ชีวิตในประเทศที่เคารพความแตกต่างของ ‘กัณตวัฒน์ พงษ์ริยวัฒนา’ สถาปนิกไทยที่มีส่วนร่วมในโอลิมปิกฝรั่งเศส

หอไอเฟล พระราชวังแวร์ซายส์ ถนนฌ็องเซลิเซ่ พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ และอีกหลากหลายสถานที่ขึ้นชื่อด้านสถาปัตยกรรมและงานศิลป์ อาจเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างภาพจำทำให้ฝรั่งเศสกลายเป็นเมืองแสนโรแมนติก จนไม่ใช่เรื่องแปลกนักหากจะทำให้ใครๆ ต่างใฝ่ฝันว่าอยากจะมาเยือนและใช้ชีวิตที่ฝรั่งเศสสักครั้งในชีวิต 

แต่กับ กัน–กัณตวัฒน์ พงษ์ริยวัฒนา สถาปนิกชาวไทยที่อยู่ฝรั่งเศสย่างเข้าปีที่สิบ เขาบอกกับเราว่าตอนย้ายมาความรู้เกี่ยวกับฝรั่งเศสแทบจะเป็นศูนย์ สิ่งยอดฮิตที่ใครหลายคนฝันถึงล้วนไม่อยู่ในความสนใจ

“ฝรั่งเศสมีความคล้ายคลึงกับประเทศไทยตรงที่บ้านเมืองเขาก็เละเทะเหมือนบ้านเรานี่แหละ เอาจริงๆ เมืองค่อนข้างสกปรกมากด้วยซ้ำ ดีกว่าหน่อยตรงที่เขามีระบบการบริหารและสวัสดิการที่มีประสิทธิภาพ มีกฎหมายคุ้มครองพลเมืองแข็งแรง” เขาเปรียบ

แต่แม้เมืองแห่งนี้จะมีหลายข้อเสียจนทำให้เขาอยากจะกลับประเทศไทยให้เร็วที่สุดหลังเรียนจบ ท่ามกลางข้อเสียเหล่านั้น ความอิสระและความก้าวหน้าทางการงาน ก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ฝรั่งเศสกลับกลายมาเป็นประเทศที่เขาอยากจะอยู่ต่อไปเรื่อยๆ 

ชีวิตที่ไม่เหมือนภาพฝันในฝรั่งเศสของกันเป็นยังไง สถาปนิกหนุ่มพร้อมเล่าให้เราฟังแล้ว

เปิดประตูสู่ฝรั่งเศสด้วยการศึกษา

ก่อนจะย้ายมาฝรั่งเศส กันคือนิสิตจบใหม่ป้ายแดงจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชาสถาปัตยกรรมผังเมือง (Urban Architecture) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเป็นสาขาที่ในประเทศไทยยังไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจหรือเห็นเป็นเรื่องสำคัญมากนัก ณ ตอนนั้น เขาจึงคิดไว้อยู่แล้วว่าหากอยากจะเติบโตในสายงานนี้ ยังไงก็คงต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในต่างประเทศ

จากคำแนะนำของอาจารย์ในภาควิชา ฝรั่งเศสจึงเข้ามาเป็นตัวเลือกสำคัญ เพราะมองว่าไหนๆ ก็มีโอกาสไปเรียนต่างประเทศแล้ว หากได้ภาษาที่สามกลับไปด้วยก็คงดี 

ก่อนบินจริงเขาจึงเริ่มต้นเรียนภาษาที่ Alliance française Bangkok ก่อนประมาณ 3 เดือน แล้วไปตายเอาดาบหน้าที่ฝรั่งเศสด้วยแพลนที่วางไว้คร่าวๆ คือเรียนภาษา สอบวัดระดับให้ผ่าน และสมัครเข้าเรียนในโรงเรียนสถาปัตย์

“ตอนนั้นเราแทบจะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับฝรั่งเศสเลย พูดได้แค่ bonjour (สวัสดี), ça va (สบายดีไหม) วันแรกที่เท้าแตะพื้นสนามบิน Charles de Gaulle จำได้เลยว่าเราวิตกจริตมาก มันเป็นเหมือนอีกโลกหนึ่งเลย ออกจากสนามบินคือสนามรบ กลัวมากว่าจะสื่อสารกับคนอื่นไม่ได้ กลัวว่าถ้าเกิดปัญหาอะไรแล้วจะทำอะไรไม่ถูก” สถาปนิกหนุ่มย้อนความ

“ต้องขอบคุณแม่มากๆ เลย เพราะเขาช่วยเราจัดการทุกอย่าง ตั้งแต่หาบ้าน หาเอเจนซีสถาบันภาษา ไปจนถึงทำแผนที่ให้เลยว่าออกจากสนามบินแล้วต้องเจออะไรบ้าง ขึ้นรถไฟที่ไหน ยังไง คุณแม่เตรียมข้อมูล หารายละเอียดให้ทุกอย่าง” 

เขาบอกว่ากว่าจะปรับตัวเข้ากับประเทศใหม่ได้ก็ทำเอาเหนื่อย แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมาก็ทำให้รู้ว่าสิ่งสำคัญของการมาอยู่ต่างประเทศคือใจล้วนๆ ถ้ามาแล้วไม่สู้ ไม่อยู่ให้รอดด้วยตัวของตัวเอง ก็มีทางเดียวคือเก็บกระเป๋ากลับบ้าน ซึ่งเขาจะไม่ยอมให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้นกับตัวเองเด็ดขาด

ถึงแม้จะเผชิญกับความเครียดอย่างการสอบวัดระดับทางภาษาไม่ผ่านอยู่หลายหน แต่สุดท้ายเขาก็สู้จนเข้าเรียนที่โรงเรียนสถาปัตย์ (École nationale supérieure d’architecture de Paris-La Villette) ได้สำเร็จ

การเรียนการสอนที่สนับสนุนให้คนกล้าที่จะแตกต่างอย่างสร้างสรรค์

ความแตกต่างของการเรียนสถาปัตย์ที่ฝรั่งเศสกับประเทศไทยอยู่ที่ระบบความคิด 

กันอธิบายให้ฟังว่า ฝรั่งเศสสอนให้เขาเริ่มต้นคิดงานอย่างมีลำดับขั้นตอนจาก 1-5 เวลาที่คนในแวดวงสถาปัตย์ที่นั่นจะออกแบบบางสิ่ง พวกเขาจะมองเป็นสเตปที่เชื่อมโยงกันทั้งหมด ไม่มีข้ามขั้น งานที่ออกมาจึงจะมีเหตุผลรองรับอยู่เสมอ

“งานออกแบบที่นี่แม้จะไม่ได้หวือหวาเหมือนประเทศอื่นๆ แต่มันมีรายละเอียดและความหมายซ่อนอยู่ งานแต่ละงานคิดมาแล้วว่าตอบโจทย์ถึงทำออกมาแบบนั้น อีกอย่างที่เห็นชัดเลยคือที่นี่เป็นประเทศประชาธิปไตย เขาจึงให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดมาก หากอยู่บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิก็สามารถสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดกันได้ตลอด ถ้ามีเหตุผลว่าทำไมถึงทำอย่างนี้ เขาก็รับฟัง หรือถ้าใครเห็นต่างก็เอาเหตุผลของอีกคนมาพูดคุยกัน งานสถาปัตย์ที่นี่เลยค่อนข้างแตกต่าง เพราะคนเขากล้าทำ กล้าออกแบบ กล้าแตกต่าง”

ยิ่งไปกว่านั้นคือระบบสวัสดิการสำหรับการศึกษาที่นี่ ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ในทุกๆ แคว้นจะมีมหาวิทยาลัยให้เลือกเรียนใกล้บ้านได้ โดยที่คุณภาพก็ไม่ได้แตกต่างกัน ไม่มีการจัดอันดับว่าที่ไหนดีกว่าที่ไหน

“เขาทำให้การศึกษามันเท่ากันได้จริงๆ ทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้อย่างทั่วถึง รวมถึงสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับการเรียนอย่างเวิร์กช็อปต่างๆ โรงเรียนก็ช่วยออกค่าใช้จ่ายให้ส่วนหนึ่ง เราสามารถเข้ามิวเซียมได้ฟรีถ้าเป็นนักเรียน สายศิลปะ หรือสายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการทำกิจกรรมหรือโครงการที่เกี่ยวข้องกับศิลปะก็มีการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ นอกจากนั้นยังมีการช่วยเหลือสวัสดิการพื้นฐานอย่างการลดค่าโดยสารระบบขนส่งมวลชน การช่วยจ่ายค่าที่อยู่อาศัย และประกันสุขภาพ ให้นักเรียนด้วย”

แม้วันนี้กันจะอยู่ฝรั่งเศสย่างเข้าปีที่สิบแล้ว แต่หากย้อนกลับไปในวันที่เขาเรียนจบ ความคิดที่จะอยู่ที่นี่ยาวนานถึงขนาดนี้แทบจะไม่มีในหัวเลยด้วยซ้ำ

“ตอนนั้นเราไม่ชอบชีวิตที่นี่เลย คิดว่าเรียนจบปุ๊บคงกลับไทยปั๊บ เพราะมันเครียด อึดอัด และซัฟเฟอร์มาก ทุกอย่างคือการต่อสู้ คนที่มาจากประเทศที่ทุกอย่างชิลล์ไปหมดอย่างเราเลยต้องวางแผนตัวเองแทบจะทุกย่างก้าว” 

มากไปกว่านั้นคือชีวิตจริงในฝรั่งเศสของกันก็แทบจะไร้ภาพเมืองในฝันที่ทุกคนเคยคิดถึง เขาบอกว่าฝรั่งเศสของจริงสกปรกมาก ก้นบุหรี่เต็มเมือง มีฉกกระเป๋า มีขโมย กระทั่งเขาเองยังเคยโดนดูถูก โดนถุยน้ำลายใส่ด้วยซ้ำ 

แต่สุดท้ายประโยค ‘กลับไปประเทศไทยน่ะง่าย แต่กลับมาฝรั่งเศสอีกครั้งยาก’ ก็ฉุดรั้งให้กันตัดสินใจใช้ชีวิต หางานทำที่นี่ดูก่อน

สู่ชีวิตการทำงานจริงในฐานะพลเมืองโลก

หลังจากเรียนจบปริญญาโท เขาจึงเริ่มต้นทำงานที่ร้านอาหารไทยไปพลางๆ เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศจากสายงานสถาปัตย์ที่ตนเองสนใจมาตลอด โดยที่ระหว่างนั้นก็ยื่นสมัครงานสถาปนิกไปด้วย 

จนที่สุดก็ได้เข้าทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราว ที่บริษัทสถาปนิกแห่งหนึ่ง และเพิ่งจะได้บรรจุเป็นลูกจ้างประจำที่บริษัทแห่งใหม่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา 

“ก่อนหน้านี้เครียดมาก ต้องขอบคุณพี่คนไทยและเพื่อนหลายๆ คนที่คอยให้คำแนะนำในการใช้ชีวิต โดยเฉพาะพี่ติ๊กกับมาย่า เจ้าของร้านอาหาร Villa Papillon เขาเป็นที่ปรึกษาให้เรามาตลอด” กันว่า

“ข้อดีของการเป็นสถาปนิกที่นี่สำหรับเราคือการได้เข้าใจว่าความงามที่ไม่สมบูรณ์แบบคือความงามที่แท้จริง หรือที่คนฝรั่งเศสเรียกว่า ‘งามแบบมีตำหนิ’ งานออกแบบของเขาไม่ยึดติดกับพิมพ์นิยม ไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร ให้คุณค่ากับความงดงามในแบบที่เป็นตัวเรา ถือความเป็น originality เป็นสิ่งสำคัญ” 

ขอบคุณภาพจาก Brenac & Gonzales & Associés

งานที่กันทำมีตั้งแต่สเกลอย่างอาคารออฟฟิศ อาคารที่พักอาศัย ไปจนถึงงานสเกลใหญ่อย่างบ้านพักนักกีฬาสำหรับโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2024 ที่จะถึง แล้วแต่ว่าบริษัทจะชนะประกวดการออกแบบอะไรมา ซึ่งความสนุกของการทำงานเหล่านั้นก็อยู่ตรงที่เขาสามารถคิดนอกกรอบหรือหยิบเอาวัตถุดิบใหม่ๆ มาเติมให้อาคารน่าสนใจมากขึ้นได้ อีกทั้งในประเทศเองก็มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้เลือกใช้ในการออกแบบเยอะ

นอกจากนั้นเขายังได้ร่วมทำงานแบบทีมเวิร์กกับเพื่อนที่มาจากทั่วทุกมุมโลก 

“พอได้รู้จักคนหลายๆ เชื้อชาติ ได้ทำงานกับคนจากหลากหลายวัฒนธรรม มันทำให้เรารู้สึกว่าเราทำงานที่ไหนก็ได้บนโลกใบนี้ 

“ทุกคนมีสิทธิที่จะแสดงความเห็น ไม่ได้ถือระบบอาวุโส ว่าฉันเคยอาบน้ำร้อนมาก่อน เขาไม่ได้มานั่งคิดว่าเธอเด็กกว่าไม่มีสิทธิแสดงความคิดเห็น ที่นี่ถ้าคุณไม่รู้ก็คือไม่รู้ เรามาเรียนรู้พร้อมกันได้ ซึ่งเราชอบมาก มันเป็นไลฟ์สไตล์การทำงานที่หาไม่ได้ที่ไทย”

