“ย่อยสิ่งที่มีแล้วแตกออกมาใหม่ เราใช้วิธีการคิดแบบนี้เรื่อยมา” – ป๋อมแป๋ม

Highlights

  • แม้จะเติบโตมาโดยเป็นเด็กเรียนดี แต่พอเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ 'ยาย' หรือ ป๋อมแป๋ม–นิติ ชัยชิตาทร ก็ได้ค้นพบว่าตัวเองเหมาะสมกับตรงไหน มหาวิทยาลัยไม่ได้สอนเขาโดยตรงขนาดนั้นหรอก แต่สอนวิธีคิดให้เขามากกว่า
  • วิธีคิดที่ว่าคือการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ที่ป๋อมแป๋มเรียนรู้มาจากหลายวิชาในคณะ ทักษะนี้ทำให้เขาสามารถหยิบจับทุกอย่างออกมาและนำมาถ่ายทอดอย่างเข้าใจง่าย ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เขายังใช้และโดดเด่นในปัจจุบัน
  • สุดท้ายป๋อมแป๋มลงความเห็นว่า เรามีเวลาแค่ 4 ปีในการฝึกทักษะเหล่านี้ในมหาวิทยาลัย นอกจากวิชาความรู้เราควรฝึกวิธีคิดเหล่านี้ด้วย เพื่อในวันท่ีจบมาเราจะได้กลายเป็นผู้ใหญ่ที่พร้อมต่อความรับผิดชอบที่กำลังเข้ามาในวัยทำงาน

พอมาคิดดูดีๆ เราพบว่า ป๋อมแป๋ม–นิติ ชัยชิตาทร คงเป็นคนเดียวในประเทศนี้ที่ต่อให้ไม่เกี่ยวพันกันทางสายเลือด น้องๆ หลายคนกลับเรียกเขาเหมือนกันว่า ‘ยาย’

แม้จะมีที่มาที่ไปจากการเรียกหากันในรายการ เทยเที่ยวไทย แต่ในวันนี้ป๋อมแป๋มคล้าย ‘ยาย’ ของหลายคนในชีวิตจริงไปแล้ว ไม่ใช่ในแง่วัย แต่เป็นวุฒิภาวะ ความเคารพ การยึดถือเป็นไอดอล และทัศนคติ หลายครั้งหลายคราที่เขาพูดเรื่องจริงจัง เด็กๆ ก็มักฟังและได้อะไรกลับไปประดับความคิดอยู่เสมอ

มาถึงตรงนี้เรามีความยินดีที่จะบอกทุกคนว่า รายการพ็อดแคสต์ใหม่ล่าสุดที่ a day ร่วมกับแบรนด์ซุปไก่สกัดก็มี ป๋อมแป๋ม หรือคุณยายของทุกคนนี่แหละมาเป็นโฮสต์ชวนแขกรับเชิญพูดคุยในทุกๆ อีพี

รายการนี้มีชื่อว่า ‘Homeroom : วิชาแรกที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน

และใช่ เรากำลังพูดถึงเรื่องการศึกษา

ป๋อมแป๋ม

วันที่เราสนทนากัน รายการพ็อดแคสต์นี้บันทึกเสียงไปได้ครึ่งทาง

แขกรับเชิญทุกคนที่เข้ามาครึ่งแรกล้วนเล่าประสบการณ์และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการศึกษาของตนเอง แม้เราจะพูดได้ว่าทุกคนประสบความสำเร็จ แต่เรื่องราวของพวกเขาแต่ละคนกลับมีแก่นหลักที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และคนที่สนทนาเพื่อเอาแก่นนั้นออกมาก็คือป๋อมแป๋ม

บางคนจับพลัดจับผลู บางคนรักในสิ่งที่ทำ หรือบางคนก็ทำในสิ่งที่รัก

แต่เรื่องราวของ ป๋อมแป๋ม เองล่ะเป็นแบบไหน–นั่นคือความสงสัยที่ทำให้เราตัดสินใจชวนเขานั่งลงคุยกันเสียหน่อย นิสิตจากสาขาวิชาภาษาบาลีและสันสกฤต คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อย่างเขาได้พบเจอและเรียนรู้อะไรมาบ้าง นั่นคือประเด็นที่เราคุยกันในวันนี้

แน่นอนการพูดคุยของเราเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะตามสไตล์ของป๋อมแป๋ม แต่ภายใต้ความชื่นมื่นเหล่านั้น เรื่องราวของเขาล้วนน่าสนใจและฟังเพลินราวกับนั่งฟังคุณยายที่เราเคารพรักกำลังรำลึกถึงความหลังยังไงยังนั้น

และเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เร่เข้ามานะหลานเอ๋ย 

เข้ามาใกล้ๆ ยายจะเล่าให้ฟัง

ป๋อมแป๋ม

เด็กชายป๋อมแป๋มคือเด็กเรียนดี

“ช่วงประถมกับมัธยมเราถือเป็นเด็กเรียนดีนะ อยู่โรงเรียนถือเป็นเด็กเก่งเลยล่ะ

“สมัยนั้นที่เรียนพิเศษดังๆ ก็เกิดขึ้นแล้ว อาจารย์อุ๊ เดอะเบรน อะไรแบบนี้ แต่เราเป็นเด็กที่ไม่เคยเรียนพิเศษนอกโรงเรียนเลย อย่างดีก็เรียนภาษาฝรั่งเศสเพิ่มตามเพื่อนกับอาจารย์ที่โรงเรียน เพราะตอน ม.ปลายเราเรียนสายศิลป์-ฝรั่งเศส 

“อาจเพราะตอนนั้นเรารู้สึกว่าไม่จำเป็นมั้ง เราไม่ได้ขวนขวาย ก็เลยกลายเป็นว่าตัวเราเองไม่รู้เลยว่าที่เราเป็นมันอยู่ในระดับไหน เมื่อเทียบกับนักเรียนคนอื่นแล้วเป็นยังไง ดังนั้นพอตอนสอบเข้ามหา’ลัยมันคือการแข่งกับตัวเองที่แท้จริง 

“ในยุคนั้นการเรียนศิลป์-ฝรั่งเศสเราไม่ได้มีตัวเลือกมากเท่าไหร่ ในภาพจำเราก็จะเข้าได้แค่คณะรัฐศาสตร์ ศิลปศาสตร์ อักษรศาสตร์ นิเทศศาสตร์ หรือครุศาสตร์ ซึ่งพอดีตอนนั้นเราเป็นคนชอบอ่านหนังสือ สามารถขลุกอยู่กับหนังสือได้เป็นชั่วโมง ความอยากเป็นหรือความฝันในชีวิตเราก็มีแค่ 2 อย่างคือนักเขียนและครู ดังนั้นคณะที่เราเลือกเลยเป็นอักษรศาสตร์และครุศาสตร์ โดยเอาอักษรศาสตร์ไว้อันดับแรกเพราะคะแนนสูงกว่า ครุศาสตร์เป็นอันดับสอง ส่วนนิเทศศาสตร์นี่คือไม่ใช่เลยนะ ตอนนั้นคิดว่าตัวเองไม่ชอบการเอนเตอร์เทนและไม่เห็นตัวเองทำงานในสายงานนี้

“ตอนที่เราสอบมันเรียกว่าสอบเทียบ ทุกวันนี้น้องๆ ฟังอาจจะคิดว่า โห เก่งจัง แต่สมัยนั้นเป็นเรื่องธรรมดามากเลย เราสอบตอน ม.5 ตอนสอบก็รู้สึกว่าทำได้ อาจจะไม่ได้ทั้งหมดแต่ก็คิดว่าที่เลือกไป 6 อันดับน่าจะติดแหละ อาจจะอันดับสุดท้ายอะไรแบบนั้น แต่ปรากฏว่าพอผลออกมาคือ โอ้ย ตายโหง ได้อันดับแรกเลยเว้ย (หัวเราะ) เกินเป้ามาก (เสียงสูง)

