คุยเรื่องความเป็นส่วนตัวของประชาชน กับ ‘ไกร ศรีดี’ เจ้าของงานหมวกกันน็อกติดกล้องวงจรปิด

Highlights

  • ไกร ศรีดี คือศิลปินเจ้าของนิทรรศการ Our God is Labeled ผลงานที่ผสมผสานทั้งจิตรกรรม สื่อผสมประเภท found object และอินสตอลเลชั่น ชี้ชวนให้ผู้ชมทบทวนถึงขอบเขตที่ไม่อาจคาดคะเนของการสื่อสารในโลกออนไลน์
  • ก่อนหน้านิทรรศการนี้ ไกรทำงานศิลปะไม่จำกัดเทคนิคมาแล้วหลายชิ้น ชิ้นที่โดดเด่นที่สุดน่าจะเป็น 'I Saw You Everyday, Everywhere, Everytime' หมวกกันน็อกที่ติดตั้งกล้องวงจรปิดซึ่งน่าจะผ่านตาใครหลายคนบนหน้าฟีดเมื่อเดือนที่ผ่านมา ผลงานทุกชิ้นของไกรสื่อสารถึงความอึดอัด และตั้งคำถามถึงที่ทางในอนาคต กลั่นออกมาจากการมองเห็นวิกฤตการณ์ การเปลี่ยนผ่าน และอีกหลากหลายมายาคติอันเกิดขึ้นตลอดหลายปี
  • ไกรบอกว่าเขาเชื่อว่าศิลปะมีส่วนในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงหรือเปลี่ยนผ่านของสังคม เขาจึงเลือกทำงานศิลปะเพื่อสื่อสารหรือสะท้อน ซึ่งแม้ไม่อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่ หากแม้การสร้างความตระหนักรู้ในระดับบุคคล หรือเพียงส่วนเสี้ยวเล็กน้อย เขาก็มองว่ามันเป็นความหวัง

ไกร ศรีดี เป็นคนเจน Z เกิดที่กรุงเทพฯ .. 2540

เขาเกิดในปีที่ประเทศกำลังประสบวิกฤตต้มยำกุ้ง ระหว่างที่เรียนจบมัธยมปลายและเข้าปีหนึ่งที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ก็ทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง เขาเริ่มทำทีสิสตอนที่โคโรน่าไวรัสเริ่มระบาด ก่อนเรียนจบตอนที่ประเทศถูกล็อกดาวน์ เศรษฐกิจทรุดถึงขีดสุด 

ประจวบเหมาะ ครบในวิกฤต สมบูรณ์กว่านี้ไม่มี

ผมไม่ได้อะไรจากช่วงรอยต่อของการศึกษาเลย พอเข้ามหาวิทยาลัยก็พบว่าประวัติศาสตร์ในบ้านเรามันบิดเบี้ยว หลักการหรือความเป็นเหตุเป็นผลที่เล่าเรียนและยึดถือมาก็พังไปหมด ระหว่างเรียนผมมุ่งหวังจบออกมาเป็นศิลปิน แต่ขณะเดียวกันในภาพรวมของประเทศก็กลับพบว่าคนรุ่นผมและรุ่นหลังจากนี้ดูเหมือนไม่มีความหวังชายหนุ่มวัยยี่สิบสามกล่าว

ไกรร่ำเรียนมาทางจิตรกรรม หากช่วงรอยต่อระหว่างปีสามขึ้นปีสี่ เขาสนใจกระบวนการทางเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ต ก่อนจะร่วมกับศิลปินในแนวทางเดียวกันก่อตั้งกลุ่ม Chiang Mai Performance Art เมื่อปี 2562 โดยผลงานชิ้นแรกที่นำเสนอสู่สาธารณะ คืองานเพอร์ฟอร์มตัวเองกับหมวกกันน็อกที่ติดตั้งกล้องวงจรปิดทุกทิศทุกทาง ในทีสิสชิ้นสุดท้ายเพื่อทำเรื่องจบการศึกษา ชายหนุ่มทำงานอินสตอลเลชั่นกึ่งสถาปัตยกรรมและวิดีโออาร์ต

