“ถึงเวลาที่ผมจะกลับมา on the way” เส้นทางที่ใช่และไม่ใช่ของเจ้าของเพลงลูสเซอร์ O-Pavee

ต้องยอมรับว่าวิธีการที่จะเป็นศิลปินในยุคนี้ง่ายกว่ายุคก่อนเป็นไหนๆ ลองนึกภาพว่าถ้าเราอยากโชว์ความสามารถ ก็แค่ปล่อยเพลงที่ร้องหรือแต่งเองลงยูทูบ ถ้าเพลงเราดีก็แปลว่าอีกไม่นานเราอาจกลายเป็นที่รู้จักตามกลไกของโลกโซเชียล แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ว่าจะยุคไหน การประคองตัวเองให้ยังโลดเล่นอยู่ในวงการให้ได้ ‘อย่างต่อเนื่อง’ น่าจะเป็นสิ่งที่ทำได้ยากพอๆ กัน

เรารู้จัก โอ-ปวีร์ คชภักดี หรือ O-Pavee ครั้งแรกในวันที่เขาชนะการประกวด ‘โคน ค้น คน’ โครงการเฟ้นหานักดนตรีหน้าใหม่ที่จัดโดยไอศกรีม Cornetto เมื่อปี 2011 แฟนๆ หลายคนติดตามเขาต่อในภาพของนักร้อง นักแต่งเพลง เจ้าของเพลงป๊อปอย่าง พอ, รอ, พยายาม และ R.I.P. (love) ภายใต้สังกัด Believe Records หนึ่งในค่ายเพลงเล็กๆ ที่มาแรงสุดๆ ในยุคนั้น

ด้วยจังหวะเวลาที่ค่ายเพลงนี้ต้องปิดตัวลง ศิลปินหนุ่มได้เลือกเดินทางไปยังบ้านหลังที่สองอย่าง Home Records ในเครือแกรมมี่ แต่ผลงานที่ไม่ได้ถูกปล่อยออกมาอย่างต่อเนื่องทำให้เราแอบหวั่นใจอยู่ลึกๆ ว่าเจ้าของเสียงนุ่มๆ และนักแต่งเพลงฝีมือดีคนนี้ได้ล้มหายตายจากวงการเพลงไทยไปแล้วหรือเปล่า

ในวาระที่ O-Pavee ปล่อยซิงเกิลใหม่แกะกล่องที่ชื่อว่า คนที่ไม่ใช่ ภาคต่อของเพลง พยายาม ตอกย้ำคนพ่ายแพ้กับความรักให้เจ็บช้ำใจยิ่งกว่าเดิม พร้อมเปิดตัวในฐานะศิลปินของ Boxx Music ค่ายเพลงที่เต็มไปด้วยสีสันจากศิลปินรุ่นใหม่ที่น่าจับตา เราเลยอยากใช้โอกาสนี้ทำความรู้จักเขาให้มากขึ้น และถือโอกาสไถ่ถามถึงบทเรียนจากอาชีพศิลปินตลอด 7 ปีที่ผ่านมา


คุณเริ่มเล่นดนตรี ร้องเพลง แต่งเพลงเองมาตั้งแต่ตอนไหน
ช่วง ม.2 – ม.3 เป็นช่วงที่เริ่มเสพดนตรี บ้านเราเริ่มมีช่อง Channel V เข้ามา ผมได้เห็นศิลปินต่างประเทศอย่าง John Mayer เล่นกีต้าร์ ร้องเพลงเอง แต่งเพลงเอง เวลาเล่นคอนเสิร์ตเขาดูเท่มากเลยเริ่มหัดเล่นกีต้าร์ตั้งแต่นั้น พอ ม.4 ก็พยายามรวมกลุ่มเล่นดนตรีกับเพื่อน สุดท้ายผมรู้สึกว่าการเล่นเป็นวงเราต้องจูนกันให้ดี ต้องปรับตัวเข้าหากันค่อนข้างเยอะ ต่างคนก็มีความคิดที่หลากหลาย ผมเลยมีแนวคิดที่อยากจะทำเพลงคนเดียว อยากทำอะไรที่เป็นตัวของตัวเอง สมัยมหาวิทยาลัยก็ทำเพลงเองมาตลอด