“สารภาพว่าตอนนั้นงง แต่ประเด็นเกิดขึ้นคือตอนเรียนอักษรฯ นี่แหละ

“เข้าไปปุ๊บ ไม่นานเราก็รู้ว่าจริงๆ เราคือตัวห่วย”

ป๋อมแป๋ม

นิสิตรหัส 4140100922 คิดว่าตัวเองคือตัวห่วย

“พอเข้าไปเรียนที่อักษรฯ แล้วเจอแบบนี้เราโละทิ้งสิ่งที่อยากเป็นทุกอย่าง

“เรารู้สึกว่าน้ำหน้าแบบเราเป็นครูสอนใครไม่ได้แน่เพราะเราโง่กว่าคนอื่นเยอะ ส่วนนักเขียนก็รู้สึกลูกผีลูกคนมาก เพราะพอเข้ามาเรียนอักษรฯ จากที่อ่านหนังสือเยอะอยู่แล้ว เราต้องอ่านเยอะเข้าไปอีก และสิ่งที่เราต้องอ่านในวิชาที่เพิ่มมา เรารู้ทันทีว่าเราเขียนแบบคนเหล่านี้ไม่ได้ ฉันนี่นะจะไปเขียนหนังสือให้ใครอ่าน (หัวเราะ) นึกออกปะ ทุกอย่างพับเก็บไว้หมด แต่เราไม่ได้รู้สึกหนักใจอะไรนะ เพราะข้อสำคัญของการเรียนอักษรฯ คือเราไม่ได้เรียนเพื่อรู้ว่าจะไปเป็นอะไร เราเรียนเพื่อเรียน เรียนเพื่อเอาความรู้ เรียนเพื่อเอาความคิด

“ถ้าเราอยากรู้เรื่องไหนก็ไปลงเรียนเรื่องนั้น อักษรฯ เป็นแบบนี้ ซึ่งเราไม่ได้จะบอกว่าสิ่งนี้ถูกต้องเพียงอย่างเดียวนะเธอ บางคณะอย่างหมอหรือวิศวะเขาต้องเรียนเพื่อไปประกอบวิชาชีพ นั่นก็ถูกแล้วในแบบของเขา แต่สำหรับอักษรฯ รุ่นพี่เขาจะปลูกฝังเราตั้งแต่เข้าไปแล้วว่าเราเรียนเพื่อเข้าใจมนุษย์และเป็นพื้นฐานของวิชาอื่นๆ ดังนั้นเราเลยยังไม่ได้คิดว่าจะต้องเป็นอะไร พอคิดแบบนี้ก็ได้เรียนหลายวิชาที่อยากเรียนจริงๆ และบางวิชาก็เปิดโลกมาก

“จำได้แม่นว่าตอนปีหนึ่งต้องเรียนวิชาการแปล ข้อสอบตัวแรกคือให้แปลวลีที่ว่า ‘รถคันสีแดงๆ จอดอยู่ข้างรั้ว’ เป็นภาษาอังกฤษ หลายคนก็ตอบว่า ‘A red car is parking beside the wall.’ แต่เรากลับรู้สึกว่าไอ้คำว่า ‘แดงๆ’ นี่มันคืออะไรนะ มันไม่ค่อยแดงเหรอ เราเลยตอบไปว่า ‘A car that is not very red is parking beside the wall.’ เชื่อไหมว่าเราได้ครึ่งคะแนน คนอื่นได้ศูนย์ เพราะเราเข้าใจถูกว่าต้องแปลไม้ยมกด้วย เพียงแต่ที่ถูกต้องคือใช้คำว่า ‘reddish’ ตอนนั้นตกใจมากว่า เฮ้ย คณะนี้ต้องแปลไม้ยมกด้วย มันคือความละเอียดที่เราก็ได้สิ่งเหล่านี้ติดตัวมา

