โปรเจกต์ศิลปะชวนดูแลชีวิตสุนัขจรและจดหมายอำลาของ อารยา ราษฎร์จำเริญสุข

Highlights

  • ศาสตราจารย์อารยา ราษฎร์จำเริญสุข อาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ก่อตั้งหลักสูตรปริญญาโท สาขาทัศนศิลป์ (ในปี 2005) และหลักสูตรปริญญาตรีสาขาวิชาสหศาสตร์ศิลป์ (ในปี 2012) เริ่มเป็นศิลปินหญิงร่วมสมัยตั้งแต่ช่วงที่เมืองไทยไม่ค่อยมีผู้หญิงเป็นศิลปิน และมักเป็นคนเขียนหนังสือเมื่อหิวงานเขียน
  • ล่าสุดชื่อเธอเป็น 1 ใน 16 ศิลปินชุดแรกที่ถูกประกาศนามว่าจะร่วมแสดงผลงานใน Bangkok Art Biennale 2020 ชวนติดตามเหลือเกินว่า เธออาจจะนำโครงงาน Necessity’s Rhythm ชิ้นนี้ไปต่อยอด และอาจมีใครสักคน put her to sleep ไปจริงๆ
  • อย่างไรก็ดี ปัจจุบันเธอยังคงสอนหนังสือที่เชียงใหม่ ยังคงดูแลสุนัขจรจัดทั้งที่คณะวิจิตรศิลป์และที่บ้านของเธอเองมากกว่า 20 ตัว และยังคงช่วยเหลือคนดูแลสัตว์ที่อื่นตามกำลัง
  • วันนี้เรายังดูแลเองได้ วันที่เราไม่อยู่ บางทีโครงงานนี้อาจช่วยพวกเขาได้บ้าง” เธอกล่าว

กับผลงานอันประหลาดล้ำ และชวนตั้งคำถามของศิลปินที่ชื่อ อารยา ราษฎร์จำเริญสุข…

คุณอาจเคยเห็นผู้หญิงคนนี้อ่านหนังสือ แต่งตัว หรือมีปฏิสัมพันธ์กับศพ ในห้องดับจิตอันเย็นเยียบ

การพาร่างไร้วิญญาณของสุนัขในรูปแบบสัตว์สตัฟ ไปเป็นเพื่อนนั่งตักชมมหรสพโก้ในเทศกาลศิลปะที่ต่างประเทศ

พาสุนัขพิการไปใช้ชีวิตแบบเจ้าชายในกระท่อมกลางเทศกาลศิลปะระดับโลก

วางตัวเองไว้ว่าจะถือบวชทางเพศ ไม่มีความสัมพันธ์เชิงรักใคร่กับมนุษย์คนไหนอีก หากอยู่มาวันหนึ่ง เธอก็สวมชุดคลุมท้องมาสอนหนังสือ และทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่าเธอตั้งครรภ์…

แต่แน่ล่ะ ศิลปินไม่ได้ตั้งครรภ์ เธอเพียงล้อเล่นด้วยนิยามของเพอร์ฟอร์มานซ์ทางศิลปะ–ล้อเลียนกับความหวังดีของเพื่อนมนุษย์ และต่อการถือกำเนิด

แล้วไหนจะเขียนนิยายที่พูดถึงหญิงสาวผู้เอาแต่หมกมุ่นอยู่แต่กับความตาย ตั้งแต่เด็กจนชรา และทำฟอร์มไปหาจิตแพทย์ในระยะเวลาใกล้เคียงกันถึง 5 คน เพื่อให้จิตแพทย์เหล่านั้นลงชื่อสนับสนุนให้เธอทำการุณยฆาตที่ต่างประเทศอีก ฯลฯ

ตั้งแต่ติดตามศิลปะร่วมสมัยมา ผมคิดว่าไม่มีศิลปินคนไหนจะล้อเล่นกับค่านิยม มุมมองชีวิต การเกิด และการตาย ได้เท่าศิลปินหญิงคนนี้

ผมมีโอกาสพูดคุยกับอาจารย์อารยาอยู่เป็นระยะผ่านการโต้ตอบทางอีเมล (เธอไม่ใช้โทรศัพท์มือถือ และยกเลิกโทรศัพท์บ้านเพราะสัญญาณไม่ดี เสียบ่อย เธอบอก) จนเมื่อไม่นานมานี้ ศิลปินวัย 62 ผู้ยังคงสอนหนังสือนักศึกษาปริญญาตรีที่สาขาวิชาสหศาสตร์ศิลป์ และปริญญาโท สาขาทัศนศิลป์ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ส่งจดหมายมาชวนดูเว็บไซต์ puthertosleepsaveusandours.com ซึ่งเธอบอกว่าเป็นโครงงานศิลปะล่าสุด

ผมเข้าไปอ่าน มีภาพพอร์เทรต ‘เจ้าเนื้อ’ สุนัขของอาจารย์ที่กำลังคาบขนมขบเคี้ยวคล้ายมวนบุหรี่ เลื่อนเมาส์ลงมา พบรูปอาจารย์นั่งอยู่บนม้านั่งยาวกับสุนัขอีกสองตัว Put her to sleep, save us and ours คือชื่อของเว็บไซต์ อ่านเนื้อหา พอเข้าใจได้ว่านี่เป็นโครงการที่ศิลปินเปิดรับผู้บริจาคเงินช่วยเหลือสุนัขและสัตว์จรจัดในนามเจ้าจร *Jao-Jorn Care แลกกับข้อเสนออีกข้อคือการทำการุณยฆาตตัวศิลปิน                                                         

ขยี้ตา ผมอ่านอีกรอบ เนื้อหาเป็นเช่นนั้น แถลงการณ์ในเว็บไซต์ ศิลปินปรารถนาให้คนมาช่วยสงเคราะห์สัตว์ และสงเคราะห์ให้เธอได้รับการการุณยฆาต… ก็คือตาย

อาจกังวลว่าผมอ่านภาษาอังกฤษไม่แตกฉาน ในอีเมลฉบับต่อมา อาจารย์อารยาส่งแถลงการณ์เกริ่นนำเป็นภาษาไทย ดังนี้…

ทำให้เธอหลับ : ศิลปินอยากหลับ

ดูแลเรา : หมาจรจัดถามหาการดูแล

ประคองคุณค่าของเราด้วย : มนุษย์อาจเคยและไม่เคย มุ่งมั่นหล่อเลี้ยงความตระหนักรู้กับความเห็นอกเห็นใจต่อโลกและชีวิตอื่น-ในตน

เหล่านี้อยู่ในชื่อเว็บไซต์ในฐานะแผนผังโครงงานชีวิต–ศิลปะของ อารยา ราษฎร์จำเริญสุข เรียกหาผู้เข้าร่วมและบริจาค

โศกนาฏกรรม อาจรวมเอาความโศกเศร้าอย่างใหญ่หลวง แต่โศกนาฏกรรมของอารยาคือเวทีละครของสรรพสัตว์สะท้อนความหมายของฟรีดริช นีตซ์เช ตรง ‘ความเป็นคนจนล้นเกิน’ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ศิลปินอยากลาโลก แต่เดี๋ยวก่อน ไม่ควรอยู่ภายใต้ความหมายของความตายเดิมๆ และศิลปะที่เคย

