวตก่อนที่กวินจะเป็นคนร่างภาพ วางพล็อต แล้วยกหน้าที่ให้โป๊ยเซียนเป็นคนลงลายเส้นจริง โยนกลับไปให้กวินเป็นคนเลือกสีที่ใช้ และจบงานที่หญิงสาวคอยเก็บรายละเอียดทีหลัง นี่คือกระบวนการทำงานร่วมกันที่เราเพิ่งได้รู้

“แรกๆ เราเป็นคนดูให้ว่าลายเส้นไหนที่จะใช่ Sundae Kids บางงานเซนส์เราบอกเลยว่ายังไม่ใช่ แต่ก็อธิบายไม่ได้ว่ายังไง เราชอบที่เขาก็เชื่อใจเรา ช่วงนั้นเราแทบจะเป็นเผด็จการ สั่งให้เขาลองวาดสไตล์ต่างๆ ทั้งใช้มือวาด ใช้พู่กัน” กวินย้อนเล่าให้ฟังถึงการทำงานกันช่วงแรกๆ จนมาเจอลายเส้นที่ทั้งคู่เคาะร่วมกัน

“แรกๆ เหมือนยังไม่ค่อยเก็ตกัน เราเองเป็นคนสบายมาก ชิลล์ ไม่ค่อยมีระเบียบ ต่างจากกวินที่จะมีระเบียบ มีตารางว่าต้องทำอะไร แต่พอทำงานด้วยกันไปนานๆ เราก็เริ่มปรับตัว พยายามมีระเบียบมากขึ้น” โป๊ยเซียนเล่าพลางหัวเราะ

“ส่วนเราก็ต้องลดความเครียดลงบ้าง ไม่งั้นก็จะกลายเป็นหุ่นยนต์” กวินยิ้ม


2

CLOSE TO YOU เป็นกราฟิกโนเวลขนาดยาวเรื่องแรกที่โป๊ยเซียนและกวินลองใช้วิธีการเล่าเรื่องที่ยากขึ้น มีพล็อตเรื่องให้ติดตามชีวิตตัวละคร สร้างที่มาที่ไปให้เหมือนคนจริงๆ (สังเกตไหมว่าคอมิกสั้นที่เราคุ้นกันดี ตัวละครจะไม่มีชื่อเลย) ทั้งคู่ใช้เวลาพัฒนาเรื่อง หาลายเส้นที่ใช่เกือบปีกว่าจะปล่อยออกมาให้แฟนๆ ได้อ่านกันตอนแรก และพบว่ากระบวนการทำงานของคอมิก 4 ช่องกับเรื่องยาวนั้นต่างกันสิ้นเชิง

ไอเดียของเรื่องผสมกันจากส่วนเสี้ยวของหนัง เพลง หนังสือที่ทั้งโป๊ยเซียนและกวินชอบ ทั้งคู่ใช้วิธีการเดิมคือมานั่งคุยกัน นำเสนอพล็อตที่ชอบกันคนละสิบกว่าเรื่อง ค่อยๆ เลือกๆ ค่อยๆ ตัดจนกลายมาเป็น CLOSE TO YOU ที่หยิบสองเรื่องที่แต่ละคนชอบมารวมกันอีกที

กวินรับหน้าที่เขียนบท วางซีนและสตอรี่อย่างละเอียดว่าจะเกิดอะไรขึ้นในแต่ละหน้า ชายหนุ่มบอกว่าความยากของกราฟิกโนเวลคือทำยังไงให้แต่ละตอนสนุกในตัวเอง และยังต้องทำให้คนอ่านอยากติดตามต่อ ทั้งหมดนี้มีผลต่อการปูคาแรกเตอร์ตัวละคร คิดคำพูด หรือเว้นช่องว่างระหว่างเลื่อนอ่านบนหน้าจอ ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ทั้งคู่ไม่เคยลอง