“หรือวิชาโทที่เราไปลงเรียน อย่างวิชา Acting เกี่ยวกับการแสดง จำได้เลยว่าอาจารย์นิกร แซ่ตั้ง (ศิลปินศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง ปี 2553) มาสอน เขาบอกให้เราเล่นเป็น ‘ของเหนียว’ และต้องเหนียวให้ได้หลายระดับ เช่น ลองเล่นให้เหนียวในระดับราดหน้าซิ มันก็จะเหนียวแบบที่พอเคลื่อนไหวได้อย่างไหลลื่น หรือลองเหนียวให้ได้ระดับกาว อันนี้ก็จะเคลื่อนที่ติดๆ ขัดๆ ให้ความรู้สึกถึงมวลกับน้ำหนัก ตอนนั้นน่ะคิดนะว่า โอ้ย กูต้องเล่นยังไงเนี่ย แต่พอผ่านมาได้เราก็คิดกับตัวเองว่า เออ ถ้าเราเล่นเป็นกาวได้ เราคงเล่นเป็นอะไรก็ได้แล้วน่ะ (หัวเราะ)

“แต่สิ่งที่เปลี่ยนโลกเราจริงๆ นอกจากวิชาแล้ว สำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่งคือการสอบ

ป๋อมแป๋ม

“เราพูดได้เลยว่าตลอด 4 ปีที่เรียนอักษรฯ ไม่เคยมีข้อสอบกากบาท เติมคำ จับคู่ เรามีแต่ข้อสอบเขียน และที่เราเขียนก็ไม่ใช่ในกระดาษ แต่มันเป็นสมุด คำถามมีแค่ 2 บรรทัด แต่เราต้องตอบให้ได้เล่มหนึ่ง และแน่นอนว่าพอผ่านไป 45 นาทีจะต้องมีเพื่อนที่ขอสมุดเพิ่มน่ะแก (เสียงสูงและหัวเราะ) 

“ที่เราจะหมายถึงคือการที่เราถูกฝึกมาแบบนี้มันเป็นการสอนให้รู้จักวิธีคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ เพราะพอเห็นโจทย์สั้นๆ ปุ๊บเราต้องเอาทั้งหมดที่เรียนมาประมวลให้ได้คำตอบ มันเหมือนเราถูกสอนให้รู้จักยืดหยุ่นความรู้โดยอัตโนมัติ ซึ่งทักษะนี้ติดตัวเรามาตลอด 

“ยกตัวอย่างเช่นวิชาการใช้เหตุผล เราไม่เคยคิดว่าตัวเองต้องมาเรียนเกี่ยวกับการใช้เหตุผลด้วย (หัวเราะ) ตัวนี้เรียนตอนปีหนึ่ง ตอนนั้นงงเป็นไก่ตาแตกกันหมด เราไม่เข้าใจแผนภูมิวงกลมเวนน์-ออยเลอร์ ไม่เข้าใจว่าอะไรคือนิรนัย อุปนัย ตอนนั้นไม่เข้าใจเลยนะ แต่พอได้สอบ ได้เขียน สิ่งนี้กลับเป็นประโยชน์มาก มันทำให้เราเข้าใจ world view อื่นๆ ได้ เราสามารถหยิบจับอะไรมารวมและถ่ายทอดออกมาใหม่ได้

“ดังนั้นกับที่เราเป็นทุกวันนี้ เรายืนยันว่าไม่ใช่เพราะตัวเองเก่งมาตั้งแต่ต้น แต่เพราะเราถูกฝึกให้ทำแบบนี้มาตลอด 4 ปีต่างหาก”

โลกการทำงานของนายป๋อมแป๋ม

“พอจบมาเราทำงานเป็นนักแปล เปลี่ยนงานไปอีเวนต์ และค่อยมาเข้าแกรมมี่เพื่อเป็นเบื้องหลังรายการทีวี  ซึ่งเราค้นพบตอนทำงานนี่เองว่าการเรียนเพื่อความรู้และวิธีคิดที่อักษรฯ มันช่วยเราโคตรเยอะ