ก็แล้วหมาๆ เข้ามาอยู่ในเกมการแลกเปลี่ยนอย่างไรเล่า? ก็… พวกเขาเป็นเพื่อนสนิทของศิลปินไง คนที่เตรียมจะจากลา คนที่ขอแลกชีวิตตัวกับการได้มาซึ่งความเห็นอกเห็นใจต่อชีวิตอื่นในนิยายสถานการณ์และสำหรับการบริจาคทานสำหรับเพื่อนหมาของเธอ…

แน่นอน ในมุมของศิลปะ เป็นเรื่องยากที่จะระบุเครื่องชี้วัดความสำเร็จของผลงานหรือโครงการศิลปะหนึ่งใด กระนั้นกับโครงงานศิลปะชิ้นใหม่ชิ้นนี้ของอาจารย์ ที่แม้จะโปรยด้วยคำว่า ‘นิยายสถานการณ์’ กลับระบุจุดประสงค์ชัดเจน นั่นหมายถึงหากโครงการนี้ลุล่วงสำเร็จ ถ้าสุนัขจรจัดบางตัวได้กินอิ่ม หากบางผู้คนฉุกคิดถึงการบริโภคแบบทำลายโลก ศิลปินเจ้าของโครงการจะตายจากโลกใบนี้

ก็นั่นล่ะ การสงเคราะห์สัตว์จรจัดเป็นเรื่องดีอย่างไม่มีข้อฉงน แต่ใครกันอยากเป็นสปอนเซอร์ให้มนุษย์คนหนึ่งต้องตาย และนั่นทำให้ผมสงสัย ศิลปินผู้นี้จะมาไม้ไหนอีก

นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมอีเมลไปนัดเจออาจารย์ตัวเป็นๆ ก่อนจะเรียบเรียงสิ่งที่พูดคุย เป็นบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้

เคยอ่านในนิยาย ‘ผุดเกิดมาลาร่ำ’ ของอาจารย์ และมีโอกาสได้อ่านบทสัมภาษณ์หลายวาระ เชื่อว่าอาจารย์ปรารถนาที่จะตายมาตลอด แต่ที่ยังไม่ตาย เพราะยังมีความกระหายต่อการทำงานศิลปะ และยังหาวิธีการตายที่มีสุนทรียะไม่ได้ อาจารย์มองว่าโครงงานศิลปะล่าสุดนี้ เป็นวิธีที่อาจารย์หาพบแล้วใช่หรือไม่ครับ

จะกล่าวเช่นนั้นก็ได้ เป็นขณะที่วิธีหรือกระบวนการตายในฝันมาประชิดศิลปะมากที่สุดเท่าที่เราจะนึกได้ ที่ไม่ใช่สิ้นใจขณะดูงานจิตรกรรมในหอศิลป์

นี่เป็นโครงงานที่รวมเอาสามสิ่งหลักในชีวิตเข้าด้วยกัน เรื่องแรกคือการทำงานศิลปะ เรื่องที่สองคือการจุดประกายให้เกิดการช่วยเหลือสุนัขหรือสัตว์จรจัดซึ่งทำมานาน และสามคือความปรารถนาที่จะตายของตัวเองซึ่งเคลื่อนจากความรู้สึกส่วนตัวไปผูกโยงกับเป้าหมายคือการหยุดบริโภคโดยสิ้นเชิง

เรามองว่าความตายคือการหยุดกิจกระทำ หายลับไม่ขวนขวายหามาและไม่หลงเหลือไว้ ทั้งรูปและนาม ในขณะที่เราหาผู้ร่วมสนับสนุนกองทุนเพื่อช่วยเหลือสุนัขจรจัด เราก็หาผู้สนับสนุนการทำการุณยฆาตให้ตัวเราไปพลางๆ อีกส่วนคือกิจกระทำเชิงสำนึกต่อส่วนแวดล้อมที่ผ่านการสนทนากัน นั่งอ่านหนังสือด้วยกัน เดินเล่นในสวน โครงงานนี้เมื่อเผยให้คนรู้จักผ่านจอเว็บไซต์เป็นเวลาที่เราเริ่มหาส่วนต่างๆ ที่จะประกอบกันขึ้นเป็นนิยายที่จะเขียนคู่ขนานกับผลของการเผยโครงงานโดยจับสัญญาณนึกคิดของตนว่า จะมีจุดแตะกันระหว่างนิยายกับโครงงานศิลปะ

ในส่วนของการขอทำการุณยฆาต เราเกรงว่าผู้ที่รับงานนี้เข้าเป็นส่วนของนิทรรศการศิลปะจะไปไม่เป็น ใครจะเขียนหนังสือขอส่งใครไปตายได้ ในเว็บไซต์จะมีพาร์ตหนึ่งที่เป็นร่างจดหมายสนับสนุนการการุณยฆาตอยู่ เราทำไว้สองร่าง คือแบบไร้เดียงสากับร่างเชิงปรัชญา ประสงค์จะหาผู้สนับสนุนการุณยฆาตครั้งนี้โดยมูลเหตุเชิงจิตใจมากกว่าการป่วยกาย ผ่านศิลปะที่ไม่เน้นรูป ปรากฏแต่กลไกการลงมือ คือผลักแต่ละอย่างให้อยู่ที่ความหมายในอากาศ ในนึกคิด ในคะเน

คนสนับสนุนจะเซ็นจดหมาย ส่งไปยังองค์กรที่รับดำเนินการซึ่งมีตั้ง 11 แห่งในโลก ถ้าอยากสนับสนุนจนสุดทาง หากสำเร็จอาจจะจ่ายค่าเดินทาง และค่าธรรมเนียมการทำให้หลับรวมฌาปนกิจครบชุด จะไปส่งที่สนามบินก็ได้ ก็จะเท่ากับเราออกเดินทางแล้วหายไป ไม่มีร่าง ไม่ต้องเก็บเถ้าเพราะไม่รู้ว่าจะเอาไปไว้ไหน

แล้วคิดว่าจะมีคนอยากสนับสนุนให้อาจารย์ตายจริงหรือ

จริงๆ เริ่มจากครึ่งแรกของปีนี้ หอศิลป์แห่งหนึ่งในนิวยอร์กเขาวางแผนจะทำนิทรรศการเดี่ยวให้เราปีหน้า เขาก็เลยชวนให้เขียนโครงงาน จึงอุตริคิดโครงงานนี้ขึ้นมา มีฐานจากผลงานเก่าๆ ที่เราทำศิลปะกับศพและกับหมา และมีฐานจากการทำงานปัจจุบันเตรียมไปแสดงแต่รู้สึกฝืด ไม่มีอารมณ์ร่วม ก็สังเกตว่าทำไมไม่ยินดีในการผลิตชิ้นงานอีก ทำไปหนืดๆ ฝืดๆ

เราเขียนโครงงานที่ไม่ต้องผลิตงาน คือขอแลกชีวิตกับการบริจาคและหยุดบริโภค พอส่งบทเขียนเริ่มที่ remembering จบลงตรง ‘การุณยฆาต’ ไดเรกเตอร์หอศิลป์ก็ตอบกลับมาว่าเขาจบ PhD ทางจิตวิทยาหัวข้อ “Repeated Exposure to Death and Its Effect on Memory” เขาถึงกับรักข้อเขียนของเราแต่ขอเวลาอ่านบทความนี้ก่อน

หลังจากนั้น เราใช้เวลาเขียนงานนี้ต่อสองเดือน ทำเว็บไซต์ ไดเรกเตอร์หายต๋อมไปเลย ซึ่งเราถือว่าเกมการประเมินจริยธรรมมนุษย์สำเร็จตั้งแต่ต้นทางเลย

