ความเชื่อที่เปลี่ยนไปและพลังที่ยังเหลืออยู่ เรื่องเล่าหลังอัลบั้มใหม่ของนักเล่าเรื่อง เป้ อารักษ์

“พอร้องเพลงก็กลายเป็นคนบ้า” อารักษ์ อมรศุภศิริ หรือ เป้ ตรงหน้ายังพูดปนหัวเราะเหมือนเดิม
เมื่อเอ่ยถึงการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เขาผันตัวมาเป็นนักร้องนักดนตรีที่ทำเพลงเอง
แม้วันที่เราคุยกัน เขาจะเดินทางมาถึงอัลบั้มที่ 3 ของวง Arak
& The Pisat Band ที่เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการก็ตาม

ดูเผินๆ
อัลบั้มล่าสุด Wood and
Steel แตกต่างไปตั้งแต่การผสมผสานดนตรีร็อกเข้ามากว่าครึ่ง
ได้นักดนตรีคนสำคัญอย่าง เล็ก ฮิวโก้ มาดูแลโปรดักชัน
เสริมพลังด้วย เจ มณฑล ดูแลการมิกซ์และมาสเตอริ่ง
เพลงที่ปล่อยออกมาชิมลางก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้เป็นเรื่องสังคมเข้มข้นอีกต่อไป
ยิ่งทำให้เราสงสัยว่า 4 ปีที่เป้ทิ้งช่วงห่างจากอัลบั้มที่ 2
ได้เกิดอะไรขึ้นในใจเขาบ้าง อะไรยังเหมือนเดิม
อะไรเปลี่ยนแปลงไปแล้ว

ใช่ว่าพายุอุปสรรคตลอดหลายปีที่ผ่านมาไม่มีผล
คำให้สัมภาษณ์ของเป้ไม่ต่างจากเพลงของเขาที่พูดเรื่องต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา
เขายิ้มยอมรับตรงๆ ว่ายังหวั่นไหวกับคำวิจารณ์เรื่องเสียงร้องที่ฟังไม่รื่นหู
คำวิพากษ์เรื่องการเขียนเพลงแบบแปลกๆ แหวกขนบตลาด และยังยอมรับจากใจในวันนี้ว่า ‘เพลงเปลี่ยนแปลงสังคมไม่ได้จริง’

แต่ในคำยอมรับที่ว่า
เป้ไม่เคยคิดหันหลังกลับ พลังบางอย่างที่ได้ฟังทำให้เรารู้ว่าเขายังรักดนตรีแค่ไหน
แม้ไม่ได้เอ่ยคำว่ารักแม้แต่คำเดียว

4 ปีที่ไม่ได้ออกอัลบั้มใหม่ คุณหายไปทำอะไรมา
ความจริงไม่ได้หายไปไหนเลย
ยังเล่นละคร ถ่ายหนัง ออกเพลงใหม่อยู่ตลอด มี ‘เพลงรัก‘, ‘แพ้‘, ‘คิดถึง’, ‘บู๊‘ และล่าสุดคือ ‘ฉันออกไปเต้นกับเพลงที่ไม่คิดจะฟัง‘ แต่ระหว่างนั้นมีการเปลี่ยนค่ายจากค่าย
Believe ที่ปิดตัวมาอยู่ค่าย What The Duck ซึ่งเป็นทีมงานเดิม แต่เรื่องก่อนจะลงตัวกับค่ายนี่สนุกกว่า
เพราะเรามีเพลงอยู่ 5 เพลง ส่งให้หลายค่าย แต่ไม่มีใครเอาเลย

ตอนนั้นฝ่อเลยไหม
ฝ่อ
เพราะชุดหนึ่งกับสองนี่ออกง่าย แต่พอส่งชุดสามไป บางค่ายเปิดฟังแล้วบอกว่าเป้ให้คนมาช่วยเขียนเนื้อไหม
เฮ้ย! เขียนเนื้อเลยจะดีเหรอ เพราะเรามั่นใจในเนื้อเพลงตัวเองไง
แม้จะไม่มั่นใจในการร้องเสมอมา แล้ว What The Duck ให้ดีลว่ามาออกด้วยกันสิ
จากนั้นก็ปล่อย ‘เพลงรัก’ ออกมา ซึ่งก็แป้กใช้ได้ (หัวเราะ)
แต่พอดีว่าผมชิน ผมทำเพลงอะไรออกมาก็ไม่ค่อยฮิตอยู่แล้ว