“เรามีสูตรในการเขียนคือถ้าจะแต่งตอนที่หนึ่ง วันนี้เราก็จะเขียนตั้งแต่หน้าแรกถึงหน้าสุดท้ายเลย เพราะเคยทำวิธีที่วันนี้เขียนแค่ 3 หน้า ต่ออีกวัน 3 หน้า มาอ่านอีกทีแทบไม่รู้เรื่องเลย ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าสูตรที่ถูกต้องคือยังไง แต่ก็ลองพยายามอยู่” กวินเล่าให้ฟังและสารภาพว่างานนี้ใช้เซนส์ล้วนๆ “ฟังดูเหมือนเราไม่มีแบบแผนในการทำงานเลยนะ แต่จริงๆ เรามีการทำงานที่เป็นสเตป มีหนังสือจดเป็นเล่มๆ เลย ด้วยความที่เป็นเรื่องแรกของเรา เราเลยลองใช้ทุกวิธีที่คิดว่ามันจะเวิร์ก”

ถ้าสังเกตดีๆ ลายเส้นของโป๊ยเซียนใน CLOSE TO YOU ก็ไม่เหมือนกับลายเส้นที่เธอใช้ในคอมิกสั้นเรื่องอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องบังเอิญกึ่งตั้งใจของหญิงสาว ส่วนเรื่องที่ทั้งคู่บอกตรงกันคือตั้งใจให้งานนี้เป็นเหมือนสนามทดลองที่เต็มไปด้วยความสนุก และเป็นจุดเริ่มต้นที่ Sundae Kids จะก้าวไปสู่การสร้างตัวละครที่มีชีวิตอยู่ในใจคนอ่านจริงๆ เหมือนอย่างมิกกี้ เมาส์ หรือเจ้าโตโตโร่ที่ใครเห็นก็รู้ทันทีว่าเป็นงานของสตูดิโอจิบลิ

“ยังไม่ได้คาดหวังหรอก แต่เราก็กำลังพยายามทำไปเรื่อยๆ” ทั้งคู่ตอบพร้อมกัน


3

ในสายตาหนึ่งในเจ็ดแสนกว่าไลก์ผู้กดติดตาม เรามอง Sundae Kids ไปไกลกว่าแค่เพจนักวาดภาพประกอบ แต่เป็น ‘แบรนด์’ ที่ดึงดูดคนที่ชอบเรื่องเล่าคล้ายๆ กัน ไปจนถึงแบรนด์อื่นๆ ที่ติดต่อมาร่วมงานจนสิ่งนี้กลายเป็นอาชีพของทั้งโป๊ยเซียนและกวิน และทั้งคู่ยังคงยึดวิธีการแตกไอเดียให้หลากหลาย นำไปเสนอกับลูกค้าหรือแบรนด์ต่างๆ อย่างจัดเต็มไม่มียกเว้น ภายใต้เงื่อนไขเดียวคือขอให้พวกเขาเป็นคนคิดเรื่องราวและเนื้อหาที่อยากเล่าด้วยตัวเอง

“ถ้าจะพูดว่าเราเป็นแบรนด์ก็ได้ แต่ถามเราตอนนี้เรายังไม่อยากไปกำหนดว่าต้องเป็นอะไร แต่อยากทดลองทำอะไรอีกหลายๆ อย่าง บางทีเรายังไม่อยากเรียกตัวเองว่าเป็นนักวาดภาพประกอบเลย เพราะบางทีเราก็ทำงานในฐานะนักวาดการ์ตูนหรือเป็นศิลปินไปเลย เลยพยายามไม่กำหนด ไม่ตีกรอบว่าตัวเองเป็นอะไร” โป๊ยเซียนเล่าว่าในอนาคต Sundae Kids อาจกระโดดไปเล่าเนื้อหาความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ๆ ที่โตขึ้น มีโปรเจกต์แอนิเมชั่นซึ่งเป็นอีกศาสตร์ที่ทั้งคู่หลงใหลและอยากทำมากๆ รวมถึงความตั้งใจที่อยากสื่อสารเรื่องราวของตัวเองไปให้ถึงคนต่างชาติก็เป็นแผนการที่วางเอาไว้แล้ว

ภายใต้จักรวาลของเรื่องเล่าและความสัมพันธ์ เรามองเห็นลายเส้นและตัวตนของหนุ่มสาวคู่นี้แผ่ขยายไปทุกที่

ภาพ Sundae Kids

AUTHOR