มีอีกแกลเลอรีหนึ่ง ซึ่งจะแสดงงานของเราปีหน้าเหมือนกัน แรกว่าจะชำแหละบทแปลนิยาย ผุดเกิดมาลาร่ำ เป็น Novel’s Map ก็ขอเอดิเตอร์เป็นโปรเฟสเซอร์ที่เวียนนามาแก้ไขจนหน้ากระดาษลายไปด้วยหมึกสีแดง-ฟ้า ซึ่งเราเห็นว่าไม่จบ ก็เอามาทำตัวบท พิมพ์ซ้อนกันยาวๆ บนแคนวาส นิยายยังอยู่แต่เคลื่อนไปเป็นอื่นจะจัดวางกับวัตถุ แต่ก็ไม่อยากใช้สิ่งของที่ผลิตขึ้นมาใหม่ ก็เดินหาของใช้แล้วในบ้าน มีแก้วเบียร์ทรงสูงทำเป็นแจกัน ตัดดอกไม้จากสวนมาปัก สังกะสีเก่าที่ถูกวาดไว้มานานเป็นพื้นหลัง นั่งหวีขนหมาซึ่งเป็นวัสดุล้นเกินในบ้านจนสำลัก เอามาปั้นเป็นก้อนกลมๆ วางเคียงกับบทพิมพ์นิยายเป็นผืนยาว

แต่พอเราได้ไอเดียใหม่จากการแลกชีวิต เลยนึกอยากมาเชื่อมต่อกับ Novel’s Map เอาจังหวะของความจำเป็น (Necessity’s Rhythm) เชื่อมด้วย เลยส่งเว็บไซต์นี้ไปให้แกลเลอรีดูก่อน ว่าฉันจะทำการเชื่อมสองโครงงานนะ ย้ำเขาว่าให้อ่านเว็บไซต์โดยละเอียด หายไปสักพัก ทางนั้นก็อีเมลตอบกลับมาตัวหนาๆ เลยว่า Euthanasia (การุณยฆาต)

แกลเลอรีบอกว่าไม่เอา เขาพยายามขอคุยทางโทรศัพท์ แต่เราไม่มีโทรศัพท์ แล้วก็ไม่อยากคุยเพราะงานยังขยับ นึกคิดว่าเราควรอิสระจากเงื่อนปมของสังคมและของใคร แต่โดนไปสองรายที่ไม่รับโครงงานนี้ก็นึกในใจว่า นี่คงเป็นโครงงานเข่นฆ่าอาชีพเรานับแต่นี้ คือไม่มีใครอยากก้าวออกมาจากที่ที่เคยอยู่เดิม คือมีชิ้นงานแขวนตั้งในห้องแสดง ก็เข้าใจ คาดการณ์อยู่แล้ว แต่ไม่นึกว่าจะชัดเร็วแบบแชเชือนเฉไก๋แบบที่เจอกับหอศิลป์และแกลเลอรีในเมืองเดียวกันเป็น ตอบคำถามว่า ณ ตอนนี้ไม่มีใครสนับสนุน

เขาคงคิดว่าอาจารย์อยากยืมมือเขาเพื่อฆ่าตัวตาย

โครงงานถ้ารับฟังผิวๆ ตามแนวการรับรู้ของผู้คนสมัยนี้ที่ลวก-เร็ว ก็ดูน่าตื่นเต้นแบบข่าวหน้าหนึ่งเพราะคล้ายว่าใครกำลังหาใครมาหนุนให้ตนจบชีวิตลงจริงๆ อาจพาดหัวข่าวว่าฆ่าตัวตายโดยฉลาด หรือยืมมือคนอื่นทำอัตวินิบาตกรรมในความสุนทรีย์ คนอ่านพากันงงก่อนตาย

แต่ในฐานะที่เป็นโครงงานศิลปะปลายเปิดที่ไม่รู้จะจบลงตรงไหน งานเหมือนทั้งยั่วล้อ ท้าทาย ความอยู่กับร่องกับรอยของมนุษย์ในเชิงจริยธรรม แต่ไม่ค่อยอยู่กับร่องรอยของสำนึกรับผิดชอบ จนเห็นเป็นภาพหายนะภัยของโลก ความตะกละตะกลามบริโภค แชเชือนต่อสิ่งแวดล้อม ทำมาหากินกับธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตอื่นก็ยังเอา ทางออกที่ดีที่สุดที่จะทำให้โลกใบนี้ดีได้เหมือนก่อนคือการไม่มีมนุษย์ เราจะทำให้ไม่มีมนุษย์ได้อย่างไร ถ้าเราไม่ตาย แล้วเราในฐานะคนแก่คนหนึ่งจะไปจัดการกับใครได้นอกจากสังขารของตัวเราเอง

 

ทำไมแถลงการณ์ในเว็บไซต์อาจารย์ถึงเขียนว่า ‘มนุษย์เป็นมนุษย์จนเกินไป’ จนอาจารย์ที่เป็นมนุษย์เหมือนกัน ไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้ว

คำว่า ‘คนเป็นคนจนล้นเกิน’ มาจาก Menschliches, Allzumenschliches ชื่อหนังสือของนีตซ์เช ใน ค.ศ. 1878 มีคำเปรยปกว่า für freie Geister แปลว่า สำหรับวิญญาณเสรี ตรงนี้น่าใส่ใจว่า ในความเป็นมนุษย์ ต้องเจอกับดักทางความคิดหรือกับดักทางอารมณ์ แล้วพากันยึดติดอะไรๆ ในชีวิต มนุษย์บางคนที่ตระหนัก รู้ทัน ก็จะหาทางออกจากกับดักนั้น ซึ่งทางพ้นกับดักคือเสรีถึงข้างใน

เสรีจากอะไร ทัศนคติ มุมมองต่อโลก จากวิธีการบีบแคบ เงื่อนปม–กับดักที่เราติดในแต่ละช่วงเวลาไม่เหมือนกัน แถมถูกบ่มเพาะและเจอปมปัญหาต่างกันอีก ความล้นคน ส่วนหนึ่งคือ ไกลธรรมชาติ แล้วอิงเหตุผล ซึ่งถ้าเอามาเปรียบกับปัจจุบัน แม้แต่เหตุผลที่ไร้สาระที่สุดก็ยังอ้างเป็นเหตุผลได้ แต่ตรงนี้ไม่ใช่ประเด็น

เราพยายามพูดถึงความเป็นมนุษย์ ในฐานะคนสร้างหายนะภัยร่วมสมัย งานนี้นำ ‘ความเป็นคนจนล้นเกิน’ มาใช้ ว่าผู้คนมีความฟั่นเฟือนขาดพร่องเชิงจิตสำนึกอย่างที่มนุษย์ สิ่งมีชีวิตที่เจริญแล้ว ควรจะเป็น แต่ไม่เป็น คือไปล้นอย่างอื่นที่ไม่ดีไม่งาม

