Michelin คาแรกเตอร์ยางล้อรถยนต์ที่ทำรีวิวอาหารเพราะอยากให้คนขับรถมากขึ้น

หนึ่งในร้านอาหารจานด่วน ที่แวะไปทานทุกครั้งที่มีโอกาส ตั้งอยู่ในชั้นใต้ดินของห้างสรรพสินค้าดังในย่านสุขุมวิท บริเวณนั้นอยู่ติดกับศูนย์อาหารของห้าง ส่วนใหญ่จำหน่ายอาหารอร่อยในราคาไม่สะเทือนกระเป๋า

เราจำได้ลางๆ ว่าเมื่อหลายปีก่อนพี่สาวของเราไปทานร้านนี้กับเพื่อน พอมองไปเห็นว่าร้านนี้มาเปิดที่ห้างนี้ เราจึงเดินตรงไปที่ร้านโดยทันที

“ข้าวผัดกับไก่คั่วเกลือค่ะ”

เราสั่งอาหารกับพนักงานร้าน แล้วทางครัวก็หยิบวัตถุดิบออกมาเตรียมในทันที 

ขณะที่สแกนจ่ายค่าอาหารจำนวนสองร้อยกว่าบาท กลิ่นหอมจากควันกระทะก้นลึก ก็ลอยมาเตะจมูก แล้วทั่วทั้งบริเวณก็อบอวลไปด้วยความหอมของอาหาร 

ไม่แปลกใจเลยที่ร้านนี้ได้รับดาวมิชลินประเภท Bib Gourmand ของประเทศไทยติดกันเป็นเวลาหลายปี


จุดเริ่มต้นก่อนจะเป็นคาแรกเตอร์ Michelin และคู่มือแนะนำอาหารที่มาตรฐานสูงที่สุดในโลก

หลายคนอาจคุ้นตากับคาแรกเตอร์ ‘Michelin Man’ ซึ่งเป็นมาสคอตของแบรนด์ยางรถยนต์จากฝรั่งเศส ว่าแต่ว่า มีความเกี่ยวข้องกับคู่มือแนะนำอาหาร Michelin อย่างไร?

วันนี้เรามีเฉลยค่ะ

ก่อนอื่นต้องย้อนเวลากลับปีในช่วงปี 1889 ซึ่งเป็นเวลาที่ฝรั่งเศสผลิตรถยนต์ในประเทศอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก จากเดิมที่เคยเป็นประเทศต้นกำเนิดศิลปะวัฒนธรรมอันงดงามและประณีต ถึงเวลาแล้วที่ต้องนำวิทยาการในด้านต่างๆ มาสร้างให้เกิดความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศ

แล้วเวลานั้นเอง เส้นทางของ ‘Michelin’ ก็ได้เริ่มต้นขึ้น

สองพี่น้อง Andre และ Edouard จากตระกูล Michelin ในเมือง Clermont-Ferrand ของฝรั่งเศส ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายยางล้อรถยนต์คุณภาพเยี่ยม เพื่อรองรับการผลิตรถยนต์ภายในประเทศ ซึ่งในตอนนั้นยังคงจำกัดการใช้งานรถยนต์อยู่ในวงแคบๆ 

แล้วเพื่อโปรโมตการใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะ และกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวด้วยรถยนต์ในวงกว้าง สองพี่น้องจากบ้าน Michelin จึงได้จัดพิมพ์คู่มือรวบรวมทุกรายละเอียดของการสัญจรไปยังเมืองต่างๆ ด้วยรถยนต์ เช่น วิธีการเปลี่ยนยางล้อรถด้วยตนเอง การเติมน้ำมันรถ และยังหยอดความพิเศษลงไปด้วยการแนะนำร้านอาหารรสชาติดีเยี่ยมและที่พักระดับคุณภาพ ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเส้นทางการเดินทางด้วย

แล้วคู่มือเล่มนั้นก็คือเวอร์ชันแรกของหนังสือคู่มือจัดอันดับร้านอาหารที่รู้จักกันในชื่อว่า ‘Michelin Guide’ 

หลังจากที่คู่มือ Michelin เล่มแรกได้รับการจัดพิมพ์ในรูปแบบของหนังสือแจกฟรี สองพี่น้องจากตระกูล Michelin ก็สร้างคุณค่าให้กับคู่มือของพวกเขา ด้วยการพัฒนาคุณภาพการเลือกสรร คัดเลือก และแนะนำร้านอาหารที่จะตีพิมพ์ในเล่ม ทั้งสองส่งทีมงานคุณภาพไปยังร้านอาหารต่างๆ โดยไม่เปิดเผยตัวจน และไม่บอกถึงสาเหตุของการมาเยือน เพื่อให้สามารถสัมผัสถึงรสชาติและรายละเอียดของร้านอาหารได้อย่างที่เป็นจริงๆ 

กล่าวได้ว่าจุดเริ่มต้นที่เข้มงวดและเอาจริงเอาจังของ ‘Michelin’ เป็นจุดแข็งที่ทำให้แบรนด์ยืนยาวมาจนถึงทุกวันนี้

ปัจจุบัน ‘Michelin’ เป็นแบรนด์การให้คะแนนร้านอาหารที่ได้รับความเชื่อมั่นและการยอมรับเรื่อง ‘ความอร่อย’ มากที่สุดในโลก

ขนาดที่ว่าถ้าได้รับดาวมิชลิน ไม่มีทางเลยที่อาหารจะไม่อร่อย! เป็นความอร่อยแบบไม่มีพลาดอย่างแน่นอน!!