“มีตัวอย่างหนึ่งที่เราพูดถึงบ่อยมากคือสคริปต์รายการตัวแรกในชีวิต จำได้ว่าเป็นรายการ เกมฮอตเพลงฮิต เทปใหม่ เจริญปุระ อันแรกเราเขียนไปแบบไม่รู้เรื่องอะไรเลย โง่สุด คนที่ตรวจวันนั้นคือน้าเน็ก น้าก็บอกให้ไปแก้มาใหม่ มันไม่สนุก พอรอบสอง น้าบอกว่าสนุก แต่สนุกแค่ในกระดาษ ไม่สนุกทางทีวี พอรอบสาม น้าก็ถูกใจ สุดท้ายเราจำได้ว่าเทปนั้นโคตรตลกจริงๆ และดราฟต์แรกกับดราฟต์สามก็เปลี่ยนไปเหมือนคนละงาน ซึ่งวิธีในการแก้งานของเราก็เอามาจากการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ที่ได้เรียนรู้จากอักษรฯ นั่นแหละ

“ดราฟต์แรกเราอาจทำไปด้วยความไม่รู้ แต่พอเราได้โจทย์มาว่าต้องสนุก เราก็เอาสิ่งที่เจอกับโจทย์มาย่อยและคั้นให้เหลือความสนุกจริงๆ ซึ่งพอโจทย์ที่สองเป็นสนุกในแบบทีวี เราก็ใช้วิธีคิดเดิม คือย่อยสิ่งที่มี แตกออกมาใหม่ เราใช้วิธีการคิดแบบนี้เรื่อยมา แม้ในปัจจุบันเวลาเราคิดรายการใหม่ๆ ก็ยังคงใช้วิธีนี้นะ 

ป๋อมแป๋ม

“ถ้าย้อนกลับไปคิด ตอนอยู่อักษรฯ เราไม่ได้คิดหรอกว่าสิ่งที่เรียนจะเอาไปใช้อะไรได้ มันออกแนวซึมๆ เข้ามาเสียมากกว่า กว่าจะได้รู้ว่าเป็นประโยชน์ก็ตอนจบออกมาและทำงานแบบนี้ เราหยิบจับอะไรได้เพราะวิชาที่เราเคยงงมากๆ ว่าเรียนไปทำไม เหมือนพอโตมาสักแป๊บหนึ่ง ได้เจออะไรนู่นนี่ ถึงได้เข้าใจคำว่า ‘ไปเรียนวิธีคิด’ อย่างถ่องแท้

“ถามว่าสิ่งนี้ ‘จำเป็น’ สำหรับทุกคนไหม เราคงต้องบอกว่าอาจจะไม่จำเป็นนะ เพียงแต่ตัวเราเองได้ประโยชน์จากสิ่งที่เรียน และมันก็ตอกย้ำเวลาเห็นน้องๆ ที่โตมากับข้อสอบปรนัยแล้วเขาไม่สามารถคิดอะไรจากโจทย์ได้ อย่างน้องๆ บางคนทุกวันนี้ถ้าเจอโจทย์แบบที่เราเจอเขาจะงง เขาอาจจะ ‘ขอตัวอย่างหน่อยได้ไหมคะ มีอะไรให้เลือกบ้างหรือเปล่า’ คือเราเห็นจริงๆ ว่ามันเป็นความต่างของคนที่ฝึกอะไรแบบนี้มา นี่ไม่ได้แปลว่าใครโง่นะ มันแค่เกิดจากความไม่รู้ ซึ่งมันก็สะท้อนออกมาว่าการแสตมป์ติดวิธีคิดในหัวก็เป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน”

