chong nom : เพจยอดฮิตที่เรียกเสียงหัวเราะจากคลิปวิดีโอที่สั้นมากถึงมากที่สุด

ในยุคที่คนเรามีสมาธิสั้นลงเรื่อยๆ เลื่อนนิวส์ฟีดในเฟซบุ๊กก็เร็วจนจับใจความอะไรไม่ได้เท่าไหร่ แต่กลับมีคลิปวิดีโอของเพจ chong nom (อ่านว่าชงนม) ที่ทำให้เราหยุดดูได้และดูวนได้เรื่อยๆ ด้วย คลิปสั้นๆ 7 – 15 วินาทีของเพจอายุ 1 ปี ที่ตอนนี้มีคนไลก์กว่าสามแสนแล้วเริ่มต้นจากทีมงานเพียง 3 คนคือ ชง โตโต้ และเชน นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีมัลติมีเดีย คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ จากสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ความตลกที่เคลือบด้วยความคิดสร้างสรรค์ทำให้เราประทับใจ เลยอยากชวนทุกคนไปรู้จักกับชาวชงนม (ที่ตอนนี้มีเยอะกว่าแค่ 3 คนแล้ว) ซึ่งแค่นั่งคุยกับพวกเขาก็เรียกเสียงฮาไปหลายดอก

อ่านเสร็จแล้วอย่าลืมตามไปดูคลิปในเพจของพวกเขาเพื่อเพิ่มอรรถรสด้วยนะ
🙂

เพจชงนมเกิดขึ้นมาได้ยังไง
เพื่อนๆ ที่ทำเพจจะชอบดูหนังกันอยู่แล้ว แต่เราก็ไม่ได้มีความรู้เรื่องการทำภาพยนตร์เลย จะชอบถ่ายคลิปกันเล่นๆ ถ่ายกันเอง ดูกันเองซะมากกว่า แล้วมีวันหนึ่งเพจ Duck Channel ที่รู้จักกัน เขามาแนะนำว่า งานดีนะ
ให้ลองเปิดเพจ เลยลองเปิดเพจเมื่อประมาณปีที่แล้ว จริงๆ เราแค่อยากทำคลิปให้เพื่อนดู ให้เพื่อนสนุก ตลกไปกับคลิปเรา พอเปิดเพจเราก็คิดว่าอยากให้ลูกเพจเหมือนเพื่อน ดูคลิปแล้วก็บอกว่าสนุกเหมือนกัน ตอนนั้นผมก็คิดชื่อเพจไม่ออก ผมชื่อชง เพื่อนๆ เรียกว่าชงนม ก็เลยกลายเป็นชื่อชงนมนี่แหละ ส่วนรูปของเพจก็ง่ายๆ ชื่อชงนมก็เป็นรูปหัวนมไปเลย

แล้วการถ่ายคลิปเล่นๆ ของพวกคุณ มันเกิดจากอะไร
ตอนแรกมี 3 คนที่ทำเล่นๆ กันคือผม โตโต้ และเชน ซึ่งเราก็ถ่ายกันเล่นๆ ขำๆ ดูกันเอง แต่พอมีเพจ เราก็อัพโหลดลงเพจ อยู่ดีๆ ก็มีคนเข้ามาดูเยอะขึ้น ตอนนั้นเราก็ถ่ายคลิปกันขำๆ วันต่อวัน ถ่ายเสร็จก็ตัดต่อในมือถือแล้วก็ลงเพจเลย เริ่มต้นด้วยคลิปเต้นจากเกมแมว พอทำไปเรื่อยๆ จนเริ่มเห็นว่ามีคนติดตามจริงจัง เราก็อยากจะจริงจังด้วย คนที่ช่วยกันทำคลิปก็เยอะขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจริงๆ เราก็เป็นเพื่อนกันนี่แหละ ช่วงแรกๆ จะมีคนรู้จักเข้ามาดู มาช่วยคอมเมนต์ หลังจากนั้นก็เริ่มมีคนที่ไม่ใช่เพื่อนเราแชร์คลิปไปเรื่อยๆ มีคนมาคอมเมนต์ชวนคุย ถามเรื่องมุก ถามเรื่องเกมเยอะขึ้น