ตอนเป็นเด็กเราสงสัยโลกน้อย เราเป็นผู้ถูกสอน แล้วเราเชื่อในคำสอนว่าดีงาม ก็ก่อหวังมาเสมอ หวังว่ามนุษย์จะบ่มงาม-เติบงาม เชื่อว่าทิศทางความเจริญของโลกควรจะบ่มงามในสำนึกคิดของคน แต่ไม่ใช่ กลับกลายเป็นความดาษดื่น ของฉากซ้ำๆ ของผู้คนที่แชเชือนต่อโลก กินแล้วทิ้ง บันเทิงแล้วเขวี้ยงขว้างขยะไปทั่ว อยู่อย่างหยาบๆ คร่าวๆ เจ้าโทสะหรือไร้แยแส

ความไม่อาจหยุดบริโภคได้ ผูกพ่วงมากับปริมาณของ ‘สิ่งต่างๆ’ จำนวนมหาศาลที่ใช้-ทิ้ง ใช้-ทิ้ง …ดูเหมือนไม่สิ้นสุด มีแต่จะเพิ่มจำนวนมากับหายนะมหึมา แทรกเกลื่อนไปในธรรมชาติแวดล้อม แม่น้ำ ป่า ทะเล

ถ้าการมีอยู่ของเผ่าพันธุ์มนุษย์เราบ่มงามจริง เราจะไม่มาถึงจุดที่เป็นอยู่อย่างนี้

 

คล้ายว่าอาจารย์เอือมต่อบริโภคนิยมแล้ว แต่ไม่รู้จะทำยังไง และอยากจากไปพอดี ก็เลยผูกโยงเรื่องเหล่านี้ไว้ด้วยกัน

เราขื่นๆ ใจในความเป็นเผ่าพันธุ์เราเอง เอือมต่อความเป็นมนุษย์ที่ล้นเกินในแบบที่ไม่มีคุณค่านี้ อยู่ก็ใช้มากใช้เปลือง ตายแล้วก็ยังทิ้งทวน ตอนตายยังใช้ดอกไม้ ผ้า กระดาษ ท่อนไม้ แผ่นไม้ ทั้งประดับประดิษฐ์อย่างโอ่อ่าอลังการ และเผาอย่างเอิกเกริก เราช่างให้เกียรติสายพันธุ์เดียวกันอย่างล้นเหลือเสียจริงแต่ไม่ค่อยแลเห็นชีวิตอื่นเลย ไหนล่ะป่า เขา สัตว์ อากาศ ไหนล่ะสำนึก

 

แต่การทำงานศิลปะก็ต้องอาศัยการผลิตบางสิ่งบางอย่าง และมันก็เป็นส่วนหนึ่งของอาการบริโภคนิยมนี้ด้วยไหม

เราจึงคิดถึงโครงงานศิลปะนี้ไง จังหวะของความจำเป็น ไม่มีการผลิตอะไรแลกชีวิตศิลปินที่เป็นผู้บริโภคคนหนึ่ง กับการช่วยเหลือสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นๆ และถามหาความตระหนักรู้แบบไม่ผ่านวัตถุศิลปะ ไม่มีตัวตนรูปงาน

ชิ้นงานนิดหน่อยค่อนมาในฝั่งส่งถ่ายความหมายผ่านอักขระเช่นจดหมาย หรือเป็นกิจกรรมเดินเล่นในสวน ไม่คุยก็ได้เดินไปด้วยกันเงียบๆ

 

อาจารย์เห็นชีวิตมนุษย์ก็ไม่ได้มีคุณค่าอะไรมากไปกว่าชีวิตของสุนัขจรจัดอย่างนั้นหรือ

สัตว์เข้ามาในโครงงานทั้งโดยราคะส่วนตัวคือรักชอบอยู่แล้ว และมาเป็นผู้เทียบเคียง ความเป็นมนุษย์ในฐานะภาพสะท้อนในหน้าเว็บไซต์ ใช้คำหนึ่งว่า Araya’s Tragedy จะมองเป็นโศกนาฏกรรมมนุษย์ ที่ต้องยืมเวทีสัตว์ theater of animals มาสะท้อนเทียบ เอาความเป็นธรรมชาติของสัตว์มายั่วล้อความอู้ฟู่รุ่งเรืองอย่างแปลกๆ ของมนุษย์

Put her to sleep เป็นสำนวนภาษาที่กำลังร้องขอให้ฆ่าคน หมายถึงทำลายความเป็นคน ขณะชุบเลี้ยงความเป็นสัตว์ โดยการบริจาคให้สัตว์

save us กรรม ‘เรา’ ในที่นี้คือสัตว์ ประสงค์ให้ดูแลสัญชาติญาณและความเป็นธรรมชาติอย่างสัตว์เอาไว้ แล้วข่มฆ่าความเป็นมนุษย์ทิ้งไป ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าไลลียา ตัวละครใน ผุดเกิดมาลาร่ำ เธอจะอยากตายจริงๆ ลึกๆ ในเธอหรือไม่ แต่ความเป็นมนุษย์ของเธอ ก็ไม่ใช่ความงดงามอีกต่อไปในลักษณะมวลกลุ่มของสายพันธุ์ที่ใช้โลกไม่เป็น ดำรงค่าในความเป็นตนเองไว้ไม่ได้แล้วยังแผ่ขยายปริมาณอย่างไม่รู้จบ

สำนวนโปรยจบลงตรง ‘ดูแลคุณค่าของเรา’ คุณค่าของเราในที่นี่เป็น humanized sympathy เป็นความเห็นอกเห็นใจต่อสารพัดสิ่งที่เอื้ออำนวยเราอยู่ เป็นสำเหนียกรู้ชีวิตงาม สำนึกถึงอุปนิสัยชินชาที่เรากระทำต่อโลกแล้วตั้งค่าใหม่ เปลี่ยนแปลงมัน

สัตว์จึงเป็นภาพเทียบ สะท้อนความเป็นมนุษย์ในขณะที่กิจกระทำก็ขอให้ลงมือต่อการให้ คือการบริจาคไปด้วยพลางๆ

ให้ตอบก็คือว่าเข้าใจถูกในแง่สัตว์มีค่าที่คงความเป็นธรรมชาติเอาไว้ได้ ในขณะมนุษย์ห่างไกลธรรมชาติจนแปร่งทิศหลงวิสัย

 

ถ้ามองอีกมุม อาจารย์เป็นคนหนึ่งที่มีจิตสำนึกต่อสัตว์อื่น ตระหนักดีต่อสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม และก็ใช้ชีวิตและสร้างงานโดยบริโภคอย่างน้อยที่สุด แล้วทำไมอาจารย์ต้องมาตายเอง คนอื่นที่บริโภคเยอะๆ และไม่สำนึกควรจะต้องตายไม่ใช่หรือ

มีสองส่วนขำๆ นะ หนึ่ง–เราไม่มีสิทธิอะไรที่จะไปบอกให้ใครคนอื่นต้องตาย กับ สอง–ก็แล้วใครเลยจะบ้าได้เท่าศิลปิน

คนอื่นที่ไม่ตายหมายถึงกลุ่มคนยังคงเสพในมวลรวมของความไร้สำเหนียกแห่งสำนึก โครงงานอยากผลักให้พวกเขาตายในเชิงสามัญชีวิต หันหารสพิเศษพิสุทธิ์ให้มากขึ้นกว่าความเป็นอยู่ที่ไม่เคยถูกพิเคราะห์ นึกถึงสัตวแพทย์ที่มารักษาหมาตอนย้ายมาอยู่บ้านกลางนาใหม่ๆ เคยซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์กันไปฉีดยาเห็บหมัดให้หมาชาวบ้าน วันหนึ่งหมอตายไปก่อนหมาเราอีก เรานึกชมชีวิตเขานะ มีบุญ ไม่ต้องอยู่ใช้และเผชิญความไม่งาม ร่างของคนอายุ 29 ก็ยังสดแข็ง ไม่เสื่อม ไม่ต้องซ่อม ยังไม่สั่งสมความทะเยอทะยาน ความผิดบาปไว้ในตนมากนัก คือถึงเราไม่ไปบอกให้ใครตายแต่เรามักชื่นชมที่เขาตายเร็ว ตายตั้งแต่อายุยังน้อย

