ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้า : เราต่างมีประวัติศาสตร์และความเศร้าเป็นของตัวเอง

ชื่อหนังสือ : ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้า
ผู้เขียน : จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์
สำนักพิมพ์ : Salmon Books

จำเรื่องเศร้าล่าสุดของคุณกันได้ไหมครับ?

สำหรับผม ความเศร้าที่ค่อนไปในเชิงเสียดายครั้งล่าสุดก็คือ การพบว่าหนังสือที่อยากอ่านนักอ่านหนาที่เจอที่ประเทศญี่ปุ่น แต่กลั้นใจกลับมาซื้อที่ไทย ด้วยเห็นว่าราคาของที่นี่ถูกกว่าประมาณสองถึงสามร้อยบาท แต่พอกลับมา มันกลับหมดเกลี้ยงในทุกร้านหนังสือ ทุกสาขา

เราทุกคนมีความเศร้าที่ถูกเก็บไว้ในลิ้นชักทรงจำของตัวเอง เศร้าน้อย เศร้ามาก เศร้าแกมสุข เศร้าแกมโกรธ หลากหลายรูปแบบของความรู้สึกที่ชวนให้จิตใจของเรากระตุกวูบ และฉาบทาโลกของเราด้วยเฉดสีหม่น

ถึงจะเศร้า แต่หลายครั้งเราก็ยังระลึกถึงมัน ด้วยเหตุผลที่ต่างกัน เพื่อจำเป็นบทเรียน ระลึกเพื่อกดย้ำบาดแผล รอจนถึงเวลาที่เราจะค่อยๆ ชินชา จนปล่อยวางมันได้ หรือระลึกถึงมัน เพื่อซึมซับประกายแห่งความสุขที่ส่องแสงบางเบา ทว่าแจ่มชัดอยู่ในเรื่องราวนั้น

ผมระลึกถึงความเศร้าส่วนตัวของผมระหว่างที่อ่าน ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้า จนถึงวินาทีที่ผมจรดสายตาไปจนถึงตัวอักษรสุดท้ายบนหน้ากระดาษท้ายสุด

ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้า คือหนังสือรวมเรื่องสั้นคัดสรรตลอดเวลา 7 ปีบนเส้นทางนักเขียนของ จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์นักเขียนและนักแปลวัย 32 ปี จากจังหวัดนครสวรรค์ผู้ที่ปัจจุบันตั้งรกรากอยู่ที่เชียงใหม่ ด้วยวัยเพียงเท่านี้ แต่จิรัฏฐ์มีประสบการณ์การเขียนมาเกินครึ่งทศวรรษ ฝากผลงานจำนวนไม่น้อยไว้ในโลกวรรณกรรม เช่น รวมเรื่องสั้น การเมือง เรื่องเซอร์เรียล, ฮาวายประเทศ หรือนวนิยายอย่าง พิพิธภัณฑ์เสียง, สนไซเปรส และงานเขียนยิบย่อยอีกเยอะเกินแจกแจง เป็นเครื่องยืนยันว่าไฟในการสร้างสรรค์ของนักเขียนหนุ่มผู้นี้คือของจริง

ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้า มีอะไรให้เราเข้าไปค้นหา เรื่องราวเหล่านี้มีอะไรที่พิเศษจนเข้าไปเป็น 1 ใน 8 Shortlists ของเรื่องสั้นที่เข้าชิงรางวัลซีไรต์ในปี 2560 นี้ เคียงข้างผลงานของนักเขียนเก๋าประสบการณ์ท่านอื่นๆ ได้อย่างสง่าผ่าเผย