การจะทำคลิปหนึ่งคลิปมีกระบวนการอย่างไร
ส่วนใหญ่ใครคิดอะไรได้ก็เอามาแชร์ๆ กัน คือตั้งแต่แรกใครนึกอะไรออกเราก็ถ่ายคลิปกันเลย เช่นว่าเพื่อนกำลังเดินออกมาจากห้องน้ำ เราบอกว่า มึงๆ ถ่ายคลิปกัน หรือบางทีเช่นเพื่อนยืนฉี่กัน มันก็คิดออกขึ้นมาว่าจะถ่ายอะไร ส่วนใหญ่มันจะปิ๊งไอเดียขึ้นมาเอง เช่นเวลากินข้าวเราก็จะคุยๆ กันแล้วก็มาถ่ายคลิปกันตอนนั้นแหละ หลังๆ ที่มีคนติดตามเยอะขึ้น เราก็ตั้งใจคิดกันมากขึ้น (ฮา) คือมีการคิดมุก ขยี้มุกช่วยๆ กัน สมมติว่ามีคนเปิดประเด็นเรื่องกินข้าวไม่เก็บจาน เราก็จะโยนๆ ไอเดียกัน เล่าให้ฟังกันว่าแต่ละคนเจอะอะไรมาบ้าง อันไหนที่มันดีแล้วก็เป็นเรื่องที่สั้นที่สุด เราถึงจะเลือกเรื่องนั้นแล้วก็มาคิดกันต่อ

ตอนแรกมันไม่มีคอนเซปต์เลยนะ มันเป็นเรื่องราวใกล้ตัวคน เป็นเรื่องสั้นที่ดูแล้วเขาจะรู้สึกว่าเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน มันเลยเกิดการแชร์ต่อ หลังๆ ที่มีคนติดตามเยอะขึ้น เราเห็นว่ามีแฟนเพจเป็นชาวต่างชาติ เราก็คิดกันว่าน่าจะไม่มีบทพูดเลย เพราะกลัวว่าลูกเพจจะไม่เข้าใจ ถ้ามีบทพูดเราก็ต้องใส่ซับให้เขา เราก็กลัวเขาไม่ตลก กลัวไม่สนุก คือมันจะรู้สึกไม่ดี ถ้ามีคนดูคลิปแล้ว มีคนบอกว่าไม่เข้าใจ เพราะเราอยากให้ทุกคนเข้าใจ
ซึ่งเราว่ามันก็เป็นเอกลักษณ์ของพวกเราด้วย จริงๆ เราก็พูดไม่เก่ง ไม่ได้เรียนการแสดงมา กลัวว่าพูดแล้วจะไม่ตลกด้วย (ฮา)

พวกคุณมีพื้นฐานการตัดต่อมาจากไหน
พวกเราไม่ได้มีพื้นฐานทำหนังเลยมั่วๆ ทำกันเอง บางคลิปก็ตัดในมือถือนี่แหละ คือคณะที่พวกเราเรียนมันก็มีการสอนเรื่องกราฟิก ออกแบบมาบ้าง เราก็เอาความรู้พวกนั้นมาประยุกต์ อีกอย่างพวกเราก็เสพงานเยอะมาก เราดูหนัง ดูคลิปในแอพพลิเคชัน Vine เราก็เอาจังหวะเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้หรือบางทีเราก็มั่วๆ เช่นว่าคลิปนี้มันยังไม่เด็ดเลย เราก็ใช้เทคนิคซูมหน้า มันก็ดูตลกขึ้นมาได้ มันเป็นจังหวะที่เราต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆ

คุณได้เรียนรู้อะไรจากคลิปต่างประเทศเหล่านั้นบ้าง
ผมเรียนรู้การจะทำคลิปสั้นๆ เราจะย่อคอนเทนต์ยังไงให้อยู่แค่ 7 วินาที ซึ่งเอาเข้าจริงบางเรื่องเราก็ไม่คิดว่ามันจะเป็นไปได้ จริงๆ มันก็เปิดโอกาสให้เราเห็นว่ามีคนถ่ายคลิปจากมือถือได้ ทำหนังสั้นจากมือถือได้ มันก็เป็นช่องทางที่ทำให้เราได้ลองทำจริงๆ โชว์ความคิดของเราให้คนอื่นได้ดู