ส่วนใครเลยจะบ้าได้เท่าศิลปินนี่ประชดตัวเอง ถ้า Necessity’s Rhythm เป็นเวทีนิยายสถานการณ์ วันนี้นำเสนอการสำรวจความจำเพาะของเป็น-ตายในแบบที่ทั้งมีสาระและไร้สาระ ตรงนี้สำคัญนะเพราะมนุษย์มักจะทำทีอิงแอบสาระสำคัญอยู่ร่ำไป ซึ่งช่องว่างตรงนี้แหละ ตรงภาวะในระหว่างนี่ที่ความบ้ามันเล็ดลอดออกมา เป็น The point where madness arises.

    

แต่อาจารย์ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของปัญหา

พยายามแค่ไหนก็ไม่เกลี้ยง ไม่หมดจด ไม่ปราศจากโดยสิ้นเชิง การเดินทางมาคุยกันที่นี่ก็ต้องขับรถและใช้น้ำมันอยู่ดี ถ้าหิวน้ำแล้วไม่เอาแก้วไปกดกระติกน้ำร้อนของร้านก็จะต้องซื้อน้ำในขวดพลาสติก ที่นี่เป็นสถาบันที่ไม่มีน้ำกด ไม่มีการแยกขยะ ถ้าปัญญาชนเป็นอย่างนี้แล้วจะไปบอกชาวบ้านว่าอย่าทิ้งขยะลงคลองได้หรือ คือเราไม่สามารถกลับไปสู่อะไรจริงๆ ความเกลี้ยงเกลา เนื้อแท้ แก่นแกน เพราะแต่ละอย่างแฝงฝังในเปลือก เราเห็นสะระแหน่ไม่กี่ใบในสี่ก้านใส่บรรจุภัณฑ์พลาสติกแข็งหนาปิดผนึกอย่างดีในช่องผักของห้าง เราได้แต่ประคับประคอง ลงไปเก็บสะระแหน่หรอมแหรมในแปลงปลูกไว้ เล่นเจ้าล่อเอาเถิดกับการจัดการตัวเองในหายนะภัยที่เรามีส่วนร่วม

พบว่ายิ่งตระหนัก ยิ่งรู้สึกถึงหายนะ ยิ่งเห็นตัวเองเป็นหน่วยเล็กๆ หน่วยเดียว เคล้าอยู่กับอะไรที่เป็นมวลก้อนมหึมา จะไปเสียดทานไหวหรือ เมื่อกี้เราเดินไป กลุ่มนักศึกษาคุยกันฮาเฮล้อมโต๊ะ มีถุงพลาสติกสองใบบนพื้น เราเกือบจะเดินไปบอก คุณเรียนศิลปะได้ยังไง คุณเหยียบมันอยู่ แต่ก็ชะงักนะ เพราะแก่ เมื่อก่อนเราจะไปอยู่ตรงนั้นเร็วกว่าความคิดเราอีก

 

การจากไปของคนคนหนึ่งจะกระตุ้นอะไรได้ หรือเงินที่ระดมทุนช่วยหมาจรจัดก็ช่วยได้ส่วนหนึ่ง สัตว์อีกหลายล้านชีวิตบนโลกก็ยังต้องทนทุกข์อยู่ดี

ตอนคิดงานนี้แล้วเริ่มลงมือเขียนส่วนต่างๆ ก่อนอื่นเราตากหน้าออกตัวกับเพื่อนต่างชาติที่นั่งทำงานด้วยกันว่า เราก็จั๊กจี้ใจนะ เพราะเราไม่ได้เป็นดาราหรือผู้มีอำนาจ แต่มาวางพล็อตให้ตัวเองดูเป็นฮีโร่ เราอาจโดนหนักไม่ใช่แค่ไม่มีจริยธรรมอันดี แต่ยังอุตริยกหูชูหาง เหมือนเวลาหมาที่บ้านจะข่มกันอีกว่า ความตายของเราจะสำคัญ แต่ไม่ทำก็ขบถต่อสัญญาณในตนซึ่งคนทำงานศิลปะอาจฝืนได้ยาก เรารู้อยู่ว่าก่อกรรมแล้วก็เกิดกรรม แต่นี่ไม่ใช่การเรียนรู้หรือ ผลักตัวเองเข้าไปในมุมในพื้นที่สาธารณะที่ความจนมุมจะมีหลายแง่มุมมาก สะท้อนทั้งคนต้อนและคนตั้งโจทย์ที่เข้ามุมตน มุมคนอื่น

กลับมาที่คำถาม

เคยมีญาติคนหนึ่งพูดกับเราว่า หมาจรจัดมีอยู่ทั่วไป แปลเป็นคำเตือนว่าเธอกำลังเข็นครกขึ้นภูเขา ช่วยยังไงก็ช่วยไม่หมด ต่อให้จับเขาไปทำหมัน ไปฉีดวัคซีน ให้อาหาร หรือชุบเลี้ยงพวกเขา มันก็เป็นเสี้ยวเล็กๆ จิ๊บจ้อย ก็จริง แต่จะวางเฉยกับสิ่งที่เห็นได้ยังไง จะให้เห็น-รับรู้แล้วไม่ลงมือทำอะไรเลยหรือ

มองย้อนกลับไป ถ้าเราอายุน้อยกว่านี้ก็จะไม่ผุดโครงงานนี้ได้ เกิดขึ้นเพราะสารพัดสารพันในเรามาถึงขีดหนึ่งของแต่ละส่วน เป็นส่วนของคนที่อยู่มานาน คนทำศิลปะมาพอควร คนที่ไม่อยากทนต่อปัญหา ไม่อยากไปงานศพใครอีก เบื่อเห็นภาพซ้ำของการทำลาย หากว่าเรายังสาวอาจยังทนทานความเป็นไปหม่นๆ นี่ไหว แต่นี่รับรู้แล้วว่าเราอายุมาก ไม่มีกำลัง โลกภายนอกไม่น่าอยู่ ไหนจะเผชิญกับความไม่อยากอยู่ในใจตัวเอง คิดเรื่องเวลาชีวิตตัวเองมาตั้งแต่ประถมหกเท่าที่เด็กจะพอคิดได้ ต่อมาก็ตั้งใจไว้ว่าจะจากไปตอนอายุสี่สิบ จนเพื่อนที่เคยคุยเรื่องนี้กันยิงตัวตายเสียเองไปล่วงหน้าแล้ว เราปล่อยเลยมาตั้งยี่สิบกว่าปีแล้ว ก็เลยทำเถอะ