สถาปนิก
ขอบคุณภาพจาก Brenac & Gonzales & Associés

ส่วนข้อเสียหรืออุปสรรคที่กันต้องเผชิญก็มีมาก หนึ่ง–คือกำแพงด้านภาษาที่ทำให้คนต่างชาติอย่างเขาเหนื่อยหน่อย โดยเฉพาะเมื่อต้องศึกษากฎข้อบังคับ หรือกฎหมายควบคุมต่างๆ สอง–คือโลกที่ต่างออกไปจากระบบการเรียน ซึ่งกันบอกว่าเขาต้องเผชิญกับความเครียด ความกดดันเสมือนต้องทำทีสิสอยู่ทุกวี่วัน และสาม–คือนิสัยการทำงานที่ต่างไปจากคนไทย

“คนที่นี่เวลามีปัญหาอะไรเขาจะไม่ค่อยปล่อย จะพยายามหาทางแก้ไขจนกว่าจะได้ โดยที่บางครั้งก็ไม่ได้มองหาวิธีการแก้ไขทางอื่น ต่างจากคนไทยเราที่พลิกแพลงเก่ง และที่สำคัญคือเขาค่อนข้างจะขี้บ่นโต้เถียงกันมาก บรรยากาศการทำงานเลยค่อนข้างจะไม่สงบ” กันหัวเราะ ก่อนจะบอกว่าหลักการทำงานกับคนฝรั่งเศสที่สำคัญที่สุดและใช้ได้เสมอมานั่นคือ หากมีอะไรที่ไม่เข้าใจตรงไหนต้องถามให้ชัดเจน 

“ไม่รู้คือไม่รู้ ต้องบอก อย่าไปกลัว” 

สถาปนิก

ในส่วนของสวัสดิการที่ได้รับกันก็เล่าให้ฟังว่าแม้ตอนที่เขาเป็นลูกจ้างชั่วคราว ฝรั่งเศสก็มีสวัสดิการคุ้มครองคนทำงานที่ใช้ได้ 

“บริษัทส่วนใหญ่จะเคารพเวลาส่วนตัว ไม่มีการทำงานเกินเวลาโดยไม่จำเป็น มีระบบประกันสุขภาพ มีเงินช่วยเหลือค่าเดินทางและมีบัตรคูปองอาหารเที่ยงให้ นี่เป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้”

ก่อนหน้านี้ที่เขาถูกเลิกจ้าง ประเทศฝรั่งเศสก็มีการคุ้มครองให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสม หนึ่ง–คือสามารถขอวีซ่าตกงานเพื่อช่วยเหลือในเรื่องของระยะเวลาการอยู่ในประเทศได้ระหว่างที่หางานใหม่ และสอง–คือมีสวัสดิการให้ทั้งเงินช่วยเหลือ หรือการจ่ายในราคาที่ถูกลงสำหรับค่าบริการในกิจกรรมต่างๆ สำหรับคนว่างงาน เช่น ศูนย์กีฬา พิพิธภัณฑ์ เป็นต้น

“กรมการจัดหางานที่นี่จะมีการให้คำปรึกษาเพิ่มเติมด้วยว่าอะไรคือสิ่งที่เรายังขาดไปในการทำงาน เขาจะมีเวิร์กช็อปให้ลงเรียนพัฒนาศักยภาพเพิ่มเติมด้วย” กันว่า เขาบอกว่าทั้งหมดนี้ก็มีต้นเหตุจากระบบภาษีที่ทำให้เห็นว่าจ่ายไปแล้วจะย้อนกลับคืนมาสู่ตัวคนทำงานจริงๆ 

สถาปนิก

“การอยู่ที่นี่ทำให้เรารู้สึกว่าเราเป็น world citizen มากกว่าการเป็นคนไทยในฝรั่งเศส ประเทศนี้แต่ละคนมีบุคลิกเฉพาะตัว มีความเป็นตัวเองสูงมาก แต่เขาเคารพซึ่งกันและกัน ยอมรับในความแตกต่างและมองว่าคนทุกคนเท่ากัน เขาเชื่อถือใน ‘ภราดรภาพ เสรีภาพ เสมอภาค’ กันมาก ไม่ได้มองคำว่า nationality แต่มองคำว่า humanity กันแล้ว”

การอยู่ที่ฝรั่งเศสแม้จะมีทั้งส่วนที่ถูกใจและไม่ถูกใจ แต่กันบอกว่ามันคล้ายความรู้สึกว่ายิ่งเกลียดยิ่งรัก เพราะแม้ชีวิตที่ไทยจะสะดวกสบายสำหรับเขามากกว่าในหลายๆ เรื่อง แต่หากวันนี้เขายังอยู่ไทย เขาก็คงจะไม่ได้สัมผัสโลกที่ทำให้เป็นผู้ใหญ่ขึ้นมากขนาดนี้

AUTHOR