นั่นล่ะ ศิลปินไม่ประสงค์จะนิยามตัวเองว่าต้องทำงานแขนงไหนหรือด้วยเทคนิคใด กับนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกที่จัดแสดงอยู่ตอนนี้ก็ใช่ ผลงานมีเพียงหกชิ้น หากมันก็หลากหลายทั้งจิตรกรรม สื่อผสมประเภท found object และอินสตอลเลชั่น

Our God is Labeled คือชื่อนิทรรศการดังกล่าว ผลงานที่ไกรชี้ชวนให้ผู้ชมทบทวนถึงขอบเขตที่ไม่อาจคาดคะเนของการสื่อสารในโลกออนไลน์ ซึ่งขณะนี้จัดแสดงอยู่ที่ Issue gallery (ภายในร้านกาแฟ Gateway Coffee Roasters ถนนท่าแพ เชียงใหม่) โดยมีพิชากร ชูเขียว รับหน้าที่ภัณฑารักษ์ นิทรรศการคือเหตุผลของบทความนี้ เช่นที่วิกฤตการณ์ การเปลี่ยนผ่าน และอีกหลากหลายมายาคติอันเกิดขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา คือเหตุผลที่ชายหนุ่มคนหนึ่งยึดมั่นกับการทำงานศิลปะเพื่อสื่อสารถึงความอึดอัด และตั้งคำถามถึงที่ทางในอนาคต

 

-1-
I Saw You Everyday, Everywhere, Everytime

ผมพบว่า 70% ในบทบัญญัติความเป็นส่วนตัวของเราไม่เป็นจริง

เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องคุยกับศิลปินถึงผลงานที่ได้ทำก่อนหน้า อันนำมาสู่ที่มาและที่ไปในผลงานปัจจุบัน เรากำลังพูดถึง I Saw You Everyday, Everywhere, Everytime ชิ้นงานหมวกกันน็อกที่ติดตั้งกล้องวงจรปิดที่ไกรทำ และหลายคนคุ้นตาผ่านมีมในโซเชียลมีเดีย จากที่เขาสวมมันไปร่วมประท้วงขับไล่รัฐบาลที่เชียงใหม่ เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

จริงๆ งานชิ้นนี้แต่แรกมันไม่ได้ถูกทำขึ้นเพื่อสะท้อนสถานการณ์ที่นักกิจกรรมทางการเมืองถูกอุ้มเลย มันเป็นประเด็นตั้งคำถามถึงความเป็นส่วนตัวของประชาชนมากกว่าไกรกล่าว

ย้อนไปปีที่แล้ว เขาเป็นนักศึกษาที่เลือกวิชาเสรีเป็นเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตในคลาสของอาจารย์พดุงศักดิ์ คชสำโรง ที่ซึ่งหลังจบคอร์ส เขากับอาจารย์และเพื่อนในคลาสร่วมกันก่อตั้งกลุ่ม Chiang Mai Performance Art (CMPF) เพื่อหวังนำเสนอศิลปะเพอร์ฟอร์แมนซ์ให้เป็นที่รับรู้มากขึ้นในเชียงใหม่ โดยงานแรกที่กลุ่มของไกรได้ขับเคลื่อนคืองาน September Equinox 2019: International Day of Public Action for Freedom & Democracy งานที่ศิลปินเพอร์ฟอร์แมนซ์ทั่วโลกจะทำงานเพอร์ฟอร์มในพื้นที่สาธารณะในเมืองของตัวเอง บันทึกวิดีโอ และส่งวิดีโอมาจัดแสดงร่วมกัน

ผมเป็นผู้ประสานงานของกลุ่ม ซึ่งตกลงกันว่าจะจัดแสดงงานนี้กันที่สวนสาธารณะหนองบวกหาด (สวนสาธารณะในบริเวณคูเมืองเชียงใหม่–ผู้สัมภาษณ์) ก็เลยต้องทำจดหมายไปขออนุญาตใช้พื้นที่กับทางเทศบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบ ตอนทำจดหมายก็มาฉุกคิดว่า ทำไมเราต้องขออนุญาตใช้พื้นที่สาธารณะด้วย เพราะถ้าเป็นสาธารณะจริงๆ มันต้องไม่ควรมีใครครอบครองเป็นเจ้าของนี่ และคำถามนี้มันเกิดมาพ้องกับช่วงที่เพื่อนผมคนหนึ่งถูกใบสั่งจากตำรวจ เพราะเขาขี่มอเตอร์ไซค์และไม่สวมหมวกกันน็อก และกล้องวงจรปิดบนถนนก็จับภาพมาได้

ความคิดเกี่ยวกับการต้องขออนุญาตผู้มีอำนาจเพื่อใช้พื้นที่สาธารณะกับกล้องวงจรปิดที่เป็นทั้งเครื่องมือควบคุมกฎหมาย และสัญลักษณ์ของอำนาจรัฐ ก็เลยจุดประกายให้คิดถึงการเอาหมวกกันน็อกของเพื่อนมาติดกล้องวงจรปิดน่ะครับ ง่ายๆ ตรงๆ อย่างนั้นเลยไกรกล่าว

ในวันแสดงงาน เขาสวมหมวกดังกล่าวพร้อมแว่นกันแดด สูทสีดำ และรองเท้าหนัง เดินไปเดินมาในสวนสาธารณะราวหนึ่งชั่วโมง บางครั้งเขาจะหยุดเดิน และมองขึ้นไปยังกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งอยู่ในสวน ไกรบอกว่าเมื่อมารีเสิร์ชเพื่อทำงานชิ้นนี้จริงๆ เขาพบว่านอกจากคนในบ้านเราส่วนใหญ่มักไม่ตระหนักถึงความเป็นส่วนตัวจริงๆ เท่าที่ควร ขณะที่ภาครัฐก็หาได้เข้าใจในขอบเขตของการสอดส่องและจับจ้องชีวิตของผู้คนไปพร้อมกัน

ประเทศเราเข้าร่วมภาคีพันธกรณีปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน 30 ข้อ ซึ่งเมื่อผมอ่านและพิจารณากับสถานการณ์ที่พบเห็นในปัจจุบัน บอกได้ว่ากว่า 70% ในบทบัญญัตินั้นประเทศเราทำไม่ได้จริงเขากล่าว

ทั้งนี้ ในระหว่างที่ไกรมีแผนจะต่อยอดงานชิ้นนี้ให้กล้องมันสามารถบันทึกภาพได้จริง และนำไปใช้กับงานอินสตอลเลชั่นในพื้นที่เฉพาะ หากเมื่อเขาทราบว่ากลุ่มเพื่อนและกลุ่มนักศึกษานัดรวมตัวกันเพื่อแสดงพลังต่อต้านรัฐบาลชุดปัจจุบันเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ไกรจึงนำงานชิ้นนี้มาสวมใหม่ ต่อยอดความหมายสู่การเตือนให้ผู้ร่วมชุมนุมตระหนักรู้อยู่เสมอว่าตัวเองกำลังถูกจับจ้องโดยรัฐ ขณะเดียวกันก็คล้ายเป็นการยั่วล้อฝ่ายผู้ที่กำลังจับจ้องผู้ชุมนุม ว่าในทางกลับกันพวกเราก็เฝ้าจับตาคุณอยู่ด้วยเช่นกัน

 

-2-

A House Without Home

ผมไม่คิดว่าบ้านคือสิ่งถาวร

ในขณะที่ผลงานอย่างเป็นทางการชิ้นแรกของศิลปินเลือกสื่อสารกับความเป็นพื้นที่สาธารณะ ผลงานทีสิสที่เพิ่งเสร็จใหม่หมาดๆ ของไกรกลับมีความเป็นส่วนตัวมากๆ อย่างบ้าน

กระนั้นความเป็นบ้านของไกรกลับย้อนแย้งในความหมายที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย ดังชื่องานที่เป็นประจักษ์คือ A House Without Home

แม่ผมทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เขาซื้อบ้านเก่ามารีโนเวทและขายต่อ ช่วงเด็กๆ ก่อนเข้าโรงเรียนประจำ จำได้ว่าต้องย้ายบ้านตามแม่มาเป็นสิบๆ หลัง บางหลังย้ายมาอยู่ไม่กี่เดือนก็ย้ายอีก มองย้อนกลับไปก็แปลกดี ความคิดเกี่ยวกับบ้านในเชิงสถานที่ของผมจึงไม่มีความรู้สึกถึงความมั่นคงถาวรเลย (หัวเราะ)”

A House Without Home คือผลงานที่ไกรได้แรงบันดาลใจมาจากความทรงจำที่ต้องย้ายที่อยู่อย่างบ่อยครั้งในวัยเด็ก รวมถึงความตื่นตาส่วนตัวที่ย้ายมาใช้ชีวิตลำพังที่เชียงใหม่บ้านในทัศนศิลป์ของไกรคือโครงสร้าง 8×4 เมตร ที่ศิลปินพร่าเลือนความเป็นประติมากรรม อินสตอลเลชั่น และสถาปัตยกรรมเข้าด้วยกัน เขาถอดเส้นสายของดอยสุเทพ ภูเขาที่เป็นเสมือนพื้นหลังขนาดมหึมาของเมืองเชียงใหม่ มาสวมทับกับวิธีคิดเชิงสถาปัตยกรรมของ Geodesic dome (โดมทรงกลมที่ประกอบขึ้นจากโครงสร้างรูปสามเหลี่ยม เป็นโครงสร้างไร้เสาแต่ใช้การสอดประสานกันเป็นผนังเพื่อความมั่นคงของโครงสร้าง) โดยวัสดุทั้งหมดในการประกอบสร้างคือวัสดุพื้นถิ่นอย่างไม้ไผ่

กล่าวให้สังเขปกว่านั้น มันคือพาวิลเลียนไม้ไผ่ที่ศิลปินใช้ตั้งคำถามถึงนิยามของความเป็นบ้าน ซึ่งถูกนำเสนอพร้อมกับ video mapping ที่เขาบันทึกการเดินทางในชีวิตประจำวันทั้งในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ ฉายทับเข้าไปบนพื้นผิวพาวิลเลียน

มีเกร็ดเล็กๆ ที่น่าคิดคือผมทำงานชิ้นนี้ในช่วงที่โควิด-19 ระบาด หลายคนต้องกักตัวอยู่บ้าน ขณะที่ผมก็ต้องทำงานส่งเลยกลับบ้านที่กรุงเทพฯ ไม่ได้ ความหมายของบ้านของหลายคนที่คิดถึงการเป็นที่พักพิงอันมั่นคงถาวรก็อาจชัดเจนขึ้นมา เช่นที่ผมมองว่ามันเป็นสิ่งที่ปรับเปลี่ยนและสร้างขึ้นใหม่ได้ในพื้นที่และสถานการณ์ต่างๆ โดยสถานการณ์ที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็กลับเน้นย้ำมุมมองของผมต่อเรื่องดังกล่าว

ไกรทำบ้านหลังนี้เสร็จในช่วงที่รัฐบาลเริ่มคลายล็อกดาวน์สู่เฟสสอง ซึ่งก็ประจวบเหมาะกับที่พิชากร ชูเขียว ศิลปินและคิวเรเตอร์ที่กำลังดูแลนิทรรศการใน Issue gallery ชักชวนให้ทำงานศิลปะชุดใหม่เพื่อจัดแสดงที่แกลเลอรี่ในช่วงเดือนสิงหาคมพอดี

จากนิยามของความเป็นส่วนตัวกับสาธารณะผ่านหมวกกันน็อกกล้องวงจรปิด สู่ความมั่นคงถาวรกับความไม่ยั่งยืนผ่านงานอินสตอลเลชั่นที่เป็นภาพแทนของความเป็นบ้าน ศิลปินยังคงสนุกกับประเด็นความลักลั่นในการให้ความหมายของบางสิ่งบางอย่างในวิถีชีวิตร่วมสมัย ซึ่งคราวนี้เขาคิดถึงการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย

 

 

-3-

Our God Is Labeled

ผมเติบโตมาในยุคที่โซเชียลมีเดียมันคือการเล่น แต่ตอนนี้มันกลายเป็นวิถีชีวิต

Our God is Labeled ประกอบด้วยงานทั้งหมดหกชิ้น

ชิ้นแรกไม่มีชื่อ ศิลปินนำด้ามมีดมาประกอบกับปากกาหัวแร้ง ติดตั้งบนกรอบไม้บนแบ็กกราวนด์สีเลือดหมู

ชิ้นที่สอง Daggertag การประกอบขึ้นของคำว่า Dagger (มีด) และ hashtag (#) งานจิตรกรรมสีอะคริลิครูปมีดสี่เล่มที่วางซ้อนกันเป็นเครื่องหมายแฮชแท็ก

ชิ้นที่สาม Jaggerbomb จิตรกรรมอะคริลิครูปไมโครโฟนที่ยอดของมันเป็นระเบิดมือ

ชิ้นที่สี่ไม่มีชื่อ ปืนพลาสติกที่ปากกระบอกเป็นหัวไมโครโฟน ปืนติดตั้งบนขาไมค์ ศิลปินชี้ชวนให้ผู้ชมเข้าไปปฏิสัมพันธ์ผ่านการพูดอะไรก็ได้ผ่านปืนไมค์ เบื้องหน้าคือจอโทรทัศน์ที่หน้าจอของมันเป็นกระจกเงา ส่องใบหน้าของผู้ชม

ชิ้นที่ห้าไม่มีชื่อ ราวไม้สำหรับแขวนหนังสือพิมพ์สามฉบับ ที่ซึ่งเนื้อหาบนหน้าหนังสือพิมพ์เหล่านั้นถูกถมทับด้วยสีทุกหน้า ไม่เหลือเนื้อหาอะไรให้อ่าน 

และชิ้นสุดท้าย Worthless Theatre จิตรกรรมอะคริลิคสองภาพ หนึ่งภาพด้านซ้ายคือฝูงไก่แจ้ในชุดสูทสีฟ้าที่ทุกตัวหันหน้าเข้าหากล้องวิดีโอ ซึ่งอยู่ในภาพด้านขวา ศิลปินนำแรงบันดาลใจมาจากภาพ The Night Watch ของเรมบรันด์ ไก่แจ้คือสัญลักษณ์ของกลุ่มไนต์วอตช์ หรือทหารรับจ้างชาวดัตช์ในศตวรรษที่ 17 ที่ร่วมลงขันว่าจ้างให้ศิลปินวาดภาพเหมือนของพวกเขา

ประโยคแรกในสเตทเมนต์ของไกรขึ้นต้นว่าเราทุกคนสามารถเป็นสื่อได้ก่อนจะเขียนถึงวิถีชีวิตของผู้คนสมัยปัจจุบันที่ไม่อาจแยกขาดจากการใช้โซเชียลมีเดียในชีวิตประจำวัน และความพร่าเลือนในบทบาทของการเป็นผู้สื่อและรับสารของผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวที่กลายมาเป็นข้อมูลสาธารณะ

ผมเติบโตมาในยุคที่คนเรามองว่าการใช้โซเชียลมีเดียคือการเล่น ก่อนที่มันจะเปลี่ยนผ่านมาจนถึงปัจจุบันที่การเช็กโซเชียลมีเดียคือกิจวัตร และในวันวันหนึ่งเราก็เข้าไปดูมันหลายต่อหลายครั้ง โซเชียลมีเดียมันกลายเป็นชีวิตประจำวันของผู้คนส่วนใหญ่ไปแล้ว มันสร้างโอกาสให้ใครหลายคน ไปพร้อมกับเป็นเครื่องมือทำลายใครอีกหลายคน ขณะเดียวกัน แม้เราจะคุ้นเคยกันมานาน แต่โลกออนไลน์ก็ถือว่ายังใหม่อยู่มากในแง่มุมของการสื่อสารที่เป็นทางการ เราเพิ่งจะมี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ขณะที่นโยบายด้านสาธารณะและการปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้เฟซบุ๊กก็ยังลักลั่นไม่มั่นคงอยู่เลยไกรกล่าว

แม้งานศิลปะส่วนใหญ่ในซีรีส์ชุดนี้จะออกมาในแง่การวิพากษ์วิจารณ์โซเชียลมีเดียเชิงลบ หากไกรก็ออกตัวว่าเขาไม่ได้ปฏิเสธโซเชียลมีเดีย (เขายังคงใช้มันทุกวัน) และก็ไม่ได้ต้องการรณรงค์ให้คนใช้โซเชียลมีเดียอย่างสร้างสรรค์อะไรทำนองนั้น เขาคิดอย่างซื่อตรงเช่นสัญลักษณ์ที่ใช้อุปมาในผลงาน ทันทีที่คุณปล่อยข้อคิดเห็นหรือข้อมูลอะไรบางอย่างออกไปบนสังคมออนไลน์ที่ระบบระเบียบทุกอย่างยังคงใหม่ รวมถึง mindset ของผู้ใช้งานและผู้รับสาร เราไม่อาจหยั่งได้ถึงขอบเขตของผลกระทบหรือกระทั่งความรุนแรงของผลที่สะท้อนกลับมาที่เราได้เลย

ผมสนใจประโยคที่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียมักใช้เวลาแสดงความคิดเห็นในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ต่อเรื่องใดสักเรื่อง เขามักขึ้นต้นหรือลงท้ายว่า นี่เป็นความเห็นส่วนตัวซึ่งอ่านทีไรแล้วก็ตลกดี คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าประโยคนี้มันเป็นยันต์ที่จะช่วยเซฟเขาจากความเห็นส่วนตัวของคนอื่นที่มีต่อเขา หรือไม่ก็คิดว่าประโยคนี้มันจะกันความคิดเห็นนี้ออกจากความเป็นสาธารณะ ซึ่งมันไม่จริง ทันทีที่คุณพิมพ์ความคิดเห็นลงไปในนี้ มันก็มีความเป็นสาธารณะแล้วไกรกล่าว

ไม่เพียงการเปรียบเปรยการสื่อสารทางออนไลน์เป็นอาวุธที่ใช้ฟาดฟันผู้อื่น (มีดหัวปากกา แฮชแท็กรูปมีด) หรือย้อนกลับมาทำร้ายตัวเอง (ปืนไมโครโฟน) ไกรยังตั้งใจสะท้อนถึงบทบาทของฝ่ายอำนาจนิยมที่พยายามจะควบคุมการเข้าถึงการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน (หนังสือพิมพ์ที่ถูกเซ็นเซอร์) หรือความหลงผิดของกลุ่มนายทหารที่คิดว่าตัวเองสามารถทำทุกอย่างได้ และชูคอตัวเองไปอยู่หน้ากล้องเสียเอง (จิตรกรรม Worthless Theatre) ที่ซึ่งในท้ายที่สุด ผลลัพธ์ของความเข้าใจสถานะของตัวเองผิดนี้ก็สะท้อนออกมาดังที่เราตระหนักดีในสถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมปัจจุบัน 

อย่างไรก็ดี ผมเห็นด้วยอย่างเต็มที่กับเสรีภาพในการพูดหรือในความเชื่อ แต่ขณะเดียวกันเสรีภาพนั้นก็ต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบของผู้สื่อสารด้วย ในโลกอนาคต ผมมองเหมือนฉากในภาพยนตร์อย่าง Total Recall หรือหนังสือ Basement Moon ของปราบดา หยุ่น วิถีชีวิตของผู้คนจะสุดโต่งมากขึ้น คุณอยากไปทำนมสามเต้า หรือคุณจะเป็น Neo Nazi ก็ได้ แต่ประเด็นสำคัญคือคุณต้องไม่คุกคามคนอื่นที่มีความคิดเห็นต่างจากคุณ รวมไปถึงความสามารถรับฟังฟีดแบ็กของคนอื่นที่มีต่อความคิดเห็นแย่ๆ ของคุณได้โดยที่คุณไม่ไปไล่ตีหรือปิดปากเขา เพดานของโลกยุคใหม่มันยังอยู่ที่ความเป็นมนุษย์ที่ให้เกียรติซึ่งกันและกันอยู่ดีไกรกล่าว

 

-4-

Hope

Hope ไม่ใช่ชื่อผลงานศิลปะหรือนิทรรศการของไกร หากมันคือประเด็นสุดท้ายที่เราคุยกัน–‘ความหวัง

ไกรบอกว่าเขาเชื่อว่าศิลปะมีส่วนในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงหรือเปลี่ยนผ่านของสังคม และนั่นทำให้เขาเลือกทำงานศิลปะเพื่อสื่อสารหรือสะท้อน ที่ซึ่งแม้มันจะไม่อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่ หากแม้การสร้างความตระหนักรู้ในระดับบุคคล หรือเพียงส่วนเสี้ยวเล็กน้อย เขาก็มองว่ามันเป็นความหวัง และนั่นทำให้เขาใช้งานศิลปะของตัวเองเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองในปัจจุบัน

อย่างที่บอกว่าพอเข้าปีหนึ่งก็มีรัฐประหาร ผมเรียนต่อมาอีกห้าปี ท่ามกลางการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดเดิม ก่อนจะค้นพบว่าวิธีการเดียวที่จะไม่ทำให้เรารู้สึกสิ้นหวังคือการเลิกสนใจการเมือง แต่นั่นล่ะ เราตัดขาดจากการรับรู้ในเรื่องนี้ไม่ได้ นั่นทำให้ผมพบว่าคนรุ่นผมและรุ่นน้องต่างก็สิ้นหวังเหมือนกันเยอะมากๆ แต่เพราะการสื่อสารในโลกออนไลน์นี่แหละที่ทำให้เราพบเพื่อน และพบว่าแท้จริงแล้วเราไม่ได้สิ้นหวังหรอก แค่ที่ผ่านมาเราไม่มีเพื่อน

ประเด็นก็คือพวกผู้ใหญ่เขาลอยตัวแล้ว ชีวิตเขาไม่ต้องฟันฝ่าหรือต้องสร้างอะไร เขาเลยไม่มีปัญหากับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ หรือกระทั่งเพิกเฉยต่อการที่มีใครสักคนถูกอุ้มหาย แต่เรายังไม่มีอะไรการันตีอนาคตของเรา และถ้าเราเพิกเฉยเราก็อาจไม่มีอนาคตไปด้วย ฉะนั้นอย่าเพิ่งสิ้นหวัง ความหวังทำให้มนุษย์ดิ้นรนที่จะมีชีวิต และผมคิดว่าการที่คนรุ่นใหม่ออกมาแสดงพลังกันทั่วประเทศอย่างที่เป็นอยู่นี้ก็ทำให้ผมพบว่าเรายังมีความหวังไกรกล่าว

นิทรรศการ Our God is Labeled จัดแสดงจนถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2563 ที่ Issue gallery ถนนท่าแพ เชียงใหม่


ติดตามผลงานอื่นๆ ของไกร ได้ที่ kraisd.wixsite.com/krai

ติดตามความเคลื่อนไหวของกิจกรรมเพอร์ฟอร์แมนซ์ที่ข่วงประตูท่าแพได้ที่

Facebook : ลานยิ้มการละคร Lanyim Theater และ Chiang Mai Performance Art

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระร่างใหญ่ อดีตหัวหน้าช่างภาพนิตยสารเล่มหนึ่งในเชียงใหม่ รักการปั่นจักรยาน ชอบแสงธรรมชาติ กับหมาตัวใหญ่ๆ