เดินทางผ่านประวัติศาสตร์ สัมผัสหลากรูปแบบของความเศร้า

ด้วยชื่อและภาพขวดน้ำยาหยอดตาที่หน้าปก ทำให้ผมอดคิดไม่ได้ว่างานเขียนของจิรัฏฐ์น่าจะทำร้ายและบาดลึกความรู้สึกของเราได้ในระดับที่เกิดอุทกภัยในดวงตา แต่เมื่ออ่านดูกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะภาพรวมของเรื่องสั้นเหล่านี้คือความเศร้าอันเกิดขึ้นและจบลงไป ตกค้างเป็นตะกอนความรู้สึกที่ไม่ได้เศร้าซึมหรือฟูมฟาย แต่เป็นหลากหลายรสชาติและรูปแบบของความเศร้าที่เกิดขึ้นกับตัวละครมากหน้าหลายตาที่จิรัฏฐ์ค่อยๆ พาเราไปสัมผัส

เมื่อได้อ่านเรื่องสั้นในแต่ละตอน ผมรู้สึกราวกับได้อ่านบันทึกความทรงจำที่พ้นผ่าน หากถูกบันทึกไว้ด้วยปลายปากกาของผู้สังเกตการณ์ที่มีสายตาแหลมคมและความสามารถทางภาษาที่ทำให้เกิดภาพในหัวได้ ราวกับว่ามันกำลังเกิดขึ้นตรงหน้าผมนั่นเอง

โดยหลักๆ แล้ว เรื่องสั้นของจิรัฏฐ์ประกอบขึ้นด้วยแก่นสำคัญ 2 ส่วน นั่นคือ ประวัติศาสตร์ และ ความเศร้า ตรงตามชื่อหนังสือของเขานั่นแหละ

ประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์ของจิรัฏฐ์นั้นไม่ได้หมายถึงเรื่องราวคราวหนหลัง ย้อนกลับไปในสมัยยุคสำริด ดีบุก

หรืออดีตไกลโพ้นที่ต้องใช้ความรู้ติดตัวเต็มกระเป๋าจึงจะอ่านเรื่องของเขาได้อย่างเข้าใจ ประวัติศาสตร์ในที่นี้ คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นและจบลงไปในช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ บางเรื่องอาจกินเวลาหนึ่งช่วงอายุคน บางเรื่องอาจกินเวลานับสิบปี หรือบางเรื่องอาจเกิดขึ้นในเวลาเพียงหนึ่งราตรี

อย่างตอน อนุสรณ์สถานแห่งการเคลื่อนไหว ที่จิรัฏฐ์พาเราไปรู้จักสถานที่แห่งความทรงจำที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงอดีตนักประพันธ์เพลงผู้ยิ่งใหญ่ ผู้เลือกใช้ชีวิตหลีกลี้ความวุ่นวายอยู่ในป่าทึบ ก่อนจะประสบกับโรคประหลาดที่ทำให้เขาอัมพาตครึ่งท่อนล่าง เรื่องนี้ถูกเล่าผ่านสายตาของครูหนุ่มที่จะพาเราไปพบเศษซากของความทรงจำที่ทิ้งตะกอนของความรุ่งเรืองอันโรยราภายในอนุสรณ์สถานแห่งนี้ นำมาซึ่งความสะท้อนในใจของตัวละครและผู้อ่าน ให้รู้ถึงความไม่จีรัง ความเงียบสงบที่ต้องจ่ายด้วยความโดดเดี่ยว สอดแทรกด้วยความลึกลับกึ่งเซอร์เรียลที่ทำให้ความรู้สึกเหล่านั้นตกค้างนิ่งนานหลังอ่านจบ

หรือจะเป็นประวัติศาสตร์อบอุ่นเจือความเศร้าเล็กๆ แต่เปี่ยมไปด้วยจินตนาการในตอน ประดิษฐกรรมของอากง ที่ถูกถ่ายทอดผ่านบทสนทนาระหว่างชายวัยกลางคน ตัวเอกของเรื่อง กับหญิงสาวเจ้าของความทรงจำระหว่างเธอกับอากงนักประดิษฐ์ ผู้มีสมญานามว่าช่างเทวดาที่คอยคิดค้นและสรรค์สร้างของเล่นใหม่ๆ มารองรับจินตนาการอันบรรเจิดของหลานสาวตัวน้อย ในเรื่อง เราจะได้รับรู้ความสัมพันธ์ของคนสองรุ่นที่ผูกพันกันผ่านงานประดิษฐ์ คู่ขนานไปกับเรื่องราวที่ทิ้งแรงกระเพื่อมไหวในความรู้สึก