การออกแบบคาแรกเตอร์และมาสคอตประจำแบรนด์ Michelin

นอกจากจะสร้างคุณค่าให้กับแบรนด์แล้ว สองพี่น้อง Andre กับ Edourd ก็ยังไม่ลืมที่จะสร้างภาพจำของแบรนด์ด้วยการออกแบบคาแรกเตอร์ ‘Michelin Man’ 

รูปร่างของคาแรกเตอร์ มีที่มาจากจุดเริ่มต้นของแบรนด์ซึ่งคือ ‘ยางล้อรถยนต์’ 

โดยได้รับการออกแบบให้รูปร่างของยางรถยนต์ซึ่งเป็นรากฐานของแบรนด์ ค่อยๆ ก่อร่างสร้างตัวขึ้นด้วยความอุตสาหะ ค่อยๆ สูงขึ้นทีละเส้นๆ จนกลายเป็น ‘มนุษย์’ ที่มีชื่อเรียกว่า ‘Michelin Man’

อาจมองได้ว่าสองพี่น้องตระกูล Michelin กำลังพยายามบอกอย่างเป็นนัยๆ ว่าความทุ่มเทพยายามของพวกเขา ช่วยให้เกิดความก้าวหน้าได้อย่างเป็นรูปเป็นร่าง

ปัจจุบัน Michelin Man ยังคงเป็นมาสคอตที่พบเห็นได้ในแทบทุกสื่อของแบรนด์ ‘Michelin’ รวมทั้งในการสื่อสารหลายๆ ช่องทางของคู่มือ Michelin Guide ด้วย

ในย่านเมืองเก่าของกทม.

ตัดภาพมาที่กรุงเทพฯ เมืองฟ้า ย้อนเวลากลับไปเมื่อหลายปีก่อน ตอนที่การให้ดาวของมิชลิน ยังมาไม่ถึงเมืองไทย

‘กรุงเทพฯ’ เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติจากเมนูต้มยำกุ้ง ข้าวเหนียวมะม่วง และทุเรียน ทั้งหมดเป็นอาหารจานแรกๆ ที่ชาวต่างชาตินึกถึงมาโดยตลอด

แต่ไทยเรายังมีดีอีกมากมายในเรื่องอาหารที่ไม่ได้อยู่ในเมนูอาหารร้านหรูที่แขกบ้านแขกเมือง ผู้คนจากต่างถิ่น และนักท่องเที่ยว มักแวะเวียนไป 

เรายังมีข้าวเหนียวหมูปิ้งจากท้องถนน เส้นใหญ่ราดหน้าจากร้านที่ชอบเคาะตะหลิวเสียงดัง ข้าวไข่เจียวร้อนๆ ที่ทานกันตอนเช้า กล้วยปิ้งดำๆ เละๆ ที่ดูไม่น่าทาน แต่ว่ามีความหวานจับใจ และยังมีขนมเบื้องที่ต้องยืนทำทีละชิ้นๆ กว่าจะได้เต็มกล่อง

สิ่งเหล่านี้อยู่ในชีวิตประจำวันของ ‘คนไทย’ ตลอดมา แต่ก่อนหน้านี้ไม่ได้รับการยกย่องและไม่ถูกพูดถึงมากนัก จากรูปลักษณ์ที่ดูสามัญธรรมดาเกินไป

แต่เมื่อคู่มือ ‘มิชลินไกด์’ มาถึงเมืองไทย ทั่วโลกก็รับรู้ว่าจริงๆ แล้ว ‘Street food’ หรือว่า ‘อาหารข้างทาน’ นั่นแหล่ะที่เป็นอีกเสน่ห์ของอาหารไทย สังเกตได้จากการที่ร้านอาหารซึ่งได้รับการจัดอันดับดาวมิชลินจำนวนมาก ล้วนตั้งอยู่ในเขตเมืองเก่าของกรุงเทพฯ ทั้งสิ้น เช่น ร้านที่รู้จักกันดีอย่างร้านเจ๊ไฝ เจ้าของไข่เจียวปูระดับตำนาน ผู้ใช้นำ้มันพืช 1 ขวดในการทอดไข่เจียวปูแต่ละจาน

ถึงเราจะชอบราดหน้าของเจ๊ไฝมากกว่า แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าไข่เจียวปูของเจ๊ไฝอลังการงานสร้างจริงๆ 

ดาวมิชลินเขาคัดมาแล้วค่ะ!

AUTHOR