มนุษย์คนหนึ่งที่ไม่อยากมีชีวิตอยู่ เพราะไม่อาจหลีกเลี่ยงการบริโภค ผูกโยงกับความห่วงใยต่อเด็กสี่ขา และเลยไปถึงเต่าที่ถูกเชือกพันติดอวน พะยูน วาฬ มีพลาสติกในกระเพาะ สัตว์ที่ตายเวลาเขาเผาป่าปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือเห็ดถอบ ก็มนุษย์อีกนั่นแหละ เอามาผนวกกับการเรียกร้องหาสำนึก ออกมาเป็น ‘One’s quitting of consumption’ ‘คนคนหนึ่งหยุดบริโภค’ วางเงื่อนความตายซึ่งอาจไม่ถูกแยแส วางกระตุกต่อมสิ่งแวดล้อมและสำนึกนุ่มนวลอ่อนโยนต่อความเป็นไป

รู้อยู่ว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นจริงนักหรอก เหมือนเวลาคุยโตถึงความสำคัญของงานศิลปะ แนวคิดมลังเมลือง แต่ไม่ค่อยมีอะไรจริง เหมือนโครงงานขององค์กรใดที่ประกาศผ่านป้ายกับพิธีเปิด ความคิดถ่วงที่ว่าอาจไม่มีอะไรเกิดขึ้น แล้วทำทำไมใช้ไม่ได้กับการทำศิลปะ เวลาทำศิลปะเรามักทำเพราะมีความจำเป็นที่อธิบายเป็นเหตุผลจริงๆ ได้ลำบาก คราวนี้ลุกขึ้นมาทำสคริปต์งานในรูปเว็บไซต์เพราะถูกเร้าจนอยู่ไม่สุข ไม่ทำก็ไม่เป็นสุข

 

แล้วคิดยังไงที่มีคนบอกว่าแต่มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ฉลาดที่สุด มีพัฒนาการที่สุด เราชอบธรรมแล้วที่จะใช้ทรัพยากรทั้งหมดบนโลกใบนี้

ไม่แน่ใจว่าเราฉลาดกว่าหมาที่บ้านในบางกรณีหรือเปล่า มีตัวแก่ตัวหนึ่งมาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เธออาจเคยเป็นโปรเฟสเซอร์ด็อกเตอร์มาก่อน ชื่อปลาเค็ม พอเราบอกให้ลงไปฉี่ ส่งเสียงเชียร์เร้า ดันก้น ตบมือให้เธอกระย่องกระแย่งลงบันไดไปเหมือนเสียงเชียร์คนแก่ในห้องกายภาพบำบัด เธอวิ่งตุปัดตุเป๋หางชี้ไปถึงสนามในสวนหลังบ้าน แล้วเลี้ยวกลับ ไม่ฉี่ แต่ทำท่าร่าเริงว่าเสร็จธุระแล้ว ฉันทำตามที่เธออยากให้ฉันทำ

เราทนฉลาดแบบในคำถามไม่ค่อยได้ แต่ชอบฉลาดที่เชื่อว่าในฐานะคนคนหนึ่งเราเปลี่ยนแปลงปรับตัวได้ไม่ให้ตกต่ำโดยสมบูรณ์พร้อม เป็น eudaimonia

 

อาจารย์มีภาพในใจของผู้ร่วมสนับสนุนหรือยัง โดยเฉพาะผู้สนับสนุนการการุณยฆาต

ปกติภัณฑารักษ์จะวางหมุดหมายนิทรรศการศิลปะ แล้วศิลปินก็ปรับแปลงตามคอนเซปต์งาน เราก็ทำตรงนี้วางเอาไว้ของเรา ศิลปินคนหนึ่งในกลุ่มละครสัตว์นิทรรศการสากลที่แห่แหนกันไปโน่นนี่ บอกเราว่า ในโลกนี้จะมีภัณฑารักษ์ที่ใช่ เคยมีศิลปินเจอภัณฑารักษ์ที่ใช่มาแล้ว เราเอามาบอกตัวเองต่ออีกชั้นหนึ่งว่า ถ้าใครสักคนพบว่าโครงงานนี้ใช่ก็คงมีคนร่วมด้นกันต่อไป 

เพราะเป็นโครงงานปลายเปิดมากๆ แล้วจริงๆ เราก็ไม่รู้ว่ามันจะไปจบลงตรงไหน ก็ประหลาดตั้งแต่คนที่เข้ามายุ่งเกี่ยวด้วย เดิมทีคิดว่าถ้าคนที่มาร่วมงานกระด้างหน่อย เขาไม่แยแสสะดุ้งสะเทือนอะไรจริงๆ เขาจะร่วมโครงงานนี้ได้ดี ลืมไปว่างานนี้เป็นเรื่องละเอียดเข้าใจยากจนคนที่ไม่แยแสอะไรก็จะเข้าถึงลำบาก คนที่เข้ามารับรู้ ร่วมงาน ส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ

 

แล้วกับคนรอบตัวอาจารย์ล่ะ เขามีฟีดแบ็กยังไง

ระหว่างที่ทำเว็บไซต์นี้ เราตั้งวงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกือบทุกอาทิตย์ แค่เตรียมบทนำเข้าสู่การสนทนาครั้งแรกก็สังเกตได้ว่ามีเรื่องนิดๆ ศิลปินอังกฤษบอกว่าจะไม่ได้อะไรจากคนฟังเลยถ้าไม่บอกโต้งๆ เราควรจะต้องเล่าความประสงค์จริงๆ ออกมา นักปรัชญากรีกบอกว่านี่เป็นโครงการศิลปะ การตีความในบางส่วนเป็นกลไกที่ศิลปะถือครองอยู่แล้วจึงไม่มีอะไรใดๆ ตรงไปตรงมา

ด็อกเตอร์เกาหลีคนที่มีชื่อร่วมในการเปิดบัญชีช่วยเหลือสัตว์กับเทคนิเชียนคนไทยก็บอกว่า เธอเคยบอกไว้ล่วงหน้า ฉันนึกว่าเธอจะทำแต่เรื่องหมาเฉยๆ  ไม่นึกว่าจะเป็นโครงงานศิลปะแล้วเธอจะตาย พอไปเปิดบัญชี เพื่อเอาชื่อเลขบัญชีลงเว็บไซต์เสร็จเธอก็ถามอ่อยๆ ว่า แล้วถ้าฉันถอนตัวล่ะ ก็เก้กังอิหลักอิเหลื่อ ดูไม่จืดเลย ขมในใจลึกๆ ว่าจะรอดไหมนี่

พอเข้าวงสนทนานักปรัชญา อินโทรไปได้หน่อย ประติมากรจากออสเตรเลียก็บรรลุธรรมหรือกรรมแห่งตน รำพึงว่าฉันทำงานศิลปะเพราะฉันมีความสุขกับปริมาตรและพื้นผิว ฉันสอนศิลปะเพราะเป็นพื้นที่ให้ฉันอยู่กับความงามแล้วก็ลุกออกไป ขณะที่นักศึกษาปริญญาโทชาวดัตช์มีปัญหากับประโยคอีโก้ของศิลปิน ไม่เป็นศิลปินแล้วจะไม่มีอีโก้หรือ