ป๋อมแป๋ม

จากยายถึงหลาน เรามีเวลาแค่ 4 ปีเอง

“ถ้ามาลองคิดกันดู เราจะพบว่าความ mature ของเด็ก ม.6 กับคนวัยทำงานมันห่างกันชิบเป๋งเลย แต่ในความเป็นจริงคือเรามีเวลาเปลี่ยนผ่านเพื่อให้ตัวเองมีวิธีคิดแบบผู้ใหญ่แค่ 4 ปีเอง ดังนั้นมหา’ลัยเลยกลายเป็นอินเทนซีฟคอร์สที่เราควรจริงจังกับมันนะ นอกเหนือจากวิชาความรู้ที่ต้องเข้มข้นแล้ว วิธีคิดเราก็ควรใส่ใจกับมันเช่นกัน แต่โดยส่วนตัวเราไม่ได้มองปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กยุคนี้ว่ามาจากการศึกษาเพียงอย่างเดียวหรอก เราโทษการเรียนอย่างเดียวไม่ได้ โทษมหา’ลัยอย่างเดียวไม่ได้ แต่เราคิดว่ามันคือทั้งโลกที่เปลี่ยนไป

“ปัญหาที่เราเจอทุกวันนี้คือเด็กไม่ค่อยรู้อะไรที่อยู่นอกคอมฟอร์ตโซนของตัวเองเท่าไหร่ อย่างหนึ่งอาจจะเป็นการที่เราบอกเด็กว่าถ้าสนใจอะไรให้พุ่งไปทางนั้นเลย child center ตรงนี้เราว่ามันทำให้เด็กตัดโอกาสอื่นๆ เร็วไปหน่อย ยิ่งประกอบกับเทคโนโลยีทุกวันนี้ที่ฟังดูเหมือนเปิดกว้าง แต่จริงๆ มันทำให้เด็กแคบลงมาก เสิร์ชเอนจิ้นพาเราไปเจอสิ่งที่เราเคยดูเคยเสิร์ชมาแล้ว และทำให้เราเข้าใจว่าสิ่งนี้คือทั้งหมด ซึ่งมันไม่ใช่ เราบอกเสมอว่าคนที่ทำงานครีเอทีฟควรเห็นเยอะไว้ก่อน ดูให้เยอะ อ่านให้เยอะ เสพสิ่งที่ไม่ชอบ ซึ่งความเป็นจริงของเด็กทุกวันนี้มันค่อนข้างขัดกัน

“สมมติเราอยากให้น้องเลือกหนังสือที่คิดว่าดีที่สุด มันแน่นอนอยู่แล้วว่าคนที่อ่านหนังสือมาแสนเล่มย่อมเลือกหนังสือที่น่าสนใจกว่าคนที่อ่านมาแค่สิบเล่ม หรือถ้าเราถามน้องว่าซีนร้องไห้ที่น้องอยากได้คือประมาณไหน ประมาณ The Letter จดหมายรัก หรือประมาณ Bridget Jones’s Diary ตอนแดเนียลรู้ว่ามีชู้ ถ้าน้องมีสิ่งเหล่านี้เยอะการคุยกันจะทำให้เราเห็นภาพ และเราก็จะอยากทำงานกับน้องเหล่านั้นไปเอง แต่การที่น้องเห็นน้อยลง น้องจะหยิบจับอะไรใช้ได้น้อยลงเช่นกัน

“เรามองหาอะไรแบบนี้แหละเวลาจะรับน้องมาฝึกงาน นอกจากการดูว่าน้องใช้คะ-ค่ะถูกหรือเปล่าน่ะนะ (หัวเราะ) เราอยากได้คนคุยสนุกและมีวัตถุดิบพอ มันจะทำให้เราคุยกับเขารู้เรื่อง พอคุยรู้เรื่องเราก็เข้าใจเขา เขาก็เข้าใจเรา และเราก็จะอยากทำงานด้วยกัน

“ดังนั้นสิ่งเหล่านี้สำคัญนะ เราจะได้ไม่พายเรือในอ่าง เราจะได้สื่อสารได้ ซึ่งเราเชื่อว่าจริงๆ แล้วทุกการศึกษามีสอนหมดแหละ 

“แต่คำถามคือน้องจะรับมันไว้หรือเปล่าเท่านั้นเอง”

ป๋อมแป๋ม

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน