สิ่งที่เจนนี่-ปาหนัน เรียนรู้จากมหาวิทยาลัย

นายวัชระ สุขชุม
รหัสนักศึกษา : 0348309
สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

หากนึกถึงกลุ่มปาร์ตี้ที่มีคาแรกเตอร์เฉพาะตัว
ผสมผสานเข้ากับความเป็นยุค 90 โดยใช้วิดีโอล้อเลียนเพื่อโปรโมต เราเชื่อว่าชื่อ Trasher , Bangkok อยู่ในอันดับต้นๆ ของคนส่วนใหญ่ เจนนี่-ปาหนัน คือ
ผู้ที่อยู่ทั้งเบื้องหน้าและหลังความสำเร็จนี้
นอกจากนั้นเขายังสวมบทบาทพิธีกร-ครีเอทีฟรายการชื่อดังอย่าง ‘เทยเที่ยวไทย’ ตลอด 4 ปีของการเป็นลูกศิลป์ คณะโบราณคดี
สาขาภาษาฝรั่งเศส มหาวิทยาลัยศิลปากร เขาถูกหล่อหลอมและเรียนรู้จาก ‘ค่ายโบราณคดีเพื่อเด็กในชนบท’

“สิ่งที่ประทับใจที่สุดในคณะโบราณคดีไม่ใช่วิชาเรียน
แต่เป็นค่ายหนึ่งที่เราไปเข้าร่วมมาตั้งแต่เข้าเรียนปี 48 จนถึงปัจจุบันก็ 12 ปีมาแล้ว
นั่นคือค่ายโบราณคดีเพื่อเด็กในชนบท โดยไปทำกิจกรรมกับเด็กในชนบทและพัฒนาบางอย่าง
เช่น สร้างห้องน้ำ สนามวอลเลย์บอล และสนามเด็กเล่น
เป็นค่ายที่เรารู้สึกชอบแล้วประทับใจมากที่สุดในมหาวิทยาลัยเลย

“ก่อนไปค่ายนี้ เราเคยได้ยินรุ่นพี่คนนึงบอกมาว่าค่ายนี้เป็นค่ายรู้สันดานคนนะ ไปแล้วกลับมาจะมีคนเกลียดกันเยอะ
เขาพูดในแง่ลบเยอะมาก เรามีความอยากรู้เยอะบวกกับทำกิจกรรมตั้งแต่สมัยเรียนประถมเลยรู้สึกว่า เฮ้ย ค่ายนี้ขนาดนั้นเลยหรอ ได้ ฉันจะไป แล้วเรียนรู้คนที่ไปด้วยกัน
เรามองว่าคนมีทั้งสันดานดีและไม่ดี กลายเป็นว่านี่คือเรื่องแรกที่เรานึกถึงจากการทำค่าย ทีแรกเราคิดแบบเด็กๆ ว่าการทำกิจกรรมที่ต่างจังหวัดกับเพื่อนสนุกอยู่แล้ว
พอโตขึ้นมาก็รู้ว่าวัตถุประสงค์ของค่ายนี้ไม่ใช่แค่ความสนุก นั่นเป็นแค่ข้อดีฉาบฉวย
แต่มันมีข้อดีอย่างอื่นที่เรามองข้าม” เจนนี่เล่า

“เราได้เรียนรู้หลัก 3 อย่าง คือ หนึ่ง ความลำบาก เวลาไปค่ายทำให้เรียนรู้ว่าความลำบากของแต่ละที่เป็นยังไง แล้วเราจะจัดการกับความลำบากยังไง สอง เราเข้าใจว่าการให้อะไรบางอย่างกับคนมีวิธีการแบบไหนบ้าง
เราได้ให้กับเด็กในชนบท นอกจากได้เรียนรู้คนที่ไปทำค่ายด้วยกัน
เรายังได้เรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมของชุมชน เขาเปิดโอกาสให้เรียนรู้เกี่ยวกับหมู่บ้าน
เรารับรู้ได้ว่าวัฒนธรรมแต่ละที่แตกต่างกัน เช่น วัฒนธรรมการแต่งตัว อาหาร และสังคม
ข้อที่สาม คือ มนุษย์ เพราะเราคิดว่าเป็นสิ่งที่เข้าใจยากที่สุดในโลก
การไปค่าย 10 วัน ทำให้เราได้เรียนรู้มนุษย์แต่ละคนว่าต่างกันนะ มนุษย์ที่เราเจอ 12 ชั่วโมงในมหาวิทยาลัยกับการเจอกันแบบ 10 วันในค่าย มันทำให้เรารู้ว่าคนแบบไหนควรอยู่ด้วยมากน้อยแค่ไหน ความรู้สึกก่อนและหลังไปไม่เหมือนกัน หลายครั้งไม่อยากกลับ รู้สึกดี ถ้าพูดไปก็เหมือนนางงามตอบคำถาม แต่มันจริงนะ
น้ำใจยิ่งให้ยิ่งได้

“ตอนปี 3 ที่ไปค่าย รุ่นน้องที่สนิทเป็นประธานค่ายเลยชวนให้ไปช่วยตั้งแต่แรก
ค่ายนั้นเราเถลไถลเยอะมากเพราะสนิทกับประธานค่าย มีวันหนึ่งฉลองกันถึงดึกแล้วก็ตื่นสาย
น้องที่เป็นประธานค่ายเห็นเรายังนอนอยู่จึงเปิดประตูห้องนอนแล้วตะโกนดังลั่นโรงเรียนจนเราสะดุ้งตื่น น้องเขาตะโกนว่าเปิดประตูไว้แบบนี้แหละ ให้มันอาย เป็นสิ่งที่ทำให้รู้ว่า
เออ จริงๆ ถ้ามีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ เราก็ไม่ควรละเลยหน้าที่แม้จะเป็นงานเล็กน้อย และทำให้เราเห็นด้วยว่าเขาเป็นประธานค่ายที่มีความจริงจังกับหน้าที่ เลือกวางความสัมพันธ์พี่น้องที่สนิทกันไว้
พอเราอยู่ใต้การปกครอง เขาคิดว่าเราคือลูกค่าย เขาคือประธานค่าย สนุกมาก
เราได้รู้อะไรหลายๆ อย่างจากค่ายครั้งนี้

“ถ้าย้อนเวลากลับไป ยังไงก็จะเข้าโบราณคดีเพราะสังคมที่คณะสอนเยอะมากและสามารถเอามาปรับใช้กับการทำงานได้ อย่างจริงๆ แล้วการทำค่ายเหมือนได้เรียนรู้การทำงานแบบเป็นกลุ่ม เวลาทำงานไม่มีอะไรยากเท่ากับการดีลกับคน การทำงาน Trasher กับการทำงานในค่ายโบราณคดีเหมือนกันข้อนึง
คือสามารถเอาการทำงานจากในค่ายที่มีความเป็นพี่น้องมารวมอยู่ในการทำงานของ Trasher
ได้ เวลาไปประชุมในร้านอาหาร คนจะมองว่าพวกนี้ทะเลาะกันหรือเปล่า ต้องแจ้งตำรวจมั้ย
คือการไปค่ายสอนให้เราได้เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ ถ้ามีอะไรก็พูดออกมาในที่ประชุมจะได้เคลียร์ไปเลย เรามองว่านี่เป็นข้อดีมากเลย ทำให้คนที่เป็นเพื่อน รุ่นพี่ หรือรุ่นน้อง ทำธุรกิจร่วมกันโดยไม่แตกหักกันเอง”