คุณดูมีความเป็นตัวเองสูงมาก ลึกๆ เป็นคนเซลฟ์มั้ย
ผมว่าผมเป็นนะ (หัวเราะ) คือตอนนั้นเราเด็กด้วย จะมองมุมเดียวว่ากูจะเอาแบบนี้ ชอบแบบนี้ จะไม่แคร์ใครทั้งนั้น แต่พอกลับไปดูงานเก่าๆ ของตัวเอง ผมถามตัวเองเลยว่า กูทำอะไรขึ้นมาวะเนี่ย ตลกดีครับ แต่พอเราโตขึ้น มีเรื่องให้ตกตะกอนเยอะขึ้น มุมมองของผมมันเปลี่ยนไป


หลายคนรู้จักคุณเพราะคุณชนะงานประกวด ‘โคน ค้น คน’ ของไอศกรีม Cornetto เมื่อ 7 ปีก่อน นั่นคือจุดเปลี่ยนในชีวิตเลยมั้ย
จริงๆ ก็ไม่ได้เป็นจุดเปลี่ยนอะไรขนาดนั้น เหมือนเป็นที่ที่ทำให้เราได้เข้าสู่ระบบเพลงมากกว่า เราออกจากการทำเพลงคนเดียวในห้องมาสู่การมีค่ายเพลงและทีมงานซัพพอร์ต มีโอกาสได้ทัวร์ต่างจังหวัดกับวงรุ่นพี่อย่าง Slur, Scrubb หลังจากนั้นก็ได้อยู่ในค่าย Believe Records ออกมาอยู่กับ Home Records แล้วก็มีช่วงที่ออกมาทำเองกับกลุ่มเพื่อน ผมไม่ใช่ศิลปินที่เข้ามาแล้วประสบความสำเร็จมากๆ เราค่อนข้างจะเรื่อยๆ หายไปบ้าง กลับเข้ามาบ้าง

ผมลองมาทุกอย่างแล้ว ตั้งแต่ทำเอง ทำกับเพื่อน และการเข้าไปทำกับค่าย การเดินทางของผมทำให้ผมแกร่งขึ้นเยอะมาก แต่ช่วงที่ผมหายไปผมไม่ทิ้งดนตรีนะ ยังมีงานเบื้องหลังที่ไปทำกับคนอื่นๆ แต่งเพลงให้ศิลปินหลายคนอยู่ ทำให้ผมรู้ว่าเพลงป๊อปในไทยยังไงก็หนีไม่พ้นวิธีที่ทำให้เพลงเป็นที่รู้จัก แล้วคนถึงจะอยากดึงเราไปเล่น ไปร่วมงานกับเขามากขึ้น

สุดท้ายผมคิดว่า จริงๆ ผมต้องการทีมซัพพอร์ตมากกว่าการทำเองเพราะนอกจากจะเหนื่อยมากๆ แล้ว บางทีเราก็อยากตั้งใจกับเพลงมากกว่า ไม่ต้องกังวลว่าเราจะต้องคิดนู่นคิดนี่เยอะแยะ ผมเลยอยากที่จะกลับเข้าสู่ระบบ ผมจะสะเปะสะปะแบบเดิมไม่ได้


ความสะเปะสะปะในวันนั้นสอนอะไรคุณบ้าง
ผมได้เห็นและเรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง การทำอาชีพนี้คุณต้องตกตะกอนให้ได้ว่าสุดท้ายแล้วคุณต้องการอะไร อยากเท่ อยากมีแฟนเพลงที่ร้องเพลงคุณได้ หรือคุณต้องการแรงซัพพอร์ตยังไง หรือต้องการตอบสนองความอยากจะทำงานศิลปะ

สำหรับผมดนตรีมันไม่ใช่ดนตรีอย่างเดียว เราอาจคิดว่ามันคือสิ่งที่เราฟังกันจากวิทยุ แต่จริงๆ ดนตรีคือศิลปะ เหมือนภาพวาดที่สื่อความรู้สึกถึงเรา เหมือนดนตรีแจ๊ส เพลงคลาสสิก ที่เราจะไม่ได้ยินเนื้อเพลงว่า ‘ฉันรักเธอ’ ‘ฉันอยากจะเดินไปกับเธอ’ ไม่ใช่แค่เพลง easy listening ถ้าคนทำศิลปะต้องการสื่อถึงคนฟังกลุ่มนึงที่เขาเข้าใจในงานศิลปะ เข้าใจในเพลงที่ไม่มีเนื้อร้อง ดนตรีคือสิ่งที่ส่งความรู้สึกได้ลึกซึ้งกว่าเพลงป๊อปที่ฟังประโยคเดียวแล้วคุณก็ร้องได้ มันเลยสำคัญจริงๆ ว่าคุณต้องการอะไร