ช่วงเวลาที่ผ่านมาทำให้ตัวคุณเปลี่ยนแปลงไปในมุมไหนบ้าง
เรื่องใหญ่น่าจะเป็นเนื้อเพลง
เมื่อก่อนผมคิดว่าผมจะต้องเล่าเรื่องแปลกๆ ที่ไม่มีใครเคยรู้ ไม่มีใครเคยพูด
เรื่องที่ไม่ใช่เพลงรัก เพราะตอนเด็กๆ เราอยากจะเป็นนักปฏิวัติ นักประท้วงเรื่องเสียงเพลง
อยากจะเปลี่ยนแปลงสังคม อยากทำอะไรให้มันดีขึ้น
แต่สุดท้ายเพลงไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น ไม่เกิดอะไรกับคนฟังเลย จำนวนคนฟังก็น้อย
เพลงที่อยากจะก่อการเปลี่ยนแปลงก็กลับมาทำร้ายเราเอง เช่น เพลง ‘กระสุนปืน
ที่มีคนตีความเรื่องการเมืองแล้วมาเกลียดเรา หรือเพลง ‘สมศรี‘ พูดถึงเด็กวัยรุ่นท้อง
สุดท้ายมันก็ไม่ได้กระตุ้นเรื่องพวกนั้น การแต่งเพลงโดยหวังให้อะไรๆ
มันเปลี่ยนเนี่ย เอ็งอย่าทำเลย ไม่ต้องหวังแล้ว เพราะมันไม่มีประโยชน์

เหมือนพี่แอ๊ดแต่งเพลง เมดอินไทยแลนด์ บอกว่าคนตกท่อ รัฐบาลฟัง แต่ตอนนี้คนก็ยังตกท่ออยู่ หรืออย่างเพลงของ จอห์น เลนนอน คนที่ยอมเชื่อเขาก็ไม่ไปรบ แต่สุดท้ายอเมริกาก็สู้กับเวียดนามจนถึงที่สุดอยู่ดี เราไม่ได้คิดจะยิ่งใหญ่ขนาดนั้นหรอกนะ เราแค่เล่าเรื่องว่าอะไรมันเปลี่ยนแปลงได้ก็เปลี่ยนหน่อย ทำให้มันดีขึ้น แต่ในเมื่อเป็นแบบนี้แล้ว ถ้าเราอยากเปลี่ยนสังคม เราออกไปลงทุน ไปหาเงินช่วยเหลือคนที่เขาเดือดร้อนดีกว่า ถ้าทำเพลงไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็แล้วแต่ จะวนกลับไปเรื่องการปฏิวัติหรือไม่ก็ตาม ต่อจากนี้ต้องทำให้มันเพราะ ถ้ามันไม่เพราะก็ไม่ดี นี่คือเรื่องใหญ่ที่เราเปลี่ยนไป

 

 

สิ่งที่เคยอยู่ในตัวเรามันหายไปไหน
โซเชียลเน็ตเวิร์กก็มีผลเหมือนกัน สมัยก่อนสิ่งที่อยู่ในตัวผมมันไม่มีใครพูด แต่เดี๋ยวนี้คนเขาก็คิดแบบเดียวกันหมดแล้วและพูดในทันที
มันมีความแตกต่างระหว่างยุคเสื้อเหลืองเสื้อแดงแม้จะห่างกันไม่กี่ปี ข้อมูลข่าวสาร
การแสดงออก คนไม่ใช่สื่อที่ได้รับความสนใจมันต่างกันหลายเท่า นอกจากนี้ผมก็เชื่อว่ายังมีวงใหม่ๆ ที่พูดเรื่องแบบนี้โดยความตั้งใจของเขาอยู่
เช่นวง ZERO
HERO เพลง หัวขโมย วง YENA พูดเรื่องตำรวจ
แต่ก็ไม่ใช่ว่าผมจะไม่พูดเลย ในอัลบั้มนี้ก็ยังมีเพลง ‘พลังที่หว่างขา
เกี่ยวกับมอเตอร์ไซค์ แต่ถามว่าเชื่อไหมว่าจะเปลี่ยนอะไรได้
ไม่เชื่อแล้ว กลับมาแตะเรื่องใกล้ตัวดีกว่า

นักเล่าเรื่องแปลกอย่างคุณสนใจเรื่องใกล้ตัวแบบไหน
เรากลับมาสู่เรื่องเบสิกที่สุด
นั่นคือเรื่องความสัมพันธ์ เรื่องใกล้ตัวแบบนี้ก็มีความมันอยู่เยอะ
ยังมีอีกหลายแง่มุมที่คนยังไม่เล่า เช่น เพลง ขู่
เล่าถึงเวลาผู้ชายชอบบอกเลิกผู้หญิงบ่อยๆ วันหนึ่งผู้หญิงไปจริง
แล้วผู้ชายบอกว่าแค่ขู่เอง เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยมาก ทั้งตัวเราเองและรอบๆ
ตัวเรา เรารู้สึกว่าเฮ้ย มันยังไม่มีคนเล่า ท้าทายดี
มันยากในการหาแง่มุมความสัมพันธ์ แต่ก็สนุกด้วย

 

สนุกยังไง
น่าจะยากด้วยซ้ำเพราะเรื่องพวกนี้มีคนพูดซ้ำเต็มไปหมด เหมือนหนีเสือปะจระเข้
หนีเสือปะจระเข้จริงๆ
แต่เราไม่ได้ตั้งใจไปแข่งเขาเรื่องนั้นไง จุดมุ่งหมายตอนนี้มันต่างไปแล้ว
เราอยากทำเพลงเพราะให้คนสนุก มีความสุขกับการฟัง มีเนื้อเพลงที่ไม่เหมือนคนอื่น
เราดูว่าอะไรที่คนยังไม่ได้พูด
แล้วถ้าเรามีคำที่คนยังไม่พูดมาก่อนในเพลงก็จะรู้สึกชนะ เช่น ในเพลง ‘รอ‘ ประโยคแรกๆ ก็มีคำว่าศีลธรรมเข้ามาแล้ว
คำว่าศีลธรรมในเนื้อเพลงไทยเรียกว่าแทบจะหาได้น้อยมาก หรือประโยคอย่าง ‘ไปมองหลังคาให้หมาเธอโมโห’, ‘ฉันไม่กลัวสิงโตหรือหนู
กินทั้งกุ้งหอยและปู’ เราดีใจที่เอาคำพวกนี้ใส่ลงไปได้ รู้สึกสะใจ
ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องดีไหม แต่มันก็ยังไม่มีใครทำแล้วเราทำได้ ยังคล้องจองกันอยู่
มันคือความมันในการกลับไปเล่าเรื่องปกติแต่ยังมีภาษาที่เรารู้สึกภูมิใจอยู่

คุณเมื่ออายุ
25 เล่าเรื่องปัญหาสังคม แล้วคุณตอนอายุ 32 พูดเรื่องอะไร
ให้เลือกเพลงถามเลยดีกว่า
(ยื่นซีดี)

แสดงว่าทุกเพลงเป็นชีวิตเราทั้งหมด
ใช่
ถ้าเป็นเพลงรักนี่แทบจะบอกชื่อคนได้เลย (หัวเราะ) แต่ผมไม่บอกหรอก
บางทีการแต่งเพลงมันเหมือนการขุดเหมือง สมมติว่าสุภาพสตรีท่านหนึ่งเป็นเหมือง
บางทีมันไม่ใช่แค่ความรักที่เราได้จากเขา แต่ในเหมืองมีเพลงอยู่เต็มไปหมดเลย พูดว่าขุดเหมืองอาจจะฟังดูทุเรศนะ
แต่วัตถุดิบในเพลงมันเป็นเหมือนทอง เราก็ไปขุดทองออกมาจากเหมืองเหมืองนี้
ปัญหาคือเหมืองเหมืองนี้มันมีวันหมด แต่นี่คือวิธีของผม ถ้าเอ็งไม่เจอเอง
เอ็งก็จะไม่มีวันเขียนอะไรที่ตรงไปตรงมาได้

