นัท-ณัฏฐ์ กิจจริต : พระเอกโฆษณามากความสามารถกับสมุดบันทึกถึงตัวเขาในอนาคต

“เรียนจบมาแล้วเป็นอย่างไรบ้าง

ตอนนี้การแสดงกับการเรียนกำลังไปด้วยดีนะ

ในอีก 5 ปีข้างหน้ายังทำอะไรแบบนี้อยู่หรือเปล่า

ได้เงินเดือนเดือนละเท่าไหร่แล้ว

เลี้ยงดูคนรอบตัวได้บ้างหรือยัง

ถ้าทุกอย่างโอเคก็อยากจะขอบคุณนายที่ผ่านมาได้ สู้มาได้จนถึงตอนนี้ โชคดีเว้ย!”

เรายกสมุดบันทึกขนาด A5 ตรงหน้าขึ้นเลื่อนสายตาอ่านบันทึกด้วยลายมือของ
นัท-ณัฏฐ์ กิจจริต เด็กหนุ่มที่หลายคนจดจำเขาในฐานะนักแสดงชายมากความสามารถซึ่งฝากผลงานไว้ในภาพยนตร์โฆษณาของผู้กำกับฝีมือดีติดต่อกันแบบ non-stop ตั้งแต่ มอร์-วสุพล เกรียงประภากิจ ในหนังโฆษณา RiAeDo ของ Eversense Thailand, โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล ในหนังโฆษณาแจ้งเกิดอย่าง Heartbeat…จังหวะจะรัก ในวาระ 70 ปีห้างสรรพสินค้าเซนทรัล และล่าสุดกับบท ‘เขียน’ ในซีรีส์โฆษณาชุด CAN The Series by KTC ผลงานกำกับของ อั๋น-วุฒิศักดิ์ อนรรฆพร ที่เพิ่งจบไป

แต่เพราะอยากรู้จักนัทในมุมธรรมดา และวิธีคิดของเขาให้มากที่สุด

หลังคลาสเรียนสุดท้ายประจำวันของนัทในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบจบลง a team จึงชวนเขามาพูดคุย พร้อมยื่นสมุดเปล่าให้เขาทดลองเขียนบันทึกพูดคุยกับตัวเองในอนาคต

“ถ้ามีโอกาสเขียนอะไรสักอย่างถึงตัวเองในอนาคต 5 ปีข้างหน้า ผมคงถามตัวเองง่ายๆ สบายดีไหม? คนรอบข้างสบายดีรึเปล่า? นายทำอะไรอยู่? ชอบงานที่ทำไหม? ตอนนี้ใช้ชีวิตยังไง? ชีวิตตอนนี้เละรึยัง? ”

นัทพูดขึ้นก่อนลงมือตัดแปะภาพถ่ายบุคคล สถานที่ ข้าวของประกอบความสุขประจำชีวิต

ภาพ มาคุโนอุจิ อิปโป (Hajime No Ippo) เอโดงาวะ โคนัน (Edogawa Konan) อุซึมากิ นารูโตะ (Uzumaki Naruto) ตัวการ์ตูนโปรดที่เด็กชายนัทอ่านจบทีไรต้องมือซนเขียนตอนจบให้ใหม่ทุกที เพราะไม่ถูกใจบทเดิม

ภาพของทะดะโอะ อันโด (Ando Tadao) ริชาร์ด ไมเออร์ (Richard Meier) ปีเตอร์ ซุมธอร์ (Peter Zumthor) 3 สถาปนิกที่เขาชื่นชอบในความละเอียด และการแก้ปัญหางานออกแบบภายใต้ข้อจำกัด

ภาพของไรอัน กอสลิง (Ryan Gosling) จากภาพยนตร์เรื่องโปรด
The Place Beyond the Pine