ความเศร้า

เมื่อมองผ่านอดีตที่อยู่ในแต่ละเรื่องสั้นของจิรัฏฐ์ ความเศร้าเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราจะได้พบ ทั้งความเศร้าที่มาจากความอึดอัด คับข้องใจ อย่างสิ่งที่ตัวละครในตอน เพดานอาดูร ต้องพบเจอ ตัวเอกของเรื่องคือหญิงสาวที่ใช้ชีวิตอย่างจืดชืดและเปลี่ยวดาย กับแฟนหนุ่มที่แทบจะไม่ละสายตาจากคอมพิวเตอร์มามองหน้าเธอเลย จนวันหนึ่ง เหนือเพดานห้องของเธอก็มีเสียงดังขึ้น แต่จะเป็นไปได้หรือ ในเมื่อห้องของเธออยู่บนชั้น 9 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของคอนโดมิเนียม และเหนือศีรษะของเธอขึ้นไปคือดาดฟ้า?

หรือความเศร้าที่มีที่มาจากความเชื่อไร้ข้อกังขา และความจริงที่ไม่อาจเปิดเผยอันแปรเปลี่ยนเป็นความเจ็บปวด ในตอน น้ำตาที่ต่าง เล่าเรื่องของคู่รักที่ต้องแยกจากกันเพราะฝ่ายชายถูกนำตัวไปแสดงเป็นนายพลผู้แก่ชราและพร้อมจะลาโลกไปในเร็ววัน แต่เมื่อประเทศยังต้องการ และพสกนิกรผู้ศรัทธายังจงรักอย่างเหนียวแน่น ประเทศนี้จึงขาดนายพลไปไม่ได้ นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมชายหนุ่มผู้มีใบหน้าละม้ายคล้ายนายพลในวัยหนุ่มจึงต้องสวมรอย แม้ในความเป็นจริง นายพลชราจะมีอายุถึง 145 ปีแล้ว นี่คือหนึ่งในเรื่องที่แฝงสัญญะทางการเมืองอย่างชัดเจน และถ่ายทอดความจริงผ่านเรื่องเล่าเสมือนออกมาได้อย่างบาดลึกและเจ็บปวด

ตะกอนความรู้สึกที่ยังตกค้าง

เมื่อบรรทัดสุดท้ายจบลง สิ่งที่ยังหลงเหลือคือความรู้สึกที่ผมมีต่อเรื่องเศร้าเหล่านี้ ไม่ใช่ความรู้สึกที่ทำให้ผมนั่งซึมหรือจิตตกแต่อย่างใด แค่การได้เฝ้าคิดถึงสิ่งที่ตัวละครต่างๆ ได้พบเจอก่อเกิดคำถามหนึ่งขึ้นในใจผม

ความเศร้าและความเจ็บปวดให้อะไรกับเราบ้าง ?

ผมคิดถึงสิ่งที่พวกเขาได้รับจากบาดแผลเหล่านั้น พร้อมๆ กับที่ผมได้ทบทวนประวัติศาสตร์และความเศร้าของตัวเองจากการรื้อค้นในลิ้นชักทรงจำส่วนตัว

เมื่อคิดไป คำตอบก็ออกจะหลากหลายสักหน่อย ความเศร้าอาจเป็นเครื่องยืนยันว่า เรายังมีเลือดเนื้อ ลมหายใจ และความรู้สึก ความเศร้าอาจจะทำให้เราได้รู้ว่า ทุกอย่างเกิดขึ้นเพียงรอเวลาผ่าน ไม่มีความเศร้า สุข หรือสิ่งใดๆ จะคงอยู่ไปได้ตราบเนิ่นนาน หรือความเศร้าอาจจะทำให้เราได้รู้จักความสุขที่แท้

ก็แค่นั้น

ภาพ พนิดา มีเดช

AUTHOR