งั้นยกตัวอย่างเพลง
รักนักร้อง
ตอนนั้นเราชอบนักร้องผู้หญิงหลายวงมาก
มีโอกาสได้ไปดูโชว์ติดๆ กัน มันเป็นช่วงที่กำลังแต่งเพลงเร็ว
ที่บอกแบบนี้เพราะเราแต่งเพลงเร็วไม่ได้เลย
แต่งได้แต่เพลงช้ากับเพลงเร็วแบบคันทรี่ เลยตั้งใจว่า 2 สัปดาห์นี้จะแต่งแต่เพลงเร็ว
แต่งทุกวัน เพลงเร็วยุคนี้ถ้าไม่ใช่เรื่องรักอกหัก เรื่องผู้หญิง ก็จะมีแต่เรื่องแบบ
เอ้าทุกคนออกไปสนุกกัน ออกไปสู้กับมันเพราะเราเกิดมาแค่ครั้งเดียว อะไรแบบนี้
เราก็หาแง่มุมใหม่ๆ ว่าจะพูดเรื่องอะไรดี

ทีนี้ถ้าเราชอบนักร้องผู้หญิงคนนึงแล้วเราไปดูคอนเสิร์ตเขา
เวลาที่เขาร้องเพลงเศร้า เราก็รู้สึกอยากจะให้เขาเปลี่ยนเพลงเศร้าที่ร้องเปลี่ยนเป็นชื่อเราได้ไหม ‘ถ้าคำว่าเขาในบทเพลงมันทำให้เธอเสียใจ
อยากให้เธอเปลี่ยนคำใหม่แล้วใส่ชื่อฉันลงไปดีไหม’ เอาเรื่องนั้นมาแต่งเป็นเพลง
ถึงจะเป็นเพลงรักแต่มันก็ weird สุดๆ แล้วเราก็รู้สึกสะใจที่ได้คำนี้มา

คุณมีหลักในการเลือกเรื่องราวยังไง
ต้องน่าสนใจ
ต้องไม่เหมือนใคร มันเลยต้องเป็นจุดเล็กๆ เช่น เพลง ‘แพ้‘ อาจจะมีคนแต่งเหมือนกัน แต่คอนเทนต์ข้างในมันไม่เหมือนกัน
แพ้ของเราไม่ได้แพ้ความรัก แต่แพ้ตัณหา เพลง ‘ชู้ทางกาย
ก็อาจจะมีเพลงลูกทุ่งที่เหมือนเรา
แต่เพลงสตริงยุคใหม่ก็ไม่น่ามีใครเหมือน

แต่เพลงเราไม่จำเป็นต้องมาจากส่วนเล็กๆ
เสมอไป อย่างเพลง ‘กายฉันว่ายน้ำไปใจฉันคิดถึงเธอ‘ อันนี้มาจากหนังสือ พระมหาชนก ที่เราเรียนตั้งแต่เด็กๆ
แต่เอามาเกี่ยวกับชีวิตเราช่วงนั้น ความพยายามของเราเหมือนกับเราว่ายน้ำ เราเริ่มเรียนร้องเพลงช้ากว่าทุกคน
คือเราลงน้ำช้ากว่าทุกคน เราอาจจะว่ายไม่เร็ว แต่เราทน เราว่ายได้นาน
และแน่นอนว่าตอนเราว่ายไป
เราก็ยังนึกถึงคนที่เราทิ้งไว้ข้างหลังหรือคนที่เราว่ายไปคนละทางแล้ว