แล้วตัวคุณเองล่ะต้องการอะไร
ที่ผ่านมาเราได้พิสูจน์อะไรให้ตัวเองเห็นมาหลายอย่าง ผมอยากเป็นนักดนตรีที่มีเพลงให้แฟนเพลงได้ฟัง เราตัดสินใจอยู่ในทางของเพลงป๊อปที่มีกลิ่นความหลากหลายของแนวดนตรีเข้ามาผสมผสานกัน แต่ก็ต้องอยู่ในพื้นฐานของเนื้อเพลงที่คนสัมผัสได้ง่าย ฟังแล้วเข้าใจว่าเราอยากสื่ออะไร และมีเมโลดี้ไม่ยากมากเกินไป


พอเลือกที่จะทำเพลงป๊อป กดดันมั้ยว่าเพลงเราต้องมีคนฟัง
ผมไม่เคยกดดันว่าคนจะชอบเพลงเราหรือเปล่า แต่เป็นความรู้สึกที่เรากดดันตัวเองว่าจะทำงานที่ดีออกมาได้มั้ยมากกว่า เพราะการที่งานเราออกไป มันคือการลงทุน มันมีความเสี่ยงอยู่ เราอยากให้งานเรามีฟีดแบ็กที่ดีเกิดขึ้น แต่ผมจะไม่เอาความรู้สึกนั้นมาเป็นกรอบหรือถ่วงตัวเอง โชคดีที่ทีมงาน Boxx Music ทำงานกันแบบแชร์ความรู้สึกและมุมมองร่วมกันจริงๆ ไม่ได้มีแค่เราคนเดียวที่พยายามจะทำให้งานออกมาดีที่สุดเลยลดความกดดันนี้ลงไปได้


คุณมีความเป็นลูสเซอร์ในตัวมากขนาดไหน ถึงได้เขียนแต่เพลงที่ดูลูสเซอร์หรือเศร้าๆ
ที่จริงก็ไม่ใช่ลูสเซอร์ขนาดนั้น (หัวเราะ) ผมต่างจากศิลปินคนอื่นๆ ตรงที่ผมไม่ค่อยเอาเรื่องตัวเองมาเขียนมากเท่าไหร่ อกหักในชีวิตนี้เราจำได้เลย เราเองเป็นคนนึงที่ทุ่มเทในความรัก แต่ค่อนข้างจะมีเกราะกำบังในตัว เวลาที่เรารู้สึกว่า เฮ้ย เดี๋ยวกูแย่ละ จะรีบถอยออกมาก่อน เพลงของเราเลยต้องอาศัยหยิบจากนู่นจากนี่มาเขียน หรือบางทีแรงบันดาลใจจะเกิดขึ้นจากสิ่งที่ผมเสพในตอนนั้น อย่างเพลง พยายาม ก็เอาซีนหนึ่งในหนังที่ผมดูมาเขียน เพลง R.I.P. (love) ผมได้มาจากข้อความในเฟซบุ๊ก แล้วกลายเป็นว่าเพลงที่ดูลูสเซอร์กลายเป็นแนวที่เราไปได้ เพลงช้าของผมก็จะเป็นแบบนั้นหมด การจากลา การอกหัก เพลงที่ปล่อยออกมาตอนนี้ลูสเซอร์ยิ่งกว่า พยายาม อีก


จะมีเพลงที่สมหวังกับความรักบ้างมั้ยเนี่ย
ผมว่าน่าจะไม่มี (หัวเราะ)


ตอนที่เขียนเพลงให้ตัวเองกับเขียนเพลงให้คนอื่นแตกต่างกันยังไง
ผมว่าต่างกันแต่มันยังเชื่อมโยงกันอยู่ เวลาเขียนเพลงให้คนอื่นเขาจะมีโจทย์ให้เราเขียน เนื้อร้องเขาอาจจะอยากให้เราเล่าเรื่องอื่นๆ แต่สุดท้ายเมโลดี้หรือทำนองเราก็ต้องคิดออกมาจากความรู้สึกเรา ซึ่งบางทีเราคิดเยอะจนเหมือนมาสร้างกรอบให้ตัวเองมากเกินไป พอใส่ตัวเองลงไปเยอะก็กลายเป็นว่าเพลงนั้นคล้ายเพลงนี้ ทำไมเพลงนี้มันโอ ปวีร์จังวะ หลังๆ เราก็เลยไม่อยากเขียนเพลงให้คนอื่นมากเท่าไหร่ แต่ถ้าหลังจากปล่อยงานตัวเองออกไปแล้วอาจจะรับเขียนเพลงเหมือนกัน แต่ว่าช่วงนี้ยัง มันตันๆ นิดนึง


ถ้าเปรียบการเดินทางเป็นการสร้างพีระมิด คุณคิดว่าตอนนี้คุณยืนอยู่จุดไหนแล้ว
ยืนอยู่ตรงกลางครับ และเป็นไปในทิศทางที่กำลังพัฒนาตัวเอง เติบโตขึ้นจากบทเรียนอะไรก็ตามที่ผ่านเข้ามา อย่างช่วงที่ผมปล่อยเพลง พยายาม (ตุลาคม 2556) เป็นช่วงที่ผมได้รับฟีดแบ็กดีมากๆ แต่หลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์บ้านเมืองที่วุ่นวาย มีการปิดกรุงเทพฯ วงการเพลงทั้งวงการเงียบมากๆ สามเดือนถัดจากนั้นค่าย Believe Records ก็ปิดตัวลง คือจริงๆ เพลงก็ยังไปต่อของมันเองได้ในระดับหนึ่งแต่ก็ไม่ได้รับการซัพพอร์ตที่ดี ทุกอย่างรอบตัวผมเลยดูวุ่นวายไปหมด แต่ไม่ได้มองว่าเป็นช่วงที่แย่มาก เพราะทุกคนก็คงต้องมีเวลาแบบนี้กันบ้าง เรียนรู้แล้วก็เติบโตขึ้น

สิ่งที่เราได้เรียนรู้มันเป็นเหมือนพีระมิดที่เราค่อยๆ ไต่ไปมากกว่า ผมต้องเริ่มมาจากฐาน ตั้งแต่ยุค Fat Radio ที่ต้องทำเพลง ปั๊มแผ่น ส่งแผ่นเอง แล้วเข้าไปอยู่ในค่ายเพลง เป็นเด็กใหม่ที่ต้องไปเจอส่วนแบ่งในธุรกิจเพลง เจอคนจากหลายๆ ทีมที่เราไม่รู้จักเลย พอโตขึ้้นมาหน่อยเราก็อยากลองทำเองดีมั้ยเพื่อที่จะได้ตัดปัญหานี้ไป ตอนนั้นเราพยายามรวมกลุ่มทำเพลงกับเพื่อน ลองดูว่าเราจะสร้างทีมที่แข็งแกร่งได้มั้ย แต่สุดท้ายมันก็ไม่เหมาะกับเรา โอเค เราเก็ตแล้วว่าเราจะต้องหาทางกลับเข้ามา

สุดท้ายการเดินทางมันทำให้เรารู้ว่าเราจะแกร่งขึ้นได้แค่ไหน เป็นฐานสำคัญที่ทำให้รู้ว่าเราต้องกลับเข้าสู่เวย์ของการทำเพลงให้คนกลับมามองเราอีกครั้ง ทำให้ตัวตนของเราชัดเจนอีกครั้ง


เคยเสียดายมั้ยว่าเพลง พยายาม ควรจะไปได้ไกลกว่านี้
ไม่เลย ทุกครั้งที่ไปโชว์ เวลาที่ผมร้องเพลงนี้ก็ยังมีคนร้องกันลั่น ผมไม่ได้รู้สึกเสียดายอะไรขนาดนั้น แต่เสียดายความต่อเนื่องของแผนมากกว่า ตอนนั้นเราวางแผนกันค่อนข้างดีว่าจะปล่อยเพลงอะไรต่อ แต่พอเกิดเรื่องปุ๊บ ทุกอย่างก็เบี้ยวไปหมด จริงๆ ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการที่เราชอบลองอะไรไปเรื่อยเนี่ยแหละ เราทิ้งช่วง หายตัวไปจากวงการปีกว่า ไปทำเพลงกับอีกค่าย ไปทำเพลงกับคนอีกกลุ่ม ภาพของ O-Pavee เลยเป็นภาพที่ไม่ค่อยต่อเนื่องเท่าไหร่ ตอนนี้ผมมีโอกาสได้ร่วมงานกับ Boxx Music ผมคิดว่าถึงเวลาที่ผมจะกลับมา on the way แล้ว

อยากให้พูดถึง คนที่ไม่ใช่ ซิงเกิลล่าสุดสักหน่อย
ผมว่ามันเป็นเพลงช้าที่เพราะที่สุดที่ผมเคยเขียน ผมพูดแค่นี้ (หัวเราะ)

ภาพ ธนวัฒน์ อัศวชุติพงศ์

AUTHOR