คลิปสั้นๆ มันมีเสน่ห์ยังไง
คลิปที่กระชับมากทำให้คนดูหยิบขึ้นมาดูเมื่อไหร่ก็ได้ อย่างหนังบางเรื่องต้องใช้เวลาดูตั้ง 2 ชั่วโมง หรือหนังสั้นก็ยังใช้เวลานานประมาณหนึ่ง แต่คลิปที่เราทำ เราตั้งใจทำแค่ 10 – 15 วินาทีเท่านั้น ผมรู้สึกว่ามันง่ายที่จะสื่อสารอะไรบางอย่างออกไป คนก็จะได้ดูอะไรสั้นๆ เพลินๆ

ยากมั้ยในการทำคอนเทนต์สั้นๆ แบบนี้
ตอนแรกๆ ก็ยังง่ายอยู่ เพราะเรามีวัตถุดิบที่อยากจะเล่นมาก แต่หลังๆ เราก็กลัวว่ามุกจะซ้ำกับคลิปต่างประเทศด้วย พวกเราก็ไม่ได้ดูคลิปฝรั่งกันครบทุกคลิปหรอก ตาม feed เรื่อยๆ บ้าง ซึ่งคลิปบางอันที่เราลงไปมันก็มีดราม่าว่าเราไปก๊อปปี้ของเมืองนอกมาหรอ หลังๆ เราก็ต้องกรองก่อนว่ามันจะไปซ้ำกับเมืองนอกหรือเปล่า คือเราอยากจะกันดราม่าให้ได้มากที่สุด อยากให้คนที่เข้ามาดูคลิปก็ได้แต่ความสนุกกลับไป ไม่อยากให้เขาได้ดราม่ากลับไปด้วย

พักหลังมันเริ่มมีดราม่าเลยหรอ
มันก็เคยมีคนบอกว่าเราก๊อปปี้คลิปต่างประเทศมา หรือบางคนก็คอนเมนต์ว่าเดี๋ยวนี้มุกเริ่มซ้ำแล้วนะ แต่ผมก็ไม่ค่อยคิดอะไรมาก เราก็รับคอมเมนต์นั้นมาปรับปรุง คือบางเรื่องก็เป็นประเด็นเดียวกันนี่แหละแต่เราก็คิดเยอะขึ้นว่าจะทำยังไงให้มันไม่ซ้ำ เช่น สถานการณ์ที่กินข้าวแล้วไม่เอาจานไปเก็บ คือมันก็เป็นประเด็นในชีวิตประจำวันทั่วไปซึ่งก็อาจจะมีคนทำแล้ว แต่เราก็จะระดมความคิดกันว่าจะมีทางออกอะไรให้เรื่องนี้ได้บ้าง ระดมหัวกันว่าใครมีประสบการณ์อะไร

คิดยังไงกับการทำผลงานมาแล้ว เพจอื่นก็เอาไปลงไม่ให้เครดิต
แต่ก่อนผมเป็นคนหัวร้อนนะ คือนักเลงมาก ใครก๊อปปี้ไปโพสเราจะตามไปด่าเลย หลังๆ เราก็รู้สึกปลงแล้วก็ค้นพบอะไรบางอย่างคือมีคนแนะนำให้คิดว่า การที่มีคนก๊อปปี้คลิปเพจเราไปลงเพจเขาแบบนี้มันก็เป็นเรื่องที่ดี
คือเราก็ได้โปรโมตฟรีๆ แม้ว่าตอนนั้นคนดูก็ไม่รู้หรอกว่าคลิปจริงมันมาจากเพจไหน ใครที่เป็นออริจินัล แต่วันหนึ่งถ้าเขาได้มาเจอเพจของเรา เขาก็จะรู้ว่ามันเป็นงานพวกเราแล้วก็ติดตามพวกเราเอง ถือเป็นการโฆษณาไปในตัว เราก็คิดในแง่ดี หลังๆ เราก็ยิ่งไม่สนใจเข้าไปใหญ่ เพราะเอาเข้าจริงเราก็ทำอะไรไม่ได้ ทุกวันนี้ก็ยังโดนดูดอยู่เรื่อยๆ นะ บางคนก็เอาคลิปพวกเราไปรวมโพสในยูทูบด้วย หลังๆ ลูกเพจก็จะคอยสอดส่องให้ด้วยว่าเว็บไหนเอาไป แต่มีเพจหนึ่งของชาวเวียดนามที่ผมแค้นมาก คือเราผมก็พิมพ์ตอบกลับไปยาวมาก บอกว่าเฟซบุ๊กมันมีปุ่มแชร์นะ ก็แชร์ไปสิ พอโดนดูดคลิปไป เพจเรามีคนดู 3 ล้าน แต่เพจเขามีคนดู 11 ล้าน เรารู้สึกแล้ว หลังจากนั้นผมก็ไลก์เพจออริจินัลทุกเพจเลย