ภาพของ The Kooks และ Arctic Monkey กลุ่มนักดนตรีผู้บุกยึดพื้นที่เพลย์ลิสเขา

และภาพบนดอยม่อนจองกับกลุ่มเพื่อนที่ร่วมทุกข์ร่วมทุบโมเดลออกแบบมาด้วยกัน

ไม่ใช่แค่เล่าสิ่งที่เขาสนใจ แต่ยังบันทึกการเปลี่ยนผ่านในชีวิตของเขาในแต่ละช่วงปี

นัทเกิดและโตที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เรียนโรงเรียนชายล้วน แวดล้อมด้วยกลุ่มเพื่อนนักดนตรีที่เขามองว่ามันน่าจะเท่พอๆ กับเล่นกีฬา กับกลุ่มเพื่อนศิลปะที่เขามักติดไปเรียนวาดรูป และทำผลงานส่งประกวดเงียบๆ มาตลอดวัยเด็ก เพราะเป็นสิ่งที่เขาสนุก แต่เสียอย่างตรงที่ไม่ค่อยเท่ในสายตาเด็กหนุ่มโรงเรียนชายล้วน ณ เวลานั้น ก่อนตัดสินใจบินไปเรียนต่อที่ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย และต่อยอดทักษะศิลปะที่มีบวกกับความเป็นไปได้ในการเป็นพลเมืองออสเตรเลียหลังเรียนจบด้าน Landscape Design ที่นั่น

แต่ความจริงในห้องเรียนกลับไม่สนุกเหมือนความฝัน นัทจึงถามตัวเองอีกครั้ง และกลับมาที่เมืองไทยเพื่อค้นหาสิ่งที่ใช่ และชีวิตที่เขาอยากให้เป็น

“เราจบไฮสคูลที่ซิดนีย์ก็เลือกเรียนสถาปัตยกรรม เพราะเป็นตรงกลางระหว่างสิ่งชอบ และสิ่งที่ทำให้มีเงินใช้ในอนาคต ก็เลือกแลนด์สเคปละกัน น่าจะได้ออกไปเที่ยวข้างนอก (หัวเราะ) คือคิดตามความเข้าใจในวัยเด็กตอนนั้น อ๋อ แล้วอีกเหตุผลคือตอนนั้นถ้าใครจบสาขานี้มาจะได้เป็น citizen ก็มองว่าโอเค ดูดีมีเหตุผล แต่ปรากฏว่าตอนเรียนต้องมานั่งทำความรู้จักดิน จำชื่อต้นไม้ ต้นหนึ่งก็มีชื่อเยอะ ชื่อกลาง ชื่อวิทยาศาสตร์ เราก็เริ่มรู้สึกว่าเฮ้ย ไม่สนุกเท่าไหร่ละ ค่าเทอมแพงด้วย”

“สุดท้ายเลยมานั่งถามตัวเองว่า ลองกลับมาที่ไทยแล้วค้นหาอะไรใหม่ๆ ที่นี่ดูไหม พอกลับมา ผมก็ถามตัวอีกว่า อยากได้อะไรจากการกลับมาครั้งนี้”

รักษาทักษะภาษาอังกฤษและศิลปะที่มีคือคำตอบแรก ณ วันที่เขากลับมาอยู่ไทยในฐานะนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) ควบคู่การเป็นฟรีแลนซ์รับงานออกแบบครอบจักรวาล ตั้งแต่สติกเกอร์ไลน์ โปสเตอร์งาน H2O ไปจนถึงทำฉากประกอบซิตคอมเรื่องหนึ่งให้ช่อง ONE

“ผมมีสถาปนิกที่ชอบอย่างทะดะโอะและคนอื่นๆ ที่อาจารย์มักยกมาเป็นเคสเวลาเรียนบ่อยๆ แต่เอาจริงๆ ผมว่าผมเป็นคนที่ดูงานน้อยมากถ้าเทียบกับเพื่อนในคณะ อินไหม ก็อินนะ แต่ผมเป็นคนชอบทำอะไรหลายอย่าง ลองนู่นนี่นั่นไปเรื่อย ทำให้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยของผมไม่ได้มีแค่งานออกแบบสถาปัตยกรรมเท่านั้น ผมโอเคนะ ถ้าได้เกรด C หรือ D แต่ได้ใช้ชีวิตอย่างอื่นบ้าง”