ชื่ออัลบั้ม
Wood
& Steel หรือ ไม้กับเหล็ก เปรียบเปรยถึงอะไร
พี่เล็ก ฮิวโก้ เป็นคนคิดครับ
สมัยอยู่กองถ่าย ยังบาว เราคุยกันเรื่องดนตรีหลายเรื่อง แล้วพี่เล็กก็บอกว่า เฮ้ย
เรามาแต่งเพลงเรื่องไม้กับเหล็กดูไหม
บางทีการเดินทางของวงดนตรีมันเหมือนการแบกเหล็กกับไม้ไปยังที่ต่างๆ มากกว่า
เพราะเครื่องดนตรีก็คือเหล็กกับไม้ทั้งนั้น นั่นคือครั้งแรกที่เราคิดจะแต่งเพลงด้วยกัน
ตอนนี้พอดีมาทำอัลบั้มแบบสองฝั่ง ฝั่งละ 8 เพลง
พี่เล็กก็บอกว่าใช้ชื่อเหล็กกับไม้ดิ เราก็โอเคเลย ทำเป็นเพลงโฟล์กครึ่งหนึ่ง
ร็อกอีกครึ่งหนึ่ง พี่เล็กเป็นเหมือนอาจารย์สอนเราทำเพลงใหม่อีกรอบนึงเลย
เพราะเราทำแต่เพลงโฟล์กมาจนชิน ส่วนพี่ เจ มณฑล
ก็ทำซาวนด์ที่เป็นเอกลักษณ์ของเขา ไปหาที่ไหนไม่ได้อีกแล้วในประเทศตอนนี้

เป้าหมายลึกๆ ในการทำเพลงปัจจุบันคืออะไรกันแน่
พูดไปแล้วอาจจะดูห่างไกลนะ… ทำเพลงฮิตครับ
(หัวเราะร่วน)

ไม่อยากเชื่อว่าคุณที่เคยทำเพลงอินดี้ของอินดี้อีกทีจะเป็นคนพูดคำนี้
เอาจริงเราก็ทำเหมือนเดิมแหละ
แต่เราอยากให้มีทัวร์คอนเสิร์ตเหมือนวงทั่วไป มีคนจ้างไป ย้อนกลับมาดูตัวเอง
สุดท้ายเพลงที่มึงทำก็ไม่ได้มีอะไรเหมือนในตลาดที่เขาฮิตกันเลย
แต่ก็เรียกว่าเข้าใกล้มากกว่าชุดที่ผ่านๆ มา การทำเพลงมันเป็นความฝันนะ
ถ้าทำออกมาแล้วไม่ฮิต เจ๊งตลอด ความฝันก็ต้องเปลี่ยนเพราะมันกินไม่ได้
พอมันเริ่มกินไม่ได้ เราจะทำชุดใหม่ก็ยากขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้ามันฮิตได้
เราก็จะทำต่อไปได้ มีเป้าหมายให้ชนะต่อไปเรื่อยๆ แค่อยากจะอยู่เป็นอาชีพกับมันได้
ไม่ได้หวังว่าจะรวย แค่ต้องอยู่ให้ได้ เพื่อนในวงคนอื่นๆ เขาก็มีงานอื่น ถ้าวันนึง
6 เดือนไม่มีงานเลย
จะเรียกเขามาซ้อมเพื่องานเดียวในเดือนต่อไปก็ไม่ใช่เรื่องแล้ว

มันก็เหมือนธุรกิจทุกอันที่ผู้ถือหุ้นจะทะเลาะกันก็ต่อเมื่อมันขายไม่ได้
ถ้ามันขายได้ การทะเลาะก็ลดลง มองในแง่ธุรกิจ ถ้ามันเป็นบริษัทก็ต้องมีกำไร
ในแง่ดัชนีความสุข ถ้ามีกำไร ความสุขมันก็มากขึ้นอยู่ดี
เพราะเราไม่ได้ทำอะไรฝืนตัวเองเลย

แล้วเพลงที่ดีในความหมายของคุณต้องเป็นแบบไหน
น่าจะคล้ายๆ
กับเพลงเพราะ คือฟังแล้วสุนทรีย์ แต่ฝรั่งเขาไม่มีคำว่าเพราะนะ ฝรั่งเขามีคำว่า good song บางเพลงอาจจะดี๊ดีแต่ไม่เพราะเลยก็ได้
เช่นเพลงกวีบางเพลง ซึ่งตอนเด็กๆ ผมก็โตมากับเพลงพวกนั้น