สนทนาวันนั้นมีอาการคล้ายจะไปสู่เนื้อหาแต่ก็เหออกไปตามทางของแต่ละคน เราชอบเพราะอาการลักลั่น ประหลาดๆ มักไม่ค่อยเกิดเมื่อวิจารณ์งานแบบผู้วิจารณ์เป็นคนกระทำต่อผลงาน แต่นี่เป็นการสนทนาที่กัดกร่อนและสะท้อนคนวิจารณ์เอง เหมือนว่าพวกเขามาร่วมประชุมหาทางทำให้ใครคนหนึ่งตาย แต่ไม่ร่วมก็อยู่เฉยไม่ได้ เพราะเนื้อความมันเร้า ตรงนี้คล้ายไทยมุงดูศพเลย กลัวแต่ก็อยากรู้ ดูแล้วก็นึกถึงตัวเอง คนในวงคุยพอถูกกระทำแล้วก็พากันหาทางหักเห เช่นอุทานว่า Oh suicide! แล้วกลับฮากันขึ้นมา ไม่รู้ว่าขำอะไร ขำตัวเองที่ลักลั่น มันขำจริงๆ เอ่ยชื่อประเทศที่มีองค์กรรับทำการุณยฆาต ตกลงเธอจะไปไหน เบลเยียม สวิส หรือสเปน ก็ฮากันอีก โอ ยู วิล โก ทู เบลเยียม จังหวะเสียงหัวเราะของความจำเป็น

เพื่อนเราคนหนึ่งที่ยืนยันว่านี่เป็นอาร์ตโปรเจกต์ไม่ใช่การฆ่าตัวตาย บอกกับเราว่า อารยา เธอไม่ต้องตายจริงนะ แค่ทำตัวให้หายไป และมาอยู่บ้านฉันริมทะเลเงียบๆ สักสองปี แล้วบินกลับมา ค่อยบอกคนอื่นว่านี่เป็นเพอร์ฟอร์แมนซ์ระยะยาว เราก็เอ๊ ก็บอกอยู่ตลอดนี่ว่าเป็นงานศิลปะ

แต่นั่นแหละ กระทั่งตัวเราเอง คืนที่เผยแพร่เว็บไซต์นี้ออกไป ก็นั่งคู้อยู่ที่บ้าน นี่เอาจริงแล้วหรือนี่ เราก็เป็นกับเขาด้วย

 

กลายเป็นว่าลำพังแค่ยังไม่เริ่ม ก็เป็นกระบวนการศิลปะไปแล้ว 

นี่คือที่อยากได้ ความกวนใจจากศิลปะที่ไม่มีรูปลักษณ์ ออกรสตั้งแต่คิดก็นั่งไม่ติดที่แล้ว

ครั้งหนึ่งปราชญ์ไทยว่างานเรามีภาพที่เหี้ยมเกิน ถามหาความโหดเหี้ยมเชิงนามธรรม ไม่พึ่งพารูปธรรม ตอนนั้นเรานึกไม่ออกจริงๆ ว่าไม่มีรูปแล้วจะมีนามได้ยังไง ตอนนี้เราว่าน่าจะเจอแล้ว นามทะลักเกินรูป หรือเคล้ากันออกรสอย่างพิลึกกึกกือ

 

ถามอีกครั้ง คิดว่าจะตายจริงๆ หรือ

เราไม่สงสัยในความปรารถนาที่จะตายของตัวเองเลย แต่ถึงยังไงโครงงานนี้ต้องการให้มีคนสนับสนุน หรือร่วมลงนรกขึ้นสวรรค์ชั้นอุตริกับเราเสียก่อน มันถึงจะไปต่อได้

 

แล้วถ้าเกิดไม่มีใครสนับสนุนเลย ด้วยไม่เข้าใจจุดประสงค์ หรือเขามองว่าเขาไม่อยากเป็นส่วนที่ทำให้อาจารย์ตาย

ศิลปะสำเร็จลงตรงไหน ตรงกวนนึกคิดใครๆ ได้ หรือตรงติดตั้งสง่าสมบูรณ์ในหอศิลป์ แต่ดูแล้วเหมือนแต่งเติมพื้นที่ให้เต็มเฉยๆ

อันนี้ฟังหมามา พวกเขาบอกว่าควรมีชีวิตชีวาอย่างเด็กๆ เกเรคอยกวนประสาทผู้ใหญ่ในครรลองด้วย ถ้าไม่มีใครการุณเรา แล้วเรายังจมอยู่กับหมกมุ่นนี้ การก่อกวนของศิลปะต่อนึกคิดของคนอื่นนั้นได้แล้ว แต่เรายังไม่ได้ ยังตกกรรมเก่าเดิมของเราอยู่ จะให้เราปลอบตัวเองในวัยนี้ หรือว่าไม่มีอะไรที่ได้มาทั้งหมด

 

นี่เป็นครั้งที่สามที่ผมได้คุยกับอาจารย์อย่างจริงจัง ทุกครั้งเราไม่เคยคุยถึงสิ่งที่สดใสบ้างเลย อยากให้เล่าถึงเหตุการณ์ที่อาจารย์มีความสุขที่สุดบ้าง นอกจากการคิดออกแล้วว่าจะตายยังไง และคิดงานศิลปะได้

ถ้าถามตอนเป็นเด็กอาจตอบเสียงแจ๋วเลย ตอนนี้ตอบไม่ออกหรอกความสุขที่สุด แปลกไหมพอเราอยู่มานานเราไม่รู้เลย คิดว่าเป็นความเข้าใจโลกจึงไม่มีสุขที่สุด เพราะว่าตัวเรามีหลายด้าน เพราะแต่ละด้านเราก็อยากให้มันดีมีคุณภาพ แล้ววันหนึ่งด้านหนึ่งก็เปลี่ยน ความเป็นเราเคลื่อน แต่คำถามปักหมุด เพราะฉะนั้นคิดว่าสำคัญเลยคือการบ่มสุข แล้วก็การบ่มสุข ต้องไม่ใช่ช่วงสาวๆ ที่เราเคยเป็น เที่ยวไปติดสุขกับโลกข้างนอก

ย้อนไปหลายสิบปีก่อนหน้า เราเจอความบ่มสุขในคืนหนึ่ง เมื่อก่อนอยู่ทาวน์เฮาส์ แล้วเรานอนลงบนพื้นกระเบื้องเย็นกับหมาจรตัวแรกที่เลี้ยงที่เชียงใหม่ อยู่กันสองตน นอนเอาหัวชนกันบนพื้น แล้วเรารู้สึกว่าหูเขากระดิก แล้วพอหูเขากระดิกปั๊บ เราจะได้ยินเสียงที่หมาได้ยิน ที่ปกติมนุษย์เราจะไม่ได้ยิน เสียงไกล เราก็หือ ดีจัง ฉันฟังเสียงตามการรับรู้ของเธอ ได้ยินเสียงโดยฟังเสียงตามหมา แล้วมันสงัดสงบ อบอุ่นทั้งที่เป็นคืนในหน้าหนาว เราก็เรียนรู้ว่ามันมีภวังค์เพลินๆ ง่ายๆ แบบนี้อยู่ด้วย

หรือช่วงเวลาเดินทาง มองไกลไปบนฟ้า แล้วเห็นภาพผืนกว้างนุ่มๆ เทาๆ ฟ้าๆ เรืองแสงหรือสลด ไม่เคยซ้ำกันเลย เลยคิดว่าทำไม จิตรกร J.M.W. Turner วาดภาพเมฆแล้วผู้คนก็จับใจ เพราะมันมะลึกกึ๊กกึ๋ย แสงสี น้ำหนัก ฟอร์ม เปล่งพลังธรรมชาติประจัญรับรู้สึกของเราไกลๆ โน่น สวยแต่ไปไม่ถึง ประชิดทั้งๆ ที่อยู่ไกล เผยให้เรามองเพลินโดยความเป็นฟ้าไม่ได้เรียกร้องอะไรจากเราเลย อาจเป็นความอาลัยอาวรณ์เดียวที่เรามีต่อโลก เป็นกับดักชนิดหนึ่งไม่ต่างจากสำนึก พออายุมากอย่างตอนนี้ บางทีมองฟ้าตอนเย็น นึกไปว่าถ้าเราจะตาย เราคงเสียดายตรงนี้แหละ เสียดายว่าจะไม่ได้มองท้องฟ้าอีก