นอกจากพาร์ตงานออกแบบสารพัดนึก นัทยังมีชีวิตอีกพาร์ตหนึ่งที่เขาหลงใหลไม่แพ้กัน นั่นคือการแสดง

นัทสารภาพกับเราตามตรงว่า ถึงจะเข้าวงการมาหลายปี แต่ชื่อของเขากลับเงียบเชียบ ไม่เป็นที่รู้จักเท่าไหร่ เลยไม่ได้คิดหวังว่าตัวเองจะเป็นที่รู้จักและกลายเป็นคนที่อินศาสตร์การแสดง

จนกระทั่งวันที่เขาตัดสินใจลองเป็นนักแสดงอิสระ

“ตอนเริ่มเข้าวงการภายใต้สังกัด Workpoint ผมก็คิดก็หวังกับวงการนี้นะ แต่คิดหวังผิดเรื่อง (หัวเราะลั่น) คือคิดไปเรื่องชื่อเสียง การใช้ชีวิตในวงการ ลืมคิดพาร์ตทักษะการแสดง ช่วงนั้นก็คิดไปเรื่อยตามประสาวัยรุ่น ซึ่งผมโคตรโชคดีตรงที่เพื่อนที่คบมันไม่ค่อยดูทีวี คืนหนึ่งผมถ่ายงานเสร็จ กลับมาที่คณะเพื่อนทุกคนก็เห้ย!!! มาตัดโมฯ ต่อ ไม่มีใครทรีตผมเป็นพิเศษ เวลานั้นก็แอบเฟลนะ เห้ย ทำไมคนไม่รู้จัก…”

“แต่พอมองย้อนไปมันเป็นเรื่องโชคดีมาก เราเลยหันมาเรียนรู้การแสดงจริงจัง เป็นนักแสดงอิสระ พัฒนาตัวเองเรื่อยๆ ลองทำงานที่ท้าทายความสามารถกับผู้กำกับเก่งๆ แล้วก็มีเวลาเรียนไปด้วย คือสมมติตอนนั้นเพื่อนผมทรีตผมดีเป็นพิเศษ มีคนรู้จักเยอะมากๆ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันนะว่าผมจะใช้ชีวิตในวงการนี้ในทางไหน เดินผิดทาง มองผิดเรื่องไปหรือเปล่า”

ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านจากนักแสดงสังกัดค่ายดังสู่การเป็นนักแสดงอิสระทำให้เขาได้ทุ่มเทเวลาให้กับการเรียนการแสดงอย่างจริงจัง ความจริงจังครั้งนี้ได้พาเขามาพบเจอผู้กำกับคนเก่งอย่าง มอร์-วสุพล เกรียงประภากิจ, โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล และอั๋น-วุฒิศักดิ์ อนรรฆพร ไปพร้อมๆ กับการคลี่คลายชีวิตตัวเองทีละนิด

“การแสดงน่าจะเป็นเรื่องภูมิใจท็อปๆ ที่ได้ทำในชีวิต มันอาจจะฟังดูน้ำเน่านะ แต่ทุกครั้งที่เรียนไม่ว่ากับใครก็ตามมันปลดล็อกอะไรบางอย่างในตัวเรา สนุกกับการแสดงมากขึ้น พอได้ทำงานที่ตัวเองชอบกับกลุ่มคนที่ตั้งใจจริง เข้าใจเรา ให้คุณค่ากับงานตรงนี้ ผมเรียนรู้อะไรเยอะแยะไปหมดจากพี่โต้ง พี่มอร์ พี่อั๋น

“มานั่งคิดดูตั้งแต่วันแรกที่กลับมาไทย วันแรกที่เข้าวงการ วันแรกที่เป็นนักแสดงอิสระ หลายอย่างเปลี่ยนไปเยอะมาก คือไม่ใช่คนชอบการเปลี่ยนแปลงนะ (หัวเราะ) ผมว่ามันเป็นความเสี่ยง แต่ความโชคดีในการเปลี่ยนแปลงของผมคือพอเปลี่ยนแล้วผมชอบตัวเองมากขึ้น ซื่อสัตย์กับตัวเองมากขึ้นเลยตอบตัวเองได้ว่าเราน่าจะมาถูกทางแล้ว”