เพจดังขนาดนี้มีสปอนเซอร์ติดต่อมาบ้างไหม
ตอนมีลูกเพจประมาณ 50,000 ไลก์เริ่มมีลูกค้าติดต่อเข้ามา แต่ส่วนใหญ่ก็คือเป็นเอเจนซี่ที่ชอบเรามากๆ

เราก็ขายของให้เขาด้วยการทำคลิป เช่น ร้านอาหารที่เขาอยากให้เราโปรโมตโปรโมชันใหม่ เราก็ไปกินอาหารร้านเขาแล้วก็หาอะไรถ่าย ลูกค้าชอบเราก็โอเค เราก็ไม่รู้ว่าทำไมลูกค้าถึงชอบ เพราะโปรดักชันเราก็ไม่ได้หรูมากแต่เราก็แฮปปี้ แต่ก็มีพวกอาหารเสริมหรือยาปลูกผมคนแก่ติดต่อเข้ามานะ แต่เราก็ไม่รับ เพราะเรารู้สึกว่ามันไม่ตรงกับคอนเทนต์ของเราเกินไป (ฮา)

เริ่มรู้สึกกดกันกับการทำคลิปให้ตลกมั้ย
มันไม่เชิงกดดัน มันเป็นการคิดเยอะมากกว่า เรากลัวว่ามันจะซ้ำ กลัวว่ามันจะไม่สนุก แต่ก็ไม่ได้ลงตารางเป๊ะๆ ว่าจะลงวันละคลิปหรือกี่วันลงคลิป เพราะเราคิดว่าการลงคลิปทุกวันกับคอนเทนต์ที่ไม่ปัง กับนานๆ ลงทีแล้วมันดีมาก ก็เลือกอย่างหลังมากกว่า คือคลิปที่ไหนที่เราอยากลงจริงๆ เราค่อยลง คือยังอยากทำแล้วมีความสุขกับมันอยู่ แล้วพอทำคลิปเสร็จถ้าเพื่อนๆ เราเอาคลิปไปดูแล้วไม่สนุก เราก็ไม่ลง เพราะหลังๆ ลูกเพจก็เยอะขึ้นด้วย ความคาดหวังก็เยอะขึ้น

เคยคิดว่าคนจะเบื่อมุกแบบนี้บ้างไหม
ผมคิดว่าเราก็ยังตามเทรนด์เรื่อยๆ ก็คงปรับตัวไปเรื่อยๆ อนาคตเราก็คิดถึงลูกเพจ เช่น ลูกเพจถามว่าเรียนจบแล้วจะทำคลิปต่อมั้ย เราก็คิดไว้ 2 ทางคือ ต่างคนต่างทำงาน ว่างๆ ก็มาเจอกันแล้วก็ทำคลิปด้วยกันได้ หรืออีกทางคือจริงจังไปเลย เปิดแชนแนลในยูทูบ มีสตูดิโอ แต่ก็ยังเป็นเรื่องของอนาคต ทุกวันนี้พวกเราก็อยู่ปี 3 กัน ยังมีเวลาได้ทำคลิปด้วยกันอีกเยอะ

ทีมงาน : ชง / โตโต้ / ฟี้ / มายด์ / ปาล์ม / นัท / นุ๊ก / เชน / โลก

Facebook l chong nom

ภาพ ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

AUTHOR