นิยามความสำเร็จตอนนี้คืออะไร
สำหรับเรื่องเพลงนะ
ขายซีดีได้เยอะๆ

เยอะๆ
นี่สักเท่าไหร่
นี่ทำมา 700 แผ่นเอง (หัวเราะ) ในยุคนี้ถ้าเป็น Paradox ขาย 3,500 แผ่นหมดในวันเดียว
หรือถ้าเป็นฮิวโก้นี่เชื่อว่า 2,000 แผ่นก็น่าจะหมด
เพราะฉะนั้นเป้ อารักษ์ขาย 700 แผ่นก็ดูเมกเซ้นส์แล้วล่ะ
ซีดีมันไม่ใช่เครื่องตอบรับแล้ว วัดอะไรไม่ได้แล้ว
แต่ที่เราอยากทำก็เพราะว่าเราโตมากับยุคนั้น เชื่อว่ามันยังมีคุณค่าของมันอยู่
ถ้าคนซื้อ 700 แผ่นนี้เห็นคุณค่าของมันก็เป็นเรื่องยอดเยี่ยม

คุณโปรโมตว่าถ้าใครซื้อ
100 แผ่นจะไปโชว์สด 10 เพลงถึงที่ไม่ว่าที่ไหนในประเทศไทย
การขาย 100 แผ่นสำหรับคุณเป็นเรื่องยากขนาดนั้นเลยเหรอ
ยากครับ
ในขณะที่ซีดีเราไม่มีเพลงฮิตเลย ไม่มีเพลงล้านวิวเลย นี่แค่หลักล้านนะ
ไม่ได้โด่งดังมาตั้งนานแล้วในการทำเพลง
แล้วซีดีเป็นของนอกกายที่สุดเท่าที่คนจะนึกออกแล้ว
กดมือถือไม่กี่จึ้กก็ฟังได้ทั้งอัลบั้ม ถ้าอยากทำให้ยอดซีดีที่ทำมามันขายหมด
วิธีเอาตัวเข้าแลกน่าจะเป็นวิธีที่ดี (หัวเราะ) เราชอบเล่นดนตรีอยู่แล้ว
ไม่ได้เล่นเพื่อให้ได้เงินเยอะ

คุณทำเพลงมาเป็นปีที่
11 แล้ว อะไรคือความสุขและความทุกข์ที่ได้จากเส้นทางนี้
ความสุขคือการได้พิสูจน์ตัวเอง
มีคนชื่นชอบในสิ่งที่เราทำ ไม่ว่าจะเป็นกับ Slur ตอนเล่นกีตาร์อย่างเดียว
หรือกับเพลงตัวเองที่มีคนมาบอกชอบ ล่าสุดพี่บอย อิมเมจิน กับ
พี่ต่าย อภิรมย์ มาเล่นคัฟเวอร์เพลง ‘บ้านนอก
ผมก็ไม่รู้จะดีใจยังไงแล้ว ผมซึ้งมาก นี่คือความสุข
การที่คนที่เราชอบและนับถือมาบอกว่าชอบเรานะ มันเป็นเรื่องที่ดี

ฟังดูเรียบง่าย
เรียบง่าย
แต่มันหายากไง การทำงานมันยากขึ้นเรื่อยๆ ยากจนกว่ามันจะสำเร็จ
สมัยก่อนเราปล่อยเพลง มาเลเซีย เพลงแรกก็ขึ้นอับดับหนึ่งเลย
แต่ตอนนี้ความสำเร็จหาได้ยากขึ้น เราก็ต้องทำอะไรให้มันดีขึ้น เรากลับมามองตัวเองตลอดนะ เราไม่ได้โทษแต่คนฟัง
เรารู้ว่าเราร้องไม่ดีก็เรียนร้องเพลงตลอด โปรดักชันยอดเยี่ยมขึ้น
แต่งเนื้อร้องให้ดีขึ้น แม้มันจะแปลก แต่ก็คล้องจองกว่า
เข้าใจง่ายกว่าชุดที่ผ่านมา

ส่วนความทุกข์ก็อย่างที่รู้กัน
เคยมีคนด่าว่าร้องเพลงเหมือนหมาแดกแฟ้บ บางทีลามไปถึงเพลงที่ผมแต่งกับพี่เล็ก
เพลง ‘อย่ามาให้เห็น‘ บางคนไปด่าเนื้อเพลงทั้งที่เพลงยังไม่ออกเลย (หัวเราะ)

ท่ามกลางความท้าทายตอนนี้
คุณเหลือความเชื่ออะไรบ้างในการทำดนตรี
มันเป็นการท้าทาย
ด้วยความที่ความเชื่อเราหายไปหมด เราก็คิดว่าสิ่งที่คิดว่าเราทำได้เนี่ย มันยังมีความหวังอยู่ไหม
ความจริงผมยังคิดถึงช่วงเวลาของ Slur ที่ไปเล่นคอนเสิร์ตมันๆ แล้วคนสนุกด้วย
ด้วยวัยเราที่เปลี่ยนไปแบบนี้ เราก็คิดว่ายังทำได้ไหม
มันเป็นการตามหาความฝันตรงนั้นอีกรอบนึง กลับไปให้คนยอมรับ
กลับไปเปลี่ยนคำวิจารณ์แย่ๆ ให้เป็นเรื่องที่ดีขึ้น นั่นคือความเชื่อของเราว่าเราน่าจะยังทำได้อยู่นะ ไม่ว่าอายุเท่าไหร่ก็น่าจะยังทำได้

คนหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผมคือพี่เล็ก
Greasy Cafe ช่วงหนึ่งก่อนที่เขาจะมาเล่นหนัง
ยังไม่มีชื่อเสียงแบบตอนนี้ เราคุยกันในวงว่าไม่รู้จะเต้นแบบนี้ได้ถึงเมื่อไหร่
อายุ 40 อาจจะเต้นแบบนี้ไม่ได้แล้วบนเวทีคอนเสิร์ต
พี่เล็กบอกว่า “ได้ดิวะ กู 40 แล้ว!” แล้วตอนนี้เขายังเป็นศาสดาอยู่เลย
นี่คือคนใกล้ตัวที่สุดที่เราเห็น ผมชอบพูดตลอดว่าถ้าหยุดก็ไม่มี
บางทีการที่เราไม่หยุดก็เหนื่อยมาก ยากมาก ต้องทนกับหลายๆ อย่าง แต่ถ้าหยุดปุ๊บ
มันไม่มีจริงๆ นะ ไม่มีอะไรวัดดวงได้แล้ว เหมือนหยุดเปิดไพ่ใบต่อไป
ทั้งที่เราไม่รู้ว่ามันจะเป็นอะไร เราหยุดไม่ได้ เรามีพลัง เราไม่ยอม

อะไรหล่อหลอมให้คุณเป็นคนแบบนี้ คิดแบบนี้
ไม่รู้จริงๆ
เป็นคนแบบนี้มาตั้งนานแล้วนะ พลังเยอะๆ คึกๆ หน่อย แล้วก็จะกดดันคนรอบข้าง
สมัยเด็กๆ จะบ่นคนนู้นคนนี้ ทำไมไม่ทำแบบนั้นแบบนี้ แต่ไม่ค่อยดูตัวเอง
ตอนนี้เราพยายามเข้าใจมากขึ้น โตขึ้น
แล้วไอ้ความเชื่อนี่มันก็จำเป็นสำหรับทุกอย่างนะ ถ้าผมไม่ทำ
ทุกคนก็จะจำผมในเพลงมาเลเซียตลอดไป เราอยากจะมีวันที่พูดได้ว่า เฮ้ย สำเร็จแล้ว
เป็นไงล่ะ เห็นไหมเพลงขึ้นที่หนึ่ง เพลง 100 ล้านวิว อยากพูดจังเลย แต่มันพูดไม่ได้ (หัวเราะ) รอแป๊บนึง ไม่รู้ว่าแป๊บนานเท่าไหร่
แต่ก็ยังทำต่อไป

ภาพ ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

AUTHOR