“และความโชคดีอีกอย่างคือพาร์ตการแสดงกับพาร์ตงานออกแบบไม่เคยเกิดขึ้นพร้อมกัน เวลาทำงานดีไซน์ผมก็จะไม่คิดอย่างอื่น ก็สุดกับงานเท่าที่ผมสามารถทำได้ตามกำลัง พอออกมาอยู่กอง ผมก็หมกมุ่นกับการแสดง ไม่คิดเรื่องอื่น ไม่เคยแบ่งว่าวันนี้ 4 ชั่วโมงต้องอ่านงานดีไซน์ 4 ชั่วโมงต้องซ้อมบทนะ มีอะไรมาผมลุย ลุยจบก็กลับมาใช้ชีวิตปกติ”

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการมีเป้าหมายถือเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาชั้นดีเวลาใครบางคนต้องการพัฒนาตัวเอง แต่นัทกลับไม่เชื่ออย่างนั้นซะทีเดียว

“เวลาแคสงานแสดง ผมจะถามคนแค่ไม่กี่คนในชีวิต ถ้าคนในชีวิตแฮปปี้ เราก็แฮปปี้ที่จะทำ เราไม่ได้อยากดัง เป้าหมายตอนนี้คืออยากเก่งขึ้นทุกวัน ผมเลยไม่รู้ว่าการอยากเล่นบทนั้นบทนี้ ทำงานกับผู้กำกับคนนั้นคนนี้ มันถือเป็นการวางหมุดหมายที่ถูกต้องไหม แต่ส่วนตัวผมมองแค่ทุกวันนี้ได้เล่นบทที่ดี ไม่ว่าจะบทอะไรมันก็โอเคแล้วนะ”

ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า สิ่งที่นัทตระเตรียมไว้ในสมุดบันทึกจึงเต็มไปด้วยคำถามกับคำพูดที่ยืนยันกับเราว่า เขามีความสุขกับสิ่งไหนและแอบหวังอะไรลึกๆ ในอนาคต

“อีก 5 ปีข้างหน้าผมก็หวังว่าจะมีพื้นที่ตรงกลางระหว่างโลกการแสดงและการออกแบบให้ผมอยู่ แต่ตอนนี้ก็ยังนึกไม่ค่อยว่าหน้าตามันจะเป็นยังไง อย่างทีสิสที่ทำอยู่เป็นการออกแบบโรงเรียนสอนทำภาพยนตร์ โดยเอาทฤษฎี Cinematic Architecture มาใช้ อย่างภาพยนตร์ เราทุกคนเป็นคนนั่งดูอยู่เฉยๆ แล้วเรื่องราวจะเคลื่อนไหวในเฟรมตรงหน้า แต่พอเป็นสถาปัตยกรรม motion มันเปลี่ยน กลายเป็นสถาปัตยกรรมอยู่เฉยๆ
แต่เป็นคนดูต้องเดินหาเรื่องราวมากกว่า ซึ่งผมแฮปปี้มากที่ได้หาตรงกลางระหว่างสองสิ่งนี้”

“แน่นอนว่างานด้านสถาปัตยกรรมก็คงเป็นวิชาชีพที่ต้องยึดไว้เพราะงานแสดงมันไม่แน่ไม่นอน แต่เรื่องความชอบผมให้เท่ากัน จริงๆ เป้าหมายผมไม่ได้ใหญ่มากหรอก ผมก็แค่อยากมีบ้าน มีหมาสักตัว แล้วก็ใช้ชีวิตงงๆ ต่อไป โคตรกระจอกเลยความสุขผม (ยิ้ม)”

สมุดบันทึกขนาด A5 ของนัททิ้งตัวลงพักผ่อนในลิ้นชักเราเงียบเชียบ

รอคอยเวลาออกเดินทางกลับไปหาเจ้าของของมันอีกครั้ง


ภาพ
ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ
วิดีโอครีเอเตอร์ อภิวัฒน์ ทองเภ้า

AUTHOR