ไม่นานมานี้ ราวสองสัปดาห์ผ่าน ดวงจันทร์สว่างกลมในฟ้ามืด สะท้อนเงาลงบนผิวน้ำ เราลงไปว่ายน้ำในสระตอนสองทุ่มคนเดียว แล้วพบว่าตัวเราเองได้คุยกับดวงจันทร์ในภวังค์แปลก มันสงัดมาก รายรอบมืดมิด เงาสะท้อนของจันทร์ลงมาเล่นน้ำด้วย กระเพื่อมไปตามแรงว่าย ล้อกับตะคุ่มเงาใบไม้ต้นไม้รอบสระในบางมุม ก็อวลสุขอยู่อ่อนๆ จางๆ สงัดไปอีกแบบ

 

เหมือนพบความสุขได้จากตัวเองกับธรรมชาติเพียงลำพัง

ถ้าเห็นหมาตัวที่เขาเคยแย่ แล้วเราเอามาอุ้มชู แล้วเขากลายมาเป็นคุณนายนอนเบาะ ยกระดับความเฉิดฉายเหมือนคางคกขึ้นวอ กลายราวกับเจ้าหญิงสูงศักดิ์ เราก็มีความสุขนะ เหมือนเราได้ชุบชูเขา เหมือนเอาหมาจรจัดไปร่วมมหกรรมศิลปะโลก เดิมชื่อไอ้งับเพราะมันกัดเรา เมื่อแรกพบจ่ายไปทั้งแผลเราบวกผ่าตัดขางับเป็นห้าหมื่นเศษ ก็เอาเมตตาเข้าข่ม ไม่ถือโกรธ ยกให้เขาเป็นเจ้าชายจู๊ดในนิทรรศการนานาชาติ ทั้งป้ายหน้างานและในสูจิบัตร นักข่าวเขียนเป็นภาษาเยอรมันอธิบายว่า จู๊ด ชื่อของเจ้าชายที่เป็นหมาเสด็จจากเมืองไทยมาพำนักในยุโรป มีความหมายว่า durchfall คือท้องเสีย ส่วนภัณฑารักษ์บอกว่าอารยา งานเธอ very liberal

ถ้าตอบคำถามนี้ ความสุขก็ลิเบอรัลได้ ห้ามถูกจองจำโดยเงื่อนใดหรืออะไร แม้กระทั่งเงื่อนสุขเอง

 

ทำไมการชุบเลี้ยงสุนัข ทำให้อาจารย์พบความสุขนัก

คำตอบว่าเราพบความสุขอะไรจากพวกเขาหรือ อย่างง่ายๆ  พวกเขายังคงมีความเป็นเด็กแม้จะอายุน้อยหรือมาก มีความเป็นธรรมชาติ กล้าด่าซึ่งหน้าแบบโต้งๆ แบบไม่ร้ายอะไรแค่หิวข้าวกับอยากเข้าบ้าน หรือร้องดีใจจนเสียงหลงเหมือนหมาปัญญาอ่อน ร่าเริงกับเรา ชี้ชวนเราให้เห็นชีวิตอื่น นกที่เขาวิ่งไล่ แมลงที่ส่งเสียงกวนใจบินไปมา หมามองเห็นหมด กิ้งกือก็ด้วย งูนี่ไม่ต้องพูดถึงเลย แค่เสียงสวบสาบของการเลื้อยพวกเขารู้แล้ว ตะโกนร้องว่า ฆ่ามัน

 

คือความไร้เดียงสา

อีกอย่างพวกเขาหล่อเลี้ยงความเป็นมนุษย์ของเราให้ไม่เห็นแต่ตัวเอง รู้จักให้ ไม่แบ่งแยกสปีชีส์และพื้นที่ของการดำรงอยู่เลยไหลเทมาเป็นส่วนหนึ่งในงานศิลปะของเรา ครั้งหนึ่งแสดงงานที่กวางจู เราสตัฟหมาจรที่ถูกฆ่าทุกๆ สองอาทิตย์ประมาณสิบกว่าตัว เอามาเป็นประติมากรรมเรียงรายบนเตียงยักษ์ พอค่ำเราในฐานะศิลปินในกลุ่มขอตั๋วฟรีไปดูเพอร์ฟอร์แมนซ์ของศิลปินดังจากนานาชาติในแต่ละคืน เอาเบาะไปหนึ่งเบาะ อุ้มซากหมาไปหนึ่งตัว วางบนตัก ไปนั่งดูการแสดงตอนกลางคืนกัน ไม่เหงาเลย เดินทางไกลแต่ยังมีชีวิตเหมือนตอนอยู่บ้านพวกเขาก็เป็นเพื่อนดูละครก่อนนอน  (วิดีโอ Treachery of the Moon ปี 2002–ผู้เรียบเรียง) หรือที่ไปเยอรมนี (ร่วมแสดงในเทศกาลศิลปะ Documenta ครั้งที่ 13 ปี 2012–ผู้เรียบเรียง) ส่วนในโครงงานล่าสุด ‘จังหวะของความจำเป็น’ (Necessity’s Rhythm) นี้เป็นอีกครั้งซึ่งมาจากความรักของเรา พวกเขาเป็นตัวของตัวเอง ไม่ต้องปรับตัวให้เป็นศิลป์อะไรเลยแม้จะอยู่ในโครงงานศิลปะ ดีไหม?

มีอีกคำถามหนึ่งที่เราถามตัวเองว่า สุนทรีของโครงงานนี้คืออย่างไร คำตอบไปตกลงตรง animalistic aesthetic taste เป็นรสงามแบบสัตว์ ร่าเริงกว่ากลิ่นอับหืนในห้องเก็บศพ เลยไม่เห็นว่างานนี้เศร้า แค่ส่งเสียงคล้ายการเห่าซึ่งหน้า ที่บางคนไม่ทันระวังอาจตกใจ แล้วก็ผรุสวาทออกมา งานอาจไม่ค่อยละเอียดละเมียดแบบสุนทรีที่เราเคยได้แบบกลิ่นสีและกาวแป้งจากชิ้นงานศิลปะเด่นสว่างในห้องแสดง และงาน…ไม่ยอมเป็น passive แต่ฝ่ายเดียว แต่วางท่าเป็นผู้ลงมือกระทำด้วย

ผู้หญิง ศพ ศิลปะ แล้วก็หมา ชีวิตเรามีองค์ประกอบอยู่แค่นี้จริงๆ แล้วจะให้ไม่อยากตายได้ยังไง อบอุ่นพอแล้ว


ร่วมสนับสนุนกองทุนเลี้ยงดูสุนัขจรจัด ‘เจ้าจรแคร์’ ได้ที่บัญชีนายเอกราช ปรางค์ชัยกุล และ Ms. Hyum Mi Roh ธนาคารกรุงเทพ เลขบัญชี 504-0-83618-0 ติดตามโครงงานศิลปะนี้ได้ที่ puthertosleepsaveusandours.com  

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน